fbpx
ด้วยรักและสันติภาพ : การเสด็จเยือนเมียนมาร์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส

ด้วยรักและสันติภาพ : การเสด็จเยือนเมียนมาร์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง เรื่อง

Thai Catholic Media – สื่อมวลชนคาทอลิกประเทศไทย ภาพ

ผมและภรรยาติดสอยห้อยตามคณะชาวคาทอลิคที่เดินทางไปร่วมการชุมนุมชาวคริสต์ที่ประเทศเมียนมาร์ จัดโดยสื่อมวลชนคาทอลิคแห่งประเทศไทย

การเดินทางครั้งนี้มีไฮไลต์อยู่ที่การเข้าร่วมพิธีมหาบูชามิสซา ซึ่งจัดขึ้นที่สนามกีฬา Kyaikkasan Ground กรุงย่างกุ้ง โดยมีสมเด็จพระสันตะปาปาเป็นประธานในพิธี ในวันพุธที่ 29 พฤศจิกายน 2560

 

เมื่อเราเดินทางไปถึงย่างกุ้ง หนึ่งวันหลังการเสด็จอย่างเป็นทางการ บรรยากาศในย่างกุ้งเต็มไปด้วยบิลบอร์ด โปสเตอร์และแผ่นป้ายต้อนรับสมเด็จพระสันตะปาปา นอกจากนี้ ถนนหนทางในย่างกุ้งยังเต็มไปด้วยรถราจากทุกสารทิศ  ซึ่งเพิ่มดีกรีความแออัดของการจราจรในเมืองหลวงของพม่าเข้าไปอีก

ชาวคริสต์ในพม่ามีจำนวนประมาณ 7% ของประชากรทั้งหมด โดยเป็นชาวคริสต์นิกายโรมันคาทอลิค ประมาณ 2% และโดยมากกระจายกันอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น คะฉิ่น กะเหรี่ยง ฉาน ไต จัดว่าเป็นชนกลุ่มน้อยทั้งด้านชาติพันธุ์และศาสนา

 

 

 

ประวัติศาสตร์คริสตศาสนาในพม่าเริ่มต้นจากการเข้ามาของมิชชันนารีชาวโปรตุเกสในคริสตศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ปัจจุบันในคริสตจักรโรมันคาทอลิคของพม่ามีนักบวชดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นพระคาดินัล ซึ่งเป็นสมณศักดิ์สูงสุดรองจากสมเด็จพระสันตะปาปา

เช้ามืดของวันที่ 29 พวกเราที่เข้าร่วมพิธีต้องติดบัตรสำหรับเข้าร่วมและผ่านจุดคัดกรอง สนามกีฬาขนาดใหญ่ถูกจับจองพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณที่ใกล้กับปะรำพิธีชั่วคราว

การจัดการดูแลแม้จะใช้อาสาสมัครจำนวนมาก แต่ก็ยังมีหลายจุดที่เกิดความสับสนวุ่นวาย ก็เห็นใจพี่น้องชาวคริสต์ในพม่าที่มีจำนวนไม่มากนักและเพิ่งเคยจัดงานใหญ่ขนาดนี้

ผมและภรรยาเนื่องจากติดบัตรผ่านธรรมดาไม่ระบุโซนที่นั่ง จึงไม่สามารถเข้าไปยังโซนภายในได้ สุดท้ายเราได้ที่นั่งยังเต๊นท์หนึ่ง ไม่ไกลจากปะรำพิธีนัก ชิดกับรั้วรอบนอกปะปนกับชาวพม่าและชาติอื่นๆ โดยหวังว่าจะได้ยลโฉมพระสันตะปาปาสักแวบหนึ่งก็ยังดี

พระสันตะปาปาฟรานซิส ได้กลายเป็นกระแสที่ถูกพูดถึงหลังการรับตำแหน่งของพระองค์ ด้วยความเปลี่ยนแปลงหลายประการในคริสตจักร เป็นต้นว่า ทรงดำเนินกิจวัตรประจำวันและใช้ข้าวของส่วนพระองค์อย่างประหยัดและเรียบง่ายไม่ต่างจากสมัยยังเป็นพระคาดินัล ที่สำคัญ คือการให้ความช่วยเหลือต่อคนยากจน การไม่ถือธรรมเนียมและยศศักดิ์รวมทั้งความเป็นกันเอง

