โสภณ ศุภมั่งมี เรื่อง
Shin Egkantrong ภาพ
ถ้าใครชอบดูซีรี่ย์หรือภาพยนตร์ sci-fi น่าจะรู้จักสิ่งที่เรียกว่า Microchip (ไมโครชิพ) เป็นอย่างดี มันคือเป็นอุปกรณ์ติดตามตัว บ่งบอกตำแหน่ง และส่งถ่ายข้อมูลมีขนาดประมาณเมล็ดข้าวฝังไว้ใต้ผิวหนัง ส่วนใหญ่จะถูกใช้กับนักโทษหรือตัวเอกเมื่อถูกฝ่ายศัตรูจับด้วยเหตุผลเพื่อ ‘ความปลอดภัย’ ให้สามารถรับรู้ได้ตลอดว่าคนเหล่านี้อยู่ที่ไหน (แล้วก็ต้องมีฉากระทึกใจใช้มีดกรีดผิวหนังเพื่อดึงมันออกมา) ไมโครชิพจึงเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและน่ากลัวเหลือเกินหากถูกนำมาใช้จริงๆ
แล้วมันก็เกิดขึ้น ช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นพวกไมโครชิพ (ที่เป็น RFID – radio-frequency identification ไม่มี GPS แต่เอาไว้สำหรับเก็บข้อมูล) เหล่านี้ถูกนำมาใช้กับสัตว์เลี้ยง เหตุผลก็เช่นเดียวกับตัวเอกในภาพยนตร์ ‘เพื่อความปลอดภัย’ เผื่อว่าวันหนึ่งน้องหมาแมวที่รักหลุดออกจากบ้าน หากเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลศูนย์สัตว์เลี้ยงจรจัดเกิดพบสัตว์ที่พลัดหลงก็จะพยายามแสกนหาไมโครชิป เพื่อค้นหาเจ้าของก่อน เป็นการประหยัดทั้งเวลา อาหารและพื้นที่สำหรับดูแล ส่วนสัตว์เลี้ยงในฟาร์มอย่างวัวหรือกระบือก็เริ่มมีให้เห็นกันบ้างแล้วเช่นกัน
แต่เมื่อไม่นานมานี้เทคโนโลยีไมโครชิพคลืบคลานเข้ามาใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น เมื่อปลายปี 2018 บนเกาะอังกฤษ การรายงานของสำนักข่าว Telegraph บ่งบอกว่าบริษัทเกี่ยวกับการเงินและกฎหมายเจ้าใหญ่หลายแห่งเริ่มส่งสัญญาณว่าอยากนำไมโครชิพมาใช้กับพนักงานจำนวนหลายแสนคนของตนเอง เหตุผลก็คงเดาได้ไม่ยาก ‘เพื่อความปลอดภัย’ และเพื่อป้องกันไม่ให้คนแปลกหน้าเข้ามาที่บริษัทและควบคุมการเข้าออกของพนักงานของตนเองด้วย แต่ที่น่าสนใจต่อจากนี้ก็คือเทคโนโลยีนี้จะนำเราไปยังเส้นทางไหน? และมันควรจะเป็นแบบนั้นจริงๆ รึเปล่า?
ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์การฝังไมโครชิพในพนักงานบริษัทกันสักหน่อย ที่จริงมันเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2006 ในบริษัทรักษาความปลอดภัยแห่งหนึ่งชื่อ CityWatcher.com ที่เมืองซินซินเนติประเทศอเมริกา พวกเขาฝังไมโครชิพให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ทำงานในส่วนการดูแลศูนย์กลางของข้อมูล ซึ่งการเริ่มต้นฝังชิพในครั้งนั้นก็กลายเป็นประเด็นให้คนถกเถียงกันต่อมาว่า การให้พนักงานฝังชิพไว้ในร่างกายไม่ควรที่จะเป็น ‘ข้อบังคับ’ ของบริษัท ปีต่อมาวุฒิสภารัฐแคลิฟอร์เนียได้ผ่านกฎหมายห้ามบังคับฝังไมโครชิพกับพนักงานบริษัท ยกเว้นแต่เจ้าตัวจะยินยอมเท่านั้น (กฎบังคับนี้รวมไปถึงเด็กนักเรียนมหาวิทยาลัยด้วย เพราะมีข่าวลือว่ามหาวิทยาลัยหลายแห่งพยายามจะให้นักศึกษาฝังไมโครชิพ)
เวลาผ่านมาหลายปีข่าวการฝังไมโครชิพในพนักงานก็เริ่มกลับมาสร้างเสียงฮือฮาอีกครั้ง เมื่อปีก่อนบริษัท Three Square Market จากรัฐ Wisconsin ได้ขึ้นเป็นข่าวหน้าหนึ่งว่า พนักงานจำนวนกว่าแปดสิบคนได้เข้ารับฝังไมโครชิฟ (เหมือนกับที่ใช้ในสัตว์เลี้ยง) บนหลังมือบริเวณระหว่างนิ้วชี้และนิ้วโป้ง ใช้เป็นเหมือนคีย์การ์ดเข้าออกบริษัท ล็อคอินเข้าคอมพิวเตอร์ของตนเอง และใช้งานตู้กดอัตโนมัติ (ซึ่งก็น่าสนใจดีว่าพวกเขาเป็นบริษัทที่ขายตู้กดอัตโนมัติ) สื่อหลายแห่งได้รับการเชิญชวนให้มาทำข่าวตอนที่พนักงานของพวกเขาฝังชิพเข้าสู่ร่างกาย Todd Westby, CEO ของ Three Square Markets กล่าวว่า
“เราไม่ได้มองว่ามันแปลกอะไร จุดเริ่มต้นที่ทำให้เราตัดสินใจทำ คุณอาจจะเรียกว่า ‘สุดยอด นี่สิที่แตกต่าง’ ”
Three Square Market นั้นจับมือเป็นพาร์ทเนอร์และผู้จัดจำหน่ายภายในประเทศของบริษัทสร้างไมโครชิพ BioHax สวีเดนอย่างเต็มตัว Todd บอกกับสำนักข่าว CNBC ว่ามีหลายบริษัทที่สนใจอยากใช้เทคโนโลยีนี้กับพนักงานของตนเอง รวมไปถึงบริษัทเกี่ยวกับสุขภาพอีกด้วย จากรายงานของ MIT Techonology Review บอกว่าพนักงานของ Three Square Market รู้สึกมีความสุขดีกับการฝังชิพเข้าร่างกาย ความสะดวกสบายอาจจะแลกกับความเป็นส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ ที่พวกเขายอมรับได้
บริษัทสตาร์ทอัพอีกแห่งหนึ่งในเมืองซีแอตเทิลชื่อ Dangerous Things (ชื่อนี้ CEO Amal Graafstra บอกว่าใช้มันเพื่อดึงความสนใจของคนที่ชอบเทคโนโลยีใหม่ๆ) ขายเทคโนโลยีนี้ให้กับบริษัทต่างๆ จากคำบอกเล่าของ Graafstra ช่วงปี 2016 นั้นเขาขายไปทั้งสิ้นประมาณ 3-4 หมื่นชิ้น และถึงแม้จะมีไม่กี่บริษัททั่วโลกที่ฝังชิพกับพนักงานของตนเองในเวลานี้ แต่มีบริษัทระดับโลกมากมายที่ติดต่อเข้ามาและสนใจอยากได้ข้อมูล (เขากล่าวอ้างถึง Apple, Google และ Samsung ด้วย แต่ไม่ได้มาซื้อในนามของบริษัท เพราะอาจจะซื้อไปเพื่อเหตุผลอื่นแต่ไม่ใช่เพื่อใช้กับพนักงานของตนเอง)
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าทั้ง Westby และ Graafstra นั้นจะรู้สึกตื่นเต้นและมองว่านี่คืออนาคตของมนุษชาติขนาดไหน แต้ไม่ใช่ทุกคนที่จะคิดแบบเดียวกับพวกเขา โดยเฉพาะพนักงานบริษัททั้งหลาย ปัญหาของสิ่งที่เรียกว่า ‘privacy’ เป็นประเด็นหลักที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นอย่างแรก เพราะไมโครชิพเป็นเหมือนการล่วงล้ำก้าวผ่านความเป็นส่วนตัวของมนุษย์คนหนึ่งมากจนเกินไป เราไม่รู้เลยว่าจริงๆ แล้วเจ้าไมโครชิพตัวนี้สามารถทำอะไรได้อีกบ้าง (นอกจากเก็บข้อมูล) เก็บข้อมูลอะไรบ้าง ข้อมูลเหล่านี้ปลอดภัยไหม สามารถแฮ็กเข้ามาจากคนภายนอกได้รึเปล่า เก็บไว้ได้นานขนาดไหน เกิดอะไรขึ้นถ้าอยู่ๆ เข้าถึงข้อมูลไม่ได้ ต้องผ่าตัดเอาชิพออกมาไหม? และคำถามสำคัญที่สุดคือเราจะเชื่อใจบริษัทเหล่านี้มากขนาดไหนว่าจะไม่เก็บข้อมูลของเราหลังจากที่ตอกบัตรออกงานในวันนั้นๆ แล้ว เพราะสิ่งที่เราหวังก็คือพนักงานเข้าบริษัท แตะไมโครชิพ เข้าไปทำงาน หมดเวลางาน แตะไมโครชิพ กลับบ้าน จบเพียงเท่านั้น
แต่มันจะเป็นแบบนั้นจริงๆ หรือเปล่า?
