fbpx
รอดโควิด จิตไม่ป่วย

รอดโควิด จิตไม่ป่วย

นำชัย ชีววิวรรธน์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

คำพูดที่แซวๆ กันในโซเชียลมีเดียก็คือ คนส่วนใหญ่จะไม่ได้ป่วยเพราะโควิดหรอก แต่จะป่วยเป็นโรคประสาท เพราะความกังวลว่าจะติดโรคโควิด-19 นี่แหละ เป็นความจริง!

เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความสับสนวุ่นวายจากเหตุการณ์ฉุกเฉินในภาวะวิกฤต ไม่น่าแปลกใจที่คนส่วนใหญ่จะเกิดความวิตกกังวล ประชาชนคนทั่วไปรับมือกับภาวะแบบนี้ได้ดีไม่เท่ากัน

นักจิตวิทยาแนะนำอะไรได้บ้างไหม?

 

โลกนี้ไม่แน่นอน

 

นักจิตวิทยาชื่อ เจเลนา เค็กมาโนวิก (Jelena Kecmanovic) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ ให้คำแนะนำเพื่อใช้รับมือกับภาวะที่ผู้คนทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับการระบาดใหญ่ไปทั่วโลกของโควิด-19

ข้อแรกสุดคือ เธอแนะนำว่าแต่ละคนควรทำตัวให้ชินไว้กับความไม่แน่ไม่นอนในชีวิตจากเหตุการณ์วิกฤตในคราวนี้ครับ ความที่เป็นคนไทยที่ศึกษาพุทธศาสนาพอสมควร ก็มองเห็นไม่ยากว่า นี่คือคำสอนแบบเดียวกับที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ในเรื่อง ‘ไตรลักษณ์’ หรือลักษณะตามธรรมชาติที่ประกอบไปด้วยอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือ มีความไม่แน่ไม่นอน เปลี่ยนแปลงได้ตลอด และคนเราก็เป็นทุกข์จากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้เสมอ

สุดท้าย ทุกอย่างก็ไม่ได้มีอะไรที่เป็นแก่นสาร หรือตัวตนให้ยึดจับไว้ได้เลย

ศาสตราจารย์เจเลนา เธอมีวิจัยว่า คนอเมริกันมีความรู้สึกไม่มั่นใจและยอมรับกับความไม่แน่นอนไม่ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเป็นข้อสรุปจากการวิเคราะห์ผลงานวิจัยในคนอเมริกันรวม 52 ชิ้น ครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ ค.ศ.1999 จนถึง ค.ศ. 2014

โดยในจำนวนนี้มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทำใน ค.ศ. 2009 ขณะที่มีการระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ H1N1 ไปทั่วโลก ทำให้พบว่าคนอเมริกันลำบากใจที่จะยอมรับความจริงที่ว่าสถานการณ์หาความแน่นอนไม่ได้เอาเสียเลย

จนทำให้เกิดความกังวลใจมากขึ้นกว่าปกติ

คำแนะนำของท่านศาสตราจารย์ก็คือ สำหรับคนที่กังวลใจเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องค่อยๆ เรียนรู้ที่จะเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนทำนองนี้ในชีวิตประจำวัน เช่น คราวหน้าหากรู้สึกกังวลอะไรขึ้นมา ก็อย่าเพิ่งรีบด่วนพิมพ์ข้อความไปสอบถามกับเพื่อนฝูงในทันที แต่ให้ประวิงเวลาออกไปอีกหน่อย ฝึกร่างกายให้ทนต่อความต้องการและความกังวลใจ หรือคราวหน้าออกไปเที่ยวเดินป่าหรือเดินทางไกล ก็อย่าเช็คข้อมูลอากาศล่วงหน้าให้ละเอียดนัก

การทำเช่นนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ตัวเองมีโอกาสเจอกับความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นบ้าง สมองและจิตใจของเราจะได้เคยชินกับความไม่แน่นอนมากขึ้น

 

ความย้อนแย้งของความกังลใจ

 

เรื่องประหลาดของเจ้าความกังวลใจก็คือ ยิ่งเรากังวลใจอยากจะกำจัดมันออกไปมากเท่าใด ก็ยิ่งจะทำให้เกิดความกังวลใจเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น คาร์ล จุง นักจิตวิทยาชื่อก้องโลกบอกว่า “ยิ่งคุณปฏิเสธมันเท่าไหร่ มันก็ยิ่งไม่หนีหายไปไหนมากเท่านั้น”

