fbpx

ฝันร้ายที่เรียกว่า Metaverse

ช่วงที่ผ่านมา คำว่า Metaverse ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมาก แน่นอนว่าเป็นเพราะมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของบริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกประกาศออกมาในวันที่ 28 ตุลาคม 2021 ในงาน Facebook Connect 2021 ว่าต่อไปนี้โฟกัสของบริษัทจะมุ่งเน้นพัฒนาให้เป็นบริษัท Metaverse แทนโซเชียลมีเดียเหมือนอย่างที่ผ่านๆ มา

เพื่อแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น พวกเขาเปลี่ยนชื่อบริษัทแม่จาก ‘Facebook’ ให้เป็น ‘Meta’ ด้วย (เฟซบุ๊กยังไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่เมื่อก่อนนั้นเฟซบุ๊กเป็นทั้งชื่อบริษัทแม่ที่มีบริษัทในเครืออย่าง Facebook, Instagram, WhatsApp และ Oculus อยู่ในนั้น แต่ตอนนี้บริษัทแม่จะเปลี่ยนชื่อเป็น Meta โดยมีบริษัทในเครือเหมือนเดิมนั่นเอง)

ตอนนี้คำอธิบายเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่อันนี้น่าจะมีเขียนไว้พอสมควรแล้ว ในบทความนี้เลยอาจจะกล่าวแบบผ่านๆ พอเป็นพื้นฐานให้คนที่ยังไม่เคยอ่านที่ไหนมาก่อน

คำว่า Metaverse ถูกสร้างขึ้นมาจากคำสองคำ คือ meta ที่แปลว่า ‘มากกว่า เหนือกว่า’ และ verse ที่แปลว่า ‘จักรวาล’ ที่มาจาก universe นั่นเอง พอเอามารวมกันแล้วก็คือจักรวาลที่มากกว่าที่มีอยู่ หรือที่เราเรียกว่า ‘โลกเสมือน’ ที่ถูกสร้างขึ้นโดยคอมพิวเตอร์นั่นเอง คำนี้ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในหนังสือนิยายไซไฟเรื่อง Snow Crash ที่เขียนโดย Neal Stephenson นักเขียนชาวอเมริกันในปี 1992 และถ้าใครเคยดูภาพยนตร์อย่าง Ready Player One หรือ The Matrix มาก่อน จะพอเห็นภาพว่า Metaverse คือโลกเสมือนที่เราสามารถเป็นใครก็ได้และเข้าไปใช้ชีวิตในนั้นได้เลย

สิ่งหนึ่งที่เราต้องทราบเป็นข้อมูลเบื้องหลังก่อนก็คือ ช่วงที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเผชิญหน้ากับข่าวฉาวมากมาย เรียกได้ว่าเป็นมรสุมครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งเลยทีเดียว ภาพลักษณ์ของบริษัทค่อนข้างแย่ โดยเฉพาะเรื่องที่พวกเขาทราบว่าอินสตาแกรมส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของผู้ใช้งานวัยรุ่นหญิง แต่กลับไม่มีการแก้ไขอะไร หรืออย่างการที่อัลกอริทึมของระบบให้ความสำคัญกับ engagement ของโพสต์มากกว่า ไม่ว่าโพสต์นั้นอาจจะนำเสนอความรุนแรงและสร้างความแตกแยกก็ตามที (ซึ่งอันนี้ก็เป็นอีกประเด็น ถ้าใครสนใจแนะนำให้ตามข่าวของ Wall Street Journals ครับ เจาะลึกมาก) เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนชื่อในครั้งนี้ มองอีกด้านหนึ่งอาจจะเป็นเหมือนการพยายามกลบเกลื่อนข่าวแย่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้ แล้วหันเหให้คนไปโฟกัสเรื่องการเปลี่ยนชื่อและปรับโฉมแบรนด์ใหม่ก็ได้เช่นกัน

