fbpx
สำรวจระเบียบเศรษฐกิจใหม่ในโลกที่ไม่คล้ายเดิม กับ Michael Heise

สำรวจระเบียบเศรษฐกิจใหม่ในโลกที่ไม่คล้ายเดิม กับ Michael Heise

ปกป้อง จันวิทย์ และ สมคิด พุทธศรี เรื่อง

นัตตา เผ่าจินดามุข ถอดความ

วิวรรธน์ ทรัพย์อรัญ ภาพ

ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2016 แม้กระแส ‘ขวาประชานิยม’ ในโลกเริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว แต่คงมีคนเพียงน้อยยิ่งกว่าน้อยที่กล้าฟันธงทำนายว่า เศรษฐกิจการเมืองโลกจะเดินทางมาสู่จุด ‘เกินจินตนาการ’ ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

การตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ ‘Brexit’ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2016 และชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2016 ถือว่าเป็น ‘เซอร์ไพรส์ใหญ่’ ระดับช็อกโลก

เป็น ‘เซอร์ไพรส์ใหญ่’ ที่มาพร้อมกับความคาดการณ์ไม่ได้ ซึ่งสร้างความสับสนอลหม่านทั่วทั้งโลก อะไรที่ไม่เคยเกิดก็ได้เกิด อะไรที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น

เป็น ‘เซอร์ไพรส์ใหญ่’ ที่ส่งสัญญาณว่า โลกกำลังเข้าสู่หัวเลี้ยวหัวต่อ แต่จะเดินหน้าหรือถอยหลังไปทางไหน ไม่มีใครรู้แน่ชัด

เป็น ‘เซอร์ไพรส์ใหญ่’ ที่ทิ้งคำถามไว้มากมาย ชวนให้เรากลับมาทบทวนเรื่องระเบียบเศรษฐกิจการเมืองโลกอีกครั้ง

ดร.ไมเคิล ไฮส์ (Dr. Michael Heise) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของอลิอันซ์ เอสอี (Chief Economist, Allianz SE) หนึ่งในสถาบันทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งมีฐานบัญชาการใหญ่อยู่ในประเทศเยอรมนี คือ หนึ่งในผู้ที่เฝ้าจับตาดูความเคลื่อนไหวด้านเศรษฐกิจการเมืองโลกอย่างใกล้ชิดติดขอบสนาม ความคิดเห็นของเขาส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนข้ามชาติด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาล

นอกจากการดูแลงานวิจัยและบทวิเคราะห์เรื่องเศรษฐกิจโลกของอลิอันซ์ เอสอี  ไฮส์ยังวิเคราะห์เศรษฐกิจการเมืองโลกผ่านคอลัมน์ประจำใน World Economic Forum รวมทั้งเป็นวิทยากรขาประจำในเวทีระดับโลกชื่อเดียวกันนี้แทบทุกปี  เขายังเป็นผู้เขียนหนังสือ Emerging from the Euro Debt Crisis : Making the Single Currency Work (2013) อีกด้วย

หนึ่งปีหลังปรากฏการณ์ ‘Brexit’ และหกเดือนหลัง ‘ประธานาธิบดีทรัมป์’ ขึ้นสู่อำนาจ  ไฮส์มาเยือนภูมิภาคเอเชียเพื่อนำเสนอรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจในหลายประเทศ ไทยเป็นหนึ่งในนั้น

101 จึงสบโอกาสดี นัดคุยตัวต่อตัวกับนักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกผู้นี้เพื่อสำรวจระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่

“ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าเราจะรู้สึกว่าโลกไม่ใช่ใบเดิม” นี่คือสิ่งที่ไฮส์บอกกับเรา

แล้วโลกใบใหม่ที่ว่า หน้าตาเป็นอย่างไร และกำลังเคลื่อนไปทางไหน?


จุดจบของโลกที่คุ้นเคย

“เป็นเรื่องยากมากที่จะโน้มน้าวผู้คนให้เชื่อในโลกาภิวัตน์อีกครั้ง เพราะสำหรับหลายคน โลกาภิวัตน์กลายเป็นความเสี่ยงมากกว่าโอกาส”

 

ปี 2016 ที่ผ่านมา โลกที่เราคุ้นเคยดูจะเปลี่ยนไป เราผ่านปรากฏการณ์ Brexit ต่อด้วยปรากฏการณ์ทรัมป์ และดูทีท่าว่าจะยังไม่หยุดง่ายๆ แค่นี้  โลกกำลังจะเดินไปทางไหน

สิ่งที่เรากำลังเห็นคือ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจการเมืองโลก ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องชั่วคราว ไม่ใช่ปัญหาระยะสั้นที่ประเดี๋ยวประด๋าวก็จบไป แล้วทุกอย่างจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ แต่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในหลายด้าน  ที่แน่ๆ มันไม่ใช่ ‘จุดสิ้นสุดของประวัติศาสตร์’ แบบที่ฟรานซิส ฟูกุยามะ (Francis Fukuyama) เคยว่าไว้

เราเห็นการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจของโลกจากตะวันตกมายังตะวันออก จีนกำลังมีอำนาจต่อรองในเวทีโลกมากขึ้น นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก

การเปลี่ยนแปลงสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การที่โลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล เทคโนโลยีใหม่ อินเทอร์เน็ต และการแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสาร ทั้งหมดนี้ทำให้แบบแผนทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไปจากที่เราคุ้นเคย

ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าเราจะรู้สึกว่าโลกไม่ใช่ใบเดิม


คุณอธิบายการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เชื่อมโยงกับกระแสขวาประชานิยมที่แพร่กระจายไปทั่วยุโรปและอเมริกาอย่างไร

โลกาภิวัตน์เป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง อย่าลืมว่าโลกาภิวัตน์สร้างทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ การเกิดศูนย์กลางการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ในเอเชียสร้างแรงกระเพื่อมถึงยุโรปและสหรัฐอเมริกา ผู้คนจำนวนหนึ่งเริ่มถอยห่างจากโลกาภิวัตน์ เพราะทำให้เขาเสียประโยชน์ และรู้สึกว่าการเมืองไม่ได้ปกป้องพวกเขาจากโลกาภิวัตน์ มีคนที่ได้รับผลกระทบจากโลกาภิวัตน์โดยตรงกับตัวจากงานที่ไม่มั่นคงและค่าจ้างที่ตกต่ำ  สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดกระแสประชานิยมขึ้นในฐานะคำตอบของผู้ที่สูญเสียจากโลกาภิวัตน์ และมันจะอยู่กับเราไปอีกสักพักใหญ่


กระแสขวาหันไม่ใช่เรื่องระยะสั้น?

