“สองอย่างที่ต่อให้แลกอย่างไรก็จะไม่ยอมแลก คือเราจะไม่ยอมเข้าไปในคุกและจะไม่ยอมตาย” เมลิญณ์ – สุพิชฌาย์ ชัยลอม ในวัย 20 ปี กล่าวถึงขีดจำกัดในการต่อสู้ที่ทำให้เธอตัดสินใจลี้ภัยทางการเมืองสู่ประเทศแคนาดา
หลายคนอาจจะไม่คุ้นหูกับชื่อ ‘เมลิญณ์’ แต่มั่นใจได้ว่าทุกคนต่างรู้จักชื่อเดิมของเธอคือ ‘เมนู – สุพิชฌาย์ ชัยลอม’ นักกิจกรรมที่เริ่มต้นเส้นทางจากการเคลื่อนไหวด้านการศึกษา สู่การเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ผ่านกลุ่ม ‘ทะลุวัง’ การเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้เมนูต้องพบเจอชะตากรรมเดียวกับเพื่อนๆ ที่ร่วมต่อสู้ คือ ‘การถูกดำเนินคดี’ และ ‘การใส่กำไล EM เพื่อแลกกับอิสรภาพนอกเรือนจำ’
ตลอดระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา มีเยาวชนหลายคนตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ทว่าพวกเขากลับถูกใช้ความรุนแรงโดยรัฐ การคุกคามในชีวิตประจำวัน ตลอดจนถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเมลิญณ์ก็เป็นหนึ่งในเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 4 คดี โดย 3 คดีจากมาตรา 112 และอีก 1 คดี จาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
หลังจากที่เธอโดนดำเนินคดีและถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ เมลิญณ์และพลอย-เบญจมาภรณ์ นิวาส เพื่อนของเธอที่ต่างเป็นเยาวชนทั้งคู่จึงตัดสินใจลี้ภัยทางการเมือง เปลี่ยนชื่อ ทิ้งชีวิตและครอบครัวบนแผ่นดินเกิดไว้เบื้องหลังเพื่อแลกกับอิสรภาพในดินแดนใหม่
เมลิญณ์และพลอยต่างก็รู้ดีแล้วว่าการตัดสินใจครั้งนี้ พวกเธอไม่สามารถหันหลังกลับได้อีกแล้ว

ที่ผ่านมาเคยคิดไหมว่าการออกมาเรียกร้องหรือการทําโพลถามความเห็นประชาชนจะส่งผลให้โดนคดีมาตรา 112
ไม่คิด เพราะจากที่เราศึกษามา การทำโพลไม่ได้เข้าข่ายของกฎหมายมาตรา 112 แต่ว่าเราโดนเพราะอย่างอื่น เช่น การปราศรัย การแชร์โพสต์ ไม่ใช่เพราะถือโพลเลย ก็เลยมองว่าสุดท้ายแล้ว การทำโพลมันไม่น่าเลยเถิดมาถึงตอนนี้ได้
ก่อนหน้านี้เมลิญณ์มองภาพเกี่ยวกับการลี้ภัยอย่างไร เคยคิดไหมว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง
ก่อนหน้านี้เราได้มีโอกาสไปฟังผู้ลี้ภัยการเมือง ชีวิตของผู้ลี้ภัยดูลำบากมากเพราะผู้ลี้ภัยช่วงหลังการรัฐประหารปี 2557 พวกเขาใช้เวลานานมากกว่าที่จะได้สถานะผู้ลี้ภัย อีกทั้งยังไม่มีความช่วยเหลือและการเมืองก็ยังไม่ได้อยู่ในความสนใจของกระแสหลัก ก็เห็นภาพว่าคงต้องทำตัวเป็นก้อนหิน มุดดินเป็นตัวตุ่น และคงน่ากลัวมาก
