fbpx
เมื่อชาวมิลเลนเนียลส์ต้องการพื้นที่แห่งความรู้

เมื่อชาวมิลเลนเนียลส์ต้องการพื้นที่แห่งความรู้

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

 

คุณเป็นมิลเลนเนียลส์หรือเปล่าครับ?

ถ้าคุณเกิดในช่วงเก้าศูนย์ถึงปีสองพันนิดๆ และตอนนี้อายุอยู่ในวัยเลขสอง ก็แน่นอนว่าคุณน่าจะเป็นมิลเลนเนียลส์ แม้ว่านิยามของการเป็นคนรุ่นมิลเลนเนียลส์จะไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ก็ตามที

หลายคนอาจจะบอกว่า คนรุ่นใหม่อย่างชาวมิลเลนเนียลส์นั้น เป็นกลุ่มคนที่ไม่ค่อยจะเอาถ่านสักเท่าไหร่ ชอบเปลี่ยนงานไปมา สมาธิก็สั้น ไม่หนักเอาเบาสู้เหมือนคนสมัยก่อน แล้วก็มีคำบรรยายถึงชาวมิลเลนเนียลส์อีกหลายแบบที่ไม่ค่อยจะน่ารักสักเท่าไหร่

แต่คุณรู้ไหมครับ ว่าเริ่มมีหลายเสียงพูดถึงลักษณะเด่นอย่างหนึ่งที่คนรุ่นอื่นๆ ไม่มีหรือมีน้อยกว่าชาวมิลเลนเนียลส์มาก ก็คือ ‘ความรักในความรู้’

งานวิจัยของ Pew Research Center ที่สำรวจชาวมิลเลนเนียลส์อเมริกัน บอกไว้ว่ามนุษย์มิลเลนเนียลส์นี่แหละ ที่จะเป็นมนุษย์รุ่นที่ ‘มีการศึกษา’ มากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน

ที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ คนรุ่นนี้จะเป็นผู้ขับเคลื่อนสิ่งที่เรียกว่า Knowledge-Based Economy ซึ่งน่าจะแปลเป็นไทยได้แบบเครียดๆ นิดหน่อยว่า ‘ระบบเศรษฐกิจฐานความรู้’

คำถามก็คือ ‘ระบบเศษฐกิจฐานความรู้’ คืออะไรกันแน่?

อธิบายด้วยการยกตัวอย่างก็แล้วกันนะครับ แรกสุด ลองนึกถึงคนสมัยก่อนเวลาออกเดินทางไปท่องเที่ยวกันดู คนยุคก่อนมักจะไปเที่ยวเพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนานใช่ไหมครับ การไปเที่ยวหมายถึงการไปถ่ายรูป พักผ่อน ช็อปปิ้ง และตระเวนทัวร์เพื่อความสนุกสนานเป็นหลัก ใครอย่าได้คิดเอาความรู้อะไรมายัดเยียดใส่หัวเชียว ไปเที่ยวไม่ใช่ไปเคร่งเครียด!

แต่สำหรับมิลเลนเนียลส์แล้ว เริ่มมีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ไม่ได้เดินทางแค่เพื่อท่องเที่ยว แต่เดินทางไปด้วย เก็บเกี่ยวประสบการณ์และความรู้ไปด้วย อาจไม่ใช่ความรู้แบบเคร่งเครียดจริงจังระดับควอนตัมฟิสิกส์ แต่หลายคนเดินทางไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ ตระเวนทำความรู้จักกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของผู้คน ไปทัวร์ห้องสมุดหรือพื้นที่สาธารณะทางปัญญาในเมืองต่างๆ รวมถึงตระเวนเที่ยวงานเทศกาลเพื่อเรียนรู้รากเหง้าทางวัฒนธรรมของผู้คนทั่วโลกด้วย

กระแสการเดินทางแบบใหม่นี้เรียกว่า Knowledge-Based Travel หรือการเดินทางเพื่อไป ‘ดู’ ความรู้ต่างๆ เป็นการเดินทางในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์

