fbpx
มิวะ คาโต้ – ‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ 10 ปีของการผลักดันระบบยุติธรรมและเรือนจำให้เหมาะกับผู้หญิงทั่วโลก

มิวะ คาโต้ – ‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ 10 ปีของการผลักดันระบบยุติธรรมและเรือนจำให้เหมาะกับผู้หญิงทั่วโลก

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา เรื่อง

สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ภาพ

 

 

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา สภาพเรือนจำทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปในหลายมิติ หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนผู้ต้องขังหญิง จากรายงาน Global Prison Trends 2020 ที่จัดทำโดยองค์การปฏิรูปการลงโทษสากล (Penal Reform International: PRI) ร่วมกับ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Justice: TIJ) จำนวนผู้ต้องขังหญิงทั่วโลกในปัจจุบันพุ่งสูงขึ้นจากปี 2543 ถึงร้อยละ 50 อย่างไรก็ตามการออกแบบเรือนจำนั้นยังไม่ได้มีการปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เรือนจำหลายแห่งทั่วโลกยังถูกออกแบบให้เหมาะกับผู้ชายเป็นหลัก ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการเฉพาะด้านของผู้หญิงทั้งเรื่องสุขอนามัย การดูแลเด็กติดผู้ต้องขัง

สถานการณ์ข้างต้นเป็นตัวจุดประกายให้กระทรวงยุติธรรมของไทยริเริ่มโครงการจัดทำ ‘ข้อเสนอประเทศไทยเพื่อผลักดันเป็นข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ’  (Enhancing Lives of Female Inmates: ELFI) ซึ่งนำไปสู่การจัดการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 เพื่อยกร่างแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังโดยคำนึงถึงความต้องการเฉพาะด้านของผู้หญิง รวมถึงมาตรการที่ไม่ใช่การคุมขังที่คำนึงถึงเงื่อนไขทางเพศ

ผลสรุปจากการประชุมครั้งนั้นถูกนำเสนอและอภิปรายในอีกหลายการประชุมถัดมา ก่อนที่ในท้ายที่สุด ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) วันที่ 21 ธันวาคม 2553 ได้ให้การรับรอง ‘ข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิง’ (The United Nations Rules for the Treatment of Women Prisoners and Non-custodial Measures for Women Offenders) และให้มีชื่อเรียกย่อเพื่อให้เกียรติไทยในฐานะผู้ผลักดันว่า ‘ข้อกำหนดกรุงเทพ’ (Bangkok Rules)

จากการประชุมวันนั้นจนถึงวันนี้ ข้อกำหนดกรุงเทพได้ถูกใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบยุติธรรมและการคุมขังของหลายประเทศทั่วโลกมาแล้วครบ 10 ปีเต็มในปีนี้ ซึ่งความสำเร็จในการผลักดันข้อกำหนดกรุงเทพตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเกิดจากความร่วมมือระหว่างหลายองค์กร หนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันข้อกำหนดกรุงเทพคือ ‘สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ’ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) ในฐานะองค์กรที่ร่วมประชุม ให้การสนับสนุนการพูดคุยหารือในระดับระหว่างรัฐบาลหลายครั้ง อีกทั้งยังมีบทบาทส่งเสริมการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปปฏิบัติจริงในระดับโลกอีกด้วย

เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปีของข้อกำหนดกรุงเทพ 101 สนทนากับ มิวะ คาโต้ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของ UNODC ย้อนมองประสบการณ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้ในการส่งเสริมการใช้ข้อกำหนดกรุงเทพในการพัฒนาแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขังสำหรับผู้กระทำผิดหญิงในหลายประเทศทั่วโลก ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งมองไปข้างหน้าให้การปรับใช้ข้อกำหนดกรุงเทพให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

 

ข้อกำหนดกรุงเทพเข้ามามีบทบาทอย่างไรต่อกระบวนการยุติธรรมและการคุมขังทั่วโลก ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

ข้อกำหนดกรุงเทพเป็นเอกสารฉบับแรกที่กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงหรือผู้กระทำผิดหญิงในระดับนานาชาติ ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการส่งเสริมการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมทางเพศในกระบวนการยุติธรรมทั่วโลก