ทุกบริษัทที่ออกมาสนับสนุนการฝังชิพล้วนนำเสนอแต่ด้านดีๆ ที่ดูไร้ซึ่งพิษภัยอันตราย Graafstra บอกว่ามันไม่น่ากลัวสักนิดเดียว เพราะข้อมูลที่ฝังอยู่ด้านในจะถูกดึงออกมาได้ก็ต่อเมื่อได้รับพลังงานจากเครื่องอ่านที่อยู่ด้านนอก แต่มีรายงานจากหลายแห่งเช่นกันที่บอกว่าชิพที่อยู่ในร่างกายนั้นไม่ได้ยากต่อการแฮกข้อมูลเลย ตามทฤษฎีแล้วใครก็ตามที่มีเครื่องอ่านสามารถเข้าไปใกล้ๆ แล้วดึงข้อมูลในนั้นออกมาได้ แถมยังส่งผลเสียต่อความไว้วางใจของพนักงานว่าจะถูกจับตามองอยู่ตลอดเวลา ทำให้ความสามารถในการทำงานนั้นลดลงกว่าเดิมด้วย
ถึงแม้ว่าตอนที่ฝังชิพลงไปในมือบริษัทจะบอกว่าไม่มีการติดตามหรือเก็บข้อมูลหลังจากจบงานในแต่ละวัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หยุดความหวาดระแวงที่ว่า “แล้วถ้าไม่เป็นอย่างนั้นล่ะ?” มันไม่มีอะไรที่การันตีรับประกันได้เลยว่าบริษัทเหล่านี้จะยึดคำพูดและรักษาสัตย์ตามที่สัญญา แน่นอนว่ามันเป็นการมองในแง่ลบ แต่ในเมื่อไมโครชิพอยู่ในตัวของคุณและสามารถโปรแกรมจากข้างนอกเข้ามาได้ สิ่งเหล่านี้ก็เป็นคำถามที่ควรคิดให้รอบคอบก่อน เพราะถ้ามันเกิดขึ้นจริงๆ ก็จะมีฉากกรีดมือตัวเองในห้องครัวเพื่อเอาชิพออกอย่างแน่นอน
เทคโนโลยีนี้อยู่ตรงหน้าเราแล้ว มีผู้ใช้งานจริงๆ และต่อจากนี้เราก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ความเป็นส่วนตัวอาจจะไม่ได้สำคัญอีกต่อไปเมื่อแลกกับความสะดวกสบาย อนาคตอาจจะเห็นบริษัทมากมายที่ออกกฎให้พนักงานฝังชิพ ‘เพื่อความปลอดภัย’ จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา หรือบางครั้งเทรนด์ของเทคโนโลยีนี้อาจจะไม่ได้รับความนิยมและสุดท้ายก็หายไปเอง หรืออาจจะมีอย่างอื่นมาทดแทน เราไม่มีทางรู้ได้ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทุกคนควรถามไม่ใช่เรื่องความปลอดภัยหรือแม้แต่ความเป็นส่วนตัว แต่ควรจะถามว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะเข้ามามีบทบาทอะไรกับชีวิตและมันจำเป็นจริงๆ หรือเปล่า?
อ้างอิง
https://www.engadget.com/2018/11/16/employee-microchip-security-orwell/