fbpx
ปราบเสือ: ปฏิรูปกองทัพในประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม

ปราบเสือ: ปฏิรูปกองทัพในประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์* เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

คนหลายกลุ่มในสังคมไทยอยากเห็นการปฏิรูปกองทัพ แต่อาจจะนึกถึงการปฏิรูปไปคนละทิศทาง บางคนอยากเห็นการปรับเปลี่ยนภายในกองทัพ เช่นเรื่องการจัดกำลังพลและขั้นตอนการบริหารจัดการ เพื่อให้กองทัพในฐานะสถาบันด้านความมั่นคงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่อีกหลายคนคิดถึงการปฏิรูปกองทัพในแง่มุมการลดบทบาททางการเมืองโดยตรงของทหาร อยากเห็นทหาร ‘กลับกรมกอง’ เลิกแทรกแซงการเมืองภาครัฐ เลิกยึดอำนาจรัฐแล้วเข้ามาใช้อำนาจในฐานะผู้ปกครองเสียเองอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

วิธีมองเรื่องการปฏิรูปกองทัพในฐานะการจัดการสถาบันองค์กรและในฐานะการปรับบทบาททางการเมืองของทหารมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอยู่ ความพยายามเปลี่ยนการจัดการองค์กรอย่างการจัดการกำลังพลอาจเป็นไปได้ยากในบริบทที่กองทัพมีสถานะและความสามารถในการกำกับการเมืองภาครัฐสูง การปฏิรูปกองทัพจึงเลี่ยงไม่คิดถึงประเด็นที่ทางและอำนาจทางการเมืองของกองทัพในสังคมไม่ได้

กองทัพในหลายรัฐมีบทบาทในการเมืองภาครัฐสูงตั้งแต่การมีอำนาจในการผลักและขวางการตัดสินใจเชิงนโยบายและการครองอำนาจรัฐของผู้นำพลเรือน ไปจนถึงการยึดอำนาจและใช้อำนาจรัฐเสียเอง การแทรกแซงทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ นี้ถูกมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ขัดขวางการสถาปนาประชาธิปไตย

การศึกษากองทัพกับการเมืองในหลายรัฐพบว่า บทบาททางการเมืองของทหารส่งผลทั้งด้านบวกและลบต่อความพยายามจะสถาปนาประชาธิปไตย ทหารในบางรัฐทำหน้าที่ ‘หมอตำแย’ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย เช่น การแทรกแซงของทหารในโปรตุเกสที่ล้มระบบการเมืองอำนาจนิยม Estado Novo ในปีค.ศ. 1974 ที่ถูกนับเป็นจุดเริ่มต้นคลื่นลูกที่สามของการพัฒนาประชาธิปไตยในอาณาบริเวณต่างๆ ของโลก[1]

กองทัพเป็นความหวังของนักรัฐศาสตร์บางคนในบางช่วงเวลาว่าจะเป็นตัวแสดงสำคัญที่ยุติความวุ่นวายไร้ระเบียบในสังคมและทำหน้าที่ผู้รักษาความสงบจนสถาบันทางการเมืองที่จำเป็นสำหรับประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน เช่น พรรคการเมือง สามารถพัฒนาไปได้

ประสบการณ์ของหลายรัฐ (น่าจะหมายรวมถึงไทยด้วย) สะท้อนบทบาทของกองทัพในฐานะ ‘เพชฌฆาต’ ที่ทำให้ประชาธิปไตยล้มหายตายจากและฝังกลบซากไม่ให้ฟื้นคืนชีพ โดยการยึดอำนาจและเข้าครองอำนาจรัฐในฐานะผู้ปกครอง แล้วสถาปนาระบบการเมืองอำนาจนิยมในรูปแบบต่างๆ