ใช่! ถ้ามองผลกระทบด้านลบของโลกาภิวัตน์ต่อความมั่นคงด้านการงาน การกระจายรายได้และความมั่งคั่ง สิ่งเหล่านี้ผลิตสร้างประชานิยมแบบที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน มันจะไม่หายไปง่ายๆ แม้ผลการเลือกตั้งในบางประเทศจะดูเหมือนว่าเรากลับไปสู่ภาวะการเมืองปกติแล้ว แต่ผมยังเชื่อว่าปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องระยะยาว


โลกยุคดิจิทัลทำให้การเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

โลกดิจิทัลเพิ่มโอกาสให้การส่งเสียงเรียกร้องของคุณได้รับความใส่ใจมากขึ้น และทำให้การประท้วงมีลักษณะแตกต่างหลากหลายขึ้น  บรรยากาศทางการเมืองทั้งระบบเปลี่ยนแปลงไป อินเทอร์เน็ตมีความสำคัญอย่างมากต่อการตัดสินใจทางการเมือง ไม่ว่าจะประเมินว่ามันดีหรือไม่ดี ชอบหรือไม่ชอบ แต่โลกจะไม่มีทางหมุนย้อนกลับไปสู่ภาวะปกติดังที่เราคุ้นเคยเมื่อสิบปีก่อนอย่างแน่นอน

เราเคยตั้งความหวังกับอินเทอร์เน็ตไว้ใหญ่โตว่า มันจะช่วยสร้างเสรีภาพและประชาธิปไตย เมื่อสิบห้าปีก่อนผมก็เชื่อมั่นเช่นนั้น แต่ปัจจุบันเราเริ่มมองเห็นด้านมืดของอินเทอร์เน็ตด้วยเช่นกัน มันสร้างความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจและพลังปฏิกิริยาโต้กลับต่อมาตรฐานของโลกตะวันตก ซึ่งรวมถึงเสรีภาพและประชาธิปไตยด้วย

อินเทอร์เน็ตจึงเหมือนเหรียญที่มีสองด้าน แต่ผมก็ยังมองโลกในแง่ดีว่า ท้ายที่สุดในระยะยาว อินเทอร์เน็ตจะช่วยเชื่อมร้อยโลกให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เคารพซึ่งกันและกันได้สำเร็จ แม้ว่าในขณะนี้เรากำลังอยู่ในยุคสมัยของการปะทะกันทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง ในช่วงเวลาที่ยากลำบากแบบนี้ คุณต้องการพลังบวกในการมองโลกบ้าง แม้สักนิดก็ยังดี (ยิ้ม)


ฟังดูเหมือนกระแสขวาประชานิยมเป็นอาการของโรคโลกาภิวัตน์ ถ้าอย่างนั้น เราจำเป็นต้อง ‘คิดใหม่’ เรื่องโลกาภิวัตน์อย่างไรบ้าง

เป็นเรื่องยากมากที่จะโน้มน้าวผู้คนให้เชื่อในโลกาภิวัตน์อีกครั้ง เพราะสำหรับหลายคน โลกาภิวัตน์กลายเป็นความเสี่ยงมากกว่าโอกาส เช่น การตกงานและค่าจ้างต่ำเพราะถูกแย่งงานจากแรงงานราคาถูกในประเทศอื่น มาตรฐานการผลิตระดับโลกตกต่ำลงทั้งในแง่สิ่งแวดล้อมและสังคม ดังนั้น เราต้องใส่ใจดูแลคนที่รู้สึกว่าถูกโลกาภิวัตน์เอาเปรียบ เมื่อเขามองเห็นผลประโยชน์ของโลกาภิวัตน์ ก็จะยอมรับการปรับตัวและกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น  ผู้กำหนดนโยบายต้องลงมือทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่พูด


ในเชิงนโยบาย สิ่งที่ควรลงมือทำเพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้เสียประโยชน์จากโลกาภิวัตน์คืออะไร 

การพัฒนาคนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ในปัจจุบัน ผู้คนในหลายประเทศหางานทำอย่างยากลำบาก เหตุผลสำคัญคือ ไม่มีคุณสมบัติสูงเพียงพอกับความต้องการในตลาดแรงงาน ส่วนงานที่พอทำได้ก็ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีหรือถูกส่งออกไปยังประเทศค่าแรงถูกเป็นส่วนใหญ่ การลงมือแก้ปัญหาเพื่อช่วยเหลือคนที่โดนทอดทิ้งจากโลกาภิวัตน์ โลกยุคดิจิทัล และการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน ยิ่งคนตกงานเป็นเวลายาวนาน ยิ่งยากที่จะดึงกลับมาพัฒนาทักษะความสามารถ

นอกจากนั้น เรายังต้องการระบบสวัสดิการสังคมที่ถูกออกแบบอย่างดี กำหนดเป้าหมายอย่างเหมาะสม เพื่อรองรับคนที่เผชิญความยากลำบากจากการขาดโอกาสทำงาน


หัวใจสำคัญของการพัฒนาคนคืออะไร 

ระบบการศึกษาต้องปรับตัวให้ทันโลกยุคใหม่ตลอดเวลา โดยเฉพาะความรู้ที่จำเป็นสำหรับโลกยุคดิจิทัล เราต้องปรับปรุงหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอน ต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และต้องลงทุนพัฒนาศักยภาพครู

ไม่ใช่แค่การปฏิรูปการศึกษาในสถานศึกษา เราต้องให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ในกระบวนการทำงาน การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทำให้ความรู้หมดอายุเร็วเช่นกัน ภาคธุรกิจเอกชนต้องเน้นการฝึกอบรมพนักงานให้มีความรู้และทักษะที่ทันสมัยตลอดเวลา การเรียนรู้ต้องเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ในโลกยุคใหม่ “ทักษะ” มีความสำคัญที่สุด ใบปริญญามีความสำคัญก็จริงอยู่ แต่ในการทำงานจริง การมีทักษะที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องสำคัญกว่า ในปัจจุบัน ผู้ที่มีทักษะใหม่อย่างนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลและนักวิเคราะห์ระดับสูงเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมทั่วโลก

ไม่มีใครสามารถหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสู่โลกดิจิทัลได้ ตัวอย่างเช่น ในธุรกิจประกันภัย งานธุรการทั้งกระบวนการและห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดจะกลายเป็นระบบดิจิทัลในที่สุด นั่นหมายความว่า ตำแหน่งงานจะลดน้อยลง สิ่งสำคัญคือ คนทำงานต้องยอมรับความจริง ยกระดับตัวเอง มองให้เห็นโอกาสใหม่ในการทำงาน เช่น เจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องการเคลมประกันต้องพัฒนาทักษะเพิ่มเติม แล้วปรับเปลี่ยนบทบาทไปเป็นที่ปรึกษาด้านการประกันภัย มีบทบาทช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ดีขึ้น เพราะเนื้องานแบบเก่าถูกแทนที่ด้วยระบบออนไลน์ได้ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นความท้าทายที่ทุกคนต้องเผชิญ

