fbpx
Mid-Carreer Crisis ปัญหาใหญ่ของวัยกลางคน

Mid-Career Crisis ปัญหาใหญ่ของวัยกลางคน

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

เรามักจะพูดกันถึงปัญหาของคนรุ่นมิลเลนเนียลส์ หรือคนเจนวาย ว่าต้องพบเจอกับเรื่องต่างๆ หลายอย่าง เช่น เป็นคนรุ่นแรกที่การศึกษาดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ แต่กลับเป็นคนรุ่นที่มี ‘หนี้การศึกษา’ มากที่สุด พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่ต้องเริ่มต้นชีวิตจากอาการ ‘ติดลบ’ ทางเศรษฐกิจ

หรือเป็นคนรุ่นแรกที่สุขภาพโดยรวมน่าจะดีที่สุดเพราะวิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้าที่สุด แต่ก็กลับเป็นคนรุ่นที่ ‘ป่วย’ ด้วยโรคยุคใหม่ประเภทโรคซึมเศร้าและอื่นๆ มากที่สุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนด้วย ความขัดแย้งเหล่านี้ทำให้หลายคนมองว่า คนเจนวายหรือมิลเลนเนียลส์ เป็นกลุ่มที่อาจจะ ‘หมดไฟ’ หรือแม้กระทั่ง ‘ซวย’ ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกไปพร้อมกันด้วย

อย่างไรก็ตาม เราแทบไม่เอ่ยถึงคนรุ่นแก่กว่านั้น อันได้แก่เหล่า ‘เจนเอ็กซ์’ กันเท่าไหร่ ว่าในความผันผวนเปลี่ยนแปรของกระแสโลก คนเหล่านี้ก็ต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยพบพานด้วยเช่นกัน

ถ้าคุณอายุเลย 40 ไปแล้ว หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือเป็นพวกเจนเนอเรชั่นเอ็กซ์ (หรือกระทั่งเลยไปถึงคนที่อายุมากกว่านี้เป็นกลุ่ม ‘บูมเมอร์ส’ ยุคต้นๆ ด้วยก็ได้) คุณอาจรู้สึกว่าชีวิตค่อนข้าง ‘ลงตัว’ แล้ว จึงไม่ค่อยอยาก ‘เปลี่ยนแปลง’ อะไรในชีวิตมากเท่าไหร่

แต่ต่อให้คุณไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไร ภาวะแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจ ก็อาจล้วงมือเข้ามาเกี่ยวข้องกับคุณ และบีบให้คุณต้อง ‘เปลี่ยนแปลง’ ก็ได้ โดยเฉพาะถ้าดูจากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะซบเซาถดถอย ซึ่งอาจเข้ามาคุกคามความ ‘ลงตัว’ ของคุณเมื่อไหร่ก็ได้

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ โลกปัจจุบันไม่ทำให้ใครสามารถไว้วางใจในชีวิตได้เลย ว่ามันจะเป็นมาและเป็นไปเหมือนอย่างในอดีต ความพลิกผันเปลี่ยนแปลงจะมาเยือนเมื่อไหร่ก็ไม่รู้

ดังนั้น นอกจาก ‘วิกฤติวัยกลางคน’ หรือ midlife crisis (ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น ‘ภายใน’ ตัวเราเอง) แล้ว เรายังอาจเกิด mid-career crisis หรือ ‘วิกฤตกลางอาชีพ’ (อันเป็นเรื่องที่เกิดจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมได้ยาก) อีกด้วย

สำนักโพลอย่างแกลล็อพ (Gallup) เคยทำสำรวจคนในกลุ่มเจนเอ็กซ์ (คือ 40 กว่าๆ ขึ้นไปจนถึง 50) พบว่า ทั้งเจนเอ็กซ์และบูมเมอร์สที่เราอาจเห็นว่าชีวิตเริ่มลงตัวแล้วอะไรต่างๆ มีแค่ครึ่งเดียวเท่านั้นที่รู้สึกว่าตัวเอง ‘ผูกพัน’ หรือเป็นส่วนหนึ่งของงาน

คำว่า ‘ผูกพัน’ ในที่นี้มาจากคำว่า engaged คือคนคนนั้นรู้สึกว่าตัวเอง engage กับงาน หรือมีความรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของงาน (หรือที่ทำงาน) มากน้อยแค่ไหน

