fbpx

หุ้นสื่อ (อีกแล้วหรือ)

กระบวนการเลือกตั้งนั้นเป็นกระบวนการทางการเมืองก็จริง แต่การเลือกตั้งก็ถูกกำกับด้วยกฎหมายอยู่ ดังนั้น ผลของการเลือกตั้งจึงขึ้นกับเจตจำนงทางการเมืองด้วยก็จริง แต่ก็ถูกรบกวนด้วยกฎเกณฑ์ทางกฎหมาย

นั่นแปลว่านอกจากเสียงประชาชนเป็นล้านๆ แล้ว การถูกดำเนินคดีก็เป็นปัจจัยชี้ขาดการเลือกตั้งเช่นกัน

ความตึงเครียดจึงอยู่ตรงนี้เอง ต่อให้ประชาชนเป็นล้าน ๆ เลือกคุณ แต่ถ้ากฎหมายบอกว่าคุณทำผิด คุณก็อาจจะไม่ได้รับการเลือกตั้ง ถ้านักร้องสักคนไปร้อง แล้ว กกต. ห้าคนหรือศาลชี้ว่าคุณทำผิด เสียงของคนนับล้านก็ไม่อาจสู้ความเห็นวินิจฉัยของคนจำนวนหยิบมือได้ 

ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่ากฎหมายการเลือกตั้งไม่ควรมี กฎหมายจำต้องมีอยู่เพื่อรับประกันความเป็นธรรมบางอย่างในกระบวนการเลือกตั้ง แต่ผู้ใช้กฎหมายต้องระมัดระวังที่จะใช้กฎหมายให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์เพื่อธำรงความเป็นธรรม ทั้งนี้เพื่อลดความตึงเครียดขัดแย้งให้มากที่สุด

การถือหุ้นสื่อเป็นจุดอ่อน (pain point) ของการเลือกตั้งไทย ซึ่งกลับมาหลอกหลอนการเลือกตั้งครั้งนี้ (2566) อีกครั้ง หลังจากที่เรืองไกร ลีกิจวัฒนะร้องว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ถือหุ้นบริษัท ITV ทำให้หลายคนวิตกว่าอาจจะเป็นการสกัดหัวหน้าพรรคก้าวไกลเหมือนที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เคยโดน ก่อนที่พรรรคจะถูกยุบตามไปในอีกไม่กี่เดือนด้วยข้อหาเงินกู้

ในเรื่องการขัดกันของผลประโยชน์นั้น แต่เดิมมา เฉพาะรัฐมนตรี คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้น ต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หากรัฐมนตรีประสงค์จะรับประโยชน์จากหุ้นดังกล่าว ต้องโอนหุ้นให้นิติบุคคลบริหารตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่ง

แต่เฉพาะหลังจากปี 2550 เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญบัญญัติห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิให้เป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม อย่างเด็ดขาด 

เหตุที่รัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติเด็ดขาดเช่นนั้น เพราะเกรงว่านักการเมืองที่มีสื่ออยู่ในมือจะสามารถบิดเบือนข้อมูลข่าวสารสร้างความได้เปรียบให้แก่ตนเอง และรัฐธรรมนูญ 2560 ก็รับข้อห้ามดังกล่าวมาด้วย มาตรา 98(3)  ห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชน โดยโทษของการฝ่าฝืนคือขาดคุณสมบัติการเป็น ส.ส. 

ก่อนการรัฐประหาร 2549 นั้น สื่อมวลชนไทยกังวลเรื่องเสรีภาพสื่อกันมาก จากกรณีนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรที่พยายาม ‘คุกคามสื่อ’ เช่น การพยายามเข้าซื้อกิจการ (hostile takeover) ของหนังสือพิมพ์มติชน ซึ่งในขณะนั้นถือว่าเป็นหัวหอกวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของอดีตนายกฯ อย่างแหลมคม ความพยายามเข้าซื้อกิจการดังกล่าวล้มเลิกไปหลังจากเกิดการประท้วงอย่างกว้างขวาง 

แต่ผ่านมากว่าทศวรรษหลังจากกฎเหล็กดังกล่าวถูกนำเข้ามาไว้ในรัฐธรรมนูญ สังคมไทยเต็มไปด้วยสื่อซึ่งแนบแน่นกับพรรคการเมืองจำนวนมาก ไม่ว่าจะค่ายประชาธิปไตยหรืออนุรักษนิยม ในหลายกรณี สื่อเหล่านี้มีญาติพี่น้องหรือคู่สมรสเป็น ส.ส. โดยที่กฎหมายห้ามถือหุ้นสื่อนี้ทำอะไรไม่ได้ 

