fbpx

ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์การแพทย์แบบดักทาง

การแพทย์ปัจจุบันมีแนวโน้มชัดเจนมากคือ จะเปลี่ยนผ่านจากการรักษาไปสู่การป้องกัน เข้ากับสโลแกนโฆษณาเก่าแก่ของเครื่องตัดไฟยี่ห้อหนึ่งว่า ‘ตัดก่อนตาย เตือนก่อนวายวอด’ อย่างเหมาะเหม็ง

อธิบายอย่างเข้าใจง่ายอีกคือ การแพทย์มีแนวโน้มที่จะมีความจำเพาะเจาะจงเฉพาะตัวกับแต่ละคนมากขึ้น จำเพาะกับตำแหน่งในการรักษามากขึ้น และใช้วิธีการที่เหมาะสมที่สุด โดยพิจารณาจากข้อมูลพันธุกรรมของแต่ละคนด้วย  

คำถามคือ วิทยาการทางด้านการแพทย์เปิดโอกาสให้เราทำได้แค่ไหนในวันนี้?

การตรวจหาโรคด้วยตัวเองไม่ใช่เรื่องใหม่นะครับ ผู้หญิงในหลายประเทศเรียนรู้เรื่องการตรวจเต้านมตัวเองเพื่อหาเนื้องอกและมะเร็งได้แต่เนิ่นๆ เช่นเดียวกันกับการตรวจมะเร็งปากมดลูกก็กลายเป็นเรื่องปกติในการตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับผู้หญิงใกล้เลยวัยเจริญพันธุ์ในประเทศที่รายได้ดี 

ขณะนี้ยังมีโครงการชื่อว่า NHS Galleri Trial หรือการทดลองเอ็นเอชเอส แกลเลอไรของสหราชอาณาจักร ซึ่งจะตรวจเลือดผู้สูงอายุหาชิ้นส่วนดีเอ็นเอผิดปกติ เพื่อใช้ระบุว่าเริ่มเกิดเซลล์มะเร็งแล้วหรือยัง โดยสามารถตรวจได้ครอบคลุมมะเร็งมากถึง 50 ประเภท และตรวจพบแม้กระทั่งในช่วงที่เพิ่งเริ่มจะเกิดเป็นมะเร็ง โดยมีคนอายุระหว่าง 50–77 ปี มากถึง 140,000 คน จากหลากหลายประเทศและชาติพันธุ์เข้าร่วมการทดลองนี้ [1] 

ชุดตรวจหรือวิธีการตรวจต่างๆ ก็มีความแม่นยำมากขึ้นทุกที ผลตรวจลวงไม่ว่าจะแบบผลบวกลวง (ไม่ป่วย แต่ตรวจผิดว่าป่วย) หรือผลลบลวง (ป่วยจริง แต่ตรวจผิดว่าไม่ป่วย) น้อยลงเรื่อยๆ แม้ว่าจะอาจจะไม่มีวันหมดไปก็ตาม 

แต่ที่เด็ดดวงกว่านั้นคือ วิธีการตรวจก็สะดวกสบายมากขึ้น ไม่เจ็บตัวมากเหมือนแต่ก่อน 

ยกตัวอย่าง เครก เวนเทอร์ (Craig Venter) ผู้เป็นหัวหอกสำคัญคนหนึ่งในโครงการจีโนมมนุษย์ เขาได้ริเริ่มโครงการชื่อ Human Longevity แปลไทยแบบง่ายๆ ว่า ‘ช่วงชีวิตมนุษย์’ โครงการนี้มีการเก็บข้อมูลมาระยะหนึ่ง [2] จนทำให้รู้ว่าการใช้เครื่อง MRI สแกนหาเนื้อเยื่อที่ผิดปกติทั่วทั้งตัว ทำให้มีโอกาสพบเนื้องอกในคนที่อายุเกิน 50 ปีราว 3% ซึ่งเนื้องอกที่ว่านี้ไม่ได้หมายความว่า คนเหล่านี้ต้องเป็นมะเร็ง แต่พวกเขาก็จะสามารถจัดการกับเนื้องอกเหล่านี้แต่เนิ่นๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาที่จะเกิดตามมาในอนาคตได้

