fbpx

เจาะเวลาหาอดีต…และฆาตกร Mirage

คุณผู้อ่านโปรดจำชื่อออริโอล เปาโลไว้ให้ดีนะครับ

ผมคิดว่านี่คือหนึ่งในคนทำหนังรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองมากสุดคนหนึ่งของยุคนี้

ออริโอล เปาโล เกิดที่เมืองบาร์เซโลนา ปัจจุบันอายุ 45 ปี เรียนจบแขนงสาขา Audiovisual Communication จากมหาวิทยาลัยปอมเปอ ฟาบรา จากนั้นก็ไปเรียนต่อด้านภาพยนตร์ที่ลอส แอนเจลิส ฟิล์ม สคูล เริ่มต้นทำงานในวงการหนังเป็นคนเขียนบทเมื่อปี 2004 (ก่อนหน้านั้นเขากำกับ-เขียนบทหนังสั้นไปด้วยอยู่หลายเรื่อง แต่ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก)

จนกระทั่งถึงปี 2012 ออริโอล เปาโลก็แจ้งเกิดอย่างสวยงามในฐานะผู้กำกับ จากหนังตื่นเต้นระทึกขวัญเรื่อง The Body ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Goya Awards สาขาผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยม แต่ความสำเร็จที่ไปไกลกว่านั้นคือ ตัวหนังถูกนำไปรีเมคหลายฉบับหลายสัญชาติ ประกอบไปด้วยหนังอินเดียพูดภาษาทมิฬ-กันนาดาใช้ชื่อว่า Game ในปี 2016 หนังเกาหลีเรื่อง The Vanished ในปี 2018 และล่าสุดเป็นฉบับหนังอินเดียพูดภาษาฮินดีเรื่อง The Body กำกับโดยจีธู โจเซฟ (คนนี้ก็น่าจับตามองครับ เป็นคนเขียนบทหนังแนวสืบสวนสอบสวนเร้าใจที่ยอดเยี่ยมมากเรื่อง Drishyam)

4 ปีต่อมา (ปี 2016) The Invisible Guest หรือ Contratiempo ผลงานกำกับ-เขียนบทลำดับที่ 2 ก็ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นล้นหลาม ได้ทั้งเงินและกล่อง ทำให้ออริโอล เปาโลโด่งดังในระดับนานาชาติ รวมถึงบ้านเรา   

ผมได้รู้จักเขาเป็นครั้งแรกจากหนังเรื่องนี้

ความรู้สึกตอนที่ได้ดู The Invisible Guest ก็คือตื่นเต้นมาก เป็นความสนุกตื่นเต้นจากตัวหนังที่สะกดตรึงชวนลุ้นตั้งแต่ต้นจนจบอย่างหนึ่ง อีกประการหนึ่งคือความตื่นเต้นที่ได้ค้นพบเจอะเจอหนังดีระดับ ‘มหาสนุกเป็นพิเศษ’ ชนิดนานทีปีหนจึงจะมีออกมาให้ดูกันสักเรื่อง

เช่นเคยคือ The Invisible Guest ฮิตถล่มทลายและมีพล็อตเหนือชั้น จนได้รับการนำไปทำซ้ำเป็นฉบับหนังอิตาเลียนชื่อ Il testimone invisibile (2018) ฉบับหนังบอลลีวูดชื่อ Badla ในปี (2019) และฉบับหนังอินเดียพูดภาษาเตลูกูชื่อ Evaru (2019)

Mirage หรือ Durante la tormenta ที่ผมเลือกมาแนะนำกันในครั้งนี้ เป็นผลงานลำดับที่ 3 สร้างและออกฉายเมื่อปี 2018

