fbpx
ตำรวจมลายู : ลูกผสมของความสมัยใหม่แบบอาณานิคม ประวัติศาสตร์บาดแผล และความรุนแรง

ตำรวจมลายู : ลูกผสมของความสมัยใหม่แบบอาณานิคม ประวัติศาสตร์บาดแผล และความรุนแรง

อสมา มังกรชัย เรื่อง[1]

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล ภาพประกอบ

การอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยพรรคฝ่ายค้านเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับกระบวนการซื้อตำแหน่งของตำรวจ ได้นำไปสู่การแลกเปลี่ยนข้อมูลและการถกเถียงของสังคมไทยอย่างกว้างขวาง ท่ามกลางความสนใจใหม่ของสังคมไทยเกี่ยวกับความเป็นไปและปัญหาภายในระบบตำรวจ ผู้เขียนจึงอยากนำเสนอเรื่องราวข้อถกเถียงเกี่ยวกับ “ตำรวจมลายู” หรือ ตำรวจชายแดนใต้ที่เป็นมุสลิม มีเชื้อสาย ภาษา และวัฒนธรรมมลายู

 

องค์กรตำรวจในฐานะสถาบันสมัยใหม่

สถาบันต่างๆ (Institutions) ที่มีการจัดระบบที่ซับซ้อนเป็นลักษณะและองค์ประกอบสำคัญของความเป็นสมัยใหม่ Anthony Giddens นักสังคมวิทยาชาวอังกฤษมองว่าโครงสร้างสถาบันเป็นทั้งกฎเกณฑ์และทรัพยากร (rule and resources) โดยปัจเจกบุคคลสามารถเป็นผู้กระทำที่ผลิตซ้ำกฎเกณฑ์เดิม หรือส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกฎเกณฑ์ต่างๆ มากพอๆ กับการที่สถาบันมีส่วนในการกำหนดพฤติกรรมและการแสดงออกของปัจเจกบุคคล

อย่างไรก็ตาม สำหรับนักคิดชาวฝรั่งเศสอย่าง Michael Foucault แล้ว การสถาปนาอำนาจผ่านความรู้แบบผู้เชี่ยวชาญ และกระบวนการของเทคโนโลยีการสร้างวินัย (disciplinary technology) ได้ทำให้สถาบันสมัยใหม่ต่างๆ มีมิติของการบีบบังคับบงการมากกว่าจะมอบเสรีภาพ

แม้ Giddens และ Foucault จะมองสถาบันโดยทั่วไปแตกต่างกัน แต่ทั้งสองคนกลับมองสถาบัน ‘กองทัพ’ ไม่แตกต่างกันมากนัก โดย Foucault มองว่ากองทัพเป็นสถาบันเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (total institution) ที่สามารถทำลายปัจเจกภาพของบุคคลในกองทัพ ส่วน Giddens ได้แยกกองทัพหรือกองกำลังต่างๆ ออกจากสถาบันอื่นๆ ในสภาวะความเป็นสมัยใหม่ โดยมองว่าเทคโนโลยีทางการทหารผิดแผกไปจากลักษณะอื่นๆ ของสภาวะความเป็นสมัยใหม่ กล่าวคือเทคโนโลยีทางการทหารมีลักษณะการทำงานเป็นกลไกเหมือนเครื่องจักร อาทิ ชุดเครื่องแบบ (uniform) ที่กลายเป็นการเผยตัวให้แก่ศัตรู ทำให้ต่อมาชุดเครื่องแบบกลายเป็นสิ่งที่ต้องปกปิดอำพราง

ภายใต้วินัยของกองทัพ ที่สุดแล้วกองทัพก็ได้กลายเป็นเครื่องจักรไปเสียเอง

งานชิ้นนี้มอง ‘องค์กรตำรวจ’ ในฐานะสถาบันที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับกองทัพ โดยสนใจความสัมพันธ์ของ ‘ตำรวจมลายู’ (ในฐานะผู้กระทำ) กับองค์กรตำรวจ (ในฐานะสถาบัน) ซึ่งดำเนินล้อไประหว่างเสรีภาพของผู้กระทำและการกักขังบงการของโครงสร้างสถาบันในมิติของ “วินัย” และ “นาย”

ประวัติศาสตร์ตำรวจไทย

ตำรวจมีอยู่ในประวัติศาสตร์ไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 500 ปี (ปรากฏหลักฐานในบทพระอัยการตำแหน่งนาพลเรือน 1298 อันเป็นศักราชกฎหมายตรงกับ พ.ศ.1918) “ตำรวจ” เป็นคำที่ตั้งขึ้นในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ แต่ความพยายามในการสร้างองค์กรตำรวจให้เป็นสถาบันสมัยใหม่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ครุฑ บ่วงราบ) เป็นแม่กอง รับผิดชอบกองโปลิศ (POLIS) ขึ้นครั้งแรก โดยจ้าง ชาวพม่า อินเดีย สิงคโปร์ เริ่มทำงานครั้งแรกที่ย่านตลาดพาหุรัด ในพระนคร และต่อมาในปี พ.ศ.2405 ได้ว่าจ้างกัปตันเดินเรือทะเล คือ กัปตันแซมูเอล โยเซฟ เบิร์ด เอมซ์ (Captain Sammoal Joseph Bird Ames) ชาวอังกฤษ มาเป็นผู้พิจารณาวางโครงการจัดตั้งองค์กรตำรวจ