กองทัพในฐานะสถาบันทางการเมืองที่ให้ความสำคัญกับระเบียบวินัยและการยอมรับอำนาจตามสายการบังคับบัญชา ถูกมองว่าไม่น่าจะไปกันได้กับระบบการเมืองประชาธิปไตยที่เปิดให้คนในสังคมร่วมกันตัดสินใจเกี่ยวกับกติกาและนโยบายของรัฐ โดยเสียงข้างมากที่มาจากการนับจำนวนเสียงในการเลือกตั้ง หรือจากกระบวนการมีส่วนร่วมที่เปิดให้คนที่คิดต่าง/เชื่อต่าง/ต้องการไม่เหมือนกันได้แลกเปลี่ยน/ถกเถียง/ต่อรองเพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมที่ทุกฝ่ายรับได้

การทำให้กองทัพในหลายรัฐที่มีอำนาจและบทบาททางการเมืองสูงและคุ้นเคยกับการครองอำนาจหรือใช้อำนาจรัฐเอง ลดบทบาทและยอมรับรัฐบาลพลเรือนที่เข้าสู่อำนาจโดยการเลือกตั้ง ถูกมองเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเป็นไปได้ แต่ก็เป็นเรื่องที่ทำได้ยากเย็นไม่ต่างกับการปราบเสือสิงห์ที่แรงมาก-อาวุธเยอะให้เชื่อฟังพลเรือนที่ไม่มีเขี้ยวเล็บจะต่อกรกับเสือได้ การคานอำนาจกองทัพจึงต้องอาศัยเครื่องมือเชิงกฎหมายและนโยบาย รวมทั้งหลักการที่ยึดถือร่วมกัน

นักสังคมศาสตร์และคนจำนวนไม่น้อยอยากเห็นกองทัพปรับที่ทางและบทบาทไปในทิศทางที่สอดคล้องกับหลักการ ‘พลเรือนเป็นใหญ่’ (civilian supremacy – คำแปลไทยหยิบยืมมาจาก ศ.สุรชาติ บำรุงสุข) หลักการที่ว่านี้เสนอว่าอำนาจและความรับผิดชอบในการกำหนดเป้าหมายและนโยบายควรเป็นของผู้นำทางการเมืองพลเรือน โดยทหารเป็นผู้ปฏิบัตินโยบายที่ผู้นำพลเรือนกำหนด การกำกับควบคุมกองทัพโดยพลเรือนเป็นหมุดหมายสำคัญในการ ‘ปฏิรูปกองทัพ’ เพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ความมั่นคงของประชาธิปไตยมีหลักการดังกล่าวนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญ โดยมีรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลพลเรือนในรัฐที่เป็นประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมเป็นแม่แบบ

การควบคุมกองทัพโดยพลเรือนประเมินจากการเปรียบเทียบความสามารถของผู้นำพลเรือนและผู้นำกองทัพ ในการส่งอิทธิพลต่อนโยบายด้านการป้องกันประเทศ ความมั่นคงภายในประเทศ และกิจการภายในกองทัพ ตามหลักการพลเรือนเป็นใหญ่ อำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับเป้าหมายและทิศทางของนโยบายเหล่านี้ควรเป็นของผู้นำพลเรือน

เมื่อหลักการ ‘พลเรือนเป็นใหญ่’ ถูกวางลงในรัฐที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยยังไม่หยั่งราก ความแตกต่างเชิงบริบทหลายประการส่งผลต่อความพยายามจะปฏิรูปและปฏิบัติตามหลักการนี้ และเป็นเรื่องที่ผู้สนับสนุนการปฏิรูปกองทัพน่าจะร่วมกันคิดต่อ โดยประเด็นที่น่าทำความเข้าใจร่วมกันมีดังนี้

 

ทหารไม่เป็นหนึ่งเดียว

 

เมื่อพูดถึงทหารในการเมือง เรามักจะมองราวกับทหารหรือกองทัพเป็นกลุ่มก้อนหนึ่งเดียวที่คิดและต้องการแบบเดียวกัน มองสถานการณ์และตัดสินใจเลือกไปในทิศทางเดียวกัน แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะเห็นได้ว่าทหารมีความแตกต่างกันเองอยู่ไม่น้อย มิติต่างๆ ที่แบ่งแยกและจัดสถานะคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม เช่น ชนชั้นทางเศรษฐกิจ ศาสนา ชาติพันธุ์ และความคิดหรือรสนิยมทางการเมือง ก็ปรากฏในกองทัพด้วย กองทัพในแต่ละสังคมสะท้อนภาพความหลากหลายและเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ ที่ปรากฏในสังคมนั้น การศึกษาทางวิชาการพูดถึงกลุ่ม พวกพ้อง หรือฝักฝ่ายในกองทัพที่ต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรและอำนาจกันเองในหลายรัฐ

นอกจากการแบ่งตามลักษณะทางสังคม-เศรษฐกิจแล้ว ยังการรวมกลุ่มบนฐานของรุ่น ความเป็นเพื่อน และการอุปถัมภ์ค้ำจุน และมีการแข่งขันหรือขัดแย้งมากบ้างน้อยบ้างระหว่างกลุ่มด้วย กลุ่มลักษณะนี้ส่งผลต่อการมองสถานการณ์ทางการเมืองและทางเลือกต่างๆ ทั้งของกลุ่มและของกองทัพโดยรวมได้ เราได้เห็นบทบาทของกลุ่มทหารที่ส่งผลต่อการเมืองไทย (และส่งผลต่อกองทัพเองด้วย) เช่น กลุ่มยังเติร์กในช่วงปีพ.ศ. 2521-2524 หรือพี่น้องบูรพาพยัคฆ์ที่มีบทบาททางการเมืองไทยอย่างเห็นได้ชัด เป็นต้น

กองทัพยังได้สร้างวิถีปฏิบัติหลายประการที่ทั้งสะท้อนและผลิตซ้ำความไม่เท่าเทียมทางสังคมด้วย ตัวอย่างเช่น วิธีการทุจริตนานาประการที่เอารัดเอาเปรียบทหารชั้นผู้น้อยในกองทัพที่ถูกเชื่อมโยงเป็นสาเหตุหลักของเหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้าที่นครราชสีมา เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้น ความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมเหล่านี้สร้างความทุกข์ยากคับข้องใจให้กับทหารหลายกลุ่ม โดยเฉพาะทหารชั้นผู้น้อยและทหารที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่มีอำนาจหรือครองอำนาจรัฐ ความคับข้องใจนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักให้ทหารบางกลุ่มทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐในหลายประเทศ

(น่าคิดต่อด้วยว่าการครองอำนาจต่อเนื่องยาวนานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตั้งแต่การรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทำให้เกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบต่อทหารกลุ่มต่างๆ อย่างไร และทำให้เกิดความคับแค้นในหมู่ทหารที่ไม่ใช่วงศ์วาน-แวดวงของ คสช. มากน้อยเพียงไร)

ตัวอย่างที่ยกมาดูจะเกี่ยวข้องกับทหารในกองทัพบกเป็นหลัก ซึ่งสะท้อนพลังอำนาจและบทบาททางการเมืองที่ไม่เท่ากันของแต่ละเหล่าทัพ ทหารบกมีบทบาททางการเมืองสูงกว่าเหล่าทัพอื่นในหลายรัฐ การพูดถึงบทบาทกองทัพเป็นก้อนหรือเนื้อเดียวกันดูจะไม่สะท้อนความแตกต่างระหว่างเหล่าทัพ

การแบ่งแยก ความเหลื่อมล้ำ และการต่อสู้ทางการเมืองที่ปรากฏในสังคมก็ปรากฏในกองทัพด้วย และทำให้ทหารต่างกลุ่มเชื่อมโยงตนเองกับชนชั้นนำหรือกลุ่มการเมืองที่ต่างกันได้ ความพยายามจะปฏิรูปหรือปรับบทบาทที่ทางของกองทัพในการเมืองต้องทำความเข้าใจลักษณะเหล่านี้ และอาจจะต้องคิดถึงความเหลื่อมล้ำและการแบ่งขั้วที่ปรากฏในสังคมโดยรวมด้วย ตำแหน่งแห่งที่และบทบาททางการเมืองของกองทัพเชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำและการแบ่งแยกทางสังคม การปรับบทบาทของกองทัพโดยไม่พิจารณาภาพรวมของความเหลื่อมล้ำในสังคมน่าจะเป็นไปได้ยากเย็น