ส่วนตัวเราเองก่อนหน้านี้เคยคิดเรื่องลี้ภัยอยู่ เพราะเมื่อเราตัดสินใจที่จะแตะประเด็นสถาบันกษัตริย์ เราเองก็ต้องมีเรื่องนี้ในหัวอยู่แล้ว เลยโชคดีที่เคยศึกษากระบวนการในการลี้ภัยว่าเป็นอย่างไร เผื่อวันหนึ่งเราจำเป็นต้องลี้ภัย แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ
ในความจริงแล้ว เราประเมินเรื่องการลี้ภัยตั้งแต่เข้ามาทำกิจกรรมกับกลุ่ม ‘ทะลุวัง’ แล้ว เพราะประเด็นที่เราเคลื่อนไหว มันค่อนข้างตรงไปตรงมา เลยคิดว่ามีโอกาสที่เราจะโดน 112 แล้วก็โดนจริง พอเราตัดสินใจที่จะลี้ภัยก็เตรียมตัวหนึ่งสัปดาห์ เราจัดการทุกอย่างทั้งเขียนจดหมายบอกลาเพื่อนๆ จัดแจงของให้คนอื่น และตกลงกับเพื่อนว่าเราจะรับมือกับครอบครัวอย่างไรถ้าพวกเขาถามหาเราเพราะว่าเราจะหายไปแล้ว
ทำไมถึงตัดสินใจลี้ภัย
สาเหตุที่ทำให้เราตัดสินใจลี้ภัยนั้น คือสถานการณ์มันเกินความเสี่ยงที่เราจะรับได้ ซึ่งเราบอกตัวเองเสมอว่าสองอย่างที่ต่อให้แลกอย่างไรก็จะไม่ยอมแลก คือเราจะไม่ยอมเข้าไปในคุกและจะไม่ยอมตาย ถ้ามันเกินขีดจำกัดสองอย่างนี้ เราจะเอาตัวเองออกมาทันที ซึ่งการตัดสินใจเอาตัวเองออกมาของเราคือการลี้ภัย
นอกจากนี้การคุกคามที่เราเจอมันเหนือความคาดหมายของเรามาก มันทำให้เรารู้สึกกลัว ยอมรับว่าการคุกคามของรัฐส่งผลกระทบทำให้เราเกิดอาการแพนิก และ PTSD (post-traumatic stress disorder: ภาวะป่วยทางจิตใจเมื่อเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง) ทุกครั้งที่เราได้ยินเสียงกลอนประตู หรือเสียงคนเดินอยู่ข้างนอกห้อง เราจะเด้งตัวขึ้นมาและเกิดอาการระแวงไปหมด
การที่เราโดนใส่กำไล EM หรือการมีเงื่อนไขในการห้ามออกจากบ้าน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรายังรับไหว แต่จุดที่ทำให้เราตัดสินใจออกมาทันทีเลย คือเจ้าหน้าที่รัฐมาคุกคามพ่อแม่ มีวันหนึ่งเขามาเชิญตัวพ่อกับแม่ของเราไปและริบโทรศัพท์ไม่ให้ถือหรือบันทึกข้อความอะไรทั้งนั้น อีกทั้งพาไปที่ไหนก็ไม่มีใครรู้ได้ ก่อนที่จะพยายามรีดข้อมูลเกี่ยวกับเรา ว่าเราเรียนอะไร เราชอบอะไร ทำไมถึงออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง มีใครอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า
จากนั้นเขาก็ข่มขู่พ่อและแม่ว่าให้จับตามองเราดีๆ ช่วงนั้นพอดีกับเจ้าหน้าที่ทหารส่งข้อความมาข่มขู่เราว่า พวกเขาจะไม่จัดการเราด้วยกฎหมายแล้ว จากที่เรากับพ่อแม่ไม่ได้สื่อสารกันมานานแล้ว เพราะว่าเขาไม่เห็นด้วยที่เราออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง พอมารู้ว่าเขาโดนข่มขู่แบบนี้พร้อมกับข้อความที่เจ้าหน้าที่รัฐฝากมาบอกเราว่า เดี๋ยวเราจะเป็นอันตราย เขาจะทำให้เราหายไปนะ เราก็เลยรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ออกมาดีกว่า
ตอนที่เมลิญณ์ลี้ภัยกังวลเรื่องอะไรมากที่สุด
