fbpx

หมอก็เป็นมนุษย์ : เอ็กซเรย์สาธารณสุขไทยผ่านมุมมองนักศึกษาแพทย์

ป้ายไวนิลแสดงความยินดีกับนักเรียนที่สามารถสอบเข้าศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ตามรั้วโรงเรียน คงเป็นภาพชินตาในสังคมไทย แม้จะมีเด็กอีกนับร้อยสอบติดหลากคณะ-หลายสถาบัน แต่พื้นที่ความภูมิใจบนป้ายไวนิลกลับเล็กกว่าเด็กที่สอบติดคณะแพทย์ ป้ายเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งเครื่องสะท้อนมายาคติทางการศึกษาและชนชั้นทางอาชีพในสังคมไทยที่เชิดชูหมอไว้สูงกว่าอาชีพอื่น

แม้บนยอดภูเขาน้ำแข็ง แพทย์คืออาชีพอันทรงเกียรติ แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ข้างล่างกลับเต็มไปด้วยความเปราะบางที่พร้อมพังทลายลงมาทุกเมื่อ รากฐานที่ไม่ช่วยพยุงให้หมออยู่ในวิชาชีพได้อย่างมีความสุข อันเป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมในวิชาชีพที่ถูกปกคลุมด้วยวาทกรรมหรือความเชื่อที่ฝังหัวแบบผิดๆ ทำให้คนมองแค่ยอดภูเขา แต่ไม่ดูว่าข้างใต้กำลังถล่มลงมา และวิกฤตแห่งการเปลี่ยนผ่านกำลังคืบคลานเข้ามาเรื่อยๆ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ดูจะอยู่กับเราไปอีกหลายปี ตอกย้ำให้เห็นว่าบุคลากรทางการแพทย์เป็นหนึ่งในกำลังหลักที่จะพยุงสังคมให้ไปต่อได้ แต่ถ้ามองตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน อาชีพที่มีส่วนร่วมในการอยู่รอดของชีวิตมนุษย์อย่างแพทย์กลับถูกละเลย ‘ปัญหา’ ที่ซ่อนอยู่มาโดยตลอด 

ปัญหาโรคซึมเศร้าในหมู่นักศึกษาแพทย์ ข่าวแพทย์จบใหม่กระโดดตึก ชั่วโมงการทำงานของหมอที่ไม่ได้นอนติดกันหลายสิบชั่วโมง จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพของผู้รักษาที่ทำให้เกิดความผิดพลาดในการรักษาผู้ป่วย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เรื่อยๆ เหล่านี้เผยให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขไทยในปัจจุบันไม่โอบกอดบุคลากรทางการแพทย์ให้สมกับค่านิยมเชิดชูหมอ

การออกมาเปิดเผยถึงวัฒนธรรมการเรียนการสอนที่สร้างแผลในใจให้นักศึกษาแพทย์ทำให้เห็นว่า ความผุพังในระบบสาธารณสุขไทยนั้นเกิดขึ้นในทุกระดับ ปัญหาเชิงระบบที่รัฐพยายามซุกไว้ใต้พรมและเพิกเฉยที่จะแก้มาโดยตลอด กำลังค่อยๆ ตัดลมหายใจของทั้งประเทศในสภาวะวิกฤตทางสาธารณสุขเช่นนี้

101 สนทนากับ 2 แพทย์เพิ่มพูนทักษะหรือ ‘อินเทิร์น’ ที่เพิ่งก้าวออกจากรั้วโรงเรียนแพทย์สู่โลกจริงของการเป็นหมอ อำนาจนิยมในโรงเรียนแพทย์เข้มข้นจริงๆ หรือไม่ เป็นหมอแล้วไม่ต้องสละแรงกายแรงใจมากขนาดนั้นได้ไหม ร่วมตั้งคำถาม หาคำตอบและขุดให้ลึกถึงต้นตอของสารพัดปัญหาในวงการสาธารณสุขไทย

นศพ. ขอส่งเสียง

ไพลิน (นามสมมติ) คือนักศึกษาแพทย์ที่ออกมาเล่าเรื่องราวภายในรั้วโรงเรียนแพทย์ เธอเป็นหนึ่งในสปีกเกอร์ห้องสนทนาคลับเฮ้าส์หัวข้อ ‘ริมน้ำ อาจารย์ x นักเรียนแพทย์ : Role Model or Fear Model’ ที่มีการพูดคุยถึงปัญหาในโรงเรียนแพทย์เก่าแก่แห่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมที่สนับสนุนระบบอำนาจนิยมและระบบอาวุโส การกดขี่ทางวาจา การกีดกันหรือเลือกปฏิบัติกับคนที่แสดงความเห็นทางการเมือง และความเพิกเฉยของคณะต่อปัญหาการคุกคามทางเพศ ฯลฯ 

