fbpx
‘อยู่ต่อก็ไม่ไหว จะกลับไปก็กลับไม่ได้’ ชีวิตแรงงานข้ามชาติบนสมรภูมิโรคระบาด

‘อยู่ต่อก็ไม่ไหว จะกลับไปก็กลับไม่ได้’ ชีวิตแรงงานข้ามชาติบนสมรภูมิโรคระบาด

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพ

 

เมื่อคราววิกฤตมาเยือน

 

ล่วงเข้าสู่ช่วงปลายเดือน เป็นเวลาที่บางคนอาจกำลังดีใจเพราะจะได้รับเงินค่าแรงก้อนใหม่ แต่ในขณะเดียวกัน ใครหลายคนอาจยิ่งรู้สึกกังวลใจ เพราะไม่รู้จะหาเงินค่ากินอยู่ ค่าเช่าบ้านจากที่ไหน หลังโควิด-19 ทำให้ ‘พวกเขา’ ไม่มีงานทำ และยังมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายทางของวิกฤตนี้ชัดเจน

โก ทราย แรงงานหนุ่มชาวไทใหญ่จากพม่า ใช้เงินก้อนสุดท้ายที่เหลืออยู่ ขึ้นรถจากสมุทรสาครมาหาน้องชายยังชลบุรี หลังจากโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่เขาทำงานก่อนหน้านี้ เจอพิษเศรษฐกิจรุนแรงจนประกาศลดเวลาทำงาน กระทั่งต้องปิดตัวลงชั่วคราวเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

“ผมลาออกมาเองล่ะครับ” เขาว่า “เพราะที่โรงงานเขาให้ทำงานแค่สามวัน เงินมันก็ไม่พอใช้… จะว่ายังไงดี ถึงจะมีงานให้ทำอยู่ก็จริง แต่เขาไม่จ่ายค่าโอที มันก็ไม่คุ้ม ลำพังค่าแรงมันไม่มากพอให้เก็บ”

“ตอนผมออก เขาให้เงินค่าโดยสารผมมา 3,000 บาท ผมจ่ายค่ารถมาลงที่นี่ไปแล้ว 2,000 กว่าบาท ทั้งเนื้อทั้งตัวมีเงินเก็บอยู่แค่ 800” แรงงานหนุ่มกล่าว “ตอนนี้มาอยู่ที่ชลบุรี ไม่ได้ทำงานอะไรเลย เงินก็เหลืออยู่นิดนึง”

ทุกวันนี้ โก ทรายจึงพึ่งพาน้องชายและน้องสะใภ้ซึ่งยังมีงานทำในสวนยางพารา เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหาเงินมาจุนเจือชีวิตทั้งสามคนให้พอผ่านวิกฤตโรคระบาดไปได้

“ถ้าหมดโควิด-19 แล้ว ผมก็จะกลับไปสมุทรสาคร เพราะอยู่ที่นี่ไม่ค่อยสนุก เหมือนอยู่ในป่า ผมชอบอยู่ในเมืองมากกว่า” เขาหัวเราะเล็กน้อย “จะกลับไปหางานทำต่อ แต่ต้องหาเองนะ เพราะถ้าให้คนอื่นช่วยหา ก็ต้องให้เงินเขาด้วย”

เรื่องทำนองเดียวกันเกิดขึ้นกับ ชาง แรงงานชาวพม่าที่ทำงานโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในสมุทรสาครอีกคน หากแตกต่างกันที่ชางไม่ได้ตัดสินใจลาออกเอง

“ผมโดนเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 30 เมษา ตอนเลิกจ้าง เขาบังคับให้เรากับเพื่อนเขียนใบลาออก แล้วก็ไม่ได้ช่วยเหลืออะไรเราเลย” ชางกล่าว

“ผมเลยไปแจ้งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานให้ช่วยดูเรื่องนี้ กับไปแจ้งประกันสังคมเพื่อขอรับเงินตามสิทธิ แต่ประกันสังคมเขาว่า ให้รอเดือนหนึ่งหลังจากโดนเลิกจ้างถึงจะให้เงิน เดี๋ยวเขาจะติดต่อมา ตอนนี้เราก็ต้องรออย่างเดียว”

ชางเอ่ยปากว่าช่วงที่เขาว่างงาน และทำได้แค่รอเงินช่วยเหลือจากประกันสังคมเช่นนี้ นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ลำบากมาก เงินเก็บที่มีอยู่ค่อยๆ ร่อยหรอลงไปเกือบหมด แม้นานๆ ทีจะมีองค์กรภาคประชาสังคมมาแจกถุงยังชีพอยู่บ้าง แต่เรื่องเงินค่ากิน ค่าเช่าบ้าน ก็ยังไม่รู้ว่าจะหาจากที่ไหน