เขาบอกว่า คนจำนวนครึ่งหนึ่งที่อยู่ในเจนเอ็กซ์และบูมเมอร์ส นั้น แค่มาทำงาน (just show up) มารับเงินเดือน แล้วก็ทำงานให้มันเสร็จๆ ไป ตามความต้องการขั้นต่ำของบริษัท (minimum required) โดยมีถึงหนึ่งในห้าที่เข้าข่าย actively disengaged คือไม่ใช่แค่อยู่ไปวันๆ เท่านั้น แต่รู้สึกจริงจังเลยว่าตัวเองไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม)

ที่น่าสนใจก็คือ คนที่อยู่ในกลุ่มนี้ จะมีรายงานความเครียดและความเจ็บป่วยต่างๆ สูงกว่าคนในกลุ่มอื่น รวมถึงมีระดับฮอร์โมนคอร์ติโซลและความดันโลหิตสูงกว่าด้วย ทั้งยังมีแนวโน้มจะป่วยเป็นโรคซึมเศร้าสูงกว่าคนกลุ่มอื่นถึงสองเท่า

ที่จริงแล้ว ใครๆ ก็รู้สึกไม่พึงพอใจกับที่ทำงานหรือการทำงานของตัวเองได้ทั้งนั้น แต่คนที่อยู่ในวัยกลางคน (midlife) จะมีความรู้สึกไม่พึงพอใจมากกว่าคนกลุ่มอื่นเล็กน้อยด้วยหลายเหตุผล แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดก็คือ คนที่อยู่ในวัยนี้รู้สึกว่าตัวเอง ‘ถูกล็อก’ (locked into) อยู่ในหน้าที่การงานของตัวเอง วัย 40 ทำให้รู้ตัวแล้วว่า จะก้าวหน้าไปกว่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งหลายคนก็รู้สึกว่าตัวเองอยู่ใน ‘ขาลง’ ของงานแบบนี้ ครั้นจะปรับเปลี่ยนตัวเองให้ไปทำงานอย่างอื่นก็ดูเหมือนจะสายไปเสียแล้ว แต่ต่อให้ตั้งอกตั้งใจทำงาน ก็ดูเหมือน career path จะไม่เอื้อให้ ไม่มีตำแหน่งงานเอาไว้รองรับ และเด็กรุ่นหลังๆ ก็เริ่มแสดงฝีมือข้ามหัวข้ามห้วยกันมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ หลายคนที่เข้าข่าย mid-career crisis จึงรู้สึกขมขื่นกับการทำงานของตัวเอง เพราะพบว่าทำงานเดิมๆ ซ้ำๆ มาเป็นเวลานาน แต่ไม่ได้เติบโตไปไหนเลย ไม่ว่าจะในด้านความพึงพอใจกับงาน รายได้ หรือการได้รับความยอมรับนับถือ มันเหมือนวิ่งชนกำแพงครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อจะพบว่าตัวเองไม่มีวันมีเรี่ยวแรงจะปีนข้ามกำแพงนี้ไปได้อีกแล้ว

สำหรับคนที่ไม่อยากดิ้นรนต่อสู้อะไรอีกต่อไป ที่สุดก็อาจกลายสภาพไปเป็น deadwood ในที่ทำงาน กลายเป็นคนหมดไฟที่อยู่ไปวันๆ รอคอยวันสุดท้ายของการทำงาน ไม่ว่าจะสามารถอยู่ไปได้จนเกษียณหรือถึงวันสุดท้ายของชีวิตจริงๆ โดยมีสิ่งชุบชูใจคือวันหยุดและงานอดิเรกเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่รู้ว่าจะตอบสนองต่อเป้าหมายในชีวิตของตัวเองอย่างไรได้อีก

สถาบันวิจัยความสุขแห่งโคเปนฮาเกน (Happiness Research Institute) เคยทำสำรวจคนทำงานชาวเดนมาร์ก 2,600 คน จากงานทุกรูปแบบ เพื่อดูว่าความสุขหรือความพึงพอใจในการทำงานของแต่ละคนมาจากไหน

สิ่งแรกสุดที่ทำให้คนมีความสุขกับการทำงานก็คือ ‘เป้าหมาย’