กังวลว่าจะถูกส่งตัวกลับไป เพราะมีคืนหนึ่งตอนที่เราอยู่ในประเทศที่สอง มีคนมาแอบอยู่ใต้ถุนบ้านเรา ตอนนั้นเรากำสเปรย์พริกไทยแน่นมาก ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในคืนนั้นมันแย่มากๆ เพราะไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านั้น เราก็เพิ่งมีบัญชีที่ถูกสร้างใหม่ส่งข้อความมาขู่ซึ่งจากใครก็ไม่รู้และเขารู้ว่าเราอยู่ที่ไหน เขาบอกว่าเราไม่รอดแน่นอน เหตุการณ์นี้ทำให้เรานอนไม่หลับจนถึงเช้า ก็เลยคิดว่าสิ่งที่กลัวที่สุดคือการโดนส่งกลับไป เรากลัวตาย
มีประเด็นเป็นที่ถกเถียงจากการที่เมลิญณ์ลงคลิปวิดีโอหลังลี้ภัย ซึ่งบางคนมองว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มองเรื่องนี้อย่างไร
คลิปที่เราลงไปนั้น สำหรับเราตัวคลิปมันไม่มีอะไรเลย เพราะก่อนที่เราจะลงก็ได้ประเมินและปรึกษาหลายคนแล้ว ทั้งนักกฎหมายหรือคนอื่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้รัดกุมทั้งสถานที่ประเทศที่สองและเส้นทางของเราไม่ให้มันหลุดออกมา ทั้งนี้เรายืนยันว่าสิ่งนี้ก็มีคนเคยทำ เขาอาจจะทำในลักษณะรูปภาพหรือหนังสือ
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่สุด คือหนังสือ ‘ต้องเนรเทศ’ ของคุณวัฒน์ วรรลยางกูร สิ่งที่เราทำก็เหมือนกัน โดยที่หนังสือของคุณวัฒน์บอกเล่าถึงชีวิตที่กำลังลี้ภัย คลิปวิดีโอของเราก็เหมือนกัน หนังสือของคุณวัฒน์ไม่ได้บอกเรื่องเส้นทางการลี้ภัย คลิปวิดีโอของเราก็เหมือนกัน
สาเหตุที่เราเลือกใช้เครื่องมืออย่างวิดีโอ เพราะเราอยากสื่อสารกับคนที่ไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมือง สื่ออย่างวิดีโอมันสามารถสื่อสารกับคนที่ไม่สนใจการเมืองได้ง่ายและเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากที่สุด เราอยากจะให้การต่อสู้ครั้งหน้าไปต่อได้นานกว่านี้ การทำคลิปวิดีโอก็เป็นสิ่งที่เราถนัดและสบายใจที่จะทำ ทั้งนี้เราเห็นผลตอบรับของทุกคน และประเมินเอาไว้แล้วว่าหากสุดท้ายมันอันตรายจริงๆ เราอาจจะเปลี่ยนแนวทางของวิดีโอ ซึ่งมันไม่ได้เสียหายอะไรและสิ่งนี้ก็เป็นการเคลื่อนไหวในรูปแบบใหม่ของเรา
ประเด็นผู้ลี้ภัยเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เพราะการกระทำของคนที่อยู่นอกประเทศนั้นจะส่งผลกระทบกับคนที่อยู่ในประเทศจริงๆ แต่คลิปของเราไม่ได้มีการเปิดเผยเส้นทางเลย ถ้าเข้ามาดูคลิปเราเพื่อศึกษาวิธีการลี้ภัยก็ผิดหวังได้เลย เพราะไม่มีเลย มันเป็นเพียงการสื่อสารของเราว่า การลี้ภัยไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อนและคนที่ผิดก็ไม่ใช่ผู้ลี้ภัย อีกทั้งคนที่ทำให้รัฐออกมาคุกคามและเข้มงวดกับประชาชนก็ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยด้วย