อย่างที่สองที่หลายคนอาจมองข้ามก็คือ ถ้าเราไปดูบริการสตรีมมิ่งอย่าง Netflix หรือ YouTube เราจะพบว่า รายการยอดนิยมในนั้นไม่ได้มีแต่รายการบันเทิงอย่างเดียวนะครับ แต่มีรายการประเภทที่เรียกว่า Documentary หรือสารคดีรวมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม สารคดีฮิตๆ ใน Netflix หรือ YouTube ไม่ได้เป็นสารคดีแบบเดิมๆ ที่เดินเรื่องเชื่องช้าทรงภูมิ ทว่าเป็นสารคดีที่ตัดกระชับฉับไว นำเสนอ ‘ความรู้’ เชิงลึกที่คัดสรรมาร้อยเรียงเพื่อ ‘เล่าเรื่อง’ อย่างดี ดึงดูดความสนใจ และกินเวลาไม่นานนัก เช่นอาจมีความยาวราว 20-30 นาที ซึ่งเรื่องนี้ ค่าย Vox อันเป็นหนึ่งในค่ายที่ผลิตงานสารคดีทำนองนี้ออกมา ก็ยังเคยวิเคราะห์กระแสนี้เอาไว้ในบทความเก่าชื่อ 2017’s best documentaries found new ways to engage reality in a post-truth world ว่าสารคดีแบบใหม่เหล่านี้ท้าทายกรอบการทำสารคดีแบบเก่า และดึงดูดคนหน้าใหม่เข้ามาสู่ ‘ความรู้’ อย่างไร

ดังนั้น การพูดว่าชาวมิลเลนเนียลส์ต้องการเสพ ‘ความรู้’ มากกว่าคนรุ่นก่อนๆ – จึงเป็นเรื่องที่ไม่เกินจริงเลย

แน่นอน ความรู้แบบหนึ่งที่ชาวมิลเลนเนียลส์เสาะหาได้ง่ายใกล้มือ ก็คือความรู้จากโลกออนไลน์ แต่ในเวลาเดียวกัน ชาวมิลเลนเนียลส์ก็ไม่ได้อยากจมอยู่แต่กับหน้าจอหรอกนะครับ พวกเขาต้องการ ‘สถานที่’ สำหรับการเรียนรู้แบบ ‘ตัวเป็นๆ’ ด้วยเหมือนกัน

แต่คำถามก็คือ – ทุกวันนี้มีสถานที่ให้ชาวมิลเลนเนียลส์เสพ ‘ความรู้’ กันหรือเปล่า?

และสถานที่ที่ว่า – เป็นสถานที่แบบไหน?

เวลาเราพูดว่า ‘ความรู้’ หลายคนมักจะรู้สึกขยาดๆ นิดหน่อย เพราะไปนึกถึงโรงเรียนหรือการศึกษาในระบบแบบเป็นทางการ มีครูไหวใจร้ายถือไม้เรียวคอยเฆี่ยนตีให้รับความรู้เข้าหัวอะไรทำนองนั้น แต่สำหรับชาวมิลเลนเนียลส์แล้ว การเรียนรู้ในรูปแบบที่พวกเขาชอบ ไม่ใช่การเรียนรู้ในระบบเท่านั้น เทรนด์การเรียนรู้ใหม่ของคนยุคใหม่ คือเทรนด์ที่เรียกว่า Microlearing หรือการเรียนรู้จิ๋วๆ ทีละเล็กละน้อย ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ได้บ่อยๆ (เพราะมันดึงดูดใจและสนุก) ต่างหาก

เพราะฉะนั้น พื้นที่แห่งความรู้ที่ชาวมิลเลนเนียลส์ต้องการ จึงไม่ใช่สถาบันการศึกษาแข็งๆ ที่ต้องเข้าไปไขว่คว้าหาความรู้กันเอง แต่คือพื้นที่ความรู้แบบใหม่ที่มีชีวิตชีวา มีการคัดสรรมาแล้วทั้งเนื้อหาและ ‘วิธีเล่า’ ความรู้ต่างๆ ให้สนุก

สำหรับผม ตัวอย่างของ ‘พื้นที่แห่งความรู้’ สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ดีที่สุด ณ นาทีนี้ คือการรวมตัวกันของศูนย์กลางแห่งความรู้เป็นสิบๆ แห่ง ที่บังเอิญมากระจุกตัวรวมกันอยู่ในย่านคิงส์ครอส (King’s Cross) ถนนยูสตัน (Euston Road) และบลูมสเบอรี (Bloomsbury) ในลอนดอน

