fbpx

การคะเนพลาดในประวัติศาสตร์สงคราม

ในวาระครบรอบ 76 ปีหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองในเดือนสิงหาคมนี้ ถือเป็นโอกาสเหมาะในการหวนรำลึกและทบทวนบทเรียนที่สงครามทิ้งไว้ ด้วยหวังจะไม่ย่ำซ้ำรอยโศกนาฐกรรมเก่าก่อน ยิ่งในเวลานี้ที่สำนึกถึง ‘สงคราม’ ดูจะอยู่ไม่ไกลจากชีวิตเราเท่าไหร่นัก ทั้งในแง่การเปรียบเปรยวิกฤตโควิดว่าไม่ต่างจากการต่อสู้สงครามใหญ่ และในแง่ความวิตกกังวลต่อการเผชิญหน้าด้วยแสนยานุภาพระหว่างมหาอำนาจในเวทีโลก การศึกษาอดีตสงครามจึงไม่ใช่เรื่องล้าสมัยแต่อย่างใด

สงครามโลกครั้งที่สองซึ่งมีสมรภูมิกระจายไปทั่วยุโรปและเอเชียจบลงเมื่อญี่ปุ่นยอมรับในท้ายที่สุดว่าคงไม่อาจยื้อเวลาและหาทางลงอื่นใดได้อีกนอกจาก ‘ยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข’ ณ จุดนั้น ศัตรูอย่างสหรัฐฯ ได้แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์แล้วว่าระเบียบโลกใหม่กำลังกำเนิดขึ้นจากซากปรักหักพังของสองเมืองในญี่ปุ่นที่กลายเป็นเป้าระเบิดปรมาณู หรืออาวุธนิวเคลียร์ กลายเป็นฐานอำนาจใหม่ในยุคต่อมา ช่างน่าเหลือเชื่อว่าศัตรูที่รบราฆ่าฟันกันถึงขนาดนั้นจะกลายเป็นมิตรประเทศที่เหนียวแน่นเรื่อยมาจวบจนวันนี้

ในยุคหลังสงคราม ญี่ปุ่นถูกสหรัฐฯ ยึดครองอยู่ราว 7 ปีเพื่อปฏิรูปให้เป็นชาติประชาธิปไตยและฝักใฝ่สันติภาพ ก่อนจะสามารถฟื้นฟูประเทศจนเป็นชาติเศรษฐกิจแนวหน้าของโลก มีเกร็ดประวัติศาสตร์ในเวลานั้นที่ อุโนะ โซสุเกะ รัฐมนตรีต่างประเทศปลายทศวรรษ 1980 (ก่อนขึ้นเป็นนายกฯ ช่วงสั้นๆ ปี 1989) หยิบมาเล่าเชิงขบขันในวารสาร Gaiko Forum ฉบับปฐมฤกษ์ปี 1988 ซึ่งมีขึ้นเพื่อส่งเสริมความสนใจด้านการทูตแก่สาธารณชนในยุคที่ญี่ปุ่นมุ่งขยายบทบาทในเวทีโลก

เขาเล่าว่าครั้งหนึ่งพลเอกดักกลาส แม็กอาเธอร์ ผู้บัญชาการสหรัฐฯ ผู้นำการยึดครองญี่ปุ่นได้ต่อว่านายกฯ โยชิดะ ชิเกรุ ผู้นำคนสำคัญขณะนั้นเรื่องที่รัฐบาลญี่ปุ่นประมาณการณ์อะไร ‘มั่วๆ’ อย่างที่ได้ร้องขอเมื่อปีก่อนว่าถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ อาจมีผู้คนอดอยากล้มตายถึง 4 ล้านคน แต่เมื่อแม็กอาเธอร์เร่งหาความช่วยเหลือมาให้ได้เพียงครึ่งเดียวจากที่ขอไว้ ก็ “ไม่เห็นมีใครอดตายสักคน” โยชิดะตอบด้วยไหวพริบว่า “ถ้าญี่ปุ่นคำนวนแม่นก็คงไม่แพ้สงครามตั้งแต่ต้น”