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นยุคของการวางรากฐานระบบราชการแบบใหม่และสร้างลักษณะความเป็นวิชาชีพ (profession) ของระบบราชการขึ้น กิจการตำรวจไทยโดยเฉพาะในยุคที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พ.ศ.2435-2458) เป็นผู้คุมบังเหียนในฐานะเสนาบดีมหาดไทยถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่และก้าวไกลเป็นอย่างมาก มีการขยายตัวของตำรวจสู่ท้องถิ่นมากยิ่งขึ้นโดยปรับปรุงกิจการตำรวจภูธรเข้าสู่มณฑล จังหวัด อำเภอ นอกจากนี้ยังสร้างโรงเรียนตำรวจ และมีความพยายามในการตั้ง ซี.ไอ.ดี. หรือกรมนักสืบขึ้น แต่ไม่สำเร็จ

การสร้างรัฐสมัยใหม่ของไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเอ่ยถึงเงื่อนไขกึ่งจักรวรรดินิยมและกึ่งอาณานิคม ในขณะที่ชนชั้นนำไทยพยายามรักษาอำนาจอธิปไตยจากจักรวรรดินิยมตะวันตก ก็ได้พยายามปรับตัวให้ทันกับความเป็นสมัยใหม่ที่มียุโรปเป็นศูนย์กลางโดยเรียนรู้ ถอดแบบ กระทั่งเลือกและปรับเปลี่ยนความทันสมัยของจักรวรรดินิยมมาใช้อย่างเหมาะสมกับวัฒนธรรมเดิมในดินแดนของตนและดินแดนที่ตนเข้าครอบครอง

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสชวาและเดินทางกลับสู่สยามผ่านทางคาบสมุทร ก็ทรงนำแบบอย่างการแยกศาลอิสลามเพื่อพิจารณาคดีครอบครัว มรดก การแต่งงาน และศาสนา จากที่อังกฤษใช้กับแหลมมลายูมาดำเนินการในปัตตานี กล่าวได้ว่าสภาวะความเป็นสมัยใหม่ของสยามหรือไทยและปัตตานีจึงมีลักษณะของความทันสมัยแบบอาณานิคมที่มีหลายมิติทับซ้อนกัน

การพัฒนานี้เมื่อขยายเข้ามาในมณฑลปัตตานีกลับกลายเป็นอำนาจรัฐที่รุกรานวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่สงบสุขของประชาชน การเกณฑ์คนเข้าเป็นตำรวจภูธรทำให้เกิดการตื่นกลัวและหลบหนี ด้วยความไม่พอใจอยู่ระยะหนึ่ง ประชาชนรู้สึกถูกรบกวนและเปรียบเทียบว่าดินแดนมลายูฝั่งที่ปกครองโดยอังกฤษไม่มีการเกณฑ์ตำรวจ นอกจากนี้ ในการฝึกตำรวจก็มีปัญหาเรื่องของภาษาและการบังคับบัญชาซึ่งไม่เป็นที่ไว้ใจของประชาชน ในที่สุดเจ้าพระยายมราชจึงได้ทูลเสนอให้มณฑลปัตตานีเป็นมณฑลพิเศษ เลิกการเกณฑ์ตำรวจภูธร ให้จ้างด้วยการสมัคร โดย “ให้ระคนปะปนกันไปทั้งคนไทยและคนแขก”

ภาพตัวแทนของตำรวจชายแดนใต้: จาก “โต๊ะนา” ถึง “อันญิงดาดู”

ประวัติศาสตร์บาดแผลหรือเรื่องราวความทรงจำที่เจ็บปวดของชาวบ้านในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มีหลายเรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐไทย ในความทรงจำเก่าแก่มี “ตำรวจ” เป็น “คู่กรณี” กับชาวบ้านอยู่หลายเหตุการณ์ อาทิ เหตุการณ์ “กรณีบะลูกาสาเมาะ” ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2490 ณ จังหวัดปัตตานี ตำรวจได้เข้าไปในหมู่บ้าน สอบสวนทรมานชาวบ้านและกล่าวหาว่าชาวบ้านสมคบคิดกับโจร จากนั้นก็เผาหมู่บ้านจนทำให้ชาวบ้าน 25 ครอบครัวไร้ที่อยู่อาศัย

