fbpx
วรรณกรรมเกาหลี: ช่องว่างระหว่างมีและซอล เราได้ยินอะไร? (2)

วรรณกรรมเกาหลี: ช่องว่างระหว่างมีและซอล เราได้ยินอะไร? (2)

จักรกริช สังขมณี เรื่องและภาพ

 

ในตอนที่แล้ว ผมได้แนะนำเรื่องสั้นจากหนังสือ “มี ในเมษายน ซอล ในกรกฎาคม” (사월의 미, 칠월의 솔) ไปแล้วสามเรื่อง ซึ่งพูดถึงระบบการศึกษา เพศสถานะ และการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่เมืองไปแล้ว ในตอนนี้ ผมจะชวนอ่านเรื่องสั้นที่เหลืออีกสี่เรื่อง ซึ่งแน่นอนว่าน่าสนใจและสะท้อนภาพของพลวัตทางสังคมการเมืองของเกาหลีใต้ในมิติอื่นๆ ออกไปได้เป็นอย่างดี

 

เศรษฐกิจ “ทำพิษ”

 

สำหรับคนเกาหลีที่เติบโตมาในยุคปลาย 1990 คงไม่มีทางลืมช่วงเวลาของวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย (Asian Financial Crisis) ที่เข้าโจมตีระบบเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วได้ การปล่อยเงินกู้ให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างกว้างขวาง และการสนับสนุนการขยายตัวของบรรษัทขนาดใหญ่ที่รู้จักกันในนาม “แชบอล” (재벌) เพื่อการแข่งขันในระดับโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างกับฟองสบู่ และการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดผลกำไรอย่างแท้จริง ทำให้บริษัทจำนวนไม่น้อยขาดทุนและปิดตัวลง แรงงานถูกลอยแพ เกิดหนี้เสียในระบบเป็นจำนวนมาก สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้เริ่มมีสถานภาพที่สั่นคลอน ระบบการบริหารการเงินเริ่มหมดความน่าเชื่อถือ และเมื่อถึงเวลานั้นตลาดหุ้นก็ร่วงดิ่งลงอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับการปลิดชีวิตของผู้คน และความฝันถึงความรุ่งโรจน์ของสังคมเกาหลีที่สลายไปในชั่วข้ามคืน

ตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 1997 จนมาถึงความพยายามในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจตามมาตรการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พบว่าอัตราการฆ่าตัวตายในเกาหลีพุ่งทะยานขึ้นอย่างน่าหวาดกลัว ประมาณการกันว่ามีผู้ที่ฆ่าตัวตาย 21.7 คนต่อประชากร 1 แสนคน[1] ความปวดร้าวของสังคมที่ถูกเศรษฐกิจทำพิษนี้เป็นปมและแรงบันดาลใจสำคัญต่อเรื่องสั้น “ทุกคนชอบเกิลส์เจเนอเรชั่น” ของนักเขียน อีย็องฮุน ผู้ซึ่งเติบโตมาในช่วงเวลาที่ยากลำบากดังกล่าว

ยุค 90 ไม่ได้มีเพียงแต่มายาภาพ ความรุ่งโรจน์ด้านการเงินและการลงทุนเท่านั้น หากแต่เป็นยุคของการเติบโตของวงการมายาและสื่อบันเทิงในเกาหลีด้วย ในช่วงเวลาดังกล่าวสื่อบันเทิงไม่ว่าจะเป็นซีรีส์โทรทัศน์ ภาพยนตร์ และดนตรีมากมายขยายตัวอย่างกว้างขวาง พร้อมๆ กับการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นแรงหนุนให้การขยายตัวดังกล่าว ทั้งสองปัจจัยนี้เป็นส่วนผสมที่ลงตัวในการผลักดันอุตสาหกรรมบันเทิงในเกาหลีให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวางทั้งในและนอกประเทศ จนเป็นกระแสที่ถูกเรียกขานมาจนถึงทุกวันนี้ว่า “ฮันลยู” (한류) หรือ “คลื่นวัฒนธรรมเกาหลี” นั่นเอง

อุตสาหกรรมบันเทิงที่ว่านี้กลายมาเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญ ที่ช่วยให้เกาหลีสามารถฟื้นคืนสภาพทางเศรษฐกิจในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ และขยายผลไปสู่การยกเพดานและรูปแบบการผลิตของประเทศ จากแต่เดิมซึ่งวางอยู่บนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (heavy industry) เช่น การต่อเรือ ก่อสร้าง เคมีภัณฑ์ รถยนต์ ไปสู่อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ (creative industry) เช่น สื่อบันเทิง การจัดการทางวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวได้