การต่อสู้กับความกังวลอาจทำได้หลายรูปแบบ บางอย่างไม่ค่อยดีต่อสุขภาพในระยะยาวสักเท่าไหร่ เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ หรือกินไม่หยุดไม่หย่อน บางอย่างก็ไม่ได้เลวร้ายนัก แต่อาจทำให้เสียสุขภาพได้เหมือนกัน เช่น ดูซีรีส์ติดต่อกันชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าหรือข้ามวันข้ามคืน

บางคนก็ใช้วิธีพูดคุยกับเพื่อนฝูงหรือคนในครอบครัว หรือแม้แต่จะแวะไปคุยกับจิตแพทย์ซ้ำๆ

แต่บางวิธีก็ไม่เหมาะเท่าไหร่ เช่น ไล่ดูฟีดในเฟซบุ๊ก ไลน์ หรือไล่เปิดดูโทรทัศน์ หาข่าวดีมาถ่วงน้ำหนักกับข่าวร้ายหรือข่าวชวนกังวลเกี่ยวกับโรคนี้ ที่ว่ามาทั้งหมด บางอย่างก็ได้ผลสั้นๆ บางอย่างก็กลับจะส่งผลเสียในระยะยาวได้

ความพยายามจะหนีจากความกังวลใจจึงอาจจะส่งผลเสียได้ไม่ยาก

นักจิตวิทยาแนะนำให้ทำอย่างไรในกรณีนี้?

ท่านก็ว่าแค่ยอมรับว่า ความกังวลใจเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ก็เท่านั้น!

เรื่องพูดง่ายๆ แต่ทำยากจริงๆ ใช่ไหมครับ ที่จริงเรื่องนี้ก็ตรงกับคำสอนหลักทางพุทธศาสนาอีกเช่นกัน คือเรื่องของ ‘สติ’ ครับ คำแนะนำในเรื่องนี้คือ เมื่อเกิดความกังวลใจขึ้น ก็เพียงแค่รับรู้ว่าเราเกิดความกังวลใจขึ้นแล้ว ไม่ต้องไปขืน ฝืน หรือต่อต้านอะไร

แค่รับรู้ รับทราบ และห้ามใจตัวเองไม่ให้เตลิดมากไปกว่านั้น

เรื่องน่าประหลาดใจก็คือ ยิ่งเรามีสติรู้ทันความกังวลใจมากเท่าไหร่ ความกังวลใจก็จะค่อยๆ หดหายไปจากชีวิตของเรามากขึ้นเท่านั้น โดยไม่ต้องคิดวิธีการไล่มันเลย

 

บิดาแห่งความกลัวทั้งมวล

 

ความกังวลใจหรือความกลัวที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพหรือความเจ็บป่วย ไปกระตุ้นความกลัวที่อาจถือได้ว่าเป็นรากเหง้าหรือบิดาของความกลัวทั้งมวล นั่นก็คือ ความกลัวตาย ที่ฝังอยู่ลึกมากและแสดงออกอย่างรุนแรงมากในจิตใจมนุษย์

เมื่อใดที่เราต้องเผชิญหน้ากับอะไรก็ตามที่อาจทำให้เราตายได้ สมองเราจะเหมือนไร้ประสิทธิภาพ ไม่อาจคิด ทำความเข้าใจอะไรได้ดีดังเช่นปกติ แต่จะหันไปกังวลใจ และครุ่นคิดวุ่นวายอยู่กับปัญหาตรงหน้าอย่างซ้ำๆ ไม่หยุดหย่อน

การมองหาความหมายของการดำรงอยู่ คิดเรื่องความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรัก คนในครอบครัว เพื่อนฝูง คิดถึงเรื่องเป้าหมายชีวิต สิ่งที่อยากทำเพื่อตัวเอง เพื่อคนอื่น ฯลฯ เพื่อสร้างคุณค่าชีวิต จะช่วยเรื่องนี้ได้ครับ

เรื่องหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ ต้องจำไว้เสมอว่าสมองคนเราเก่งมากในการ ‘วาดภาพผี’ ให้น่ากลัวกว่าความเป็นจริง งานวิจัยแสดงซ้ำๆ ว่า ผู้คนมักมองสถานการณ์ที่ตนเองต้องประสบแย่กว่าจริง

เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะมองโลกในแง่ร้ายครับ

เพราะการคิดแบบนี้ในสถานการณ์ความไม่แน่นอนในอดีต ที่บรรพบุรุษของเรายังคงเป็นแค่มนุษย์ยุคหินอาศัยในถ้ำ ช่วยให้รอดมานักต่อนักแล้ว จึงฝังอยู่ในดีเอ็นของเรา

