5 สิ่งที่หายไปจากประเทศไทย

5 สิ่งที่หายไปจากประเทศไทย

บทความนี้เขียนขึ้นด้วยความสงสัยใคร่รู้ล้วนๆ เพราะงงงันกันนานเหลือเกินว่า ทำไม? อะไรต่อมิอะไรที่หายในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ ตลอดจนถึงแนวคิด ก็ล้วนหายได้ง่าย แต่ตามได้ยากกันทั้งนั้น

 

ของหายบางรายการ ขนาดประกาศตามหากันทั่วบ้านทั่วเมือง ก็ยังหากันไม่เจอ ทั้งที่ถ้าเป็นในประเทศอื่น ป่านนี้ก็คงหากันเจอแล้ว

ไม่แน่ก็อาจเป็นไปได้ว่า คนไทยนั้นลืมง่าย พออะไรหายหน่อยก็เห่อกันตามทั้งบ้านทั้งเมือง แต่พอเรื่องผ่านไปไม่ถึงสัปดาห์ ทุกอย่างก็กลับเงียบ ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น และไอ้ที่เงียบ นี่คือเงียบแบบสงัดด้วยนะครับ

เอ๊ะ หรือจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่ง นั่นคือ กล้องวงจรปิดหรือ CCTV ในบ้านเมืองนี้ที่ไม่ค่อยจะสมบูรณ์นั่นยังไงล่ะ เพราะทุกครั้งที่เกิดเรื่องเกิดราว เป็นต้นว่า ของหาย หรือคนหาย กล้องวงจรปิดที่ควรจะบันทึกสิ่งที่เป็นเบาะแสได้ ก็มักจะเสียอยู่เรื่อยไป ทำให้จับมือใครดมไม่ได้ ก็เลยไม่รู้ว่าของหรือคนหายไปไหน

นี่เป็นเพียงสมมติฐานคร่าวๆ เท่านั้น ไม่กล้าฟันธงหรอกว่าจริงหรือไม่ และถ้าจะให้ไปหาคำตอบเพื่อพิสูจน์สมมติฐานเหล่านี้ ก็คงตอบว่า “ขอบายนะจ๊ะ” ส่วนหนึ่งก็เพราะคิดว่า คำตอบที่จะได้นี่คงหายากกว่าของที่หายไปเสียอีก

เอาล่ะ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา วันนี้จะขอพาไปดูว่า 5 สิ่งที่หายในไทย แต่หาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอเนี่ย จะมีอะไรบ้าง

 

1. ประชาธิปไตย

 

เป็นที่รับรู้กันว่า เมื่อย่ำรุ่งของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คือเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของประวัติศาสตร์การเมืองไทยไปอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ คณะราษฎรได้ทำการปฏิวัติและเปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองเดิม ไปสู่ระบอบการเมืองใหม่ นั่นคือ ‘ประชาธิปไตย’

เสรีชนต่างก็คาดการณ์กันว่า สถาบันประชาธิปไตยในประเทศไทยจะแข็งแรงขึ้น แบบดีวันดีคืน แต่ในความเป็นจริง สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย

ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ซึ่งนับเป็นระยะเวลากว่า 85 ปี ประเทศไทยเผชิญหน้ากับสิ่งที่ทำลายประชาธิปไตยอย่างไม่หยุดหย่อน

พูดตรงๆ ก็คือ ประเทศไทยเกิดความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงจากหลายฝากฝั่ง จนถึงขั้นก่อการกบฏและรัฐประหารจำนวนแทบนับครั้งไม่ได้

เรามีกบฏ 11 ครั้ง และรัฐประหาร 13 ครั้ง เฉลี่ยแล้วประเทศนี้จะทำการรัฐประหารทุกๆ 6 ปี เอาเป็นว่า ประชาธิปไตยของบ้านเราจะมาแบบเป็นห้วงๆ คล้ายกับว่าประชาธิปไตยเล่นซ่อนหากับเราอยู่ตลอดเวลา

หลังจากรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 คราวนี้ ประชาธิปไตยของเราก็หายไปยาวเลยละครับ แล้วมีทีท่าจะหาไม่เจอในเร็วๆ นี้เสียด้วย