ไม่ว่าการเปลี่ยนชื่อจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแสดงหรือไม่ก็ตาม สิ่งสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้อยู่ในเนื้อหาของการแถลงข่าวของ Metaverse มากกว่า ก่อนหน้านี้หลายเดือนเราได้เห็นเดโมของสิ่งที่เรียกว่า Horizon Workrooms มาบ้างแล้ว แต่ถ้าใครยังไม่เคยเห็นจะอธิบายคร่าวๆ ว่ามันเป็นโลกเสมือนที่เราเข้าไปอยู่ในห้องประชุมทำงานกับเพื่อนๆ ในออฟฟิศโดยการสวมใส่แว่นตา VR ในโลกเสมือนนั้นเราเป็นคาแร็กเตอร์ที่เราสร้างขึ้นมา (อารมณ์เหมือนตัวการ์ตูนของ Nintendo Wii) แต่การนำเสนอของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กใน Facebook Connect วันนั้นทำให้เราเห็น Metaverse ในจินตนาการของเขา เมื่อเทคโนโลยีทุกอย่างพร้อมแล้วสามารถทำอะไรได้บ้างในชีวิตของผู้ใช้งาน

มันดูเหมือนความฝัน… และดูเป็นฝันร้ายที่อยากจะรีบตื่นขึ้นมาเสียด้วย

ตอนที่เดโมเริ่ม มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กเดินเข้าไปในโลกเสมือน ภาพรอบด้านของเขาเปลี่ยนเป็นสภาพแวดล้อมที่ถูกสร้างขึ้นโดยคอมพิวเตอร์ที่มาจากอนาคต เหมือนเดินเข้าไปอยู่ในเกมไม่มีผิด พื้นที่ ‘homespace’ ที่เขาอยู่นั้นมีต้นปาล์ม ภาพวาดศิลปะ และเฟอร์นิเจอร์ ฉากวิวด้านนอกเป็นทะเล ทุกอย่างล้วนถูกสร้างขึ้นมาโดยคอมพิวเตอร์ทั้งสิ้น ระหว่างที่กำลังพูดๆ อยู่ก็ได้รับการแจ้งเตือนชวนไปเล่นเกมด้วยกันกับเพื่อน เขาเลือกชุดที่จะใส่ให้คาแร็กเตอร์ของตัวเอง (ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นสิ่งที่พวกเขาสร้างรายได้ในอนาคต ขายสินค้าดิจิทัลเหล่านี้)​ เขาก็ลอยไปที่พื้นที่ใหม่ ที่เพื่อนๆ ของเขาในคาแร็กเตอร์ต่างกัน (บางคนเป็นหุ่นยนต์)​ นั่งล้อมวงเล่นไพ่กัน สักพักหนึ่งก็รับโทรศัพท์จากเพื่อนอีกคน (ที่เป็นคนจริงๆ ไม่ได้อยู่ใน Metaverse) เขากดรับแล้วภาพก็แสดงขึ้นมาในโลกเสมือน ต่อจากนั้นเขาก็ไปทำงานในห้องประชุมเสมือน เราเห็นว่าต่อไปคนที่อยู่ที่บ้านอาจจะนำเสนอผลงานผ่านโปรเจ็กเตอร์ AR ในห้องประชุมได้ด้วย ฯลฯ

ช่วงหนึ่งที่ดูก็รู้สึกว่าน่าสนุกดีนะ ถ้ามีแว่น Oculus การลองใส่ดูก็คงสนุกดีไม่น้อย อาจจะสร้างบ้านในฝันของตัวเองริมชายหาดของเกาะในมัลดีฟท์สักแห่ง ว่ายน้ำ เล่นกระดานโต้คลื่น (แม้ว่าตัวจริงจะไม่เคยจับเลยด้วยซ้ำ) เบื่อก็เปลี่ยนห้องไปเดินช้อปปิงบนถนนฌ็องเซลิเซ่ที่ฝรั่งเศส หรือเบื่อๆ ก็อาจจะไปปีนหน้าผาที่ยอดเขาเอเวอเรสต์กับแบทแมน (ที่เป็นตัวละครอีกตัวหนึ่ง) คงเป็นอะไรที่สนุกดีไม่น้อย เพียงแต่ว่าพอถอดแว่นตาออกมา สิ่งที่เราจะพบอย่างแรกเลยคือความผิดหวัง เพราะทุกอย่างนั้นไม่ใช่ความจริงแม้สักนิดเลย