“อยากกลับบ้านเหมือนกันนะครับ ผมติดต่อกับครอบครัวผ่านไลน์ตลอด แต่ยังไงก็กลับไม่ได้อยู่ดี เพราะด่านปิดแล้ว แถมที่พม่าเขาก็แย่เหมือนกัน ได้ยินว่าบางคนกลับไปก็ติดอยู่ที่ด่าน โดนกักตัวตรงชายแดนฝั่งพม่า ไม่ใช่ว่าพอข้ามไปแล้วกลับบ้านได้ทันที” ชางเล่า

“ผมต้องรอกรมสวัสดิการฯ ติดต่อเรื่องปัญหาที่โรงงานด้วย คุยกันยังไม่จบเลย”

พอคิดว่าไหนๆ ปัญหานายจ้างเก่าคงลากยาวไปอีกพักใหญ่ เขาจึงตัดสินใจว่าน่าจะอยู่ที่ไทยต่อเพื่อหางานทำหลังตกลงกันเสร็จสิ้นและวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย

ซึ่งชางและเพื่อนแรงงานอีกหลายคน ต่างก็บอกไม่ได้ว่าเมื่อไร

 

ตกงาน – ขาดเงิน – ความช่วยเหลือที่ไม่เคยมาถึง

 

“การตกงานจำนวนมากเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน เพราะผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้หลายโรงงานส่งออกสินค้าไม่ได้ จึงต้องลดจำนวนพนักงานลง มีคนเริ่มถูกเลิกจ้าง ไม่ต่อสัญญาจ้าง ไม่ต่อวีซ่า บ้างก็โดนสั่งให้หยุดงาน”

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ซึ่งติดตามสถานการณ์ภายในจังหวัดสมุทรสาครมาตั้งแต่ต้นเล่าพร้อมออกความเห็นว่า การเลิกจ้างแรงงานที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ เป็นการเลิกจ้างอย่าง ‘ไม่เป็นธรรม’

“จากที่เราเก็บข้อมูลปัญหาการเลิกจ้างช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม พบว่าใน 23-24 โรงงานที่เลิกจ้างคน มีแค่ 3 โรงงานเท่านั้นที่จ่ายค่าชดเชยให้ นอกนั้นก็ปล่อยลอยแพไปเฉยๆ”

เธอยังขยายความให้ฟังอีกว่า แม้อุตสาหกรรมหลักของสมุทรสาครอย่างอุตสาหกรรมต่อเนื่องเกี่ยวกับประมงจะไม่ได้รับผลกระทบรุนแรง เพราะสามารถส่งออกสินค้า และเกิดการจ้างงานได้อยู่ แต่ลำพังแรงงานซึ่งถูกเลิกจ้างจากอุตสาหกรรมอื่น เช่น ตัดเย็บเสื้อผ้า ผลิตโลหะ งานไม้ และอื่นๆ ก็มีจำนวนมาก จนภาคประชาสังคมต้องทำงาน ‘หนักกว่าปกติ’ ในหลายๆ ด้าน

ด้านแรก คือ การช่วยเหลือแรงงานให้เข้าสิทธิที่พึงได้รับจากการถูกเลิกจ้าง เงินช่วยเหลือจากการว่างงาน และการให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิของแรงงานข้ามชาติ

“เราพาคนงานไปร้องเรียนต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเรื่องการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม ใครที่มีประกันสังคม ก็พาไปร้องต่อประกันสังคมเรื่องการว่างงาน อันที่จริง นายจ้างต้องเป็นผู้ดำเนินการให้คนงาน แจ้งว่าเลิกจ้างด้วยเหตุสุดวิสัยด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้นายจ้างหลายคนทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ คนงานเองก็ไม่รู้สิทธิ ทำให้เสียสิทธิไป

“คนที่ไม่รู้สิทธิ จริงๆ ก็ไม่ใช่แรงงานใหม่นะ บางคนอยู่มานานจนพูดไทยได้ชัดเลย แต่ส่วนใหญ่มักเป็น ‘แรงงานห้องแถว’ อยู่ในโรงงานเล็กๆ เป็นตึกห้องแถวที่นายจ้างเช่าเอาเครื่องจักรมาลง แล้วบอกให้คนงานทำงาน ประกันสังคมก็ไม่ทำให้ ปกตินายจ้างเขาไม่บอกเรื่องสิทธิกับคนงานอยู่แล้ว หลายคนเลยไม่รู้ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นในโรงงานขนาดเล็ก ห้างหุ้นส่วนจำกัดอยู่บ่อยๆ”

สุธาสินีเล่าว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ แรงงานกลุ่มที่ไม่มีประกันสังคมต้องไปร้องเรียนกับกรมสวัสดิการฯ ซึ่งกระบวนการร้องเรียนใช้เวลานานกว่าจะได้รับเงิน ส่วนแรงงานกลุ่มที่มีประกันสังคม ก็พบปัญหาว่านายจ้างหลายแห่งไม่ให้ ‘ใบแจ้งออก’ ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการเข้าถึงสิทธิ ทำให้ขั้นตอนต่างๆ ยุ่งยากซับซ้อนขึ้นไปอีกขั้น

