ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่อง
อินเดียได้ชื่อว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ไม่เพียงแต่จำนวนประชากรที่มากถึงกว่า 1.3 พันล้านคนเท่านั้น แต่ด้วยระบบสังคมที่มีความหลากหลายทั้งทางด้านภาษา ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และศาสนา ส่งผลให้การเลือกตั้งและระบอบประชาธิปไตยของอินเดียได้รับการจับตามองจากทั่วโลก และในปี 2019 ที่จะถึงนี้ อินเดียจะมีการเลือกตั้งใหญ่อีกครั้ง
อันที่จริง ในช่วงกว่า 4 ปีที่ผ่านมา อินเดียอยู่ในความสนใจของประชาคมโลกมาโดยตลอด โดยเฉพาะภายหลังการขึ้นสู่อำนาจของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี และพรรคภารติยะชนตะ หรือที่คนอินเดียเรียกกันติดปากว่า ‘บีเจพี’ (Bharatiya Janata Party: BJP) ในปี 2014 หลังจากที่ต้องทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านในรัฐสภากว่า 10 ปีติดต่อกัน
ความเปลี่ยนแปลงในปี 2014 ถือเป็นเรื่องสุดคาดคิด เพราะโพลทุกสำนักต่างชี้ว่าพรรคคองเกรส (Congress Party) จะได้รับชัยชนะอย่างล้นหลาม เพราะเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่กำชัยในศึกเลือกตั้งอินเดียมานักต่อนัก ทั้งยังเป็นมรดกชิ้นสำคัญของบิดาแห่งชาติอินเดียอย่างมหาตมะ คานธี และชวาหะร์ลาล เนร์หู
แต่ผลการเลือกตั้งทำเอาทุกสำนักโพลต้องทบทวนความน่าเชื่อถือของตัวเอง เมื่อพรรคขวานิยมสุดโต่งอย่างบีเจพี สามารถครองเสียงในสภาได้ถึง 272 ที่นั่งจาก 545 ที่นั่ง ถือเป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ที่บีเจพีมีเสียงเกินครึ่งในรัฐสภาโดยไม่จำเป็นต้องตั้งรัฐบาลผสม
การที่พรรคขวานิยมสามารถกลับเข้ามาสู่อำนาจได้อีกครั้งหลังจากพ่ายแพ้การเลือกตั้งมา 10 ปีเต็ม และยังเป็นการชนะด้วยคะแนนนิยมสูงมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ก่อให้เกิดคำถามว่า เกิดอะไรขึ้นในการเมืองอินเดีย? เหตุใดพรรคขวาจัดที่ชูกระแสชาตินิยมฮินดูจึงชนะเลือกตั้ง ทั้งที่อุดมการณ์เช่นนี้เป็นจุดอ่อนในสังคมที่มีความหลากหลายสูงอย่างอินเดีย? และในการเลือกตั้งประจำปี 2019 ที่จะถึงนี้ พรรคบีเจพีจะสามารถดำรงรักษาอำนาจของตัวเองได้ต่อไปหรือไม่?
การขึ้นสู่อำนาจของพรรคบีเจพี: คุชราตโมเดล ความเชื่อมั่น และศรัทธา
นักวิชาการอินเดียศึกษาส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ความสำเร็จของพรรคบีเจพี เป็นผลสำคัญมาจากประสบการณ์และความสำเร็จในการพัฒนารัฐคุชราต (Gujarat) รัฐชายฝั่งทางด้านตะวันตกของประเทศ รัฐคุชราตภายใต้การบริหารของบีเจพี มีตัวเลข GDP เติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับรัฐอื่น มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหลากหลายด้าน ตลอดจนการส่งเสริมการศึกษาอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม จนทำให้คุชราตกลายเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง ซึ่งพรรคบีเจพีสามารถขายได้ในการหาเสียงเลือกตั้ง
