fbpx
‘แผนที่’ กำลังหลอกเราอยู่?

‘แผนที่’ กำลังหลอกเราอยู่?

ปรัชญพล เลิศวิชา เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ช่วงปลายปี 2019 การเมืองประเทศสหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในสภาวะดุเดือด หลังจากเกิดเสียงเรียกร้องให้มีการไต่สวนถอดถอน โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากข้อกล่าวหาว่าเขาใช้อำนาจละเมิดกฎหมายและกดดันผู้นำยูเครนให้สอบสวนและจัดการทางกฎหมายต่อบุตรชายของ โจ ไบเดน จากพรรคคู่แข่งทางการเมือง

ท่ามกลางกระแสธารการเมืองอันดุเด็ดเผ็ดมัน เช้าวันอังคารที่ 1 ตุลาคม 2019 ทรัมป์ ทวีตภาพหนึ่งลงในทวิตเตอร์ ซึ่งทำเอาสั่นสะเทือนกันไปทั้งทวิตภพ นั่นคือภาพแผนที่ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ถูกระบายด้วยสีแดงเถือกเกือบเต็มผืนแผ่นดิน จะมีสีน้ำเงินบ้าง ก็แค่ปะปนเป็นหย่อมๆ พร้อมกันนี้ ยังมีประโยคเด็ดที่แปะหราอยู่ด้านบนรูปว่า “Try to impeach this.” ซึ่งถ้าแปลเป็นไทยก็คือ “แน่จริงก็ถอดถอนสิ”

 

ที่มา

 

ภาพแผนที่ดังกล่าว เป็นแผนที่แสดงผลเลือกตั้ง electoral vote ในปี 2016 โดยสีแดงเป็นสัญลักษณ์แทนเขตที่พรรครีพับลิกันชนะการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นพรรคที่ทรัมป์สังกัดอยู่ ส่วนพื้นที่สีน้ำเงินเป็นสัญลักษณ์แทนเขตที่พรรคเดโมแครตชนะ

หากมองรูปแผนที่เร็วๆ หลายคนคงคิดว่าพรรครีพับลิกันได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนอย่างล้นหลาม และภาพที่ทรัมป์ทวีตลงไปก็เป็นการประกาศกร้าวว่า หากมีใครหน้าไหนกล้ามาหือ ก็เตรียมตัวเจอกับมวลมหาประชาชนอเมริกันได้เลย

แต่ทรัมป์และเราหลายคนคงไม่ทันรู้ตัวว่าแผนที่นี้กำลังหลอกเราอยู่

เมื่อ Karim Douïeb เจ้าของบริษัท data visualization ชื่อ Jetpack เข้ามาพบกับทวิตนี้โดยบังเอิญ เขาก็อดรู้สึกหงุดหงิดไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้ว การตีความจากแผนที่ดังกล่าวว่ามีมวลมหาประชาชนเลือกพรรครีพับลิกันจำนวนมาก เป็นการตีความที่ผิดเพี้ยน เพราะแผนที่นี้ไม่ได้ใช้งานเพื่อบอกว่ามีคนเลือกพรรคไหนเท่าไหร่ แต่เป็นการบอกว่าในแต่ละเขตมีพรรคอะไรชนะการเลือกตั้ง

ด้วยเหตุนี้ Douïeb จึงออกแบบแผนที่ใหม่ โดยใช้วงกลมสีที่มีขนาดเล็กและใหญ่แปรผันตามจำนวนประชากรแต่ละเขต เพื่อแสดงให้เห็นว่าเขตไหนมีประชากรเท่าไหร่ และพรรคไหนชนะในเขตนั้น แสดงให้เห็นว่า แม้บางเขตการเลือกตั้งจะมีพื้นที่กว้างขวาง แต่อาจมีประชากรหนาแน่นไม่เท่าบางเขตที่มีพื้นที่น้อย แต่ประชากรหนาแน่นสูง

 

 

แผนที่ในทวิตของทรัมป์เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ‘แผนที่’ มีอิทธิพลต่อการสร้างความเชื่อ ความคิด และเป็นอีกเครื่องมือที่ใช้หลอกล่อผู้คนได้เช่นกัน

 

‘แผนที่’ เครื่องมือสำหรับหลอกลวง ?