ที่ผ่านมา ข้อกำหนดกรุงเทพมีอิทธิพลอย่างมากต่อการทำงานขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เกี่ยวกับการส่งเสริมการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของผู้หญิง เช่น คณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี (Committee on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women: CEDAW) ที่ได้อิงข้อกำหนดกรุงเทพ ในการออกข้อเสนอแนะทั่วไปฉบับที่ 33 ว่าด้วยการเข้าถึงระบบยุติธรรมของผู้หญิง ซึ่งให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาของผู้ต้องหาและผู้ต้องขังหญิง ขณะที่การออกข้อกำหนดขั้นต่ำขององค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขัง (The United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners) หรือข้อกำหนดเนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandala Rules) ในปี 2558 มีการบรรจุประเด็นเกี่ยวกับผู้ต้องขังและผู้กระทำผิดหญิง ซึ่งมีรากฐานมาจากข้อกำหนดกรุงเทพด้วย

ขณะเดียวกัน UNODC ยังได้ส่งเสริมการนำข้อกำหนดกรุงเทพไปปฏิบัติจริงทั่วโลก ซึ่งช่วยให้กระบวนการยุติธรรมและกระบวนการคุมขังในหลายประเทศเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เช่น ในประเทศปานามา มีการจัดหลักสูตรระดับมหาวิทยาลัยให้สำหรับผู้ต้องขังหญิง มีการเพิ่มโอกาสให้ญาติพี่น้องและคนใกล้ชิดเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังหญิงมากขึ้น และการทำโครงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ทำโดยผู้ต้องขังหญิง ในโครงการ “IntegrArte” (Integration + Art) นอกจากนี้ ที่ประเทศอย่างไลบีเรีย เซเนกัล และเซียร์ราลีโอน ยูเอ็นก็ได้เข้าไปสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและส่งเสริมการเข้าถึงระบบยุติธรรมให้กับผู้หญิงทั้งในและนอกเรือนจำ โดยโครงการหนึ่งที่  UNODC ทำร่วมกับ UNWomen ช่วยเพิ่มศักยภาพที่ปรึกษาทางกฎหมาย ซึ่งเห็นผลเป็นรูปธรรมดังกรณีหนึ่งที่ช่วยให้ผู้หญิงในเซียร์ราลีโอนที่ก่อคดีฆาตกรรมแฟนหนุ่ม สามารถเดินหน้าต่อสู้และชนะคดีได้จริงมาแล้ว โดยทนายที่ช่วยต่อสู้คดีนำหลักฐานว่าเธอก่อเหตุเพื่อป้องกันตนเองต่อศาล จากที่ในเบื้องต้นศาลไม่ได้นำหลักฐานดังกล่าวมาใช้ร่วมพิจารณาคดี

 

ปัญหานักโทษล้นเรือนจำถือเป็นโจทย์ใหญ่ในหลายประเทศ ข้อกำหนดกรุงเทพเข้าไปช่วยแก้ปัญหานี้อย่างไรบ้าง

ในหลายๆ ประเทศ การคุมขังมักจะเป็นมาตรการแรกๆ ที่ถูกใช้ในการจัดการกับคดีอาชญากรรมต่างๆ ซึ่งหลายครั้งเราพบว่า หลายประเทศใช้การคุมขังมากเกินความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการคุมขังทั้งก่อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดี และระหว่างการตัดสินคดี โดยมองข้ามการใช้มาตรการอื่นแทนการคุมขัง อย่างเช่น การทำทัณฑ์บน และปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีการคุมประพฤติ

เหตุผลหลักที่ทำให้เกิดการใช้มาตรการคุมขังมากเกินความจำเป็นคือ ศาลกลัวว่ามาตรการทางเลือกอื่นๆ นั้นจะคุมผู้ต้องหาได้ไม่ดีพอ รูปแบบมาตรการทางเลือกก็มีให้เลือกใช้น้อย รวมทั้งยังขาดทรัพยากรที่จำเป็นต่อการใช้มาตรการเหล่านั้น และที่สำคัญคือประชาชนทั่วไปก็มักจะไม่เห็นด้วย นอกจากนี้ การที่หลายประเทศเลือกใช้นโยบายการไม่อดทนอย่างเด็ดขาดต่ออาชญากรรม (Zero Tolerance Policies) ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการคุมขังมากเกินความจำเป็น ส่งผลให้เกิดปัญหานักโทษล้นเรือนจำ อย่างไรก็ตาม ในปีนี้มีจุดเปลี่ยนสำคัญคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราได้เห็นเรือนจำบางประเทศตัดสินใจปล่อยนักโทษบางส่วนเพราะกลัวว่าความแออัดในเรือนจำจะนำไปสู่การแพร่เชื้อ ตอนนี้จึงถือเป็นจังหวะที่ดีมากในการพูดถึงปัญหานักโทษล้นเรือนจำในวงกว้าง

สำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ข้อกำหนดกรุงเทพได้แนะแนวทางการแก้ปัญหาความแออัดในเรือนจำไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นการลดการคุมขังผู้กระทำผิดหญิงในกรณีที่ไม่จำเป็นต้องถูกคุมขัง เพราะในหลายกรณี ผู้หญิงที่กระทำผิดไม่ได้มีพฤติกรรมที่เสี่ยงจะเป็นภัยต่อสังคมแต่อย่างใด การคุมขังผู้หญิงกลุ่มนี้ นอกจากจะไม่จำเป็นแล้ว ยังยิ่งไปทำร้ายพวกเขาด้วยซ้ำ เพราะทำให้พวกเขากลับคืนสู่สังคมได้ยากลำบากขึ้น และในท้ายที่สุดก็จะส่งผลเสียไปถึงครอบครัวและบุตรของผู้กระทำผิด รวมไปถึงชุมชนที่ผู้กระทำผิดอาศัยอยู่ด้วย

หากผู้ต้องหาหญิงกลุ่มนี้ถูกควบคุมตัวด้วยวิธีอื่นแทนการถูกคุมขัง ก็จะเป็นผลดีต่อตัวพวกเขา ครอบครัว และชุมชนของพวกเขาเอง ตามมาด้วยการช่วยแก้ปัญหาผู้ต้องหาล้นเรือนจำในหลายประเทศไปได้ระดับหนึ่ง รัฐบาลแต่ละประเทศจึงจำเป็นต้องทบทวนตัวบทกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้แบบเร่งด่วน

ข้อกำหนดกรุงเทพกำหนดแนวทางการลดการคุมขังผู้กระทำผิดหญิง ในกรณีที่ไม่จำเป็นต้องถูกคุมขังไว้หลายแนวทาง ข้อแรก การพัฒนามาตรการทางเลือกอื่นๆ ที่เหมาะสมกับผู้กระทำผิดหญิงเพื่อเบี่ยงเบนคดี ทดแทนการคุมขังก่อนการพิจารณาคดี และทดแทนการตัดสินจำคุก ข้อสอง การจัดสรรทรัพยากรสำหรับการใช้มาตรการอื่นแทนการคุมขัง และข้อสาม การที่เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมต้องนำภูมิหลังของผู้กระทำผิดหญิงมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประวัติการตกเป็นเหยื่อความรุนแรง สายสัมพันธ์กับครอบครัว ภาระหน้าที่ที่ต้องดูแลครอบครัว การตั้งครรภ์ ภาระการเลี้ยงดูบุตร และความต้องการเฉพาะของผู้ต้องขังหญิงแต่ละคนในการกลับคืนสู่สังคม

 

การผลักดันให้มีการใช้มาตรการอื่นแทนการคุมขังอาจมีความยุ่งยากซับซ้อนมากมาย เราต้องคำนึงถึงอะไรบ้างในการผลักดันเรื่องนี้