ถึงตรงนี้อยากให้ลองมานั่งคิดกันให้ลึกลงไปอีกสักนิดหนึ่ง ว่าทำไมเฟซบุ๊กถึงพยายามผลักดันให้เทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นมาได้ แน่นอนว่าการเปลี่ยนชื่อก็เรื่องหนึ่ง แต่ทำไมล่ะ ทำไมต้อง Metaverse? อาจจะบอกว่าเป็นการกังวลโดยใช่เหตุหรือมองโลกในแง่ร้ายเกินไปก็คงได้ แต่แค่อดสงสัยไม่ได้ว่า ‘จุดประสงค์’ ที่แท้จริงของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กและเฟซบุ๊กคืออะไรกันแน่ ซึ่งถ้าว่ากันจากตัวผลิตภัณฑ์หรือประวัติของเฟซบุ๊กที่ผ่านมานั้น สิ่งที่พวกเขาทำไม่ใช่แค่การเชื่อมต่อผู้คนบนโลกเข้าด้วยกัน แต่เป็นการสร้างรายได้จากการติดตามข้อมูลของผู้ใช้งาน โหมยิงโฆษณา และสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานอยู่บนระบบของพวกเขาให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดึงความสนใจของเราและให้เราติดอยู่ในนั้น ถ้าเราทำงาน สื่อสาร เล่นเกม เชื่อมต่อ และต่อไปใช้ชีวิตในนั้นได้ด้วยภายใต้ Meta พวกเขาก็จะได้ข้อมูลจำนวนมหาศาลของผู้ใช้งานที่ตอนนี้แตะสามพันล้านคนไปเรียบร้อยแล้ว

เรากำลังดูอะไรอยู่ เราทำอะไรตอนที่พักผ่อน เรากำลังคุยกับใคร เรื่องอะไร ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการโฆษณาได้ทั้งสิ้น ซึ่งก็เป็นทางแก้ปัญหาที่พวกเขาเผชิญอยู่กับ Apple หลังจากที่ iOS มีฟีเจอร์ที่ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันต้องสอบถามความสมัครใจของผู้ใช้งานในการยินยอมให้ติดตามการใช้งานได้รึเปล่า (ซึ่งส่วนใหญ่จะบอกปฏิเสธ)

แม้ในงานแถลงจะพูดถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวว่าพวกเขาจะจัดการเรื่องนี้ แต่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กก็เหมือนเด็กชายตะโกนขอความช่วยเหลือในนิทานเรื่องเด็กเลี้ยงแกะที่พูดออกมาปุ๊บก็แทบไม่มีใครเชื่อแล้ว ที่ผ่านมาครั้งแล้วครั้งเล่าก็เหมือนเดิม และยังไม่มีท่าทีว่าเรื่องนี้จะถูกแก้ไขให้ดีขึ้นในอนาคต เอากันตามจริง ขนาดแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กที่มีอายุเกือบ 20 ปีแล้ว พวกเขายังทำได้แค่นี้ นับประสาอะไรกับแพลตฟอร์มใหม่ที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นอีกมหาศาลอย่าง Metaverse

อีกเหตุผลหนึ่งของการผลักดันเทคโนโลยีนี้คือเรื่องอายุผู้ใช้งาน ที่ตอนนี้เด็กๆ วัยรุ่น Gen Z พยายามหนีห่างออกจากเฟซบุ๊ก แล้วไปใช้แพลตฟอร์มอื่นกันหมด ตอนนี้กลุ่มวัยที่กำลังเติบโตมากที่สุดบนเฟซบุ๊กคือช่วงวัยตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป การเพิ่มเทคโนโลยีใหม่อย่าง Metaverse เข้ามาก็จะกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดผู้ใช้งานกลุ่มเด็กๆ ให้เข้ามาลองด้วย (และพวกเขาก็หวังว่าเข้ามาแล้วก็จะอยู่ในนี้ ไม่ไปไหนนั่นแหละ)