ยิ่งในช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2014 รัฐบาลพรรคคองเกรสถูกวิจารณ์อย่างหนักว่า ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจอินเดียกลับมาเติบโตได้ดังเดิมหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 ก็ยิ่งทำให้คุชราตและบีเจพีโดดเด่นขึ้น การพัฒนารัฐคุชราตกลายเป็นโมเดลสำคัญซึ่งถูกพูดถึงไปทั่วประเทศ และทำให้นเรนทรา โมดี ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งมุขมนตรีแห่งรัฐคุชราต และเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการพัฒนารัฐดังกล่าว กลายเป็นนักการเมืองที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น
บุคลิกและลักษณะเฉพาะของโมดีถือเป็นอีกปัจจัยบวกของพรรค โมดีเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีวาทศิลป์สูงมาก มีความน่าเชื่อถือทั้งในระดับชาติและระดับนานาติ ซึ่งเห็นได้จากการขยายตัวของการลงทุนจากต่างประเทศในรัฐคุชราตในช่วงที่เขาเป็นมุขมนตรี ที่สำคัญโมดียังเป็นบุคคลตัวอย่างตามแบบฉบับศาสนาฮินดู ไม่ว่าจะการกิน การอยู่ และการใช้ชีวิต ซึ่งช่วยส่งเสริม ‘บารมี’ ในตัวเขาให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น โมดีจึงกลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่สร้างศรัทธาขึ้นมาในหมู่กลุ่มประชาชนที่ต้องการบุคคลที่มีความโปร่งใส ไม่ทุจริต
นอกจากนี้ ความสำเร็จของพรรคบีเจพีในการเลือกตั้งปี 2014 ยังเป็นผลมาจากการเติบโตของกลุ่ม Rashtriya Swayamsevak Sangh (RSS) องค์การจิตอาสาระดับชาติ ซึ่งเป็นฐานอำนาจสำคัญของพรรคบีเจพี RSS เป็นองค์การขวาจัดทำหน้าที่เผยแพร่แนวคิดฮินดูนิยมในหมู่ชาวอินเดีย โดยก่อตั้งนับแต่ปี 1925 และมีสมาชิกมากกว่า 7 ล้านคนทั่วประเทศ สายสัมพันธ์ระหว่างพรรคบีเจพีกับ RSS ถือได้ว่ามีความใกล้ชิดกันอย่างมาก นายกรัฐมนตรีโมดีเองก็เป็นสมาชิกกลุ่มดังกล่าวมาก่อน
ในปี 2014 RSS มีสาขาสำหรับการเผยแพร่อุดมการณ์กระจายอยู่ตามหมู่บ้านและตำบลต่างๆ สูงถึง 40,000 กว่าหน่วยทั่วประเทศ ปัจจัยนี้ยังผลให้การหาเสียงของบีเจพีสามารถกระจายไปในชนบทและท้องถิ่นได้มากยิ่งขึ้น
ทำไมคองเกรสถึงพ่ายแพ้?: วิกฤตเศรษฐกิจ คอรัปชั่น และผู้นำ
ชัยชนะของฝ่ายขวาอย่างบีเจพี ไม่ได้เกิดจากความเปลี่ยนแปลงภายในพรรคเพียงอย่างเดียว แต่เป็นผลมาจากความเสื่อมถอยของพรรคคู่แข่งด้วย
ที่ผ่านมา พรรคคองเกรสถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญในระบอบประชาธิปไตยอินเดีย โดยมีสถานะเป็นพรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้า ซึ่งยึดมั่นในแนวทางแบบรัฐฆราวาสนิยม ส่วนพรรคบีเจพีถูกจัดอยู่ในกลุ่มขวานิยมสุดโต่ง ชูประเด็นรัฐฮินดูนิยมและความเป็นชาตินิยมอินเดีย ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้บีเจพีไม่ได้รับความนิยมมากนักในอดีต เพราะอินเดียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทั้งทางเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม บีเจพีจึงชนะเลือกตั้งเพียงในพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดูและพูดฮินดีตลอดมา
อย่างไรก็ตาม ความนิยมของรัฐบาลคองเกรสเริ่มลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงปี 2012-2013 ซึ่งเป็นปลายสมัยของรัฐบาล ความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการปัญหาเศรษฐกิจและการขยายตัวของการลงทุนที่หยุดชะงัก สร้างความไม่พอใจต่อประชาชนอย่างมากและนำไปสู่ความเสื่อมศรัทธาในที่สุด ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคบีเจพีสามารถทำคะแนนเพิ่มได้