เด็กมัธยมน้อยคนนักจะรู้ว่าภายในคณะในฝันอย่างแพทยศาสตร์ ที่สังคมยกย่องว่าเป็นพื้นที่ของคนเก่งจะมีอะไรรออยู่ กระบวนการประสิทธิ์ประสาทวิชาและฝึกฝนทักษะต่างๆ ที่จะหล่อหลอมให้จบออกมาเป็นแพทย์ต้องใช้พลังกาย พลังใจของผู้เรียนมากเสียจนจินตนาการไม่ออกหากไม่ได้มาสัมผัสจริง

ไพลินเป็นอีกคนที่เลือกเรียนคณะแพทย์ตามค่านิยมกระแสหลักของสังคมไทย ที่มองว่าหมอเป็นอาชีพที่ดี มีเกียรติ พอบอกใครว่าเรียนหมอก็จะได้รับเสียงชื่นชม เธอยังต้องการลบคำสบประมาทที่เคยเคยโดนดูถูกว่าไม่เก่ง ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อทำสำเร็จ ท่าทีของคนรอบตัวก็เปลี่ยนไป ใครๆ ต่างก็อยากเข้ามาทำความรู้จักเธอมากขึ้น

ด้วยความที่ซึมซับแนวคิดแบบอนุรักษนิยมมาทั้งชีวิตทั้งจากครอบครัวและโรงเรียน ไพลินเผยว่าแรกๆ ก็คิดเห็นไปตามค่านิยมกระแสหลักที่หมอต้องเรียบร้อย พูดเพราะ เคารพผู้ใหญ่ ทำตามกฎอย่างเคร่งครัด แต่พอเจอสังคมที่กว้างขึ้น บวกกับได้ไปต่างประเทศ ก็เริ่มเปลี่ยนความคิด สำหรับไพลินแล้ว กฎซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันว่าไม่จำเป็นอย่างการบังคับเรื่องการแต่งกายหรือทำสีผมเป็นเรื่องที่รับได้ แต่ถ้าได้มีโอกาสเป็นผู้คุมกฎ เธอจะไม่บังคับ เพราะมองว่าไม่ใช่เรื่องผิด

“ถ้าเรามองจากมุมของอาจารย์ผู้ใหญ่ ที่เขามองว่าหมอต้องทำตัวเรียบร้อยมากๆ เราว่าเกิดจากสถานะที่เขามองตัวเอง ลองเปรียบเทียบว่าเรามองตัวเองเป็นเจ้าหญิง ก็จะต้องสวยกว่าคนอื่นให้เป็นที่เชิดหน้าชูตา เจ้าหญิงต้องเรียบร้อย ผมมีระเบียบ พูดจาเรียบร้อย ถ้าเราไม่มีคุณสมบัติภายนอกแบบนี้ ก็จะไม่ถูกมองว่าเป็นเจ้าหญิง หมอก็เหมือนกันเลย” ไพลินพยายามให้อีกมุมมองต่อกฎที่มีขึ้นเพื่อวางหมอให้อยู่ในกรอบที่ควรจะเป็น

นอกจากหลักปฏิบัติอันเคร่งครัดที่มีขึ้นเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและจัดวางสถานะหมอในสังคม ไพลินเผยว่าก่อนจะเข้ามาเรียนก็ไม่เคยรู้ว่าคณะแพทย์มีวัฒนธรรมที่เรียกว่าการ ‘กินหัว’ ซึ่งหมายถึงพฤติกรรมที่รุนแรงของอาจารย์ทั้งคำพูดและการปฏิบัติ เช่น การต่อว่าด้วยถ้อยคำรุนแรงอย่างไล่ไปตาย การหักหน้านักศึกษาต่อหน้าคนไข้ ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกอ้างว่าเป็นวัฒนธรรมการสอนที่ทำกันเป็นปกติในโรงเรียนแพทย์ อีกทั้งยังถูกให้ความชอบธรรมด้วยประโยคยอดนิยมอย่าง ไม่เจ็บก็ไม่โต (no pain no gain) หรือมีการทับถมในเชิงที่ว่า “ฉันผ่านมาได้ เธอก็ต้องผ่านได้” 

นักศึกษาแพทย์มักจะมีประสบการณ์ในลักษณะนี้เมื่อขึ้นชั้นคลินิก (ปี 4-6) แต่การที่จะบอกว่านักศึกษาแพทย์ทุกคนล้วนเคยประสบกับการกินหัวคงตอบได้ยาก เพราะสถานการณ์เดียวกันอาจเกิดขึ้นกับแต่ละคนแต่รู้สึกและตอบสนองต่างกัน ไพลินกล่าวว่าบางคนโดนดุด้วยคำรุนแรงแต่มองว่านั่นเป็นการสอนก็มี

ไพลินเล่าถึงประสบการณ์ตอนปี 5 ที่เธอมองว่าเป็นการกินหัวแบบที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น เกิดขึ้นตอนที่เธอต้องสอบ Long Case ซึ่งเป็นการประเมินทักษะทางคลินิกผ่านการซักประวัติ ตรวจร่างกาย วินิจฉัยคนไข้พร้อมให้คำแนะนำแบบหมอจริงๆ เธอนัดวันกับอาจารย์ไปร่วมสามสัปดาห์แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ 