ความคิดเห็นของสาธารณชนถือเป็นประเด็นสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่งเลย เพราะเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลมากในการกำหนดทิศทางการวางนโยบายจัดการกับอาชญากรรม คนส่วนมากมักจะสนับสนุนให้ลงโทษผู้กระทำผิดอย่างรุนแรงเสียมากกว่า งานหลักของเราจึงเป็นการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้สาธารณชนได้ตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการใช้มาตรการอื่นที่มิใช่การคุมขัง โดยอาศัยความร่วมมือกับสื่อมวลชนและชุมชน เพื่อจูงใจให้สาธารณชนหันมาสนับสนุนการใช้มาตรการทางเลือกอื่นต่อผู้กระทำผิดมากขึ้น การร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมเพียงอย่างเดียวถือว่าไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ การผลักดันเรื่องดังกล่าวให้ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพยังจำเป็นต้องใช้แนวทางแบบบูรณาการ ซึ่งต้องคำนึงถึงหลายองค์ประกอบเข้าด้วยกัน อย่างแรกคือ เราจำเป็นต้องศึกษาสาเหตุที่ทำให้เกิดการคุมขังก่อนเข้าสู่กระบวนการตัดสินคดีแบบเกินความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดงบประมาณ ความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม และปัญหาคอขวดต่างๆ ในระบบราชการ ต่อมาคือประเด็นเกี่ยวกับการช่วยผู้กระทำผิดให้สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือทางกฎหมายต่างๆ แต่เนิ่นๆ เพราะที่ผ่านมา ผู้ทำผิดมักจะไม่มีเงินทุน ความรู้ หรือทรัพยากรต่างๆ มากพอที่จะไปต่อสู้คดี เป็นเหตุให้ต้องถูกจำคุกแบบไม่จำเป็น และสุดท้ายคือความจำเป็นที่แต่ละประเทศต้องลงทุนเพื่อเสาะแสวงหามาตรการทางเลือกอื่นๆ ที่มิใช่การคุมขังที่จะมีประสิทธิภาพมากพอ

 

นอกจากปัญหานักโทษล้นเรือนจำแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญและเกี่ยวโยงกับผู้ต้องขังหญิงโดยตรงคือ เรือนจำหลายแห่งไม่ได้คำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเพศภาวะของผู้ต้องขังหญิงเท่าที่ควร ข้อกำหนดกรุงเทพเข้าไปมีบทบาทเพื่อจัดการปัญหานี้อย่างไร

ข้อกำหนดกรุงเทพกำหนดแนวทางเกี่ยวกับการจัดการการคุมขังโดยคำนึงถึงความต้องการเฉพาะของผู้หญิงไว้อย่างละเอียดมาก ตั้งแต่ขั้นตอนของการลงทะเบียนผู้ต้องขังหญิงที่ต้องบันทึกข้อมูลที่จำเป็นไว้ครบถ้วน การจัดสรรสถานที่คุมขังที่เหมาะสม การบริการด้านสุขภาพ การดูแลสุขอนามัยส่วนตัว ความปลอดภัยในเรือนจำ ไปจนถึงแนวทางการติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอก

นอกจากนี้ ข้อกำหนดกรุงเทพยังให้ความสำคัญกับการกำหนดแนวทางการจัดการสำหรับผู้ต้องขังหญิงกลุ่มต่างๆ ที่มีปัญหาหรือประเด็นต่างๆ เฉพาะตัว อย่างเช่นหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หญิงที่จำเป็นต้องเลี้ยงดูและให้นมบุตรในเรือนจำ รวมไปถึงหญิงต่างชาติ และหญิงที่มาจากชนพื้นเมืองหรือชนกลุ่มน้อย

 

กระบวนการพาผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยลดโอกาสที่ผู้กระทำผิดจะก่อเหตุซ้ำ ตามที่บอกไว้ในข้อกำหนดกรุงเทพ แต่ก็ถือว่าไม่ง่ายที่หน่วยงานด้านยุติธรรมจะทำสำเร็จได้เพียงฝ่ายเดียว เราต้องอาศัยกับความร่วมมือกับใครบ้างในขั้นตอนนี้

