fbpx
Minari: เมล็ดพันธุ์เกาหลีใต้ กับการผลิดอกออกใบในอเมริกา

Minari: เมล็ดพันธุ์เกาหลีใต้ กับการผลิดอกออกใบในอเมริกา

ในคอลัมน์ ‘ชาติพันธุ์ฮันกุก’ ก่อนหน้านี้ ผมได้หยิบยกภาพยนตร์หลายๆ เรื่องมาเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ที่ส่งผลต่อการสร้างและปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ ตัวตน และความเป็นชาติของ ‘ฮันกุก’ หรือ ‘คนเกาหลี’ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ที่หยิบยกมานั้น มักพูดถึงคนเกาหลีและความเป็นเกาหลีที่ก่อตัวขึ้นภายในคาบสมุทรเกาหลีหรือผืนแผ่นดินของพวกเขาเอง เสมือนว่า ‘ความเป็นเกาหลี’ นั้นดำรงอยู่ภายใต้อาณาบริเวณที่ชัดเจน ไม่สัมพันธ์และผสมผสาน และไม่เดินทางเคลื่อนย้าย

ทว่าในความเป็นจริงแล้ว มีคนเชื้อสายเกาหลีมากกว่าเจ็ดล้านคนที่อพยพย้ายถิ่นและตั้งรกรากอยู่นอกประเทศของตน ในสหรัฐอเมริกาเองมีพลเมืองอเมริกันเชื้อสายเกาหลีอยู่เกือบสองล้านคน เช่นนั้นแล้ว หากเราไม่มองคนเกาหลีที่มีความสัมพันธ์ข้ามสังคมวัฒนธรรมและมีการเคลื่อนย้ายข้ามพื้นที่ ภาพของชาติพันธุ์ฮันกุกที่เห็นก็คงจะเป็นปรากฏการณ์เพียงส่วนเดียวของความเป็นคนเกาหลีสมัยใหม่เท่านั้น

มินาริ (Minari; 미나리 2021) เป็นหนึ่งภาพยนตร์ที่นำเสนอให้เห็นถึงพลวัตของผู้คนจากเกาหลีที่มีวิถีชีวิตในโลกสมัยใหม่ ผ่านประสบการณ์ของการเดินทางเคลื่อนย้าย การผสมสานทางวัฒนธรรม การปรับเปลี่ยนสถานภาพทางเศรษฐกิจ และการปรับใช้องค์ประกอบทางสังคมวัฒนธรรมอย่างศาสนา อาหาร ความเป็นเครือญาติ และชาติพันธุ์ ในการค้นหาโอกาสและสร้าง ‘บ้านที่มีล้อ’[1] หลังใหม่ที่เชื่อมโยงกับ ‘บ้านเกิด’ ซึ่งตนเองจากมา นอกจากภาพและฉากที่สวยงามของหนังแล้ว บทภาพยนตร์และการถ่ายทอดเรื่องราวของตัวแสดงก็เปี่ยมไปด้วยความลึกซึ้ง มีพลัง ละเมียดละไม และน่าประทับใจ


YouTube video


มินาริฉายภาพชีวิตของครอบครัวผู้อพยพชาวเกาหลี ที่ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อหยั่งราก เติบโต และผลิดอกออกใบในผืนแผ่นดินใหม่อย่างอเมริกา เช่นเดียวกับผู้อพยพจากเกาหลีสองร้อยปีก่อนหน้า พวกเขาเหล่านี้ออกเดินทางแสวงหาความหวังจากความฝันแบบอเมริกันชน (American Dream) เพื่อมีชีวิตที่ดีขึ้น พวกเขาพร้อมที่จะอดทนต่อความยากลำบากและความไม่คุ้นเคยนานับประการ เพื่อให้แน่ใจว่าครอบครัวของพวกเขาจะมีอนาคตที่ดีขึ้นกว่าในสังคมที่พวกเขาจากมา Lee Isaac Chung ผู้กำกับและผู้เขียนบทภาพยนตร์ชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี สร้างเรื่องราวที่งดงามของการแสวงหาและการต่อสู้ที่ไม่สิ้นหวังนี้จากประสบการณ์ชีวิตในวัยเด็กของเขา ซึ่งเติบโตมาในครอบครัวผู้อพยพที่ย้ายไปหาเลี้ยงชีพจากการทำการเกษตรในมลรัฐอาร์คันซอของสหรัฐอเมริกา