อีย็องฮุน เสนอภาพที่ย้อนแย้งกันระหว่างความทุกข์ทรมานจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ กับความสุขสำราญที่ได้รับจากสื่อและวงการบันเทิงที่ว่านี้

“ทุกคนชอบเกิลส์เจเนอเรชั่น” นำเสนอชีวิตของพนักงานบริษัท ผู้เป็นตัวแทนของแรงงานชนชั้นกลางทั่วไปในเกาหลีที่ต้องเผชิญกับสภาวะทางแพร่งของสังคมหลังยุค 1990 เป็นต้นมา เรื่องสั้นบอกเล่าเรื่องราวของชายหนุ่มซึ่งนัดเดทกับผู้หญิงผ่านบริษัทนายหน้า หากแต่สถานการณ์กลับพลิกผันเมื่อชายหนุ่มเกิดท้องเสียอย่างหนัก ทำให้ต้องวิ่งหาห้องน้ำเพื่อปลดทุกข์

เรื่องราวคงจะไม่น่าตื่นเต้นอะไรมากนัก หากว่ามันไม่เกิดในช่วงเวลาของการจัดเตรียมการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ 20 (G20) ในปี 2010 ซึ่งทำให้สถานที่นัดพบดังกล่าวนั้นถูกควบคุมอย่างเข้มงวดรวมไปถึงห้องน้ำของอาคารด้วย

“พิษเศรษฐกิจ” เข้าโจมตีชายหนุ่มเข้าอย่างจัง เขาจะมีชีวิตที่ผ่านวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ผู้อ่านจะต้องติดตามเอง

เรื่องสั้นของอีย็องฮุนนั้นเต็มไปด้วยสัญญะแฝงมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการหาคู่ผ่านบริษัทตัวแทน สถานที่ของเรื่อง คือห้างสรรพสินค้าและศูนย์การประชุม Coex ซึ่งมีป้ายโฆษณารูปดารานักร้องชื่อดัง รวมถึงกลุ่มนักร้องวงเกิลส์เจเนอเรชั่น ที่มีอยู่ทั่วไปในทุกที่ ตลอดจนเทรดเซ็นเตอร์ ซึ่งดีไซน์ของตึกที่ลดหลั่นเป็นชั้นๆ นั้นได้รับอิทธิพลจากดัชนีการเติบโตทางเศรษฐกิจของเกาหลี สิ่งที่ปรากฏอยู่ในเรื่องสั้นเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของความรุ่งโรจน์ของการพัฒนาทางเศรษฐกิจของเกาหลีทั้งสิ้น

แต่กระนั้น ท่ามกลางพื้นที่และความน่าตื่นตาตื่นใจของการเติบโตที่ว่านี้ ก็อาจกลายเป็นดั่งเขาวงกต ที่พร้อมจะกักขังหน่วงเหนี่ยว และปล่อยให้ประชาชนที่เป็นกำลังขับเคลื่อนการพัฒนาต้องเผชิญกับพิษทางเศรษฐกิจอย่างไร้ที่พึ่งก็เป็นได้

ท่ามกลางพิษเศรษฐกิจที่เข้าโจมตี ผู้คนจะแสวงหาทางรอดให้กับตนเองได้อย่างไร เกิลส์เจเนอเรชั่นจะมีบทบาทช่วยให้เราลืมความทุกข์ที่ว่านี้ และรอดพ้นวิกฤตการณ์ไปได้หรือไม่ เรื่องสั้นที่อ่านไปลุ้นไปของอีย็องฮุนจะพาเราท่องไปในความสัมพันธ์ที่ลักลั่นระหว่างมายาภาพกับสภาพความเป็นจริงของสังคมร่วมสมัยของเกาหลีได้เป็นอย่างดี

 

ย้อนคิดชีวิตทางการเมือง

 

นักเขียนเกาหลีจำนวนไม่น้อยมักนำเอาช่วงเวลาการต่อสู้ทางการเมืองที่สำคัญมาบอกเล่าใหม่ ผ่านสายตาของผู้คนที่มีชีวิตท่ามกลางกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย หนึ่งในนักเขียนที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง คือ ฮัน คัง นักเขียนชาวควังจู ผู้หยิบยกเรื่องราวการต่อสู้ของประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาคม 1980 ที่บ้านเกิดของเธอมาตีความใหม่ในวรรณกรรม “Human Acts” ผ่านสายตาของเด็กน้อยที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงและความสูญเสีย จากการล้อมปราบอย่างโหดเหี้ยมโดยรัฐบาลเผด็จการทหารของนายพลช็อน ดูฮวัน