ถ้าไปย้อนดูข้อกำหนดกรุงเทพ ภาคส่วนต่างๆ สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ในกระบวนการนี้ ในรูปแบบและขั้นตอนที่แตกต่างกันไป กล่าวคือ เจ้าหน้าที่เรือนจำอาจอนุญาตให้นักโทษลากลับบ้านชั่วคราว เปิดเรือนจำให้นักโทษได้พบกับคนข้างนอกบ้าง หรือการจัดทำบ้านกึ่งวิถี (Halfway Houses) ซึ่งเป็นการจัดหาที่อยู่อาศัยชั่วคราวในช่วงก่อนพ้นโทษ เพื่อให้นักโทษได้ปรับตัวก่อนจะได้รับอิสรภาพ และได้รื้อฟื้นสัมพันธ์กับครอบครัวอีกครั้ง แต่การทำกิจกรรมในลักษณะนี้อาจต้องอาศัยความร่วมมือกับคนในชุมชนด้วย

ทางเรือนจำยังสามารถจัดกิจกรรมอย่างการเปิดหลักสูตรการศึกษา และการฝึกทักษะอาชีพ เพื่อเตรียมพร้อมให้ผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคมได้ กิจกรรมพวกนี้ก็จำเป็นต้องใช้ความร่วมมือกับภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และครูอาจารย์ผู้มีทักษะความรู้ เช่นกัน

นอกจากนี้ การผลักดันให้เรือนจำทำโครงการพัฒนาส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ผลิตด้วยฝีมือของผู้ต้องขัง ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความคิดที่ดีในการช่วยผู้ต้องขังให้กลับคืนสู่สังคมได้ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ แนวทางการสร้างแบรนด์สินค้าที่ผลิตโดยผู้ต้องขัง (Practical Guide for Creating a Brand of Prison Products) ที่ริเริ่มโดย UNODC ซึ่งนอกจากจะช่วยชี้แนะแนวทางการส่งเสริมการตลาดของสินค้า ยังเป็นการทำให้สังคมภายนอกได้รับรู้ว่า ผู้ต้องขังก็มีทักษะ มีความสามารถ อันจะเป็นการช่วยเปลี่ยนทัศนคติของสาธารณชนที่มีต่อผู้ต้องขัง และทำให้ผู้ต้องขังกลับสู่สังคมง่ายขึ้น

โดยสรุปคือ การส่งผู้กระทำผิดกลับคืนสู่สังคมจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนของสังคม หากเราทำให้ผู้ต้องขังมีทักษะความรู้และความพร้อมต่างๆ และทำให้สังคมมีความพร้อมที่จะยอมรับพวกเขากลับมาใช้ชีวิตร่วมกันได้ ก็เท่ากับว่ากระบวนการนี้ประสบความสำเร็จ

 

นอกจากประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดแล้ว ยังมีประเด็นอะไรอีกบ้างในระบบยุติธรรมทั่วโลกที่เราต้องให้ความสนใจ

ระบบยุติธรรมทั่วโลกมีความท้าทายและประเด็นต่างๆ ที่ต้องขบคิดอีกมากเลยทีเดียว แต่ถ้าพูดในขอบเขตหน้าที่ของ UNODC จะมี 5 ประเด็นหลักๆ

ประเด็นแรก ตัวบทกฎหมายที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติทางเพศซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย กฎหมายบางตัวบัญญัติให้การกระทำบางอย่างไม่เป็นความผิดหรือมีความผิดน้อย หากผู้กระทำเป็นผู้ชาย แต่เมื่อผู้หญิงเป็นผู้กระทำ กลับกลายเป็นว่ามีความผิดหรือไม่ก็โดนโทษหนักกว่าที่ผู้ชายโดน เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน การคบชู้ และการค้าประเวณี

