fbpx
เซนเซอร์สื่อ

เมื่อสื่อติดกับดักความเป็นกลางและความกลัว – เปิดปมสื่อไทย ทำไมจึงปิดปากตัวเอง?

“เราในฐานะสื่อได้แต่รายงานข่าวที่เขาอนุญาตให้รายงาน”
– นักข่าวคนหนึ่ง


ชีวิตของนักข่าวหลายคนเริ่มต้นอย่างนี้ – พอเริ่มรู้ตัวว่าชอบขีดเขียนเล่าเรื่อง ก็เลือกเรียนสายวารสารฯ เพื่อให้ได้เขียนได้เล่า แล้วระหว่างที่ฝึกเขียนฝึกเล่า เราก็ถูกบ่มเพาะด้วยบทเรียนเรื่องหน้าที่ของสื่อ เสรีภาพของสื่อ และความตระหนักในฐานะคนทำงานสื่อว่าควรจะหยิบจับสิ่งใดมานำเสนออย่างไรให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นฝังรากแก้วลงในหัว ติดตัวออกไปยังโลกการทำงาน เพื่อค้นพบในภายหลัง (ทั้งที่อาจเตรียมใจมาก่อนแล้ว) ว่า ‘สื่อของจริง’ ไม่เหมือนสื่อบนหน้าตำรา

ชีวิตของนักข่าวหลายคนเป็นอย่างนี้ – ไม่สามารถนำเสนอข่าวทุกเรื่องที่เห็นสมควรเพราะข้อจำกัดและนโยบายขององค์กร บางเรื่องเข้าใจได้ว่าเกี่ยวพันกับการดำเนินธุรกิจสื่อแต่ละแห่ง แต่สำหรับบางเรื่อง แม้เป็นคนทำงานมานานก็ยังยากจะยอมรับหรือปล่อยผ่าน

เช่นการหลีกเลี่ยงนำเสนอประเด็นการเมือง ความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐต่อกลุ่มผู้ชุมนุม ไปจนถึงการงดเว้นนำเสนอข้อเท็จจริงที่อาจมีการตั้งคำถามหรือสุ่มเสี่ยงต่อการตีความวิพากษ์สถาบันพระมหากษัตริย์แทบทุกกรณี

การที่สื่อบางสำนักเลือก ‘ปิดปาก’ ตัวเองในโมงยามที่ประชาชนลงถนนและต้องการกระบอกเสียงต่อสู้กับความอยุติธรรม ทำให้สังคมวิจารณ์การทำงานของสถาบันสื่อ เกิดกระแส #แบนสื่อหลัก ในสังคมออนไลน์และกิจกรรม #สื่อมีไว้ทำไม ของกลุ่มนักศึกษาวารสารศาสตร์ เพื่อเรียกร้องให้สื่อนำเสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา ครบถ้วนทุกมุม – ถึงแม้เวลานี้ความร้อนแรงของคำวิจารณ์สื่อจะสร่างซาลงไปบ้าง หากปฏิเสธไม่ได้ว่าสังคมยังคงทิ้งคำถามต่อการทำหน้าที่ของสื่อไทยเกี่ยวกับประเด็นการเมืองและสถาบันฯ อยู่

ถ้าเราตั้งสมมติฐานว่านักข่าวผ่านการปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ความเป็นสื่อจากการเล่าเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย – หรืออย่างน้อยก็ได้เรียนรู้จากการผ่านร้อนผ่านหนาวบนสนามสื่อจริง คำถามที่ต้องว่ากันต่อคือ อะไรทำให้พวกเขาไม่สามารถนำเสนอข่าวตามหลักจริยธรรมได้ อะไรที่ทำให้สื่อไทยเลือกปิดปาก อนุญาตให้คนทำงานในสังกัดรายงานเพียงบางแง่มุม แม้ไม่มี ‘เขา’ นอกองค์กรที่ไหนเข้ามาแทรกแซงก็ตามที   

เรื่องนี้คงไม่มีใครตอบคำถามได้ดีกว่าตัวนักข่าวในสังกัดสื่อเหล่านั้นเอง


ความจริงใต้ความเงียบ


1.


