fbpx
Modern Syndrome: เมื่อคน-เมืองป่วย เราจะทำอย่างไร?

Modern Syndrome: เมื่อคน-เมืองป่วย เราจะทำอย่างไร?

เป็นที่ทราบกันดีว่า ‘เมือง’ คือ สัญลักษณ์ของ ‘ความสมัยใหม่’ หากใครไม่อยู่ในเมืองก็ยากที่จะได้เข้าถึงความสมัยใหม่ ความสมัยใหม่ของเมืองได้มอบความสะดวกสบาย ความทันสมัย และความหวือหวาให้แก่ผู้อาศัย

ความสะดวกสบายของเมืองทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างเรียบง่าย ข้ามข้อจำกัดที่เคยเป็นอุปสรรคในอดีต ตัวอย่างเช่น การเดินทางไปยังสถานที่ห่างไกลด้วยการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเร็วสูง ซึ่งแต่ก่อนเราอาจใช้เวลาไปวันเพื่อไปถึงที่นั่น

ความทันสมัยของเมืองที่ช่วยทำให้แก้ปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้ง่าย อย่างเช่น การเข้าถึงระบบบริการสาธารณะสุขสมัยใหม่ที่ทำให้เราเข้าถึงระบบการรักษาที่มีคุณภาพ โรคภัยเก่าๆ ในอดีตที่เคยรักษาได้ยาก มาในปัจจุบัน เพียงเข้าพบหมอในไม่กี่ชั่วโมง โรคเหล่านั้นก็หายเป็นปลิดทิ้ง

 

ในส่วนของความหวือหวา เมืองทำให้เราพบเจอกับผู้คนและสิ่งต่างๆ ที่หลากหลาย เหล่านี้ทำให้ชีวิตของพวกเรายากที่จะพบแต่ความจำเจ เราสามารถมีเพื่อนเป็นชาวต่างชาติจากร้อยพ่อพันแม่ พร้อมๆ กับประกอบกิจกรรมจำนวนมาก อย่างเช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นดนตรี เข้าผับ หาแฟน ดู Museum หรือแม้กระทั่งไปประท้วงรัฐบาลในวันเดียวกัน

พวกเรากำลังอยู่ในเมือง และกำลังลิ้มลองกับความทันสมัยที่เมืองมอบให้อยู่

อย่างไรก็ดี ความสมัยใหม่ของเมือง ก็ใช่ว่าจะสร้างแต่ ‘สิ่งดีๆ’ ให้กับชีวิตของพวกเราได้เท่านั้น ในอีกด้านหนึ่ง มันยังสามารถสร้าง ‘สิ่งแย่ๆ’ ได้อีกด้วย สิ่งแย่ๆ ที่เกิดขึ้นจากเมือง ไม่ว่าจะเป็นปัญหารถติด มลพิษของอากาศ หรือความโดดเดี่ยวจากการอาศัยอยู่ตัวคนเดียวในเมือง มีส่วนสำคัญที่ทำให้เราเกิดอาการที่หลายคนอาจเรียกว่า ‘โรคคนเมือง’ หรือ ‘Modern Syndrome’

ถ้าจะให้ขยายความ Modern Syndrome คือคำนิยามที่พูดถึงความเจ็บไข้ได้ป่วยทั้งทางกายและจิตใจที่มาควบคู่ไปกับการพัฒนาของสังคงเมืองในโลกสมัยใหม่ ซึ่งทุกคนสามารถเป็นได้ ทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว

ไม่แน่คุณอาจจะเป็นอยู่ก็ได้

 

ในงาน 101 minutes at Starbucks ครั้งที่ 4: Modern Syndrome วันพุธที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2560 The101.world จึงได้ชวนวิทยากร 3 ท่านที่ทำงานและมีประสบการณ์กับปัญหาของคนเมืองมาอย่างยาวนาน มาคุยกันว่า Modern Syndrome คืออะไรกันแน่ และเกิดความเป็นเมืองได้อย่างไร รวมถึงหากเราจะอยู่ร่วมกับมัน เราพอจะมีวิธีรับมือปรับตัวกันได้อย่างไรบ้าง