 

แผนที่เป็นเครื่องมือที่ใช้อธิบายสภาพทางภูมิศาสตร์ สถานที่ตั้ง พรมแดน และในงาน data visualization แผนที่ยังช่วยให้เราเห็นภาพของข้อมูลในแบบที่ยึดโยงกับตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ เช่นแผนที่แสดงผู้ชนะในเขตเลือกตั้งต่างๆ ช่วยทำให้เราเข้าใจข้อมูลได้ง่ายยิ่งขึ้น

แม้ว่าแผนที่ดูคล้ายจะฉายภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นได้ แต่จริงๆ แล้ว แผนที่เป็นการย่นย่อ ต่อขยาย หรือประมาณการข้อมูลและนำเสนอออกมาเป็นกราฟิก ดังนั้น แผนที่จึงไม่มีทางนำเสนอความจริงบนโลกได้เที่ยงตรงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เป็นสื่อที่มีความลำเอียง (biased) ในตัวของมันเอง เพราะฉะนั้นแผนที่จึงเป็นอีกเครื่องมือที่ถูกใช้สร้างอิทธิพลความคิดได้เช่นกัน

อย่างแผนที่โลกที่เราคุ้นเคยกันก็ไม่ได้เสนอภาพของโลกอย่างที่เป็นจริงๆ เพราะการฉายภาพโลกที่มีรูปทรง 3 มิติ ให้ออกมาเป็นแผ่นกระดาษ 2 มิติ ทำให้เกิดการบิดเบือนขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แผนที่แบบ The Mercator Projection รูปแบบแผนที่โลกที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เป็นแผนที่ที่ถูกคิดค้นขึ้นในปี 1596 โดย Gerardus Mercator เพื่อใช้ในการเดินเรือ แผนที่นี้ฉายภาพโลก 3 มิติ ออกมาเป็น 2 มิติ โดยเก็บความแม่นยำด้านการบอกทิศทาง แต่ในขณะเดียวกัน แผนที่ทำให้รูปทรงของแผ่นดินบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรมีขนาดใหญ่แตกต่างกว่าบริเวณที่ห่างออกไปมาก

 

รูปภาพแสดงแผนที่โลกรูปแบบ Mercator Projection (ที่มา)

 

ความบิดเบือนของขนาดพื้นที่ นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์แผนที่นี้ว่า เป็นการนำเสนอมุมมองของโลกที่ให้ความสำคัญกับชาติอาณานิคมอย่างเช่น สหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรป Arno Peters นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันกล่าวในปี 1973 ว่า “มันให้คุณค่ากับคนขาวมากเกินไป และบิดเบือนภาพความจริงของโลก เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับเจ้าอาณานิคมในเวลานั้น” (It overvalues the white man and distorts the picture of the world to the advantage of the colonial masters of the time.)

 

จริงๆ แล้ววงกลมสีส้มแต่ละวงที่ปรากฏอยู่บนแผนที่ มีระยะรัศมี 1,000 กิโลเมตร เท่ากัน แต่เพราะรูปแบบของแผนที่ Mercator Projdction ที่บิดเบือนขนาดพื้นที่ ทำให้วงกลมแต่ละวงมีขนาดเล็กใหญ่แตกต่างกัน (ที่มา)

 

แผนที่สร้างภาพ

 

รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ให้เห็นว่า แผนที่มีบทบาทสำคัญมาโดยตลอดกับการสร้างภาพการรับรู้

“แผนที่เป็นสื่อแบบหนึ่งที่เราใช้ในการรับรู้โลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคอาณานิคมเป็นต้นมาที่เจ้าอาณานิคมใช้แผนที่กำหนดพื้นที่ต่างๆ ในโลก รวมถึงแสดงออกว่ารัฐหรือเจ้าอาณานิคมมีอำนาจปกครองที่ไหนบ้าง

“อำนาจของรัฐสมัยใหม่ต่างๆ ก็ถูกจัดวางตามการแสดงผลบนแผนที่ เช่นเวลาที่เราเดินไปที่ชายแดน เราอาจไม่เห็นขอบเขตชายแดนประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน แต่รัฐสามารถรับรู้ได้ว่า ตัวเองเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตั้งแต่ตรงไหนถึงตรงไหนบ้าง ผ่านการเอาแผนที่มากาง