เหตุการณ์ความรุนแรงที่ควังจูนี้เป็นหนึ่งในปมสำคัญที่ผลักดันให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาทั่วประเทศในเวลาต่อมา และนำมาสู่เหตุการณ์การประท้วงครั้งสำคัญในเดือนมิถุนายน 1987 ที่ประชาชนออกมาต่อต้านการสืบทอดอำนาจของประธานาธิบดีชอน ดูฮวัน ซึ่งส่งต่อให้กับสหายของเขาคือ โน แทอู ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมือง ได้มีการจับกุมนักศึกษาที่ต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง มีการใช้ความรุนแรง ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตในระหว่างการสืบสวนสอบสวนผู้เห็นต่างอย่างโหดร้ายทารุณ

“โรงแรมพลาซ่า” ของนักเขียน คิมมีว็อล หยิบยกเรื่องราวที่ว่านี้มาสะท้อนใหม่อีกครั้งผ่านความทรงจำของคนหนุ่มสาวที่บ่มเพาะอัตลักษณ์และอุดมคติทางการเมือง ภายหลังช่วงเวลาของการต่อสู้เปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

เมื่อเวลาผ่านไป คนเหล่านี้ก้าวเข้าสู่ช่วงวัยที่มากขึ้น ในยุคสมัยที่ทุนนิยมกลายมาเป็นข้อกังวลมากกว่าความเป็นประชาธิปไตย เขาและเธอจะยังคงมองเห็นอะไรในตัวเองและเพื่อนมนุษย์ อุดมคติทางการเมืองที่เคยลุกโชนในใจของพวกเขานั้นจะมอดไหม้ตามกาลเวลาที่ผันผ่านไปหรือไม่

คิมมีว็อลจัดวางเรื่องราวที่ลึกซึ้งผ่านชีวิตของสามีภรรยาวัยสามสิบตอนปลาย ผู้มีฐานะดี และเลือกที่จะหยุดพักผ่อนประจำปีโดยการไปนอนโรงแรมต่างๆ ในกรุงโซล แทนที่จะเสียเวลาและสร้างความยุ่งยากจากการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวในรีสอร์ตที่ไกลออกไป เรื่องกล่าวถึงการไปพักผ่อนในปี 2009 ที่ “โรงแรมพลาซ่า” ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับศาลาว่าการกรุงโซล ภาพของความหรูหราสะดวกสบายในการใช้บริการโรงแรมที่มีค่าเข้าพักสูงลิบ ตัดกันกับภาพของลานพลาซ่าหน้าโรงแรมที่มีบรรดาผู้ประท้วงยืนกลางสายฝน เรียกร้องความเป็นธรรมจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมกรณีไล่รื้อที่ที่ยงซาน[2]

ภากเหล่านี้ตั้งคำถามสำคัญว่า กระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยที่ผ่านมานั้นได้นำมาซึ่งสังคมที่เท่าเทียม ตลอดจนชีวิตและสวัสดิการที่ดีขึ้นจริงหรือ เรื่องราวที่ว่านี้ยิ่งก่อให้เกิดการปมของความคิดความทรงจำที่วุ่นวายมากขึ้นไปอีก เมื่อวันพักผ่อนที่โรงแรมพลาซ่านั้นเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการรำลึกถึงเหตุการณ์ที่อดีตประธานาธิบดี โน มูฮยอน อดีตประธานาธิบดีผู้เป็นหนึ่งในภาพแทนของความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน กระโดดหน้าผาฆ่าตัวตายอันเป็นผลจากการถูกสืบสวนในคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต

คู่สามีภรรยานี้เติบโตมาพร้อมๆ กับช่วงปลายของขบวนการมินจุง (민중)[3] หรือขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนและปัญญาชนสาธารณะ ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในวิถีทางเสรีประชาธิปไตย ในตอนที่เขาและเธอมีชีวิตในวัยหนุ่มสาว พวกเขาเข้าร่วมประท้วงให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงของการใช้กำลังเข้าปราบปรามการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ควังจู ในช่วงเวลาที่ชุลมุนจากการหลบหนีจากระเบิดแก๊สน้ำตาและการปะทะ พวกเขาเคยคุยกันว่า