เป้าหมายในที่นี้ไม่ใช่ KPI หรือยอดขาย แต่คือ sense of purpose หรือความรู้สึกว่าตัวเราเองนี่แหละที่มีเป้าหมาย เป้าหมายจะทำให้สิ่งที่เราทำอยู่มีความหมายเต็มเปี่ยม เราจึงพร้อมจะลุกขึ้นมาทำสิ่งนั้นในทุกเช้าโดยไม่รู้สึกว่าเป็นการ ‘ทำซ้ำๆ’

สิ่งที่สองที่ทำให้คนมีความสุขในการทำงานก็คือ นายที่ดีและมีคุณภาพ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่เราจะอยากทำงานกับคนเก่งและเข้าใจตัวเรา

นักจิตวิทยาอธิบายว่า ความต้องการ ‘เป้าหมาย’ ในการทำงานของเรานั้นเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเรามาถึงวัยกลางคน เพราะถึงตอนนี้ เราจะไม่ค่อยสนใจเรื่องการสร้างครอบครัว การซื้อบ้าน การสะสมเงินทองสักเท่าไหร่แล้ว เพราะเรื่องเหล่านี้น่าจะมีมากพอสมควรแล้ว แต่สิ่งที่เราสนใจมากขึ้นก็คือ สิ่งที่เราทำนั้นมันมี ‘ความหมาย’ กับชีวิตจริงหรือเปล่า

เป็นช่วงเวลาอย่างนี้แหละครับ ที่หลายคน ‘เพิ่ง’ ค้นพบว่าตัวเองกำลังทำสิ่งที่ตัวเองไม่ได้อยากทำมาชั่วชีวิต แต่จำเป็นต้องทำเพราะมันมีค่าตอบแทนที่ดี และพร้อมกันกับที่คนรุ่น 40 ปรายตามองคนรุ่น 20 พวกเขาก็เห็น ‘วิธีมีชีวิต’ แบบใหม่ๆ ที่เป็นอิสระมากขึ้น แม้มั่นคงน้อยลง แต่พวกเขาก็ไม่รู้สึกกลัวมากนัก เพราะในวัย 40 พวกเขาได้สั่งสมทั้งทุนรอน ชื่อเสียง และคอนเน็คชั่นมาบ้างแล้วพอสมควร ดังนั้น กลุ่มคนที่ไม่ engage กับองค์กร จึงเริ่มมีการตัดสินใจออกมาใช้ชีวิตอิสระมากขึ้น

แต่ปัญหาของหลายสังคม (โดยเฉพาะสังคมแบบเก่า) ก็คือ สังคมไม่ได้สร้างงานมารองรับคนเหล่านี้ พวกเขาไม่ใช่ digital native จึงไม่ได้เข้าใจโลกออนไลน์ใบใหม่มากพอจะขันแข่งกับคนรุ่นใหม่ไปเลย การอยู่กับองค์กรมานานๆ ทำให้ไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการทำธุรกิจของตัวเอง นั่นจึงทำให้หลายคนลังเลใจ และเลือกที่จะ disengage อยู่ในองค์กรเหมือนเดิม

ที่สำคัญ ในตอนนี้ ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาเริ่มแสดงสัญญาณออกมาให้เห็นแล้ว ถ้าเราย้อนกลับไปดูวิกฤตเศรษฐกิจในประวัติศาสตร์ เราจะพบว่า ในวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ช่วงปี 2007-2008 นั้น กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนั้นมากๆ มีอยู่สองกลุ่ม

กลุ่มแรกคือกลุ่มมิลเลนเนียลส์ เพราะช่วงนั้นคือช่วงที่ชาวมิลเลนเนียลส์เริ่มทำงานใหม่ๆ ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือ พวกเขาหางานทำไม่ได้เพราะไม่มีตำแหน่งงานมากพอ หลายคนอธิบายว่า นั่นเป็นแรงผลักทางเศรษฐกิจส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดธุรกิจแบบสตาร์ตอัพขึ้นมา เพราะคนไม่สามารถสังกัดองค์กรธุรกิจที่มีอยู่เดิมได้ จึงต้องลุกขึ้นมาทำอะไรต่อมิอะไรเอง

คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักก็คือคนกลุ่มเจนเอ็กซ์ มีตัวเลขของ Pew Research Center บอกว่า ‘การถูกทำลายความมั่งคั่ง’ (wealth destruction) เกิดขึ้นกับคนเจนเอ็กซ์มากที่สุด นั่นคือจากปี 2007 ถึง 2010 พบว่าคนรุ่นเอ็กซ์สูญเสียรายได้เฉลี่ยมากถึง 38% (คือจาก 63,400 เหรียญต่อปี มาเป็น 39,200 เหรียญต่อปี) ในขณะที่คนรุ่นบูมเมอร์สและรุ่นไซเลนต์ (ซึ่งสะสมความมั่งคั่งมามากกว่าคนรุ่นเอ็กซ์) จะได้รับผลกระทบเพียง 26% และ 14% ตามลำดับเท่านั้น

สำหรับมิลเลนเนียลส์ ผลกระทบในแง่ wealth destruction ถือว่าน้อยมาก ทั้งนี้เพราะยังไม่ได้เริ่มต้นสะสมความมั่งคั่งเท่าไหร่ แต่เป็นคนรุ่นเอ็กซ์นี่เอง ที่ต้องพบพานกับการทำลายความมั่งคั่งมากที่สุด

แต่นั่นอาจเป็นเรื่องดีก็ได้ เพราะหลังจากปี 2010 เป็นต้นมา พบว่าความมั่งคั่งของคนรุ่นเอ็กซ์โดยเฉลี่ยพุ่งสูงขึ้นด้วยหลายเหตุผล อาจเพราะคนกลุ่มนี้ยังอยู่ในวัยทำงาน เป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม จึงถือว่าเป็นคนรุ่นที่ฟื้นตัวในทางเศรษฐกิจได้ดีที่สุด

อย่างไรก็ตาม ถ้าเกิดภาวะเศรษฐกิจซบเซาขึ้นมาอีกครั้งในอนาคตอันใกล้ คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ แล้วพวกเขาจะปรับตัวรับมือต่อไปอย่างไร

ถ้าเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมาอีกรอบ คราวนี้คนรุ่นเอ็กซ์จะไม่ได้อยู่ในช่วงหนุ่มสาว 30 ปีปลายๆ 40 ปีต้นๆ ที่มีพลังพร้อมทำงานหนักอีกแล้ว แต่พวกเขาจะอยู่ในวัย 50-60 ปี ที่อาจกำลังเผชิญกับทั้ง midlife crisis และ mid-career crisis จนอ่อนล้า หมดแรง และอยากทำงานแบบ disengage หรือแม้กระทั่งขอเป็น deadwood รอวันเกษียณอยู่ก็ได้

mid-career crisis อาจเกิดขึ้นกับคนรุ่นเอ็กซ์ได้สองทาง คือจากภายในจิตใจและจากสภาวะภายนอก ซึ่งหากเป็นกลุ่มที่สะสมความมั่งคั่งไว้มากพอก็อาจไม่เดือดร้อนนัก ทว่าก็ต้องยอมรับว่า สังคมมีคนที่ไม่มีทางเลือกอยู่ไม่น้อย

คนเหล่านี้จะทำอย่างไร โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสังคมที่ไร้สวัสดิการที่ดีพอ

ที่สำคัญ อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์จะยาวนานขึ้น คนรุ่นเอ็กซ์อาจมีอายุยืนไปถึง 80-100 ปีก็ได้ พวกเขามักจะมีลูกน้อย และเอาเข้าจริง ความมั่งคั่งที่สั่งสมเอาไว้ก็ไม่ได้มากเท่าคนรุ่นบูมเมอร์สด้วยซ้ำ ประกอบกับคนรุ่นนี้มีจำนวนมากด้วย ดังนั้นเมื่อเข้าสู่วัยชรา ก็จะก่อให้เกิดสังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ และกลายเป็นภาระหน้าที่ของคนรุ่นมิลเลนเนียลส์ที่ต้องรับมือกันต่อไป

เหล่านี้คือปัญหาใหญ่ของวัยกลางคนที่ไม่ค่อยมีคนสนใจหยิบยกมาพูดถึงสักเท่าไหร่

แต่เมื่อมองไปในอนาคตข้างหน้าแล้ว ต้องบอกว่าชีวิตของคนรุ่นนี้อาจไม่ง่ายนัก

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save