“แม้แต่เรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินต่างๆ ก็วางอยู่บนการรับรู้ผ่านการจัดวางบนแผนที่ บนเส้นละติจูด ลองจิจูด หรือเส้นองศาต่างๆ ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นเงื่อนไขสำคัญมากสำหรับการปกครองรวมถึงการขยายตัวของระบบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคลในระบบทุนนิยม”

 

รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ (ภาพโดย ภาพิมล หล่อตระกูล)

 

เมื่อแผนที่ขยับขยายจากรูปแบบแผ่นกระดาษมาสู่รูปแบบดิจิทัล รศ.ดร.เก่งกิจ กล่าวว่า แผนที่ยิ่งกลายเป็นเครื่องมือสำหรับควบคุมอำนาจได้ลึกซึ้งยิ่งกว่าเดิม

“ถ้าเราคิดถึงแผนที่ดิจิทัล ผมคิดว่ามันเป็นแผนที่ที่มีลักษณะเป็นแนวระนาบมากขึ้น พูดง่ายๆ คือเราไม่ได้มองโลกแบบ bird eye view อย่างเดียว แต่สามารถมองในระดับ street view ที่ทำให้เป็นพื้นที่แนวระนาบมากขึ้น

“คำถามคือ แผนที่เหล่านี้ปราศจากการควบคุมหรือการใช้อำนาจหรือไม่ ผมคิดว่าแผนที่เหล่านี้ยิ่งเป็นการใช้อำนาจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพราะแต่เดิมเวลาที่ผู้มีอำนาจกางแผนที่ออกมา เขาไม่ได้เห็นตัวบ้านคนอย่างละเอียด ไม่ได้เห็นถนน ไม่ได้เห็นหน้าบ้าน เขาเห็นสัญลักษณ์ต่างๆ ที่อยู่บนกระดาษหรือบนเอกสารราชการต่างๆ แต่แผนที่ดิจิทัลอย่าง Google Maps ทำให้อำนาจของรัฐหรือผู้ที่ต้องการควบคุมสังคมสามารถเข้าถึงตรอก ซอก ซอย หรือเข้าถึงชีวิตประจำวันของคนได้มากขึ้น แม้กระทั่งทุกครั้งที่เราใช้แผนที่ มันก็สามารถบันทึกข้อมูลการเดินทางของเราไว้ว่าเราไปที่ไหนบ้าง

“โดยสรุปคือในขณะที่แผนที่รูปแบบเดิมถูกสร้างขึ้นเพื่อวางรากฐานให้รัฐและการเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ มีเป้าหมายเพื่อการปกครองอย่างชัดเจน แผนที่ดิจิทัลก็ยังรับใช้เป้าหมายอันเดิมเช่นกัน คือ เพื่อการควบคุม ปกครอง และจัดการกับวิถีชีวิตของผู้คน แต่ผมคิดว่ามันเข้มข้นกว่ายุคก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ เพราะมันสามารถออกแบบวิถีชีวิตของผู้คนว่าเราจะเดินทางไปเส้นทางไหน เราควรจะใช้ชีวิตอย่างไร”

 

ที่มา

 

แม้แผนที่บนโลกดิจิทัลจะทำให้คนมีตัวเลือกในการเสพสื่อ และยังเปิดโอกาสให้เสนอแก้ไขข้อมูล จนดูเหมือนผู้ใช้งานจะมีอำนาจต่อรองกับแผนที่มากขึ้น แต่ รศ.ดร.เก่งกิจ มองว่าผู้ใช้งานก็ยังตกเป็นเครื่องมือของคนที่ควบคุมแพลตฟอร์มแผนที่ดิจิทัลเหล่านี้อยู่ดี

“เราต้องเข้าไปใช้แพลตฟอร์มที่ถูกออกแบบโดยบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ซึ่งพยายามดึงเอาชีวิตประจำวันของเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลเพื่อใช้ประมวลผล คาดการณ์พฤติกรรม หรือแนวโน้มความเป็นไปของสังคมมากขึ้น ยกตัวอย่างในทุกๆ เดือน Google จะส่งอีเมลมาหาผมว่า ผมเดินทางที่สถานที่ไหนบ้าง กินข้าวที่ไหน ทำอะไร แล้วก็จะมีโฆษณาขึ้นตามมาจากพฤติกรรมของผม ดังนั้นจะเห็นว่า การรับรู้ที่คนในโลกมีต่อแผนที่ไม่ได้เกิดจากอำนาจของรัฐหรือนายทุนอย่างเดียว แต่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันของเราได้