ก่อนหน้านี้ มินาริได้รับรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมจากเวที Golden Globes Awards ครั้งที่ 78 อย่างไรก็ตาม การจัดประเภทของภาพยนตร์ดังกล่าวได้นำมาซึ่งข้อกังขาและข้อถกเถียงสำคัญต่อวงการสื่อและอุตสาหกรรมบันเทิงของสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก นั่นก็เพราะว่ามินาริถูกจัดให้เข้าชิงรางวัลในหมวดภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ แทนที่จะเป็นสาขาภาพยนตร์ (อเมริกัน) ยอดเยี่ยม ด้วยเหตุผลเพียงว่า กว่าครึ่งของบทสนทนาในภาพยนตร์นั้นเป็นภาษาเกาหลี มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการจัดประเภทดังกล่าวอย่างมาก นั่นก็เพราะมินาริเป็นภาพยนตร์ที่ถูกผลิต สนับสนุนเงินทุน เขียนบท กำกับ และนำแสดงโดยนักแสดง ‘ชาวอเมริกัน’ 

ประเด็นดังกล่าวไม่ได้นำมาซึ่งข้อถกเถียงแค่เพียงว่าอะไรควรได้รับการยอมรับในฐานะ ‘ภาพยนตร์อเมริกัน’ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการนิยาม ‘ความเป็นอเมริกัน’ โดยกว้างด้วย[2] คำโปรยของ Los Angeles Times ที่ปรากฏอยู่บนบนโปสเตอร์ของภาพยนตร์ บอกว่า “นี่แหละคือภาพยนตร์ที่ (สังคมอเมริกัน) เราต้องการในตอนนี้” นั่นก็เพราะมินาริตั้งคำถามต่อความเป็นพหุวัฒนธรรมของสังคมอเมริกัน ท่ามกลางกระแสการเหยียดเชื้อชาติสีผิวที่ก่อตัวเป็นความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์อเมริกันเรื่องนี้กลับถูกกีดกัดจากความเป็นอเมริกันดังตัวอย่างจากเวที Golden Globes Awards ที่ได้กล่าวไปแล้ว ทั้งนี้ แม้ว่าองค์ประกอบหลักและเนื้อเรื่องของมินาริจะเป็นเรื่องของชาวอเมริกันเชื้อสายเกาหลี แต่พวกเขาก็เป็นพลเมืองชาวอเมริกันอย่างเต็มภาคภูมิไม่ต่างจากชาวอเมริกันคนอื่นๆ ในความเป็นจริงแล้ว สังคมอเมริกันก็ไม่ใช่เป็นสังคมที่พูดเฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น หากแต่มีภาษาที่ถูกใช้ในสังคมอเมริกันมากกว่า 350 ภาษา และกว่า 20% ของคนอเมริกันพูดภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษที่บ้าน การลดทอนความเป็นอเมริกันให้เป็นเรื่องของคนผิวขาวหรือคนที่พูดภาษาอังกฤษเป็นหลัก จึงสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงกีดกัน (socio-cultural discrimination) ที่ยังฝังแฝงอยู่ในสังคมอเมริกันได้เป็นอย่างดี


โปสเตอร์ภาพยนตร์ Minari ในสหรัฐอเมริกา ที่ให้ความรู้สึกถึง American Dream


นอกจากเวที Golden Globes Awards แล้ว มินาริยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลจากหลายๆ เทศกาลและเวทีประกวดทั่วโลก ตลอดจนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในหลายสาขาของ British Academy Film Awards ครั้งที่ 74 ที่สำคัญก็คือว่า ในการประกาศรายชื่อภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ ครั้งที่ 93 เมื่อเร็วๆ นี้ บทเรียนจากข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในเวที Golden Globes Awards คงมีส่วนทำให้มินาริได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (แทนที่จะเป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ) รวมไปถึงรางวัลอื่นๆ อย่างบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม และเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอีกด้วย


การอพยพย้ายถิ่น

         
มินาริมุ่งนำเสนอเรื่องราวของชาวเกาหลี ที่อพยพไปยังพื้นที่ชนบทของสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1980 อย่างไรก็ตาม การย้ายถิ่นของคนเกาหลีไปยังอเมริกาไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาเท่านั้น การอพยพระลอกแรกเกิดขึ้นกับคนเกาหลีโดยเฉพาะแรงงานผู้ชาย ที่เริ่มออกเดินทางมายังหมู่เกาะฮาวายตั้งแต่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 และตามมาด้วยเหล่าบรรดาผู้หญิงที่ถูก ‘ส่งออก’ มายังสหรัฐฯ ในฐานะ ‘เจ้าสาว’ ที่คัดเลือกจากภาพถ่าย ผ่านการจัดการหาคู่ข้ามทวีปในช่วงทศวรรษ 1910 ถึงกลางทศวรรษ 1920

การอพยพระลอกถัดมาเกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1950 มาจนถึงกลางทศวรรษ 1960 ซึ่งเป็นผลมาจากอิทธิพลของสหรัฐฯ ในสงครามเกาหลี ผ่านผู้หญิงเกาหลีที่แต่งงานหรือให้บริการกับทหารอเมริกัน การรับบุตรบุญธรรมผ่านเครือข่ายศาสนา และการให้การสนับสนุนด้านการศึกษาและการฝึกอาชีพของสหรัฐฯ ต่อคนเกาหลี