ที่น่าสนใจคือ ปี 2022 นี้จะมีความก้าวหน้าครั้งใหญ่คือ การใช้อัลกอริทึมคอมพิวเตอร์แบบใหม่ที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลดิบจาก MRI ได้ดียิ่งขึ้น ทำให้ตรวจพบเนื้องอกที่ขนาดเล็กลงไปอีก ซึ่งเมื่อนำไปประกอบกับวิธีการตรวจดีเอ็นเอในเลือดที่หลุดออกมาจากเนื้องอก ก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

ทำให้สามารถตรวจเจอได้ตั้งแต่ยังไม่สังเกตเห็นด้วยตาเปล่าด้วยซ้ำไป!   

ความสามารถใหม่ที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์คือ เดิมต่อให้ตรวจพบดีเอ็นเอจากเนื้องอก เราก็ไม่มีทางระบุได้ว่ามาจากเนื้อเยื่อหรืออวัยวะใดแน่ แต่วิธีการแบบใหม่ที่เล่าไปแล้วนี้สามารถระบุเนื้อเยื่อหรืออวัยวะต้นตอได้ด้วย 

คาดหมายว่าวิธีการตรวจแบบนี้จะมาแทนการตรวจด้วยการถ่ายภาพจากการฉายรังสีเพื่อหาร่องรอยมะเร็ง ซึ่งเป็นวิธีการเก่าที่ตัวมันเองก็เพิ่มความเสี่ยงจากรังสีด้วย 

ไม่ใช่แค่โรคมะเร็งเท่านั้น มีการคาดการณ์กันว่า ในปีนี้ ถ้าเราอาศัยข้อมูลจากการใช้เครื่อง MRI สแกนสมองร่วมกับข้อมูลพันธุกรรมก็น่าจะเพียงพอที่จะใช้ ‘ทำนาย’ แนวโน้มของแต่ละคนที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ นอกจากผลจาก MRI จะระบุความเสียหายเบื้องต้นของสมองได้แล้ว หากใช้ร่วมกับการสแกนด้วยเครื่อง PET ก็จะทำให้เห็น ‘อะมัยลอยด์ (amyloid)’ ที่เป็นตัวบ่งชี้ภาวะอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย 

คุณเวนเทอร์บอกว่า โครงการ Human Longevity ของแกสามารถตรวจเจออัลไซเมอร์ ก่อนจะเกิดอาการในผู้ป่วยเสียอีก! 

เมื่อพบอย่างรวดเร็วเช่นนี้แล้ว การเปลี่ยนแปลงกิจกรรมการใช้สมอง การกินอาหาร และการใช้ยาบางอย่างก็ช่วยทำให้การป่วยจากอัลไซเมอร์ล่าช้าออกไปได้ 

เท่านั้นยังไม่พอ ประสิทธิภาพของ MRI ที่เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถตรวจพบอาการหลอดเลือดโป่งพอง (aneurysm) ในคนที่ดูแข็งแรงดีราว 1% ซึ่งปกติแล้วกว่าจะพบหลอดเลือดโป่งพอง ก็มีการตกเลือดในสมองเป็นหย่อมขนาดใหญ่ไปแล้ว 

จากที่เล่ามาจะเห็นได้ว่า นอกจากประสิทธิภาพของเทคโนลียีที่ใช้สแกนร่างกายจะดีขึ้นมากแล้ว เมื่อมาประกอบเข้ากับประสิทธิภาพในการตรวจดีเอ็นเอ รวมทั้งการอ่านข้อมูลพันธุกรรมแบบรายบุคคล ก็ทำให้การแพทย์ขยับเข้าสู่ ‘การแพทย์ส่วนบุคคล’ และการป้องกันโรคมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด 

เพื่อให้เห็นภาพว่านี่ไม่ใช่เรื่องในอนาคตที่ ‘จะทำ’ แต่มีการทดลองและลงมือใช้เทคนิควิธีการต่างๆ เหล่านี้ไปบ้างแล้ว เช่น ที่อินเตอร์เมาต์เทนเฮลธ์แคร์ (Intermountain Healthcare) ในรัฐยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ใช้ข้อมูลพันธุกรรมของผู้ป่วยเป็นตัวหลักในการวางแผนการรักษาแล้ว 

