fbpx
‘Mind Mirror’ : เมื่อเทคโนโลยีและดีไซน์ช่วยให้เราเข้าถึงสมาธิได้ง่ายขึ้น

‘Mind Mirror’ : เมื่อเทคโนโลยีและดีไซน์ช่วยให้เราเข้าถึงสมาธิได้ง่ายขึ้น

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

Eyedropper Fill เรื่อง

หายใจเข้าพุทธ… หายใจออกโธ… เสียงพระอาจารย์ประจำคาบพระพุทธสมัยเรียนประถม ยังคงกระซิบหลอกหลอนในหัวทุกครั้งที่นึกถึง การนั่งสมาธิ กิจกรรมง่ายๆ แค่นั่งและหายใจ ทว่าแสนทรมาน พาลขาชา และสามารถยืดเวลาห้านาทีให้รู้สึกยาวนานราวหลายชั่วโมงได้

แม้ปัจจุบันมุมมองของผมที่มีต่อกิจกรรมการนั่งสมาธิจะเปลี่ยนไปมาก ด้วยเริ่มเข้าใจถึงประโยชน์จากความรู้สึกได้พักผ่อนและความสงบที่ได้จากการนั่งผ่านประสบการณ์ตรง และผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่าสมาธิสร้างผลดีให้กับสมองได้จริง แต่กระนั้น ‘สมาธิ’ ก็ยังคงเป็นศาสตร์ที่เข้าใจยาก และดูคล้ายต้องอาศัยความเพียรอย่างเต็มขั้นในการฝึกฝน

โชคดีที่เราอยู่ในยุคที่ดีไซน์และเทคโนโลยีจับมือกัน และโชคดีอีกขั้นที่เรามีนักออกแบบผลิตภัณฑ์อย่าง Freyja Sewell ผู้นำทั้งสองมาจับมือกับศาสตร์การนั่งสมาธิ จนออกมาเป็นเครื่องมือช่วยฝึกสมาธิสุดล้ำภายใต้รูปลักษณ์ที่ชวนมองอย่าง Mind Mirror

Freyja Sewell Mind Mirror

อย่างที่รู้กันว่า สิ่งที่เป็นพื้นฐานและเป้าหมายเพียงอย่างเดียวของการฝึกสมาธิคือรับรู้ความรู้สึกและสภาวะปัจจุบันของตน แต่นั่นแหละที่ยาก เพราะเรากำลังพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างลึกลับดำมืดภายในสมองของเราเอง

คำถามของ Freyja ก็คือ เราจะคลี่คลายสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสมองเหล่านี้ออกมาให้ผู้ฝึกสมาธิสามารถ ‘มองเห็น’ ได้ เพื่อเป็นเครื่องช่วยในการฝึกฝนสมาธิได้หรือไม่

Freyja ใช้คำถามที่ว่านี้เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเรื่องสมองจาก MIT และออกแบบ Mind Mirror ให้มีส่วนประกอบหลัก 2 ส่วนด้วยกัน

ส่วนแรกเรียกว่า Neural Lace ที่ผู้ฝึกสมาธิสามารถสวมใส่มันบนศีรษะคล้ายกับหูฟัง Headphone ส่วนนี้ประกอบด้วยเซนเซอร์ทั้งหมด 32 จุดที่ทำหน้าที่ตรวจจับกิจกรรมที่เกิดขึ้นในสมองของเรา  ในส่วนนี้การออกแบบเข้ามาแก้ปัญหาในโจทย์ที่ว่า ทำอย่างไรให้ผู้ฝึกสมาธิสวมใส่อย่างสบายที่สุด แต่ยังคงตรวจจับคลื่นสมองได้อย่างแม่นยำ

Freyja Sewell Mind Mirror

กิจกรรมของสมองที่ถูกตรวจจับได้ จะส่งผ่านมายังส่วนที่สองที่เรียกว่า Bio – Data feedback ทำหน้าที่แสดงผลสภาวะสมอง กลับไปสู่ผู้ฝึกสมาธิในรูปแบบของภาพและเสียงผ่านแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ในส่วนของภาพก็มีผู้เชี่ยวชาญด้านโมชั่นกราฟิกมาออกแบบอย่างจริงจัง ทำให้ภาพที่ออกมามีความอ่อนนุ่ม ไม่ปรุงแต่งหรือเร่งเร้าผู้ฝึกสมาธิ เพื่อให้เราสามารถ ‘เฝ้าดู’ และรับรู้สภาวะปัจจุบันของเราได้อย่างแจ่มแจ้ง เสมือนส่อง‘กระจก’ ดังชื่อผลงาน

