ประจักษ์ ก้องกีรติ เรื่อง
“วันนี้เราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ๆ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไปหรือไม่? การที่มีแต่พรรคการเมืองเดิม นักการเมืองหน้าเดิมๆ แล้วได้เป็นรัฐบาล จะทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูป และทำงานอย่างต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่?”
นี่คือหนึ่งในคำถาม 6 ข้อที่นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถามให้ประชาชนช่วยกันตอบเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ในห้วงยามที่สถานการณ์การเมืองยังอึมครึมและเต็มไปด้วยทิศทางที่ไม่แน่นอน
นักสังเกตการณ์หลายคนวิเคราะห์ตรงกันว่าชุดคำถามนี้สะท้อนถึงเจตจำนงในการอยู่ในอำนาจต่อในระยะยาว และสะท้อนแนวคิดว่าอาจมีการตั้ง “พรรคการเมืองทหาร” ขึ้นมารองรับการสืบทอดอำนาจ
เนื่องจากการเมืองไทยยังเต็มไปด้วยปัจจัยแทรกซ้อนมากมาย จึงยากจะฟันธงว่าข้อวิเคราะห์นี้ถูกต้องแม่นยำเพียงใด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากผู้กุมอำนาจในปัจจุบันอยากจะสืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้ง การมีพรรคการเมืองของตนเองในสภาที่ตนคุมได้ย่อมเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่งและพึงปรารถนา เพราะการยืมจมูก (พรรค) คนอื่นหายใจย่อมเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงเกินไปและไม่น่าสนุกเท่าไหร่
ลำพังการมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของคสช. เองจำนวน 250 คน ก็ยังไม่ใช่หลักประกันการสืบทอดอำนาจอย่างมั่นคงแข็งแรง เพราะวุฒิสมาชิกแต่งตั้งมีอำนาจเพียงแค่โหวตสนับสนุนเปิดทางให้นายกฯ คนนอกขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในทำเนียบรัฐบาลได้ แต่มิอาจโหวตเพื่อค้ำบัลลังก์ของนายกฯ คนนอกหลังจากนั้น ชะตาชีวิตของนายกฯ คนนอกจึงง่อนแง่นพอสมควรในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่หลายคนคิด ประกอบกับการเมืองหลังเลือกตั้ง จะไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างมาตรา 44 และไม่มีคสช.ดำรงอยู่เหมือนในปัจจุบัน ก็ทำให้นายกฯ คนนอกที่จะมาจากกองทัพขาดเครื่องมือสำคัญในการควบคุมอำนาจ
คำถามจึงอาจไม่ได้อยู่ที่ว่าจะมีการตั้งพรรคทหารหรือไม่ แต่คงอยู่ที่เมื่อไหร่และอย่างไรเสียมากกว่า ดังที่พล.อ.ประยุทธ์เคยตอบนักข่าวเมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนว่า “ยังไม่ได้คิดตอนนี้ ดูสถานการณ์ไปก่อน” ในขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นั้นตอบแบบตรงไปตรงมากว่านั้นว่า “หากจำเป็นก็ต้องตั้ง”
รายละเอียดพรรคแนวร่วมทหารยังเคยถูกขยายความโดย พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่น (ตท.) 12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ตั้งเป้าควบรวมพรรคขนาดเล็กในระบบการเมือง โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย ดังคำให้สัมภาษณ์ของ พ.อ.สุชาติ ที่ว่า