นอกจากนี้ ระบบกฎหมายของบางประเทศยังขาดการบัญญัติให้การกระทำบางอย่างที่มีผลเสียต่อเพศหญิงเป็นอาชญากรรม หรืออาจบกพร่องในการบังคับใช้กฎหมายพวกนี้ อย่างในกรณีการใช้ความรุนแรงต่อคู่ครอง และการบังคับให้ผู้หญิงขลิบอวัยวะเพศ อีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การที่ตัวกฎหมายในหลายประเทศยังไม่ยอมรับว่า การที่ผู้หญิงทำร้ายหรือฆ่าสามีด้วยสาเหตุจากอาการทางจิตหรือความเครียดจากการถูกสามีทำทารุณกรรม (Battered Women Syndrome) สามารถใช้อ้างเป็นเหตุของการป้องกันตัวในการต่อสู้คดีได้

ประเด็นที่สอง การตระหนักว่าในบางครั้ง การกระทำผิดกฎหมายหรือการถูกคุมขังของผู้กระทำผิดหญิงมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่พวกเขาเคยตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงมาก่อน เพราะการเจอประสบการณ์การถูกใช้ความรุนแรง อาจส่งผลให้ผู้หญิงมีอาการผิดปกติทางจิตบางอย่าง ที่นำไปสู่พฤติกรรมการใช้ความรุนแรง และลงเอยด้วยการถูกจับกุมคุมขังในที่สุด ประเด็นนี้มีผลการศึกษายืนยันชัดเจน และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ระบบยุติธรรมจะต้องคำนึงถึงด้วย

ประเด็นที่สาม ผู้หญิงจำนวนมากมักจะไม่ได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมายหรืออาจไม่มีเงินทุนมากพอในการว่าจ้างบริการด้านกฎหมายต่างๆ เพื่อต่อสู้คดี อีกทั้งยังขาดความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย ผู้หญิงเหล่านี้จึงมีโอกาสที่จะถูกคุมขังสูง และพลาดโอกาสที่จะได้รับการประกันตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราว

ประเด็นที่สี่ เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาบางคนยังมีอคติทางเพศและมีทัศนคติเชิงเหมารวมในเรื่องเพศ ซึ่งจะส่งผลตามมาหลายอย่าง เช่น ผู้พิพากษาอาจจะตีความหรือใช้ตัวบทกฎหมายด้วยอคติจนตัดสินผิดพลาดได้ ซึ่งย่อมส่งผลเสียต่อผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นโจทก์หรือจำเลยในคดีก็ตาม

ประเด็นสุดท้าย การส่งเสริมให้มีความหลากหลายทางเพศของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมการทำงานให้เหมาะสมและปลอดภัยสำหรับเจ้าหน้าที่ทุกเพศ โดยเฉพาะเพศที่เปราะบางต่อการถูกเลือกปฏิบัติอย่างเพศหญิงและกลุ่มเพศทางเลือก

 

ที่ผ่านมา มีประเทศไหนบ้างที่นำข้อกำหนดกรุงเทพไปปฏิบัติและถือว่าประสบความสำเร็จ

บางประเทศมีการปรับปรุงแก้ไขตัวบทกฎหมายที่สอดรับกับข้อกำหนดกรุงเทพ เช่น เซียร์ราลีโอน มีการปรับปรุงกฎหมายเมื่อปี 2560 ให้ศาลต้องพิจารณาใช้มาตรการอื่นๆ แทนการคุมขังในกรณีที่ผู้กระทำผิดกำลังตั้งครรภ์ ต้องเลี้ยงดู หรือต้องให้นมบุตร ขณะที่ปีถัดจากนั้น ศาลสูงของบราซิลก็ได้กำหนดให้ผู้กระทำผิดหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หรือมีบุตรที่อายุต่ำกว่า 12 ปี ถูกคุมขังในบ้านแทนได้

เรายังได้เห็นหลายประเทศเปิดให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีบทบาทสนับสนุนในประเด็นเกี่ยวกับการดูแลความต้องการเฉพาะด้านของผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำ อย่างที่อิตาลี องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (NGO) ได้เข้ามาช่วยดูแลการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างผู้ต้องขังและบุตรที่อยู่นอกเรือนจำ ส่วนที่กัมพูชา กลุ่ม NGO เข้ามาช่วยจัดหาอาหารและยาให้กับผู้ต้องขังหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ รวมถึงบุตรที่ผู้ต้องขังกำลังดูแลอยู่ในเรือนจำเช่นกัน ขณะที่ในประเทศอัฟกานิสถาน เซียร์ราลีโอน และไนจีเรีย มีหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการจัดหลักสูตรการศึกษาและการฝึกทักษะอาชีพให้กับผู้ต้องขังหญิง และที่สหราชอาณาจักร ก็มีหน่วยงานที่ช่วยดูแลให้คำแนะนำแก่ผู้ต้องขังหญิงในการหาที่อยู่อาศัยและหางานทำ ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ

ในบางประเทศยังมีการลงทุนทำโครงการส่งเสริมให้ผู้ต้องขังหญิงกลับคืนสู่สังคม ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยที่ UNODC ได้เข้าไปให้การสนับสนุนด้วย เช่น ประเทศเอล ซัลวาดอร์ มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำโครงการส่งเสริมให้ผู้ต้องขังได้เข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา และที่ประเทศโบลิเวียก็มีโครงการฝึกฝนทักษะการทำงานก่อสร้างให้กับผู้ต้องขังหญิง ซึ่งอีกด้านหนึ่งถือเป็นการทลายกำแพงการเหมารวมบทบาททางเพศ ทำให้ผู้คนได้เห็นว่า ผู้หญิงก็ทำงานที่มักจะถูกมองว่าเป็นงานของผู้ชายได้ และยังช่วยเพิ่มจำนวนแรงงานให้ประเทศได้อีกด้วย

 

ประเทศที่มีทรัพยากรทั้งงบประมาณและบุคลากรเพียงพออาจไม่ได้มีปัญหามากนักในการใช้ข้อกำหนดกรุงเทพ แล้วถ้าเป็นประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากร จะปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพได้หรือไม่

ที่จริงแล้ว การนำข้อกำหนดกรุงเทพไปใช้ไม่จำเป็นต้องใช้เงินทุนเยอะมากขนาดนั้น เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าการมีหรือไม่มีทรัพยากรคือการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทัศนคติของเจ้าหน้าที่เรือนจำและบุคลากรในระบบยุติธรรม ที่ต้องใส่ใจกับความต้องการเฉพาะเพศสภาพของผู้หญิงมากขึ้น

การขาดแคลนทรัพยากรไม่ควรถูกใช้เป็นข้ออ้างที่จะบอกว่าไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพได้ เพราะมีหลายวิธีที่จะทำให้แต่ละประเทศทำตามข้อกำหนดกรุงเทพได้ ถึงแม้จะขาดแคลนทรัพยากร เช่น เรือนจำอาจใช้ระบบเพื่อนช่วยเพื่อน (Peer Support) โดยให้ผู้ต้องขังช่วยให้ความรู้หรือฝึกฝนทักษะต่างๆ ที่ตัวเองถนัดให้กันและกันเอง แทนการจัดหาบุคคลภายนอก หรืออาจจะใช้วิธีสร้างความร่วมมือกับ NGO หรือหน่วยงานอื่นๆ ภายนอกก็ได้เหมือนกัน

 

นอกเหนือไปจากข้อกำหนดกรุงเทพแล้ว ยังมีแนวทางอื่นๆ อีกหรือไม่ที่ช่วยพัฒนาระบบยุติธรรมได้ในระดับสากล

ในเอกสาร ‘มาตรฐานและค่านิยมในการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของสหประชาชาติ’ (UN Standards and Norms in Crime Prevention and Criminal Justice) ได้ให้แนวทางการปฏิรูประบบยุติธรรมทางอาญาให้มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามหลักมนุษยธรรม และสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศต่างๆ สามารถนำไปปฏิบัติตามได้

ภายใต้มาตรฐานและค่านิยมดังกล่าว แนวทางหนึ่งที่น่าสนใจคือ ข้อกำหนดเนลสัน แมนเดลา (Nelson Mandala Rules) ที่ได้พูดถึงไปแล้วเล็กน้อยก่อนหน้านี้ ข้อกำหนดนี้เริ่มมีผลมาตั้งแต่ปี 2558 (หลังจากข้อกำหนดกรุงเทพ 5 ปี) โดยเป็นข้อกำหนดที่ยกระดับการแนะแนวทางเกี่ยวกับวิธีการดูแลผู้ต้องขังทั้งชายและหญิงในหลายด้าน เช่น การดูแลสุขอนามัยและการใช้มาตรการการลงโทษทางวินัย