เรามองว่าคลิปที่ลงเป็นเหมือนไดอารีแต่ละวัน ว่าวันนี้เราทำอะไร เจออะไร ต้องรับความรู้สึกอย่างไรจากความเครียดของการรอสถานะผู้ลี้ภัย หรือบาดแผลความเจ็บปวดที่เราเจอจากการคุกคามของรัฐมันส่งผลกับเราในวันนี้อย่างไร สิ่งนี้คือสิ่งที่เราอยากสื่อสารว่า การต่อสู้มันมีความเจ็บปวดและคนร้ายมีคนเดียวคือรัฐ
มีมุมมองว่าผู้ลี้ภัยไม่ควรจะเปิดตัวเร็ว ทั้งเหตุผลเรื่องความปลอดภัยของผู้ลี้ภัยเอง ผลกระทบระหว่างประเทศ อีกด้านหนึ่งคืออาจจะส่งผลต่อผู้ที่กำลังจะลี้ภัยและผู้ที่ถูกดำเนินคดีในประเทศไทย มองอย่างไรกับประเด็นนี้
ประเด็นการเปิดตัวของผู้ลี้ภัยคือสิ่งที่ผู้ลี้ภัยทุกยุคต้องเจอ พูดตรงๆ ว่าตั้งแต่เราออกนอกประเทศ รัฐก็รู้มาตั้งนานแล้ว ไม่เช่นนั้นเราก็คงไม่ถูกคุกคามตอนที่เราอยู่ประเทศที่สองหรอก การที่มีคนส่งข้อความมาข่มขู่และมาเดินใต้ถุนบ้านเรา มันชี้ให้เห็นแล้วว่ารัฐรู้มาตั้งนานแล้วและใช้โอกาสนี้ในการสร้างเงื่อนไขเพื่อที่จะคุกคามได้ตามใจชอบ ไม่ว่าผู้ลี้ภัยจะเงียบหรือเปิดเผยตัวช้าหรือเร็วแค่ไหน รัฐจะใช้โอกาสที่นี้เพื่อคุกคามให้หนักมากขึ้น ไม่ว่าจะสมัยนี้ หรือหลังรัฐประหาร 2557 มันเป็นแบบนี้มาโดยตลอดไม่เคยเปลี่ยน
นอกจากนี้การเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน เราทุกคนล้วนเจอความเจ็บปวดจากการออกมาต่อสู้ ทั้งจากการโดนคดีหรือผลกระทบทางสังคมด้านอื่นๆ ไม่แปลกที่ทุกคนจะเจ็บปวดจนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง และรู้สึกไม่มั่นคงเมื่อเห็นผู้ลี้ภัยออกไป
หลายคนอาจจะมองว่า การลี้ภัยคือการหนี การไม่สู้ต่อ หรือทิ้งเพื่อนที่สู้มาไว้ข้างหลัง เมลิญณ์มองอย่างไร
รากฐานความคิดที่ทำให้เกิดทัศนคติว่าการลี้ภัยคือการหนีหรือการไม่สู้ต่อนั้น มันเกิดจากการที่เราให้คุณค่ากับความเป็นปัจเจกบุคคล สำหรับเรามองว่าหากคุณต้องการต่อสู้กับระบบ คุณไม่ควรมาสนใจอะไรกับความเป็นปัจเจกบุคคลเช่นนี้
เราไม่ควรให้คุณค่าใครมากกว่าใคร เพราะสิ่งที่ทุกคนเจอล้วนแล้วแต่เป็นความอยุติธรรมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะโดนคดี หรือติดคุก ก็ล้วนแต่เป็นการคุกคามทั้งสิ้น ไม่ใช่ว่าคนที่ติดคุกจะกลายเป็นฮีโร่ ดังนั้นความคิดที่ว่าการลี้ภัยเท่ากับการหนี เหมือนเรากำลังให้คุณค่าเพียงแค่คนที่กำลังต่อสู้ในประเทศมากกว่า ทั้งๆ ที่คนที่เขาจำเป็นต้องออกมา เขาก็ต่อสู้เหมือนกัน