“ใครที่สงสัยว่าสื่อมีการเซนเซอร์ตัวเองเรื่องการเมืองและสถาบันฯ จริงไหม ตอบเลยว่าจริงครับ”

บุญ (นามสมมติ) นักข่าวออนไลน์จากสำนักข่าวแห่งหนึ่ง เปิดบทสนทนาด้วยการคลี่คลายข้อสงสัยของสังคม ก่อนเริ่มเล่าว่าองค์กรสื่อของตนเลือกที่จะเซนเซอร์อย่างไร ในเรื่องอะไร

“ช่วงแรกๆ ที่มีม็อบของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม เรื่องข้อเรียกร้อง 10 ข้อ 3 ความฝัน เรารายงานแบบลงรายละเอียดไม่ได้เลย นำเสนอได้แค่มีม็อบเกิดขึ้น มีการเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อ แต่ไม่แตะสิ่งที่พูด ไม่บอกว่าข้อเรียกร้องคืออะไรบ้าง ไม่แตะเรื่องที่กล่าวถึงสถาบันฯ คนอ่านก็ไม่รู้หรอกว่าม็อบพยายามผลักดันข้อเสนอเรื่องอะไร ม็อบต่อๆ มาถ้ามีคอนเทนต์พูดถึงสถาบันฯ เมื่อไหร่จะไม่นำมารายงาน แต่เรื่องพูดว่าประยุทธ์ไม่ดียังไงเนี่ย นำเสนอได้”

“เรื่องการเมืองในรัฐสภาก็นำเสนอได้ เต็มที่ไม่เกี่ยงเลย ถ้าใครพูดโง่ๆ ขึ้นมาในรัฐสภาจะเล่นข่าวต่อทันที ยกเว้นเรื่องเดียวคือเรื่อง ส.ส.รังสิมันต์ โรมพูดถึงตั๋วช้าง อันนี้ไม่ทำ ต่อให้มีหลักฐานเอกสารชัดเจนก็ไม่ทำ เพราะมันเป็นหลักฐานที่ไม่มีใครกล้าแตะ ข่าวตั๋วช้างที่ได้เล่นข่าวเดียวจึงเป็นเรื่องรีแอคชั่นนายกฯ เดือด”

ฟังเผินๆ ดูเหมือนว่าเรื่องการเมืองที่สื่อไม่นำเสนอมักเกี่ยวโยงหรือพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหลัก แต่นั่นก็ไม่แน่เสมอไป

“ข่าวรัฐประหารในพม่า เราก็ทำมากไม่ได้” บุญเล่า “คือรายงานได้เหมือนกัน แต่ห้ามขยี้ ประโยคนี้ผมจำขึ้นใจเลย ปกติทำข่าวหนึ่ง เราพยายามจะนำเสนอหลายแง่มุม เป็นรูปโควทบ้าง เป็นอินโฟกราฟิกบ้าง แต่ช่วงที่พม่าเป็นกระแสแรงๆ หัวหน้าสั่งให้เรารายงานข่าวว่าเกิดอะไรขึ้นอย่างเดียว ไม่ต้องขยายความอย่างอื่นเพิ่ม”

เขาเสริมว่านอกจากห้ามขยายความแล้ว บางครั้งยังต้องปรับภาษาหรือตัดเนื้อหาบางส่วนออก เช่นครั้งหนึ่ง บุญเคยทำข่าวตำรวจพม่าประกาศลาออกผ่านไลฟ์เฟซบุ๊ก โดยพาดหัวข่าวเหตุผลว่าตำรวจนายนั้น ‘ลาออกมาสู้เคียงข้างประชาชน’ แต่ผลคือถูกตัดข้อความดังกล่าวไม่ให้ขึ้นเป็นพาดหัว เหลือเพียงนายตำรวจพม่าลาออก

“ข้างบน – หมายถึงระดับผู้บริหารน่ะ เขาอยากให้เอาออกเพราะกลัวคนเอาไปตีความโยงกับการเมืองไทย ซึ่งผมไม่โอเคเลย ตำรวจคนนั้นได้พูดเหตุผลนี้จริงๆ มันเป็นข้อเท็จจริงที่สมควรนำมารายงานได้ ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงและไม่ได้ผิดหลักการสื่อตรงไหน การที่จะมีคนตีความหรือไม่ ผมเชื่อว่าทุกคนที่เสพข่าวก็ตีความในแบบของตัวเองอยู่แล้ว หน้าที่ของสื่ออย่างน้อยก็ต้องรายงานข้อเท็จจริงสิ”