 

ทหารเข้าใจประชาธิปไตยอย่างไร

 

ประชาธิปไตยถูกนิยามแตกต่างกันทั้งในหมู่นักสังคมศาสตร์และประชาชนทั่วไป คนไม่น้อยเชื่อมโยงประชาธิปไตยเข้ากับการเลือกตั้ง หลายคนมองคุณภาพของประชาธิปไตยมากกว่าจะจำกัดอยู่เพียงกระบวนการเลือกตั้ง แต่เน้นการตอบสนองความต้องการและการรับผิดชอบต่อประชาชนว่าเป็นลักษณะที่ต้องมีของระบบการเมืองประชาธิปไตย หรือการคุ้มครองและรับรองสิทธิและเสรีภาพของพลเมือง

แง่มุมสำคัญของประชาธิปไตยในความเข้าใจของคนบางกลุ่ม คือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการกำหนดกติกาและจัดสรรทรัพยากรส่วนรวมโดยรัฐ ถ้าการแสดงความเห็นและความต้องการที่แตกต่างในประเด็นนโยบายและการดำเนินการเรื่องต่างๆ ของรัฐถูกจัดว่าสำคัญ ประชาธิปไตยก็ไม่น่าจะเป็นระบบการเมืองที่เป็นระเบียบเรียบร้อยนัก แต่เป็นระบบการเมืองที่มีช่องทางและพื้นที่ให้คนได้แสดงความต้องการและสื่อสารทุกข์ที่พวกเธอและเขาเผชิญ แง่มุมนี้อาจจะถูกมองเป็นความวุ่นวายได้

ทหารจำนวนไม่น้อยนิยามประชาธิปไตยโดยเน้นความสงบและมีระเบียบ การเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เรียบร้อยไม่วุ่นวาย เราอาจพิจารณาการนิยามประชาธิปไตยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ดูจะคล้ายคลึงกับวิธีมองของทหารไทยบางกลุ่ม

พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวถึงประชาธิปไตยในกาลโอกาสต่างๆ โดยโยงประชาธิปไตยเข้ากับการทำประโยชน์ให้บ้านเมือง (“เราร่วมมือกันทำในสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ ต่อตัวเองและครอบครัว นั่นคือประชาธิปไตยแล้ว”[2]) เน้นการแสดงออกและการกระทำที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น (“การทำอะไรก็ตามในระบอบประชาธิปไตยต้องไม่เดือดร้อนผู้อื่น เพราะมันทำลายโอกาสของคนอื่น”[3]) และการเข้าครองอำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้งและการรับรองสิทธิเสรีภาพอย่างเป็นทางการ (“บัดนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ขั้นตอนของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญโดยสมบูรณ์ มีสภาผู้แทนราษฎรซึ่งสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง มีรัฐบาลที่มาจากความเห็นชอบของรัฐสภา สิทธิเสรีภาพต่างๆ ได้รับหลักประกันคุ้มครองไว้ในรัฐธรรมนูญตามแบบอย่างนานาอารยประเทศ”[4])

การที่นายกรัฐมนตรีเชื่อมโยงความชอบธรรมของรัฐบาลเข้ากับการเข้าครองอำนาจตามกระบวนการประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนที่เน้นการเลือกตั้งและความสงบเรียบร้อย อาจจะตรงใจคนหลายกลุ่ม การนิยามเช่นนี้มองไม่เห็นประชาธิปไตยในฐานะวิธีหรือกระบวนการจัดการความขัดแย้งที่เปิดให้คนได้แสดงออก ต่อรอง และตัดสินใจร่วมกัน ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายของความเชื่อ ความชอบ และความต้องการของผู้คน ความเงียบสงบน่าจะเป็นไปได้ยากนอกเสียจากต้องอาศัยการบังคับ