“วันนี้ยังมองไม่เห็นว่าใครจะเป็นนายกฯ ได้นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์ แม้ท่านยังปฏิเสธจะพูดถึงอนาคตทางการเมืองของตัวเอง แต่ถึงวันข้างหน้า อย่างไรต้องมีคนเป็นนายกฯ อยู่ดี สมมติเป็นท่าน จะไม่มีเสียงสนับสนุนในสภาเลย คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเราต้องรวมกันไว้ก่อน ทำพรรครอไว้ก่อนเพื่อสนับสนุนท่าน” [1]
ทั้งนี้คงต้องทำความเข้าใจว่าพรรคการเมืองที่เรียกว่า “พรรคทหาร” นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์ไทย แต่มีมาเนิ่นนานแล้ว หากจะมีการจัดตั้งขึ้นอีกก็คงไม่ใช่เรื่องพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน เป็นแค่การรื้อฟื้นกลวิธีทางการเมืองแบบเก่ามาใช้ใหม่อีกครั้งเท่านั้นเอง แต่จะสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร คงยังเร็วเกินไปที่จะตอบในวันนี้ ที่พอทำได้ในบทความนี้คือ อยากจะพาผู้อ่านย้อนเวลากลับไปดูประวัติศาสตร์ของพรรคทหารในอดีตว่าสำเร็จและล้มเหลวอย่างไร เพื่อเป็นบทเรียนให้พวกเราทุกคนในปัจจุบัน
ย้อนรอยสองโมเดลพรรคทหาร : พรรคราชการกับพรรคนอมินี
พรรคทหารมีมานานแล้วในสังคมไทย
หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ เราอาจจำแนกพรรคทหารของไทยออกเป็น 2 โมเดลหลัก
โมเดลแรกเป็นพรรคที่จัดตั้งขึ้นโดยคณะนายทหารในกองทัพเพื่อสนับสนุนผู้นำกองทัพคนใดคนหนึ่งขึ้นสู่อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นจอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือจอมพลถนอม กิตติขจร โดยใช้กลไกราชการทั้งองคาพยพเป็นกลไกขับเคลื่อนและเป็นฐานสนับสนุนของพรรคการเมือง เรียกได้ว่าเป็นพรรคการเมืองของข้าราชการ โดยข้าราชการ เพื่อข้าราชการ โมเดลแบบแรกนี้พบในหลายประเทศที่กองทัพมีบทบาทครอบงำการเมืองอย่างยาวนานเช่น อินโดนีเซีย พม่า ฯลฯ
อีกโมเดลหนึ่งคือ เป็นพรรคที่ทหารสนับสนุนอยู่เบื้องหลังแต่ไม่ได้ออกหน้าโดยตรง (เพื่อป้องกันข้อครหาและโจมตี) โมเดลนี้เป็นโมเดลที่พัฒนาขึ้นมาทีหลังในช่วงทศวรรษ 2530 เมื่อกระแสการเติบโตของภาคธุรกิจ ชนชั้นกลาง และขบวนการประชาชนเติบโตขึ้น
การจัดตั้งพรรคทหารเต็มรูปแบบตามโมเดลแรกจำเป็นต้องถูกปรับโฉมและแต่งองค์ทรงเครื่องเสียใหม่ให้ดูเป็นพรรคราชการทหารน้อยลง มีลักษณะเป็นพรรคแบบพลเรือนที่มีนักการเมือง นักธุรกิจ และเทคโนแครตเข้ามามีส่วนร่วมเป็นตัวแสดงหลักอยู่เบื้องหน้าแทน ทำเช่นนี้ก็เพื่อลดแรงต่อต้านจากประชาชนที่อาจจะต่อต้านการสืบทอดอำนาจของกองทัพ
แน่นอนว่าเป้าหมายสุดท้ายของพรรคทหารแบบที่สองก็ไม่ได้ต่างจากแบบแรก นั่นคือ การหนุนส่งให้นายทหารคนใดคนหนึ่งขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ นั่นเอง กรณีที่ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นพรรคสามัคคีธรรมที่จัดตั้งขึ้นหลังการรัฐประหาร 2534 เพื่อปูทางให้พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้เป็นนายกฯ โมเดลแบบนี้เป็นโมเดลแบบพรรคนอมินี และเป็นโมเดลแบบไทยๆ
พรรคทหารที่อาจจะตั้งขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ก็คงหลีกหนีไม่พ้นสองโมเดลหลักๆ ที่กล่าวมานี้
สำหรับโมเดลแบบแรก ต้องถือว่าพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นตัวแบบคลาสสิก โดยพรรคนี้จัดตั้งขึ้นในปี 2498 โดยมีหัวหน้าพรรค คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เลขาธิการพรรคคือ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ผู้ทรงอิทธิพล และมีรองหัวหน้าพรรคที่เป็นผู้นำในกองทัพอย่างจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพลตรีประภาส จารุเสถียร (ยศขณะนั้น) เป็นต้น
