fbpx

เหตุใดไมโครซอฟต์จึงกลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง : ข้อได้เปรียบการครองตลาดแบบไม่มีใครโค่นลงได้

หากเอ่ยชื่อ ‘ไมโครซอฟต์’ (Microsoft) ทุกคนน่าจะรู้จักกันดี หลายคนอาจจะรู้จักในฐานะบริษัทเจ้าของระบบปฏิบัติการวินโดวส์ที่เราคุ้นเคย (ซึ่งตอนนี้วินโดวส์ 11 กำลังเป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก) หรือโปรแกรมไมโครซอฟต์ออฟฟิศที่ใช้ทำงานเป็นประจำแทบทุกวัน บางคนอาจจะเป็นสายเล่นเกมที่รู้จักผ่านเครื่องเล่น XBOX หรือช่วงกักตัวที่ผ่านมาอาจจะเคยใช้โปรแกรมประชุมออนไลน์อย่างไมโครซอฟต์ทีมหรือสไกป์ โดยตอนนี้มูลค่าของบริษัทอยู่ที่ราวๆ 65 ล้านล้านบาท

แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าตลอดช่วงเวลา 50 กว่าปีตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 1975 นั้น ไมโครซอฟต์มีทั้งขึ้นและลง เปรียบเหมือนรถไฟเหาะตีลังกาที่แรงจนฉุดไม่อยู่อยู่พักใหญ่ แล้วก็ถึงยุคปรับเปลี่ยนที่ดิ่งลงเหวทำอะไรก็ดูแย่ไปหมด จนค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาเฉิดฉายได้อีกครั้งอย่างทุกวันนี้

หลังจากที่เหมือนลองผิดลองถูกอยู่นานเป็นสิบกว่าปี การกลับมาของไมโครซอฟต์ครั้งนี้เป็นมหากาพย์การพลิกสถานการณ์อันน่ายินดี แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นข้อพิสูจน์อันน่ากังวลใจว่าบริษัทใหญ่ๆ ที่ผูกขาดตลาดนั้นมีโอกาสล้มหายตายจากได้ยากมากเช่นเดียวกัน

การที่ไมโครซอฟต์กลับมายืนหยัดอย่างเข้มแข็งได้อีกครั้งนำมาซึ่งคำถามที่ว่าบริษัทที่ประสบความสำเร็จทั้งหลายโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีนั้นได้รับความนิยมและยังอยู่รอดได้เพราะพวกเขาเป็นที่หนึ่งในเรื่องนั้นจริงๆ หรือเพราะพวกเขาเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ มีอำนาจและเงินมหาศาลที่เพียงพอหล่อเลี้ยงตัวเองไปเรื่อยๆ จากความสำเร็จที่ผ่านมากันแน่ หรือจะเป็นเพราะทั้งสองอย่างกันล่ะ?

ในช่วงที่เลวร้ายของไมโครซอฟต์ หลายคนคิดว่าคงไม่มีทางรอดแน่ ผลิตภัณฑ์อย่าง Zune, Windows Mobile, Windows Phone, Windows Me, Windows Vista, Windows 8, Microsoft Band, Bing, BOB, Groove Music, Kin One, Kin Two, Lumia หรือ Windows RT ต่างก็ขึ้นชื่อว่าเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่ไม่ประสบความสำเร็จ (ถ้าเรียกว่าล้มเหลวก็คงได้ แต่ก็อาจจะดูโหดร้ายไปหน่อยเพราะบางตัวก็พอไปได้เพียงแค่ไม่ปังมาก) ช่วงเวลานั้นอยู่ระหว่างช่วงกลางของทศวรรษ 2000 ถึงราวๆ ปี 2014 ซึ่งน่าจะเรียกได้ว่าเป็นยุคมืดของบริษัทเลยก็ว่าได้ถ้าเทียบกับทศวรรษก่อนหน้า