ถัดจากนั้นก็เป็นผลงานชิ้นล่าสุด The Innocent หรือ El innocente มินิซีรีส์ 8 ตอนจบ ซึ่งเพิ่งจะเผยแพร่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา คราวนี้ไม่ใช่การเขียนบทขึ้นใหม่เพื่อทำหนังโดยตรง แต่เป็นการดัดแปลงนิยายขายดีชื่อเรื่องเดียวกันของฮาร์ลาน โคเบน (ฉบับแปลภาษาไทยใช้ชื่อ ‘ไม่รู้’)

กล่าวโดยสรุป ผลงานกำกับทั้งหมดของออริโอล เปาโล ได้รับคำวิจารณ์อยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมากๆ และประสบความสำเร็จทุกเรื่อง

The Invisible Guest, Mirage และ The Innocent รวมถึง The Body ฉบับรีเมคปี 2018 และ Badla ทั้งหมดนี้มีให้ดูใน Netflix นะครับ ทั้ง 3 เรื่องของออริโอล เปาโลนั้น ผมขอแนะนำอย่างแข็งขันเป็นที่สุดว่าน่าดูและดีมากๆ

จุดเด่นในหนังของออริโอล เปาโลที่มีร่วมกันทุกเรื่องคือเป็นหนังตื่นเต้นระทึกขวัญที่สนุกชวนลุ้นใจหายใจคว่ำตั้งแต่ต้นจนหยดสุดท้าย

ถัดมาคือการคิดพล็อตได้อย่างชาญฉลาด เต็มไปด้วยความยอกย้อนซ่อนเงื่อน พลิกผันไปมาตลอดเวลา อุดมไปด้วยความลับและการเฉลยคลี่คลายเร่งเร้าให้ชวนติดตามด้วยความกระหายใคร่รู้ตลอดเวลา มีการพลิกผันหักมุมล่อหลอกคนดูที่ยอดเยี่ยมระดับขั้นเดียวกันกับ The Sixth Sense ของเอ็ม ไนท์ ชมาลายาน (เป็นความเหมือนหรือคลับคล้ายกันในแง่ของการช็อกคนดูนะครับ ส่วนรายละเอียด กรรมวิธีของการหักมุม ผิดแผกแตกต่างกันอยู่เยอะ)

พูดง่ายๆ ได้ว่าเป็นเนื้อเรื่องในแบบที่เรียกกันว่า ‘พล็อตหนังร้อยล้าน’ มีคุณสมบัติและปัจจัยเอื้ออำนวยต่อการเป็นหนังฮิตหนังทำเงินเอามากๆ จนไม่น่าแปลกใจว่าเพราะเหตุใดจึงมีการนำไปทำซ้ำสร้างใหม่อยู่เนืองๆ

ประการต่อมาคือความจัดเจนแม่นยำในการกำกับของออริโอล เปาโล มีจังหวะผ่อนหนักผ่อนเบาช้าสลับเร็วที่ลงตัวมาก

ที่สำคัญคือ ในหนังที่มีพล็อตเกี่ยวกับความลับและการล่อหลอกคนดูส่วนใหญ่ เมื่อติดตามดูจนจบแล้วนึกย้อนทบทวนรายละเอียดต่างๆ ที่ปูพื้นไว้ตั้งแต่ต้น ผู้ชมมักจะพบรูรั่วรอยโหว่อันเกิดจากความจงใจของคนทำหนังที่จะล่อหลอกทำเซอร์ไพรส์ จนขาดความเป็นเหตุและผล (ควรระบุไว้ด้วยนะครับว่าความเป็นเหตุเป็นผลในหนังประเภทนี้ไม่ได้ละเอียดถึงขั้นสร้างความสมจริง แต่เป็นเหตุและผลแบบเรื่องแต่งที่ทำให้คนดูยอมรับได้ว่า make sense เพียงพอ)

ในแง่นี้ฝีมือการเขียนบทของออริโอล เปาโล รัดกุมถี่ถ้วนมาก กระทั่งในบางจุดที่เห็นชัดว่าคนทำหนังโกงผู้ชมด้วยความเจ้าเล่ห์ ก็ยังมีการให้เหตุผลคำอธิบายรองรับไว้ครบครัน