บทสนทนานี้สะท้อนบทเรียนแง่มุมหนึ่งว่าการคำนวนเผื่อไว้ให้ได้ความช่วยเหลืออย่างที่โยชิดะทำ ย่อมถือเป็นความชาญฉลาดในเชิงยุทธศาสตร์แบบหนึ่ง โดยยึดสถานการณ์เลวร้ายที่สุด (worst case scenario) ที่อาจเกิดขึ้นเป็นที่ตั้ง การคิดเผื่อไว้สำหรับกรณีย่ำแย่ย่อมเป็นวิธีที่รอบคอบกว่าการหาทางแก้เอาทีหลังเมื่อมีไม่พอ แต่เมื่อมองย้อนไปช่วงก่อนสงครามแล้ว การขาดแคลนวิสัยทัศน์ทำนองนี้ อาจเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้สงครามอุบัติขึ้นตั้งแต่ต้น

อันที่จริงในช่วงก่อนการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ หลายฝ่ายในญี่ปุ่นค่อนข้างมั่นใจว่าชาติตนไม่อาจมีชัยในสงครามเต็มรูปแบบกับชาติใหญ่อย่างสหรัฐฯ ถึงกระนั้นการหาทางมองมุมบวกในแบบที่ลดทอน ‘กรณีเลวร้าย’ ด้วยการยกชูเหตุผลแบบปลุกขวัญกำลังใจ ส่งผลให้สงครามกลายเป็นทางเลือก ยิ่งในช่วงที่มีกระแสชาตินิยมคอยหนุนหลัง ทำให้ไม่มีใครกล้าก้าวออกมาโต้แย้งอย่างจริงจังเพราะกลัวตกเป็นเป้าถูกกล่าวหาว่า ‘ไม่รักชาติ’ นี่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นริเริ่มสงครามที่ไม่อาจชนะในครั้งนั้น

ไม่เพียงแต่ญี่ปุ่นเท่านั้น การคะเนพลาดในช่วงที่โลกเดินดุ่มสู่หุบเหวแห่งการนองเลือดยังปรากฏให้เห็นทั้งในหมู่มหาอำนาจทั้งฝ่ายที่ต้องการรักษาระเบียบอย่างฝ่ายสัมพันธมิตร และชาติที่ต้องการสั่นคลอนระเบียบอย่างฝ่ายอักษะ (Axis powers) การคะเนพลาดในแบบ ‘ด้อยค่าวิกฤต’ และ ‘มองเบาศัตรู’ ดูจะเป็นปัจจัยที่กำหนดความเป็นไปของสงคราม

แน่นอนว่าสาเหตุที่ก่อให้เกิดสงครามใหญ่อาจมีอยู่หลายประการที่หลอมรวมให้สถานการณ์สุกงอม และคงเป็นที่ถกเถียงในงานวิชาการและนักประวัติศาสตร์อย่างไม่สิ้นสุดว่าตัวแปรไหนที่ควรให้สำคัญกว่ากัน สำหรับข้อเขียนนี้จะลองนำตัวแปร ‘การคะเนพลาด’ มาตั้งเป็นโครงเรื่องเสนอภาพการก้าวย่างของนานาชาติสู่สงครามโลกครั้งที่สอง โดยชี้ถึงบทเรียนว่าด้วย ‘ผลร้ายของการมองบวก’ (complacency)’ จนรับมือวิกฤตไม่ทันการณ์และสกัดกั้นศัตรูไว้ไม่อยู่

เมื่อวิกฤตถูกปล่อยผ่านจนบานปลาย

การคาดคะเนผิดพลาด (miscalculation) เป็นหนึ่งในต้นเหตุของสงคราม ซึ่งอาจอุบัติขึ้นแม้ในเวลาที่ชาติต่างๆ เห็นว่าสงครามเป็นทางเลือกที่สุ่มเสี่ยงและไม่คุ้มค่า ดังคำกล่าวที่ว่าสงครามอาจเกิดได้แม้ต่างฝ่ายต่างไม่ต้องการ การคะเนพลาดอาจมาจากความระแวงเกินกว่าเหตุ หรือไม่ก็มั่นใจเกินกว่าเหตุ ซึ่งอาการเหล่านี้นักทฤษฎีการเมืองระหว่างประเทศมองว่าอาจถูกขยายผลจนกลายเป็นความไร้เสถียรภาพของระเบียบใหญ่ได้ด้วยปัจจัยเชิง ‘โครงสร้าง’ หรือบริบทแวดล้อมระหว่างประเทศในเวลานั้น