“ถ้าพวกเราอายุมากขึ้น เราจะเป็นเหมือนคนพวกนั้นมั้ยนะ”

“คนที่สุดท้ายลงเอยกลายเป็นเพียงผู้ชมที่ได้แต่มองมาอย่างนิ่งๆ แล้วพูดว่า ฉันเองก็เคยเข้าร่วมประท้วงเมื่อสมัยก่อน ตอนที่ยังไม่รู้ประสีประสา”

“เมื่อกี้ฉันได้ยินมา มีลุงคนหนึ่งพูดว่านักศึกษาเด็กๆ พวกนี้จะไปรู้อะไร เดี๋ยวพอเรียนจบแล้ว เข้าสู่โลกความเป็นจริงก็จะลืมเสียหมด ทำไมถึงต้องเอาแต่ประท้วง รังแต่จะทำให้รถติด โลกมันไม่เปลี่ยนหรอก”

เช่นเดียวกับสามีภรรยาคู่นี้ เมื่อเวลาผ่านไป เราอาจพบว่าทุนนิยมเสรีกับเสรีประชาธิปไตยอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดำเนินควบคู่กันไปเสมอก็ได้ ความซับซ้อนของพลวัตและความสัมพันธ์ของทั้งสองระบอบนี้ได้ถูกนำมาชี้ให้เห็นผ่านการย้อนคิดถึงชีวิตทางการเมืองที่เกิดขึ้น ผ่านช่วงเวลาและสถานที่ที่ประวัติศาสตร์ และความทรงจำยังที่ไม่เลือนหายไป ณ โรงแรมพลาซ่าแห่งนี้นี่เอง

 

พหุวัฒนธรรม การย้ายถิ่น และเกาหลีในชุมชนโลก

 

เกาหลีเป็นสังคมที่มีความภูมิใจในความเป็นสังคมชาติพันธุ์เดี่ยว (homo-ethnicity) มาช้านาน ภัยคุกคามทางสังคมการเมืองจากภายนอกที่ดำเนินมาโดยตลอดในช่วงประวัติศาสตร์นับจนถึงหลังสงครามเกาหลี ทำให้เกาหลีหมกมุ่นกับความพยายามในการสร้างตัวตนผ่านการขับเน้น “ฮันมินจก” (한민족) อัตลักษณ์ทางเชื้อชาติและการสร้างความรู้สึกชาตินิยมเกาหลีที่เข้มข้น[4] เพื่อต่อกรกับการแทรกแซงจากภายนอกอยู่เสมอ

ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่ชาวเกาหลีมีความรู้สึกเชิงปฏิปักษ์มากที่สุดก็ว่าได้ ในเชิงการเมือง เกาหลีเคยถูกรุกรานและตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่นถึง 35 ปี ในเชิงเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นเป็นชาติผู้นำในเอเชียที่เข้าสู่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ เครื่องจักรกล และอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ก่อนใคร เกาหลีมองญี่ปุ่นในฐานะคู่เปรียบเทียบเชิงเศรษฐกิจมาโดยตลอด แม้แต่ในเชิงสังคม ความใกล้เคียงทางวัฒนธรรมทำให้สองประเทศนี้ต่างมองกันและกันด้วยสายตาของการเปรียบเทียบและไม่ไว้วางใจอยู่เสมอ

“อย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่งของฮารูโอะ” เรื่องสั้นโดย อีจังอุก หยิบเอาประเด็นของการสร้างภาพตัวแทนและการเหมารวมทางวัฒนธรรมมาสื่อสาร ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างชาวเกาหลีกับ “ทาคาฮาชิ ฮารูโอะ” ตัวละครชาวญี่ปุ่นผู้เดินทางท่องโลก ใช้ชีวิต และปรากฏตัวตามสถานที่และช่วงเวลาต่างๆ ในรูปแบบที่ยากต่อการคาดเดา ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนสองชาติสองภาษานี้เกิดขึ้นที่อินเดียท่ามกลางผู้คนและสังคมที่มักไม่ปรากฏให้เห็นมากนักในสื่อบันเทิงและวรรณกรรมที่ชาวเกาหลีคุ้นเคย

“นายไม่เหมือนคนญี่ปุ่นแบบที่ฉันรู้จัก”

“นายเองก็ไม่เหมือนคนเกาหลีแบบที่ฉันรู้จักเหมือนกัน”