โดยแนวทางยืนพื้น หนังของออริโอล เปาโล เป็นงานแนวตื่นเต้นระทึกขวัญ มีเหตุการณ์ฆาตกรรมเป็นจุดสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องราวให้คืบหน้า และมักมีแง่มุมเกี่ยวกับผู้ชายที่นอกใจภรรยาตนเองไปมีหญิงอื่น เป็นจุดเริ่มต้นของเหตุร้ายที่นำไปสู่ความวายป่วงทั้งหลายทั้งปวง

Mirage มีองค์ประกอบข้างต้นทุกประการ แต่สิ่งที่พิเศษและแตกต่างจากหนังเรื่องอื่นๆ ของออริโอล เปาโลก็คือ มันยังห่อหุ้มเคลือบคลุมด้วยความเป็นหนัง sci-fi อีกชั้นหนึ่ง

หนังเริ่มต้นด้วยเหตุการณ์ในค่ำคืนวันที่ 9 พฤศจิกายน ปี 1989 (วันเดียวกับที่กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย) เกิดพายุไฟฟ้าครอบคลุมหลายบริเวณในยุโรป ส่งผลให้ฝนตกหนัก กรมอุตุนิยมคาดคะเนว่าประจุไฟฟ้าจำนวนมากในอากาศอาจทำให้ไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ รวมทั้งส่งผลให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เกิดอาการรวน

ในค่ำคืนดังกล่าว เด็กชายชื่อนิโก ต่อสายกล้องถ่ายวิดีโอเข้ากับจอโทรทัศน์เพื่อบันทึกคลิปตนเองเล่นกีตาร์ร้องเพลง แล้วก็ได้ยินเสียงทะเลาะเบาะแว้งจากบ้านฝั่งตรงข้าม จึงมองผ่านบานหน้าต่าง เห็นคนกำลังต่อสู้ลงไม้ลงมือ

ด้วยความอยากรู้อยากเห็น นิโกจึงออกจากบ้านข้ามถนนตรงไปยังที่เกิดเหตุ แล้วก็พบศพหญิงคนหนึ่งนอนอยู่บนพื้น ยังไม่ทันที่นิโกจะหายตระหนกตกใจหรือมีเวลาพอจะคิดอ่านว่าควรทำอย่างไร ชายคนหนึ่งก็เดินลงมาจากบันได ในมือถือมีด

อารามตกใจและหวาดกลัว นิโกวิ่งหนีไม่คิดชีวิต และขณะกำลังข้ามถนน รถยนต์คันหนึ่งที่ขับมาด้วยความเร็วก็พุ่งชนเด็กชายจนถึงแก่ความตาย

25 ปีต่อมา (ปี 2014) ครอบครัวหนึ่งเพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านเดิมของนิโก ประกอบไปด้วยเบรา รอย หญิงสาวอาชีพพยาบาล ซึ่งครั้งหนึ่งเธอเคยเรียนแพทย์ มีแนวโน้มว่าจะเป็นหมอผ่าตัดที่เก่งกาจ แต่เบราก็เลือกละทิ้งอนาคตอันสดใสเมื่อเธอตั้งท้องและสามีตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโท เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนครอบครัว คนต่อมาคือ ดาบิดผู้เป็นสามี และโกลเรีย ลูกสาวตัวน้อยวัยกำลังน่ารัก

เรื่องมา ‘เป็นเรื่อง’ ในวันที่ 2 ที่ครอบครัวย้ายเข้ามา ค่ำคืนนั้นตรงกับวันที่ 9 พฤศจิกายน เกิดพายุไฟฟ้าลักษณะเดียวกันกับเมื่อ 25 ปีก่อน เบราพบกล้องถ่ายวิดีโอ โทรทัศน์ และม้วนเทปจำนวนหนึ่งในตู้เก็บของ จึงลองเปิดดู เป็นคลิปที่นิโกกำลังร้องเพลง Time After Time ของซินดี ลอเปอร์

