fbpx

ยุทธาภิวัฒน์ในสแกนดิเนเวีย

สแกนดิเนเวียเพิ่งจะกลายมาเป็นกลุ่มประเทศผู้เป็นกลางในสงครามและรักสันติอย่างชัดเจน ก็ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองในยุโรปอันส่งผลวินาศสันตะโรเท่านั้น เพราะเมื่อย้อนไปในประวัติศาสตร์ช่วงสองสามร้อยปีก่อนหน้า ศูนย์กลางทางการเมืองใหญ่ทั้งสองของภูมิภาค คือโคเปนเฮเกนและสตอกโฮล์ม แทบจะไม่เคยร้างสงครามและการรบตลอดหลายร้อยปี แถมยังเป็นภูมิภาคที่สร้างความเป็นระบบให้กับการเกณฑ์ทหารก่อนที่ใดๆ ในยุโรปเสียด้วยซ้ำไป

นี่ยังไม่นับความพยายามทำรัฐประหารที่เกิดขึ้นในสวีเดนอยู่เรื่อยจนถึงต้นศตวรรษที่ 19


การทหารและกองทัพเป็นเรื่องใหญ่

           
อาจจะเป็นที่เข้าใจได้ว่า หลังสงครามโลกครั้งที่สอง การศึกษาและความเข้าใจสังคมสแกนดิเนเวียจะไปอยู่ที่การเกิดขึ้นของรัฐสวัสดิการ การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน การสร้างความเท่าเทียมทางเพศ และความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่สมัยใหม่ของโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคนี้ ในช่วงเวลาที่สงครามเพิ่งสิ้นสุดลง ไปจนกระทั่งการต่อต้านสงครามสหรัฐฯ ในที่ต่างๆ ของโลก การจะมาศึกษาเรื่องสงครามคงจะต้องรอไปก่อน เพราะโลกเขาพูดถึงเรื่องสันติภาพกัน ไม่ใช่สงคราม

ด้วยสภาวะเช่นนี้ สิ่งหนึ่งที่ถูกมองข้ามไปอย่างมากในความเข้าใจภูมิภาคสแกนดิเนเวียคือ ตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 16 ถึงกลางศตวรรษที่ 19 การทหารและกองทัพเป็นเรื่องใหญ่ของสังคมสแกนดิเนวีย และหากจะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว ประเด็นเรื่องยุทธาภิวัฒน์เป็นเรื่องที่ขาดไปไม่ได้

เพราะยุทธาภิวัฒน์นั้นครอบคลุมไปทุกเรื่องไม่ใช่แค่เรื่องการทหารและกองทัพเท่านั้น แต่รวมถึงเรื่องเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมืองด้วย ยุทธาภิวัฒน์เป็นกระบวนการที่ค่อยๆ แยกฝ่ายกองทัพออกจากฝ่ายพลเมือง ซึ่งต่างก็ส่งผลสัมพันธ์ต่อกัน กระบวนการนี้ส่งผลต่อทั้งชนชั้นบนและชั้นล่างของสังคม

ในส่วนชนชั้นบน คือการเปลี่ยนรูปร่างของชนชั้นขุนนางสแกนดิเนเวียเก่า ที่ค่อยๆ เปิดรับเหล่านายทหารชั้นสูงเข้ามาสู่ชนชั้นนำ เกิดกลุ่มนายทหารและนักปกครองที่ในเวลาเดียวกันก็เปลี่ยนรูปแบบหน้าที่ของชนชั้นนำไป

ในส่วนที่สัมพันธ์ต่อชนชั้นล่าง ก็หนีไม่พ้นเรื่องการบังคับระดมทรัพยากรทั้งคนและภาษี นั่นก็คือการเกณฑ์ทหารจากลูกหลานชาวนา ไปพร้อมๆ กับการบังคับเก็บภาษีสำหรับการทำสงครามจากเหล่าชนชั้นล่าง สถานการณ์เช่นนี้ก็ทำให้รูปแบบครอบครัวและชีวิตของสังคมชนชั้นล่างเปลี่ยนแปลงไปตลอดช่วงเวลาหลายร้อยปีเช่นกัน