และยังไม่รวมว่า เธอต้องพาทนายและตัวแทนแรงงานเดินทางไปยังสำนักงานประกันสังคมด้วยตัวเอง เพราะระบบร้องเรียนออนไลน์ไม่รองรับผู้ใช้งานกลุ่มแรงงานข้ามชาติ

“รัฐมีระบบร้องเรียนทางออนไลน์ให้เหมือนกัน เพียงแต่ว่าในอุตสาหกรรม เช่น ก่อสร้าง ตัดเย็บเสื้อผ้า มี subcontract ยาว คนงานเลยไม่รู้จักชื่อนายจ้าง ชื่อสถานประกอบการ จะให้กรอกก็ตอบไม่ได้ เลขประจำตัว 13 หลักก็ไม่มี ดังนั้น เขาจึงใช้ระบบออนไลน์ไม่ได้ บางคนก็ไม่มีอินเทอร์เน็ต ในเว็บมีแต่ภาษาไทย เราจึงทำได้แค่พาคนงานไปเขียนคำร้องที่สำนักงาน หรือถ้ามีคนเยอะ ก็ต้องเอาเอกสารมาช่วยกันเขียน แต่งตั้งตัวแทนแรงงานไปยื่นกับทนายและเจ้าหน้าที่ของเรา” สุธาสินีกล่าว

งานด้านที่สอง ของสุธาสินีและ MWRN คือการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานในตอนที่พวกเขายังต้องเฝ้ารอเงินชดเชยจากนายจ้างและประกันสังคม รวมถึงไม่อาจหางานทำได้

“มันมีความยากอยู่ว่า เมื่อถูกเลิกจ้าง แรงงานไม่สามารถหางานใหม่ทำได้ทันที เพราะในสถานการณ์แบบนี้ไม่มีนายจ้างที่ไหนรับทำงาน ถึงคนจะพยายามหางานใหม่ก็หาไม่ได้ นายจ้างบางที่ ถ้าไม่ออกใบแจ้งออกให้ ก็ออกใบแบบที่เรียกว่าปิดหนทางแรงงานหานายใหม่ เช่น เขียนว่าถูกเลิกจ้างเพราะผิดระเบียบข้อบังคับของบริษัท แบบนี้ก็มี” เธอว่า “ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในชีวิตประจำวัน คือแรงงานไม่มีเงินซื้ออาหารและค่าเช่าห้อง”

มาตรการช่วยเหลือเฉพาะหน้าจึงเป็นการมอบถุงยังชีพให้แก่กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งสุธาสินีอาศัยเงินทุนจากการบริจาคและเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม รวมถึงการพูดคุยกับพาร์ตเนอร์ถึงเรื่องเปลี่ยนงบประมาณจัดโครงการต่างๆ มาเป็นการซื้อข้าวของเครื่องใช้ไปก่อน

อย่างไรก็ตาม “เวลาคนงานส่งเสียงว่าไม่มีอะไรจะกิน เราก็มองกองถุงยังชีพที่ตอนนี้ใกล้จะหมดแล้ว คิดว่าจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อของเพิ่มเติม” สุธาสินีเอ่ย “รัฐบาลไม่ได้เข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แรงงานข้ามชาติเลย ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้มาทำงานช่วยสร้างเศรษฐกิจไทย แม้แต่รัฐบาลประเทศต้นทางก็ไม่ให้ความช่วยเหลืออะไร ไม่ได้มาดูประชากรบ้านเขาในประเทศเราเลย”

แม้ว่าเมื่อไม่นานมานี้ จะมีถุงยังชีพจากสภากาชาดไทยมายังสมุทรสาคร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความช่วยเหลือกลับถูกส่งไปยังพื้นที่ของแรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านประมง – ที่ที่สุธาสินีบอกว่าไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงเท่ากับแรงงานในอุตสาหกรรมอื่น

“เขาพยายามช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ แต่ไปแจกผิดชุมชน ผิดกลุ่มผิดก้อน ทำให้ถุงยังชีพไม่เคยถึงเป้าหมายจริงๆ…

“ถ้ารัฐไม่สามารถดูแลคนกลุ่มนี้ได้ ก็ควรมีมาตรการจัดการให้พวกเขาได้ทยอยเดินทางกลับประเทศต้นทางน่าจะดีกว่า” เธอออกความเห็น “เพราะในช่วงแรก เขายังขอเพียงของประทังชีวิต ขออาหารกิน แต่หลังจากพ้นเดือนเมษายน เข้าสู่พฤษภาคม เราต้องรับโทรศัพท์วันละพันกว่าสาย คนงานโทรศัพท์มาร้องไห้ เกือบทั้งหมดต้องการกลับประเทศต้นทาง เพราะอยู่ไปก็ไม่มีเงินค่าอาหารกับค่าเช่าห้อง