ในความเป็นจริงแล้ว “ฮารูโอะ” เป็นตัวแทนของลูกผสมทางเชื้อชาติและวัฒนธรรม เขามีตาเป็นชาวอเมริกัน ขณะที่แม่ของเขาและตัวเขาเองก็เกิดที่โอกินาวะ ฮารูโอะย้ายเข้ามาเติบโตในโตเกียวและต้องเผชิญกับความแปลกแยกสารพัดในสังคมประเทศบ้านเกิดของเขา ในทางกลับกัน เมื่อออกเดินทางไปในที่ที่แปลกใหม่ ฮารูโอะกลับเป็นคนที่เข้ากับผู้คนที่ไม่คุ้นเคยได้อย่างง่ายดาย และทำตัวให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เหล่านั้นได้อย่างกับเป็นคนท้องถิ่นเสียเอง มิหนำซ้ำ ในระหว่างที่นั่งรถไฟไปพาราณสีนั้น ฮารูโอะเองถึงกับทำให้เพื่อนชาวเกาหลีที่เดินทางไปด้วยกันรู้สึกว่าช่องว่างและกำแพงกั้นระหว่างกันน้อยลง

“อย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่งของฮารูโอะ” ได้สะท้อนภาพที่กระจัดกระจายไม่ชัดเจนของฮารูโอะ เพื่อตั้งคำถามต่ออคติทางวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจนถึงทุกวันนี้ในสังคมเกาหลี การอพยพของแรงงานต่างชาติเข้ามาในเกาหลีในสัดส่วนที่มากขึ้นเรื่อยๆ ตลอดจนการผสมผสานทางเชื้อชาติระหว่างคนเกาหลีกับต่างชาติผ่านการแต่งงาน ได้ก่อให้เกิดกระแสของการรื้อฟื้นจินตกรรมว่าด้วย “ฮันมินจก” กลับมาอยู่เนืองๆ

ในปัจจุบัน ผู้คนในสังคมเกาหลีจำนวนไม่น้อยยังหวาดกลัวและเลือกปฏิบัติต่อชาวต่างชาติ (xenophobia) นั่นเพราะความกังวลว่าการอพยพเข้ามาของผู้ต่างชาติต่างวัฒนธรรมจะทำให้ความเป็น “ฮันมินจก” นั้นแปดเปื้อนและจืดจางลง

มีการประมาณการณ์กันว่า ในปัจจุบันมีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ในเกาหลีใต้ประมาณ 1.5 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 3 จากประชากรทั้งหมดกว่า 51 ล้านคน ชาวต่างชาติดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นแรงงานอพยพและเป็นคู่แต่งงานของชาวเกาหลี โดยเฉพาะจากประเทศจีนและจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การอพยพและการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมนี้เป็นผลมาจากหลายปัจจัยที่ซ้อนกันอยู่ ทั้งเรื่องของการแต่งงานและการมีบุตรที่ลดลง การเข้าสู่สังคมชรา การขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งสกปรก เป็นอันตราย และถูกดูหมิ่น และอาจรวมไปถึงประเด็นชายเป็นใหญ่ และความรุนแรงในครอบครัวด้วย

เชื่อมโยงกับความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นในเรื่องสั้น “อย่างน้อยก็ครึ่งหนึ่งของฮารูโอะ” ประเด็นการผสมผสานทางเชื้อชาติระหว่างคนเกาหลีกับต่างชาติผ่านทางการแต่งงานนั้น ได้รับการหยิบยกมาฉายภาพให้เห็นใน “มี ในเมษายน ซอล ในกรกฎาคม” ของนักเขียน คิมย็อนซู ผ่านตัวละคร ชาจ็องชิน หรือ พาเมล่า ผู้หญิงเกาหลีที่แต่งงานกับชาวอเมริกันและอพยพไปใช้ชีวิตอยู่ในมลรัฐฟลอริดาของสหรัฐฯ

พาเมล่าเป็นตัวแทนของชาวเกาหลีจำนวนไม่น้อยที่ใช้ชีวิตอยู่นอกสังคมวัฒนธรรมเกาหลี และปฏิเสธที่จะจำนนกับค่านิยมและบรรทัดฐานที่สังคมกำหนดเอาไว้ การแต่งงานข้ามวัฒนธรรมของพาเมล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่ดำเนินมาอย่างน้อยก็ร่วมร้อยปีในประวัติศาสตร์ของเกาหลีเอง แต่ถึงกระนั้น เรื่องดังกล่าวนี้ก็ยังเป็นรอยด่างทางวัฒนธรรม ที่ยากต่อการยอมรับอย่างเปิดใจในสังคมชาติพันธุ์เดี่ยวของเกาหลี