โครงสร้างที่มีรัฐใหญ่จำนวนมากสอดส่องและถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันอย่างในช่วงก่อนสงครามโลกทั้งสองครั้งมักทำให้การคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์มีความยากและสลับซับซ้อน โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับโครงสร้างแบบสองมหาอำนาจเผชิญหน้ากันอย่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตระหว่างช่วงสงครามเย็น การมีชาติปฏิปักษ์แค่สองขั้วคอยจับจ้องความเคลื่อนไหวของอีกฝ่ายเพื่อหาทางตอบสนองเป็นเรื่องง่ายและตรงไปตรงมากว่า

แต่การต้องนำผู้เล่นหลายรายเข้ามาในการคำนวนและพิจารณายุทธศาสตร์ อีกทั้งในโลกแบบหลายขั้วอำนาจ การหาและรักษาพันธมิตรระหว่างกันมักถูกใช้เป็นเครื่องมือและยุทธวิธีในการถ่วงดุลเพื่อไม่ให้รัฐใดเป็นใหญ่ขึ้นครอบงำ แต่การจับกลุ่มกันก็มีความเสี่ยงจากการถูกทอดทิ้ง ถูกหักหลังและย้ายฝักย้ายฝ่าย ส่งผลทำให้การคะเนพลาดเป็นปัญหาที่แพร่หลายและอาจส่งผลรุนแรงเป็นลูกโซ่สั่นคลอนระเบียบขึ้นได้

บริบทที่มีหลายรัฐอำนาจ ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ สหภาพโซเวียต เยอรมนีและญี่ปุ่นที่มีเป้าประสงค์ต่างกันในเกมยุทธศาสตร์ บ้างพอใจและต้องการให้ระเบียบยังคงดำเนินไปดังเดิม บ้างต้องการปรับเปลี่ยนสถานะและแสวงหาประโยชน์เพิ่มเติมโดยเฉพาะอย่างยิ่งสามประเทศหลังในรายชื่อข้างต้น ทำให้ความเคลื่อนไหวของแต่ละฝ่ายเข้ามาอยู่ในการคาดคะเนและชั่งตวงวัดเชิงยุทธศาสตร์ของอีกฝ่าย ความซับซ้อนนี้นำไปสู่สภาวะไม่พึงประสงค์เกินความคาดหมายของฝ่ายใดๆ

ในบรรดาเหตุการณ์ช่วงก่อนสงคราม การทำข้อตกลงมิวนิกที่นายกฯ เนวิล เชมเบอร์เลน แห่งอังกฤษพร้อมด้วยฝรั่งเศสยอมรับให้เยอรมนีฮุบพื้นที่บางส่วนของเชโกสโลวาเกียไป แลกกับคำมั่นว่าจะไม่ขยายดินแดนเพิ่มอีกดูจะเป็นกรณีต้นแบบของการคะเนพลาดที่รู้จักกันต่อมาในนาม appeasement หรือการปล่อยให้ศัตรูทำตามอำเภอใจโดยไม่ลุกขึ้นทัดทาน ผลที่เกิดตามมาคือ เยอรมนียิ่งมีท่าทีฮึกเหิมและเพิ่มความทะเยอทะยานมากยิ่งขึ้นจากการที่อังกฤษส่งสัญญาณให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าตน ‘ไม่อยาก’ หรือ ‘ไม่สามารถ’ ต่อกรกับเยอรมนี

appeasement เป็นบทเรียนที่เกี่ยวพันกับการประเมินศัตรูและสถานการณ์ต่ำไป การมองอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำเยอรมนีว่าเพียงต้องการรวมชาติบนพื้นฐานชาตินิยมชาวเยอรมัน (pan-Germanism) และทวงคืนขอบเขตดินแดนอันชอบธรรมของตน ทำให้ละเลยความเป็นไปได้หรือกรณีเลวร้ายกว่านั้นที่ศัตรูอาจขยายอำนาจ ‘แบบได้คืบจะเอาศอก’ ซึ่งเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทที่แม้จะมีชาติที่มีศักยภาพพอที่จะสกัดเยอรมนีอยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่มีใครแสดงท่าทีอย่างจริงจัง