“ถ้าเขามีงานทำ ก็คงไม่อยากกลับหรอก แต่ตอนนี้เขาอยู่ไปวันๆ ไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้สักบาท มีแต่ค่าใช้จ่าย ยิ่งสิ้นเดือนต้องจ่ายค่าห้อง ค่าน้ำค่าไฟ เขาก็ยิ่งเครียด”

นอกจากเรื่องสุขภาพจิตแล้ว อีกเรื่องที่สุธาสินีกังวล คือกลุ่มแรงงานหญิงตั้งครรภ์ แม่ลูกอ่อน และหญิงข้ามชาติ ซึ่งอาจกำลังเผชิญปัญหามากกว่าคนอื่นๆ เช่น ไม่มีเงินค่าผ้าอนามัย ไม่ได้รับการดูแลครรภ์อย่างเหมาะสม ไม่มีอาหารสำหรับเด็กเล็ก เป็นต้น การเปิดโอกาสให้แรงงานเดินทางกลับไปหาครอบครัวยังประเทศต้นทางอย่างปลอดภัยจึงเป็นตัวเลือกหนึ่งสำหรับการช่วยเหลือคนเหล่านี้

“เรื่องเงินค่าชดเชย ตัวแรงงานก็ไม่จำเป็นต้องรออยู่ที่ไทย เขาสามารถเขียนคำร้องทิ้งไว้ เมื่อจบเรื่อง ทางสวัสดิการรัฐไทยจะช่วยติดต่อทูตของประเทศต้นทาง ประสานให้เขามารับเงินที่ชายแดนได้ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่แรงงานอาจจะยังไม่รู้” สุธาสินีอธิบาย พร้อมชี้ให้เห็นว่า เมื่อแรงงานไม่มีรายได้ และไม่สามารถกลับประเทศ อาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดโรคระบาดมากกว่าเดิม

“พอเขาว่างงาน บางคนก็ยุบห้องมาอยู่รวมกันมากขึ้น จาก 3 คนมาเป็น 4-6 คนต่อห้อง เพื่อประหยัดค่าเช่า และบางทีอยู่แต่ในห้อง ไม่มีอะไรทำ เขาก็ออกมารวมตัวกัน ทำอาหารกินร่วมกัน ซึ่งมันห้ามไม่ได้ การเว้นระยะห่างก็ยิ่งทำไม่ได้ เดิมทีเขาก็อยู่เป็นชุมชนอยู่แล้ว ตอนมีงานทำยังพอกระจายตัวกันไป แต่พอตกงาน ก็ได้แต่อยู่รวมกัน”

นั่นจึงเป็นสาเหตุที่สุธาสินีและ MWRN ต้องทำงานด้านที่สาม หรืองานที่ช่วยสื่อสารความรู้เรื่องการป้องกันตนเองจากโควิด-19 ด้วยการทำคลิปวิดีโอ ไลฟ์ให้ความรู้ และแปลเอกสารจากหน่วยงานต่างๆ เป็นภาษาของแรงงานข้ามชาติให้พวกเขาได้เข้าถึง

“ข้อมูลแรกๆ ที่ออกมาไม่มีภาษาของแรงงานเลย เราต้องช่วยส่งเสียงออกไปว่า สังคมควรประชาสัมพันธ์วิธีป้องกันให้แก่แรงงานข้ามชาติที่มีภาษาของเขาด้วย หลักๆ คือกัมพูชา ลาว พม่า หลังๆ เราถึงเริ่มเห็นออกมาบ้าง” สุธาสินีกล่าว

 

อยู่ร่วมกับ ความเสี่ยง – อคติ – บทบาททางเพศ

 

เรื่องราวของแรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาครเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดที่แรงงานข้ามชาติเกือบทั้งประเทศกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กร และประชากรข้ามชาติ เผยในงานเสวนาออนไลน์ “แรงงานข้ามชาติ คุณค่าที่ถูกลืม ในสมรภูมิโควิด-19” โดยเพจ Voicelabour เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ในตอนนี้ จำนวนแรงงานข้ามชาติที่ถูกเลิกจ้างหรือพักงาน อาจมีมากกว่า 7 แสนคนทั่วประเทศ

“ส่วนที่ได้รับผลกระทบมาก คือแรงงานในภาคงานบริการ อุตสาหกรรมผลิตหรือจำหน่ายอาหาร เมื่อรัฐสั่งปิดกิจการ การติดต่อค้าขายน้อยลง ทำให้เกิดการเลิกจ้างทันที คนงานไม่ได้รับค่าชดเชย และพอปิดชายแดนห้ามเข้าออก แรงงานข้ามชาติก็เหมือนโดนบีบอยู่ตรงกลาง