นอกจากนี้ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากลก็กำหนดไว้แล้วว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะลี้ภัย ประโยคนี้หมายความว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณรู้สึกไม่ปลอดภัยหรือถูกคุกคามถึงชีวิต การลี้ภัยเป็นสิทธิ และการลี้ภัยก็ไม่ได้มีแค่การลี้ภัยอันเป็นผลจากการเมือง มันมีทั้งประเด็นเรื่องเพศหรือสงคราม สำหรับเราคิดว่าการพูดถึงสิทธิมนุษยชน มันไม่ควรจะเกิดคำว่า ‘หนี’ ‘ผู้ร้ายข้ามแดน’ หรือ ‘ทิ้งเพื่อนไว้ข้างหลัง’ อย่าลืมว่าความเสี่ยงและอภิสิทธิ์ของทุกคนนั้นมีไม่เท่ากัน การลี้ภัยจึงเป็นอีกหนึ่งการตัดสินใจที่ไม่ควรถูกด้อยค่า ลดทอน หรือถูกมองเป็นผู้ร้าย
การตัดสินใจลี้ภัยในครั้งนี้ แปลว่าไม่มีความคาดหวังกับความยุติธรรมในประเทศแล้วใช่ไหม
ใช่ ไม่เหลือแล้วตั้งแต่วันที่เราโดนคุกคามจากคนอื่น ซึ่งที่ผ่านมาก็อาจจะมาจากตำรวจ แต่ครั้งนั้นการคุกคามเกิดจากใครก็ไม่รู้ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้เรารู้สึกไม่สามารถเชื่อใจได้อีกต่อไป มันเป็นความรู้สึกที่โดดเดี่ยวมาก
สุดท้ายแล้ว การหนีออกมาตั้งหลักให้ตัวเองอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเราในตอนนั้น และเราในตอนนี้เองก็ไม่เสียใจกับการตัดสินใจนั้น
ตลอด 2 ปีที่ผ่านมามีเหตุการณ์มากมายที่มายืนยันถึงความอยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมของบ้านเรา ทุกคนก็มองเห็นสิ่งนี้กันอยู่แล้ว และเราไม่เหลือความหวังต่อความยุติธรรมในประเทศนี้อีกแล้ว

เมื่อเราออกมาพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์ ย่อมตามมาด้วยราคาที่ต้องจ่าย คิดอย่างไรกับราคาที่ต้องจ่ายนั้น
ยอมรับว่าตอนที่ออกมาเคลื่อนไหวไม่ได้คิดเยอะขนาดนี้ เพราะไม่คิดเลยว่าจะโดนคดีมาตรา 112 ตอนนั้นเราอายุ 17 ปีเอง คิดเพียงว่าในเมื่อการชุมนุมมีพื้นที่ให้เราพูดแล้ว เช่นนั้นเราจะแสดงออกในสิ่งที่คิด ในความจริงแล้วมันเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะต้องคิดกับการใช้เสรีภาพอยู่แล้ว แต่พอเราเริ่มเคลื่อนไหวหนักขึ้นเรื่อยๆ จนโดนคดีมาตรา 112 ครั้งแรก เราก็เริ่มคิดมากขึ้นจนเรามีเส้นที่เป็นขีดจำกัดของเรา คือ ไม่ติดคุก และไม่ตาย เพราะคนรอบข้างไม่พร้อมให้เราติดคุกจริงๆ พ่อ แม่ เพื่อน แฟน เขาออกมาพูดและสะท้อนความในใจให้เราฟังว่า ถ้าเราติดคุก เขาไม่ไหวนะ เราก็เลยเป็นห่วงคนรอบข้างด้วย ส่วนเรื่องไม่พร้อมตายนั้นเป็นความต้องการของเราเลย สำหรับเราอาวุธสุดท้ายที่ทุกคนเหลืออยู่ในการต่อสู้คือชีวิต เราไม่อยากเสียอาวุธสุดท้ายของเราไป และเราก็ไม่แน่ใจว่าการตายของเราจะแลกอะไรกลับมาได้ไหม เราไม่สามารถจินตนาการได้ ก็เลยคิดว่ายังไม่พร้อมสละอาวุธสุดท้ายของตนเองไป
มองมาตรา 112 อย่างไร เห็นว่าควรแก้ไขหรือยกเลิก