 

2. หมุดคณะราษฎร

 

เหมือนกับว่าคณะราษฎรจะรู้ดีว่าชะตากรรมของประชาธิปไตยไทยจะไปไม่ค่อยสวยเท่าไรนัก ดังนั้น พวกเขาจึงได้แนวรบการต่อสู้ในระนาบของวัฒนธรรมเผื่อเอาไว้ เพื่อใช้เป็นเครื่องยืนยันถึงประชาธิปไตยที่ควรลงหลักปักฐานในประเทศไทย

ทั้งนี้ คณะราษฎรได้ใช้งานด้านสถาปัตยกรรมมาเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมเพื่อค้ำจุนอุดมการณ์ประชาธิปไตย โดยผลงานเชิงรูปธรรมที่สำคัญก็คือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ศาลฎีกา (ที่เพิ่งจะถูกทุบ) หรือหมุดคณะราษฎรนั่นไงล่ะครับ

หลายคนก็อาจจะคิดว่าผลงานด้านสถาปัตยกรรมจะต้องมีขนาดใหญ่ และเห็นได้ชัด แต่ความจริงแล้วมันอาจจะมีขนาดเล็ก และสังเกตเห็นได้ยาก แต่แฝงไปด้วยความหมายอันลึกซึ้งได้เหมือนกันนะครับ

หมุดคณะราษฎรถือว่าเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมชิ้นแรกๆ ของคณะราษฎร ก็ว่าได้ ทั้งนี้ เพราะภายหลังจากการปฏิวัติไป 4 ปี คณะราษฎรที่นำโดย พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ทำพีธีฝังหมุดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2479 ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า

โดยบริเวณหน้าหมุดมีการเขียนข้อความว่า “ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ”

หมุดคณะราษฎรอยู่คู่คนไทยมาตลอด 80 ปี จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2560 มีรายงานข่าวว่า “หมุดคณะราษฎรได้หายไป” และถูกแทนที่ด้วยหมุดใหม่ที่มีชื่อว่า ‘หมุดหน้าใส’

โดยหลังจากที่หมุดหาย ประชาชนจากหลายภาคส่วนได้พยายามค้นหาคำตอบว่าหมุดเดินนั้นหายไปไหน เพือจะได้นำกลับคืนมาติดตั้งไว้ตามเดิม แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่มีใครล้วงรู้ว่าหมุดที่หายไปนั้นอยู่ไหน และใครกันแน่ที่เป็นผู้แคะหมุดออกไป

 

3. ปืน

 

ดูเหมือนว่าอะไรต่อมิอะไรก็หายได้ง่าย ไม่เว้นแม้กระทั่ง ‘ปืน’ ซึ่งเอาจริงๆ แล้ว ปืนเป็นสิ่งที่ไม่ควรหายที่สุด เพราะอะไรหรอครับ ส่วนหนึ่งเพราะมันสามารถสร้างผลกระทบภายนอกเชิงลบได้แบบคาดไม่ถึงนั่นไงล่ะ

คล้ายๆ กับประเทศไทยที่ชอบทำจระเข้หลุดออกจากฟาร์มตอนช่วงน้ำท่วมนั่นเอง เราไม่มีทางทราบได้เลยว่า จระเข้ที่หลุดออกไป จะไปอยู่ที่ไหน และจะไปทำร้ายใครบ้าง เผลอๆ จระเข้ก็อาจกลับมาทำร้ายเจ้าของฟาร์มแบบไม่ให้รู้ตัวก็ได้

ปืนก็เช่นกันครับ

เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2547 ได้เกิดเหตุการณ์ที่กลุ่มโจรมาปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (หรือที่เรียกกันในหมู่ชาวบ้านบริเวณนั้นว่า ‘ค่ายปิเหล็ง’) ในตำบลปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง ในเหตุการณ์นี้ คนร้ายสามารถปล้นปืนไปได้มากกว่า 413 กระบอกแล้ว โดยในภายหลัง ดีเอสไอรายงานว่า สามารถตามคืนได้ 94 กระบอก (เหลืออีก 300 กระบอกเอง)