“ใกล้ถึงวันจะลงกองแล้ว อาจารย์ก็โทรมาถามว่าพรุ่งนี้ว่างหรือเปล่า เราตอบไปว่าพรุ่งนี้มีเรียนเช้ากับบ่ายค่ะ ทันทีทันใดอาจารย์ก็ตอบกลับว่า ฉันถามว่าเธอว่างไหม ว่างกี่โมง เธอจะไม่สอบเหรอ เธอจะตกเหรอ เราก็บอกว่าขอโทษค่ะ หนูไม่เข้าใจคำถามของอาจารย์ เราก็เปิดตารางว่ามีเรียนตอนนี้ๆ จะว่างกี่โมง อาจารย์ก็ตอบว่า แค่นี้มันตอบยากมากเหรอ ทำไมต้องให้ถามสองสามรอบ เธอรู้หรือเปล่าว่าถ้าเทียบเวลาของฉันกับของเธอ ฉันทำอะไรได้มากกว่าเธอตั้งเยอะ”

ประโยคสุดท้ายสะกิดให้ไพลินมองว่านี่คือการกินหัว สะท้อนให้เห็นว่าอาจารย์แพทย์เองก็มองหมอไม่เท่ากัน มองว่านักศึกษาแพทย์อยู่คนละระดับกับตัวเอง

“เขาไม่ได้มองว่านักศึกษาแพทย์ก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่มีเวลากิน เวลานอน ตารางของใครของมัน จริงๆ แล้วเวลาของทุกคนมีค่าเท่ากันนะ เป็นอาจารย์แพทย์ก็ต้องเคารพเวลาของนักศึกษา ต่อให้เป็นเวลาพักที่เด็กใช้เล่นเกม แต่ถ้านั่นเป็นเวลาส่วนตัวของเขา อาจารย์ก็ต้องเคารพสิ่งที่นักศึกษาเลือก ไม่ใช่ก้าวก่ายแล้วบอกว่าการที่นักศึกษาเล่นเกมนั้นมีค่าน้อยกว่าอาจารย์เอาเวลาไปรักษาคนไข้ เพราะนี่คือเวลาของฉัน”

อย่างไรก็ตาม แม้ไพลินจะตอบอย่างหนักแน่นว่าไม่เชื่อในการสอนแบบ no pain no gain และเชื่อว่าคนเราบอกกันด้วยถ้อยคำดีๆ ได้ แต่เธอก็ชวนให้คิดว่า ถ้า pain แล้วไม่ gain เลยก็ไม่จริง ไพลินยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่มองว่าเป็นการสอน แม้อาจารย์จะพูดแรงและเธอต้องเก็บเอาไปร้องไห้

“สมัยเป็นเอ็กซ์เทิร์น วนตรวจคนไข้ไม่ค่อยเป็น อาจารย์ถามว่าคนไข้มีไข้มั้ย คือเราก็บอก ณ เวลานั้นไม่มี แล้วเราก็กำลังจะพูดว่าแต่เมื่อคืนมี เขาก็สวนกลับว่า มึงดูคนไข้อะไรของมึง แต่ที่เรามองว่านี่เป็นการสอน เพราะว่าอย่างน้อยเขาก็บอกในสิ่งที่เราจะไม่พลาดอีก มันทำให้เราดูคนไข้เป็น ถ้าเมื่อคืนมีไข้ ตอนนี้ไม่มี ก็อาจจะมีบางอย่าง เช่น ได้ยาไป แต่ก็ต้องตามอาการต่อ ถ้าสิ่งที่เขาด่าแล้วยังพอจะมีประโยชน์ ก็จะมองว่าโอเค”

นอกจากวัฒนธรรมการสอนต้องแลกความแข็งแกร่งทางวิชาชีพกับแผลในใจให้นักศึกษาอยู่ไม่มากก็น้อย แรงกดดันจากสภาพแวดล้อม สภาวะแข่งขันที่เลี่ยงไม่ได้ ความหนักของเนื้อหาในการเรียนที่มาพร้อมความรับผิดชอบมหาศาล สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายใจของผู้เรียน ไพลินมองว่าระบบที่ออกแบบมาไม่เอื้อให้ผู้เรียนได้หายใจหายคอ ผลักให้นักศึกษาแพทย์ต้องยอมสละสุขภาพเพื่อการเรียน แม้ไพลินจะเห็นด้วยกับการอยู่เวรแต่ไม่ได้ค่าตอบแทน เพราะมองว่าเป็นโอกาสในการเรียนรู้และฝึกฝนประสบการณ์ แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการจัดตารางเวลาที่หาเวลาพักผ่อนไม่เจอ