พรรคนี้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับเกมการเมืองของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกฯ ในขณะนั้น ที่หันมาเล่น “เกมประชาธิปไตย” ดัดแปลงกลไกอย่างพรรคการเมืองและการเลือกตั้งซึ่งตามปกติแล้วเป็นกลไกประชาธิปไตยให้กลายเป็นกลไกเพื่อสนับสนุนระบอบทหารแทน โดยจอมพล ป. มุ่งหมายว่าการลงสมัครรับเลือกตั้งผ่านการมีพรรคการเมืองของตนเองจะช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองในสายตาชาวโลกและประชาชนในประเทศ รวมถึงเป็นการชิงความได้เปรียบเหนือคู่แข่งทางอำนาจในกองทัพด้วยกัน
ปรากฏว่าผลลัพธ์ไม่ได้เป็นไปตามที่คาด แม้ว่าพรรคเสรีมนังคศิลาจะชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับที่หนึ่งในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 แต่ก็ไม่ได้ชนะถล่มทลาย คือได้เสียงมาแค่ 83 ที่นั่งจากทั้งหมด 160 ที่นั่งของสภา ทั้งที่ทุ่มทรัพยากรมหาศาลและใช้กลไกรัฐอย่างเต็มรูปแบบเพื่อสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง บันทึกประวัติศาสตร์หลายชิ้นกล่าวถึงรูปแบบการโกงการเลือกตั้งที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในครั้งนี้ จนถูกขนานนามว่าเป็นการเลือกตั้งที่ “สกปรกที่สุด” ในประวัติศาสตร์ไทย เทคนิคการโกงการเลือกตั้งโดยรัฐจำนวนมากก็ถูกพัฒนาขึ้นในการเลือกตั้งครั้งนี้นั่นเอง
ในต่างจังหวัด พรรคเสรีมนังคศิลาใช้ตำรวจบวกกับนักเลงท้องถิ่นไปข่มขู่ชาวบ้านให้เลือกพรรคของตนและข่มขู่ผู้สมัครจากพรรคอื่นไม่ให้หาเสียง ในยุคนั้น นักเลงท้องถิ่นต่างก็หวาดกลัวอิทธิพลของนายพลในกรุงเทพฯ จึงทำงานเป็นหัวคะแนนให้กับพรรคทหาร พล.ต.เผ่า ศรียานนท์ เดินทางด้วยตนเองไปในหลายจังหวัด เรียกประชุมหน่วยราชการและผู้กว้างขวางในพื้นที่ตระเตรียมความพร้อมหาเสียงให้พรรคมนังคศิลา มีบันทึกปากคำของนักเลงจากจังหวัดเพชรบุรีในยุคนั้นที่บอกเล่าเรื่องราวการใช้อิทธิพลมืดเพื่อสนับสนุนพรรคของทหารอย่างมีสีสัน
ประเด็นที่อยากชี้ให้เห็นก็คือ แม้จะใช้อำนาจรัฐและอิทธิพลมืดอย่างเต็มสรรพกำลัง พรรคเสรีมนังคศิลาก็ไม่สามารถชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ได้เสียงเกินครึ่งมาเพียง 3 ที่นั่ง พรรคฝ่ายค้านในยุคนั้นอย่างประชาธิปัตย์และบรรดาผู้สมัครอิสระที่แม้โดนกลั่นแกล้งอย่างหนักก็ยังสามารถฝ่าด่านชนะใจประชาชนเข้าสู่สภาได้จำนวนมาก
การโกงการเลือกตั้งอย่างโจ่งแจ้งของพรรคเสรีมนังคศิลา นำไปสู่การประท้วงของนักศึกษาประชาชน ซึ่งเปิดโอกาสให้จอมพลสฤษดิ์เข้ามายึดอำนาจในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 ปิดฉากชีวิตของจอมพล ป. พิบูลสงครามไปอย่างไม่งดงาม