 

เราเรียนรู้และถอดบทเรียนอะไรได้บ้างจากการใช้ข้อกำหนดกรุงเทพมาครบ 10 ปี

อย่างแรกคือ เราเรียนรู้ว่าการได้รับการสนับสนุนจากภาคการเมือง การได้รับจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอทั้งในแง่เงินทุนและบุคลากร รวมทั้งการฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับระบบยุติธรรมทางอาญา เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้การปฏิบัติตามข้อกำหนดกรุงเทพในแต่ละประเทศเป็นไปได้ด้วยดี

สิ่งสำคัญคือแต่ละประเทศจะต้องให้ความสำคัญกับความพยายามในการหามาตรการทางเลือกอื่นๆ แทนการคุมขัง โดยคำนึงถึงเพศสภาพที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของผู้หญิงที่มีภาระต้องดูแลบุตรหรือคนในครอบครัว นอกจากนี้ แต่ละประเทศยังต้องสร้างความมั่นใจได้ว่าบุคลากรหญิงที่ทำงานในระบบยุติธรรม รวมถึงคนที่ทำงานในเรือนจำ จะต้องได้รับการฝึกอบรมและมีโอกาสขึ้นสู่งานในระดับบริหารได้เท่าเทียมกับเพศอื่น และต้องมีบรรยากาศการทำงานที่ปราศจากการเหยียดเพศและล่วงละเมิดทางเพศด้วย

ระยะเวลาตลอด 10 ปีที่ผ่านมาถือเป็นบทเรียนว่า เราต้องลงทุนกับการเก็บรวมรวมและวิเคราะห์ข้อมูลในลักษณะที่จำแนกแยกย่อยชุดข้อมูลลงไปมากขึ้น เพราะจะช่วยให้เราคิดค้นเสาะหามาตรการทางเลือกอื่นที่มิใช่การคุมขังและการจัดการเรือนจำที่คำนึงถึงความแตกต่างทางเพศสภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ แต่ละประเทศยังจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในวงกว้างเกี่ยวกับประโยชน์และความสำคัญของการจัดการระบบเรือนจำให้สอดคล้องกับความต้องการเฉพาะของแต่ละเพศสภาพ รวมถึงการใช้มาตรการอื่นที่มิใช่การคุมขังที่คำนึงถึงผู้กระทำผิดหญิง ประเทศต่างๆ จะต้องพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องนี้ และให้การศึกษากับสาธารณชนในวงกว้าง

ท้ายที่สุด อีกสิ่งหนึ่งที่จัดว่าสำคัญมากในการผลักดันการใช้ข้อกำหนดกรุงเทพก็คือทุกคน ทุกภาคส่วนที่มีบทบาทในการผลักดัน อย่างประเทศไทยเองก็ได้ช่วยผลักดันเรื่องนี้มาตลอด 10 ปี ทั้งช่วยสร้างความตระหนักรู้ให้กับสาธารณชนและส่งเสริมการนำข้อกำหนดนี้ไปใช้จริง จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าบทบาทของไทยก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยต่อการผลักดันข้อกำหนดกรุงเทพมาตลอด

 

ในอนาคต คุณวาดหวังว่าระบบยุติธรรมที่ดีควรจะมีหน้าตาเป็นแบบไหน

ส่วนตัวแล้วคิดว่า ระบบยุติธรรมที่ดีจะต้องเป็นระบบยุติธรรมที่จะต้องปฏิบัติต่อทุกคนอย่างมีมนุษยธรรมและเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน เชื้อชาติไหน ศาสนาไหน หรือมีภูมิหลังแบบไหนก็ตาม และต้องยึดหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมอย่างแน่วแน่มากขึ้นด้วย

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save