“คำถามที่ตามมาคือ ทุกๆ ครั้งที่เราป้อนข้อมูลจากการใช้ชีวิตเข้าไป เราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นคนควบคุม มูลค่าของมันอยู่ตรงไหน สิ่งนี้อาจเป็นสิ่งที่เราควรถามกันมากขึ้น มากกว่าจะบอกว่าแพลตฟอร์มเปิดเสรีภาพให้เราในการต่อรอง แน่นอนว่ามันมีการต่อรองขึ้น แต่การต่อรองนี้ตั้งอยู่ในกลไก หรือการประมวลผลผ่านอัลกอริทึมที่ซับซ้อนเกินกว่าที่เรารู้

“นอกจากนี้ เราควรพูดถึงประชาธิปไตยในการเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยี โดยเฉพาะเราควรตั้งคำถามถึงการรวมศูนย์ การผูกขาด กำหนดทิศทาง หรือรูปแบบของแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ แม้กระทั่งรูปแบบการเผยแพร่ข้อมูล การขายข้อมูลของเรา ซึ่งทุกวันนี้ถูกควบคุมโดยบรรษัทขนาดใหญ่ ซึ่งจริงๆ แล้ว เราไม่ควรมอบอำนาจนี้ให้กับบรรษัทขนาดใหญ่เพียงไม่กี่แห่งในโลกที่จะจัดการกับชีวิตประจำวันของคนทั้งโลกขนาดนี้

“และแม้เราจะเห็นอย่างชัดเจนว่าดิจิทัลแพลตฟอร์มจากบรรษัทขนาดใหญ่เหล่านี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนข้อมูลของเราเป็นสินค้าและใช้อำนาจควบคุมการดำเนินชีวิต แต่เราจะเห็นว่าบทบาทของรัฐก็ยังเข้มข้นขึ้น ในแง่ที่รัฐซึ่งมีทรัพยากรมากกว่าคนทั่วไปจะใช้ทรัพยากรที่ตัวเองมีเข้าไปซื้อพื้นที่ สื่อ หรือแพลตฟอร์มต่างๆ ในการโฆษณาความคิดเช่นกัน”

ในขณะเดียวกัน รศ.ดร. เก่งกิจ ยังชี้ถึงอุปสรรคที่ทำให้ประชาธิปไตยในการเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยี ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ

“ผมคิดว่าเราไม่สามารถพูดถึงประชาธิปไตยในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ภายใต้การมีอำนาจรัฐที่รวมศูนย์อย่างเช่นในปัจจุบัน อำนาจของรัฐสมัยใหม่ที่เราเกิดมาในช่วง 100-200 ปี เป็นอำนาจรัฐที่มีลักษณะรวมศูนย์ ซึ่งมีการกระจุกตัวของทรัพยากรหรือมีการควบคุมสังคมอยู่ที่สถาบันทางสังคมไม่กี่สถาบันที่คนทั่วไปไม่มีวันต่อรองหรือเข้าถึงได้”

“เพราะฉะนั้น ต่อให้เรามี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารที่เราขอให้รัฐเปิดเผยข้อมูลได้ แต่ในรูปแบบการปกครองของรัฐทุกรัฐ จะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ก็จะมีชั้นความลับของข้อมูลไม่รู้ตั้งกี่ชั้น เพราะฉะนั้นถ้าถึงที่สุด เราควรพูดถึงสังคมที่รัฐมีอำนาจรวมศูนย์ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

 

รู้เท่าทันแผนที่

 

หากข้อมูลที่ถูกส่งผ่านแผนที่มีความบิดเบือน แล้วเราจะสามารถรู้เท่าทันได้อย่างไร?

“ต้องเข้าใจว่าแผนที่หรือ chart ใดๆ มันมีวัตถุประสงค์อย่างหนึ่ง” ดร.ภูริพันธุ์ รุจิขจร อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Boonmee Lab กล่าว

“อย่างเช่นแผนที่ที่ทรัมป์ทวีตตอนปี 2019 แล้วเขียนว่า “Try to impeach this.” เป็นแผนที่เชิงภูมิศาสตร์ที่แสดงว่าแต่ละพรรคชนะเขตเลือกตั้งอะไร แต่ทรัมป์ใช้เพื่อบอกว่าคนทั้งอเมริกาเลือกเขา ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงมันไม่ใช่ เราในฐานะคนรับสารต้องรู้ว่าแผนที่นี้มันใช้สื่อสารแบบนี้ไม่ได้”