การอพยพระลอกใหญ่ที่สุดเกิดขึ้นในช่วงตั้งแต่กลางทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา อันเป็นผลมาจากรัฐบัญญัติการอพยพเข้าเมือง (Immigration Act) ของสหรัฐฯ ในปี 1965 ที่ยกเลิกการจำกัดโควตาจากแหล่งที่มาของผู้อพยพ และหันมาให้ความสำคัญกับการรวมญาติของสมาชิกครอบครัวของผู้อพยพที่เดินทางเข้ามาก่อนหน้า ตลอดจนผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น หมอ พยาบาล และวิศวกรมากขึ้น[3] ผลของการยกเลิกระบบโควตาทำให้มีผู้อพยพจากเอเชียหลั่งไหลเข้าสหรัฐฯ มากขึ้นเกือบสี่เท่าตัว โดยเฉพาะสมาชิกครอบครัวที่เดินทางมาสมทบกับผู้อพยพที่ย้ายถิ่นฐานมาก่อนหน้า ผู้อพยพจากเกาหลีเองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 0.7% ในช่วงต้นทศวรรษ 1960 เป็น 3.8% ในช่วงต้นทศวรรษถัดมา[4]

นอกจากนโยบายการอพยพเข้าเมืองของสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ในเกาหลีเองก็มีปัจจัยหลายประการในขณะนั้นที่ผลักดันให้มีผู้อพยพออกนอกประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแยกประเทศระหว่างเกาหลีเหนือและใต้ การปกครองภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหาร ตลอดจนนโยบายเศรษฐกิจที่ชี้นำโดยรัฐและมุ่งเน้นการสนับสนุนธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก ซึ่งส่งผลให้เกิดการผลักดันแรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรม โดยปราศจากสวัสดิการ ค่าแรงที่เป็นธรรม และมาตรฐานการทำงานที่ดีพอ นอกจากนี้ นโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบเร่งรัดและนโยบายการเมืองที่บีบบังคับ โดยเฉพาะในช่วงสมัยประธานาธิบดีพัค ช็องฮี (1961-1979) ส่งผลให้มีการย้ายถิ่นจากชนบทเข้าสู่เมือง และจากภาคการเกษตรเข้าสู่อุตสาหกรรมอย่างกว้างขวาง ผลที่เกิดขึ้นก็คือ คุณภาพชีวิตแรงงานที่ตกต่ำลง การอยู่อาศัยในเมืองอย่างแออัด การเข้าถึงสาธารณูปโภคที่จำกัด และการแข่งขันที่สูงในการส่งลูกหลานให้ได้รับการศึกษาที่ดี


ความยากลำบากในเกาหลีในช่วงทศวรรษ 1960-1980 ผลักดันให้เกิดการอพยพออกนอกประเทศอย่างมีนัยสำคัญ


สภาพเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในช่วงทศวรรษ 1960 นี้เองที่เป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการอพยพออกนอกประเทศเป็นอย่างมาก แต่กระนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเดินทางโยกย้ายไปยังสหรัฐอเมริกาได้ คนส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในฐานะที่สามารถจะเดินทางไปแสวงหาโอกาสนอกประเทศได้ในตอนนั้น เห็นจะเป็นกลุ่มคนชั้นกลางในเมืองซึ่งมีอาชีพและความเชี่ยวชาญ มีความรู้ภาษาอังกฤษ มีต้นทุนทางการเงิน ต้นทุนทางสังคม และสามารถเรียนรู้เข้าใจผลของนโยบายอพยพเข้าเมืองของสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงนั้นได้[5] ในขณะที่คนชนบทและคนที่ยากจนกลับถูกดูดซึมเข้าสู่การเป็นแรงงานไร้ทักษะ เพื่อตอบสนองต่อกลไกของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้นในประเทศ


ครอบครัว ชนชั้น และรุ่นวัย

         
ช่วงทศวรรษ 1980 เป็นช่วงที่มีผู้อพยพสูงสุดในช่วงของการอพยพระลอกที่สาม จำนวนผู้อพยพชาวเกาหลีในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากในปี 1970 ที่มีผู้อพยพจำนวน 9,314 คน เพิ่มขึ้นเป็น 32,320 คนในปี 1980 และคงระดับจำนวนผู้อพยพมากกว่า 30,000 คนต่อปีในทุกปีของช่วงทศวรรษ 80 ซึ่งนับเป็นกลุ่มผู้อพยพที่ย้ายเข้ามาในสหรัฐฯ มากเป็นอันดับสามรองจากเม็กซิโกและฟิลิปปินส์[6] ในภาพยนตร์มินาริ ครอบครัวของเจค็อบและโมนิก้า อี[7]  ก็เป็นหนึ่งในผู้อพยพจากเกาหลีมายังสหรัฐอเมริกาในช่วงปลาย 1970 และย้ายถิ่นจากเมืองใหญ่ในแคลิฟอร์เนียไปสู่พื้นที่ชนบทในอาร์คันซอในช่วงปลายทศวรรษ 1980