การนิยามประชาธิปไตยของทหารบางกลุ่มไม่เหมือนกับความเข้าใจของคนหลายกลุ่มในสังคม ที่เห็นประชาธิปไตยเป็นระบบการเมืองที่พวกเธอและเขาสามารถจะสื่อสารทุกข์และปัญหาเฉพาะ รวมทั้งแลกเปลี่ยนโต้เถียงกันได้ ประชาธิปไตยแบบนี้เต็มไปด้วยความอึกทึกมากกว่าความสงบ

ความเข้าใจที่ไม่ตรงกันนี้นำไปสู่การตั้งคำถามและการท้าทายรัฐที่น่าจะทิ่มแทงผู้ครองอำนาจทางการเมืองอยู่ไม่น้อย

ประสบการณ์ของหลายรัฐ (เช่น รัสเซีย จอร์เจีย และไทย เป็นต้น) แสดงให้เห็นว่าแม้ว่าการเลือกตั้งจะเป็นกลไกสำคัญสำหรับประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน แต่ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าระบบการเมืองที่จัดให้มีการเลือกตั้งจะเป็นประชาธิปไตยหรือสถาปนาประชาธิปไตยได้ การเลือกตั้งที่มีการแข่งขันแต่ไม่เสรีและไม่เป็นธรรมกลายเป็นช่องทางในการเข้าครองอำนาจรัฐ โดยการใช้อำนาจมีลักษณะอำนาจนิยม เช่น การละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกและดำเนินการทางการเมืองโดยใช้กลไกทางกฎหมาย หรือการใช้อำนาจและกลไกรัฐที่ทำให้ผู้ครองอำนาจมีความได้เปรียบคู่แข่งทางการเมือง เป็นต้น[5]

ระบบการเมืองที่เน้นการเลือกตั้งนี้ได้ก่อรูปกลายเป็นลูกผสมระหว่างประชาธิปไตยแบบเลือกตั้งนิยมกับอำนาจนิยมหลากหลายรูปแบบ โดยวิธีการมีส่วนร่วมหลักของประชาชนคือการออกเสียงเลือกตั้ง แต่ไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การตีความว่าหลักการ ‘พลเรือนเป็นใหญ่’ เป็นเรื่องการควบคุมนโยบายมั่นคงและการตัดสินใจเรื่องการใช้กำลังทหารโดยนักการเมืองพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งอาจกลายเป็นการสนับสนุนการเติบโตของระบบการเมืองอำนาจนิยมที่มีการเลือกตั้ง

 

ประชาธิปไตยแบบอำนาจนิยม (authoritarian democracy) กับหลักการพลเรือนเป็นใหญ่

 

หลักการ ‘พลเรือนเป็นใหญ่’ ที่พัฒนาขึ้นในบริบทที่ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมมีความเข้มแข็งพอควร ถูกส่งต่อไปสู่รัฐต่างๆ ที่กำลังเปลี่ยนผ่านทางการเมืองหรือสถาปนาประชาธิปไตย โดยอาศัยการตีความและวิถีปฏิบัติเป็นแบบเดียวกับในรัฐตะวันตก คือ การควบคุมกองทัพทำโดยนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารในฐานะตัวแทนทางการเมืองของประชาชน

ในบริบทของระบบการเมืองพันทางที่มีการเลือกตั้งและอำนาจนิยม การนิยามหลักการ ‘พลเรือนเป็นใหญ่’ โดยยึดแม่แบบตะวันตกกลายเป็นปัญหาอยู่ไม่น้อย ความพยายามสถาปนา ‘พลเรือนเป็นใหญ่’ เน้นการลดบทบาททางการเมืองโดยตรงของกองทัพ จากเดิมที่กองทัพเคยเป็นเครื่องมือในการแสวงหาและรักษาอำนาจของผู้นำกองทัพหรือนายทหารระดับสูง ทหารต้องมีความเป็นมืออาชีพที่มุ่งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสถาบันที่ดูแลด้านความมั่นคง และปฏิบัติตามนโยบายที่กำหนดโดยผู้นำทางการเมืองพลเรือน

คำถามก็คือการให้ความสำคัญกับการควบคุมกองทัพโดยนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งส่งผลอย่างไรในระบบการเมืองที่มีการเลือกตั้งบวกกับลักษณะอำนาจนิยมของผู้นำทางการเมือง