ตลอดช่วงเวลาดังกล่าวนี้ นักประวัติศาสตร์ยุโรปเห็นพ้องกันอยู่ว่า กระบวนการยุทธาภิวัฒน์ของสองอำนาจในสแกนดิเนเวีย คือเดนมาร์ก-นอร์เวย์ (ซึ่งยังเป็นรัฐเดียวกันอยู่ภายใต้กษัตริย์ที่โคเปนเฮเกน) และสวีเดน ถือเป็นสองรัฐที่มีกระบวนการดังกล่าวเข้มข้นที่สุดในยุโรปทั้งหมด

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ได้แบ่งยุคออกเป็นห้ายุคคร่าวๆ เพื่อเข้าใจได้ง่ายขึ้นสักหน่อย ลองว่ากันไปตามยุค


ช่วงแรก (1520-1614) – กำเนิดกองทหารประจำ

           
การระดมทรัพยากรในการสร้างกองทัพเรือเป็นเรื่องสำคัญ เป็นความพยายามที่กษัตริย์สแกนดิเนเวียจะแข่งขันกับการเติบโตของสันนิบาตฮันซา (Hanseatic League) กลุ่มพ่อค้าเยอรมันที่อาศัยการเติบโตของทุนนิยมในทะเลบอลติกและเริ่มเข้าครองอำนาจและผลประโยชน์ทางการค้าจนเป็นภัยต่อเหล่ากษัตริย์โลกภูมิภาคเหนือไกลเหล่านี้

เมื่อวิถีปฏิบัติของสงครามในยุคก่อนหน้าเริ่มเป็นปัญหา เนื่องจากการระดมกำลังคนมาเป็นครั้งคราวเพื่อเข้าสู่การรบ รวมทั้งการจ้างทหารรับจ้าง (mercenaries) โดยเฉพาะจากเยอรมนี และการระดมคนมาฝึกใหม่เมื่อมีสงครามครั้งใหม่ จำเป็นต้องอาศัยเงินและทรัพยากร จึงเริ่มมีความต้องการสร้างสถาบันทางการรบอย่างเป็นระบบมากขึ้น

ด้วยโจทย์เช่นนี้ กษัตริย์สวีเดนหลายคนจึงผลักดันให้สร้างกองทหารประจำของรัฐ โดยไประดมเกณฑ์ทหารมาจากประชากรชาวนาจำนวนมากที่อยู่ในชนบทของสวีเดนและฟินแลนด์ (ซึ่งอยู่ใต้การปกครองของสวีเดน) มอบตำแหน่ง และทำการฝึกประจำ ส่งผลให้สวีเดนเป็นรัฐแรกในยุโรปที่มีการตั้งกองทหารประจำถาวร 

การมีกองทหารประจำเช่นนี้ส่งผลต่อชนชั้นนำสวีเดนอย่างมาก เพราะทำให้สามารถต่อกรกับกองทัพของเดนมาร์กได้สบาย พร้อมทั้งทำให้อำนาจของสวีเดนแผ่ขยายในทะเลบอลติกได้ การเกณฑ์ทหาร (แม้ว่าจะมีผู้หนีทหารมากมาย) ทำให้ระดมคนได้มาก เพราะเมื่อครอบครัวชาวนาไม่สามารถจ่ายภาษีได้ พวกเขาก็ต้องส่งลูกชายไปเป็นทหารแทน โครงสร้างครอบครัวของสวีเดนยิ่งทำให้กระบวนการนี้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว (ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องว่ากันในที่อื่น)

กองทหารประจำที่ตั้งขึ้นมาได้นี้ ทำให้กษัตริย์ราชวงศ์วาซาของสวีเดนสามารถเข้ารบในสงครามทางตะวันออกอย่างไม่หยุดยั้งตลอดช่วงเวลานี้ และสถาปนาให้สวีเดนเป็นมหาอำนาจของทะเลบอลติก

ขณะเดียวกัน ทหารผู้ที่ไต่เต้าขึ้นสู่ยศตำแหน่งผู้บัญชาการรบระดับสูง ก็เริ่มได้รับสถานะทางสังคมของชนชั้นนำสวีเดนเอง ยศที่เรียกว่าผู้บัญชาการสงคราม (krigsbefälet) กลายเป็นส่วนประกอบใหม่ของชนชั้นนำอภิสิทธิ์