แนวทาง appeasement อาจมองผลการประเมินวิกฤตเบาไป ซึ่งจุดนี้อาจเกิดข้อถกเถียงว่าปัญหาอยู่ที่โครงสร้างหรืออยู่ที่ผู้นำกันแน่ เป็นที่เข้าใจกันว่าโครงสร้างที่มีหลายมหาอำนาจทำให้วิกฤตถูกประเมินต่ำได้ เพราะยิ่งมีหลายชาติที่ต่อกรกับศัตรูและวิกฤตได้ ยิ่งทำให้ไม่มีชาติไหนมองว่าเป็นหน้าที่ของตนที่จะยืนหยัดเป็นแนวหน้ายับยั้งหรือพลิกสถานการณ์ นั่นคือ ‘การเกี่ยงหน้าที่กัน’ (buck passing) เปิดช่องให้วิกฤตบานปลายจนกลายเป็นสงครามที่เลี่ยงไม่ได้ในท้ายที่สุด

บทเรียนจากจุดนี้ชี้ให้เห็นว่ายิ่งในบริบทที่ดูเหมือนมี ‘ตัวช่วย’ อยู่หลากหลายจนทำให้อุ่นใจได้ระดับหนึ่ง ความตื่นตัวและภาวะผู้นำกลับยิ่งจำเป็นในการมองสถานการณ์อย่างรอบคอบและนึกถึงกรณีเลวร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อไป อย่างน้อยการร่วมมือกันเตือนสติให้เห็นว่าวิกฤตเกิดขึ้นแล้ว ต่างฝ่ายต่างไม่ปล่อยผ่านและหาทางยับยั้งตั้งแต่ต้นอาจเลี่ยงหายนะระดับใหญ่ไม่ให้เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ดีเมื่อสงครามไม่อาจเลี่ยงแล้ว เราจะมาสำรวจกันต่อไปให้เห็นว่าการติดกับดักการคะเนพลาดไม่ได้เกิดในกรณีข้อตกลงมิวนิกเพียงเท่านั้น

แผนการอันแยบยลแต่ไม่ได้ผลดังใจนึก

การ appease ที่ทำให้เยอรมนียิ่งบุ่มบ่ามทำตามอำเภอใจมาจากทางฝั่งสหภาพโซเวียตด้วยเช่นกัน อันที่จริงแล้วด้วยหลักอุดมการณ์ที่ต่างกันและการมองคอมมิวนิสต์เป็นศัตรูโดยแนวคิดฝ่ายขวาอย่างนาซีและฟาสซิสต์ ทั้งสองไม่น่าจะหันหน้าเข้าหากันได้ แต่ด้วยประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ที่ต่างฝ่ายต่างต้องการทลายระเบียบและสถานะที่เป็นอยู่เพื่อขยายขอบเขตอำนาจของตนเพิ่มเติม ทำให้พันธมิตรที่น่าประหลาดบังเกิดขึ้นช่วงปลายปี 1939 ด้วยข้อตกลงโมโลตอฟ-ริบเบนทรอพ โดยเบื้องหลังการจับมือกันนี้คือการแบ่งพื้นที่โปแลนด์ระหว่างกัน

ความเคลื่อนไหวของโซเวียตแฝงความแยบยลเชิงกลยุทธ์ในตัวผู้นำอย่างโจเซฟ สตาลิน แต่ก็สะท้อนความย่ามใจต่อฮิตเลอร์และภัยคุกคาม ซ้ำยังเป็นการส่งสัญญาณเชิง appease ที่ยิ่งย้ำว่าไม่มีชาติไหนมีความจริงจังในการยับยั้งเยอรมนี Robert Gellately ชี้ว่าสตาลินตีความเหตุการณ์และเลือกกลวิธีจากเลนส์ทฤษฎีมาร์กซ์เลนิน การผูกมิตรกับฮิตเลอร์ทำให้โซเวียตลอยตัวจากสงครามของเหล่า ‘รัฐทุนนิยม’ ที่จะเกิดขึ้นสักวันตามแนวคิดทฤษฎี จากการที่ต่างฝ่ายต่างยื้อแย่งปัจจัยการผลิตและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจนบาดหมางกัน

การเข้าหาเยอรมนีโดยยอมให้เข้าถึงทรัพยากรและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันน่าจะทำให้ผู้นำชาติทุนนิยมอย่างฮิตเลอร์พอใจและไม่ทำอันตรายใดๆ แก่สหภาพโซเวียต สตาลินยังมองว่าการสนับสนุนเยอรมนีจะช่วยผลักดันให้ชาติทุนนิยมเปิดศึกรบรากันจนเสียพละกำลังและอ่อนแอกันไปทุกฝ่าย โดยมีโซเวียตเฝ้ามองอยู่ห่างๆ อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจสังคมที่ตกต่ำและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นตามมา น่าจะเป็นบรรยากาศที่เอื้อให้การ ‘ส่งออกแนวคิดสังคมนิยม’ ในยุโรปเป็นไปได้โดยง่าย ความมั่นใจในหลักคิดและการคะเนผลแบบมองชัยชนะอยู่แค่เอื้อมนี้ ทำให้ทั้งสองเป็นพันธมิตรกันได้อยู่พักหนึ่ง

อย่างไรก็ดี หลังจากสงครามในยุโรปดำเนินมาพักใหญ่นับจากปลายปี 1939 เมื่ออังกฤษตัดสินใจประกาศสงครามหลังเยอรมนีบุกโปแลนด์ สตาลินถึงคราวตาสว่างเมื่อกลางปี 1941 เยอรมนีหันเป้ามาโจมตีโซเวียต แม้เมื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆ ทั้งขนาดพื้นที่และกำลังคนที่สตาลินมีอยู่ในมือจะทำให้การตัดสินใจของเยอรมนีมีความเสี่ยงอย่างมาก แต่ท่าทีโอนอ่อนผ่อนตามของสตาลินที่แสดงออกผ่านข้อตกลงข้างต้น ตอกย้ำความมั่นใจของฮิตเลอร์ว่าโซเวียตไม่น่าจะพร้อมและอ่อนแอเกินกว่าจะทัดทานการบุกของตนได้

แม้โซเวียตจะมีข้อได้เปรียบและความแข็งแกร่ง แต่ก็ไม่ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงป้องปรามก่อนที่ภัยจะลุกลามจนถึงตัว การยอมอ่อนข้อเพื่อแผนการข้างต้นทำให้ฮิตเลอร์ฮึกเหิมและดูแคลนโซเวียตว่าปวกเปียกขนาดที่แค่ส่งกองทัพไปเตะประตูบ้าน ตัวอาคารทั้งหลังก็คงพังครืน เยอรมนีจะชนะในไม่กี่สัปดาห์ แต่ประวัติศาสตร์ก็เผยออกมาว่านี่ก็เป็นการคะเนพลาดของฮิตเลอร์ที่นำกำลังไปติดหล่มในรัสเซีย และหลังจากที่สตาลินหายช็อกจากผลของการคะเนพลาดและระดมกำลังตั้งหลักขึ้นมาใหม่ได้ ก็สามารถพลิกสถานการณ์เป็นฝ่ายได้เปรียบ และกลายเป็นแนวหน้าต่อสู้เยอรมนีจนชนะสงครามทางฝั่งยุโรป

สู่มหาสงครามแปซิฟิก

อีกคู่กรณีที่เข้ามาติดบ่วงความชะล่าใจในการประเมินสถานการณ์ คือสหรัฐฯ และญี่ปุ่น สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะมองวิกฤตที่เริ่มคุกรุ่นในย่านยูเรเชียว่าเป็นเรื่องไกลตัวและเป็นปัญหาของ ‘โลกเก่า’ ที่ต้องแก้กันเอาเอง จึงอาจมองว่าสหรัฐฯ เป็นตัวแปรหนึ่งในสมการ ‘การเกี่ยงและผลักภาระหน้าที่’ ในการรับมือวิกฤตตั้งแต่เนิ่นๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าสหรัฐฯ มั่นใจในความได้เปรียบเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของตน จากการที่มีมหาสมุทรใหญ่ขนาบสองด้านเป็นปราการกั้นภัยคุกคามจากภายนอกทวีป