“ผมใช้คำว่า ‘อยู่ต่อก็ไม่ไหว จะกลับไปก็กลับไม่ได้’  จะให้อยู่เมืองไทยต่อไปก็ไม่มีงาน ไม่มีเงิน แต่จะกลับบ้าน ก็กลับไม่ได้เพราะปิดชายแดน สถานการณ์รุมเร้า ทำให้แรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่ยากในช่วงนี้”

แม้กฎหมายคุ้มครองแรงงานของไทยจะพยายามมอบสิทธิแรงงานแก่คนข้ามชาติให้เท่าเทียมคนไทย แต่อดิศรก็พบว่าในยามวิกฤตเช่นนี้ แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการหรือความช่วยเหลือจากรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องประกันสังคม เพราะบางพื้นที่มีการปิดชุมชน ตำบล ทำให้ไม่สามารถออกมาติดต่อหน่วยงานรัฐ อีกทั้งระบบออนไลน์ยังมีข้อจำกัดด้านระบบและภาษา

“ตอนนี้แรงงานข้ามชาติจึงเหมือนใช้ชีวิตบนความเสี่ยง 3 เรื่อง คือ เรื่องการดำเนินชีวิต เมื่อไม่มีงาน ขาดรายได้ ทำให้เสี่ยงไม่มีที่พักอาศัย ต่อมาคือเสี่ยงผิดกฎหมาย เพราะมีกฎหมายระบุว่า ถ้าแรงงานถูกเลิกจ้างหรือลาออก ต้องหานายจ้างใหม่ภายใน 30 วัน ซึ่งในช่วงโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้หางานใหม่ยาก หากเกิน 30 วัน ก็กลายเป็นคนผิดกฎหมายทันที และสุดท้าย คือความเสี่ยงด้านสุขภาพ พอไม่มีรายได้ ไม่มีหลักประกัน ถ้าป่วยขึ้นมาจะลำบาก”

นอกจากนี้ อดิศรระบุว่า กลุ่มแรงงานที่น่าเป็นห่วงมากกว่าปกติ คือ แรงงานกลุ่มที่ถูกว่าจ้างในลักษณะเหมาช่วงและอยู่นอกเหนือ MOU เพราะเมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 นายจ้างมักส่งแรงงานเหล่านี้กลับไปที่บริษัทผู้รับเหมาช่วง ไม่ให้ทำงานแต่ก็ไม่เลิกจ้าง สถานะค้างคาจนไม่สามารถใช้สิทธิรับเงินชดเชยจากการว่างงาน หรือเงินจากนายจ้าง อีกทั้งบางส่วนยังไม่อยู่ในระบบประกันสังคมอีกด้วย

“กลุ่มแรงงานที่มีประกันสังคมยังพอเห็นความช่วยเหลือแม้จะเข้าถึงยาก แต่กลุ่มที่อยู่นอกประกันสังคม สำหรับแรงงานไทยยังมีสิทธิ์ได้รับเงิน 5,000 บาท พอเป็นแรงงานข้ามชาติ ไม่มีสัญชาติไทย เรียกได้ว่าแทบไม่มีความช่วยเหลือจากรัฐเลย” อดิศรเอ่ย

ไม่เพียงแค่ปัญหาการตกงาน เข้าถึงความช่วยเหลือลำบาก และไม่ได้รับการดูแลเท่านั้น แต่ในภาวะวิกฤต แรงงานข้ามชาติยังคงเผชิญอคติจากคนในสังคม ซึ่งอาจรุนแรงขึ้นกว่าปกติ ตามที่ รศ.ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ จาก วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า อคติเหล่านี้มีอยู่ 3 ด้านหลักๆ

“อคติที่มีต่อแรงงานข้ามชาติด้านแรก คือมองว่าพวกเขาเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุมมองจากฝั่งเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงที่มองว่าการมีแรงงานข้ามชาติมาก จะทำให้ประเทศไม่ปลอดภัย ต่อมา อคติด้านนี้มีแนวโน้มดีขึ้น เพราะภาคธุรกิจใช้แรงงานข้ามชาติมากขึ้น

“อคติด้านที่สอง มองว่าแรงงานข้ามชาติเป็นภัยสังคม เนื่องจากการนำเสนอของสื่อ เช่น ออกข่าวว่าแรงงานฆ่านายจ้างหรือขโมยของ ซึ่งจริงๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีสัดส่วนน้อย แต่สื่อเลือกนำเสนอแค่ภาพเหล่านั้นออกมา จึงกลายเป็นภาพแทนของแรงงานไปโดยปริยาย

“ด้านที่สาม คือพวกเขาถูกมองเป็นภัยสาธารณสุข บางคนมองว่าแรงงานข้ามชาติทำให้โรคติดต่อที่หายไปจากประเทศกลับมาอีกครั้ง เช่น โรคเท้าช้าง”