หลายคนอาจจะคิดว่า ร้อยวันพันปีจะเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนสักคราว แต่สำหรับประเทศไทย นี่น่าจะเป็นกรณียกเว้นสักหน่อยนะครับ (เมื่อเปรียบเทียบกับปลุ่มประเทศที่ไม่มีสงครามกลางเมืองด้วยกัน) เพราะตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เป็นต้นมา มักมีการปล้นปืนแทบทุกปี ทั้งที่ตกเป็นข่าวและไม่เป็นข่าว

แค่ระหว่างปี พ.ศ.2554-2555 เกิดกรณีปล้นปืนในสามจังหวัดชายแดนภายใต้ถึง 4 ครั้ง กล่าวได้ว่ามีการปล้นปืนแทบทุก 6 เดือน

จากข้อมูลก็พบว่า โอกาสที่เจ้าหน้าที่จะได้ปืนและเครื่องกระสุนที่หายไปกลับคืนมีน้อยมากๆ พูดง่ายๆ ก็คือ หายแล้ว หายเลยนั่นเอง

ถึงว่าทำไมกองทัพไม่ค่อยจะลดงบประมาณตัวเองเลย

 

4. เงินภาษี

 

แน่นอนว่า เงินแต่ละบาทที่เรากว่าจะหาได้มานั้น ช่างแสนจะยากเย็น

แต่นั่นยังไม่ตลกร้ายเท่ากับว่า เมื่อเราได้เงินมาแล้ว เราก็ต้องจ่ายภาษีให้แก่รัฐบาลไม่ว่าจะด้วยทางตรงและทางอ้อมอีกด้วยนะครับ

แต่นั่นก็เป็นหน้าที่สำหรับพลเมืองอย่างเราๆ แหละครับที่ต้องจ่ายภาษี เพราะถ้าไม่จ่ายภาษีแล้ว รัฐบาลจะเอาเงินจากไหนมาสร้างบริการสาธารณะที่จำเป็นให้กับเรากันล่ะ

ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลสามารถบริหารเงินภาษีของเราไปทำนโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนได้จริงๆ ทุกอย่างก็คงโอเค และสมเหตุสมผลอย่างยิ่งที่เราจะเสียภาษี

แต่ในความเป็นจริงแล้ว เงินภาษีทุกบาททุกสตางค์ของเรา ไม่ได้ลงไปสู่การสร้างนโยบายอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยล่ะสิ

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ กระบวนการคอร์รัปชันในภาครัฐได้ทำให้เงินในกระเป๋าเราค่อยๆ สูญหายไปทีละนิด และที่เลวร้ายกว่านั้น บริการสาธารณะที่เราได้รับก็ห่วยแตกลงเรื่อยๆ อีก

จากรายงานวิจัย ‘โฉมหน้าคอร์รัปชันไทย’ ที่พยายามรวบรวมข้อมูลการทุจริตคอร์รัปชันที่เป็นคดีที่องค์กรอิสระตรวจสอบ และรวบรวมจากสำนักข่าวต่างๆ ที่มีการรายงานระหว่างปี 2530-2559 พบว่า มีการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐทั้งหมด 110 เรื่อง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในปี 2540-2556 เป็นหลัก

ลักษณะการทุจริตที่พบมากที่สุดคือ การทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง และการทุจริตการบริหารราชการที่ใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจ เป็นต้นว่า ขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง การปล่อยกู้ของธนาคารของรัฐโดยมิชอบ หรือการจัดเก็บรายได้และภาษีของรัฐ เป็นต้น

จาก 110 เรื่องนี้ มีอยู่ 71 เรื่องที่ได้รับการประเมินเป็นมูลค่าโครงการราว 9.8 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยน่าจะได้รับความเสียหาย จากประเทศหลายหมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ งานวิจัยดังกล่าวได้ชี้ว่า โครงการที่ทำให้เงินในกระเป๋าของพวกเราหายไปได้มากที่สุดคือ โครงการรับจำนำข้าว และโครงการไทยเข็มแข็ง

 

5. คนสำคัญ

 

คนสำคัญที่หายไปจากประเทศไทยมีหลายคน แต่ที่นับว่าเป็นข่าวในใหญ่ที่ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีอยู่สองคน