“เราไม่ค่อยเห็นด้วยกับการที่ต้องอยู่เวรข้ามคืนแล้วตอนเช้าต้องมานั่งเรียนเลกเชอร์ ไม่มีใครไหวหรอก แถมบางคาบอาจารย์ยังไม่มีการอัดเสียง ไม่แจกสไลด์ อันนี้ไม่เข้าใจมากๆ มุมมองเราคือ อยู่เวรอยู่ได้ แต่อยู่เพื่อให้เด็กคนนั้นเรียนรู้ ถ้าเขายังอยู่ในจุดที่เขาต้องเรียน” 

เธอยังยกตัวอย่างประสบการณ์ช่วงโควิดระลอกแรกที่ต้องเลื่อนสอบประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือ NL2 (National Lisense) ซึ่งการสอบดังกล่าวเป็นบันไดขั้นที่ 2 จากการสอบทั้งหมด 3 ขั้นเพื่อประเมินความรู้และทักษะที่เรียนมาว่าอยู่ในมาตรฐานที่แพทยสภากำหนดหรือไม่ การสอบ NL จึงเป็นตัวชี้ชะตาว่านักศึกษาแพทย์จะสามารถจบเป็นหมอที่มีใบประกอบวิชาชีพพร้อมรักษาคนได้หรือไม่ โดยปกติแล้ว NL2 จะสอบกันหลังจบปี 5 ทำให้ในตอนนั้นมีการร้องเรียนกับคณะเกิดขึ้นเนื่องจากนักศึกษาแพทย์ขึ้นชั้นเอ็กซ์เทิร์น (ปี 6) กันแล้วและต้องอยู่เวรจนทำให้ไม่มีเวลาทบทวน

“ถ้าบังเอิญมีคนที่อยู่เวรคืนก่อนหน้านั้นแล้วต้องไปสอบคือซวยมากๆ ซึ่งเรางงว่าทำไมคณะมองไม่เห็นจุดนี้ จนเพื่อนต้องร้องเรียนว่าขอออกเวร แต่คณะก็ให้ได้แค่ประมาณหนึ่งวัน ถ้าเด็กเรียนหนังสืออยู่ ก็ควรจะให้ความสำคัญกับการเรียนของเขาบ้าง จะมาบอกว่าทำงานเธอก็ได้ความรู้ แต่มันไม่ขนาดนั้นนะ ข้อสอบกับชีวิตจริงมันไม่เหมือนกัน แล้วเด็กต้องเอาเนื้อหาตั้งแต่ปี 1 ไปสอบด้วย เขาควรได้มีเวลาทบทวน”

นอกจากเนื้อหาการเรียนอันหนักหนาสาหัสและสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความกดดันจะบีบให้นักศึกษาแพทย์และแพทย์ต้องสละสุขภาพกายใจแล้ว ปัญหาเชิงระบบในแวดวงสาธารณสุขไทยที่ถูกฉาบด้วยวาทกรรมแบบพุทธยังแปรรูปความเสียสละอดทนของหมอให้เป็นบุญกุศล จนผู้คนหลงลืมว่าหมอก็อยากมีชีวิตที่ดี เราคงเคยผ่านตากับความเห็นที่ขาดความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ในอินเทอร์เน็ตเวลามีข่าวแพทย์เลือกจบชีวิตเพราะความกดดันจากภาระงาน ซึ่งมีข้อความทำนองว่า “รู้ว่าเหนื่อยจะมาเป็นหมอทำไม” หรือ “เรียนมาขนาดนี้แล้วทำไมไม่อดทน” 

เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับวาทกรรมผู้เสียสละหรือผู้อุทิศตนที่ครอบงำวิชาชีพแพทย์ผ่านเรื่องบุญกุศล ซึ่งช่วยค้ำจุนความผุพังของระบบสาธารณสุขไทยที่ต้องพึ่งพาการทำงานอย่างหักโหมของหมอ ไพลินตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่าไม่เห็นด้วย เธออยากให้มองว่าหมอก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ต้องหาเลี้ยงชีพ ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและรายได้ที่สมเหตุสมผล ไม่ใช่ทำงานแบบหัวหกก้นขวิดแล้วได้คำเยินยอว่าเป็นนักบุญ

“เรามองว่าหมอไม่จำเป็นต้องเสียสละนะ ถ้าหมออยากทำอะไรให้คนไข้ดีขึ้น ด้วยจิตใจของหมอเอง นั่นเป็นสิ่งที่เขาเลือกเอง ไม่ควรไปบังคับว่าทุกคนต้องทำแบบนั้น ถ้าวันนี้ไม่ใช่เวรฉัน เลิกงานสี่โมงเย็นแล้วจะไม่ตอบงาน มันก็ควรจะเป็นแบบนั้นได้หรือเปล่า” 