การยึดมั่นในนโยบายโดดเดี่ยวตนเอง (isolationism) เรื่อยมา สะท้อนโลกทัศน์ดังกล่าวของสหรัฐฯ ซึ่งในงานประวัติศาสตร์ของ Lynne Olson แสดงให้เห็นความยากลำบากในการสลัดทิ้งจุดยืนนี้ ทั้งยังส่งผลกลายเป็นท่าทีที่ลังเลและการถกเถียงใหญ่เกี่ยวกับบทบาทต่อสงครามช่วงไม่กี่ปีก่อนถูกโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ในเวลานั้น เสียงของสาธารณชนแตกเป็นสองฝั่งระหว่างฝ่ายที่ต่อต้านการเข้ายุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งภายนอกกับฝ่ายที่ต้องการให้สหรัฐฯ เข้าช่วยเหลือพันธมิตรในยุโรป

ประธานาธิบดีแฟรงคลิน รุสเวลต์ เลือกใช้แนวทางประนีประนอมด้วยวิธีหยิบยื่นปัจจัยในการรบแก่ชาติที่กำลังต่อกรกับฮิตเลอร์ รวมไปถึงสหภาพโซเวียตด้วย โดยมองเป็นวิธียื้อเวลาเพื่อตนจะได้ไม่ต้องเข้าสงครามอย่างเต็มตัว ซึ่งหมายถึงการเลี่ยงความสูญเสียกำลังพลและลูกหลานคนสหรัฐฯ ในสมรภูมิที่ประชาชนไม่ได้มองว่าตอบสนองผลประโยชน์โดยตรงของชาติตนเสียเท่าไหร่

‘สงคราม’ อันเป็นที่ถกเถียงในสหรัฐฯ ว่าควรจะเข้าร่วมหรือวางจุดยืนอย่างไรในเวลานั้นดูจะมีความหมายเจาะจงเฉพาะสงครามในยุโรปเท่านั้น ทั้งที่จริงๆ แล้ว สหรัฐฯ เข้าไปแทรกแซงในสงครามรุกรานจีนของญี่ปุ่นทางฝั่งตะวันออกไกลมาพักใหญ่ โดยพยายามกดดันให้ญี่ปุ่นเคารพอธิปไตยและถอนกำลังออกจากจีน แม้จะเห็นชัดแล้วว่าญี่ปุ่นกำลังรุกคืบยึดดินแดนในเอเชีย ทั้งยังเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ แต่ในแผนที่สหรัฐฯ เตรียมการสำหรับสงครามซึ่งออกมาปี 1941 (ไม่นานก่อนเหตุการณ์เพิร์ลฮาร์เบอร์) กลับมุ่งสนใจเพียงสมรภูมิในยุโรปเป็นหลัก โดยระบุแค่ให้คอยจับตาญี่ปุ่นและเจรจากันไปเรื่อยๆ

แม้สหรัฐฯ อาจมองญี่ปุ่นเป็นปัญหา แต่ก็ไม่ได้มองเป็นภัยความมั่นคงโดยตรง ภาพที่ญี่ปุ่นส่งกำลังข้ามครึ่งค่อนมหาสมุทรมาโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ ในฮาวายดูเป็นเรื่องเหลวไหลในเวลานั้นโดยเชื่อว่าญี่ปุ่นไม่น่าจะมีศักยภาพเพียงพอ ซึ่งนั่นอาจเป็นตัวแปรหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ ไม่พยายามฝ่าสภาวะชะงักงันในการเจรจาและหาข้อตกลงร่วมกันให้ได้ ตรงกันข้ามกับกรณีมิวนิกและเยอรมนีกับโซเวียตที่การตกลงกันได้นำไปสู่ท่าทีเหิมเกริมของอีกฝ่าย การตกลงกันไม่ได้จากการที่สหรัฐฯ ดูแคลนอำนาจและความตั้งใจของญี่ปุ่นทำให้ฝ่ายหลังฮึดสู้แบบหลังชนฝา