ปัญหาร้ายแรงที่ส่งผลอย่างยิ่งต่อการเสื่อมความนิยมของพรรคครองเกรสคือ การทุจริตที่ขยายวงกว้าง ในช่วงปีสุดท้ายของการบริหารประเทศ รัฐบาลพรรคคองเกรสถูกเปิดโปงเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ว่าการทุจริตจะเกิดในวงการใด มักมีรายชื่อรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคคองเกรสหรือพรรคร่วมรัฐบาล เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านั้นเสมอ
นอกจากนี้ พรรคคองเกรสยังมีปัญหาภายในพรรค เพราะไม่สามารถแสวงหาแคนดิเดตที่มีคุณภาพได้ จนทำให้การสืบทอดตำแหน่งผู้นำพรรคกลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นใหญ่ในการสู้ศึกเลือกตั้ง เมื่อเข้าตาจน พรรคคองเกรสหันกลับไปใช้การปลุกผีตระกูลคานธีขึ้นมา ด้วยเชื่อว่าจะช่วยแสวงหาคะแนนเสียงให้กับพรรคได้ ดังนั้นพรรคครองเกรสจึงแต่งตั้ง ราหุล คานธี เป็นผู้นำพรรค แต่หมากตัวนี้กลับเป็นจุดจบสำคัญของพรรค เพราะนอกจากราหุล คานธี จะไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองแล้ว ยังไม่มีวาทศิลป์ในการพูดด้วย
กล่าวได้ว่า วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในพรรคคองเกรส กลายเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่ทำให้พรรคบีเจพีมีโอกาสมากยิ่งขึ้นในการคว้าชัยชนะ
เลือกตั้ง 2019 โอกาสและความท้าทาย
ถึงแม้ว่าพรรคบีเจพีจะสามารถคว้าชัยชนะได้ในการเลือกตั้งปี 2014 แต่ด้วยบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายด้าน ทั้งจากการปฏิบัติใช้นโยบายแนวเสรีนิยมใหม่ ตลอดจนขวานิยมฮินดูสุดโต่ง ส่งผลให้เกิดปัจจัยทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อพรรคบีเจพีในการเลือกตั้งปี 2019
ในเชิงบวก รัฐบาลบีเจพีสามารถสร้างผลงานได้อย่างน่าประทับใจในหลายนโยบาย โดยเฉพาะการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจกลับมาดีดตัวสูงขึ้น ในช่วงระหว่างปี 2014 – 2018 เศรษฐกิจอินเดียเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.34 นอกจากนี้ การจ้างงานในประเทศยังสูงขึ้นด้วย ในปี 2012 ตัวเลขการว่างงานของอินเดียอยู่ที่ร้อยละ 3.62 ในขณะที่ในปี 2017 ตัวเลขการว่างอยู่ที่ร้อยละ 3.52 หรือพูดอย่างง่ายก็คือรัฐบาลสามารถสร้างงานได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 1.3 ล้านตำแหน่ง ขณะเดียวกันรัฐบาลก็มีนโยบายเศรษฐกิจใหม่ๆ เช่น Make in India Digital, India Smart City และ Incredible India เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน
ในระดับสากล รัฐบาลโมดีก็สามารถกอบกู้หน้าตาของประเทศ ผ่านความพยายามในการเลื่อนอันดับของประเทศในดัชนีชี้วัดระดับสากลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นดัชนีความสามารถในการแข่งขัน (Global Competitiveness Index) ที่เพิ่มขึ้นจากลำดับที่ 60 ในปี 2014 สู่ลำดับที่ 40 ในปี 2018 หรือความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) เพิ่มขึ้นจาก 132 ในปี 2013 เป็นลำดับที่ 100 ในปี 2018 เป็นต้น
นอกจากนี้ความพยายามในการส่งเสริมการใช้ภาษาฮินดี ความพยายามในการส่งเสริมพิธีกรรมทางศาสนาฮินดูในกิจกรรมต่างๆ ของรัฐบาล ตลอดจนความพยายามในการส่งเสริมให้กิจกรรมทางศาสนาฮินดูอย่างโยคะให้เป็นที่นิยมในระดับสากล กลายเป็นอีกผลตอบรับเชิงบวก ซึ่งส่งเสริมให้ผู้ศรัทธาทางศาสนา โดยเฉพาะกลุ่มชาวฮินดู มีแนวโน้มที่จะเทคะแนนเสียงให้กับพรรคบีเจพีมากยิ่งขึ้น