ยิ่งไปกว่านั้น เหล่าผู้บริหารของบุญยังเสนอแนะให้นักข่าวหันไปทำ “ข่าวอื่นที่ชาวบ้านสนใจ” มากกว่าการเมืองอีกด้วย “เขามองว่าโพสต์ข่าวการเมืองมียอดวิว ยอดเข้าชมต่างๆ ไม่เยอะเท่าข่าวอื่น เช่น โควิด-19 เงินเยียวยาของรัฐ เลยอยากให้เราไปจับข่าวที่ทำยอดมากกว่า ทั้งนี้เพราะเขามองแบบทำธุรกิจด้วย

“แต่ในทางหนึ่ง เขาก็ค่อนข้างแคร์กระแสสังคมนะ” บุญกล่าว “ถ้าสำนักข่าวอื่นเล่นประเด็นพวกนี้เยอะๆ เขาก็จะอนุญาตให้เราเล่นตาม ยกเว้นเรื่องสถาบันฯ ถ้าช่องอื่นเล่น เขาก็จะเล่นให้พอเกาะกระแสไปด้วย ไม่ได้เปิดกว้างเต็มที่นัก เรียกว่าไม่ได้ทำข่าวเพราะอยากทำหรอก ทำเพราะอยากได้ยอดวิว ให้คนมาสนใจมากกว่า”

สิ่งที่ยืนยันคำพูดนี้คือประสบการณ์ของบุญที่เคยเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 แต่ถูกห้ามไว้ “เขาทำให้ผมคิดว่า ถ้าทำแล้วถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกตามหาตัวคนเขียน สำนักข่าวคงไม่ปกป้องเราแน่ๆ”


ยกเลิก112


ทุกวันนี้ บุญจึงแทบไม่ได้เสนอหัวข้อข่าวเกี่ยวกับสถาบันฯ ต่อกองบรรณาธิการอีกแล้ว เพราะรู้ว่าสุดท้ายคงไม่แคล้วถูกปัดตก เขาจึงหันมาหยิบยกหัวข้อข่าวเรื่องสถาบันฯ จากสื่อนอกมารายงานต่อบ้าง เลือกเล่าเรื่องของราชวงศ์ในต่างประเทศแทนบ้าง

แต่ก็พบว่าบางทีขอบเขตการนำเสนอเรื่องเหล่านี้แคบกว่าที่เขาคิดไว้

“ถ้าเป็นข่าวต่างประเทศที่วิพากษ์สถาบันกษัตริย์ไทยตรงๆ จะรายงานไม่ได้ หรือถ้าจะรายงานตามข้อเท็จจริง ก็ต้องตัดบางประโยคที่สื่อนอกเขียนแล้วดูสุ่มเสี่ยง เช่น กษัตริย์ที่พำนักอยู่นอกประเทศ แล้วรายงานแค่มีอะไรเกิดขึ้น” บุญไล่เรียง “ส่วนข่าวเกี่ยวกับราชวงศ์ของต่างประเทศ บางอย่างก็ห้ามเหมือนกัน อย่างข่าวเจ้าชายเบลเยียมไปร่วมงานปาร์ตี้ที่สเปนแล้วมีการแพร่เชื้อโควิด-19 ก็ทำไม่ได้” – ด้วยเหตุผลว่ากลัวถูกตีความเชื่อมโยงมาถึงไทย

“จริงๆ ตอนนี้คนทำงานอยู่ด้วยความกลัว และรู้ตัวว่าเซนเซอร์ตัวเองระดับหนึ่ง เราในฐานะสื่อได้แต่รายงานข่าวที่เขาอนุญาตให้รายงาน”

สภาวะเช่นนี้ทำให้บุญรู้สึกขัดแย้งกับภาพของสื่อที่เขาเคยยึดมั่น – สื่อมีพลังเปลี่ยนสังคมได้ สร้างสรรค์ประโยชน์แก่สังคมได้ แต่พลังนั้นจะเกิดขึ้นจากคนตัวเล็กตัวน้อยได้หรือ “ถ้าคนตัวเล็กอยากทำ แต่คนข้างบนไม่ให้ทำ เราจะทำอะไรได้ ถ้าเขาประเมินว่าเราอาจนำความเสื่อมเสียหรือทำให้องค์กรเสียหาย เขาอาจจะให้เราออก สภาพเศรษฐกิจไม่ดี ผมก็ไม่อยากเสี่ยง”