จำนวนผู้อพยพเพิ่มสูงขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 จำนวนไม่น้อยผันตัวเองไปเป็นผู้ประกอบการอิสระ


ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น ผู้อพยพจากเกาหลีส่วนใหญ่ในช่วง 1970-80 มาจากประชากรชนชั้นกลางในเมือง เกือบครึ่งหนึ่งของผู้อพยพจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี มีอาชีพหน้าที่การงานในบริษัท หรือเป็นแรงงานปกขาวในเกาหลีก่อนที่จะอพยพมายังสหรัฐฯ[8] การย้ายถิ่นมายังพื้นที่ใหม่หมายความว่าพวกเขาจำต้องละทิ้งโอกาสและความก้าวหน้าทางหน้าที่การงานเหล่านั้น และมาเริ่มต้นใหม่ในสังคมที่ไม่คุ้นเคยและเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย แต่กระนั้นความต้องการหลีกหนีจากสภาพสังคมการเมืองและระบบเศรษฐกิจในยุคเผด็จการ การต้องการมีโอกาสในการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น ความคาดหวังให้ลูกหลานได้มีการศึกษาที่ดี และการเดินทางเพื่อรวมญาติสร้างครอบครัวใหม่อีกครั้งกับผู้ที่อพยพไปก่อนหน้า ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนเหล่านี้เลือกที่จะออกเดินทางและสร้างบ้านหลังใหม่ในดินแดนที่อยู่ไกลออกไป

อย่างไรก็ตาม ภายหลังที่อพยพมายังสหรัฐอเมริกาแล้ว ผู้อพยพส่วนใหญ่ที่ได้ประกอบอาชีพตามความเชี่ยวชาญหรือด้านการบริหารจัดการมีน้อยมาก ในทางกลับกัน ผู้อพยพเหล่านี้ต้องยอมทำงานที่ใช้ทักษะน้อยลง และได้ค่าจ้างที่ต่ำลงมาก ผู้อพยพจำนวนไม่น้อยไม่สามารถทนรับกับสถานภาพทางเศรษฐกิจดังกล่าวได้ และผันตัวไปเป็นผู้ประกอบการกิจการขนาดเล็ก เช่น ร้านขายของชำ ร้านเสริมสวย ร้านซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า และการทำฟาร์มเกษตร[9]

ในสหรัฐอเมริกา ผู้อพยพชาวเกาหลีส่วนใหญ่มักเลือกที่จะตั้งถิ่นฐานในเมืองใหญ่ๆ เช่น ลอสแองเจลลิส นิวยอร์ก ชิคาโก ซานฟรานซิสโก ซีแอตเทิล และฮูสตัน การอพยพเข้ามาอยู่ในชุมชนที่ใกล้เคียงกันในเมืองนั้นเป็นข้อดี ซึ่งทำให้ผู้อพยพเหล่านี้สามารถปรับตัวต่อสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ไม่ยากนัก เครือข่ายทางสังคมของชาวเกาหลีช่วยรองรับการปรับตัวในรูปแบบต่างๆ เช่น การหาวัตถุดิบสำหรับทำอาหาร ตลอดจนสินค้า การจ้างงาน รวมไปถึงการเป็นที่พึงและเยียวยาทางจิตใจผ่านการเข้ากิจกรรมของโบสถ์ ซึ่งในภายหลังโบสถ์เกาหลี (Korean Church) ได้ขยายตัวอย่างมากตามจำนวนประชากรที่อพยพเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ

ในภาพยนตร์มินาริ ครอบครัวของเจค็อบและโมนิก้าก็เป็นหนึ่งในผู้อพยพที่เข้ามาอาศัยอยู่ในแคลิฟอร์เนียเป็นเวลาหลายปี ก่อนที่พวกเขาจะตัดสินใจย้ายถิ่นไปยังพื้นที่ชนบท เพื่อสร้างกิจการด้านการเกษตรของตนเอง แทนที่จะทำงานเป็นลูกจ้างรายวันในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ และเพื่อหลีกหนีจากสังคมของชาวเกาหลี ไปสู่การเป็นอเมริกันชนตามความฝันที่สังคมอเมริกาได้ให้ไว้