เป็นความย้อนแย้งที่หมอซึ่งเป็นผู้เยียวยาผู้คนจากความทุกข์ทรมานและคอยให้คำแนะนำในการรักษาสุขภาพกลับไม่สามารถปฏิบัติตามวิถีทางสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นได้ ซ้ำยังถูกร้องขอจากรัฐและสังคมให้เสียสละมากกว่านี้อีก เห็นได้ชัดเจนในช่วงการระบาดของโควิด-19 ระบบที่ไม่คำนึงว่าคุณภาพการรักษาพยาบาลจะดีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคุณภาพชีวิตแพทย์อยู่ในเกณฑ์ดี จึงไม่สามารถรักษาแพทย์ไว้ในระบบได้ นำมาสู่ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ที่เป็นหนึ่งในต้นตอของชั่วโมงทำงานอันยาวนานของแพทย์

คำบอกเล่าของไพลินยังเผยให้เห็นปัญหาการตรึงโครงสร้างแบบลำดับชั้นที่ผลักให้แพทย์จบใหม่ต้องรับภาระงานหนัก 

“ในฐานะแพทย์เรามองว่าสภาพการทำงานที่เป็นอยู่ปัจจุบันมันไม่เวิร์ก อยากเสนอทางออกว่า ถ้าอยู่เวรวันนี้ พรุ่งนี้ควรได้เวลาอย่างน้อยแปดชั่วโมงในการพัก แต่ปรากฏว่ามันไม่ใช่ เมื่อคืนเราอยู่เวร ได้นอนสามชั่วโมง ซึ่งถือว่าเยอะสุดแล้วตั้งแต่อยู่เวรมา แต่เช้ามายังต้องตื่นไปเดินตรวจคนไข้ ทำงานเอกสารทั้งหมด ขณะที่วันหนึ่งถ้าจบไปเป็นสตาฟแล้ว ก็โยนให้หมอจบใหม่ทำ

“พูดตรงๆ มีอาจารย์ไม่กี่คนที่จะเดินมาแล้วบอกว่าพี่เดินตรวจของพี่ตามนี้ ฝากน้องทำแค่ตรงนี้ไม่เยอะ ส่วนมากเขาเทให้หมอใหม่เลย อันนี้อาจมองว่าปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากปัจเจก อาจารย์คนนี้ไม่ทำชาร์ตเลย ปล่อยให้หมอจบใหม่คนหนึ่งต้องมาทำแทนทุกอย่าง แต่ถ้ามองกลับไปคือเป็นที่ระบบ ทำไมเราไม่สามารถเอาระบบมาควบคุมคนๆ นี้ได้ ในเมื่อเราอยู่ในระบบเดียวกัน ฉะนั้นเปลี่ยนที่คนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเปลี่ยนที่ระบบด้วย ควรมีการหยุดงานให้หมอที่อยู่เวร

“ถ้าพูดในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ก็รู้สึกเสียดายชีวิต เราคิดว่าถ้าออกจากการเป็นหมอ เราคงเป็นมนุษย์คนนึงที่โง่มาก และไม่สามารถเอาตัวรอดจากสังคมได้ ไม่น่าเอาตัวรอดเก่งเท่าแม่ค้าขายของออนไลน์ได้ เรามีความรู้หมอเต็มไปหมด แต่ความรู้รอบตัวไม่พอเอาตัวรอด เราว่าเด็กไทยส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนั้น”

ไพลินไม่ได้มองแค่ว่าโรงเรียนแพทย์และระบบสาธารณสุขไทยเท่านั้นที่เป็นปัญหา แต่ถ้าขุดให้ลึกถึงราก สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่พันกันยุ่งเหยิงอยู่กับมายาคติทางการศึกษาของสังคมไทย

“สังคมที่ผุพังของประเทศนี้ทำลายชีวิตทุกคน ตั้งแต่ระบบการศึกษาแล้ว ทุกอย่างเป็นบล็อกสี่เหลี่ยม เราโตขึ้นมาเป็นคนที่เกลียดวันจันทร์ ตั้งคำถามกับตัวเองเต็มไปหมด เด็กไทยไม่เคยตอบตัวเองว่าฉันอยากเรียนรู้เรื่องนี้เพราะอะไร ทำไมเราต้องเก่งคณิตฯ เพราะถ้าได้ร้อยคะแนนเต็มเราจะได้คำชม เรามีคนที่เก่งคณิตศาสตร์เต็มไปหมดแต่เอาอะไรมาใช้ไม่ได้เลย เรามีคนที่ทำคะแนนการสอบ GAT-PAT ได้เต็มเยอะแยะไปหมด แต่เราไม่สามารถเอาคนที่ได้คะแนนร้อยเต็มนั้นไปใช้อะไรได้เลย สรุปว่าไม่ใช่แค่ระบบแพทย์ แต่คือระบบการศึกษา”