เราต้องให้ความสำคัญกับเส้นทางเดินของผู้บริโภค (customer journey) ในโลกดิจิทัล ถ้าเราทำผิดพลาด ทุกอย่างจะแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วมาก ด้านผู้บริโภคก็มีความสะดวกสบายมากขึ้นในทุกมิติ มีข้อมูลให้เปรียบเทียบทางเลือกต่างๆ และเลือกสรรบริการได้ง่ายดาย เคลมประกันก็ได้เงินเร็วขึ้น เราต้องแข่งขันในโลกนี้ให้ได้

ในบริษัทใหญ่ล้วนมีวัฒนธรรมอนุรักษนิยม ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงองค์กรได้ข้ามคืน มักมีคนต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนแปลงมีต้นทุนเกิดขึ้นทันที แต่ผลประโยชน์ยังไม่เกิดขึ้นในระยะสั้น เราต้องกล้าลงทุน ต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมและวิธีคิดในการทำงาน ต้องเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการ ต้องรับมือความต้องการใหม่ในตลาดจากคนรุ่นใหม่ได้  ถ้าอยากอยู่รอด ก็ต้องเผชิญหน้ากับมัน  ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางอลิอันซ์ใช้ในการปรับเปลี่ยนตัวเองตลอดเวลา เราใช้หลัก digital by default เช่น ทุกสินค้าและบริการในตลาด ต้องหาซื้อทางออนไลน์ได้ด้วย เป็นต้น

 

ในอนาคต ระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่จะเปลี่ยนไปในทิศทางใด

บางคนบอกว่า โลกจะเข้าสู่ยุคหลังเสรีนิยม (post-liberalism) โดยโลกจะยังคงเป็นเสรีนิยมในความหมายของตลาดเสรี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนทั่วโลกทั้งนักการเมืองและภาคธุรกิจจะเริ่มพูดกันมากขึ้นว่า เราต้องหันมาปกป้องภาคสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโลกาภิวัตน์

ผู้นำขององค์กรธุรกิจหลายแห่งเริ่มพูดถึงแนวคิดรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (universal basic income) โดยย้ำว่าทุกคนควรมีสิทธิที่จะได้รับหลักประกันรายได้ขั้นพื้นฐาน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์อาจเห็นว่าสุดขั้วเกินไปและไม่มีทางเกิดขึ้นได้จริง เพราะรัฐบาลคงไม่มีปัญญาจ่ายได้ ในสวิตเซอร์แลนด์เคยทำประชามติเรื่องนี้แล้ว แต่คนส่วนใหญ่ยังปฏิเสธแนวคิดนี้ ในอนาคตเราคงต้องถกเถียงเรื่องนี้กันต่อไป

นอกจากนี้ยังมีเรื่องผลกระทบในมิติต่างๆ ของการเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล ทั้งหมดนี้ชี้ว่า โลกยุคหลังเสรีนิยมจะไม่ใช่แค่เรื่องของโลกาภิวัตน์ที่เน้นเศรษฐกิจเสรีเพียงเท่านั้น


Brexit กับอนาคตของสหภาพยุโรป

“ประสบการณ์ของสหราชอาณาจักรคงทำให้ไม่มีประเทศไหนกล้าเสี่ยงที่จะออกจากสหภาพยุโรปอีก”

 

จนถึงวันนี้ คุณประเมินสถานการณ์ Brexit อย่างไร

กระบวนการทั้งหมดของ Brexit เป็นเรื่องที่น่าอึดอัด มันใช้พลังงานและทรัพยากรทางการเมืองมหาศาล และจะกินเวลาต่อเนื่องไปอีกหลายปี เอาแค่ขั้นตอนการเจรจาที่สำคัญก็เพิ่งได้เริ่มคุยกันแค่ระดับผิวๆ เท่านั้น ยังมีเรื่องที่ต้องถกเถียงอีกมากมาย เช่น เรื่องต้นทุนของ Brexit ซึ่งทุกคนกังวลมากและเถียงกันไม่มีวันจบ

เป็นข่าวดีที่สหราชอาณาจักร และนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ หยุดพูดเรื่อง Hard Brexit เสียที ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะผลการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนี้ชาวสหราชอาณาจักรลงคะแนนเสียงต่างไปจากเดิม โดยเลือกพรรคอนุรักษนิยมน้อยลง และส่งเสียงชัดว่า พวกเขาไม่ต้องการให้ Brexit สร้างความเสียหายมากไปกว่านี้


ทำไม Brexit ถึงเกิดขึ้นได้ เราสามารถอธิบายมันด้วยเหตุผลชุดเดียวกับที่คุยกันตอนต้นได้ไหม หรือกรณีสหราชอาณาจักรมีเหตุผลอื่นที่ต่างออกไป 

ผมคิดว่ามันเป็นการประท้วง ซึ่งผู้คนต้องการส่งเสียงว่า “เราต้องการยึดประเทศของเรากลับมา เราอยากออกไปให้พ้น ไม่อยากให้สหภาพยุโรปแทรกแซงอำนาจอธิปไตยของเรา” สำหรับผม วาทกรรมเหล่านี้ไม่เป็นความจริง แต่ดูเหมือนว่าจะโดนใจคนจำนวนไม่น้อย


ทำไมวาทกรรมทำนองนี้ยังคงขายได้ในโลกยุคใหม่  

กรณีสหราชอาณาจักรมีความพิเศษจากประเทศอื่น สหราชอาณาจักรเป็นเกาะแยกออกไป เป็นมหาอำนาจเก่า ไม่เคยตกเป็นอาณานิคมของใคร

ถ้าเป็นในเยอรมนี แม้บางกลุ่มจะตั้งคำถามกับสหภาพยุโรป คิดว่าสหภาพยุโรปเข้ามาแทรกแซงเยอรมนีหลายเรื่อง แต่คุณจะไม่ได้ยินใครพูดว่ามันจำกัดอำนาจอธิปไตยของชาติ


แล้วในฝรั่งเศสละ การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็สู้กันเรื่องสหภาพยุโรปเหมือนกัน 

ฝรั่งเศสเป็นตัวอย่างที่ดีของการต่อสู้ในเรื่องนี้ การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาดุเดือดมาก ในระหว่างการหาเสียง เอมมานูเอล มาครง กล้าเอาประเด็นเรื่องสหภาพยุโรปมาเป็นนโยบายหาเสียง ทั้งๆ ที่รู้ว่ากระแสต่อต้านสหภาพยุโรปมีอยู่ทุกที่ เขายืนยันด้วยซ้ำว่า ตัวเองต่อสู้เพื่อทวนกระแสต่อต้านสหภาพยุโรปที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศ

ชัยชนะของมาครงพลิกกระแสการต่อต้านสหภาพยุโรปในฝรั่งเศสไปอย่างสิ้นเชิง จะว่าไป กลยุทธ์การหาเสียงนี้เป็นทางเลือกที่เสี่ยงมากสำหรับเขา เพราะการยืนหยัดเพื่อสหภาพยุโรปในสถานการณ์แบบนี้อาจหมายถึงความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งก็ได้

กรณีของมาครงและฝรั่งเศสสะท้อนให้เห็นว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่เปราะบาง ประชาชนยังไม่รู้แน่ชัดว่าจะไปทางไหน ภาวะผู้นำทางการเมืองเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ หลายประเทศขาดสิ่งนี้ เช่น เดวิด คาเมรอน อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ที่ไม่มีแนวทางที่ชัดเจน บอกแต่ว่า “ผมจะปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจเองว่าจะเอาสหภาพยุโรปหรือไม่” ช่วงก่อนหน้านี้ผู้นำของประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปก็ลอยตัวหนีปัญหา ไม่มีภาวะผู้นำเหมือนกัน

แต่ตอนนี้ทุกอย่างกำลังเริ่มเปลี่ยนไป ในเยอรมนี พรรคการเมืองต่างออกมาทำเหมือนที่มาครงทำ นั่นคือ ยืนยันที่จะยึดมั่นในสหภาพยุโรปต่อไป ถ้าเป็นปีที่แล้ว หลายคนคงไม่กล้าพูดแบบนี้ เราต้องการความเป็นผู้นำ ต้องการรัฐบาลที่กล้าเสี่ยงยืนข้างสหภาพยุโรป ถ้าสิ่งเหล่านี้ปักหลักหนักแน่นได้ ยุโรปก็จะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปในทางที่ดีขึ้น


Brexit จะส่งผลอย่างไรกับเศรษฐกิจยุโรป

ผมยังมองไม่เห็นผลกระทบด้านดีสักอย่าง (หัวเราะ) สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตล้วนตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน ซึ่งจะส่งผลด้านลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ


เราไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย?

ใช่ ภาคธุรกิจคงใช้เวลาอีกหลายเดือน กระทั่งหลายปี กว่าจะคาดเดาผลลัพธ์ได้ ตอนนี้ยังไม่มีตัวช่วยที่มาบอกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เราแทบไม่รู้เลยว่าตลาดในสหราชอาณาจักรจะเป็นอย่างไร พวกเขาจะยังอยู่ในระบบศุลกากรร่วมหรือไม่ ไหนจะการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีอีก ความไม่แน่นอนนี้ทำให้บริษัทส่วนใหญ่ไม่กล้าตัดสินใจลงทุน ที่ผ่านมาการลงทุนในสหราชอาณาจักรก็ลดลงแล้วจริงๆ

สำหรับสหราชอาณาจักร ต่อให้พวกเขาตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็น Soft Brexit อย่างที่ทำอยู่ตอนนี้ ก็ยังมีปัญหารออยู่ข้างหน้า ผมคิดว่าเป็นเรื่องสมเหตุสมผลมากที่รัฐบาลของเมย์พยายามจะยืนยันว่า การเปลี่ยนผ่านต้องเป็นไปอย่างละมุนละม่อม และต้องทำให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปยังคงแนบแน่นต่อกันอยู่ แต่ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน การเจรจาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ความไม่แน่นอนจะยังไม่จางหายไปง่ายๆ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรลดลง และพลอยทำให้สหภาพยุโรปเติบโตช้าไปด้วย ตอนนี้อาจยังไม่ใช่ผลกระทบที่รุนแรง แต่มันเป็นผลลบแน่นอน

Brexit จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะในกระดาษ ในโลกจริง สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปน่าจะหาทางออกที่สมเหตุสมผลได้ เขตการค้าเสรี ตลาดร่วม การเคลื่อนย้ายเสรีทั้งบริการและแรงงาน จะยังคงอยู่”

 

ถ้าตัดเรื่องความไม่แน่นอนออกไป กระบวนการ Brexit ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปผ่านกลไกอะไรอีกบ้าง

คำตอบขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของการเจรจาต่อรอง ซึ่งกว่าจะรู้ผลก็ต้องใช้เวลาอีกประมาณสองปี อาจจะถึงสองปีครึ่งถ้าการเจรจายืดเยื้อ ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาคือ สหภาพยุโรปจะมีมาตรการหรือกฎหมายที่จำกัดการค้าและการลงทุนหรือไม่ หลายมาตรการเป็นเรื่องไม่ฉลาด แต่เราก็ยังกาทิ้งไม่ได้ว่าจะไม่เกิดขึ้น เช่น จะตั้งกำแพงภาษีหรือไม่ ถ้าตั้ง จะทำกับสินค้าประเภทใดบ้าง สินค้าเกษตร ยานยนต์ หรือสินค้าอุตสาหกรรมอื่น? สหภาพยุโรปจะมีมาตรการกีดกันบริการจากสหราชอาณาจักรหรือไม่ มาตรการเหล่านี้จะส่งผลเสียต่อทั้งสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปเอง เราหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น

แรงงานเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญ คนสหราชอาณาจักรมักบ่นว่า แรงงานจากประเทศยากจนในสหภาพยุโรปอย่างโรมาเนียและบัลแกเรียสามารถเข้ามาหากินในสหราชอาณาจักรได้อย่างเสรี แต่การปิดประตูไม่ให้คนเหล่านี้เข้าประเทศก็ไม่ใช่เรื่องง่าย หวังว่าประเด็นเหล่านี้จะประนีประนอมกันได้


อะไรคือแนวโน้มของทางออกที่สมเหตุสมผลที่สุด

Brexit จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะในกระดาษ ในโลกจริง สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปน่าจะหาทางออกที่สมเหตุสมผลได้ เขตการค้าเสรี ตลาดร่วม การเคลื่อนย้ายเสรีทั้งบริการและแรงงาน จะยังคงอยู่

เท่าที่ทราบ ภาคธุรกิจในสหราชอาณาจักรกำลังกดดันให้ผู้กำหนดนโยบายเดินไปในทิศทางนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับเมือง คนลอนดอนไม่ต้องการสูญเสียงานของตัวเอง หรือไม่อยากให้สถาบันการเงินต่างชาติต้องย้ายที่ตั้งไปอยู่เมืองอื่น เช่น ปารีส ดับลิน  ดังนั้น การเมืองจากมหานครจะกดดันการเจรจาเพื่อปกป้องไม่ให้เกิดการควบคุมหรือจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ


สหภาพยุโรปควรรับมือกับ Brexit อย่างไรเพื่อไม่ให้มีผลกระทบด้านลบต่อสมาชิก

หัวใจสำคัญ คือ ความยืดหยุ่น เปิดกว้าง และอย่าสร้างความยุ่งยากมากไปกว่านี้ ก่อนหน้านี้ ผู้คนต่างพูดกันว่า เราต้องสั่งสอนให้สหราชอาณาจักรได้รับบทเรียนราคาแสนแพง จะได้ไม่มีประเทศอื่นในยุโรปเลียนแบบอีก มันไม่มีความจำเป็น แค่นี้สหราชอาณาจักรก็เจ็บปวดพอแล้ว แม้ว่าสหภาพยุโรปยังไม่ทันได้ลงโทษอะไรเลย

Brexit ไม่ใช่ตัวอย่างแห่งความสำเร็จ พวกเราได้เห็นความวุ่นวายทางการเมืองในสหราชอาณาจักรหลังจากการลงประชามติ Brexit กันถ้วนหน้า จากประเทศที่ได้ชื่อว่ามีเสถียรภาพทางการเมืองและเป็นมหาอำนาจอันยิ่งใหญ่ ทุกวันนี้สหราชอาณาจักรกลับกลายเป็นประเทศที่ไร้เสถียรภาพทางการเมืองโดยสิ้นเชิง

เราไม่มีความจำเป็นต้องลงโทษสหราชอาณาจักรมากไปกว่านี้  ประสบการณ์ของสหราชอาณาจักรคงทำให้ไม่มีประเทศไหนกล้าเสี่ยงออกจากสหภาพยุโรปอีก มองดูประเทศอย่างฮังการี โปแลนด์ เชค ประเทศเหล่านี้ได้รับเงินช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปไม่น้อย คงไม่คิดจะเอาอย่างสหราชอาณาจักร


สรุปว่า Brexit จะไม่ใช่จุดพลิกที่ทำให้สหภาพยุโรปอ่อนแอลง?

เทเรซา เมย์ เคยประกาศนโยบายว่าจะสร้างสหราชอาณาจักรขึ้นมาใหม่ให้ยิ่งใหญ่ระดับโลก (Global Great Britain) ด้วยการยกระดับการค้ากับออสเตรเลีย เครือจักรภพ และประเทศในเอเชีย แต่สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจไม่เกิดขึ้นด้วยซ้ำ เพราะประเทศเหล่านี้ไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษอะไรจากสหราชอาณาจักรที่ออกจากสหภาพยุโรปแล้ว

ตลกร้ายของเรื่องนี้ คือ นโยบายที่เปลี่ยนไปของเทเรซา เมย์ แทบไม่ได้แตกต่างอะไรกับนโยบายหลักของสหภาพยุโรปเลย ไม่ได้เดินไปตามแนวทางเสรีนิยมใหม่เต็มที่ เมย์บอกว่า เราควรมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารจัดการของบริษัท โดยให้ความสำคัญกับลูกจ้างให้มากขึ้น ให้มีตัวแทนพนักงานเข้ามานั่งในบอร์ดบริหารของบริษัท สร้างความเป็นธรรมทางสังคมให้มากขึ้น กระจายรายได้ให้เป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเดียวกับสหภาพยุโรป  โอเค เขาอยากยึดประเทศคืนมา แต่สุดท้ายก็เอามาเดินไปทางเดียวกับสหภาพยุโรปอยู่ดี ตอนเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปก็ไม่มีใครห้ามไม่ให้เขาดำเนินนโยบายเหล่านี้สักหน่อย

ทั้งหมดนี้ทำให้ Brexit เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลอะไรเลย (หัวเราะ)


คุณมองโลกในแง่ดีเกินไปหรือเปล่า บางคนบอกว่า ผู้นำที่สนับสนุนสหภาพยุโรปอย่างมาครง หรืออังเกลา แมร์เคิล มีเวลาเพียงแค่สมัยเดียวในการพิสูจน์ให้เห็นว่าสหภาพยุโรปยังคงทำงานได้ดี ถ้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการก่อการร้าย ปัญหาผู้อพยพไม่ได้ รอบหน้าพรรคขวาประชานิยมก็จะกลับมาแน่  

ผมเห็นด้วย แต่อย่าลืมว่า สหภาพยุโรปก็ต้องเกิดการปรับตัวด้วยเช่นกัน  Brexit เป็นตัวส่งสัญญาณว่าต้องมีการปฏิรูปสหภาพยุโรป คุณพูดถูกว่า เหล่าผู้นำของประเทศต่างๆ ในสหภาพยุโรปมีเวลาในการแก้ปัญหาไม่มาก ดังนั้นจึงต้องทำให้เร็ว

สิ่งที่ผมอยากจะเน้นย้ำคือ ปัญหาต่างๆ ที่คุณยกขึ้นมาล้วนต้องการการแก้ไขในระดับสหภาพยุโรปทั้งสิ้น เช่น ปัญหาผู้อพยพ ที่ผ่านมาแต่ละประเทศต่างดำเนินนโยบายโดยยึดผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก ทั้งที่รู้ดีว่ามันเป็นปัญหาร่วมกันของสหภาพยุโรปทั้งหมด เป็นเรื่องน่าอายที่ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัญหาผู้อพยพเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข แต่ในทางปฏิบัติกลับหวังให้ประเทศอื่นเป็นผู้รับภาระแทนตัวเอง วิธีคิดแบบนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ การแก้ปัญหาที่แต่ละประเทศต่างพยายามไปแก้กฎระเบียบในประเทศตัวเองเป็นแค่เรื่องเล็กน้อยที่ไม่ช่วยแก้ปัญหาใหญ่ ทางออกของเรื่องนี้คือ สหภาพยุโรปจำเป็นต้องร่วมมือกันในการบริหารจัดการพรมแดน รวมทั้งมีมาตรการรับมือผู้อพยพที่ชัดเจนร่วมกัน

ประเด็นเรื่องความมั่นคงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญมาก ผลสำรวจในทุกประเทศเห็นตรงกันว่า สมาชิกสหภาพยุโรปต้องร่วมมือกันในการจัดการปัญหาความมั่นคง เพราะกลุ่มผู้ก่อการร้ายอย่างไอซิส (ISIS) สามารถเดินทางไปได้ทั่วยุโรป ซึ่งไม่มีการควบคุมพรมแดนอีกต่อไปแล้ว ดังนั้น สมาชิกยิ่งต้องร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง เพื่อแบ่งปันข้อมูลข่าวกรองและข้อมูลด้านความมั่นคงอื่นๆ ให้แต่ละประเทศรับรู้ร่วมกัน จะเห็นว่าในบางเรื่อง เราต้องการสหภาพยุโรปมากขึ้นด้วยซ้ำ แต่ที่ผ่านมา อาจจะทำงานไม่ถูกจุด