สำหรับเราอยากให้ยกเลิกไปเลย เพราะที่ผ่านมาสังคมไทยมีเด็กอายุ 12 ปีที่โดนคดีมาตรา 112 เด็กอายุ 15 ปีที่โดนยิงตายในการชุมนุม เด็กอายุ 17 ปีที่ต้องลี้ภัยทางการเมือง จะเห็นได้ว่าอายุมันน้อยลงเรื่อยๆ สักวันหนึ่งคนที่ประสบพบเจออาจจะเป็นลูกหลานของคนที่เรารู้จักก็ได้ และการบังคับใช้กฎหมายเองก็รุนแรงและกว้างขวางมากขึ้น
ประเด็นนี้เราเคยได้มีโอกาสไปถกเถียงที่รัฐสภา โดยมีผู้พิพากษา ผู้เชี่ยวชาญและอัยการอยู่ด้วย เขาก็พูดกับเราว่าเขาตัดสินคดีมาตรา 112 ตามไกด์ไลน์ของเขา เราฟังแล้วตกใจมากเพราะสุดท้ายคุณไม่ได้ตัดสินบนหลักอะไร แต่คุณใช้ไกด์ไลน์ของคุณเอง ตอนนั้นเราพูดอะไรไม่ออก พูดอะไรไม่ออกเลย
ไกด์ไลน์นั้นคืออะไร
ไม่รู้ เราก็ขอให้เขาเปิดเผยไกด์ไลน์ที่เขาพูดถึงเหมือนกัน แต่เขาไม่เปิดเผย สิ่งนี้เราเลยมองว่ามาตรา 112 ควรยกเลิก ไม่มีประโยชน์อะไรเลย หากวันนี้คุณยังคิดว่าสถาบันกษัตริย์มีความสำคัญอยู่ก็ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทธรรมดาก็ได้
เราคิดว่ามาตรา 112 ทั้งเรื่องของบทลงโทษและบริบทการบังคับใช้กฎหมาย ทุกอย่างมันเกินขอบเขต ยิ่งไปกว่านั้นคือมันไม่มีขอบเขตตั้งแต่แรก
เมลิญณ์คิดว่าข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันฯ ที่หลายคนมองว่า ‘ทะลุเพดาน’ สังคมจะสามารถตามทันจนนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ ไหม
เรามองว่าข้อเรียกร้องไม่ได้นำสังคมอะไร อีกทั้งยังเป็นข้อเรียกร้องที่ประนีประนอมมากๆ เราต้องอย่าลืมว่าปัญหาของประเทศไทยไม่ได้มีเพียงประเด็นการเมืองการปกครอง หรือสถาบันฯ อย่างเดียว แต่เรามีปัญหาในมิติอื่นๆ อีกมาก อาทิ เรื่องการผูกขาดของนายทุน ข้อเรียกร้องในปัจจุบันก็ยังไม่ได้มีมิตินี้ สำหรับเราจึงคิดว่าทั้ง 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ หรือ 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎร มันไปไกลสุดเท่าที่จะเป็นไปได้และผ่านการไตร่ตรองมาดีแล้ว
คนที่ไม่เห็นด้วยอาจจะมองว่า คนธรรมดายังมีกฎหมายคุ้มครอง สถาบันกษัตริย์ที่เป็นถึงประมุขของรัฐจะไม่มีกฎหมายคุ้มครองเลยเหรอ
ก็ใช้กฎหมายดูหมิ่นเหมือนบุคคลทั่วไป เพราะสุดท้ายสถาบันกษัตริย์ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน คำถามนี้ถ้าจะให้ตอบสิ่งที่คิดน่าจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งเลย
แล้วสถาบันกษัตริย์ควรปรับตัวอย่างไรเพื่ออยู่ร่วมกับสังคมไทยต่อไป
ระบอบที่สร้างปัญหาและสงครามตลอดระยะเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมามากที่สุด คือ ‘ระบอบกษัตริย์’ ซึ่งหากปรับเปลี่ยนตามสังคมไม่ได้ ระบอบนั้นก็จะล่มสลายไป ในปี 2563 เราคิดว่าระบอบประชาธิปไตยที่มีสถาบันกษัตริย์ทำงานในเชิงสัญลักษณ์ ก็มั่นคงดี แต่สังคมไทยในปัจจุบันเราปกครองด้วยระบบความเชื่อและถูกโฆษณาชวนเชื่อกันมานาน ยากที่จะเอาความคิดนี้ออก สุดท้ายแล้วระบบความคิดในสังคมที่ถูกปลูกฝังมาระยะเวลานาน มันก็ไม่เปลี่ยนแปลงง่ายๆ หรอก