พวกเขาเจอ ‘เผา’ โดยโฆษณาจากบริษัทคู่แข่งอย่างแอปเปิล ยูทูบ ครั้งแล้วครั้งเล่า พวกเขาไม่สามารถสร้างเสิร์ชเอนจินได้เท่ากับกูเกิล โฆษณาออนไลน์ก็สู้ไม่ได้ สมาร์ตโฟนก็ขายได้ไม่ดี เครื่องเล่น MP3 ก็แข่งกับเขาไม่ได้ ระบบปฏิบัติการก็เต็มไปด้วยข้อผิดพลาดจนคนไม่กล้าอัพเดต แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ในช่วงเวลาที่ดูมืดมนแบบนี้ ไมโครซอฟต์ก็ยังสร้างรายได้อย่างมหาศาล ในปี 2013 ที่สตีฟ บอลเมอร์ (Steve Ballmer) กำลังโดนกดดันอย่างหนักให้ลงจากตำแหน่งซีอีโอ บริษัทยังสามารถสร้างรายได้ก่อนหักภาษีและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ประมาณ 77,000 ล้านเหรียญฯ เติบโตจากปีก่อนหน้านั้นประมาณ​ 5.6% (ซึ่งถ้าย้อนกลับไปดูรายได้ปีก่อนหน้าก็เป็นเทรนด์เดียวกัน)

เพราะฉะนั้นจากตัวเลขของรายได้แล้ว ไม่ว่าผลิตภัณฑ์หรือโปรแกรมของไมโครซอฟต์นั้นจะไม่ได้เรื่อง (ในหลายๆ ครั้ง) พวกเขาก็ยังอยู่ได้และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่ธุรกิจยังคงเกิดขึ้น ยังต้องซื้อคอมพิวเตอร์ที่ใช้วินโดวส์ ไมโครซอฟต์ออฟฟิศ ​และโปรแกรมที่ใช้บนเซิร์ฟเวอร์ต่างๆ ซึ่งเป็นไพ่ใบเด็ดในมือของพวกเขาที่สร้างผลิตภัณฑ์ที่ ‘ขาดไม่ได้’ เพื่อสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจในการขยายไปยังธุรกิจใหม่อื่นๆ ที่ดูน่าสนใจและสามารถนำรายได้กลับมาให้บริษัทได้

ไมโครซอฟต์อาจจะไม่ได้สร้างอะไรเป็นชิ้นเป็นอันในช่วงเวลาที่แย่ๆ เหล่านั้น แต่ก็ยังผ่านมาได้แบบไม่เสียหายมากนัก แต่ดูเหมือนว่าหลังจากคว้าน้ำเหลวมาสักพัก ตอนนี้พวกเขากลับมาพร้อมเทคโนโลยีที่ทั้งสร้างรายได้อย่างสวยงามและเป็นที่ต้องการของตลาดด้วย นั่นก็คือ Cloud Computing (บริการประมวลผลผ่านคลาวด์) ที่เป็นบริการเช่าเซิร์ฟเวอร์ออนไลน์สำหรับลูกค้าที่ต้องการประมวลผลข้อมูลโดยไม่ต้องลงทุนซื้อเซิร์ฟเวอร์หรือมีซูเปอร์คอมพิวเตอร์ราคาแพงอีกต่อไป

นี่คือสิ่งที่ทำให้ไมโครซอฟต์กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง เพราะเป็นเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างมหาศาลตลอดทศวรรษที่ผ่านมา แม้จะเข้าตลาดช้ากว่าคู่แข่งอย่างแอมะซอนอยู่หลายปี แต่ด้วยวิสัยทัศน์และความสามารถของตัวผู้นำคนใหม่อย่างสัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ที่เข้ามารับตำแหน่งซีอีโอแทนสตีฟ บอลเมอร์ ไม่นานนักไมโครซอฟต์ก็กลายเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการ Cloud Computing ระดับโลก เทียบเคียงกับแอมะซอนได้อย่างไม่น้อยหน้า เปลี่ยนภาพของไมโครซอฟต์จากที่ทำอะไรก็ดูไม่สำเร็จ กลายเป็นเติบโตและทำกำไรจากบุญเก่าที่สะสมมาจากผลิตภัณฑ์เดิมๆ จนเป็นไมโครซอฟต์ที่ประสบความสำเร็จเพราะทำอะไรเจ๋งๆ ออกมาสู่ตลาดเสียที ซึ่งก็เป็นการพลิกฟื้นกลับมาที่แข็งแกร่งและงดงาม