ส่วนการคุกคามสื่อนั้นก็เกิดขึ้นร้ายแรงยิ่งไปกว่าสมัยทักษิณ ชินวัตร ผ่านกลไกหน่วยงานความมั่นคง และหน่วยงานกำกับดูแล เช่น กสทช. ที่เคยปิดทีวีบางช่องมาแล้ว ตลอดจนผู้นำทางการเมืองเองที่ชี้หน้าดุด่าสื่อ แต่การคุกคามเหล่านี้ไม่นำไปสู่ความพยายามจะคุ้มครองเสรีภาพสื่อให้มากขึ้น ในทางกลับกัน รัฐพยายามออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกสื่อมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ 

กรณีเดียวที่กฎหมายดังกล่าวถูกนำมาใช้จนเป็นที่รับรู้กันทั่วคือกรณีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับหุ้นในบริษัทวี-ลัค ซึ่งยุติกิจการไปแล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ยอมเชื่อว่าธนาธรได้โอนหุ้นไปแล้วก่อนเล่นการเมือง จึงวินิจฉัยให้พ้นสภาพความเป็น ส.ส. ไป 

ในกรณีของพิธานั้น แม้บริษัท ITV ยังอยู่ แต่กิจการก็สิ้นสภาพไปตั้งแต่ปี 2550 เหลือเพียงคดีฟ้องร้องกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

จะเห็นว่า กฎหมายนี้ไม่อาจใช้คุ้มครองเสรีภาพสื่อได้จริง เนื่องจากบทบัญญัติห้ามถือหุ้นสื่อไม่เพียงพอในการควบคุม นักการเมือง พรรคการเมือง สามารถยักย้ายการจัดการกิจการสื่อสารมวลชนได้ผ่านตัวแทน ญาติ หรือแม้แต่ผ่านอุดมการณ์ร่วมกัน โดยไม่ต้องใช้เจ้าตัวเข้าไปถือครองกิจการเอง แต่ครั้นเมื่อใช้ ก็ใช้แบบเถรตรง ยึดตามลายลักษณ์อักษรอย่างประหลาดพิสดาร พยายามโยงลากไปให้ผิดจนได้ ซึ่งเป็นกรณีที่มีกฎหมายก็สักแต่ต้องใช้กฎหมายให้จนได้ โดยไม่สนใจเจตนารมณ์ ซึ่งเคยชี้ไปแล้วว่าเป็นอาการนิตินิยมล้นเกิน (hyper-legalism) ที่ยึดรูปแบบมากกว่าเนื้อหา ละเลยเนื้อหาไม่ใส่เลยด้วยซ้ำ 

เมื่อกฎหมายใช้ไม่ได้จริง ใช้ได้แต่เป็นเครื่องมือห้ำหั่นทางการเมือง กฎหมายห้ามถือหุ้นสื่อนี้ควรเลิกเสียที และหน่วยงานของรัฐควรมุ่งเน้นไปที่ หนึ่ง การเปิดเผยความสัมพันธ์ระหว่างพรรคหรือนักการเมืองกับสื่อแต่ละเจ้าให้รู้ทั่วกันโดยเปิดเผย และ สอง คือเปิดพื้นที่ให้สื่อแต่ละเจ้านำเสนอข่าวอย่างเสรีโดยรัฐเป็นกรรมการ ทำหน้าที่ตรวจสอบเนื้อหาที่สื่อการเมืองแต่ละค่ายนำเสนอว่าถูกต้องหรือไม่ หรือเป็นการเผยแพร่ข่าวเท็จ ข่าวปลอม (fake news, misinformation, disinformation) อย่างเป็นมืออาชีพและตรงไปตรงมา ซึ่งเป็นภารกิจที่ทำได้ยากยิ่งกว่าการไล่จับการถือหุ้นสื่อ แต่เป็นภารกิจที่ควรทำอย่างยิ่ง สำหรับประเทศที่ล้มเหลวด้านเสรีภาพในการแสดงออกและความเป็นมืออาชีพของสื่อมวลชนตลอดมา 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save