นอกจากความสำเร็จในการบริหารเศรษฐกิจแล้ว พรรคบีเจพียังคงมีฐานการเมืองภายในประเทศที่แข็งแกร่ง โดยบีเจพียังคงชนะในการเลือกตั้งระดับรัฐ ซึ่งจากทั้งหมด 29 รัฐ บีเจพีสามารถครองเสียงข้างมากได้ถึง 19 รัฐ คิดเป็นมากกว่าครึ่งของประเทศ การมีฐานการเมืองภายในที่แข็งแกร่งจะเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้บีเจพีมีโอกาสคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2019 ได้
อย่างไรก็ตาม หลายนโยบายของรัฐบาลโมดีสร้างความไม่พอใจให้กับคนจำนวนมาก และส่งผลกระทบเชิงลบต่อพรรคบีเจพีโดยตรง โดยเฉพาะปัญหาด้านความเท่าเทียมกันระหว่างคนกลุ่มต่างๆ
แต่เดิมนั้น กรอบทางด้านวรรณะก็ส่งผลให้การเข้าถึงโอกาสของประชาชนไม่เท่าเทียมกันอยู่แล้ว แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การขยายตัวของแนวคิดฮินดูนิยมสุดโต่งของรัฐบาลยิ่งตอกย้ำให้ปัญหาดังกล่าวเลวร้ายมากขึ้น เช่น ปัญหาความหย่อนยานของการปฏิบัติใช้กฎหมายระบบโควตาการรับเข้าทำงานในภาครัฐของกลุ่มคนต่างๆ ในสังคมอินเดีย (กฎหมายอินเดียมีการจัดระบบสำรองที่นั่งตามประเภทบุคคลผู้ด้อยโอกาส แบ่งเป็น Scheduled Caste (SC) กลุ่มคนจัณฑาล Scheduled Tribe (ST) กลุ่มชนพื้นเมือง และ Other Backward Class (OBC) กลุ่มคนทั่วไปที่ยากจน) หรือ กรณีของสตรีที่รัฐบาลไม่ได้มีนโยบายการส่งเสริมการทำงานที่เหมาะสม จนทำให้ปัจจุบันอินเดียเป็นไม่กี่ประเทศในโลกที่ผู้หญิงไม่สามารถทำงานตอนกลางคืนได้ ความไม่เท่าเทียมกันเหล่านี้ส่งผลให้กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มคนด้อยโอกาส มีแนวโน้มที่จะต่อต้านพรรคบีเจพีเพิ่มมากยิ่งขึ้น
หนึ่งในนโยบายที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดคือ นโยบาย Demonetization ซึ่งเป็นการประกาศยกเลิกธนบัตรราคา 500 และ 1000 รูปี ของรัฐบาล โดยมีข้ออ้างสำคัญว่าเพื่อขจัดปัญหาการทุจริตและเงินผิดกฎหมายที่อยู่นอกระบบ
อย่างไรก็ตาม ภายใต้วาทกรรมการปราบปรามการทุจริตของรัฐบาลผ่านนโยบาย Demonetization กลับแลกมาด้วยหยาดเหงื่อ น้ำตา และชีวิตของประชาชนจำนวนมากในประเทศอินเดีย ไม่มีคนอินเดียคนไหนที่มีความสุขจากการต้องมายืนต่อแถวรอตู้ ATM ที่ไม่สามารถรู้เลยว่าจะมีเงินพอสำหรับเราหรือไม่ หรือจะได้กดเงินเวลาใด เพราะรัฐบาลไม่สามารถพิมพ์เงินได้ทันต่อความต้องการ (ผู้เขียนเองต้องเผชิญกับประสบการณ์นี้เช่นเดียวกันเมื่อครั้งที่อยู่อินเดีย)
แต่มากไปกว่าความลำบากในการได้มาซึ่งเงินสด คือผลกระทบต่อชีวิตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คนอินเดียจำนวนไม่น้อยต้องทำงานทั้งเดือนเพื่อรับเงิน 500 รูปี (ประมาณ 250 บาท) แต่แล้วกลับต้องพบว่า เงินนั้นจะกลายเป็นกระดาษหากไม่ยอมไปแลกคืนจากรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลก็ไม่มีเงินเพียงพอให้แลก
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่มีข่าวว่า มีคนเสียชีวิตในระหว่างรอคิวกดเงินหรือแลกเงินสูงถึง 200 ชีวิต ทั้งจากความอ่อนเพลียและหัวใจล้มเหลว นอกจากนี้ ผลลัพธ์สุดคาดการณ์ของนโยบาย Demonetisation ก็คืออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ตกฮวบ เหลือแค่ร้อยละ 7.1 ในปี 2016