ไม่ใช่แค่วัตถุประสงค์ของแผนที่เท่านั้นที่ผู้รับสารควรรู้ แต่คนดูแผนที่ควรคำนึงถึงข้อจำกัดอื่นๆ ที่อยู่ในแผนที่ด้วยเช่นกัน

“ช่วง PM 2.5 มีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องแผนที่เหมือนกัน หลายคนเริ่มค้นคว้าว่า PM2.5 เกิดจากอะไร บางคนเปิดแผนที่ขึ้นมาแล้วสรุปเอาจากแผนที่เหล่านั้น แต่ไม่ได้ระมัดระวังข้อจำกัด เช่น เห็นว่าเพื่อนบ้านเรามีฝุ่นควันเยอะ เลยไปสรุปว่าฝุ่นควันไหลมาจากเพื่อนบ้าน ทั้งที่มันไหลมาจากทางนั้นจริงๆ หรือเปล่า มีปัจจัยอะไรอื่นๆ ไหม แล้วช่วงเวลาในแผนที่เป็นช่วงเวลาอะไร ค่าข้อมูลที่แสดงจะสามารถนำมาสรุปแบบนั้นได้จริงๆ หรือเปล่า เราต้องระมัดระวังว่าจะคาดเดาหรือได้ข้อสรุปในแบบที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง”

เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้เรารู้เท่าทันแผนที่มากขึ้น ดร. ภูมิพันธุ์ เสนอว่า อีกหนึ่งหนทางที่ทำให้เรารู้เท่าทันสื่อเหล่านี้คือการพบเจอมันบ่อยๆ

“ผมคิดว่าถ้าเราเจอกับการนำเสนอ visualization หรือแผนที่บ่อยๆ เราก็จะสามารถตั้งคำถามกับข้อมูลได้มากขึ้น ที่ผ่านมาผมคิดว่าเราไม่ค่อยได้เห็นของพวกนี้เท่าไหร่ เช่น รายงานทางราชการก็ไม่ค่อยมีการทำ visualization แต่เป็นการรายงานข้อมูลแล้วให้มาดูและวิเคราะห์เอง”

นอกจากผู้รับสารจะควรรู้เท่าทันแผนที่แล้ว ดร.ภูริพันธุ์ชี้ว่า ผู้สร้างแผนที่ก็ควรมีข้อระมัดระวังในการสร้างแผนที่ด้วยเช่นกัน

“ปัจจัยหลักที่คนทำ visualization ควรสนใจ คือ คนดูตอบได้ว่าแผนที่นี้แสดงวัตถุประสงค์อะไร เช่น เมื่อดูแผนที่นี้แล้ว คนดูสามารถตอบได้ว่าในกรุงเทพมหานครแต่ละเขตฯ พรรคไหนชนะการเลือกตั้ง ถ้าผู้ใช้มองแผนที่และตอบโจทย์ไม่ได้ ก็ต้องมีแผนที่อย่างอื่นเข้ามาตอบแทน”

 

ที่มา

 

ย้อนกลับไปที่ทวิตอันฉาวโฉ่ของโดนัลด์ ทรัมป์ นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2019 จนถึงปัจจุบัน (ต้นเดือนธันวาคม ช่วงที่บทความนี้กำลังถูกเขียน) ทวิตของโดนัลด์ ทรัมป์ ถูกรีทวีตส่งต่อไปมากเกือบ 9 หมื่นครั้ง ถึงแม้ว่าผลการเลือกตั้งประจำปี 2020 จะออกมาว่าทรัมป์เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่ในระหว่างทาง ทวิตนี้ได้ส่งผลต่อความคิดและการตัดสินใจของคนอเมริกันไปแล้วนับร้อยนับพัน

เพราะแผนที่เป็นสื่อหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อความคิด ดังนั้น การรู้เท่าทันแผนที่จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อไม่ให้เราตกเป็นเครื่องมือของแผนที่ที่กำลังสร้างภาพและบิดเบือน

 

 


อ้างอิง

The essential lies in news maps

When Maps Lie

Politics and Cartography: The Power of Deception through Distortion

From coronavirus to bushfires, misleading maps are distorting reality

U.S. election maps are wildly misleading, so this designer fixed them

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save