สิ่งผิดปกติก็คือหลังจากดูคลิปจบ หยิบเทปออกจากกล้อง จอโทรทัศน์เป็นภาพซ่าว่างเปล่า พลันมีภาพรายการข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์กำแพงเบอร์ลินเมื่อ 25 ปีก่อนปรากฏขึ้นเองอย่างไร้ที่มาที่ไป และไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผลได้ว่าทำไม? เพราะเหตุใด?

เบรากับดาบิดพักข้อสงสัยดังกล่าวไว้ชั่วขณะ กินอาหารมื้อค่ำร่วมกับแขกรับเชิญคือไอตอร์และแม่

ไอตอร์เป็นเพื่อนสนิทของครอบครัวและเป็นผู้ชักนำให้สองสามีภรรยาพบกัน จนกระทั่งตกหลุมรักและแต่งงานกันในท้ายที่สุด อีกทั้งยังเป็นผู้ชักชวนให้เขากับเธอซื้อบ้านหลังนี้

บนโต๊ะอาหาร เบรากับดาบิดเล่าเรื่องข่าวประหลาดทางโทรทัศน์ให้ไอตอร์ฟัง แล้วบทสนทนาก็ย้ายมาเป็นเรื่องม้วนวิดีโอเทปที่เจอะเจอ ไอตอร์จึงเล่าให้สองสามีภรรยาฟังว่าเกิดอะไรขึ้นกับเด็กชาย (นิโกเสียชีวิตในเวลาไม่นานหลังจากถ่ายคลิปดังกล่าว)

กลางดึกคืนนั้น เบราตกใจตื่น ได้ยินเสียงซ่าจากโทรทัศน์ที่เปิดขึ้นเองในอีกห้อง จึงเดินไปดูเพื่อตรวจสอบ แล้วจู่ๆ ภาพของนิโกก็ปรากฏขึ้นบนจอ โดยที่กล้องถ่ายวิดีโอว่างเปล่าปราศจากม้วนเทป

ภาพที่เห็นคือนิโกกำลังจัดแจงต่อสายอยู่ที่หน้าจอโทรทัศน์ สักพักเด็กชายก็มีทีท่าตกใจ จ้องมองตรงมาที่เวลา เหมือนเห็นอะไรบางอย่าง ซึ่งผู้ชมทราบในเวลาต่อมาว่าภาพที่เห็น (บนจอโทรทัศน์ทางฝั่งของนิโก) คือเบราในเวลาปัจจุบัน

พูดง่ายๆ คือ เด็กชายในอดีตกับหญิงสาวในอนาคตต่างมองเห็นกันและกันผ่านโทรทัศน์ สามารถพูดคุยและได้ยินกันและกัน

เมื่อตระหนักรู้ว่าอะไรเป็นอะไร เบราตัดสินใจปิดโทรทัศน์ด้วยความกลัว แต่แล้วข้อมูลที่เธอรับรู้มาเกี่ยวกับชะตากรรมของเด็กชายก็ทำให้หญิงสาวเปลี่ยนความคิด เธอเปิดโทรทัศน์ และตัดสินใจเตือนนิโกไม่ให้ไปที่บ้านฝั่งตรงข้าม พร้อมทั้งบอกเล่า 2-3 เหตุการณ์อนาคตในวันรุ่งขึ้นซึ่งเธอรับฟังมาจากไอตอร์บนโต๊ะอาหาร เพื่อพิสูจน์ยืนยันให้นิโกเชื่อว่าเธอมีชีวิตอยู่ในอีกช่วงเวลา