“เหตุการณ์ดุซงญอ” ในยุคสมัยของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นเหตุการณ์ที่ถูกเล่าว่าเป็นความเข้าใจผิดของรัฐอันนำไปสู่การใช้ความรุนแรงกับประชาชน เป็นการต่อสู้ครั้งร้ายแรงระหว่างชาวมลายู ซึ่งมีจำนวนราวๆ 1,000 คน กับกองกำลังตำรวจที่หมู่บ้านดุซงญอ จังหวัดนราธิวาส การต่อสู้เกิดจากการริเริ่มของฝ่ายตำรวจก่อน โดยบุกโจมตีชาวมลายูที่ถูกทางการเชื่อว่ากำลังเตรียมการเพื่อทำการต่อต้านรัฐบาล การต่อสู้ครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 36 ชั่วโมง ซึ่งในที่สุดชาวบ้านได้ยอมแพ้ แต่กองกำลังของชาวมลายูส่วนหนึ่งหนีเข้าไปในป่าเพื่อต่อต้านรัฐบาลในรูปแบบกองโจรต่อไป ผลของการต่อสู้ทำให้ชาวบ้านมลายูได้สังเวยชีวิตเกือบ 400 คน ซึ่งรวมคนชรา ผู้หญิง และเด็กๆ ส่วนฝ่ายตำรวจเสียชีวิตประมาณ 30 คน

การบังคับให้สูญหายของกรณีหะยีสุหลง นักการศาสนาที่ชาวบ้านนับถือในปี 2497 และ “เหตุการณ์ที่สะพานกอตอ” ปี พ.ศ.2518  ซึ่งชาวบ้านถูกฆ่าและนำศพไปทิ้งที่สะพานกอตอ จังหวัดนราธิวาส อันนำไปสู่การชุมนุมใหญ่ที่จังหวัดปัตตานี ต่างก็เป็นเหตุการณ์ที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นกัน

คำว่า “โต๊ะนา” แปลว่า “เป็นนาย” สะท้อนถึงทัศนะด้านลบที่ประชาชนมีต่อตำรวจ นอกจากจะมีนัยของความเป็น ‘คนพุทธ’ แล้ว ในอดีต “โต๊ะนา” ยังถูกใช้เป็นคำสรรพนามบุรุษที่สามเมื่อต้องการอ้างถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐในบริบทเชิงลบ กล่าวคือสำหรับมุสลิมบางกลุ่มนั้น ‘นาย’ ถูกจำกัดความหมายเฉพาะความเป็นข้าราชการตำรวจและทหาร ปัจจุบัน คำว่า “โต๊ะนา” ค่อยๆ เลือนหายจากพื้นที่ ไม่ค่อยมีคนใช้หรือพูดคำนี้แล้ว

ดาดู หรือ สดาดู เป็นคำเรียกตำรวจในภาษามลายูถิ่น โรงพักหรือสถานีตำรวจ เรียกว่า “รูเมาะห์สดาดู” คำว่าดาดูหรือสดาดู มาจากภาษาโปรตุเกสว่า “Soldado” แปลว่า “ทหาร” ส่วนคำว่ารูเมาะห์เป็นภาษามลายูถิ่นแปลว่า “บ้าน”

ในหมู่ชาวบ้านมีคำเรียกคนที่ชอบนำข้อมูลไปให้ตำรวจว่า “อันญิงดาดู” แปลว่า “หมาของตำรวจ” ในกลุ่มคนมีอคติรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่รัฐหรือขบวนการฯ จะเรียกตำรวจเป็นภาษามลายูว่า “อันญิง” ซึ่งเป็นคำด่า แปลว่า “หมา” การด่าโดยเรียกตำรวจว่า “อันญิง” เป็นสถานการณ์ไม่ปกติ ไม่ค่อยได้ยินบ่อยนัก แต่คำเรียก “อันญิงดาดู” เป็นคำที่ถูกใช้บ่อย สะท้อนถึงปัญหาอันเกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบที่มีการให้ข่าวแก่ตำรวจโดยคนในพื้นที่ชุมชนเอง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้วาทกรรมเรื่องความไม่เป็นธรรมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ยังคงทำงานได้ต่อเนื่อง อาจเป็นสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ โดยเฉพาะกรณีการซ้อมทรมานและการตายปริศนาของผู้ต้องสงสัยหลายรายในระหว่างการจับกุม สอบสวน และควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่  “โต๊ะนา” และคำอื่นๆ ที่แสดงภาพด้านลบของเจ้าหน้าที่รัฐจึงยังคงดำรงอยู่

             