วิทยากรทั้งสามได้แก่ พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือหมอผิง ผู้เชี่ยวชาญด้านการชะลอวัยชื่อดัง นักเขียน และนักแปล ผศ.ดร. นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) และ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หรือนิ้วกลม นักเขียน และพิธีกร

ข้างล่างนี้คือ แก่นสาระสำคัญที่ได้จากงานครั้งดังกล่าว

 

 

นิ้วกลม: เมืองที่ทำให้เราป่วย แปลกแยก และหมดความเป็นมนุษย์

 

นิ้วกลมพยายามเสนอว่าที่เมืองสามารถทำให้เราตกอยู่ในสภาวะ Modern Syndrome ได้ เพราะว่าเมืองเป็นสังคมวุ่นวายที่ทำให้เราไม่สามารถทบทวนตัวเองได้อย่างแท้จริง เมืองคือ “พื้นที่ที่เราถูกจับตาอยู่ตลอดเวลา” มีทั้งสายตาคนรอบข้างมาจับตาเราอยู่หรือแม้แต่สายตาเราที่จับตาคนอื่นไปอย่างผิวเผินด้วย

สังคมเมืองไม่ได้ทำให้มนุษยสัมพันธ์ของเราลดน้อยลงอย่างเดียว แต่ยังทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตนั้นดูไร้จุดหมายไปด้วย ในสังคมสมัยก่อนที่มนุษย์ต้องพึ่งพาธรรมชาติหรือเทพเจ้าทำให้มนุษย์รู้สึกว่านี่เป็นวิถีธรรมชาติและสามารถปล่อยวางได้ แต่ในสังคมสมัยใหม่ที่มนุษย์คิดว่าตนสามารถกำหนดระเบียบโลกได้ด้วยตนเอง และนี่อาจเป็นเหตุของทัศนคติในแง่ลบและความป่วยไข้ทางจิตใจที่เกิดกับคนกรุง

เขากล่าวว่าความรีบเร่ง ความเคร่งเครียดที่พบเจอในเมืองทำให้มุมมองเราเปลี่ยนไปในแง่ลบด้วย จะเป็นการดีถ้าเราหามุมสงบในเมืองให้ตัวเองได้ผ่อนคลายจิตใจควบคู่ไปกับการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงเมืองไปด้วย

คนจำนวนมากเลือกที่จะหนีออกไปหาธรรมชาตินอกเมืองแม้จะเป็นเวลาชั่วคราวเพราะเขาต้องการหนีจากชีวิตที่แน่นอนเหมือนเป็นของตายในเมืองออกไปหาความไม่แน่นอนของธรรมชาติในป่า

เขายังมองว่าเทคโนโลยีที่รวดเร็วทำให้เราตระหนักถึงปัญหาได้อย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันเราก็ลืมปัญหานั้นได้อย่างรวดเร็วเมื่อมีประเด็นใหม่ๆ เข้ามาเช่นกัน เราอาจเจอปัญหาต่างๆ และมีความมุ่งมั่นอยากแก้ปัญหานั้น แต่พอไม่มีอะไรมารองรับนอกจากโซเชียลมีเดีย ความกระตือรือร้นนั้นก็จะหายไปในที่สุด

นิ้วกลมยังกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่าปัญหาสำคัญคือประชาชนยังไม่รวมใจกันแก้ปัญหา เมื่อมีประเด็นเกิดขึ้นคนก็จะออกมาโจมตีว่าเป็นเรื่องฝักฝ่ายการเมืองกัน แต่ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาที่เรากำลังเผชิญด้วยกัน สุดท้ายเราก็ไม่ได้คุยกันเพื่อแก้ปัญหา แต่เป็นการด่าทอกันไปมาทั้งสองฝ่าย

 

 

ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล: จัดการสุขภาพคน จัดการสุขภาพเมือง

 