ที่ผ่านมา ปัญหาหลักของสหภาพยุโรปคืออะไร

สมาชิกสหภาพยุโรปต้องร่วมมือกันมากขึ้น ทว่าเราเกาไม่ถูกที่คันและยังใช้นโยบายไม่ถูกทาง ในเรื่องนโยบายต่างประเทศมีหลายประเด็นที่สหภาพยุโรปไม่สามารถหาฉันทมติร่วมกันได้ เช่น แนวทางในการแก้ปัญหาซีเรีย หรือแนวทางในการจัดการกับปัญหาผู้อพยพ ฯลฯ ที่เป็นแบบนี้เพราะสหภาพยุโรปไม่เคยหยิบยกประเด็นเหล่านี้มาพูดคุยอย่างจริงจัง ดังนั้น โดยพื้นฐานที่สุด สิ่งที่ควรทำคือ นำประเด็นเหล่านี้มาแสวงหาความร่วมมือกันอย่างจริงจังเสียที


ตอนนี้เราพูดได้หรือยังว่าเศรษฐกิจยุโรปกลับคืนสู่ภาวะปกติหลังวิกฤตยูโรโซนแล้ว

ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็ดีสิ (หัวเราะ) ผมคงจะยังไม่กล้าพูดประโยคนั้นออกมา กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อนข้างมีเสถียรภาพ ทั้งภูมิภาคกำลังอยู่ในโหมดฟื้นตัว แม้แต่กรีซก็เริ่มขยายตัว  แต่ยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงที่ฉุดเศรษฐกิจให้ถอยหลังกลับไปได้ เช่น ปัญหาหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงมากในช่วงวิกฤต ถ้ามีช็อกที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยพุ่งสูงขึ้นก็มีโอกาสเกิดวิกฤตหนี้รอบใหม่ ส่วนหนี้ภาคเอกชน หลายบริษัทเข้าสู่กระบวนการใช้หนี้คืนทำให้การลงทุนใหม่ลดลง ทั้งหมดนี้คงยังเรียกว่า “ปกติ” ไม่ได้


ประเทศไทยควรเป็นห่วงอะไรเรื่อง Brexit ไหม

ผมว่ามีหลายเรื่องที่ไทยควรกังวลมากกว่า Brexit นะ (หัวเราะ)


สหรัฐอเมริกาในมือทรัมป์ 

“นโยบายที่จูงใจผู้คนด้วยการให้เหตุผลแบบง่ายๆ เป็นเรื่องที่อันตรายมากต่อการพัฒนา เพราะในโลกจริงมันไม่มีอะไรง่ายแบบนั้น”

 

คุณเห็นอะไรบ้างหลังจากทรัมป์บริหารประเทศมา 6 เดือน

แรกสุดเลย ผมมองสหรัฐอเมริกาแตกต่างจากทรัมป์มาก ถ้าพูดกันจริงๆ ในสายตาประชาคมโลก ทรัมป์ไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบสักเท่าไหร่ อันที่จริงคนอเมริกันจำนวนมากก็คัดค้านนโยบายทรัมป์อย่างรุนแรง สิ่งนี้ย้ำเตือนว่า สหรัฐอเมริกาไม่ใช่ทรัมป์

แต่แน่ล่ะ ตอนนี้ทรัมป์บริหารประเทศอยู่ เราคงต้องมาดูว่าเขาเสนออะไร สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด คือ แนวคิดกีดกันทางการค้า (protectionism) ซึ่งประเทศไทยก็ควรกังวลด้วย แม้ว่าในปัจจุบันทรัมป์ยังไม่ได้เริ่มใช้นโยบายที่เคยหาเสียงไว้ เช่น การขึ้นกำแพงภาษีกับสินค้าจากจีนและเม็กซิโก


มาตรการกีดกันทำนองนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงหรือ

คงไม่ใช่การกีดกันตรงๆ แบบนั้น มิเช่นนั้นจะสร้างความเสียหายไปทั่ว นโยบายกีดกันทางการค้าแบบรุนแรงจะไม่เกิดขึ้น แต่จะมีการซุกซ่อนมาตรการกีดกันต่างๆ ในกฎระเบียบมากขึ้น ทั้งกฎระเบียบเรื่องภาษี กฎระเบียบที่เอื้อประโยชน์ให้กับสถาบันการเงินของสหรัฐอเมริกามากกว่าสถาบันการเงินต่างประเทศ เป็นต้น บริษัทต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในสหรัฐอเมริกาจะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น


นโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ (American First) จะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจโลก

แนวคิดกีดกันทางการค้าจะทำให้โลกาภิวัตน์ชะลอตัวลง เราจะไม่เห็นโลกาภิวัตน์เฟื่องฟูเหมือนในช่วงทศวรรษ 1990 จนถึงปี 2006-2007 อีกแล้ว การที่ทรัมป์หันกลับมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลักจะเป็นตัวอย่างให้หลายประเทศทำตาม ตอนนี้ยุโรปก็เริ่มหันกลับมามองภายในประเทศมากขึ้นแล้ว เช่น ในเยอรมนีก็มีกระแสต่อต้านความตกลงการค้าระหว่างสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา (Transatlantic Trade and Investment Partnership – TTIP) เรียกว่า ทรัมป์เป็นคนจุดกระแสให้เกิดการหันกลับมาสนใจผลประโยชน์ภายในประเทศตัวเองเป็นหลัก

กระแสโลกาภิวัตน์จะลดความเร็วลง แต่ยังไม่ใช่การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (deglobalization) พูดอย่างเป็นรูปธรรมคือ การค้าสินค้าและบริการจะยังคงขยายตัว แต่ไม่ได้ขยายตัวเกินกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุนและการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามพรมแดนจะชะลอตัวลง ซึ่งจะกระทบประเทศอย่างไทย

ในช่วง 2-3 ปีหลัง ห่วงโซ่อุปทานของการผลิตโลกมีความซับซ้อนมากขึ้น สภาพการณ์ที่กระบวนการผลิตสินค้าชิ้นหนึ่งกระจายกันทำในหลายประเทศจะลดน้อยลง เริ่มมีการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ ในประเทศพัฒนาแล้ว เริ่มมีการใช้ระบบเครื่องจักรอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์มาทำการผลิตแทนแรงงานมากขึ้น ดังนั้น การผลิตสินค้าและบริการจะสามารถกลับมาผลิตในประเทศค่าแรงสูงได้อีกครั้งหนึ่ง ไม่มีความจำเป็นต้องออกไปผลิตไกลๆ ในประเทศค่าแรงถูกอีกต่อไป เทคโนโลยีทำให้คุณสามารถผลิตแบบรวมศูนย์ที่เดียวได้โดยไม่ต้องกังวลกับต้นทุนราคาแพงดังแต่ก่อน ยิ่งรวมศูนย์ได้ ยิ่งมีประสิทธิภาพ