รศ.ดร.นภาพร มองว่าวิกฤตคราวนี้อาจทำให้แรงงานถูกตั้งแง่เรื่องเป็นภัยสาธารณสุขมากกว่าเดิม โดยเฉพาะหลังเกิดปรากฏการณ์นำเสนอข้อมูลจากศูนย์ข้อมูล Covid-19 ตอนต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ไม่มีคนไทยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ มีแค่แรงงานข้ามชาติที่ป่วย “สิ่งเหล่านี้ทำให้คนเกิดอคติอย่างไม่ทันรู้ตัว เมื่อเราคิดว่าแรงงานข้ามชาติต่างจากเรา อคติก็อาจเป็นต้นเหตุทำให้พวกเขาถูกกีดกันจากความช่วยเหลือต่างๆ”

ทั้งนี้ ด้วยความที่แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่มักอยู่รวมกันเป็นครอบครัว ประกอบไปด้วยเด็กเล็ก ผู้หญิง ผู้ชาย คนแก่ ทั้งที่ติดตามมาจากประเทศต้นทาง และเป็นแรงงานซึ่งอาศัยในไทยแต่เก่าก่อน รวมถึงตั้งชุมชนคนข้ามชาติแยกตัวออกจากชุมชนคนไทย ทำให้ ลัดดาวัลย์ หลักแก้ว ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท (มยช.) คาดการณ์ว่า แรงงานส่วนหนึ่ง — โดยเฉพาะแรงงานหญิงข้ามชาติ ต้องแบกรับภาระดูแลเด็กและคนในครอบครัว นอกเหนือไปจากปัญหาส่วนตัว

“จากวิกฤตโควิด-19 เราได้เห็นผลกระทบต่อครอบครัวแรงงานข้ามชาติมาก ด้วยบริบทความเป็นคนชายขอบและไม่มีสัญชาติไทย ทำให้เข้าถึงความช่วยเหลือลำบาก นอกจากนี้ บางครอบครัวยังมีขนาดใหญ่ อาศัยในห้องเดียวกันราว 3-5 คน แบบนี้ก็ยากต่อการเว้นระยะห่างทางสังคม เรียกว่าแทบเป็นไปไม่ได้เลย

“การจัดหาอุปกรณ์ป้องกันโรค จึงกลายเป็นภาระของแรงงาน โดยเฉพาะการดูแลเด็กๆ ให้ปลอดภัยจากโรคระบาด ซึ่งช่วงนี้ก็เป็นช่วงปิดเทอม ทั้งโรงเรียนในไทยและในประเทศต้นทาง ทำให้มีเด็กบางส่วนเดินทางจากพม่ามาเยี่ยมผู้ปกครองที่ไทยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ จนตอนนี้ก็ยังอยู่ที่ไทย ทำให้หลายครอบครัวมีภาระต้องดูแลเด็กเกือบ 24 ชั่วโมง” ลัดดาวัลย์อธิบาย

“เนื่องจากแรงงานมักทำงานในสถานประกอบการเดียวกันเกือบทั้งครอบครัว เพราะงั้นเมื่อสถานประกอบการปิดกิจการ เลิกจ้าง ลดเวลาทำงาน ทำให้คนในครอบครัวอาจตกงานพร้อมกัน เกิดความยากลำบากเรื่องการกินอยู่

“ตอนนี้เขาก็ตกงานมากว่าสองเดือนแล้ว ปกติแรงงานส่วนใหญ่จะเก็บเงินไว้สำรองใช้จ่ายอย่างมากก็พออยู่กินสองเดือน ที่เหลือส่งกลับไปที่บ้านในประเทศต้นทาง เพราะเขาไม่กล้าเก็บเงินเยอะๆ ไว้ที่ห้อง และบางครั้งก็โดนจำกัดการเข้าถึงธนาคารในประเทศ พอเงินหมด รายได้ไม่มี ภาระการดูแลเรื่องกินอยู่ที่มักเป็นของผู้หญิง ก็ทำให้ผู้หญิงเครียด”

ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา ที่ปรึกษาจัดตั้งแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) เองก็เล่าปัญหาของแรงงานหญิงที่ได้พบในพื้นที่ภาคเหนือในทำนองเดียวกัน

“ปัจจุบัน แรงงานในจังหวัดเชียงใหม่มีแสนกว่าคน ครึ่งหนึ่งเป็นครอบครัวของผู้หญิง จากการปิดกิจการเพราะโควิด-19 ส่วนใหญ่คนที่ได้รับผลกระทบรายแรกๆ จะเป็นผู้หญิงเสียมาก เพราะผู้ชายที่ทำงานภาคก่อสร้างยังทำงานได้อยู่ แต่ผู้หญิงที่ทำงานบริการและแม่บ้านตามที่ต่างๆ จะไม่มีงานทำ