พื้นที่ที่ว่านี้ มีองค์กรดำเนินงานอยู่เบื้องหลังที่มีชื่อน่ารักว่า KQ ซึ่งย่อมาจาก Knowledge Quarter หรือ ‘ย่านแห่งความรู้’ ที่มีความรู้ต่างๆ มากระจุกตัวกันอยู่บนถนนที่อยู่ห่างกันไม่กี่ร้อยเมตร โดย KQ มุ่งมั่นจะเป็น ‘ฮับ’ สำหรับความรู้ระดับโลก (World-Class Knowledge Hub) ของศตวรรษที่ 21 เขาจึงไปจับมือกับองค์กรต่างๆ มากกว่า 90 แห่ง ที่รวมตัวอยู่ในย่านเดียวกัน มีทั้งมหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑ์ องค์กรวิจัย สื่อ องค์กรทางวิทยาศาสตร์ ห้องสมุด ศิลปะ เช่น British Museum, The Alan Turing Institute, Francis Crick Institute, The Guardian ไปจนถึง The Wellcome Trust และกระทั่งผู้ให้บริการออนไลน์อย่าง Google ด้วย โดยหัวเรี่ยวหัวแรงที่เป็นผู้ก่อตั้ง KQ ขึ้นมา ก็คือ British Library กับ University of the Arts London

เป้าหมายของ KQ ก็คือการกระตุ้นให้ความรู้ที่หลากหลายเหล่านี้ได้มาปะทะสังสรรค์รวมตัวกัน และ ‘ทำลาย’ อุปสรรคที่ขวางกั้นการหลอมรวมของความรู้ลงไปให้ได้มากที่สุด ด้วยการพยายามสร้างบทสนทนาระหว่างองค์กรและผู้คน รวมทั้งสื่อสารความรู้ต่างๆ ออกไปสู่โลก ด้วยวิธีการต่างๆ นานา ตั้งแต่การจัดงานประชุมใหญ่ๆ การประชุมโต๊ะกลมที่ทุกคนมาร่วมแสดงความคิดเห็นได้ งานเสวนาเล็กๆ ตามร้านกาแฟต่างๆ นิทรรศการทั้งใหญ่เล็ก เทศกาลความรู้ต่างๆ รวมไปถึงการจัดทัวร์ความรู้หลากแบบในย่าน KQ ด้วย

เหล่านี้แหละครับ คือ Microlearning ที่ชาวมิลเลนเนียลส์ต้องการ!

บางคนอาจจะบอกว่า โอ๊ย! นั่นมันเรื่องของประเทศโลกที่หนึ่ง ประเทศร่ำรวย ประเทศที่ยากจนกว่าไม่มีทางมีอะไรแบบนั้นได้หรอก

ถ้าใครคิดแบบนั้น ก็อยากชวนไปดูประเทศในแอฟริกาประเทศหนึ่ง ซึ่งแม้จะได้ชื่อว่ามีขนาดเศรษฐกิจดีเป็นอันดับสี่ของแอฟริกา แต่เศรษฐกิจของประเทศนี้ก็ไม่ได้ดีกว่าไทยเท่าไหร่ และในบางมิติของเศรษฐกิจ ไทยเราอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ ประเทศนั้นก็คือ บอตสวานา (Botswana)

ในปี 2009 รัฐบาลบอตสวานาจัดการประกวดแบบ ‘ศูนย์นวัตกรรม’ แห่งใหม่ใจกลางเมืองหลวงของตัวเอง เรียกว่า BIH (Botswana Innovation Hub) โดยมีเป้าหมายจะให้ศูนย์แห่งนี้เป็น Science and Technology Park ในระดับโลก ที่ดึงดูดความรู้ด้านต่างๆ ตั้งแต่เทคโนโลยีการสื่อสาร เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีด้านการทำเหมือง (อย่าลืมว่า บอตสวานาเป็นประเทศที่ทำเหมืองเพชรใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก) รวมไปถึงเทคโนโลยีสะอาดด้วย

BIH เปิดกว้างต้อนรับความคิดใหม่ๆ โดยเป้าหมายหนึ่งของศูนย์ก็คือการสร้าง ‘วัฒนธรรมแห่งนวัตกรรม’ (Culture of Innovation) ขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างความรู้ สื่อสารความรู้ และปลุกให้คนรุ่นใหม่ของบอตสวานาลุกขึ้นมาคิดอะไรใหม่ๆ