อย่างไรก็ตาม การแยกตัวออกจากเครือข่ายทางสังคมของคนเกาหลีไปสู่สังคมใหม่ในชนบทของอาร์คันซอนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากนี้ผู้คนในแต่ละช่วงวัยที่ต่างกันย่อมรับเอาวัฒนธรรมใหม่เข้ามาในชีวิตได้ไม่เหมือนกัน เจค็อบและโมนิก้าถือว่าเป็นผู้อพยพรุ่นแรกของครอบครัว พวกเขาเป็นผู้ที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย แรงกดดัน และข้อจำกัดมากมายในการบุกเบิกและวางรากฐานให้กับครอบครัวในสังคมใหม่ โชคดีที่ว่าผู้อพยพชาวเกาหลีในช่วง 1970-80 นั้นส่วนใหญ่แล้วจะมาจากกลุ่มคนที่มีการศึกษา รู้ภาษา เป็นชนชั้นกลางที่มีทักษะด้านอาชีพและการบริหารจัดการ เลยทำให้การเผชิญกับการตั้งรกรากใหม่นั้นอาจจะได้เปรียบกว่าผู้อพยพจากที่อื่นๆ ซึ่งอาจจะมาจากฐานทางสังคมและเศรษฐกิจที่ต่ำกว่า

แอนและเดวิด ลูกสาวและลูกชายของครอบครัวอีถือว่าเป็นคนรุ่นที่ 1.5 และรุ่นที่ 2 ของการอพยพ คนรุ่น 1.5 หมายถึงคนที่เกิดในเกาหลีและอพยพไปตั้งรกรากในดินแดนใหม่ตั้งแต่วัยเด็ก ส่วนคนรุ่นที่สองคือคนที่เกิดในประเทศที่พ่อแม่อพยพไปตั้งรกรากใหม่แล้ว คนทั้งสองรุ่นนี้มักประสบกับข้อจำกัดในการปรับตัวเข้าสู่สังคมวัฒนธรรมใหม่ไม่มากเท่ากับผู้อพยพรุ่นแรก เพราะเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมใหม่ๆ พวกเขาพูดได้สองภาษา (bilingual) และมีเครือข่ายทางสังคมมากกว่ารุ่นพ่อแม่ของพวกเขา ทั้งแอนและเดวิดมีชีวิตไม่ต่างจากเด็กอเมริกันส่วนใหญ่ พวกเขาแยกห้องนอนจากพ่อแม่ ชอบรับประทานอาหารตะวันตก พูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว เรียนรู้ข่าวสารโลกกว้างจากสื่ออเมริกัน และไม่มีรากทางวัฒนธรรมและบ้านเกิดให้กังวลหรือถวิลหา


คนต่างรุ่นย่อมเผชิญกับกระบวนการย้ายถิ่นที่แตกต่างกัน


หนึ่งในตัวแสดงหลักของมินาริ คือ ซุนจา คุณยายซึ่งอพยพตามลูกสาวมายังอเมริกาเพื่ออยู่ร่วมกับครอบครัวที่เหลืออยู่ของเธอ ซุนจาเป็นภาพตัวแทนที่ดีของผู้อพยพจำนวนไม่น้อยซึ่งย้ายถิ่นในช่วงวัยที่ยากต่อการปรับตัวเข้าสู่สังคมใหม่ ซุนจาไม่ได้เชื่อในพระเจ้าและการสวดอธิษฐานเหมือนลูกหลานของเธอ เธอไม่คุ้นชินกับอาหารตะวันตก เธอไม่ได้มีบุคลิกเหมือนคุณย่าคุณยายแบบฝรั่ง เธอใช้ภาษาอังกฤษผิดๆ ถูกๆ และเธอมักจะประหลาดใจเมื่อเห็นคนอเมริกันที่ตัวอ้วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่คุณยายผู้ซึ่งหลานชายของเธอมักบ่นว่า “มีกลิ่นเหมือนเกาหลี” (Grandma smells like Korea) นำติดตัวมาด้วย ไม่ใช่แค่เพียงกลิ่นของความเป็นเกาหลีเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงรากเหง้าและคุณค่าทางวัฒนธรรมในมิติต่างๆ ผ่านอาหารและวัตถุดิบหลากชนิด


อาหารและการบริโภค

        
อาหารเป็นส่วนสำคัญของการจรรโลงวัฒนธรรมและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในสังคม การย้ายถิ่นย่อมหมายถึงการที่คนเหล่านี้ต้องแยกขาดออกจากวัตถุดิบในการประกอบอาหาร และมีวิถีการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปไม่มากก็น้อย ในภาพยนตร์มินาริ สมาชิกของครอบครัวอีรับประทานอาหารเช้าและอาหารกลางวันแบบตะวันตก ส่วนอาหารเย็นมักจะเป็นอาหารเกาหลีเป็นหลัก ครอบครัวอีไม่ต่างจากครอบครัวของผู้อพยพอื่นๆ ในยุค 80 ที่มีลักษณะการบริโภคอาหารที่ผสมผสานระหว่างสองวัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม วิถีการบริโภคดังกล่าวย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามรุ่นวัย และการผสมกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของอีกวัฒนธรรม เราคงจินตนาการได้ว่าแอนและเดวิดจะบริโภคอาหารอเมริกันและอาหารตะวันตกอื่นๆ เป็นหลักเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น เช่น อาหารเช้าอย่างนมและซีเรียล หรือน้ำอัดลมเมาท์เทนดิวของโปรดของเดวิดคงจะเป็นเครื่องดื่มที่เขาดื่มระหว่างวัน พร้อมกับอาหารกระป๋อง กล้วยหอม และมีพาสต้าเป็นอาหารเย็น  