เมื่อผู้หญิงอยู่บ้านมากขึ้น กลับกลายเป็นว่าต้องรับภาระหนักขึ้น จากปกติออกไปทำงาน กลับถึงบ้าน สามีภรรยายังช่วยกันดูแลบ้าน แต่พอหยุดงานฝ่ายเดียว ผู้หญิงต้องดูแลเองทั้งหมด ทั้งลูก ทั้งสามี ต่อให้ไม่มีเงินก็ต้องออกไปหาอาหาร” ศุกาญจน์ตากล่าว และถึงแม้ว่าภายหลังจะมีแรงงานชายส่วนหนึ่งหยุดอยู่บ้านเช่นกัน แต่เขาเหล่านั้นก็ไม่ได้แบ่งเบาภาระของฝ่ายหญิง

“เราเคยสอบถามแรงงานชายที่ตกงานเหมือนกัน ว่าอยู่บ้านทำอะไร เขาตอบว่าไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้ช่วยภรรยา เพราะไม่รู้ว่าจะไปหาอาหารจากไหน”

อาจกล่าวได้ว่า ปัญหาของแรงงานข้ามชาติในวิกฤตโควิด-19 ไม่ใช่แค่เรื่องการตกงาน ขาดรายได้ แต่ยังมีมิติด้านขาดการดูแลจากรัฐ อคติด้านชาติพันธุ์ ครอบครัว และกรอบเรื่องเพศซ้อนทับอีกหลายชั้น

 

ระดมความคิด ค้นหาทางออกจากวิกฤตแก่แรงงาน

 

งานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากโควิด-19 ต่อแรงงานข้ามชาติ จัดทำโดย องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization – ILO) ได้เสนอแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มแรงงานแก่รัฐ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 เรื่องหลักๆ ด้วยกัน

เรื่องแรก คือความช่วยเหลือเกี่ยวกับงานและรายได้ รัฐควรขยายเวลาต่อใบอนุญาตทำงานและวีซ่าจนถึง 30 พฤศจิกายน 2563 เพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถอาศัยในประเทศและหางานทำได้อย่างถูกกฎหมาย สร้าง Guideline การทำงานที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและชีวิตในที่ทำงานของแรงงาน คุ้มครองแรงงานจากการถูกเลิกจ้างหรือการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของนายจ้าง ช่วยเหลือแรงงานให้ได้รับค่าชดเชยจากนายจ้างหรือประกันสังคม รวมถึงสิทธิด้านอื่นๆ โดยถ้วนหน้า และสร้างมาตรการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติหางานใหม่ หรืออาจผ่อนปรนกฎหมายว่าด้วยเรื่องแรงงานต้องหานายจ้างใหม่หลังลาออกหรือถูกเลิกจ้างภายใน 30 วัน

เรื่องที่สอง คือการดูแลความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติ ให้มีอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น รวมถึงเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกัน ดูแลตนเองจากโควิด-19 วิธีเว้นระยะห่างทางสังคม ความคืบหน้าเกี่ยวกับการเข้า-ออกประเทศ วิธีติดต่อขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ถูกกระทำความรุนแรง ล่วงละเมิด ขาดแคลนอาหาร สำหรับแรงงานข้ามชาติโดยเฉพาะ ไปจนถึงคุ้มครองแรงงานให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม การรักษา ตรวจเชื้อโควิด-19 และสิ่งอำนวยความสะดวกช่วงกักตัวอย่างเท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่น

ส่วน เรื่องสุดท้าย ทาง ILO แนะนำให้รัฐไทยประสานกับรัฐบาลประเทศต้นทางเรื่องการเดินทางข้ามชายแดน กำหนดมาตรการกักตัว ตรวจสอบร่วมกัน เพื่อให้แรงงานที่ต้องการกลับบ้านสามารถทำได้อย่างปลอดภัย

ฝ่ายตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมก็ได้เสนอทางออกจากประสบการณ์การทำงานร่วมกับแรงงานข้ามชาติ โดยสุธาสินี จาก MWRN แสดงความเห็นว่า “เรามองว่าไม่อยากให้รัฐใช้กระบวนการทางกฎหมายแบบที่เคยปฏิบัติตอนปกติ เนื่องจากมีหลายขั้นตอน ใช้เวลานานมาก กว่าจะได้ค่าชดเชยมันไม่ง่าย ซึ่งไม่เหมาะกับสถานการณ์ที่แรงงานจำนวนมากกำลังเดือดร้อน รัฐต้องเข้มงวดกับนายจ้าง ให้จ่ายค่าชดเชยทันทีเมื่อเลิกจ้าง ปฏิบัติตามกฎหมายทุกอย่าง หรือไม่.. รัฐอาจมีกองทุนช่วยเหลือแรงงานก่อนที่นายจ้างจะค่าชดเชย หรือมีมาตรการที่เท่าทันต่อสถานการณ์ ไม่งั้นแรงงานอยู่ไม่ได้”

ด้านอดิศร จากเครือข่ายองค์กร และประชากรข้ามชาติ มองภาพรวมว่าการทำงานแบบรวมศูนย์อาจไม่ใช่วิธีที่ดีนักสำหรับวิกฤตโควิด-19