“คนทำงานส่วนใหญ่พอเจอเหตุการณ์แบบนี้หลายครั้งเข้าก็เริ่มเป็นพวก ‘อิกนอเรนซ์’ กันแล้ว คนที่อยู่ในสนามข่าว สนามหนังสือพิมพ์มาร่วมสิบปีเขาก็ไม่สู้แล้ว เพราะทำอะไรไม่ได้เหมือนกัน .. และใช่ ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่ต่างจากพวกเขาเลย ผมกลายเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขาไปแล้ว ทำได้แค่โกรธและโพสต์ลงโซเชียลบ้างแค่นั้น” บุญหัวเราะขื่นตบท้าย   


2.


“สื่อเราเป็นองค์กรค่อนข้างใหญ่ และมีเซนเซอร์เป็นบางเรื่องเหมือนกัน” นก (นามสมมติ) นักข่าวจากสื่ออีกแห่งหนึ่งร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์

“เรื่องที่เซนเซอร์แน่ๆ คือเรื่องสถาบันฯ ทั้งศาสนา ทั้งพระมหากษัตริย์ อย่างหลังนี่แทบไม่แตะเลย เราที่เป็นนักข่าวตัวเล็กๆ จะไม่ค่อยได้ยินคำอธิบายแล้วว่าทำไม ได้ยินแค่หัวหน้ามากำชับว่าห้ามเล่นข่าวพวกนี้ นี่เป็นคำสั่งมาจากระดับผู้บริหาร

“เพราะงั้นเราเลยรายงานพวกข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ข้อเรียกร้องของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมในช่วงแรกๆ ไม่ได้ ตัวนักข่าวอยากทำมากนะ แต่ระดับหัวหน้าเขาบอกว่าให้รอดูไปก่อน รอดูสื่ออื่นก่อน จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ทำสักที เขาคงกลัวแหละ มันเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

“ส่วนข่าวที่ดูเหมือนเรื่องแง่ลบของสถาบันฯ หรือเสี่ยงต่อการถูกตีความน่ะทำไม่ได้อยู่แล้วร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่นเรื่องปรับปรุงห้องน้ำเครื่องบินพระที่นั่ง เรื่องที่ข่าวต่างประเทศรายงานว่ามีคนฉายภาพใส่โรงแรมที่ประทับ เรื่องแบบนี้ถูกเบรกไม่ให้นำเสนอหมด” นกเล่าและเข้าใจว่านี่เกือบจะเป็นกฎเหล็กของสื่อไทยแทบทั้งหมดเลยก็ว่าได้

“นักข่าวทุกคนน่าจะหมายเหตุไว้ในใจอยู่แล้วว่าการนำเสนอเรื่องสถาบันฯ เป็นเรื่องยาก เราอาจจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เขาทำทั้งหมด แต่เราก็เข้าใจ เราสังเกตว่าเรื่องอื่นๆ ผู้บริหารไม่ได้คิดจะเซนเซอร์ทั้งหมด อย่างเรื่องความไม่ยุติธรรมของมาตรา 112 ก็นำเสนอได้ ใครโดนฟ้อง ใครมาประท้วง 112 รายงานได้หมด เรื่องตั๋วช้างเองก็รายงาน แต่บอกได้แค่มีอะไรเกิดขึ้นนะ ไม่สามารถนำตัวเอกสารที่ส.ส.โรมพูดถึงมาโพสต์ได้จริงๆ” ส่วนเรื่องสถาบันกษัตริย์ ราชวงศ์ของต่างประเทศ ไม่ว่าจะข่าวฉาวหรือข่าวดี สามารถทำได้เต็มที่ ไม่มีปิดกั้นแต่อย่างใด

ความอึดอัดคับข้องใจของนกจึงมีที่มาจากแนวทางการทำข่าวการเมืองขององค์กรเสียมากกว่า “ถ้าเป็นเรื่องม็อบ เรื่องการเมืองทีไร กลับกลายเป็นว่าเราต้องถกเถียงกันในหมู่คนทำงานตลอดว่า สรุปแล้วจะนำเสนอแบบไหนได้บ้าง เพราะสิ่งที่องค์กร ผู้บริหารพยายามบอกเราคือให้รักษาความเป็นกลาง ชนิดที่ว่าถ้านำเสนอข่าวผู้ชุมนุมแล้ว เราก็ต้องเสนอข่าวตำรวจในเรื่องเดียวกันด้วย ถ้านำเสนอข่าวฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจในรัฐสภา ก็ต้องหาข่าวฝั่งรัฐบาลมานำเสนอว่าเขาตอบอะไร ถึงแม้คำตอบของเขาจะมีเหตุผลน้อยนิดฟังไม่ขึ้นเลยก็ตาม

