fbpx
เกาะแห่งความฝันของไข่มุก MIKIMOTO Pearl Island

เกาะแห่งความฝันของไข่มุก MIKIMOTO Pearl Island

ธีรภัทร เจริญสุข เรื่องและภาพ

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ที่สุดปลายตะวันออกของคาบสมุทรอิเสะ จังหวัดมิเอะ ในตอนกลางของประเทศญี่ปุ่น ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตของศาลเจ้าอิเสะจิงงูอันประดิษฐานกระจกยาตะ หนึ่งในไตรราชกกุธภัณฑ์ที่ใช้ในการสืบราชสมบัติ ยังมีดินแดนแห่งความฝัน พื้นที่เลี้ยงและก่อกำเนิดไข่มุกของราชามุก โคคิจิ มิกิโมโตะ ผู้คิดค้นวิธีเพาะเลี้ยงหอยมุกให้เกิดมุกแบบแน่นอน สร้างอุตสาหกรรมเครื่องประดับไข่มุกขึ้นในโลก

ในปลายศตวรรษที่ 19 โคคิจิ มิกิโมโตะ (御木本 幸吉) เติบโตขึ้นในตระกูลพ่อค้าขายอุด้งของเมืองโทบะ แคว้นทสึ (ปัจจุบันคือ เมืองโทบะ จังหวัดมิเอะ)​ ในวัยเด็กเขาได้ใช้ชีวิตในชุมชนชาวประมง เห็นวิถีชีวิตของอามะซัง (สาวดำน้ำงมหอย)​ พบไข่มุกธรรมชาติเพื่อนำไปขาย และหลงใหลในไข่มุก แต่ไข่มุกธรรมชาติมักมีรูปร่างบิดเบี้ยว เล็ก หรือผุกร่อนไม่สวยงามสมบูรณ์ เมื่ออายุ 13 เขาได้เริ่มออกทำการค้าเพื่อช่วยเหลือครอบครัวไปพร้อมกับการสะสมและค้าไข่มุก และเมื่ออายุ 20 มิกิโมโตะได้ออกเดินทางเพื่อหาวิธีเพาะเลี้ยงหอยให้ได้ไข่มุกที่งดงามกลมสมบูรณ์ดุจดวงจันทร์ส่องแสงยามราตรี โดยเข้ามาแสวงโชคในกรุงโตเกียว

มิกิโมโตะพบกับนักสมุทรชีววิทยา คาคิชิ มิทสึคิริ ที่โตเกียว กู้เงินมาสร้างฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยมุก พร้อมทั้งลงทุนค้นคว้าจ้างนักสมุทรวิทยาและนักชีววิทยาทะเลมาหาวิธีเพาะหอยให้เกิดไข่มุก ใช้เวลากว่า 20 ปี ผ่านความล้มเหลวและเกือบล้มละลายหลายครั้ง

จนกระทั่งในปี 1913 มิกิโมโตะประสบความสำเร็จด้วยการผสมวิธีสะกิดเนื้อเยื่อแล้วฝังเปลือกหอยขัดกลมลงไปล่อในตัวหอยมุกของห้องทดลองบริษัทตนเอง กับการซื้อสิทธิบัตรคิดค้นของมิเสะและนิชิคาวะ นักสมุทรชีววิทยาญี่ปุ่นที่ไปทดลองในออสเตรเลีย ได้ไข่มุกกลมขาวงดงามสมบูรณ์แบบสวยกว่ามุกธรรมชาติ

และในปี 1917 เขาก็ประสบความสำเร็จในการสร้างไข่มุกที่ผู้เชี่ยวชาญแยกไม่ออกว่าเป็นมุกเลี้ยง จากนั้นเขาจึงลงทุนเปิดร้านอัญมณีและเครื่องประดับโดยใช้ไข่มุกที่เขาเลี้ยงขึ้นมาอย่างโดดเด่นให้เป็นจุดขายกลางย่านกินซ่า และมีชื่อเสียงทั้งในวงสังคมชั้นสูงและวงการวิทยาศาสตร์นับแต่นั้นเป็นต้นมา

 

 

มิกิโมโตะได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาของมุกเลี้ยง ซึ่งต่อจากนั้นกลายเป็นอุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่าและเปลี่ยนวิถีชีวิตให้กับชาวประมงทั่วโลกตั้งแต่ที่ญี่ปุ่นจรดหมู่เกาะทะเลใต้ รวมถึงในไทย ซึ่งแบรนด์ MIKIMOTO ได้มาขยายการเพาะเลี้ยงหอยมุกในหลายจังหวัด มิกิโมโตะยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากราชวงศ์ญี่ปุ่นในชั้น Grand Cordon of the Sacred Treasure ภายหลังจากประสบความสำเร็จนำไข่มุกและเครื่องประดับแบรนด์ MIKIMOTO ออกแสดงในงานเอ็กซ์โป และงานเวิลด์แฟร์ ระดับนานาชาติ ทั้งที่ปารีส นิวยอร์ค และลอนดอนได้รับความยอมรับนับถือเป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นและประวัติศาสตร์โลก