หากให้ไพลินลองออกแบบโรงเรียนแพทย์และระบบสาธารณสุขที่อยากจะเห็น เธอกล่าวว่าต้องมาตั้งคำถามและหาคำตอบก่อนว่าเราผลิตหมอไปทำไม หากผลิตไปเป็นนักบุญ การเปลี่ยนแปลงคงเกิดขึ้นได้ยาก ไพลินลองเสนอวิธีที่จะปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนรวมถึงการปฏิบัติงานในโรงพยาบาลให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

“ทุกวันนี้การเรียนการสอนยังเป็นระบบที่แพทย์ต้องรู้ทุกอย่าง แต่ในชีวิตจริงมันไม่ใช่ ควรจะสอนให้เด็กเข้าใจว่าความรู้มีอยู่ตรงนี้ จะเปิดได้จากตรงไหน ความรู้แพทย์เปลี่ยนอยู่ทุกวัน บางอย่างถูกดิสรัปต์ จนความรู้เมื่อ 30-40 ปีก่อนใช้ไม่ได้ ฉะนั้นสิ่งที่จะสอนเด็กในยุคต่อไปคือ หาข้อมูลอย่างไร และเอาข้อมูลเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้อย่างไรมากกว่า”

“โลกยุคนี้ไม่ใช่โลกของการจำ อนาคตคือเรื่องของบิ๊กดาต้า เด็กของเราควรเก็บข้อมูลเป็นและรู้ว่าข้อมูลที่เก็บจะเอาไปใช้ต่อได้บ้างหรือเปล่า เราเชื่อว่าประเทศไทยมีอะไรให้ศึกษาอีกเยอะ ไม่จำเป็นต้องรอจากเมืองนอก อยู่ที่ว่าเราเก็บมันไว้ไหม”

“ควรปรับโครงสร้างให้เอื้อกับเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น ระบบการลอกชาร์ต ปกติแล็บคนไข้จะรายงานผ่านคอมพิวเตอร์ แต่ก็จะมีชาร์ตกระดาษ นักศึกษาแพทย์จะต้องตื่นตั้งแต่หกโมงเช้า เพื่อมาลอกแล็บลงกระดาษ ทำไมไม่เปิดในคอมพิวเตอร์ดู แทนที่จะไปให้ความสำคัญกับงานซ้ำซ้อนพวกนี้ เอาเวลาไปทำอย่างอื่นที่มันมี productivity ดีกว่าไหม”

บทสนทนากว่าหนึ่งชั่วโมงครึ่งปิดท้ายด้วยคำถามที่ว่า แพทย์ยังเป็นอาชีพที่ใช่สำหรับไพลินอยู่หรือไม่ เธอตอบอย่างไม่ลังเลว่าคิดไม่ผิดที่มาเรียนหมอ และยังรู้สึกสนุกกับการได้รักษาคนไข้ ดีใจทุกครั้งได้ช่วยให้คนไข้หายจากความทุกข์ทรมาน เธอกล่าวว่าจะดีกว่านี้หากมีการออกแบบระบบให้ตอบโจทย์ชีวิตแพทย์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งมากกว่านี้ เธอคาดหวังว่าคนบริหารจะลงมามีปฏิสัมพันธ์กับบุคลากรหน้างานมากกว่านี้ ช่องว่างความห่างเหินระหว่างคนวางกฎกับคนที่ต้องอยู่ในกฎที่แคบลงจะนำไปสู่การปรับรูปแบบองค์กรที่มอบคุณภาพชีวิตที่ดีให้บุคลากรสาธารณสุขไทยมากขึ้น

มองความเหลื่อมล้ำผ่านเลนส์อินเทิร์น

เป็นที่ทราบกันดีว่าหลักสูตรแพทยศาสตร์นั้นใช้เวลาเรียน 6 ปี หลังจากจบแล้ว แพทย์จะถูกส่งไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลต่างๆตามที่จับฉลากได้ เกือบ 3 ปีของการใช้ทุนเป็นช่วงเวลาที่ทำให้แพทย์จบใหม่จากโรงเรียนแพทย์ในเมืองขนาดใหญ่ได้ออกจากโลกที่พรั่งพร้อมไปด้วยบุคลากรผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาและทรัพยากรครบมือ ไปสัมผัสกับความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรของรัฐและปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลต่อความเจ็บป่วยของผู้คน

แมว (นามสมมติ) เป็นอินเทิร์นที่มีโอกาสไปใช้ทุนที่จังหวัดหนึ่งในภาคอีสานเป็นเวลา 1 ปีและลาออกจากระบบเพื่อมาประจำอยู่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ย้อนไปสมัยมัธยมปลาย แมวเป็นเด็กที่มีผลการเรียนค่อนข้างดีจึงเลือกเรียนแพทย์เพราะคนรอบตัวบอกว่าถ้าเรียนเก่งก็ต้องเข้าคณะแพทย์