ช่วงสอง (1615-1660) – ทหารเข้าสู่ชนชั้นนำ


ไม่นานกองทหารประจำในรูปแบบเดียวกันก็ก็เกิดขึ้นในเดนมาร์ก-นอร์เวย์เช่นกัน ระบอบกองทหารอาชีพเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง และได้รับการยอมรับในสังคมชนชั้นนำ พวกเขารวมตัวกันเป็นกลุ่ม มีวัฒนธรรมลดหลั่นลำดับชั้นอย่างเคร่งครัด และต่างเป็นผู้บังคับบัญชากองเรือและกองทัพรวมกันเป็นหมื่นๆ นาย ทั้งยังมีวัฒนธรรมที่ต่างออกไปจากขุนนางเก่าชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการนับถือและรักพวกพ้อง ความมีวินัยและกล้าหาญ ความพยายามทำงานหนักและพิสูจน์ตนเองด้วยผลงาน (ก็เนื่องจากพวกเขาไม่ได้มีเชื้อเจ้า) ฯลฯ เหล่านี้ก็ทำให้พวกเขาไม่นิยมระบบฐานันดรแบบฟิวดัล แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำก็ตาม

เหล่าส่วนประกอบใหม่ของชนชั้นนำจากกระบวนการยุทธาภิวัฒน์ก็ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการเมืองของสแกนดิเนเวีย เราเห็นกระบวนการนี้ชัดเจนในเดนมาร์ก ในกรณีการปฏิวัติ ‘จากด้านบน’ ในช่วงปี 1660-1661 โดยชนชั้นนำทหารกลุ่มนี้เข้าร่วมกับกษัตริย์ในการต่อสู้กับขุนนางเก่า


ช่วงที่สาม (1660-1720) – ค่ายทหารขยายออกสู่ชนบท

           
ผู้เชี่ยวชาญเรียกช่วงนี้ว่าเป็น ยุทธาสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (military absolutism) ซึ่งมีสงครามนอร์ดิกครั้งใหญ่ (Great Nordic War) เป็นบริบท ทั้งเดนมาร์ก-นอร์เวย์ และสวีเดนต่างก็เข้าสู่ช่วงเวลาที่ยุทธาภิวัฒน์ทั้งประชากรและเศรษฐกิจเข้มข้นที่สุด เห็นได้จากตัวเลขสัดส่วนจำนวนประชากรที่เข้าร่วมกองทหาร คือร้อยละ 4-5 ต่อประชากรทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่ใดในยุคนั้น

ขณะเดียวกันก็เกิดความเปลี่ยนแปลงในระดับคุณภาพอยู่ด้วย คือในขณะที่ค่ายทหารและกองกำลังทั้งทางบกและทางทะเลของเดนมาร์ก-นอร์เวย์จะอยู่รอบๆ โคเปนเฮเกน ในสวีเดนเกิดระบบประจำการแบบใหม่ (yngre indelningsverket) คือตั้งค่ายทหารและกองบัญชาการที่จะทำการเกณฑ์ทหารตามเขตท้องที่ชนบทแทน รวมทั้งกองบังคับการเรือก็ย้ายออกไปนอกเมืองหลวง ไปอยู่ตามจุดยุทธศาสตร์ของทะเลบอลติกแทน

ระบบประจำการแบบใหม่นี้ เดินควบคู่ไปกับระบบการเก็บภาษีในช่วงสงคราม ทำให้เกิดการนำภาษีที่เก็บจากท้องถิ่นไปใช้ในสถาบันทางการทหารท้องถิ่นเหล่านี้ แทนที่จะส่งตรงไปที่เมืองหลวงเพียงอย่างเดียว


ช่วงที่สี่ (1720-1805) – ยุทธศึกษาอย่างเป็นระบบ

           
ดูเหมือนว่ากระบวนการยุทธาภิวัฒน์จะเข้าสู่ช่วงที่ค่อนข้างเสถียร ดังนั้น เดนมาร์ก-นอร์เวย์ได้พัฒนาเรื่องการฝึกและการเกณฑ์ทหารประจำการอย่างเป็นระบบ ตลอดช่วงศตวรรษที่ 18 จะเห็นการฝึกทหารอย่างเป็นระบบเดียวกัน มีการใช้เครื่องแบบเดียวกันตลอดทั้งกองทัพ มีโรงเรียนเตรียมทหารที่มีหลักสูตรชัดเจน ใช้การสอบเป็นการคัดเลือกคนเข้าในระบบ มีสมาคมนักเรียนเตรียมทหาร รวมทั้งมีวารสารศึกษาเรื่องยุทธวิธีที่ใช้การศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ฯลฯ เหล่านี้ทำให้สถาบันกองทัพมีความเป็นระบบและเป็นที่มาของโรงเรียนเตรียมทหารที่เหล่าชนชั้นนำในอาณานิคมส่งลูกหลานของตัวเองเข้ามาศึกษาในช่วงศตวรรษต่อมา