ข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งของไมโครซอฟต์ที่ทำให้พวกเขา ‘อึด’ และไม่ตายง่ายๆ ต่างจากบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ก็คือพวกเขามีลูกค้าที่เป็นองค์กรธุรกิจ ไม่ใช่แค่คนทั่วไปเท่านั้น และสำหรับองค์กรธุรกิจแล้วบางครั้งผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟต์อาจจะไม่ได้ดีมากที่สุดแต่ก็ยังขายได้ อย่างแรกเลยคือเรื่องของสัญญาที่บริษัทเซ็นทำให้การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องยาก อย่างที่สองคือเรื่องความคุ้นเคยของหัวหน้าที่ใช้มานานและไม่อยากเปลี่ยนแปลง และอย่างที่สามคือคนที่ตัดสินใจซื้อให้องค์กรนั้นมีเพียงไม่กี่คน ถ้าหัวหน้าบอกให้ใช้ บางทีทุกคนในบริษัทก็เลือกไม่ได้

แต่นั่นก็นำมาถึงคำถามที่เกริ่นไว้เบื้องต้นว่าที่จริงแล้ว การที่ไมโครซอฟต์กลับมาได้อย่างสวยงามนั้นอาจจะไม่ใช่เพราะเก่งที่สุด แต่เป็นเพราะพวกเขามีข้อได้เปรียบในเรื่องของขนาดและการครองตลาดแบบไม่มีใครสามารถโค่นได้ แม้จะออกอะไรที่ไม่ปังออกมา หรือตามหลังในเรื่องของเทคโนโลยีหลายๆ อย่างในตอนนั้น แต่พวกเขาแค่มีสายป่านที่ยาวเพียงพอและมีอำนาจมากจนแทบจะไม่มีอะไรระคายผิวได้ ก็สามารถอยู่รอจนกว่าจะเจออะไรบางอย่างนำความสำเร็จกลับคืนมาสู่บริษัทอีกครั้งหนึ่ง

สิ่งที่น่าสนใจก็คือว่าเราเห็นหลายๆ บริษัทที่กลายเป็นผู้ครองตลาดแบบผูกขาด (แม้ตัวเองจะบอกว่าไม่ใช่ก็ตาม)​ อย่างกูเกิล เฟซบุ๊ก แอมะซอน หรือในไทยเองก็มีหลายเจ้าอย่างซีพี เอโอที หรือบีทีเอส ที่หลายๆ ครั้งอาจจะไม่ได้มีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ดีที่สุดแต่ก็ยังอยู่รอดต่อไปได้ เพียงเพราะว่าไม่มีใครสามารถมาโค่นลงได้ และผู้บริโภคเองก็ไม่ได้มีทางเลือกอะไรมากนัก

แน่นอนว่าขนาดของบริษัทและทุนทรัพย์ไม่ได้การันตีว่าบริษัทจะอยู่รอดและต่อสู้กับปัญหาต่างๆ ได้แบบไม่มีที่สิ้นสุด เทคโนโลยีล้ำหน้าใหม่ๆ และบริษัทอื่นๆ อาจจะทำได้ดีกว่าในอนาคต บริษัทใหญ่เหล่านี้อาจจะเก่งจริงๆ ก็ได้อย่าง Google Search หรือ Facebook Ads แต่ในหลายกรณีเราอาจจะแค่จินตนาการถึงทางเลือกที่ดีกว่านี้ไม่ได้ เพราะบริษัทใหญ่ๆ เหล่านี้คงไม่เปิดโอกาสให้คู่แข่งเติบโตมาแย่งส่วนแบ่งของตลาดได้ง่ายๆ เช่นเดียวกัน

====================

อ้างอิง

Why Microsoft Is Still a Big Tech Superstar – The New York Times

Microsoft Is Worth as Much as Apple. How Did That Happen? – The New York Times

Microsoft Revenues And Revenue Growth From 2012 To 2016 – Revenues & Profits

Why Your Workplace Software Stinks – The New York Times

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save