หลังจากก้าวสู่โรงพยาบาลในฐานะหมอที่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นของตัวเอง แมวชี้ให้เห็นความแตกต่างของสภาพแวดล้อมว่าสมัยที่เป็นนักศึกษาแพทย์ก็จะเครียดเรื่องการสอบมากกว่า แต่เมื่อเป็นหมอก็จะมีภาระความรับผิดชอบอยู่ที่การรักษาคนไข้ โดยเฉพาะเมื่อเป็นหมอจบใหม่ ความกังวลจะอยู่ที่ว่ามีหมอที่มีประสบการณ์กว่าคอยแนะนำไหม

แมวค่อนข้างโชคดีที่เจอสภาพแวดล้อมที่ดี มีแพทย์รุ่นพี่ที่คอยเสริมและเติมในส่วนที่ขาด เสริมสร้างความมั่นใจในการวินิจฉัยและให้คำแนะนำคนไข้ เขาเผยว่าแม้เวลานอนจะน้อยลงแต่ก็แลกมากับความภูมิใจที่ได้รักษาคนไข้ อีกทั้งยังได้ค่าตอบแทน จึงเป็นความเหนื่อยที่แมวรับได้

เมื่อถามความคิดเห็นถึงการอยู่เวรและปฏิบัติงานเสมือนแพทย์จริงๆ เมื่อสมัยยังเป็นเอ็กซ์เทิร์น (ปี 6) ซึ่งไม่ได้รับค่าตอบแทน สำหรับแมวที่เรียนโรงเรียนแพทย์ชื่อดัง อุปกรณ์ บุคลากรครบครันและได้มีโอกาสไปเห็นสภาพการทำงานในโรงพยาบาลต่างจังหวัดเมื่อครั้งใช้ทุน ให้ความเห็นจากสองมุมมองว่า

“ผมจบจากโรงเรียนแพทย์ สิ่งแวดล้อมค่อนข้างดี ปริมาณหมอต่อคนไข้ค่อนข้างเยอะ ตัวอย่างใน 1 ทีมการรักษาของ 1 เวร จะมีคนดูให้เยอะ เช่น วอร์ดอายุรกรรม มีปี 4 จำนวน 2 คน ปี 5 จำนวน 2 คน เอ็กซ์เทิร์นอีกประมาณ 2 คน กับแพทย์ประจำบ้านปี 1-3 โดยรวมๆ แล้วมีหมอเกือบสิบคนที่จะช่วยแก้ปัญหาคนไข้ในหนึ่งวอร์ดได้ ดังนั้นแล้วเขาไม่ได้ใช้งานนักศึกษาแพทย์หนักขนาดนั้น ก็ไม่ได้รู้สึกว่าต้องได้เงินนะ”

“ขณะที่ตอนผมไปใช้ทุนที่โรงพยาบาลศูนย์ต่างจังหวัด ซึ่งเอานักศึกษาแพทย์มาฝึกด้วย เอ็กซ์เทิร์น 1 คน ดูแลคนไข้ 30 คน ต่างกันโดยสิ้นเชิงเลย เขาแทบจะดูเองหมดเลย คนไข้มีอะไรต้องแก้เองให้ได้ประมาณหนึ่งก่อน ค่อยตามอินเทิร์นมาช่วย เอ็กซ์เทิร์นหนึ่งคนต่อคนไข้สามสิบว่าเยอะแล้ว อินเทิร์นหนึ่งคนยิ่งต้องดูคนไข้เป็นร้อยคน สูงสุดอยู่ที่ประมาณ 5 วอร์ด”

“พอเป็นแบบนี้ สมมติเอ็กซ์เทิร์นโรงเรียนแพทย์บอกไม่ได้เงินก็ได้ ไม่ได้เหนื่อยขนาดนั้น แต่โรงพยาบาลศูนย์ที่ต่างจังหวัดคือโคตรเหนื่อยเลยนะ แล้วเวลารักษาคนไข้ก็จะมีคนช่วยดูให้แค่สองชั้น เป็นอินเทิร์นและสตาฟเลย ถ้าสรุปว่าเอ็กซ์เทิร์นควรได้เงินทุกคน ก็ไม่ใช่อย่างนั้นเสียทีเดียว แต่ก็อยากให้เห็นว่ามันมีเอ็กซ์เทิร์นที่ทำงานหนักมากๆ ในไทย”

นอกจากภาระงานของนักศึกษาแพทย์และแพทย์ในเมืองกรุงกับต่างจังหวัดจะไม่เท่ากันแล้ว เรื่องค่าตอบแทนก็มีความเหลื่อมล้ำเช่นกัน แมวอธิบายว่าระบบสาธารณสุขไทยจะตีเส้นแบ่งจังหวัดเป็นเขตสุขภาพต่างๆ เขตสุขภาพไหนที่ประชากรเยอะ งบจะไปลงเยอะ และจะจ่ายเงินได้ค่อนข้างตรงเวลาและเต็มอัตรา ส่วนแพทย์ที่อยู่โรงพยาบาลเล็กๆ มักจะประสบปัญหาตกเบิกและได้รับเงินไม่เต็มอัตรา