ความเมตตาอาทรเช่นนี้ ทำให้ทรงได้รับฉายาว่า พระสันตะปาปาของประชาชน

การเสด็จเยือนเมียนมาร์ครั้งนี้จึงดึงดูดชาวคริสต์นอกนิกายโรมันคาทอลิกและศาสนิกอื่นๆ ผู้ชื่นชมในพระจริยวัตรของพระองค์ ซึ่งรวมทั้งผมและภรรยาด้วย

การเสด็จเยือนครั้งนี้ใช้ตราสัญลักษณ์อย่างเป็นทางการว่า “Love & Peace”  ด้วยรักและสันติภาพ  เพื่อจะสื่อว่าพระองค์เป็นมิชชันนารีแห่งความรักและสันติภาพ

“ข้าพเจ้ามาเพื่อประกาศพระวรสารของพระเยซูเจ้า ซึ่งเป็นสาส์นแห่งการคืนดีกัน การให้อภัย และสันติภาพ” จากวิิิิิดีโอที่ทรงตรัสถึงชาวเมียนมาร์ก่อนการเสด็จเยือนในครั้งนี้

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเสด็จเยือนเมียนมาร์เป็นประเทศที่สองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  หลังจากทรงเยือนฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีชาวคริสต์เป็นประชากรมากที่สุดในภูมิภาคนี้

คำถามที่นักวิเคราะห์สนใจ คือเหตุใดทรงเลือกเมียนมาร์ ทั้งๆ ที่ชาวคริสต์มีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย ซึ่งเคยได้ต้อนรับสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่สองมาแล้ว

คำตอบน่าจะเดาได้จากสถานการณ์ความรุนแรงที่มีต่อชาว “โรฮิงญา” ในเมียนมาร์ ซึ่งพระสันตะปาปาทรงเปิดเผยในภายหลังว่า ทรงหวังจะพบกับผู้อพยพชาวโรฮิงญาสักที่หนึ่งไม่ว่าจะเป็นในเมียนมาร์หรือบังคลาเทศซึ่งเสด็จหลังจากเยือนเมียนมาร์แล้ว

ทั้งนี้ในระหว่างเสด็จเยือนเมียนมาร์ ก็ไม่ได้ตรัสถึง “โรฮิงญา” ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับกลุ่มผู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชน โดยผู้นำพระศาสนจักรท้องถิ่นได้ขอร้องพระองค์ไม่ให้ทรงใช้คำนี้ในระหว่างการเสด็จเยือน

ในเมียนมาร์เอง มีความพยายามที่จะเรียกชาวโรฮิงญาว่า “เบงคอลี” หรือคนเบงคอล เพื่อแสดงให้เห็นว่า ชาวโรฮิงญานั้นไม่ใช่ชาวพม่า คำนี้จึงเป็นคำที่อ่อนไหวในทางการเมืองของเมียนมาร์ในเวลานี้อย่างยิ่ง

แต่สมเด็จพระสันตะปาปาเองได้เคยตรัสคำนี้มาก่อน ในช่วงที่ทรงประณามการใช้ความรุนแรงในพม่า และท้ายที่สุดได้ตรัสคำนี้ที่กรุงธากา เมืองหลวงของบังคลาเทศ ระหว่างพบผู้อพยพชาวโรฮิงญา โดยทรงให้เหตุผลในภายหลังต่อการไม่ตรัสคำนี้ว่า เพื่อไม่เป็นการปิดโอกาสที่จะได้เข้าหารือกับผู้นำระดับสูงของเมียนมาร์ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว

อีกทั้งเราอาจเข้าใจได้ว่า ทรงจำเป็นจะต้องรับผิดชอบต่อสวัสดิภาพของชาวคริสต์ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในพม่าด้วย

เวลาประมาณแปดโมงเช้า เสียงซาวด์ระฆังเรียกมิสซาดังขึ้นรอบสนามกีฬา เป็นสัญญานให้ทุกคนรู้ว่า พิธีสำคัญกำลังจะเริ่มขึ้น แต่ในช่วงที่ทุกคนไม่ทันตั้งตัว รถโป๊บโมบิล หรือรถเปิดกระจกสำหรับพระสันตะปาปาก็แล่นเข้ามาอย่างช้าๆ ในเส้นทางระหว่างจุดที่นั่งต่างๆ สร้างความฮือฮาให้กับทุกคนในบริเวณพิธีซึ่งรอช่วงเวลานี้มานาน