การเดินทางมาของคุณยายซุนจา ทำให้รสชาติ คุณค่า และกลิ่นของอาหารเกาหลีกลับมาสู่ครอบครัวอีอีกครั้ง กระเป๋าเดินทางของเธออัดแน่นไปด้วยพริกป่น ปลาแห้ง เมล็ดเกาลัด และเมล็ดพันธ์ุมินาริ


มินาริ ที่เป็นมากกว่าผัก หากยังหมายถึงรากเหง้า การบ่มเพาะ และการเจริญเติบโต

         
มินาริ เป็นพืชผักชนิดหนึ่งมีลักษณะคล้ายขึ้นฉ่าย มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะวิตามินเอและบี มีโพแทสเซียมและแคลเซียมสูง นิยมนำมาใช้ประกอบอาหารและเป็นเครื่องเคียงได้หลากหลายเมนู นอกจากนี้ คนเกาหลีมักดื่มน้ำสกัดจากมินาริเพื่อรักษาอาการเมาค้างจากแอลกอฮอล์ มินาริยังมีสรรพคุณในการช่วยขับพิษและบรรเทาอักเสบอีกด้วย แม้ว่ามินาริจะเป็นผักที่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศได้ง่ายเนื่องจากมีฤดูการเจริญเติบโตที่สั้น แต่มินาริมักเติบโตอย่างอุดมสมบูรณ์ในจังหวัดทางตอนใต้ของเกาหลี ซึ่งมีทุ่งนาและพื้นที่ชุ่มน้ำ และมีแสงแดดส่องถึงเป็นเวลานานกว่าทางตอนเหนือ[10]

มินาริ ถูกนำมาเป็นตัวแทนเชิงอุปมาในภาพยนตร์ได้อย่างลึกซึ้ง ในแง่ที่ว่ามินาริมักจะเติบโตได้ดีในรุ่นที่สองของการปลูก และสามารถเติบโตขยายพันธุ์โดยไม่ต้องการการดูแลอะไรมากมาย[11] ยุนยอจอง นักแสดงชื่อดังของเกาหลีใต้ ซึ่งรับบทเป็นคุณยายซุนจาในภาพยนตร์ ชี้ว่ามินาริเป็นผักที่ปรับตัวง่ายและสามารถเติบโตได้ในระบบนิเวศที่หลากหลาย มันจึงเป็นตัวแทนที่ดีของผู้อพยพชาวเกาหลี ที่สามารถตั้งถิ่นฐานได้ในทุกๆ ที่ ในขณะที่เจค็อบและครอบครัวของเขาตั้งถิ่นฐานในอาร์คันซอ ซึ่งเป็นรัฐที่อยู่บนละติจูดใกล้เคียงกับพื้นที่ทางตอนใต้ของเกาหลี อันเป็นแหล่งปลูกมินาริที่สำคัญ เช่นนั้นแล้ว มินาริจึงเป็นทั้งความเชื่อมโยงกับบ้านเกิดของพวกเขา และเป็นเครื่องหมายของการเริ่มต้นและขยายพันธ์ุในดินแดนใหม่ไปพร้อมๆ กัน[12]


ศาสนากับความเป็นสมัยใหม่

         
ไม่เพียงแต่อาหารที่เชื่อมโยงผู้อพยพชาวเกาหลีในอเมริกาเข้าหากัน แต่เครือข่ายศาสนาอย่างโบสถ์คริสตจักรก็มีส่วนสำคัญของการสร้างและดำรงความเป็นชาติพันธ์ุเกาหลีในดินแดนใหม่ 

จำนวนโบสถ์ของคนเชื้อสายเกาหลีในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 70 เป็นต้นมา ในปี 1970 มีโบสถ์กระจายอยู่ในเมืองใหญ่ๆ ในอเมริกา 75 แห่ง ในปี 1990 จำนวนโบสถ์เกาหลีเพิ่มมากขึ้นเป็นประมาณ 2,000 แห่ง หรือเพิ่มขึ้น 27 เท่าในช่วงเวลาสองทศวรรษ[13]


ศาสนาคริสต์มีความหมายมากกว่าความเชื่อ แต่ยังหมายถึงความเป็นตะวันตก ความเป็นสมัยใหม่ และเครือข่ายทางสังคม