เขาเล่าว่า “ตำรวจ” สัมพันธ์กับโจร ผู้มีอิทธิพล และหัวคะแนน

ตำรวจมีความสัมพันธ์กับโจรอย่างแนบแน่นในทัศนะและประสบการณ์ของชาวบ้าน ครั้งหนึ่งเพื่อนของผู้เขียนเล่าเรื่องที่ฟังมาจากพ่อของเธอว่า สมัยที่คุณปู่ทำการค้าที่อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส มีตำรวจมาข่มขู่เก็บเงิน

ตำรวจอาวุโสนายหนึ่งให้ข้อมูลว่า ในสมัยก่อนมีการเรียกเก็บค่าคุ้มครองจากบริษัท ร้านค้า โรงงานต่างๆในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และมีการเรียกเก็บกินค่าหัวคิวแบ่งเปอร์เซ็นต์จากค่าน้ำยาง ค่าขี้ยางที่ซื้อจากชาวบ้าน หากไม่จ่ายให้ก็ไม่สามารถเข้ามาซื้อหรือนำของที่ซื้ออกจากพื้นที่ได้ การเรียกเก็บเหล่านี้ทำโดยคนที่ตั้งตัวขึ้นเป็นนักเลงหัวไม้ ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น คนเหล่านี้มักจะแสดงท่าทีว่าเป็น “เด็กของตำรวจ” ด้วยการแสดงความสนิทสนมคุ้นเคยและไปกินเหล้าร่วมกับตำรวจ ทำให้ชาวบ้านคิดว่าคนพวกนี้กับตำรวจสนิทกัน จึงไม่กล้าแจ้งความ

ความสัมพันธ์กับโจรและการเลี้ยงโจรของตำรวจเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยหลายเหตุผล เหตุผลหนึ่งของตำรวจที่ทำหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดก็คือ การเข้าไปฝังตัวเพื่อสืบข่าว ค้นหาหัวหน้าแกงค์ค้ายาเสพติดรายใหญ่ ตำรวจบางคนยอมเอาตัวเข้าแลก เข้ากลุ่มเสพยาจนติดยาเสียเองก็มี ตำรวจหลายคนบอกว่าจำเป็นต้องเลี้ยง “สาย” ที่เป็นคนติดยาหรือเป็นคนที่เคยต้องโทษคดีมาก่อน เพื่อให้สืบข่าว สืบข้อมูลความเคลื่อนไหวต่างๆ ในพื้นที่ให้

เมื่อผู้เขียนลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้าน เรื่องราวว่าด้วยตำรวจเป็นลูกน้องผู้มีอิทธิพลยังเป็นเรื่องที่ถูกเล่าอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านคนหนึ่งเล่าถึงหมู่บ้านของตนเองว่า มีตำรวจในพื้นที่ทำหน้าที่จับยาเสพติดโดยเฉพาะใบกระท่อมอย่างสม่ำเสมอ ข้อน่าสนใจก็คือ ตำรวจผู้นี้มีการลงทุนร่วมกับอาสาสมัครของฝ่ายปกครองในหมู่บ้าน โดยรับซื้อใบกระท่อมแล้วให้อาสาสมัครคนดังกล่าวกระจายขาย มีเยาวชนเสพน้ำกระท่อมในเครือข่ายช่วยเป็นตัววิ่งส่งของ ตำรวจผู้นี้จับผู้ค้ากระท่อมรายอื่นแต่ไม่จับอาสาสมัครคนดังกล่าว ประเด็นเรื่องตำรวจเป็นผู้ขายกระท่อมและน้ำกระท่อมเสียเองเป็นเรื่องที่ได้ยินหลายครั้งในหลายพื้นที่ เรื่องเล่าเหล่านี้ไม่ได้ถูกเล่าในฐานะของข่าวลือ แต่ถูกเล่าในฐานะประสบการณ์ของตนเอง

วินัยและนาย อำนาจที่ไม่อาจต้านทาน

ก่อนจะกลายเป็น “ตำรวจ” นอกจากการสอบเข้าแล้ว กระบวนการที่สำคัญที่สุดคือการผ่าน “การฝึกอบรม” โดยในกระบวนการฝึกอบรมแบ่งเป็นชั่วโมงบรรยายวิชาทั่วไป 90 ชั่วโมง วิชาเฉพาะ 160 ชั่วโมง รวมกับการฝึกและพลศึกษา 200 ชั่วโมง ก่อนจะฝึกงาน 2 สัปดาห์

กระบวนการฝึกเพื่อกลายเป็นตำรวจเป็นกระบวนการของเทคโนโลยีการสร้างวินัย (disciplinary technology) นับตั้งแต่การเข้าไปอยู่ในพื้นที่ปิดคือศูนย์ฝึก ผู้เข้าฝึกจะถูกจัดวางตำแหน่งโดยมีการควบคุมตรวจสอบ มีการจัดวางลำดับการอบรมและทดสอบ เป็นรูปแบบของการควบคุม (form of control) ที่ทำงานกับร่างกายผ่านมิติของการจัดเวลาและพื้นที่