เรื่องข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสถาบันฯ ต้องยอมรับว่ามีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังมีความคิดตรงข้าม สังคมไทยจะเดินต่อไปได้จริงไหมเมื่อคนทั้งสองฝ่ายดูจะไม่สามารถมาบรรจบกันได้
ยากมาก หากเป็น เมนู-สุพิชฌาย์ ในปี 2563 คงจะพูดว่า เราต้องสร้างพื้นที่ให้คนที่เห็นต่างมาถกเถียง แต่หลายเหตุการณ์ก็ถูกพิสูจน์แล้วว่ายาก เพราะสังคมไทยเคยชินกับการส่งต่อความรุนแรงจากรัฐ เมื่อความรุนแรงเกิดขึ้นจากรัฐ แต่คนที่ส่งต่อความรุนแรงคือประชาชน เราเลยคิดว่าการที่ให้คนเห็นต่างมากๆ มาถกเถียงกัน มันยากและใช้เวลา ทั้งนี้เราคิดว่าคงไม่เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้
หากถามทางออกของเราตอนนี้ เราคงบอกว่ายังไม่เห็นทางออกนอกจากรอเวลาผ่านไป เพราะแนวคิดก็ถูกปรับและเปลี่ยนไปตามยุคสมัยเหมือนกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อความคิดจริงๆ แต่หากถามว่าอย่างน้อยเราจะทำอะไรได้มากที่สุด ก็คงยืนยันเหมือนกับสองปีที่แล้วว่าต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการถกเถียง แต่เราคงเลือกที่จะสื่อสารกับคนที่พร้อมจะรับฟังจริงๆ นี่อาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในตอนนี้ แต่ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ดีที่สุดแน่นอน

‘เมลิญณ์’ ในวันนี้กับ ‘เมนู’ ก่อนที่จะออกมาเคลื่อนไหว แตกต่างกันไหม ชีวิตเปลี่ยนไปไหม
ตัวตนของเราไม่ได้แตกต่างจากเดิม แต่ชีวิตเราเปลี่ยนไปเยอะมาก หลังจากที่เราออกมาเคลื่อนไหว ทำให้เราห่างจากสิ่งที่เรารักหลายอย่างมาก ทั้งการทำเพลงหรือการร้องเพลง เราไม่ได้ทำเลยตอนเคลื่อนไหว พอมาเป็นเมลิญณ์วันนี้ที่ลี้ภัยแล้ว เราก็คงหาการเคลื่อนไหวที่เหมาะกับตัวเอง และตัดสินใจกลับมาเลือกเส้นทางการทำคลิป การทำเพลง และการร้องเพลง
ตอนนี้เราอาจพูดเหมือนคนที่ต่อต้านการเคลื่อนไหว แต่จริงๆ เราไม่ได้ต่อต้าน เราเพียงแค่วิพากษ์สิ่งที่เราเจอ ต่อให้ตอนนี้เราจะบอกว่า ไม่มีทางชนะหรอก ยาก หรือเราเหนื่อย สุดท้ายสิ่งเหล่านี้มันไม่ได้ทำให้ความตั้งใจของการออกมาเรียกร้องเปลี่ยนไป ก็คงยังทำต่อไป เพียงแต่ทำเท่าที่เราทำได้และทำไหว เพราะต่อให้เราพูดว่ามันเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้หรอก แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ มันก็มีโอกาสที่เป็นไปได้ เพียงแต่ต้องใช้เวลา ความเข้าใจ และต้นทุนที่เยอะกว่านี้ อีกทั้งเราก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ยินดีจะทำมันต่อไป