Freyja Sewell Mind Mirror

ก่อนจะมาเป็น Mind Mirror นี้ Freyja เคยออกแบบเครื่องมือช่วยทำสมาธิชื่อ Sangha มาแล้ว โดยชิ้นนั้นใช้การตรวจจับคลื่นสมองเช่นกัน หากผู้สวมใส่ยังมีคลื่นสมองที่บ่งบอกถึงความตึงเครียด แผ่นที่ทำจากวัสดุยืดหยุ่นได้ก็จะโค้งปิดดวงตาของเราไว้ และเมื่อไหร่ที่คลื่นสมองเราผ่อนคลายขึ้น แผ่นก็จะเปิดออก นอกจากเป็นเครื่องมือบทที่ 1 ให้ผู้ฝึกสมาธิสามารถฝึกฝนและจดจำสภาวะผ่อนคลายของตัวเองได้รวดเร็วขึ้น การเปิดออกของดวงตายังให้ความหมายของการ ‘มองเห็นอย่างแจ่มแจ้ง’ หรือ enlighten อีกด้วย

Freyja Sewell Mind Mirror

เครื่องมือฝึกสมาธิของ Freyja ไม่ได้มีแค่รูปแบบเครื่องสวมใส่หรือ wearable นะครับ ผลงานชิ้นแรกของเธออย่าง KAMI (ที่เธอนิยามมันว่า ‘เครื่องชำระล้างจิตใจ’) มีรูปแบบคลับคล้าย installation art เธอได้แรงบันดาลใจจากพิธีชงชาและการนั่งสมาธิในระหว่างที่เธอเป็นศิลปินในพำนักที่ประเทศญี่ปุ่น โดย KAMI จะคลี่ลงมาปกคลุมผู้ใช้ที่นั่งอยู่ข้างใต้ ตัดขาดผู้ใช้ออกจากโลกภายนอกเพื่อให้สามารถเข้าถึงสมาธิได้รวดเร็วขึ้น

Freyja Sewell Mind Mirror Installation Art

Freyja Sewell Mind Mirror Installation Art

อ้อ ชิ้นนี้นอกจากแนวคิดจะได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมญี่ปุ่น โครงสร้างกระดาษทั้งหมดยังร่วมงานกับ specialist ด้านงานกระดาษจากญี่ปุ่นด้วยครับ

Freyja Sewell Mind Mirror Installation Art

นอกจากผลิตภัณฑ์ (ที่ใกล้เคียงกับงานอาร์ต) ทั้งสามชิ้นของนักออกแบบสัญชาติอังกฤษอย่าง Freyja จะทำให้เห็นว่าวงการออกแบบในต่างประเทศนั้นเต็มไปด้วยงานออกแบบและเทคโนโลยีที่ใส่ใจเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ของชีวิตไม่เว้นแม้แต่การนั่งสมาธิ ยังทำให้เห็นว่านักออกแบบในบ้านเขายังสามารถทำงาน ‘เฉพาะทาง’ มากๆ ได้อีกด้วย อย่าง Freyja เธอก็เลือกเดินในสายการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อพัฒนาจิตใจและสร้างสุขภาพจิตที่ดีโดยเฉพาะ ตอนนี้ผลงานออกแบบและเทคโนโลยีเพื่อสมาธิของเธอก็กำลังสั่นสะเทือน กลายเป็นพื้นที่ตรงกลางระหว่างทั้งวงการแพทย์สาขา Neuroscience และวงการออกแบบ จนได้เป็นหนึ่งใน speaker ใน Dutch Design Week เมื่อปลายปีก่อน รวมถึงเทศกาลออกแบบยักษ์ใหญ่อย่าง Design Indaba อีกด้วย ลองฟังทอล์คของเธอได้ที่นี่

Freyja Sewell Mind Mirror Installation Art

เอาเข้าจริง พอเห็นแบบนี้ก็พาลนึกถึงพีระมิดพลังจักรวาลของอาจารย์อุบลที่เคยเป็นกระแสในบ้านเรา ใครที่เคยสบประมาทไว้อาจต้องคิดใหม่ เพราะหาก Freyja มาเห็นเข้า นั่นอาจกลายเป็นแรงบันดาลใจงานดีไซน์ชิ้นใหม่ของเธอ !

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save