fbpx

เปลี่ยนกระทรวงวัฒนธรรมเกรดซี ให้เป็นหัวหอกของซอฟต์พาวเวอร์

กระทรวงวัฒนธรรม ได้รับการสถาปนาครั้งแรกเมื่อปี 2495 เพื่อกระตุ้นให้คนในประเทศเกิดความรู้สึกชาตินิยมและปฏิบัติตนตามแนวนโยบายของรัฐ โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมด้วย

พอจอมพลป. พิบูลสงครามสิ้นอำนาจ กระทรวงแห่งนี้ก็ถูกยุบไปด้วยในปี 2501

จนกระทั่งในปี 2545 จึงมีการจัดตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กระทรวงแห่งนี้ถูกจัดเป็นกระทรวงเกรดซีในสายตาของนักการเมืองส่วนใหญ่ และยังเป็นกระทรวงปัดเศษเหลือที่ไม่ค่อยมีพรรคการเมืองใดสนใจจับจองนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีเป็นกระทรวงแรกๆ 

คนที่เคยเป็นเจ้ากระทรวงแห่งนี้ ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีกึ๋นมากพอที่จะมองทะลุให้เห็นว่า กระทรวงวัฒนธรรมสามารถสร้างคุณค่าอะไรมากไปกว่าเรื่องการอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณีไทยอันดีงาม การทำนุบำรุงศาสนา ฯลฯ

ที่ผ่านมากระทรวงวัฒนธรรมจึงขับเคลื่อนด้วยแนวคิดของข้าราชการเป็นหลัก เพราะนักการเมืองไม่มีความคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ นอกจากทำตามนโยบายเชิงอนุรักษ์นิยมเป็นส่วนใหญ่

แนวคิดของผู้คนในกระทรวงนี้จึงเป็นแนวคิดเชิงรับมากกว่าแนวคิดเชิงรุก

มองไปที่ประเทศเกาหลีใต้ที่มีกระทรวงวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน แต่ยังควบรวมเอากีฬาและการท่องเที่ยวมาอยู่ใต้ชายคาเดียวกัน และมีบทบาทแตกต่างจากกระทรวงวัฒนธรรมไทยโดยสิ้นเชิง

ตลอดระยะเวลายี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยวเกาหลีใต้ คือเสาหลักของการสร้างซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น เพลง (K-Pop) ละครโทรทัศน์ (K-Series) ภาพยนตร์ (K-Movies) รวมไปถึงอาหาร ท่องเที่ยว อีสปอร์ต เกมส์ออนไลน์ต่างๆ ด้วยการสนับสนุนด้านการเงิน การลงทุนให้กับผู้ผลิตบริษัทต่างๆ โดยไม่เข้าไปแทรกแซง ปล่อยให้ผู้ผลิตเหล่านี้สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างอิสระเต็มที่จนทำให้ผลงานด้านศิลปะ ทั้งดนตรี ซีรีส์ หนัง ส่งไปตีตลาดทั่วโลก ทำให้คนสนใจประเทศเกาหลีใต้ และสามารถทำให้อาหารเกาหลีเป็นที่นิยม และนักท่องเที่ยวต่างเดินทางมาเที่ยวเพิ่มขึ้นหลายสิบเท่าในเวลาไม่นาน

กระทรวงแห่งนี้ใช้งบประมาณปีละ 30,000 กว่าล้านบาท มากกว่ากระทรวงวัฒนธรรมไทยที่ใช้งบปีละ 7,000 ล้านบาท ต่างกันเกือบห้าเท่า แต่ซอฟต์พาวเวอร์ภายใต้การสนับสนุนของกระทรวงวัฒนธรรมเกาหลีใต้สามารถทำรายได้เข้าประเทศมากกว่าปีละ 2,500,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นทุกปี 

จุดเริ่มต้นความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ มาจากเศรษฐกิจถดถอยจากวิกฤติการเงินหลายประเทศในเอเชียหรือรู้จักกันดีว่า ‘วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง’ ที่เกิดขึ้นในปี 2540 นอกจากประเทศไทยแล้ว เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนัก ทั้งการขนส่งทางเรือ รถยนต์ เครื่องจักรขนาดใหญ่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ

รัฐบาลเกาหลีใต้ตระหนักดีว่า ที่ผ่านมาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศพึ่งพิงอุตสาหกรรมหนักมาโดยตลอด จนมีการตั้งโจทย์ทางเศรษฐกิจใหม่ว่า “ทำไมต้องผลิตรถยนต์ฮุนไดประมาณ 1,500,000 คัน เพื่อจะทำรายได้ให้เท่ากับภาพยนตร์จูราสสิคพาร์คเพียง 1 เรื่อง ซึ่งการผลิตรถยนต์ 1,500,000 คันนั้นต้องใช้เวลาถึงสองปี”