ให้เตือนตัวเองไว้เสมอว่า เรามีความสามารถในการปรับตัวและรับมือกับเรื่องร้ายๆ สถานการณ์ที่ยากลำบากสูงมากอย่างไม่น่าเชื่อ เหมือนที่มีคนเคยกล่าวไว้ว่า พลังใจของคนเรามีเหนือกว่าความทุกข์ยากใดๆ ที่อาจเกิดกับเราได้

ความทุกข์ยากที่ไม่ทำให้เราตาย จะทำให้เราเข้มแข็งขึ้นเสมอ และเราก็สามารถเข้มแข็งได้มากอย่างที่เราเองก็ไม่อาจเชื่อว่า เราจะเข้มแข็งได้มากถึงเพียงนั้น

 

ผีน่ากลัวกว่าจริงเสมอ

 

โคโรนาไวรัสน่ากลัวก็จริง ดังที่เห็นได้จากอัตราผู้เสียชีวิตราว 5.3% ของจำนวนผู้ติดเชื้อ (ข้อมูล ณ วันที่ 4 เม.ย.คือ มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่ยืนยันแล้ว 1,130,591 คน ขณะที่มีผู้เสียชีวิตรวม 60,147 คน เฉพาะในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวก็มากถึง 7,403 คน–ข้อมูล ณ วันที่ 4 เม.ย. 2020 อันที่จริงควรจะถือว่าอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่านี้มาก เพราะมีผู้ติดเชื้ออีกมากที่ไม่ได้รับการตรวจยืนยัน)

ฉะนั้น เราก็ควรถือเป็นเรื่องจริงจังในการรับมือการระบาดของโรคนี้

แต่ขณะเดียวกันก็อย่าลืมว่า คนส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัสนี้รอดชีวิต จำนวนมากเลยแทบไม่มีอาการหรือไม่มีอาการเลยด้วยซ้ำไป

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เป็นธรรมชาติของคนเราที่จะวาดภาพอันตรายจากสิ่งที่ไม่รู้หรือยังไม่เข้าใจดีนัก ‘มากเกินจริง’ เสมอ

ในกรณีนี้หากลองเทียบกับจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั่วทั้งโลกหรือจากไข้หวัดใหญ่ที่เสียชีวิตกันไปแต่ละปี ก็จะเห็นได้ชัดเจน ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุใน ค.ศ. 2018 ทั้งโลกอยู่ที่ 1,350,000 คน หรือเดือนละ 112,500 คน (เทียบกับคนเสียชีวิตจากโควิด-19 รวมสามเดือนราว 60,000 คน)

ขณะที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรค (CDC) ของสหรัฐประมาณว่า ในช่วงสามเดือนที่ไข้หวัดใหญ่ระบาดมากที่สุดที่ผ่านมา (ต.ค. 2019-ม.ค. 2020) เฉพาะในสหรัฐฯ มีผู้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ 31 ล้านคน และต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่า 2 แสนคน แต่อาจจะมากถึง 370,000 คน

โดยในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตไป 12,000 คน… นี่เฉพาะสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวนะครับ!

แน่นอนว่า การเห็นข่าวแพร่ภาพซ้ำๆ เห็นภาพผู้ป่วย และข่าวเกี่ยวกับจำนวนผู้เสียชีวิต ย่อมกระตุ้นความกลัวของเราได้เสมอ และยิ่งสถานการณ์ไม่แน่ชัดว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป ก็จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดความกังวลใจหนักหนาสาหัสมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

ศ.เจเลนา ถึงกับแนะนำว่า อย่าดูข่าวโควิด-19 มากเกินกว่า 30 นาทีต่อวัน!

อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดความกังวลได้ก็คือ การทำให้กายแข็งแรงไว้ครับ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ผ่อนคลายจิตใจด้วยการนั่งสมาธิหรือวิธีอื่น เช่น เล่นโยคะ ฟังเพลงที่สงบเย็น หรือออกไปเดินท่ามกลางธรรมชาติ ฯลฯ

แต่หากความกังวลยังไม่จางหายไปจากใจ ก็อาจจะต้องอาศัยจิตแพทย์มาช่วยเหลือแล้วละครับ ยังไงก็ขอให้ผ่านพ้นจากวิกฤตโควิด-19 นี้ไปด้วยกันอย่างปลอดภัยนะครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save