สำหรับญี่ปุ่นแล้ว การเผด็จศึกโดยการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์และชักนำสหรัฐฯ เข้าสงครามอย่างเต็มตัวสะท้อนการคะเนพลาดในหลายกระทง แม้ว่าผู้นำญี่ปุ่นรู้อยู่แก่ใจว่าไม่อาจเอาชนะสหรัฐฯ ได้ แต่ด้วยกระแสชาตินิยมสุดโต่งที่ครอบงำสังคมอย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้การตัดสินนโยบายเบี่ยงเบนไปจากหลักเหตุผลเชิงวัตถุวิสัย เรื่องนี้ Eri Hotta ได้ไล่เรียงให้เห็นในงานศึกษาท่าทีของเหล่าผู้นำญี่ปุ่นก่อนการบุกเพิร์ลฮาร์เบอร์ แม้หลายฝ่ายตระหนักดีถึงความเสี่ยงมหันต์ แต่ก็พยายามกลบเกลื่อนความคิดนั้นด้วยปัจจัยบวกต่างๆ ที่ญี่ปุ่นพอมีอยู่

เพื่อปลุกขวัญกำลังใจและอำพรางการคำนึงถึงกรณีเลวร้ายที่ญี่ปุ่นอาจลงเอยจากการเปิดศึกกับสหรัฐฯ รัฐบาลพยายามขยายภาพข้อดีของญี่ปุ่นในเชิงชาติพันธุ์ วิถีวัฒนธรรม คติและศรัทธาความเชื่อในแบบที่ไม่เหมือนใครว่าจะเป็นเงื่อนไขในการฝ่าวิกฤตไปได้ แนวคิดที่มองตนเองพิเศษกว่าใครอื่น (exceptionalism) เช่นนี้แม้อาจฟังดูเลื่อนลอยจับต้องไม่ได้ แต่ก็กลายเป็นหลักเหตุผลที่ช่วยเติมเต็มความรู้สึกด้อยในทางวัตถุ และอาจเป็นปัจจัยที่เคยทำให้ญี่ปุ่นบรรลุสิ่งที่เหลือเชื่อมาแล้วในอดีต อย่างการชนะสงครามกับรัสเซีย (1904-1905)

การเป็นชนชาติที่มีสำนึกห้าวหาญ เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณนักรบ และความมีระเบียบวินัยที่ไม่ย่อหย่อนเหมือนผู้คนในโลกตะวันตกที่ความเจริญทำให้ปัจเจกบุคคลรักความสุขสบายส่วนตัวมากกว่ารักชาติ แม้ญี่ปุ่นอาจมีสถานะด้อยกว่าในเชิงศักยภาพ เศรษฐกิจและทรัพยากร แต่ ‘จิตวิญญาณแห่งเชื้อสายยะมะโตะ’ และความเชื่อศรัทธาต่อเทพเจ้าแบบชินโต รวมถึงการยึดมั่นในสถาบันอันศักดิ์สิทธิ์อย่างองค์พระจักรพรรดิจะบันดาลให้ญี่ปุ่นมีชัยต่อศัตรูที่มีความแข็งแกร่งกว่าทางกายภาพได้

การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ที่ดูเอิกเกริกและสร้างความตกตะลึงให้อีกฝ่ายก็อาจเป็นอาการจากการคะเนพลาดเช่นกัน ญี่ปุ่นหวังว่าการชิงโจมตีก่อนโดยที่สหรัฐฯ ไม่ทันได้ตั้งตัวจะทำให้สงครามจบได้โดยไวด้วยการเจรจาทางการทูต การที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายชนะในหลายๆ สมรภูมิตั้งแต่เริ่มต้นจะทำให้ข้าศึกยอมจำนนและกลายเป็นสงครามสั้นที่ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายกำหนดเงื่อนไขในการยุติสงคราม ซึ่งหมายถึงการที่สหรัฐฯ อาจต้องยอมรับเขตอิทธิพลของญี่ปุ่นที่ขยายออกไปกว้างไกลในทวีปเอเชีย

อาจเพราะเล็งผลให้ศัตรูตั้งหลักไม่ทัน การโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์จึงเกิดขึ้นก่อนหนังสือประกาศสงครามจะส่งถึงรัฐบาลสหรัฐฯ อันเป็นแบบแผนปฏิบัติที่ยอมรับเป็นสากล แม้เป็นที่ถกเถียงกันต่อมาว่าญี่ปุ่น ‘จงใจ’ ให้เกิดเรื่องเช่นนั้นหรือเป็นเพราะความขลุกขลักทางการทูต แต่การ ‘ลอบโจมตี’ (sneak attack) อย่างไร้พิธีรีตองดังกล่าวสร้างความโกรธเกรี้ยวแก่รัฐบาลและผู้คนสหรัฐฯ อย่างมาก เหตุการณ์นี้นอกจากจะสลายความลังเลใจที่มีมาของสหรัฐฯ ในการเข้าร่วมสงคราม ยังทำให้สหรัฐฯ มองการต่อสู้กับญี่ปุ่นว่าเป็นไปเพื่อแก้แค้นและเอาคืน