นิโกเชื่อ และแคล้วคลาดรอดพ้นจากอุบัติเหตุรถชน

เช้าวันต่อมาของปี 2014 เบราตื่นนอน พบตนเองอยู่ที่โรงพยาบาล เธอกลายเป็นหมอผ่าตัดที่มีชื่อเสียง เมื่อได้เวลาโรงเรียนเลิก เธอเดินทางไปรับตัวโกลเรียผู้เป็นลูกสาว แต่ไม่มีใครรู้จักหรือเคยได้ยินชื่อเด็กหญิงมาก่อน ทุกคนที่รู้จักไม่ว่าจะเป็นเพื่อนของลูกสาว ครู ผู้ปกครองเด็กคนอื่นๆ กลายเป็นคนแปลกหน้าโดยสิ้นเชิง

และความเปลี่ยนแปลงสุดท้าย เบราไม่ได้แต่งงานกับดาบิด บ้านหลังเดิมของนิโกที่เธอเพิ่งย้ายเข้ามากลายเป็นบ้านของดาบิดกับภรรยาของเขา

ที่สำคัญคือ ในบ้านดังกล่าว ตู้เก็บของไม่มีกล้องถ่ายวิดีโอและโทรทัศน์

หลายๆ ย่อหน้าข้างต้นเป็นเนื้อเรื่องที่เล่าแบบหลีกเลี่ยงรายละเอียดสำคัญ กินความยาวประมาณ 30 นาทีแรกของหนังเรื่อง Mirage นะครับ เหตุการณ์ที่เหลือถัดจากนี้ไปจนจบ เป็นความลับสุดยอดที่ไม่ควรรู้ก่อนดูหนัง เต็มไปด้วยความยอกย้อนซ่อนเงื่อนจนเหนือวิสัยที่จะคาดเดาได้ถูก

พูดอีกแบบนะครับ ความสนุกช่วง 30 นาทีแรก (ซึ่งตอนระหว่างดู ผมก็รู้สึกว่าสนุกมากแล้ว) เป็นแค่น้ำจิ้มหรือของขบเคี้ยวกินเล่นก่อนอาหารไปเลย เมื่อเทียบกับความสนุกระดับอภิมหาบันเทิงในเรื่องราวส่วนที่เหลือ

เท่าที่พอจะเล่าได้ก็คือ ถัดจากนั้นหนังเดินเรื่องสลับไปมาระหว่าง 2 เหตุการณ์ คือชีวิตต่อมาของนิโกซึ่งรอดตายจากอุบัติเหตุ และความรู้เรื่องเหตุฆาตกรรมที่บ้านฝั่งตรงข้าม กับเรื่องราวของชีวิตที่เปลี่ยนไปจนไม่เหลือเค้าเดิมของเบรา และการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อที่จะทำให้ทุกอย่างกลับคืนมาเหมือนเดิม (พูดอีกแบบคือการทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ชีวิตของลูกสาวกลับคืนมา)

ความฉลาดของบทหนังก็คือ ระหว่างเล่าสลับอดีตกับอนาคต หนังสร้างเงื่อนไขเกี่ยวกับเรื่องมิติเวลา ทำให้ผู้ชมเข้าใจถึงการกระทำและผลสืบเนื่องติดตามมาของการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอดีต ซึ่งไม่ว่าจะตัดสินใจเลือกทำอย่างไร ล้วนมีรายจ่ายในทางไม่พึงประสงค์ทั้งขึ้นทั้งล่อง จนกะเก็งไม่ถูกว่าหนังจะลงเอยเช่นไร

และเมื่อหนังดำเนินเรื่องไปจนจบครบถ้วน ผมก็ได้แต่รำพึงรำพันกับตัวเองเบาๆ ว่า ‘ฉลาดมาก’