“ทั้งหมดเพื่อไม่ให้คนอ่านรู้สึกว่าเรากำลังเข้าข้างฝั่งไหน หลายครั้งที่เราคิดจะนำเสนอเรื่องม็อบ เรื่องการต่อสู้ของประชาชน สิ่งที่ตามมาคือนักข่าวต้องคิดต่อทันทีว่า ‘แล้วจะเอาข่าวจากรัฐเรื่องอะไรไปคานกันได้บ้าง’ เขาซีเรียสเรื่องความเป็นกลางมาก จนคนทำงานที่ active เรื่องการเมือง พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้นำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ ก็กล้าๆ กลัวๆ ไม่รู้ว่าจะเสนอได้ไหม กลัวว่านำเสนอออกไป จะโดนติกลับมาว่าไม่เป็นกลางมากพอ

“ผลกระทบจากการกังวลเรื่องความเป็นกลางที่ร้ายแรงมาก คือเรานำเสนอไปไม่ถึงความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐทำต่อประชาชน ยกตัวอย่าง ถ้าเราจะรายงานตำรวจใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ประท้วง เราไม่สามารถนำเสนอข่าวนี้เดี่ยวๆ ได้ เพราะเขาคิดว่าอาจเป็นการเข้าข้างกลุ่มผู้ชุมนุม นำเสนอฝ่ายเดียวมากเกินไป ดังนั้นเราต้องไปขอคำอธิบายจากตำรวจว่าทำไปทำไม เหตุผลในการสลายการชุมนุมคืออะไร”

นกเล่าว่าคำอธิบายของตำรวจส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นผู้ชุมนุมใช้กำลัง เอาขวดน้ำปาบ้าง เอาข้าวของปาใส่เจ้าหน้าที่ เมื่อสื่อนำเสนอไปตามนั้น ก็กลายเป็นข่าวที่ผู้อ่านรู้สึกตลกขบขันกับความเข้มแข็งอดทนของตำรวจไทย

“บางครั้งเราไม่มีแม้แต่ภาพ ไม่มีแม้แต่หลักฐานที่ผู้ชุมนุมใช้กำลังกับเจ้าหน้าที่ กลายเป็นว่าเราไม่มีข่าวที่หนักแน่นพอจากฝั่งตำรวจมาคานกับข่าวเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ประท้วง เมื่อไม่มีข่าวมาคานให้สื่อดูเป็นกลาง เขาก็ตัดสินใจไม่รายงาน ไม่พูดถึงเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐเลย นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมบางทีเราไม่เห็นข่าวพวกนี้ตามหน้าสื่อ เพราะสื่อเองไม่รู้ว่าถ้ารายงานไปแล้วจะกลายเป็นข่าวฝั่งเดียว ทำให้ตำรวจดูแย่ ทำให้ดูเป็นสื่อเลือกข้างไหม ทั้งๆ ที่มันคือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น มีคนบาดเจ็บถูกทำร้ายเกิดขึ้น”


ความเป็นกลางของสื่อ


สุดท้าย ผลที่ได้จากการเคี่ยวกรำนักข่าวด้วยความเป็นกลางมากเข้า คือนกไม่ค่อยเห็นความกระตือรือร้นทำข่าวผู้ชุมนุมของคนทำงานในองค์กรกันแล้ว

“สื่อของเราเดี๋ยวนี้เริ่มเฉื่อย มีประท้วงก็ไม่ค่อยไป ไม่ค่อยติดตาม นำเสนอข่าว แต่ก็ไม่ได้เจาะลึกมาก น้อยลงมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ผู้บริหารเองก็ตัดสินใจให้เราทำน้อยลง อาจเพราะเห็นกลุ่มคนที่ตามสื่อเราไม่สนใจข่าวแบบนี้แล้ว เราเดานะว่าคนที่สนใจติดตามเรื่องเหล่านี้ พอเห็นเราไม่นำเสนอหลายเรื่อง ก็คงไม่ตามข่าวจากสื่อของเราแล้วล่ะ” 