มีอะไรอยากกลับไปแก้ไขไหม
อยากกลับไปแก้ไขเรื่องความสัมพันธ์กับคน เพราะหลายๆ คนมองเราว่าเป็นคนที่เข้าถึงยากและไม่สนใจใคร ถ้าเป็นไปได้ก็อยากกลับไปคุยกับคนอื่นๆ มากกว่านี้ เพราะสิ่งที่ทำให้เราเจ็บปวดมากที่สุดไม่ใช่การต่อสู้กับรัฐ แต่เป็นความสัมพันธ์กับนักเคลื่อนไหวด้วยกัน
วางแผนหรือตั้งความหวังกับชีวิตหลังลี้ภัยอย่างไร สนใจเรียนด้านไหน
สิ่งที่เราอยากเรียนมันไม่เคยเปลี่ยนและอยากทำตามความฝันให้สำเร็จ คือการพัฒนาเกม สิ่งนี้เป็นความฝันของเราตั้งแต่เด็กๆ ที่อยากจะสร้างเกมให้คนเล่น จัดงานเกม จนไปเป็นโค้ชนักกีฬา E-Sport ในความจริงแล้ว การเคลื่อนไหวของเราเองก็มาจากความคิดที่ว่าสังคมมันแย่ คนก็เครียด ค่าครองชีพก็ไม่พอ เกมที่เราทำมันจะขายได้ไหม ถ้าสังคมเป็นแบบนี้ คนอาจจะมองเกมว่าเป็นผู้ร้ายในข่าวเหมือนเดิมและไม่มีเวลาเปิดใจให้กับเกมเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นเราจึงออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้สังคมดีขึ้น
ในฐานะวัยรุ่นคนหนึ่ง ตอนอยู่ในประเทศไทยมีความหวังกับอนาคตแค่ไหน
หากไม่นับถึงเรื่องการเมือง เราเป็นคนที่มีความหวังเต็มเปี่ยม เพราะเราเป็นเด็กทุนและมีผลงานต่อยอดในวงการได้ เรามีความหวังมากจนกระทั่งเรารู้สึกไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว
ประเทศไทยในฝันของเมนูคืออะไร
วันแรกที่เรามาอยู่ที่ประเทศแคนาดา เขามีปฐมนิเทศให้ ซึ่งสิ่งแรกที่เขาสอนเรา คือ ‘สิทธิมนุษยชน’ เขาสอนเราว่าคุณมีสิทธิที่จะเดินไปไหนก็ได้ในประเทศแคนนาดาโดยที่ไม่มีใครมาไล่คุณได้ คุณมีสิทธิในการพูดสิ่งที่คุณคิดในประเทศนี้โดยไม่มีใครพรากสิทธินี้จากคุณได้ กลายเป็นว่าทุกอย่างที่เราเรียกร้องมันมาอยู่ตรงหน้าเราแล้ว แน่นอนว่าประเทศแคนนาดาก็มีปัญหาในมิติอื่นๆ เช่น การผูกขาดน้ำมัน แต่ประเด็นสิทธิมนุษยชน การคุกคามและความรุนแรงที่เราพยายามเรียกร้องให้แก้ไขในประเทศไทยมาตลอด มันเกิดขึ้นในประเทศนี้ นี่แหละคือสิ่งที่เราเรียกร้อง นี่แหละประชาธิปไตยที่ไม่ได้เป็นเพียงระบอบการปกครอง แต่มันมีมิติอื่นๆ ที่มากกว่านั้น และนี่แหละคือประเทศไทยที่เราอยากให้เป็น
ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป หากรัฐบาลเปลี่ยนขั้วแล้วมีการเสนอประเด็นนิรโทษกรรมคดีการเมือง ยังมีความคิดที่จะกลับไปไหม
ก็อาจจะกลับไป ถึงแม้เราออกมาแล้วก็จริง แต่ก็มีหลายๆ อย่างที่เรารักอยู่ในประเทศไทย ทั้งเพื่อนที่จริงใจและเขาสนับสนุนเรามาโดยตลอด และครอบครัว เราก็คงกลับไปเยี่ยม แต่การนิรโทษกรรมนั้นต้องมาพร้อมกับการยกเลิกมาตรา 112 ด้วย