อย่างไรก็ตาม แม้จอมพล ป. จะล้มเหลวทางการเมือง แต่พรรคเสรีมนังคศิลากลับกลายเป็นต้นแบบให้ผู้นำทหารรุ่นต่อๆ มาลอกเลียนแนวทางไปใช้เพื่อการคงอำนาจ จอมพลสฤษดิ์เองก็ตั้งพรรคขึ้นมา 2 พรรคเพื่อค้ำจุนอำนาจของตนเองคือพรรคชาติสังคมและพรรคสหภูมิ แต่ในการเลือกตั้งวันที่ 15 ธันวาคม 2500 พรรคทหารทั้งสองพรรคนี้ได้ที่นั่งเพียงแค่ 9 ที่นั่ง และ 45 ที่นั่ง ตามลำดับ จากจำนวนที่นั่งทั้งหมด 159 ที่นั่งในสภา ทั้งที่เป็นการเลือกตั้งในบรรยากาศหลังการยึดอำนาจ ซึ่งคณะรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ควบคุมกลไกรัฐทุกอย่าง การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จขึ้นได้ก็เมื่อกองทัพบีบให้ส.ส.อิสระที่ไม่สังกัดพรรคมาสนับสนุนพรรคของทหาร และในที่สุดรัฐบาลก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ในสภาได้จนต้องทำการปฏิวัติซ้ำอีกครั้งหนึ่งในปีถัดมา นับว่าเป็นความล้มเหลวครั้งที่สองของการพยายามสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้งและพรรคการเมือง
ประวัติศาสตร์มาซ้ำรอยอีกครั้งเมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร ทายาททางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์จัดตั้งพรรคทหารที่ชื่อพรรคสหประชาไทยเพื่อลงเลือกตั้งในปี 2512 พรรคของนายกฯ ถนอมชนะเลือกตั้งมาเพียง 74 ที่นั่ง จาก 219 ที่นั่งในสภา ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ 55 ที่นั่ง และผู้สมัครอิสระและพรรคเล็กพรรคน้อยได้รวมกันทั้งหมด 90 ที่นั่ง ซึ่งต้องถือว่าเป็นความล้มเหลวของพรรคทหารอีกครั้งหนึ่งในการแข่งขันเลือกตั้ง ทำให้พรรคสหประชาไทยต้องยื่นผลประโยชน์ต่างตอบแทนให้พรรคเล็กและส.ส.อิสระยกมือสนับสนุนในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อให้จอมพลถนอมได้เป็นนายกฯ อีกรอบหนึ่ง
การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกบันทึกโดยกลุ่มสังเกตการณ์การเลือกตั้งของนิสิตนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยว่าเป็นการเลือกตั้งที่ขาดความบริสุทธิ์ยุติธรรม ต่อมาจอมพลถนอมไม่สามารถควบคุมสภาได้ อันเนื่องมาจากความขัดแย้งและกันต่อรองผลประโยชน์ระหว่างพรรคทหารกับกลุ่มอื่นๆ ที่ชักชวนมาร่วมจัดตั้งรัฐบาล จนต้องรัฐประหารตนเองในปี 2514 ยุบเลิกสภาและพรรคการเมืองทิ้งเสียทั้งหมด หันกลับไปปกครองแบบเผด็จการทหารเบ็ดเสร็จอีกครั้ง สะท้อนความไม่คุ้นเคยของผู้นำกองทัพที่ต้องบริหารอำนาจภายใต้บรรยากาศแบบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งและการแข่งขันของพรรคการเมือง และการยึดอำนาจครั้งนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของความไม่พอใจของประชาชนจนนำไปสู่การเดินขบวนของคลื่นมหาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
น่าจะเป็นเพราะความล้มเหลวของโมเดลพรรคราชการทหาร บวกกับบริบทการเมืองภายในและภายนอกประเทศที่เปลี่ยนไป โมเดลแบบเสรีมนังคศิลาและสหประชาไทยจึงล้มหายตายจากไปในทศวรรษต่อมา
นายทหารรุ่นหลังที่ทำรัฐประหารทั้งในปี 2534 และ 2549 หันไปใช้โมเดลการสร้างพรรคนอมินีขึ้นมาแทน คือให้พลเรือนจัดตั้งพรรคการเมืองลงแข่งเลือกตั้งแทนที่จะเป็นพรรคสีเขียวของคนในเครื่องแบบโดยตรง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จดังใจหมาย พลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นสู่อำนาจผ่านการสนับสนุนของพรรคสามัคคีธรรม (ซึ่งเป็นที่รวมของนักการเมืองที่คณะรัฐประหารของพลเอกสุจินดาเคยขึ้นบัญชีดำไว้เองว่าเป็นพวกที่โกงกินชาติบ้านเมือง แต่ผู้นำกองทัพก็รู้ว่าหากอยากชนะเลือกตั้ง ก็ต้องอาศัยนักการเมืองเหล่านี้) ได้ก็จริง แต่ก็ต้องลงจากอำนาจภายในเวลาอันรวดเร็วเพราะประชาชนไม่ยอมรับ ส่วนบรรดาพรรคนอมินีของคณะรัฐประหารในปี 2549 ล้วนล้มเหลวในการเลือกตั้งปี 2550 ได้ที่นั่งน้อยจนกลายเป็นพรรคขนาดเล็ก สาเหตุสำคัญเพราะไม่เข้าใจบริบทของการเมืองไทยและพฤติกรรมของผู้เลือกตั้งที่เปลี่ยนไป