แน่นอน คนแรกก็คือพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ ‘พระธัมมชโย’ เจ้าอาวาสวัดธรรมกายที่กินเนื้อที่กว่าพันไร่ในจังหวัดปทุมธานี

ดูเหมือนว่า เส้นทางธรรมของพระธัมมชโยจะเจริญเติบโตไปได้ด้วยดี

แต่ก็นั่นแหละครับ มีเกิดก็ต้องมีดับ เพราะในช่วงทีที่ผ่านมาก พระธัมมชโยกลับต้องมาประสบมรสุมอันหนักหน่วงของชีวิตในบั้นปลาย กล่าวคือ พระธัมมชโยกับพวกได้ถูกกล่าวหาว่าได้ทำการฟอกเงินและรับของโจรตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะจากกรณีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น จนเกิดผู้เสียหายจำนวนมาก

งานนี้ ดีเอสไอ หรือ กรมสอบสวนคดีพิเศษก็เข้ามาแจมกับเขาด้วยสิครับ (เอาจริงๆ มันก็เป็นหน้าที่เขาอยู่แล้ว) มีการสนธิกำลังจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอื่นๆ (โดยอาศัยอำนาจมาก ม.44) เพื่อบุกเข้าวัดธรรมกาย และค้นหาตัวพระธัมมชโย แต่ถึงจะพยายามบุกและค้นหากี่รอบต่อกี่รอบ ก็ยังหาตัวไม่เจอ จนภายหลังเจ้าหน้าที่ได้ยกเลิกปฏิบัติการบุก และเปลี่ยนมาเป็นส่งคนที่ไปอยู่ร่วมในวัด เพื่อสอดส่องและหาเบาะแสพระธัมมชโย

ถึงกระนั้น พวกเขาก็ยังไม่สามารถพบตัวพระธัมมชโยอยู่ดี แม้แต่เงาก็ไม่มีให้เห็น

ล่าสุด อีกบุคคลสำคัญหนึ่งที่หายตัวไปอย่างลึกลับฉับพลันก่อนหน้าที่จะต้องเดินทางมาที่ศาลเพื่อรับฟังคำพิพากษา ก็คืออดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั่นเอง มีการวิเคราะห์กันไปต่างๆ นานา ถึงเส้นทางหนีออกนอกประเทศ รวมถึงเสียงวิจารณ์ถึงการ ‘ดีล’ ที่อยู่เบื้องหลัง แต่ก็ยังไม่มีอะไรกระจ่างแจ้งออกมา

 

จะเห็นได้ไม่ว่าอะไรต่อมิอะไรก็ล้วนมีสิทธิหายไปจากประเทศไทยได้ทั้งสิ้น คำถามที่น่าฉงนก็คือ นอกจากสิ่งเหล่านี้จะหายได้แล้ว ดูเหมือนความทรงจำของเราที่มี ‘การหาย’ ของสิ่งเหล่านี้ก็จะหายไปด้วย

มันเกิดแบบขึ้นได้อย่างไร นี่คือสิ่งที่เราต้องร่วมหาคำตอบ

เอ…หรือถ้าเรายังดึงดันที่จะจำ หรือดึงดันที่จะหาสิ่งที่หายไป ก็เป็นไปได้ที่คนที่ดึงดันนั่นจะหายไปด้วยก็ได้

คนถึงลืมกันง่ายไงครับ

 

เอกสารอ้างอิง

ข่าว ย้อนรอยเหตุการณ์โจมตีฐานปฏิบัติการ-ปล้นปืนที่จังหวัดชายแดนใต้ จาก ไทยพีบีเอส

ข่าว ธัมมชโยเจอคดีหนัก 2ข้อหา! ฟอกเงิน-รับของโจร จาก ไทยรัฐออนไลน์

ข่าว ทีดีอาร์ไอเผย 30 ปี พบทุจริตรัฐอื้อฉาว 110 เรื่อง “จำนำข้าว-ไทยเข้มแข็ง” มูลค่าเสียหายมากสุด จาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ข่าว หมุดคณะราษฎรที่หายไป สะท้อนปัญหาอะไรในสังคม จาก บีบีซี ไทย

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save