“เราต้องเกิดกระบวนการหารือร่วมกัน เพราะตอนนี้การจัดการรับมือโควิด-19 ทุกอย่างมาจากศูนย์กลาง ทั้งหมดถูกตัดสินบนพื้นฐานวิธีคิดแบบรัฐราชการมาก ทำให้หลายเรื่องอาจถูกมองข้ามไป เช่น กระทรวงแรงงานมองว่าปัญหาแรงงานไทยมีมากพออยู่แล้ว จึงอาจมองข้ามกลุ่มแรงงานข้ามชาติ การเข้าไปช่วยกันคิด ออกแบบแผนรับมือจึงเป็นเรื่องจำเป็น

“เรื่องกฎระเบียบต่างๆ ที่เคยเข้มงวด เช่น การเปลี่ยนนายจ้าง ตอนนี้ก็ควรจะผ่อนปรนลงมา เพื่อให้แรงงานสามารถหางานทำได้

“ส่วนเรื่อง new normal ทั้งหลายแหล่ สำหรับแรงงานข้ามชาติ บางทีก็เหมือนเป็นการผลักภาระให้คนกลุ่มนี้มากเกินไป เพราะบางคนไม่สามารถใช้ชีวิตแบบใหม่ได้โดยไม่มีความช่วยเหลืออะไรจากรัฐเลย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าช่วงเวลาการทำงานเปลี่ยนไป แรงงานหลายคนซึ่งอาศัยเงินค่าโอทีเป็นรายได้หลักก็จะใช้ชีวิตอยู่ยาก ดังนั้น เราอาจต้องดูว่าจะปรับพฤติกรรมกันอย่างไรไม่ให้เกิดภาระแก่แรงงานมากจนเกินไป”

ฝ่ายรศ.ดร.นภาพร กล่าวว่าสิทธิแรงงานข้ามชาติเท่าเทียมกับแรงงานไทยตามกฎหมาย แต่ปัญหาใหญ่คือยังขาดองค์กรดูแลและให้ความรู้แก่แรงงานเหล่านั้น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐ สหภาพแรงงาน และภาคประชาสังคมที่ต้องช่วยเหลือกัน

“อีกเรื่องหนึ่งคืออคติด้านชาติพันธุ์ ที่บอกว่าให้คนไทยก่อน แรงงานข้ามชาติทีหลัง เป็นเรื่องที่เราต้องแก้ เพราะแม้แต่ในสหภาพแรงงานก็ยังมีประเด็นเรื่องนี้อยู่

“เราต้องไม่มองแค่เชื้อชาติ แต่มองว่าแรงงานข้ามชาติในฐานะคนขับเคลื่อนเศรษฐกิจเหมือนกัน รัฐและสื่อ เวลาสื่อสารข้อมูลออกมา ต้องไม่เป็นการเพิ่มอคติต่อแรงงานข้ามชาติ และต้องสื่อให้ทั่วถึงทุกกลุ่ม ทุกด้าน”

สุดท้าย คือข้อเสนอของลัดดาวัลย์ จากมูลนิธิเพื่อเยาวชนชนบท(มยช.) ที่ระบุว่ารัฐต้องไม่ดูแลแค่ตัวแรงงาน แต่ควรดูแลไปถึงครอบครัวของแรงงาน เป็นต้นว่า สนับสนุนเรื่องการศึกษาแก่บุตรหลานแรงงานข้ามชาติ

“แรงงานข้ามชาติไม่ได้อยู่ในไทยแบบปัจเจก แต่อยู่แบบครอบครัว เพราะงั้นต้องดูบริบทการดูแลในเชิงครอบครัวด้วย

“เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่ทุกคน ทุกประเทศกำลังเผชิญและพยายามถอดบทเรียนจากการรับมือวิกฤต ในอนาคต เด็กๆ ที่เป็นลูกหลานของแรงงานข้ามชาติในไทย ก็จะเป็นเจนฯ ต่อไปที่ต้องเรียนรู้ว่า ถ้าเกิดวิกฤตด้านสาธารณสุขครั้งต่อไป จะสามารถป้องกันตัวเอง ดูแลสังคมที่เขาอยู่ได้อย่างไร ซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อเข้าถึงข้อมูล

“รัฐเองก็น่าจะมีมาตรการที่ช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกันในสังคม แม้ว่าวันหนึ่งแรงงานและครอบครัวอาจจะเดินทางกลับบ้าน แต่พวกเขาก็ยังถือว่าเป็นบุคลากรที่จะเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ และประเทศไทยได้ประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติมาก ถ้าเราช่วยดูแลลูกหลานเขาอย่างดี เขาก็จะสามารถทำงานให้เราได้เต็มที่ ไม่ต้องกังวลใจ

“ดังนั้น ในภาวะวิกฤต ก็อยากให้ทุกคนตระหนักว่าพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่อยากให้หลงลืมกัน”

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save