อีกหนึ่งนโยบายที่พรรคบีเจพีโดนตั้งคำถามมากคือ นโยบายปฏิรูปภาษี รัฐบาลโมดีพยายามแก้ไขให้ทั้งประเทศอินเดียมีระบบภาษีสินค้าและบริการเดียวกัน จากเดิมที่จะขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละรัฐ แต่ความพยายามในการหาค่าเฉลี่ยที่ ‘ลงตัว’ กลับทำให้นโยบายภาษีใหม่ของรัฐบาลบีเจพี กลับมีแนวโน้มเอื้อประโยชน์ให้ชนชั้นนายทุน เพราะดันไปลดภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น การรับประทานอาหารในร้านหรู จากเดิมภาษีอยู่ที่ร้อยละ 12.5 เหลือเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ในขณะที่ภาษีสินค้าอุปโภคบริโภคกลับปรับตัวสูงขึ้น เช่น ภาษีของสบู่เปลี่ยนแปลงจากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 18 จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนจำนวนมากจะไม่พอใจเมื่อเห็นว่าภาษีของไก่ทอด KFC ถูกกว่าภาษีที่เก็บจากสบู่และยาสีฟัน
นอกจากนี้ รัฐบาลบีเจพียังถูกวิจารณ์ในเรื่องของการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ในภาพใหญ่แม้อินเดียจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลก แต่ดอกผลส่วนใหญ่ยังตกอยู่ในมือของคนส่วนน้อย กล่าวคือ ประชาชนส่วนบนร้อยละ 10 ของประเทศถือครองความมั่งคั่งมากกว่าร้อยละ 58 จึงไม่ต้องแปลกใจที่ประเทศอินเดียจะติดอันดับ 2 ของโลกในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือ อินเดียยังคงเป็นหนึ่งประเทศที่มีคนจนมากที่สุดในโลก โดยมีประชากรที่ถือได้ว่า ‘ยากจนข้นแค้นสุดๆ’ (extream poverty) กว่า 71 ล้านคน
ที่ผ่านมา รัฐบาลโมดีพยายามแก้ไขความยากจนด้วยการปฏิรูประบบการเกษตรของรัฐผ่านการให้เงินกู้ยืม แต่ผลกลับไม่เป็นไปอย่างที่ตั้งใจนัก เมื่อสถิติชี้ว่า ชาวนาอินเดียฆ่าตัวตายกว่าปีละ 12,000 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงขึ้นนับตั้งแต่มีการใช้นโยบาย ความล้มเหลวเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลบีเจพี ที่เคยให้คำมั่นสัญญาว่าจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
ชนชั้นกลางและนักศึกษาเองก็ไม่สู้จะพอใจรัฐบาลบีเจพีมากนัก เนื่องจากรัฐบาลได้ตัดงบการศึกษาบางส่วนลง ในขณะที่มหาวิทยาลัยและโรงเรียนจำนวนมากถูกผลักให้ต้องหารายได้เอง ผลที่ตามมาคือ การเข้าถึงการศึกษามีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น
การปรับตัวของพรรคคองเกรสก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่น่าสนใจ สำหรับการเตรียมตัวเลือกตั้งในปี 2019 พรรคคองเกรสและพรรคท้องถิ่นผนึกกำลังกันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือ พยายามดึงประเทศกลับสู่แนวทางการพัฒนาแบบอดีต ซึ่งมุ่งเน้นรัฐฆราวาสนิยม มีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบผสม และที่สำคัญคือความพยายามส่งเสริมความเท่าเทียมของประชาชน
การเลือกตั้งในปี 2019 จึงเป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองและการเลือกตั้งของอินเดีย เพราะหากพรรคบีเจพีสามารถคว้าชัยชนะได้อีกครั้ง ก็จะสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ของประเทศอินเดีย ที่พรรคนี้จะสามารถครองอำนาจติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ในขณะเดียวกันหากพรรคฝ่ายค้านที่นำโดยคองเกรสชนะ ก็จะเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่เกิดการผนึกกำลังกันระหว่างพรรคระดับชาติอย่างคองเกรสกับพรรคระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