fbpx

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กอาจจะไม่ได้พลาด: Metaverse ในมุมมองของประสาทวิทยา

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กอาจจะไม่ได้พลาด

บริษัท Facebook (ตอนนี้คือ Meta) ผ่านช่วงเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีมาแล้วหลายครั้ง ซึ่งก็สามารถเปลี่ยนผ่านด้วยดี โดยหนึ่งในการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่คือ เมื่อสมาร์ตโฟนกลายมาเป็นอุปกรณ์หลักที่คนใช้เชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ต ทำให้บริษัท Facebook ต้องหันมาผลิตแอปพลิเคชันสำหรับมือถือ ซึ่งมีกระบวนการผลิตแตกต่างจากสร้างเว็บไซต์ในยุคก่อนหน้า และแล้วทุกคนก็หันมาใช้โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์หลักเพื่อที่จะเชื่อมต่อกับ Facebook มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กทำสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคมือถือ

ครั้งนี้มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กเล่นใหญ่กว่าเดิมโดยการเปลี่ยนชื่อบริษัทจาก Facebook เป็น Meta และประกาศว่าบริษัทจะมุ่งสร้างโลกเสมือนที่เรียกว่า Metaverse หลายคนคิดว่า Metaverse เป็นเรื่องเพ้อฝันไม่ได้น่าสนใจอะไร โฆษณา Metaverse ของบริษัท Meta ที่ออกมาตอนแรกก็ดูเฉิ่มๆ อุปกรณ์ที่ต้องมีเพื่อที่จะเชื่อมต่อกับ Metaverse ก็ดูเทอะทะ รวมๆ แล้วไม่น่าดึงดูดอะไร

ยิ่งมีข่าวในช่วงหลังว่าโปรเจ็กต์ Metaverse ขาดทุนหนัก และตำแหน่งงานด้านนี้กำลังหดหายไป ก็ยิ่งทำให้กระแส Metaverse ถูกตั้งคำถามมากขึ้น

แต่เป็นไปได้หรือไม่ว่ามาร์กกำลังเห็นสิ่งที่พวกเรายังไม่เห็น เพราะการลุยธุรกิจ Metaverse ของมาร์กมีลักษณะของการเดิมพันอยู่ไม่น้อย

ผู้เขียนเพิ่งได้อ่านงานที่น่าสนใจอย่างยิ่งของ G. Riva และ Brenda K. Wiederhold ชื่อว่า What the Metaverse is (really) and why we need to know about it แล้วพบว่าถ้า Metaverse ถูกสร้างมาได้ดีจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมหาศาลต่อโลกของเรา Metaverse ไม่ใช่เป็นจินตนาการที่ไม่ได้มีที่มาที่ไป แต่มีงานวิจัยออกมาค่อนข้างเยอะแล้วว่าผลกระทบของเทคโนโลยีเฉกเช่น Metaverse ต่อการรับรู้ของเรานั้นเป็นอย่างไรโดยอิงกับความรู้ทางด้านประสาทวิทยา (neural science) โอกาสเกิดขึ้นมากมาย ไม่ใช่ในแง่ของ Web 3.0 และ cryptocurrency อย่างเดียว แต่ในแง่อื่นๆ ด้วย เช่น ด้านสุขภาพและการศึกษา ซึ่งผู้เขียนจะเล่าในบทความชิ้นนี้

ทำไม video conference ถึงน่าเบื่อ

ในยุควิกฤตโควิดที่ผ่านมา เราก็เหมือนจะได้อยู่ในโลกดิจิทัลตลอดแล้ว โดยใด้ใช้ video conference เช่น Zoom บ่อยมากในการหารือเรื่องงานกับเพื่อนร่วมงาน จนก่อให้เกิดความไม่สบายกายความไม่สบายใจที่เรียนว่า Zoom Fatique ขึ้นมา ปัญหาของการใช้ Zoom คือการใช้เครื่องมือเช่นนี้ไม่เหมือนการที่เราได้ท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆ เพื่อพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานของเราจริงๆ

ในปี 2014 May-Britt Moser และ Edvard I. Moser ได้รับรางวัลโนเบลทางการด้านการแพทย์ ได้ค้นพบระบบประสาทในสมองที่ถูกเรียกว่า ‘GPS neurons’ เพราะทำงานเหมือนระบบ GPS ในรถยนต์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักที่จะสร้างความเป็นเราขึ้นมา (autobiographical memory) เข่น เราเป็นพนักงานเพราะเราไปทำงานที่ออฟฟิศ และเราเป็นนักเรียนเพราะเราไปที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย การพูดคุยกันผ่าน video conference นั้นไม่ได้ทำให้ ‘GPS neurons’ ทำงาน เพราะไม่มีปัจจัยด้าน ‘พื้นที่’ เข้ามาเกี่ยวข้อง ทุกวันจึงเหมือนผ่านมาและผ่านไป ดูเหมือนไร้แก่นสารสาระ แตกต่างกับการอยู่ในโลกแห่ง Metaverse

สมองในฐานะเครื่องจำลองสถานการณ์ (simulator)

เดิมทีนักวิจัยมองว่าสมองทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลเป็นหลัก ซึ่งความรู้นี้เป็นที่ยึดถือมาต่อเนื่องยาวนาน แต่งานวิจัยใหม่ๆ เริ่มเสนอมุมมองเกี่ยวกับสมองที่ต่างออกไป นั่นคือการมองสมองในฐานะเครื่องจำลองสถานการณ์

งานวิจัยพบว่าสมองสามารถจำลองความรู้สึกได้ ก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้นจริงเสียอีก (predictive coding) เช่น เมื่อเรามีความตั้งใจ (เช่น เราต้องการที่จะหยิบปากกา) เราจะเริ่มจำลองสถานการณ์การรับรู้ที่เราจะได้รับ (เราจะเห็นระยะทางระหว่างมือกับปากกาลดน้อยลง) การจำลองสถานการณ์ลักษณะนี้ชี้นำว่าเราควรจะทำอะไร (เราเคลื่อนมือเข้าใกล้ปากกามากยิ่งขึ้น) และสุดท้ายเราวิเคราะห์ผลของการกระทำของเรา (เราสามารถหยิบปากกาได้แล้วหรือยัง) ในกระบวนการนี้ สมองของเราสร้างแบบจำลองของ 2 สิ่ง สิ่งแรกคือโลกที่เราอยู่ (ปากกาถูกวางอยู่ที่ไหน) สิ่งที่สองคือร่างกายของเรา (มือของเรา) ซึ่งชี้นำการกระทำของเราในโลกใบนี้

คงเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับว่าการรับรู้ของเรามาจากการที่สมองเราจำลองสถานการณ์ แต่ก็มีหลายตัวอย่างซึ่งแสดงถึงปรากฏการณ์นี้ เช่น คนที่ถูกตัดแขนตัดขาจะยังรู้สึกเจ็บตรงจุดว่างเปล่าที่แขนและขาของเขาถูกตัดอยู่ เพราะเป็นความรู้สึกที่สมองจำลองขึ้นมา (phantom limb syndrome) หรือคนที่มีภาวะการกินอาหารผิดปกติ (anorexia nervosa) ก็เกิดขึ้นเพราะสมองจำลองทำให้เขาเห็นร่างกายของเขาในรูปแบบที่ผิดเพี้ยนไปจากความจริง และการจำลองก็ทรงพลังมากพอจะสามารถลบการรับรู้จริงจากประสาทสัมผัส

ลักษณะเช่นนี้เองที่ทำให้ G. Riva และ Brenda K. Wiederhold มอง Metaverse ต่างออกไป กล่าวคือทั้งสองมองว่า Metaverse ทำงานเหมือนสมอง พยายามคาดเดาว่าผลของการที่เราขยับร่างกายจะก่อให้เกิดการรับรู้อย่างไร อีกนัยหนึ่ง Metaverse พยายามคาดเดาว่าสมองของเราจะสร้างแบบจำลองของสถานการณ์อย่างไร ยิ่ง Metaverse ทำงานได้แม่นเท่าไร ผู้คนที่อยู่ใน Metaverse จะยิ่งรู้สึกเหมือนได้อยู่ ‘ตรงนั้น และที่นั้น’ (here and now) มากยิ่งขึ้นเท่านั้น ถึงแม้ว่าพวกเขาจะยังสามารถตระหนักอยู่ลึกๆ ได้ว่าการรับรู้ของพวกเขาถูกสร้างขึ้นมาด้วย Metaverse ก็ตาม

สิ่งนี้ทำให้ Metaverse มีความแตกต่างจากเทคโนโลยีในยุคก่อนหน้า โทรทัศน์และสื่อสังคมออนไลน์อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเทคโนโลยีแห่งการโน้มน้าว (persuasive technologies) เพราะมีความสามารถที่จะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้คน แต่ Metaverse สามารถเปลี่ยนแปลงความจริงที่มนุษย์เผชิญได้