การศึกษาบทบาทที่ทางของกองทัพในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของหลายรัฐพบว่า ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งในบางรัฐ (เช่นในยุโรปตะวันออก)[6] ใช้กองทัพเป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจ กลายเป็นว่าความพยายามลดบทบาทโดยตรงทางการเมืองของทหารเป็นไปได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้ เพราะบทบาทและที่ทางของกองทัพไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ผู้นำทหารและพลเรือนผลัดกันใช้

ข้อสังเกตของนายทหารบางคนสะท้อนว่าไทยก็มีประสบการณ์ใกล้เคียงกันนี้ ดูเหมือนว่าผู้นำทางการเมืองพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งบางคนก็ ‘ใช้บริการ’ กองทัพเพื่อรักษาอำนาจ  การทำตามคำสั่งของนักการเมืองพลเรือนเพื่อการรักษาอำนาจ เช่นกองทัพถูกใช้ปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ไม่น่าจะสอดคล้องกับภาพความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือนตามหลักการ ‘พลเรือนเป็นใหญ่’ ที่กองทัพเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายด้านความมั่นคงและประโยชน์สุขสาธารณะของรัฐ ไม่ใช่ทรัพยากรของบุคคลหรือกลุ่มคนที่แสวงหาและรักษาผลประโยชน์เฉพาะตนเฉพาะพวก

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 กองทัพในบางรัฐขัดขืนไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจของผู้นำพลเรือนในสถานการณ์ที่ประชาชนรวมตัวกันต้านอำนาจรัฐ โดยการไม่ยอมปราบปรามประชาชนด้วยกำลังอาวุธตามที่ผู้นำพลเรือนสั่ง[7] ในบางสถานการณ์การไม่ยอมทำตามคำสั่งผู้นำทางการเมืองที่ต้องการใช้กำลังทหารจัดการกับการชุมนุมทางการเมืองที่สั่นคลอนรัฐบาล อาจถูกมองในทางบวกในบริบทของประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการในบางรัฐ ตัวอย่างเช่นผู้นำกองทัพของตูนิเซียไม่ยอมสั่งให้ทหารใต้บังคับบัญชายิงประชาชนที่ชุมนุมประท้วงประธานาธิบดี Ben Ali ในปี ค.ศ. 2010-2011 แม้ว่าประธานาธิบดีจะออกคำสั่งให้ปราบปรามผู้ชุมนุม ทำให้ผู้นำกองทัพได้รับการชื่นชมและความนิยมจากประชาชนอย่างมาก ยิ่งเมื่อผู้นำกองทัพประกาศว่าทหารจะปกป้องการปฏิวัติของประชาชนก็ยิ่งทำให้ดูสง่างามเป็นวีรบุรุษมากขึ้นไปอีก (แม้ว่ารายละเอียดที่เพิ่มเติมขึ้นหลังเหตุการณ์จะไปในทิศทางคล้ายๆ กันว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องเล่าที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงก็ตาม แต่ประชาชนจำนวนไม่น้อยก็เชื่อเรื่องราวนี้อย่างจริงจัง และชื่นชมกับการขัดคำสั่งผู้นำทางการเมืองของทหาร)

หลักการ ‘พลเรือนเป็นใหญ่’ ในบริบทประชาธิปไตยแบบเน้นการเลือกตั้งอาจทำให้นักเลือกตั้งกึ่งเผด็จการเข้าครองอำนาจรัฐ โดยอาศัยแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับผู้นำพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งในรัฐที่ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมหยั่งรากมั่นคง อาจกลายเป็นการผลักกองทัพให้เป็นเครื่องมือเพื่อรักษาอำนาจของนักเลือกตั้งโดยไม่ได้เปลี่ยนบทบาทที่ทางของกองทัพในสังคมและระบบการเมืองไปจากเดิม การควบคุมกองทัพโดยนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมีความหมายที่แตกต่างไปจากการควบคุมกองทัพโดยประชาธิปไตย