เมื่อเข้ามาเป็นตำรวจแล้ว รูปแบบโครงสร้างขององค์กรตำรวจก็ยังคงมีเทคโนโลยีการสร้างวินัยเป็นแกนหลักขององค์กร โดยเฉพาะการจัดอันดับด้วยตำแหน่งและสายการบังคับบัญชาที่มีลักษณะเป็นลำดับชั้นลดหลั่นกันลงมา มีการกำกับ บังคับบัญชา ซึ่งประกอบด้วยการสอดส่องหรือสังเกตตามลำดับชั้น (hierarchical observation) ร่วมกับการชี้ขาด ตัดสิน รวมไปถึงมาตรการลงโทษ โครงสร้างหรือระบบดังกล่าวนี้มีความชัดเจนและแข็งตัวอันเป็นลักษณะเฉพาะของหน่วยงานความมั่นคง และสถาบันเบ็ดเสร็จเด็ดขาด (total institution)

ในเพลงมาร์ชพิทักษ์สันติราษฎร์หรือมาร์ชตำรวจซึ่งแต่งขึ้นในสมัยรัฐตำรวจของ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ “วินัย” คือ คุณค่าแรกที่ปรากฏในเพลง ดังเนื้อเพลงที่ว่า “เกียรติตำรวจของไทย เกียรติวินัยกล้าหาญมั่นคง… ” ซึ่งตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 “วินัย” หมายถึง บรรทัดฐานของสังคม เครื่องกำกับความประพฤติของบุคคลบางหมู่บางคณะให้อยู่ในกรอบของความเป็นระเบียบ กฎ ข้อบังคับ คำสั่ง ซึ่งเป็นลายลักษณ์อักษรหรือขนบธรรมเนียมประเพณี วินัยเป็นหลักการความประพฤติของข้าราชการตำรวจตามแบบอย่างและธรรมเนียมที่กำหนดขอบเขตไว้ให้ถือปฏิบัติ คือระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี และจรรยาบรรณตำรวจ

วินัยมีลักษณะไม่เท่าเทียมกันระหว่างองค์กรตำรวจกับข้าราชการตำรวจ ผู้บังคับบัญชามีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการทางวินัยกับผู้ใต้บังคับบัญชาตามที่กฎหมายบัญญัติให้มีอำนาจหน้าที่ไว้เท่านั้น จะต่อรองไม่ได้ ไม่เหมือนกฎหมายเอกชนซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง

วินัยเป็นเครื่องมือของผู้บังคับบัญชาในการใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อสั่งการการบังคับบัญชาในการปฏิบัติราชการ โดยมาตรการทางวินัยจะถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมความประพฤติให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติตามกฎหมายและคำสั่งของผู้บังคับบัญชา และใช้ลงโทษผู้ฝ่าฝืนการใช้อำนาจปกครองและบังคับบัญชาตามลำดับการบังคับบัญชาตำรวจ

ตำรวจระดับสัญญาบัตรนายหนึ่งได้ให้ข้อมูลว่า การพิจารณาเลื่อนขั้นของตำรวจต้องผ่านบอร์ดหรือคณะกรรมการพิจารณา โดยจะประเมินคัดคนจำนวนหนึ่งไว้และคัดคนที่เหลือออกตามสัดส่วน ทั้งนี้ผู้มีคุณสมบัติที่รอรับการคัดเลือกมีจำนวนมากกว่าตำแหน่งเสมอในสัดส่วนประมาณ 5 ต่อ 70 หรือต่อ 100 แล้วแต่ตำแหน่งและพื้นที่ ทำให้เกิดการ “วิ่ง” เพื่อจะให้ตนเองไม่หลุดไปจากยอดบนของปิรามิดนี้

“พอเป็นตำรวจแล้วมันจะซึมซับไปเอง ตอนผมเป็นตำรวจใหม่ๆ ก็มีความคิดเหมือนอาจารย์ มองว่าเราต้องได้ด้วยผลงานนะ ไม่ใช่ได้ด้วยพวกชาวอุปถัมภ์ เพราะคนที่เก่งในองค์กรตำรวจไปได้ช้า คนที่เรียนเก่งทำงานดีมักจะรับราชการไม่ค่อยก้าวหน้า มันจะช้า แต่คนที่เอนเตอร์เทนนายจะก้าวหน้า ก็ทำงานสักยี่สิบเปอร์เซ็นต์แล้วอีกแปดสิบเปอร์เซ็นต์เอนเตอร์เทนนายเอา”