ผลกระทบของ Metaverse ต่อความรู้สึกของเรา

มีงานมากมายที่วิจัยว่าผลกระทบของ Metaverse ต่อความรู้สึกของเราเป็นอย่างไร Anna Feinhofer และคณะ (2015) วิเคราะห์ผลกระทบของโลกเสมือนต่อความรู้สึกของเรา พบว่าโลกเสมือนสามารถสร้างความรู้สึกขั้นพื้นฐาน เช่น ความสุข ความเศร้า ความเบื่อ ความโกรธ และความวิตกกังวล นอกจากนี้ความรู้สึกที่ซับซ้อนกว่านั้นก็สามารถถูกสร้างขึ้นมาได้ เช่น ความรู้สึกหวานหวั่น (Alice Chirico และคณะ, 2016) หรือความรู้สึกขอบคุณ (Julie Collange และคณะ, 2020)

ทว่า Metaverse ไม่ใด้ส่งผลต่อความรู้สึกของเราโดยเปลี่ยนความเป็นไปรอบตัวเราเพียงอย่างเดียว แต่สามารถเปลี่ยนแปลงเราโดยตรงด้วย เช่น Metaverse อาจสามารถถูกนำมาใช้เพื่อลดความรู้สึกเจ็บปวดเรื้อรังได้ เพราะการเจ็บปวดเกิดจากการที่สมองคาดการณ์ว่าความเจ็บปวดจะเกิดขึ้น (Daniele Di Lernia และคณะ, 2020) ในขณะเดียวกัน ร่างกายก็สามารถถูกหลอกว่ากำลังออกกำลังกายหนักขึ้น เมื่อได้รับการกระตุ้นบางอย่าง เช่น เสียงหัวใจที่เต้นเร็ว (Pierpaolo Iodice และคณะ, 2018)

นอกจากนี้ Metaverse ยังสามารถทำให้ผู้คนอาศัยอยู่ในร่างกายของคนอื่น (body swapping) และนี่ก็ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของเราอย่างน่าทึ่ง เช่น ถ้าเราอาศัยอยู่ในร่างของไอน์สไตน์ เราก็มีแนวโน้มที่จะฉลาดขึ้น (Domna Banakou และคณะ, 2018) หรือถ้าเราอาศัยอยู่ในร่างของคนผิวดำ เราก็มีแนวโน้มที่จะเหยียดผิวน้อยลง (Tabitha C. Peck และคณะ, 2013)

งานวิจัยเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ว่าเทคโนโลยี Metaverse จะสามารถถูกปรับมาใช้ในบริบทของการแพทย์และการศึกษาได้อย่างไร

นัยยะเชิงนโยบาย

ขณะนี้ความสนใจของ Metaverse จะมุ่งเน้นไปที่มุมเศรษฐกิจอย่างเดียว เช่น Web 3.0 และ cryptocurrency หากว่าปรากฏการณ์นี้มีความซับซ้อนกว่านั้นมาก ทำให้การมอง Metaverse ในเชิงเศรษฐกิจอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ การศึกษา Metaverse โดยใช้แนวทางสหสาชาวิชาชีพ (multidisciplinary approach) อาจจะเหมาะสมกว่า

ยิ่งไปกว่านั้น Metaverse ดูเหมือนจะไม่ได้รับความสนใจการรัฐบาลในประเทศต่างๆ มากเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีชนิดอื่น เช่น AI ขณะที่ผลกระทบของ Metaverse ต่อโลกของเรา (ถ้าทำได้ดี) อาจจะมีมหาศาล ทำให้รัฐบาลอาจต้องเข้ามาควบคุมดูแล Metaverse มากยิ่งขึ้นในอนาคต เช่น Metaverse อาจถูกนำมาใช้เพื่อปลุกความเป็นฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ในตัวผู้คนได้ โดยการเข้าไปอาศัยอยู่ในร่างของฮิตเลอร์ นอกจากนี้ เรื่องข้อมูลก็สำคัญ เพราะ Metaverse จะทำให้แพลตฟอร์มเก็บข้อมูลผู้คนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมมากๆ จึงต้องการการกำกับดูแลข้อมูลส่วนบุคคลที่ดีมากยิ่งขึ้นด้วย

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save