พญ.ธิดากานต์ เริ่มเปิดประเด็นว่ากลุ่มโรคที่พบในเมืองปัจจุบันจะแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มแรก โรคเกี่ยวกับระบบเมทาบอลิซึ่มและระบบไหลเวียนในร่างกาย กลุ่มที่สอง โรคกระดูกที่มาพร้อมกับการใช้เทคโนโลยีที่มากกว่าเดิม และกลุ่มสุดท้าย โรคทางจิตเวชซึ่งเกิดมาจากวิถีชีวิตในเมืองที่เคร่งเครียดตลอดเวลา

เธอกล่าวว่า แม้สังคมเมืองจะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย แต่เรามีทางเลือกในการกำหนดอาหารและกินมากกว่านอกเมือง ดังนั้น เราก็ต้องรู้จักดูแลและจัดการอาหารการกินให้เหมาะสม ซึ่งมุมมองของเราต่อสิ่งรอบข้างนั้นสำคัญต่อการสร้างสุขภาพจิตที่ดีในสังคมเมือง เราสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองได้ด้วยการเปลี่ยนความคิดของเราต่อสิ่งรอบข้าง

พญ.ธิดากานต์ยังเล่าต่อว่าหากเราอยู่แต่ในอาคารและไม่ได้ออกไปข้างนอกนานๆ ร่างกายก็จะไม่ได้รับวิตามินดีจากแสงแดดเท่าที่ควร ซึ่งการขาดวิตามินดีนั้นเป็นปัจจัยหนึ่งของโรคซึมเศร้า

ด้วยเหตุนี้ การออกไปในป่าหรือธรรมชาติ จึงทำให้จิตใจปลอดโปร่งขึ้น และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคซึมเศร้า นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างสุขภาพของเราในทางกายภาพอีกด้วย ส่วนหนึ่งเพราะแบคทีเรียที่หลากหลายในป่า จะผลดีต่อระบบร่างกายของเรา แต่ในเมืองเราจะพบแบคทีเรียกลุ่มเดิมๆ ที่สั่งสมกันมา ซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพเราเท่าใดนัก

เธอแนะนำต่อว่าหากเราต้องปรับตัวอยู่กับเมืองที่ยังมีปัญหามากๆ เราต้องพยายามอย่าไปเครียดกับปัญหามากเกินไป อย่างไรก็ดี เราก็สามารถเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในเวลาเดียวกันด้วย

พญ.ธิดากานต์ทิ้งท้ายเมื่อพูดถึงเรื่องการสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่เมืองว่า “มันขึ้นอยู่กับว่าตัวเราเรียนมาด้านไหน ทำงานด้านไหน และเรามีปมอะไรในใจที่อยากจะเปลี่ยน เพราะปมมันเยอะมาก เราต้องขับเคลื่อนในส่วนของตัวเองและอย่าเพิ่งไปคิดใหญ่หรือคิดอะไรที่เกินไปจากสิ่งที่ตนเองทำได้ พยายามคิดทีละสเต็ปไปก่อน แล้วมันจะออกมาเองค่ะ”

 

 

นิรมล กุลศรีสมบัติ: ขจัดโรคภัยด้วยการบริหารเมืองแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง  

 

ผศ.ดร.นิรมล เริ่มเล่าว่าเมืองสมัยใหม่คือที่มาของโรคภัยไข้เจ็บ ภาพของเมืองในฐานะแหล่งรวมความเจ็บไข้และความแออัดไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แล้ว ปัญหาต่างๆ ที่ตามมาก็เป็นชนวนให้เกิดความพยายามที่จะปรับปรุงเมืองให้ดีขึ้นทั้งด้านสาธารณสุขและสภาพความเป็นอยู่

ดังนั้น สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เมืองเป็นบ่อเกิดหรือต้นตอของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ก็คือ การบริหารจัดการเมืองที่ล้มเหลวนั่นเอง