นอกจากการวิ่งเพื่อให้ได้เลื่อนตำแหน่งแล้ว การวิ่งเพื่อให้ได้ประจำการอยู่ที่สถานีตำรวจใหญ่ก็เป็นขั้นตอนที่มีการแข่งขันกันอย่างมากและทำให้ขาดความมั่นคงในตำแหน่ง เพราะอาจถูกย้ายออกและแทนที่ด้วยคนอื่น การเอาใจหรือสร้างความสุขให้ผู้บังคับบัญชา (เอ็นเตอร์เทน) เป็นสิ่งที่ตำรวจท่านนี้บอกว่า “มันเป็นไปโดยออโตเมติก ไม่ต้องซีเรียส” พร้อมทั้งเล่าตัวอย่างให้เห็นพอสังเขป

“นายจะเขี่ยบุหรี่ อาจารย์ต้องเอามือมารับ อาจารย์ทำได้ไหม กล้าไหมเอามือไปรองแทนที่เขี่ยบุหรี่นะ”

“นายจะเข้าห้องน้ำ อาจารย์กล้าไหมที่จะเอากระดาษไปเช็คโถส้วมว่ามันสะอาดเรียบร้อย ไม่ให้เหลือร่องรอยที่คนอื่นทำไว้ อาจารย์ทำได้หรือเปล่า เพราะบางอย่างบางทีของพ่อแม่เรา เรายังไม่ทำเลย”

“สรรหาอะไรให้กิน สมมุติว่าเขาอยากจะกินอะไรล่ะ หอยจ้อที่อร่อยที่สุดในประเทศมันอยู่เชียงราย เราก็ต้องไปซื้อมาจากเชียงราย”

 

เสียงของ “คนใน”

ในการสัมภาษณ์ตำรวจมุสลิมมลายู ระดับชั้นของตำรวจผู้ให้สัมภาษณ์ที่แตกต่างกันมีผลต่อการบอกเล่าเรื่องราวตัวตนของตนเองแตกต่างกัน ตำรวจระดับสัญญาบัตรส่วนใหญ่ผ่านระบบการศึกษาโรงเรียนสายสามัญ กระทั่งมหาวิทยาลัยของรัฐ ขณะที่ตำรวจชั้นประทวนบางคนผ่านระบบการศึกษาแบบปอเนาะมาก่อน ตำรวจที่เป็นคนพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นตำรวจชั้นประทวนนับตั้งแต่นายดาบลงมา ในการพูดคุยกับตำรวจแต่ละนาย เสียงของความเป็นตำรวจ ความเป็นนายู (สำเนียงท้องถิ่นหมายถึง มลายู) และความเป็นมุสลิมของแต่ละคนไม่ได้ดังเท่าๆ กัน บางคนแม้จะเป็นคนพื้นที่แต่ไม่ได้เปล่งเสียงพูดแทนในฐานะของคนในพื้นที่มากนัก กลับพูดในฐานะของการเป็นตำรวจมากกว่า อย่างไรก็ตาม มีหลายเสียงที่พูดในฐานะ “คนใน” ได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะเมื่อพวกเขาเอ่ยถึง “คนนอก”

ประเด็นสำคัญที่ตำรวจคนพื้นที่โดยเฉพาะตำรวจชั้นผู้น้อยกล่าวถึงคือ ตำรวจส่วนใหญ่ที่ย้ายเข้ามาในพื้นที่ไม่ได้มีความจริงใจหรือตั้งใจจะแก้ปัญหา แต่มาเพื่อรับการเลื่อนขั้นตำแหน่งเนื่องจากสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่พิเศษมีการนับเวลาราชการทวีคูณให้ ตำรวจที่มีภูมิลำเนาจากที่อื่นเมื่อเข้ามาทำงานในพื้นที่มักไม่มีความรู้เรื่องพื้นที่ ไม่สามารถใช้ภาษามลายูถิ่น และไม่เข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น

“ผู้กำกับ… คนปัจจุบัน ย้ายมาจากอีสาน ย้ายมาเอาตำแหน่ง ตั้งแต่ย้ายมาไม่เคยออกไปไหนเลย กลัว วันๆอยู่กับต้นไม้ เดี๋ยวให้ลูกน้องย้ายกระถางขึ้น ย้ายกระถางลง คือเรียกว่าใช้ชีวิตให้รอดไปวันๆ รอเวลาที่จะย้ายกลับไป ตราบใดที่ยังมีระบบอุปถัมภ์แบบนี้อยู่ปัญหาแก้ยากมาก…”

นายที่ส่วนหน้ายะลาเรียกลูกน้องมาทำงาน ส่งมาจากอีสาน มาหาข่าวในโกลก ไม่ใช่คนในพื้นที่แล้วจะรู้ที่ไหน ไม่รู้จักคน ขนาดอิสลามด้วยกันยังไม่พูดกันเลย… มีปัญหาคือนายเลือกเอาลูกน้อง ไม่ใช่เลือกเอาคนที่มีฝีมือหรือคนเก่งในพื้นที่ แต่เอาคนนอกมาเข้าพื้นที่