 

 

โทมัส อัลวา เอดิสัน ได้ชมงานมุกของมิกิโมโตะแล้วชื่นชมว่า “เป็นงานที่แทบเป็นไปไม่ได้ในทางชีววิทยา” และทั้งสองก็ได้ส่งจดหมายแลกเปลี่ยนความคิดด้านการประดิษฐ์ต่อมา รวมถึงนักประดิษฐ์คนอื่นๆ ร่วมสมัยอย่าง กูกลิเอลโม มาร์โคนี่ ก็เป็นเพื่อนกับมิกิโมโตะ และเครื่องประดับไข่มุกของ MIKIMOTO ยังถูกใจสตรีหมายเลขหนึ่งของอเมริกาในยุคนั้น อย่าง เอดิธ วิลสัน ทำให้ตลาดเครื่องประดับไข่มุกเติบโตในอเมริกาอย่างรวดเร็ว

ไข่มุก MIKIMOTO กลายเป็นแบรนด์เครื่องประดับชั้นเลิศของญี่ปุ่นที่โลกรู้จัก ไม่ใช่แค่เพราะความงดงามสมบูรณ์แบบของไข่มุก แต่เป็นเพราะความพยายามค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์จนสร้างสิ่งที่ดูเป็นไปไม่ได้ในธรรมชาติให้เป็นไปได้ ด้วยปณิธานของโคคิจิ มิกิโมโตะที่ว่า

“ข้าพเจ้าอยากจะประดับไข่มุกลงบนเรือนคอของเหล่าสตรีทั้งโลก”

 

 

เกาะไข่มุกมิกิโมโตะ ตั้งอยู่ริมทะเลเมืองโทบะ กลางอ่าวอิเสะ เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ไข่มุก และหอที่ระลึกโคคิจิ มิกิโมโตะ ในพิพิธภัณฑ์บอกเล่าเรื่องราวอันน่าหลงใหลของไข่มุก การเพาะเลี้ยง เก็บเกี่ยว และทำเครื่องประดับมุก วิทยาศาสตร์ทางทะเลของหอยมุก โดยมีความเป็นวิทยาศาสตร์ในทุกขั้นตอน เริ่มจากการคัดเลือกสายพันธุ์ของหอยมุกมาผสม การเพาะเลี้ยงให้ได้ขนาด กระบวนการสะกิดเนื้อเยื่อและฝังเมล็ดตัวล่อให้หอยมุกผลิตสารเคลือบไข่มุกโดยมีพนักงานสาธิตเป็นลำดับ การตรวจวัดสภาพน้ำและสุขภาพของหอยมุกผ่านเครื่องมือตรวจจับคลื่นไฟฟ้าที่เรียกว่า ‘ภาษาหอย’ (Shell-lingual) ทำให้เรารู้ว่าการสร้างสรรค์เครื่องประดับไข่มุกแต่ละชิ้น ต้องส่งผ่านความรู้และใช้วิทยาศาสตร์ วิทยาการระดับก้าวหน้า ประกอบความทุ่มเทของคนจำนวนมากมาย

บนชั้นสองของพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงประวัติของเครื่องประดับไข่มุกสุดอลังการจากทั่วโลก ตั้งแต่ยุคสมัยที่มีเพียงไข่มุกธรรมชาติจนถึงการแสดงประวัติเครื่องประดับไข่มุกเลี้ยงของ MIKIMOTO และงานศิลปะไข่มุกที่เคยนำไปจัดแสดงในงานเวิลด์แฟร์และเอ็กซ์โปในอดีตกว่าร้อยปีของมิกิโมโตะ

นอกจากนี้ ยังมีการแสดงโชว์ดำน้ำงมหอยของอามะซัง สาวงมหอยแห่งอิเสะที่มีการสืบทอดมากว่าพันปี ร้านมุกแบรนด์ MIKIMOTO ที่ราคาย่อมเยาลงกว่าที่กินซ่า รวมถึงมุกมิกิโมโตะแบบวัยรุ่น ของที่ระลึกที่ราคาถูกไม่น่าเชื่อ! และเครื่องสำอางจากหอยมุกด้วย

ค่าเข้าชมเกาะ 1,500 เยน มีร้านอาหารและคาเฟ่มิกิโมโตะ ซึ่งมีชุดอาหารที่ได้แรงบันดาลใจจากไข่มุก ขายที่นี่ที่เดียว

นั่งรถไฟสายท้องถิ่นอิเสะมาลงสถานีโทบะ แล้วต่อรถเมล์ หรือขับรถตามถนนเส้นโทบะเลียบทะเลมาจะเห็นเกาะไข่มุกมิกิโมโตะเป็นสง่าอยู่ริมชายฝั่ง มีที่จอดรถเสียเงินบริการ (500 เยน / 2 ชั่วโมง)

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save