เมื่อทัศนคติของสหรัฐฯ เป็นไปเช่นนั้นแล้ว ความคาดหมายที่ว่าศึกนี้จะจบลงในเวลาอันสั้นโดยที่ญี่ปุ่นมีชัย อยู่ในสถานะได้เปรียบและสามารถผนวกดินแดนได้ระดับหนึ่งก่อนหันหน้าเจรจาประนีประนอมกันจึงไม่อาจเกิดขึ้นดังหวังอีกต่อไป ญี่ปุ่นเดินเข้าสู่เส้นทางที่นำพาเข้าหากรณีเลวร้ายที่พยายามไม่นึกถึงในการคะเนยุทธศาสตร์ เพียง 6 เดือนให้หลังจากการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ สหรัฐฯ มีชัยในสมรภูมิมิดเวย์ แล้วรูปการณ์ของสงครามก็หันเข้าข้างสหรัฐฯ นับจากนั้น

โดยสรุปแล้วก้าวย่างของมหาอำนาจที่ลากกันเข้าสงครามใหญ่เป็นครั้งที่สองเพียงเวลาไม่กี่สิบปีในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นั้น สะท้อนให้เห็นปัจจัยเรื่องการคิดคำนวนผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ เราอาจโทษไปที่โครงสร้างการเมืองโลกที่มีหลายมหาอำนาจเล่นเกมแบบไม่มีมิตรแท้ศัตรูถาวรในเวลานั้นว่าเป็นต้นเหตุทำให้การคะเนพลาดเกิดขึ้นได้ง่าย และความไม่แน่ใจครอบงำในปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

แต่โครงสร้างหรือบริบทที่เกิดขึ้น หลายครั้งเป็นสิ่งที่เหนือการบงการหรือความตั้งใจของผู้คนและผู้นำรัฐ การมีหลายมหาอำนาจขึ้นมาในเวทีโลกเป็นเรื่องที่ ‘ช่วยไม่ได้’ แต่คำถามที่สำคัญและมีประโยชน์เชิงนโยบายมากกว่าคือ ภายใต้บริบทที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนเช่นนี้ เราควรบริหารและเตรียมการอย่างไร การคะเนถึงกรณีที่เลวร้ายที่สุดไว้ก่อนเพื่อตระเตรียมและรับมือทั้งในช่วงก่อนหน้าและเมื่อเวลานั้นมาถึงย่อมเป็นแนวทางที่รอบคอบและฉลาด

แต่แง่มุมหนึ่งที่ได้ชี้ให้เห็นในเส้นทางสู่สงครามโลกครั้งที่สองคือ การมองภัยคุกคามว่าเป็นเรื่องไกลตัว ดูแคลนวิกฤตที่กำลังลุกลาม ปล่อยผ่านให้สถานการณ์บานปลาย ตลอดจนเมินเฉยต่อความตั้งใจและทะเยอทะยานของศัตรู การมองมุมบวกว่าเราจะผ่านพ้นภัยกันไปได้โดยง่าย ชัยชนะอยู่ใกล้แค่เอื้อมมักจะทำให้รู้สึกอุ่นใจและไม่เสียขวัญ แต่ความคิดเช่นนั้นก็อาจเป็นดั่งสัมภาระที่รัฐหามเข้าสู่หายนะในที่สุด

อ้างอิง


Hotta, Eri. Japan 1941: Countdown to Infamy. New York: Knopf Doubleday Publishing Group, 2013.

Gellately, Robert. Stalin’s Curse: Battling for Communism in War and Cold War. New York: Vintage Books A Division of Random House LLC, 2013.

Olson, Lynne. Those Angry Days: Roosevelt, Lindbergh and America’s Fight over World War II, 1939-1941. New York: Random House Trade Paperbacks, 2014.

Dobbs, Michael. Six Months in 1945: From World War to Cold War. London: Arrow Books, 2013.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save