         
ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา คริสต์ศาสนาในเกาหลียึดโยงอย่างมากกับชนชั้นกลางในเมือง และมากกว่าครึ่งของผู้อพยพชาวเกาหลีนับถือศาสนาคริสต์ตั้งแต่ก่อนที่จะย้ายมายังสหรัฐอเมริกา ในเกาหลีใต้ การนับถือคริสต์ศาสนาหมายถึงการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้กลายมาเป็นแบบตะวันตกหรืออเมริกัน (Westernized/Americanized) จึงไม่แปลกใจว่า เมื่อคนชั้นกลางในเกาหลีเลือกที่จะย้ายถิ่นออกนอกประเทศ พวกเขาเลือกอเมริกาเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางหลัก ไม่เพียงเพราะอุดมคติทางการเมืองและโอกาสทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่ยังเกี่ยวข้องอย่างมากกับความสัมพันธ์เชิงจิตวิญญาณ และเครือข่ายทางสังคมที่ชุมชนทางศาสนาพร้อมที่จะหยิบยื่นให้ 

อย่างไรก็ตาม ภาพจินตนาการถึงดินแดนตะวันตกที่เต็มไปด้วยความเป็นสังคมสมัยใหม่ ซึ่งเชื่อมโยงกับการตัดสินใจเดินทางไปยังประเทศปลายทางของการอพยพอย่างสหรัฐอเมริกานั้น อาจจะไม่ได้เป็นภาพที่สะท้อนความเป็นจริงนัก ในสหรัฐอเมริกา ศาสนาคริสต์ไม่ได้หมายถึงความเป็นสังคมสมัยใหม่และความเป็นชนชั้นกลางเสมอไป ภาพยนตร์มินาริได้สะท้อนแง่มุมดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

ครอบครัวอีได้พบกับชาวอเมริกันชนบทที่นับถือทั้งศาสนาคริสต์และเป็นหมอผีในเวลาเดียวกัน เจค็อบและโมนิกานับถือคริสต์ศาสนาอย่างเคร่งครัด พวกเขาเปิดเพลงสรรเสริญพระเจ้าในบ้านและไปโบสถ์อย่างสม่ำเสมอ ส่วน พอล เป็นชายชาวชาวอาร์คันซอที่มีความเชื่อและวิถีปฏิบัติทางศาสนาที่แปลกออกไป และคุณยายซุนจาผู้เลือกที่จะเก็บเงินที่เก็บหอมรอมริบมาจากการทำงานเอาไว้ แทนที่จะบริจาคให้กับโบสถ์และพระผู้เป็นเจ้า ความสัมพันธ์ที่ทับซ้อนและไม่มีเส้นแบ่งที่ตายตัวนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเลือกตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนโลกทัศน์ของผู้อพยพ ในคราวที่พวกเขาต้องตั้งรกรากในสังคมใหม่อยู่เสมอ 


มินาริ: เมล็ดพันธุ์ การย้ายถิ่น และผืนดินใหม่

         
ในแง่ของการย้ายถิ่นแล้ว มีแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญในการทำความเข้าใจกระบวนการตั้งรกรากใหม่สองแนวคิดด้วยกัน แนวคิดแรก ว่าด้วยการกลืนกลายทางวัฒนธรรม (cultural assimilation) ซึ่งหมายถึงการที่ผู้อพยพเข้ามาใหม่ปรับตัวและเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำรงชีวิตให้เข้ากับประเทศปลายทาง ในกระบวนการดังกล่าวนี้ พวกเขาจำต้องละทิ้งรากเหง้า ความเชื่อ และวิถีทางวัฒนธรรมต่างๆ ของสังคมที่เขาจากมา เพื่อให้สามารถเป็นที่ยอมรับและผสมกลมกลืนกับผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมใหม่ได้

แนวคิดที่สำคัญอีกแนวคิดหนึ่งก็คือการบูรณาการทางสังคม (social integration) ซึ่งต่างจากแนวคิดการกลืนกลายทางวัฒนธรรม ในแง่ที่ว่าสังคมนั้นยอมรับความแตกต่างหลากหลาย และเคารพความเป็นหพุทางวัฒนธรรมของผู้คนที่อยู่ร่วมกันในสังคม[14]



ภาพยนตร์มินาริสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตของผู้คนที่เคลื่อนย้าย ฝังราก เติบโต และขยายเผ่าพันธุ์ในดินแดนใหม่ๆ ท่ามกลางกระบวนการที่ว่านี้ พวกเขาอาจต้องเผชิญกับแรงบีบคั้นจากสังคมที่ทำให้ต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์ และละทิ้งคุณค่าทางสังคมบางอย่างที่บ่มเพาะความเป็นตัวตนของพวกเขา แต่อย่างที่เราได้เห็นจากชีวิตที่ดำเนินไปของครอบครัวอีและต้นมินาริที่คุณยายซุนจาได้ปลูกไว้ พืชพันธุ์ที่ดูเหมือนไร้ค่าซึ่งหลบซ่อนอยู่บนผืนดินเล็กๆ ริมชายป่านี้ พร้อมที่จะเจริญงอกงามขึ้นมาด้วยความสามารถในการปรับตัวของมันเอง