“อย่างเวลาขึ้นรถไปกินเหนียว (งานแต่งงาน) อย่างน้อยสิบคน ถูกถามว่าไปไหน ก็บอกว่ากินเหนียว พวกอีสานบอกว่าดูถูกพวกกูไปกินเหนียว (เข้าใจผิดว่าถูกล้อเลียน) ที่จริงแล้วไปกินเลี้ยงในงาน ไม่เข้าใจกัน ก็ทะเลาะกัน เถียงกัน ชาวบ้านก็เกลียด ไม่เข้าใจความเป็นอยู่ของชาวบ้าน…”

ตำรวจซึ่งเป็นคนมุสลิมในพื้นที่มักจะรู้สึกว่านายและเพื่อนร่วมงานหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจ ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมอย่างแท้จริง ตำรวจนายหนึ่งเล่าว่าเขาถูกสั่งให้ไปหาข่าวยังที่หนึ่ง และรู้ในเวลาต่อมาว่านายได้ให้ตำรวจอีกทีมหนึ่งตามไปสังเกตการณ์เขา ตรวจสอบเขาอีกที ทั้งนี้ตำรวจหลายนายรู้สึกว่าการที่เขาถูกหวาดระแวงเป็นเพราะเขาเป็นคน “มุสลิมมลายู”

“ตำรวจนอกพื้นที่ที่เป็นไทยพุทธเขาระแวง ตำรวจมุสลิมใส่กาปีเยาะมาละหมาดมัสยิด เขาก็สงสัยแล้ว เขาจะระแวงว่าเราแต่งตัวแบบนี้ ใส่โต๊บ (เสื้อตัวยาวของผู้ชายแบบอาหรับ) ใส่โสร่ง เออ ถ้าใส่กางเกงใส่เสื้อนะเขาก็จะไม่ระแวง ถ้าคนมีเคราหน่อยเค้าจะระแวง อันนี้คือความรู้สึกของตำรวจนอกพื้นที่ที่เราจับได้”

อดีตตำรวจอาวุโสนายหนึ่งเอ่ยถึงชีวิตตำรวจสั้นๆ ว่า “มันเป็นความเจ็บปวด” และเงียบไปพักหนึ่งก่อนจะเล่าถึงมรสุมในอดีตซึ่งเคยมีปัญหากระทบกับนักการเมือง ทำให้ถูกคำสั่งย้าย

“ผมไปอยู่นราฯ ก็มีปัญหาการฆ่าตัดตอน สมัยทักษิณช่วงปราบยาบ้า ก็จะมีการอุ้มผู้ต้องสงสัยไปซักข้อมูล ได้ไม่ได้ผมไม่รู้ รู้แต่ว่าเขาเอาไปฆ่า ผมไม่เห็นด้วย ผมรับไม่ได้ ข่าวก็ออกเป็นการจัดฉากว่าเกิดจากสถานการณ์ นายตำรวจคนนั้นคนนี้เป็นคนจับผู้ต้องสงสัยไปฆ่า สุดท้ายเรื่องเหล่านั้นก็จบไป เขาก็มองว่าผมเป็นคนเอาข่าวนี้ออกเผยแพร่ เมื่อผู้ใหญ่ทราบจึงสั่งให้ผมออกจากนราฯ ให้ไปเป็น… และห้ามเข้าพื้นที่ 3 จังหวัด ทั้งๆ ที่ภาระงานของผมก็ต้องเกี่ยวเนื่องกับ 3 จังหวัด และบ้านผมก็อยู่ที่นี่”

“ในชุดที่ถูกสั่งย้ายพร้อมกับผมตอนนั้นก็จะมีปลัดจังหวัดและนายอำเภอ ซึ่งทุกคนนับถือศาสนาอิสลาม เขามองว่าอาจจะเป็นส่วนหนึ่งของผู้ก่อการร้าย แต่สาเหตุหลักๆ ของเรื่องคือการที่ผมไม่เห็นด้วยกับการนำผู้ต้องสงสัยไปสอบสวนแล้วสุดท้ายก็ฆ่าทิ้ง เพราะคนที่โดนฆ่า ผมรู้จัก เมียของเขาเคยมาหาผม หลังจากที่มาพบผมแล้วเขาก็ถามว่า ทำไมตำรวจถึงต้องมีหมายเรียกอีก ซึ่งเขาบอกว่าระหว่างทางที่เดินทางไปพบเจ้าพนักงานก็โดนจับตัวไปต่อหน้าต่อตา ผมก็เลยถามนายตำรวจที่เกี่ยวข้อง เขาก็อึกอักตอบไม่ได้ พอรุ่งเช้าเขาก็เอาไปฆ่า ผมก็พูดกับเพื่อนร่วมงานว่ามันไม่ถูก”