สมเด็จพระสันปาปาฟรานซิส ทรงแย้มพระสรวล และโบกพระหัตถ์ให้กับประชาชนที่มารอเฝ้า ชั่วไม่กี่วินาทีที่โป๊บอยู่ใกล้ชิดและผ่านหน้าไป ดูจะทำให้พี่น้องชาวเมียนมาร์และชาติพันธุ์ต่างๆ ที่รอนแรมขึ้นเขาลงห้วยมาไกลแสนไกลพึงพอใจอย่างที่สุด ผมเห็นรอยยิ้มและดวงตาที่ฉ่ำชื้นของใครหลายคนในที่นั้น

 

 

พระสันตะปาปาทรงใช้เวลาในการพบปะเช่นนี้อยู่นานพอสมควร จากนั้นจึงทรงเริ่มพิธีมิสซา ซึ่งใช้ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาลาตินปนกัน

ในภาค “บทภาวนาเพื่อมวลชน” นั้น มีการให้คนชาติพันธุ์ต่างๆ นำภาวนาด้วยภาษาถิ่นถึงหกภาษาด้วยกัน คือ ฉาน ฉิ่น ทมิฬ กะเหรี่ยง กะฉิ่น กะยาน

จากนั้นทรงเทศน์ด้วยภาษาสเปน และแปลเป็นภาษาพม่า ใจความทรงตรัสถึงบทอ่านจากพระวรสารดาเนียล และ เน้นถึง “ปรีชาญาน” ของพระเยซู ซึ่งนำมาสู่ความรักและการให้อภัย

ทรงตรัสถึง ความยากลำบากและอุปสรรคที่ศาสนิกจะได้รับ ทว่าให้รักษาความรักและความเมตตาไว้เสมอ

หลังจบพิธีมิสซาพี่น้องชาวคริสต์พากันเดินทางกลับ ผมได้เห็นอาสาสมัครเพื่อดูแลคนป่วยผู้พิการทำงานอย่างเข้มแข็ง ได้เห็นโรงทานและการแบ่งปันอาหารจำนวนมากแก่ผู้มาเข้าร่วม

หลังเข้าร่วมพิธีมิสซา สมเด็จพระสันตะปาปามีกำหนดการพิธีมิสซาที่อาสนวิหารเซนต์แมรี่ กรุงย่างกุ้ง เพื่อทรงพบปะกับเยาวชน ก่อนจะเสด็จยังบังคลาเทศ

 

 

 

วันเดียวกันนั้นผมและพี่ๆ ในคณะสื่อมวลชนคาทอลิคไปเยือนวัดนักบุญแอนโทนี่ ซึ่งเชื่อกันว่า บุญราศีนิโคลาส บุญเกิด บุญราศี (บุคคลศักดิ์สิทธิ์ก่อนจะได้รับสถาปนาเป็นนักบุญ) ชาวไทยได้เคยมาเยือน

ที่วัดนักบุญแอนโทนี่ เราพบว่า ชาวคาทอลิคชนเผ่าจำนวนมากได้มาพักอาศัยชั่วคราวเพื่อรอเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาในกรุงย่างกุ้ง โดยวัดได้จัดหาเต็นท์พักและอาหารดูแลคนตลอดทั้งบริเวณวัด

 

การเสด็จเยือนของสมเด็จพระสันตะปาปาในพม่าครั้งนี้จะส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์ในพม่า เราคงต้องรอดูกันต่อไป  แต่การเสด็จเยือนทั้งพม่าและบังคลาเทศ การพบผู้อพยพชาวโรฮิงญา คงเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประชาคมโลก

อย่างน้อยผู้นำทางศาสนาคนที่สำคัญที่สุดในปัจจุบันท่านหนึ่ง ได้เล็งเห็นความทุกข์ยากของคนในอีกซีกโลก และรอนแรมมาเพื่อ “ให้ความบรรเทาใจ” ตามศัพท์แบบคริสต์ศาสนา

เราคนไทยซึ่งอยู่ใกล้เมียนมาร์แค่เอื้อมควรมีท่าทีอย่างไร?

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save