สิ่งที่น่าสะเทือนใจและบางทีก็ดูย้อนแย้งในตัวมันเองก็คือเป้าหมายของเจ้า Metaverse เองด้วย มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กบอกว่า Metaverse ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อ “ประสบการณ์ที่สำคัญที่สุด นั่นก็คือการเชื่อมโยงกับคนอื่น” แน่นอนว่าความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีนั้นจะนำมาซึ่งการใช้งานที่น่าสนใจและแทบไม่มีอะไรเลยที่เป็นไปไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงคือมันเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ไม่ได้ทำให้ผู้ใช้งานขยับเข้ามาใกล้กัน แต่กลับทำให้ก้าวถอยหลังและอยู่ในพื้นที่ของตัวเองมากขึ้น แยกตัวออกจากสังคมมากขึ้น เมื่อไม่จำเป็นต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นในโลกของความเป็นจริง ก็ไม่เห็นมีความจำเป็นต้องทำ 

เมื่อโลกเสมือนของ Metaverse นั้นทุกอย่างสมบูรณ์แบบ ใครกันที่อยากจะถอดแว่นตาออกมาเพื่อเผชิญหน้าความโหดร้ายของโลกแห่งความจริง

เราไม่มีทางรู้เลยว่าเทคโนโลยีนี้จะกลายเป็นผลลบต่อสังคมแบบไหนบ้าง จำนวนประชากรที่อาจจะลดลง มนุษย์แตกแยกและไม่สามารถแยกความจริงจากโลกเสมือนออกจากกันได้ ปัญหาสุขภาพจิต ฯลฯ Metaverse จะเป็นความซับซ้อนที่เราพร้อมรับมือแล้วจริงๆ หรือ?

คำถามที่เราอาจจะต้องตอบก่อนคือแล้วมันจะไปจบตรงไหน? จะมีกฎหมายบังคับหรือเปล่า? จะควบคุมดูแลกันอย่างไร? เราตื่นมาแล้วก็สวมแว่น VR ไว้ทั้งวัน ถอดแค่ตอนลุกไปฉี่หรือเคี้ยวข้าวแค่นั้นหรือ? หรือทุกอย่างต่อไปจากนี้ ทั้งงาน ความสัมพันธ์ กิจกรรม หรือความบันเทิง ทุกอย่างจะเป็นเพียงภาพเสมือนเท่านั้น?

เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะไปบอกมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กว่าให้ชะลอการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ก่อนจนกว่าจะหาคำตอบให้ชัดเจนมากขึ้น ตอนนี้เราเห็นทุกอย่างตั้งแต่สกุลเงิน งานศิลปะ หรือการทำงานถูกเปลี่ยนไปอยู่บนโลกออนไลน์กันแล้วด้วยความรวดเร็ว (ผลพวงมาจากการระบาดของโควิด-19 ด้วย)​ โดยที่เราไม่มีทางรู้หรอกว่ามันจะไปจบที่ตรงไหน ตอนนี้ก็ดูเหมือนว่าสิ่งที่จะย้ายไปยังโลกออนไลน์อีกอย่างคือ ‘ชีวิต’ ของเรา ซึ่งก็ดูเหมือนฝันร้ายไม่มีผิดเลยทีเดียว

ในฉากตอนจบของภาพยนตร์เรื่อง Ready Player One ผู้สร้างโลกเสมือนที่เสียชีวิตไปแล้วพูดกับตัวเอกเอาไว้ว่า

“ฉันสร้าง OASIS (โลกเสมือนคล้าย Metaverse) ขึ้นมา เพราะรู้สึกว่าตัวเองแปลกแยกในโลกแห่งความเป็นจริงนี้ ฉันไม่รู้ว่าจะคุยกับคนอื่นๆ ที่นั่นอย่างไร ฉันกลัวมาตลอดชีวิตเลย จนกระทั่งรู้ตัวว่าตัวเองกำลังจะตาย ตอนนั้นเองที่รู้ว่าแม้ว่าโลกแห่งความจริงจะน่ากลัวและเจ็บปวดแค่ไหน มันก็เป็นเพียงสถานที่เดียวที่คุณจะพบกับความสุขอย่างแท้จริง เพราะโลกแห่งความจริงมีอยู่จริงนั่นเอง”


Inside Facebook’s struggle to keep young people – The Verge

Apple’s Privacy Changes Are Working — For Apple’s Bottom Line | by Stephen Moore | Oct, 2021 | Marker

Hands-on with Facebook’s new VR for work app Horizon Workrooms – The Verge

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save