ความเป็นใหญ่ของพลเรือนน่าจะหมายถึงประชาชนมากกว่านักเลือกตั้ง โดยประชาชนมีส่วนร่วมคิดในเรื่องความมั่นคงที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องการสู้รบทำสงคราม แต่เกี่ยวข้องกับภัยอันตรายมากมายหลายประการที่กระทบกับสุขภาวะของคนในรัฐ เช่น ภัยแล้ง ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 หรือโรคระบาดข้ามพรมแดนที่สั่นคลอนโลกอย่าง COVID-19 ที่กระทบความมั่นคงของมนุษย์ (ความมั่นคงที่มีมนุษย์ -ไม่ใช่รัฐ- เป็นศูนย์กลาง) แต่ไม่สามารถจัดการได้ด้วยกรอบคิดและเครื่องมือด้านการทหารแบบเดิมได้ จึงไม่น่าประหลาดใจที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยจะขัดเคืองกับการเตรียมกำลังด้านอาวุธและกำลังพลเพื่อการสู้รบแบบเดิม เพราะอันตรายที่พวกเขาและเธอเผชิญต้องจัดการด้วยเครื่องมือและความรู้อีกชุดหนึ่ง

การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงและการตรวจสอบกองทัพโดยประชาชนและกลุ่ม/องค์กรภาคประชาสังคม ทำให้กองทัพเป็นของประชาชนและทำหน้าที่ด้านความมั่นคงที่มีความหมายกว้างขวางหลากมิติได้มากขึ้น การใช้อำนาจทางการเมืองและการดำเนินโยบายโดยไม่ใส่ใจกับความต้องการและปัญหาเฉพาะของประชาชนและของสังคม แบ่งแยกผู้คนในสังคมและหล่อเลี้ยงการเผชิญหน้าที่ทำให้กองทัพในฐานะสถาบันองค์กรภาคความมั่นคงอ่อนแอและตัดขาดจากส่วนอื่นของสังคม

การปฏิรูปกองทัพน่าจะเป็นเรื่องของการปรับที่ทางกองทัพให้เป็นของประชาชน โดยทหารในกองทัพมองตนเองในฐานะประชาชน และให้ที่ทางกับประชาชนนอกกองทัพในการมีส่วนร่วมด้านนโยบายด้านความมั่นคงและตรวจสอบการใช้อำนาจและการทำงานของกองทัพ

ถ้ากองทัพที่มีบทบาททางการเมืองสูงและเคยชินกับการใช้อำนาจทางการเมืองโดยตรงและทรงพลังราวกับเสือ การปฏิรูปกองทัพไม่น่าจะเป็นการปราบเสือ แต่เป็นเรื่องของการปรับบทบาทและการมองโลกของผู้คนในกองทัพให้กลายเป็นสถาบันและพลังของประชาชน

กระบวนการปฏิรูปกองทัพจึงไม่ใช่การมองเชิงเทคนิคหรือองค์กรแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นประเด็นทางการเมืองที่ต้องอาศัยการคิดใคร่ครวญ แลกเปลี่ยนความเห็น และต่อรองเพื่อจะทำให้กองทัพเป็นของประชาชนและถูกกำกับโดยประชาชน

 

 


* คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[1] David Kuehn, “Midwives or Gravediggers of Democracy?: The Military’s Impact on Democratic Development,” Democratization (Vol. 24, NO. 5, 2017): 783-784.

[2] https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/850611

[3] https://www.matichon.co.th/politics/news_1894191

[4] https://www.bbc.com/thai/thailand-48986979

[5] Steven Levitsky and Lucan A. Way, Competitive Authoritarianism: Hybrid Regimes after the Cold War (New York: Cambridge University Press, 2010.

[6] Larry Watts – Reforming CMR in Post-Communist States: Civilian Control VS Democratic Control – 2002

[7] David Pion-Berlin, Diego Esparza, and Kevin Grisham, “Staying Quartered: Civilian Uprisings and Military Disobedience in the Twenty-First Century,” Comparative Political Studies Vol.47, no.2 (2014).

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save