บทเรียนจากประวัติศาสตร์พรรคทหาร
มีบทเรียนอย่างน้อย 3 ประการที่เราอาจสรุปได้จากการศึกษาประวัติศาสตร์พรรคทหาร
หนึ่ง พรรคทหารไม่ได้ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งอย่างที่คนรุ่นหลังมักจะเข้าใจกัน ส่วนใหญ่แล้วได้เสียงไม่ถึงครึ่งหรือในกรณีที่เกินครึ่งก็เกินไปเพียงเล็กน้อย จนต้องจัดตั้งรัฐบาลด้วยการใช้อิทธิพลบีบกลุ่มอื่นให้ร่วมสนับสนุน สาเหตุหลักเป็นเพราะว่ากองทัพในฐานะองค์ทางการเมืองไม่ถนัดสันทัดในการจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อแข่งขันในการเลือกตั้ง (เนื่องจากหน้าที่หลักที่ถูกฝึกให้เชี่ยวชาญคือความสามารถในการรบป้องกันประเทศ) แม้ว่าจะมีทรัพยากรและกลไกรัฐอยู่ในการควบคุม แต่ก็ไม่เชี่ยวชาญในการจัดทำนโยบายหรือเอาชนะใจประชาชนผ่านการเลือกตั้ง
สอง ทั้งโมเดลพรรคราชการทหารและโมเดลพรรคนอมินีของทหารต่างมีปัญหาในตัวเอง พรรคราชการทหารแม้จะชนะเลือกตั้งมาได้แต่ก็เป็นชัยชนะที่ได้มาจากการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมซึ่งนำไปสู่การประท้วงและปัญหาตามมา ส่วนพรรคนอมินีก็มีปัญหาความชอบธรรมและในระยะหลัง พฤติกรรมของผู้เลือกตั้งก็เปลี่ยนแปลงไป การเมืองมีการแข่งขันเชิงนโยบายมากขึ้นและพรรคการเมืองที่ไม่ใช่พรรคทหารก็มีฐานเสียงของตนเองเข้มแข็งมากขึ้น พรรคนอมินีของทหารที่ขาดนโยบายและอิงอาศัยการควบรวมดึงนักการเมืองจากพรรคอื่นๆ มารวมตัวกันเฉพาะกิจก็ยากที่จะแข่งขันได้เพราะไม่ได้รับความนิยมจากผู้เลือกตั้ง
สาม การสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารผ่านกลไกพรรคการเมืองและการเลือกตั้งนั้นยากกว่าการทำรัฐประหารล้มรัฐบาล อดีตชี้ให้เห็นว่ากองทัพมีชุดทักษะ (skill set) ในการยึดอำนาจแต่ขาดทักษะทางการเมือง และอดีตชี้ให้เห็นว่าประชาชนบางส่วนอาจจะสนับสนุนให้ทหารเข้ามาเก็บกวาดบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่อารมณ์ความรู้สึกจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว หากเล็งเห็นว่าภารกิจการเก็บกวาดบ้านกำลังจะแปรเปลี่ยนไปเป็นการจัดเฟอร์นิเจอร์ ตั้งโต๊ะเพื่อตั้งสำรับอาหารแบ่งกันกินในหมู่ผู้อาสาเข้ามาทำความสะอาด
คงไม่อาจกล่าวอะไรได้มากกว่านี้ นอกจากประโยคที่ว่า ประวัติศาสตร์ย่อมซ้ำรอยเสมอในสังคมที่ไม่เรียนรู้บทเรียนจากอดีต
อ้างอิง
จลกล ไกรฤกษ์, ศิลปเลือกตั้ง (พระนคร: ประพันธ์สาส์น, 2517).
ธงไชย แสงประดับ, “การศึกษาเชิงเปรียบเทียบพรรคการเมืองไทย ศึกษาเฉพาะกรณีพรรคเสรีมนังคศิลากับพรรคสหประชาไทย” (วิทยานิพนธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2517).
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย (กรุงเทพ: พี เพรส, 2551).
เชิงอรรถ
[1] ถอดรหัสตั้ง “พรรคทหาร” กับการปั่นกระแสชิงตัวประยุทธ์? จาก บีบีซีไทย