ในสังคมเกาหลี เชื้อชาติเป็นปัจจัยสำคัญในการยึดโยงอัตลักษณ์ของผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน  จากการสำรวจของ BBC Global Service ในปี  2016 พบว่า ผู้คนในเกาหลีใต้ที่มองว่าเชื้อชาติและวัฒนธรรมเป็นปัจจัยในการบ่งชี้ถึงอัตลักษณ์ของตนเองนั้นมีสัดส่วนที่สูงมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ[5] แนวคิดแบ่งแยกระหว่างคนที่เป็น “โฮนฮยอล” (혼혈) หรือพวกเลือดผสม กับ “ซุนฮยอล” (순혈) หรือเลือดแท้นั้นได้รับการสืบทอดมาอย่างยาวนาน และยังปรากฏใช้ในเอกสารราชการของรัฐเองด้วยซ้ำ

ในปี 2007 คณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติแห่งองค์การสหประชาชาติ (The Committee on the Elimination of Racial Discrimination) เรียกร้องให้มีการยุติการเลือกปฏิบัติและยุติการใช้คำดังกล่าวในการแบ่งแยกทางเชื้อชาติในสังคมเกาหลี[6] นั่นก็เพราะว่าการแบ่งแยกดังกล่าวขัดต่อการสร้างสังคมที่โอบรับความเป็นพหุเชื้อชาติ และยังเป็นการปฏิเสธข้อเท็จจริงของการอพยพย้ายถิ่นของผู้คน การแต่งงาน และปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างคนเกาหลีกับญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในช่วงสงคราม

แม้ว่าลูกผสมดังกล่าวจะเป็นเสมือนยอกหนามที่ทิ่มแทงและก่อบาดแผลให้กับแนวคิดความเป็นชาติ แต่มันก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ หน้าที่ของรัฐและสังคมคือการยอมรับและเรียนรู้บทเรียนดังกล่าว มากกว่าที่จะเบียดขับและปิดบังอำพรางมรดกจากประวัติศาสตร์ที่ไม่เป็นที่ต้องการนี้

วรรณกรรมเกาหลีจากนักเขียนร่วมสมัยทั้งเจ็ดเรื่องที่เล่ามานี้ ยังมีรายละเอียดและประเด็นย่อยๆ อีกมากมายที่ไม่สามารถจะหยิบมาเขียนไว้ในคอลัมน์สั้นๆ นี้ได้ เช่นเดียวกับการเสพสื่อบันเทิงอื่นๆ ซึ่งถูกส่งออกมาในฐานะคลื่นวัฒนธรรมเกาหลี ที่เนื้อหาหนักๆ และประเด็นทางสังคมการเมืองที่เข้มข้นนั้นมักถูกเคลือบเอาไว้ด้วยความหอมหวานของความบันเทิง นอกเหนือจากอรรถรสของการอ่านชีวิตผู้คนผ่านวรรณศิลป์ของเรื่องเล่าทั้งเจ็ดแล้ว ผมเชื่อว่าหากเราลองอ่านวรรณกรรมเหล่านี้อย่างมีบริบท เราจะเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงไปของ “ชาติพันธุ์ฮันกุก” และสังคมเกาหลีได้ในมิติที่หลากหลายและลึกซึ้ง

ช่องว่างระหว่างมีและซอล จะมีเสียงอะไรบ้างนั้น คุณคงต้องเงี่ยหูฟังเอง

 

อ้างอิง

[1] http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20150901001142

[2] http://english.hani.co.kr/arti/english_edition/e_national/403987.html และ http://minbyuneng.prizma.co.kr/?p=160

[3] Lee, Namhee. 2009. The Making of Minjung: Democracy and the Politics of Representation in South Korea. Itaca and London: Cornell University Press.

[4] http://asiapacific.anu.edu.au/blogs/languagesofsecurity/2011/05/27/south-korean-nation/

[5] https://globescan.com/images/images/pressreleases/BBC2016-Identity/BBC_GlobeScan_Identity_Season_Press_Release_April%2026.pdf

[6] https://www2.ohchr.org/english/bodies/cerd/docs/CERD.C.KOR.CO.1.pdf

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save