ไม่ต่างจากมินาริ ผู้คนที่อพยพย้ายถิ่นเข้ามาสู่ดินแดนใหม่ย่อมมีคุณค่า หากเรามีสายตาที่จะทำความรู้จัก และชื่นชมในความงดงามของพวกเขา



เชิงอรรถ

[1] บ้านหลังใหม่ของครอบครัวอีดัดแปลงมาจากตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งมีล้อไว้สำหรับลากให้สามารถเคลื่อนย้ายไปยังที่ต่างๆ ได้ บ้านที่มีล้อนี้เป็นอุปมาเปรียบกับผู้อพยพย้ายถิ่นที่มักมีวิถีชีวิตที่เคลื่อนย้าย ความเป็นบ้านและครอบครัวไม่จำเป็นต้องอยู่ติดที่เสมอไป

[2] Shoichet, Catherine E. 2021. “What the controversy over ‘Minari’ says about being American,” CNN, March 1, 2021. [https://edition.cnn.com/2021/02/26/entertainment/minari-golden-globes-controversy/index.html]

[3] Keely, Chrales. 1980. “Immigration Policy and the New Immigration, 1965-1976” in Sourcebook on the New Migration, edited by Roy S. Bryce-Laporte. New Brunswick: Transaction Books.

[4] Hurh, Won Moo. The Korean Americans. Westport: Greenwood Publishing Group.

[5] DeWind, Josh, Eun Mee Kim, Ronald Skeldon, and In-Jin Yoon. 2012. “Korean Development and Migration” Journal of Ethnic and Migration Studies 38(3): 371-388. 

[6] Yoon, In-Jin. 2012. “Migration and the Korean Diaspora: A Comparative Description of Five Cases” Journal of Ethnic and Migration Studies 38(3): 413-435.

[7] ในสหรัฐฯ ทั้งสองสามีภรรยาเลือกที่จะใช้ชื่อตนเองเป็นภาษาอังกฤษ คือ เจค็อบ และ โมนิก้า เพื่อให้ง่ายต่อการเรียกขานและหวังว่าจะช่วยให้สามารถผสมกลมกลืนกับสังคมอเมริกันได้ง่าย ลูกสาวคนโตซึ่งเกิดในเกาหลีมีชื่อเป็นภาษาเกาหลีว่า จิยอง และชื่อภาษาอังกฤษว่า แอน ส่วนลูกชายที่เกิดและเติบโตในสหรัฐฯ มีแค่ชื่อภาษาอังกฤษว่า เดวิด เพียงอย่างเดียว โปรดสังเกตว่าชื่อทั้งหลายได้รับอิทธิพลจากความเชื่อในคริสต์ศาสนาเป็นอย่างมาก ส่วนนามสกุล อี (이) นั้นมีการเรียกขานต่างกันไปในภาษาอังกฤษ เช่น Yi, Lee, Ee และ Rhee

[8] Hurh, Won Moo and Kwang Chung Kim. 1988. Uprooting and Adjustment: A Sociological Study of Korean Immigrant’s Mental Health. Macomb: Western Illinois University.  

[9] Yu, Eui-Young and Peter Choe. 2003. “Korean Population in the United States as Reflected in the Year 2000 U.S. Census” Amerasia Journal 29(3): 1-21.

[10] Yoo, Irene. 2021. “The Story Behind the Vegetable That Gave Minari Its Name,” Slate, February 12, 2021. [https://slate.com/culture/2021/02/minari-movie-vegetable-herb-history-recipe.html]

[11] Welk, Brian. 2020. “‘Minari’ Director Shares the ‘Poetic’ Meaning Behind Immigrant Tale’s Title,” The Wrap, February 12, 2020.  [https://www.thewrap.com/minari-director-shares-the-poetic-meaning-behind-immigrant-tales-title-video/]

[12] Beck, Irene. 2021. “The Sweet Meaning Behind the Name of Award-Winning Film ‘Minari’,” The Kitchn, March 1, 2021. [https://www.thekitchn.com/what-does-minari-movie-name-mean-23142840]

[13] Hurh, Won Moo and Kwang Chung Kim. 1990. “Religious Participation of Korean Immigrants in the United States” Journal for the Scientific Study of Religion 29(1): 19-34.

[14] Kim, Uichol. 1990. “Acculturation of Korean Immigrants: What are the Hidden Costs?” in Koreans in America: Dream and Realities, edited by Hyung-chan Kim and Eun Ho Lee. Seoul: The Institute of Korean Studies. 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save