แน่นอน – ฐานของ BIH อยู่ที่ ‘ความรู้’

ที่น่าทึ่งมากก็คือ เพื่อสะท้อนการเป็นศูนย์กลางแห่งความรู้ ตัวอาคารของ BIH จึงได้รับการออกแบบด้วยความรู้ ทำให้ตัวอาคารเต็มไปด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม มีการออกแบบโดยสัมพันธ์กับภูมิประเทศภายนอกด้วย เช่น สัมพันธ์กับแม่น้ำ Okavango กับทะเลทรายคาลาฮารี และกับทุ่งหญ้าสะวันนา (ซึ่งเป็นภูมิประเทศ 90 เปอร์เซ็นต์ของบอตสวานา) นั่นแปลว่าในการออกแบบอาคาร จะต้องดูทั้งทิศทางการไหลของน้ำ การพัดของกระแสลมในแต่ละฤดูกาล ความเข้ากันได้กับสิ่งแวดล้อมทั้งในทางเทคโนโลยีและสุนทรียะ ผลที่ออกมาจึงเป็นอาคารที่ลดระบบพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ลดการใช้พลังงานได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ โดยภายในศูนย์มีตั้งแต่ห้องแล็บ R&D ร้านอาหาร คาเฟ่ โรงยิม เพื่อให้คนรุ่นใหม่ของบอตสวานาได้มาพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกัน โดยจะมีการจัดโปรแกรมและนิทรรศการต่างๆ อยู่ตลอดเวลา

พูดได้ว่า แค่การ ‘ดำรงอยู่’ ของ BIH ก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับการสร้างและแสวงหาความรู้ของคนรุ่นใหม่ในบอตสวานาแล้วละครับ

 

มองดู KQ ของลอนดอน และ BIH ของบอตสวานาแล้ว หลายคนอาจเกิดคำถามว่า แล้วมิลเลนเนียลส์ไทยและคนไทยอื่นๆ – ทุกเพศทุกวัยล่ะ เราต้องการพื้นที่แห่งความรู้แบบเดียวกันกับลอนดอนหรือบอตสวานาหรือเปล่า?

ในโลกที่ก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา ความรู้ใหม่ๆ ถูกสร้างขึ้นตลอดเวลา เรามีที่ทางให้คนรุ่นใหม่ของเราปรับตัวเพื่อเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างเปิดกว้างไหม? มีสถานที่แบบไหนที่ผลักดันให้เกิด ‘ความรู้มวลรวม’ ของผู้คนขึ้นมาในสังคมไทยหรือเปล่า?

ที่สำคัญก็คือ เราต้องการ ‘สถานที่’ ที่สามารถเข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนอื่นๆ นอกเหนือจากการไปช็อปปิ้ง กินข้าว ดูหนัง ในศูนย์การค้าไหม?

และเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ รวมไปถึงจังหวัดอื่นๆ ทุกจังหวัดเล่า มี ‘สาธารณูปโภคทางปัญญา’ หรือพื้นที่สาธารณะสำหรับให้ความรู้แก่คนทุกเพศทุกวัย ทุกชนชั้น ทุกกลุ่มเศรษฐกิจสังคม – มากพอแล้วหรือยัง?

ถ้าคำตอบต่อคำถามข้างบน ยังเป็นคำตอบในแง่ลบ ก็คงต้องถามกันต่อว่า – ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราต้องร่วมกันผลักดันเรียกร้องให้เกิดพื้นที่สาธารณะทางปัญญาแบบนี้มากขึ้นจนเพียงพอต่อความต้องการ?

ที่สำคัญ รัฐควรต้องเป็นผู้ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเปิดกว้างหลากหลายด้วยไหม?

คำถามเหล่านี้ ไม่ใช่คำถามเพื่อเรียกร้องสถานที่ที่ฟุ่มเฟือย แต่เป็นคำถามเพื่อเรียกร้องสิ่งสำคัญยิ่งต่อสังคมไทยในศตวรรษที่ 21

อย่าให้คำตอบต้องปลิวหายในสายลมเลยครับ!

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save