เมื่อคุยถึงการเปลี่ยนแปลงในระบบสาธารณสุขไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ที่แพทย์จบใหม่จะไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ แมวที่มีประสบการณ์ลาออกจากระบบของรัฐเพื่อมาอยู่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เล่าถึงความลำบากใจในการตัดสินใจเพราะจะต้องสูญเสียสิทธิจากการเป็นข้าราชการและตั้งคำถามกับความไม่เท่าเทียมกันของสวัสดิการที่รัฐให้แก่แต่ละวิชาชีพ

“ตอนจะออกก็คิดเยอะนะ เพราะสิทธิข้าราชการบ้านเราให้สิทธิรักษาเยอะ ค่าเบิกยาต่างๆ คุ้มที่จะออกไหมถ้าเสียสิทธิตรงนี้ไป และถ้าต่อไปอยู่ในระบบหรือไม่อยู่มีค่าเท่ากัน คนคงไม่อยู่ เราว่าสิทธิข้าราชการมันครอบคลุมดีเด่นเกินไป เป็นเรื่องน่าคิดว่าทำไมสิทธิข้าราชการต่างจากสิทธิอื่นมากขนาดนั้น ประกันสังคมที่ต้องจ่ายตังค์ยังได้แค่การรักษาครึ่งๆ กลางๆ ต้องมาตั้งคำถามตรงนี้ใหม่”

แมวพูดติดตลกว่าหากให้สาธยายว่าระบบสาธารณสุขไทยที่ประสบพบเจอตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์จนจบมาเป็นหมอมีปัญหาตรงไหนและอยากแก้อะไรบ้าง เล่าเป็นวันก็คงไม่จบ เราจึงพูดคุยกันถึงการออกแบบโรงเรียนแพทย์ที่พอจะเป็นไปได้มากกว่ามาแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง หลักๆ แล้ว แมวให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลายกว่านี้สำหรับนักศึกษาแพทย์

“จริงๆ การเรียนแพทย์ เครียดด้วยตัวเนื้อหาอยู่แล้ว ด้วยความที่ทุกคนเคยเป็นเด็กเก่งมาก่อน แล้วต้องมาอยู่ในสังคมที่มีแต่คนเก่ง ทำให้เกิดการแข่งขันกันเองโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ ด้วยความคาดหวังที่ติดตัวมาตั้งแต่ ม.ปลายด้วย เช่น คนเก่งเลขมากๆ อาจจะไม่เก่งเนื้อหาที่ต้องจำเยอะๆ เพราะฉะนั้น โดยรวมความเครียดมันเยอะ ผมอยากให้ตัดความเครียดอื่นๆ ออกไปให้ได้มากที่สุด ไม่ต้องไปบีบเขาเยอะ เพราะเขามีเรื่องที่ต้องบีบตัวเองอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทนไหว ระบบที่ดีควรจะรับฟังเขามากขึ้น ให้เขาเลือกชีวิตตัวเองได้มากขึ้นท่ามกลางความเครียดที่มีอยู่แล้ว คงจะดี”

ในปีนี้ที่เสียงของนักศึกษาแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขเริ่มดังมากขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่เปิดเผยปัญหาซึ่งหมักหมมมานาน เราเห็นภาพหมอ พยาบาลที่ต้องหักโหมทำงานท่ามกลางความเสี่ยง ซ้ำร้ายรัฐยังไม่เหลียวแล หลายชีวิตไม่มีโอกาสอยู่เห็นจุดสิ้นสุดของโควิด และไม่ใช่แค่ปัญหาเชิงระบบหรือการบริหารงานที่ล้มเหลวของหน่วยงานรัฐ แต่หมอที่อยู่ในตำแหน่งสูงๆ ซึ่งมีบทบาทในการตั้งรับการระบาดหลายคนกลับมีท่าทีและการแสดงออกที่ทำให้ประชาชนตั้งคำถามกับจรรยาบรรณแพทย์ น่าคิดว่าในปัจจุบันวิชาชีพแพทย์อันเดินทางมาอยู่ในจุดที่เกิดวิกฤตศรัทธาแล้วหรือ? ค่านิยมที่เชิดชูแพทย์ไว้สูงสุดของห่วงโซ่วิชาชีพอาจจะถูกรื้อถอนในเร็วๆ นี้ไหม?

อย่างไรก็ตาม การออกมาส่งเสียงของหมอแทบทุกระดับตั้งแต่ในโรงเรียนแพทย์ถึงโรงพยาบาลเพื่อคะคานกับแพทย์คนใหญ่คนโตเป็นการส่งสัญญาณว่าสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้พัดพามาถึงแวดวงสาธารณสุขแล้ว เราได้แต่เอาใจช่วยว่าระบบที่ผุพังและทำให้ใครหลายคนต้องเจ็บปวดตั้งแต่เรียนจนจบมาทำหน้าที่แพทย์จะได้รับการแก้ไขในเร็ววัน

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save