เธอชี้ว่ากรุงเทพเป็นเมืองที่ต้องการการปรับปรุงเป็นอย่างมาก เพราะประชากรล้นเมืองและไม่มีการจัดการที่ดี บริการขนส่งสาธารณะไม่ค่อยมีคุณภาพ คนกรุงเทพต้องเสียค่าใช้จ่ายกับการเดินทางมากกว่าคนประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ทำให้วิถีชีวิตคนต้องอยู่กับอาหารสะดวกซื้อที่ไม่ดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้ เมืองยังไม่เอื้อให้เกิดการเข้าถึงโอกาสต่างๆ อย่างเท่าเทียม

ด้วยเหตุนี้ เธอจึงเสนอว่าการสร้างความเป็นชุมชนหรือทุนทางสังคมจึงเป็นทางออกให้กับปัญหาหลายๆ อย่างได้ แต่ในปัจจุบันพื้นที่สาธารณะที่มีไม่ใช่พื้นที่เราจะสร้างความสัมพันธ์หรือความเป็นชุมชนได้อีกแล้ว ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาเราก็ไม่สามารถหันหน้าไปหาใครได้

“เราจะร่วมมือกันแก้ปัญหาอะไรสักอย่างได้ก็ต้องมีทุนทางสังคม ซึ่งกรุงเทพที่เราอยู่นั้นไม่เอื้อให้เราสั่งสมทุนทางสังคมเลย” ผศ.ดร. นิรมลย้ำ

เธอเสริมว่าวิถีชีวิตที่คนกรุงเทพต้องอยู่กับสภาพสังคมเดิมๆ และกลุ่มคนระดับใกล้เคียงกันทำให้เรากลายเป็นคนที่ไม่เห็นหัวคนอื่น เราไม่รู้จักความแตกต่างทางสังคมทางฐานะ ทางชนชั้น ความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างก็จะไม่เกิดขึ้น

พื้นที่สาธารณะในกรุงเทพที่ให้คนมาพบปะหรือพักผ่อนมีน้อย ผู้คนจำนวนมากจึงเลือกจะหนีออกไปหาธรรมชาตินอกเมืองมากขึ้น เราควรมีพื้นที่สาธารณะให้คนได้มาพักสงบจิตใจและทำกิจกรรมนอกบ้านกันเพื่อให้สุขภาพจิตของผู้คนได้รับการผ่อนคลาย

ผศ.ดร. นิรมลกล่าวว่ากรุงเทพของเรามีพื้นที่ครอบคลุมทั้งจังหวัดและมีพื้นที่ใหญ่กว่าเมืองใหญ่อื่นๆ ในโลก แต่กลับมีผู้ว่าฯ เพียงคนเดียวที่คอยบริหารจัดการ ในขณะที่เมืองใหญ่อื่นๆ ในโลกมีผู้ว่าฯ แบ่งไปตามเขต เมื่อกรุงเทพเป็นแบบนี้ประชาชนคนทั่วไปก็ไม่สามารถเข้าไปเรียกร้องอะไรกับผู้ว่าฯ ที่อยู่ห่างไกลได้ คนในกรุงเทพเลยไม่มีความรู้สึกเป็นพลเมืองของที่นี่ ขอแค่ทำงานเก็บเงินแล้วหนีออกจากไป

เธอเสนอว่าการใช้ Open Data เป็นแพล็ตฟอร์มที่จะช่วยแก้ปัญหาตามจุดต่างๆ ของเมืองได้โดยที่ประชาชนไม่ต้องรอให้ผู้ว่าฯ มาเห็นปัญหาเอง เพราะแพล็ตฟอร์มนี้จะเปิดข้อมูลให้ประชาชนได้มาร้องเรียนปัญหาที่เกิดตามจุดต่างๆ ในเมืองได้โดยที่ผู้บริหารไม่ต้องมาลาดตระเวนและสามารถลงมือแก้ปัญหาตรงจุดนั้นได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเมืองเป็นแบบนั้นได้ประชาชนก็จะสามารถส่งเสียงของตัวเองได้ดังขึ้น และกรุงเทพก็จะเป็นเมืองที่น่าอยู่อาศัยมากขึ้น

 

ติดตามชม 101 minutes at Starbucks ครั้งที่ 4 : Modern Syndrome

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save