“เขามองผมประหนึ่งว่าเป็นส่วนหนึ่งของผู้ก่อการ เพราะผมไม่เห็นด้วยกับการเอาคนไปฆ่า เขาว่าผมทำงานกับใครไม่ได้ อยู่ยะลาก็ขัดแย้งกับนักการเมือง อยู่นราธิวาสก็ขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชาตัวเอง ดูแล้วว่าผมเป็นคนไม่ค่อยทำงาน คือเราไม่ทำงานตามนโยบายของรัฐ ไปเข้าข้างผู้ก่อการร้าย ผมบอกไม่ใช่ เพียงแต่คนที่โดนฆ่าเขาเป็นคนที่เคยมาขอความช่วยเหลือจากผม ผมรู้ดีว่าเขาไม่ใช่ผู้ร้าย ผมก็เลยเบื่อแล้วก็ลาออกในที่สุด”

สถานการณ์ชายแดนใต้: ตำรวจ = อันตราย

ในกิจกรรมกระบวนการครั้งหนึ่งที่ให้ตำรวจถอดความคิดว่า อะไรคือความเสี่ยงและความปลอดภัยในทัศนะของตำรวจ พบว่า “เครื่องแบบตำรวจ” ถูกใส่ไว้ในช่อง “ความเสี่ยง” ของหลายกลุ่ม การที่เครื่องแบบตำรวจกลายเป็นสัญลักษณ์ของอันตรายสืบเนื่องจากหลังสถานการณ์ความรุนแรงในปี พ.ศ.2547 ข้าราชการทหาร ตำรวจ กลายเป็นกลุ่มเป้าหมายของความรุนแรง ตำรวจในพื้นที่ถ้าไม่จำเป็นหรือไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาปฏิบัติงานก็จะไม่ใส่เครื่องแบบ

เมื่อตำรวจกลายเป็นเป้าหมาย เป็นสิ่งอันตราย ชีวิตทางสังคมของตำรวจหลายๆ คนก็เปลี่ยนไป พวกเขาส่วนใหญ่ขาดการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อนผู้ชายอย่างที่เคยเป็น “เพื่อนไม่มาหา ไม่สามารถไปหาเพื่อน หรือไปหาก็ต้องแอบๆ แวบๆ ไม่ให้คนอื่นเห็น เพราะถ้าคนเห็นว่าคุยกับตำรวจ คนคุยด้วยจะเดือดร้อน บางทีเพื่อนก็ขอว่าอย่ามาเลย มีอะไรให้โทรมาแทน”

“บ้านผมแต่ก่อนจัดงานแต่ง งานสุนัต (งานพิธีเข้าสุนัต) ชาวบ้านมากันเยอะ พอเริ่มมีเหตุการณ์ พอเราจัดงานก็มีแต่ญาติๆ สนิทเท่านั้นที่มาช่วยขูดมะพร้าว ช่วยทำแกง ขนาดคนจะมากินเค้ายังไม่กล้ามาเลย เค้าไม่อยากเดือดร้อนนะ”

หากมองวิถีชีวิตผู้ชาย ณ ชายแดนใต้ ชีวิตทางสังคมของพวกเขาผูกพันอยู่กับสถานที่บางแห่ง ได้แก่ มัสยิด ร้านน้ำชา และงานประเพณี ผู้คนในความสัมพันธ์นอกจากครอบครัวของตนเองแล้วก็มีเพื่อนผู้ชาย ที่สำคัญอีกประการคือญาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ดูจะถูกพรากไปจากชีวิตตำรวจชายแดนใต้หลังสถานการณ์ปี พ.ศ.  2547 อัตลักษณ์ของตำรวจมลายูมีลักษณะผสมผสานระหว่างสัญลักษณ์ของรัฐ (ความเป็นตำรวจ) และความเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นมลายู ทำให้สถานะของตำรวจมลายูมีความเป็นชายขอบจากทั้งสองกลุ่มวัฒนธรรมหรือสัญลักษณ์ พวกเขาถูกประทับตรา (stigmatize) จากองค์กรเพราะความต่างและความไม่น่าไว้วางใจในความภักดีต่อองค์กร ขณะเดียวกันสำหรับกลุ่มผู้ที่มีแนวคิดต่อต้านรัฐ พวกเขาก็ถูกประทับตราว่าเป็นตัวแทนรัฐ คู่ขัดแย้งกับความเป็นธรรมในสังคม.

เชิงอรรถ

[1] อสมา มังกรชัย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี – เรียบเรียงใหม่จากบทความวิจัยเรื่อง ตำรวจมลายู: ลูกผสมของความสมัยใหม่แบบอาณานิคม ประวัติศาสตร์บาดแผล และความรุนแรง ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารรุไบยาต ฉบับว่าด้วย “สภาวะความเป็นสมัยใหม่อันแตกกระจาย: การค้นหาประวัติศาสตร์สังคม-วัฒนธรรมปาตานี” (ปีที่ 2 ฉบับที่ 3 เดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2554)

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save