ระบบเช่นนี้ทำให้เห็นสองสถาบันสำคัญที่ปรากฎขึ้นตลอดภูมิภาคสแกนดิเนเวีย นั่นคือค่ายทหารในชนบท และการสร้างเมืองให้มีลักษณะเป็นป้อมรักษาการ (ใครที่เคยไปโคเปนเฮเกนจะเห็นว่า เมืองทั้งเมืองคือป้อมรักษาการนั่นเอง)


ช่วงที่ห้า (1805-1870) – แยกทหารออกจากพลเรือน

           
ช่วงสุดท้ายของการเข้าใจยุทธาภิวัฒน์สแกนดิเนเวียก่อนสงครามโลก สงครามนโปเลียนในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ทำให้เกิดการระดมผู้คนครั้งใหญ่ในยุโรปอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เดนมาร์ก-นอร์เวย์เริ่มใช้ระบบการเกณฑ์ทหารระบบเดียวทั้งประเทศ (ที่ประเทศอาณานิคมบางแห่งนำมาใช้) ส่วนสวีเดนใช้การเกณฑ์กองกำลังเสริม

นี่เป็นยุคเดียวกันกับที่ดินแดนแห่งอื่นๆ ในยุโรปดำเนินกระบวนการยุทธาภิวัฒน์เข้าในระดับทัดเทียมกัน และทำให้สแกนดิเนเวียไม่ได้เป็นดินแดนพิเศษออกไปแต่อย่างใด 

และนี่เป็นยุคที่สำคัญที่ชนชั้นทหารที่เคยเป็นส่วนใหม่ของชนชั้นนำ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เข้าไปสู่การแยกทหารออกจากการเมืองในยุคที่ประชาธิปไตยก้าวเข้ามาเป็นระบบการปกครองโดยกว้าง ในแง่นี้กล่าวได้ว่า กระบวนการยุทธาภิวัฒน์เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างภาคพลเมือง และประชาธิปไตยก็จัดที่ทางให้ทหารอยู่ในกรมกองอย่างเป็นมืออาชีพ ซึ่งเป็นผลงานของชนชั้นแรงงานและสหภาพแรงงาน (รวมทั้งกลุ่มศาสนา) การจัดยุทธศึกษาอย่างเป็นระบบยังเป็นหัวใจสำคัญ พร้อมๆ กับภาคอุตสาหกรรมของสวีเดนเองก็ขยับเข้าสู่เรื่องยุทธภัณฑ์

ยุคนี้ทั้งยุคเป็นการปูทางไปสู่การทำให้ทหารถอยออกจากการเมือง หรือทำให้การเมืองปลอดทหาร (demilitarisation) ของสแกนดิเนเวีย ซึ่งทำให้ศูนย์อำนาจทั้งสองเคลื่อนจากมหาอำนาจและกลายเป็นอำนาจขนาดกลางหรือเล็กของยุโรปในศตวรรษที่ 20 อันเป็นสิ่งที่กำหนดความเข้าใจของโลกต่อภูมิภาคสแกนดิเนเวียในปัจจุบันในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษ


อ้างอิง

– โปรดดูบทความอธิบาย militarisation อย่างละเอียดใน พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, “ยุทธาภิวัฒน์ (militarization)” มติชนออนไลน์ (28 พฤศจิกายน 2560)  https://www.matichon.co.th/article/news_744952 (สืบค้นเมื่อ 25 มิถุนายน 2564)

–  Gunner Lind, “Militarisation of Scandinavia, 1520-1870”, The Cambridge History of Scandinavia Vol.2 (1520-1870) ed. E. I. Kouri and Jens E. Olesen (Cambridge: Cambridge University Press, 2016), 268-278.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save