แน่นอนว่า ประเทศที่พึ่งพิงต่างประเทศอย่างไทยคงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านั้น แต่ไม่ใช่แบบฉับพลันทันใด กระนั้น ในอีกแง่หนึ่ง ถ้าจัดการได้ดีและเตรียมตัวได้ดี อาจจะพลิกกลับมาเป็นโอกาสสำหรับเศรษฐกิจไทยก็ได้ สุดท้ายก็ต้องกลับมาประเด็นที่ผมพูดในตอนต้นคือ ต้องพัฒนาเรื่องคุณภาพของคนทำงานและผู้ประกอบการ


มีสิ่งที่เรียกว่า “เศรษฐกิจแบบทรัมป์” (Trumponomics) ไหม 

นอกจากนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” แล้ว ถ้าจะมีแบบแผนของนโยบายเศรษฐกิจให้เห็น คงเป็นนโยบายประชานิยม (populism) ในที่นี้ หมายถึง นโยบายที่จูงใจผู้คนด้วยการให้เหตุผลแบบง่ายๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมากต่อการพัฒนา เพราะในโลกจริงมันไม่มีอะไรง่ายแบบนั้น

สมมติว่า คุณต้องการเอาใจแรงงานภายในประเทศด้วยการปกป้องอุตสาหกรรมถ่านหิน คุณอาจจะทำให้พวกเขามีงานทำได้อีกสักครึ่งปี แต่สุดท้ายพวกเขาจะตกงานอยู่ดี เพราะอุตสาหกรรมถ่านหินในสหรัฐอเมริกาไม่มีความสามารถในการการแข่งขันอีกต่อไป ในที่สุดแรงงานทักษะสูงในอุตสาหกรรมที่แข่งขันไม่ได้ก็ต้องตกงานไปด้วยหลังจากที่คุณตั้งใจปกป้องงานที่มีคุณภาพด้อยกว่า นี่คือความอันตรายของนโยบายประชานิยม

ผมหวังว่านโยบายประชานิยมพวกนี้จะไม่แพร่กระจายในวงกว้าง จริงๆ แล้ว ผมก็ไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้น ผมคิดว่าทีมงานของประธานาธิบดีทรัมป์คงรู้ดีว่า นโยบายเหล่านั้นมีไว้เพื่อชนะเลือกตั้งเท่านั้น แต่ไม่ได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจระยะยาว ดังนั้น พวกเขาอาจทำอะไรนิดๆ หน่อยๆ เพื่อเอาใจฐานเสียง แต่คงจะไม่ทำอะไรแบบสุดโต่ง


ประเทศไทยควรกังวลอะไรเกี่ยวกับสหรัฐอเมริกาในยุคของทรัมป์

น่ากังวลอยู่ แน่นอนว่านโยบายกีดกันทางการค้าเป็นสิ่งที่ต้องกังวลเป็นลำดับแรก แต่อีกเรื่องคือภูมิศาสตร์การเมือง เท่าที่เห็น สหรัฐอเมริกาในยุคทรัมป์ไม่มีนโยบายต่างประเทศที่คงเส้นคงวาและไม่มีแผนยุทธศาสตร์ที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ หรือการโดดเดี่ยวกาตาร์ที่คำพูดของทรัมป์เองมีส่วนทำให้เกิดวิกฤตขึ้นเองด้วยซ้ำ

เป็นการยากมากที่จะคาดเดานโยบายต่างประเทศของทรัมป์ บางทีมันอาจจะเป็นเทคนิคใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาก็ได้นะ (หัวเราะ) ความคาดการณ์ไม่ได้ของทรัมป์เป็นสิ่งที่ทุกประเทศควรกังวล ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น


เศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน

ในปัจจุบัน กระแสเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศค่อนข้างอ่อนแอ นักลงทุนต่างชาติให้เหตุผลว่า ต้องรอดูให้แน่ใจก่อนว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่กระบวนการประชาธิปไตยของไทยจะเป็นไปอย่างราบรื่นหรือไม่”  

 

คุณประเมินเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอย่างไร

ผมประเมินในแง่บวก รายงานของอลิอันซ์ชี้ว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวมากกว่า 3% ถือว่าประเทศไทยเติบโตได้ตามที่ประมาณการไว้

อันที่จริงตัวเลขไม่ได้สำคัญอะไรนัก แต่ที่น่าประทับใจคือประเทศไทยยังเติบโตได้ดี แม้จะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบาก ทั้งที่ผ่านปัญหาสารพัดมาในช่วงหลายปีหลัง ตั้งแต่ปัญหาสภาพอากาศ น้ำท่วม และความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเป็นต้นเหตุของความไม่แน่นอนหลายประการ

ไม่ใช่แค่นั้น เศรษฐกิจไทยเผชิญปัญหาการหดตัวของการค้าระหว่างประเทศในช่วงระหว่างปี 2014-2016  ซึ่งเป็นตัวฉุดรั้งที่สำคัญ ดังนั้น การที่ไทยสามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้ถึง 3% ต้องนับว่าน่าพึงพอใจมาก


คุณอธิบายเหตุผลเบื้องหลังการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างไร

ผมมีแต่คำอธิบายที่เป็นสูตรสำเร็จนะ (ยิ้ม)

ปัจจัยหนึ่งอาจจะเป็นเพราะการฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับเศรษฐกิจไทย ในปีนี้มีการคาดการณ์ว่าดัชนีการค้าโลกจะขยายตัวราว 3.5% เศรษฐกิจไทยจึงน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นอีก อีกส่วนหนึ่งคงเป็นเรื่องรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งผมไม่มีข้อมูลเชิงลึก แต่เท่าที่รู้ ไทยพยายามยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะทำให้ไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น

แม้ว่าตามการรายงานของสื่อ โครงการเมกะโปรเจ็กต์และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลไทยจะล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่บางส่วนของโครงการเหล่านี้จะเป็นแรงผลักที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

ที่น่ายินดีคือ แรงผลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าไม่ได้เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น แต่มาจากปัจจัยหลายอย่าง เท่าที่ได้ติดตาม ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ถือว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ตัวจริงเสียงจริงคนหนึ่ง เราเห็นความพยายามของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะปกป้องเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ และการไม่ก่อหนี้จนเกินตัว บทเรียนที่ผ่านมาสอนเราว่า สัญญาณเตือนก่อนที่ประเทศอุตสาหกรรมจะเดินเข้าสู่วิกฤตคือ หนี้ หนี้ และหนี้


เศรษฐกิจมหภาคของไทยมีอะไรที่ต้องกังวล

หนี้ครัวเรือนไทยอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีนโยบายคุมเข้มไม่ให้การก่อหนี้ภาคครัวเรือนพุ่งสูงขึ้นไปอีก เป็นเรื่องดีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมองเห็นปัญหานี้