เข็มมุ่งของรัฐบาลตั้งแต่ปี 2541 ในการเพิ่มรายได้ของประเทศ คือการผลิตอุตสาหกรรมบันเทิง โดยการใช้ซอฟต์พาวเวอร์เป็นเครื่องมือสำคัญ

รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ประกาศนโยบาย Korea : Culture, Creativity and Content เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิง

กระทรวงวัฒนธรรมเกาหลีใต้จึงกลายเป็นกระทรวงหลักในการทำให้ประเทศเกิดซอฟต์พาวเวอร์ทุกภาคส่วน ทุกธุรกิจ โดยสนับสนุนแนวความคิดสร้างสรรค์ของคนเกาหลีใต้อย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการผลิตวัฒนธรรมแบบ K-Pop เป็นเป้าหมายในการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

มีการก่อตั้งสถาบัน ‘The Korea Creative Content Agency’ หรือ ‘KOCCA’ รับผิดชอบเรื่อง K-Pop มีหน้าที่ผลักดันผู้ผลิตอิสระ จัดการประกวด การแข่งขันเปิดเวทีใหม่ๆ ให้กับคนรุ่นใหม่ได้ทดลองแนวคิดสร้างสรรค์ของตนเอง พร้อมกับสนับสนุนด้านการเงิน ผู้ผลิตซีรีส์ ภาพยนตร์ ดนตรี แฟชั่น การออกแบบ สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้เต็มที่ ไม่มีการเซนเซอร์หรือแทรกแซงจากหน่วยงานรัฐ สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การสร้างหอประชุมแสดงคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ พัฒนาเทคโนโลยี การวิจัยทางการตลาด ไปจนถึงการให้เช่าสตูดิโอในราคาถูก และปกป้องผลประโยชน์ของศิลปิน คนในแวดวง K-Pop ด้วยการปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ ฯลฯ

ที่สำคัญคือ รัฐบาลทำหน้าที่ให้การสนับสนุน ขณะที่เอกชนเป็นผู้ผลิต โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐ เพื่อปลดปล่อยพลังครีเอทีฟออกมาอย่างเต็มที่

หลังจากนั้นไม่นานในปี 2548 ซีรีส์เรื่อง ‘แดจังกึม’ ได้ออกอากาศทั้งในจีน, เวียดนาม, ไทย, มาเลเซีย และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ก่อนจะขยายเป็น 91 ประเทศทั่วโลก และซีรีส์แค่เรื่องเดียวทำรายได้มากถึง 111.9 พันล้านวอน หรือประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท

ติดตามมาด้วยซีรีส์อีกหลายเรื่อง วงดนตรียอดนิยมได้รับความนิยมไปทั่วโลก อาทิวง BTS บอยแบนด์เกาหลีใต้ที่ทำให้วัยรุ่นทั่วโลกคลั่งไคล้ ภาพยนตร์เสียดสีสังคมเกาหลีใต้อย่าง ‘ชนชั้นปรสิต’ (Parasite) กวาด 4 รางวัลใหญ่ออสการ์ครั้งที่ 92 ทั้งภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม และภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ขณะที่ซีรีส์ Squid Game ได้รับการตอบรับจากมหาชนทั่วโลก จนทำให้ทุกวันนี้เน็ตฟลิกซ์ออกเงินลงทุนให้กับผู้ผลิตซีรีส์เกาหลีใต้หลายพันล้านบาท

อุตสาหกรรมบันเทิงเหล่านี้ได้กลายเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ชั้นดี พาให้คนทั่วโลกหันมาสนใจวัฒนธรรมเกาหลีแบบเนียนๆ เช่น อาหาร เครื่องแต่งกาย ภาษา สถานที่ท่องเที่ยวในเกาหลีใต้ รวมไปถึงอีสปอร์ต เกมส์วิดีโอ จนกลายเป็นแหล่งรายได้มหาศาลเข้าประเทศอย่างเหลือเชื่อ

เมื่อวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ระบาดไปทั่วโลกผ่านอุตสาหกรรมบันเทิง สิ่งที่กลับเข้ามาคือ รายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล และมีส่วนทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโต จนกลายเป็นประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจแข็งแกร่งอันดับสิบของโลก

เปลี่ยนกระทรวงวัฒนธรรมไทยที่โลกลืมให้กลายเป็นกระทรวงด้านซอฟต์พาวเวอร์เสียทีเถิดครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save