นอกจากจะช่วยให้ตรวจเจอร่องรอยของโรคเร็วขึ้นดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว ประโยชน์อีกด้านหนึ่งก็คือ ทำให้นักวิจัยเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางสังคมกับความชุกของโรค (prevalence) อีกด้วย อธิบายง่ายๆ ว่ามีการพบผู้ป่วยในคนกลุ่มไหน มีพันธุกรรมอย่างไร หรือมีพฤติกรรมอย่างไรนั่นเอง

เรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องใหญ่และส่งผลกระทบมากในอนาคตอันใกล้ เมื่อคนต้องการตรวจดูว่า ‘ในอนาคต’ ตัวเองจะป่วยเป็นอะไรได้บ้าง แทนที่จะจะไปหาหมอเพื่อตรวจเมื่อป่วยเป็นโรคแล้ว เพราะน่าจะมีคนต้องการตรวจแบบนี้จำนวนมาก 

คำถามคือ รายจ่ายที่จะเกิดขึ้น ใครจะเป็นคนจ่าย? ผู้ต้องการตรวจเองหรือระบบสุขภาพของประเทศนั้นๆ? เมื่อตรวจหา ‘แนวโน้ม’ การเจ็บป่วยแล้ว การรักษาเพื่อ ‘ป้องกัน’ ก็เช่นกัน รายจ่ายที่เกิดขึ้นจะไปตกอยู่ที่ใคร? ระบบประกันสุขภาพของบริษัทประกันจะตอบสนองกับเรื่องแบบนี้อย่างไรบ้าง? จะมีการบังคับตรวจและปฏิเสธหรือคิดเบี้ยประกันอย่างแพงกว่าปกติมากๆ กับผู้เอาประกันที่มี ‘แนวโน้มจะป่วย’ หรือไม่? 

เรื่องพวกนี้ใครจะเป็นคนตัดสินว่า ทำได้หรือไม่ได้? 

หากดูจากการรับมือโรคระบาดใหญ่อย่างโควิด-19 แล้ว ก็ดูจะเกิด ‘ช่องว่าง’ ในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงให้ทันกับสถานการณ์อยู่มากระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา 

พูดถึงโควิด-19 มีแผนการใหญ่ที่คุณหมอแอนโธนี เฟาซี (Anthony Fauci) สนับสนุนคือ การทำโครงการวัคซีน ‘ต้นแบบ’ เพื่อรับมือกับการระบาดใหญ่ในรอบหน้า [3] ซึ่งมีแนวโน้มว่าน่าจะเกิดขึ้นแน่นอน โดยต้นคิดเรื่องนี้คือ ดร.บาร์นีย์ แกรแฮม (Barney Grapham) ที่เสนอไว้ตั้งแต่ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 คือ ในปี 2017 

โดยในโครงการดังกล่าว จะใช้ระเบียบวิธีการวิจัยทำนองเดียวกับที่ใช้ทำวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ออกมาอย่างรวดเร็ว 

โดยจะเป็นการเตรียมตัวล่วงหน้าทำวัคซีนกับวงศ์ของกลุ่มไวรัส 20 วงศ์ใหญ่ ที่มีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดปัญหาแบบเดียวกับโคโรนาไวรัสที่เราเจอปัญหากันอยู่ โดยตั้งเป้าหมายว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2027) เราควรจะมีต้นแบบวัคซีนอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของ 20 กลุ่มดังกล่าว ไว้ดักรอการระบาดแล้วล่วงหน้า 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แนวโน้มการป้องกันล่วงหน้า ไม่ได้เกิดเฉพาะกับรายบุคคลเท่านั้น ยังเกิดกับระดับประชากรโลกด้วยเช่นกัน เราอยู่ในยุคสมัยที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ก้าวหน้าอย่างน่าตื่นตาตื่นใจมากจริงๆ   


อ้างอิง

[1] https://www.nhs-galleri.org/ 

[2] J. Craig Venter. We Will Get Ahead of Diseases. The Wired World UK 2022. November 2021.   

[3] https://www.advisory.com/daily-briefing/2021/07/27/next-pandemic

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save