ตามปกติแล้ว หนังเน้นพล็อตหวือหวาลักษณะนี้ มักจะดูสนุกได้เพียงแค่รอบเดียว ไม่เหมาะสำหรับการดูซ้ำสอง เนื่องจากเมื่อทราบความลับต่างๆ หมดสิ้นแล้ว ทุกอย่างก็จืดจางลงไปถนัดใจ แต่งานของออริโอล เปาโลถือเป็นข้อยกเว้นนะครับ ดูซ้ำอีกก็ยังสนุกและเร้าใจสุดๆ ใกล้เคียงกับครั้งแรก ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีความพลิกผันยอกย้อนพิสดารอยู่ในปริมาณเยอะมาก เกินกว่าจะจำได้หมดจากการดูรอบเดียว หลายช่วงหลายตอนจึงยังสดใหม่เมื่อดูซ้ำ

ประการถัดมา อีกอรรถรสที่เพิ่มพูนขึ้นมาในการดูซ้ำคือ การจับสังเกตรายละเอียดปลีกย่อยอันเป็นหลุมพรางล่อหลอกคนดู หรือการปูพื้นให้ข้อมูลเล็กๆ น้อย ๆ ซึ่งหลงหูหลงตาจากการดูครั้งแรก ตรงนี้ทำให้เห็นความเก่งในการเขียนบทว่าสามารถอุดรูรั่วรอยโหว่ได้เนียนสนิท บางจุดที่โกงกันดื้อๆ ก็มีวิธีให้เหตุผลอ้อมๆ สกัดกั้นไว้หมด

เทียบเคียงง่ายๆ ว่า ถ้าเป็นคำให้การในศาล หลายช่วงหลายตอน (ซึ่งผมคิดว่าในเรื่อง Mirage มีเพียงน้อยนิดแค่ 2 แห่ง) อาจมีพิรุธชวนสงสัย แต่คำอธิบายแก้ต่างเท่าที่มีอยู่ก็ทำให้ไม่สามารถเอาผิด ไม่สามารถจับให้มั่นคั้นให้ตาย จำต้องยกผลประโยชน์ให้จำเลยไปในท้ายที่สุด

หนังของออริโอล เปาโล เป็นงานเน้นความบันเทิงมากกว่าจะเสนอประเด็นแง่คิดเนื้อหาสาระนะครับ แก่นเรื่องต่างๆ ยังคงมีอยู่ แต่ก็เป็นแง่มุมเบาบาง ว่ากันไปตามเนื้อผ้าหรือเรื่องราว ไม่ได้ลงลึกหรือมีความซับซ้อนอันใด เป็นแง่คิดง่ายๆ ตรงไปตรงมา ใน The Invisible หนังสะท้อนถึงการแก้แค้นเอาคืนและการเรียกร้องทวงถามถึงความยุติธรรมจากช่องว่างของตัวบทกฎหมาย และการทำงานของตำรวจซึ่งโดนแทรกแซงโดยผู้มีอิทธิพลและอำนาจเงิน ใน Mirage หนังพูดถึงทางเลือกและการตัดสินใจบนเงื่อนไขว่าได้อย่างเสียอย่าง ท้ายที่สุดตัวละครก็เลือกสิ่งที่เป็นความรักระหว่างแม่-ลูก ขณะที่อีกตัวละครหนึ่งก็เลือกทำสิ่งที่ถูกต้องในกรณีเหตุการณ์ฆาตกรรม

ความเพลิดเพลินสุดท้ายที่ผมนึกออก (และเกือบลืมเขียนถึง) คือหนังเรื่องนี้เต็มไปด้วยรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ตั้งใจแสดงความคารวะต่อ Back to the Future หนังเกี่ยวกับการเดินทางย้อนเวลาที่ขึ้นหิ้งคลาสสิกไปเรียบร้อยแล้วของโรเบิร์ต เซเมคิส

ทั้ง The Innocent, The Invisible Guest และ Mirage ล้วนเป็นหนังที่ผมขอแนะนำเข้าขั้น highly recommend นะครับ อยากให้มิตรรักแฟนหนังทุกท่านได้ดูเป็นที่สุด

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save