ผมเห็นด้วยกับแนวนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ใจแข็งไม่ยอมลดอัตราดอกเบี้ยและไม่ใช้มาตรการทางการเงินแบบขยายตัว เพราะถ้าดอกเบี้ยลดลงก็จะเป็นเชื้อเพลิงให้เกิดการก่อหนี้มากขึ้น จริงอยู่ว่า การก่อหนี้ช่วยกระตุ้นอุปสงค์และทำให้เศรษฐกิจโตได้ แต่ในระยะยาวจะทำให้เศรษฐกิจไม่มีเสถียรภาพ

ในระยะสั้น ผมจึงไม่เห็นว่าจะมีวิกฤตเศรษฐกิจขนาดใหญ่เกิดขึ้นในประเทศไทย


ความเสี่ยงทางการเมืองไทยเป็นอย่างไร มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของชุมชนการเงินระหว่างประเทศหรือไม่

คงมีผล โดยเฉพาะต่อเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment – FDI) ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาว  ในปัจจุบัน กระแสเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศค่อนข้างอ่อนแอ นักลงทุนต่างชาติให้เหตุผลว่า ต้องรอดูให้แน่ใจก่อนว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่กระบวนการประชาธิปไตยของไทยจะเป็นไปอย่างราบรื่นหรือไม่

ส่วนผลกระทบต่อการลงทุนในหลักทรัพย์ เช่น หุ้น ซึ่งเป็นการลงทุนระยะสั้น คงมีผลไม่มากนัก นักลงทุนดูไม่ค่อยใส่ใจเรื่องความเสี่ยงทางด้านการเมือง บางครั้งกลับใช้มันแสวงหาโอกาสด้วยซ้ำ


นักลงทุนต่างชาติยังแคร์เรื่องความเป็นประชาธิปไตยหรือความเป็นเผด็จการของรัฐบาลอยู่อีกไหม 

คำถามนี้ท้าทายนิดหน่อยนะ (หัวเราะ) โดยทั่วไป นักลงทุนสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ในระบอบปกครองหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเผด็จการ หรือรัฐบาลทหาร อย่างเช่น ประเทศจีนก็ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่นักลงทุนก็ยังเลือกลงทุนที่นั่นอย่างมหาศาล ประเด็นนี้คงตอบได้ว่า นักลงทุนต่างชาติอาจไม่ได้ให้น้ำหนักกับระบอบการปกครองมากนัก แต่สิ่งที่พวกเขาให้ความสำคัญมากคือ “การเปลี่ยนผ่าน” ต่างหาก เช่น การเปลี่ยนผ่านออกจากรัฐบาลทหารไปสู่รัฐธรรมนูญใหม่ สู่การเลือกตั้ง จนได้รัฐสภาชุดใหม่ เป็นไปอย่างราบรื่นเรียบร้อยแค่ไหน

 

ในฐานะที่ทำงานอยู่ในสถาบันการเงินระดับโลกที่ต้องตัดสินใจลงทุนทั่วโลก อยากทราบเบื้องหลังการตัดสินใจว่าคำนึงถึงปัจจัยอะไรบ้าง 

สำหรับผม ปัจจัยด้านเสถียรภาพและความยืดหยุ่นในการปรับตัวเป็นปัจจัยสำคัญลำดับแรก ผมจะมองหาประเทศที่สามารถรับมือการเปลี่ยนแปลง เช่น การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางยุโรปได้ รวมถึงสามารถรับมือกับวิกฤตได้ หรือเลือกประเทศที่เราจะไม่ถูกลงโทษเวลาโลกปรับเข้าสู่ risk-off mode


ดูอย่างไรว่าประเทศไหนมีเสถียรภาพและความยืดหยุ่นในการปรับตัว 

ในขั้นแรก คงพิจารณาจากความเข้มแข็งของบัญชีต่างๆ สินทรัพย์ต่างประเทศสุทธิ (Net Foreign Asset) ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ (International Investment Position) เงินสำรองระหว่างประเทศ (International Reserves) และความเข้มแข็งของระบบธนาคารในประเทศ ซึ่งสำหรับประเทศไทย ปัจจัยเหล่านี้ถือว่าเข้มแข็งดี

ขั้นต่อมา คงต้องมองลึกลงไป ต้องดูเรื่องภาระหนี้ของประเทศ ในกรณีของประเทศไทยมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ซึ่งเป็นความเสี่ยง ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนก็อาจจะสร้างปัญหาต่อเนื่องได้

หรือในกรณีของจีนซึ่งมีระดับหนี้สูงมาก และมีปัญหาการจัดสรรทรัพยากรที่บิดเบี้ยวด้วย โดยหนี้กระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจที่มีโอกาสทำกำไรต่ำ มีความสามารถในการแข่งขันต่ำ มีกำลังการผลิตล้นเกิน (overcapacity)  ถ้าเศรษฐกิจเกิดมีปัญหาขึ้นมา ก็จะกลายเป็น “ช็อก” ครั้งใหญ่ ในตอนนี้รัฐบาลจีนอาจมีเงินสำรองมากพอที่จะรับมือได้จนไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา แต่สภาพการณ์นี้คงไม่สามารถดำรงอยู่ได้ตลอดไป ความเสี่ยงจากการจัดสรรทุนที่บิดเบี้ยวจะรุนแรงขึ้นจนถึงจุดที่รัฐบาลไม่สามารถแบกรับและไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดการเงินได้ นี่เป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ของเศรษฐกิจจีน


คุณมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับรัฐบาลไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้อย่างไร  

ผมไม่ได้ติดตามเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดมาก คงให้คำแนะนำได้แค่ภาพรวม

สิ่งสำคัญสำหรับประเทศไทยคือการเพิ่มทักษะแรงงาน การออกนโยบายที่เอื้อให้การทำธุรกิจสะดวกขึ้น การปรับปรุงกฎกติกาภาครัฐ และการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องระดับนโยบายซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ข้ามคืน เป็นเรื่องระยะยาว แต่ถ้าทำได้ มันคือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ไทยสามารถข้ามผ่านความอ่อนไหวในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลง

การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับสังคมเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นเรื่องที่สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งถ้าไปถึงขั้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ก็จะยิ่งดี กระทั่งในเยอรมนีเอง โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลก็ไม่ได้ดีนักและยังคงเร่งพัฒนาอยู่


คำถามสุดท้าย การเลือกตั้งของเยอรมนีในเดือนกันยายนปีนี้จะมีอะไรเซอร์ไพรส์โลกไหม 

ผมรับประกันได้เลยว่า มันจะมีเสถียรภาพมากๆ ไม่มีอะไรเกินคาดแน่นอน มันเป็นสไตล์ของคนเยอรมันน่ะ (หัวเราะ)

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save