กับดักความเป็นกลางและความกลัว


“สื่อส่วนใหญ่ไม่ทำข่าวเกี่ยวกับสถาบันฯ ก็เพราะอยากเซฟตัวเอง”

เมื่อนำเหตุการณ์ทั้งหลายมาคลี่คลายหาสาเหตุ บุญพบว่าเหตุผลที่สื่อเลือกเซนเซอร์ตนเองในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเพราะ ‘ความกลัว’

“สื่ออยากเซฟตัวเองจากกฎหมาย เพราะไทยมีกฎหมายเอาผิดได้ ตอนนี้มาตรา 112 ตีความกว้างมาก ถ้าเป็นข่าวออนไลน์อาจจะโดนแจ้งพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วย และเซฟตัวเองเพราะเรื่องของธุรกิจ สื่อผมได้เงินจากสปอนเซอร์โฆษณา นายทุนบริษัทใหญ่ทั้งนั้น ผู้บริหารคงกลัวจะเสียเครือข่ายไป”

“กลัวทัวร์ลงด้วย” นกเสริม “เรายอมรับว่าหัวหน้าเราบางคนไม่ได้มี mindset เป็นคนข่าวเท่าไหร่ เพราะงั้นเวลาเซนเซอร์ก็ไม่ค่อยคิดถึงเรื่องหลักการสื่อหรอก เขาเลือกเซนเซอร์เพราะกลัวกลายเป็นกระแส กลัวมีคนเข้ามาว่า เพราะกลุ่มคนเสพสื่อเรามีหลายแบบมาก”   

“ต่อให้มาตรา 112 หายไป ก็ไม่แน่ว่าองค์กรสื่อต่างๆ จะกล้านำเสนอ ผมว่าด้วยสภาพสังคมแบบนี้ สื่อคงจะยังไม่กล้าต่อไป” บุญออกความเห็น

“ส่วนเรื่องข่าวการเมือง ..ก็นั่นแหละ สื่อมองว่าต้องรักษาความเป็นกลาง นำเสนอคอนเทนต์วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือตำรวจเท่ากับเลือกข้างผู้ประท้วง ถ้าทำข่าวว่าผู้ประท้วงก็เท่ากับเข้าข้างรัฐ”

“สื่อเรากลัวคำว่าสื่อเลือกข้างมาก เขาคิดว่ามันเหมือนเป็นตราบาปเลย” นกกล่าว เธอคิดว่านี่เป็นผลพวงมาจากความขัดแย้งสมัยม็อบเสื้อสีที่สื่อเลือกให้น้ำหนักการนำเสนอไม่เท่ากัน จนเกิดวาทกรรม ‘สื่อเลือกข้าง’ และตีกรอบ ‘ความเป็นกลาง’ ของสื่อขึ้นมาใหม่

“ถึงตอนนี้ แม้สถานการณ์คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายจะแตกต่างกัน แต่สื่อก็ยังคิดว่าตนต้องเป็นกลางอยู่ ซึ่งคำว่า ‘ความเป็นกลาง’ มันควรแปลว่าความยุติธรรม เท่าเทียมกัน สื่อต้องนำเสนอยังไงก็ได้ให้สังคมเกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ในกรณีที่พื้นที่ของคู่ขัดแย้งสองฝ่ายไม่เท่ากัน ความเป็นกลางคือการถมพื้นที่ที่ไม่เท่ากันของคนฝั่งหนึ่งให้เท่าอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันเรารู้อยู่แล้วว่าคนที่มีพื้นที่มากกว่าคือใคร น้อยกว่าคือใคร เราต้องทำให้ฝั่งที่มีสิทธิ์มีเสียงน้อยกว่ามีพื้นที่มากขึ้นสิ จะได้เป็นแฟร์เกม”

“แต่ความเป็นกลางของสื่อบ้านเราถูกตีความว่าต้องให้พื้นที่ทุกคนเท่ากัน นักข่าวต้องกังวลว่าจะนำเสนอข่าวฝั่งไหนมากกว่าไหม มีอะไรมาคานกันไหม ซึ่งสุดท้ายแล้ว สภาพปัญหามันก็เหมือนเดิม สื่อไม่สามารถทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนที่เสียงเบากว่ารัฐได้ ไม่สามารถช่วยริเริ่มแก้ไขปัญหาอะไรได้”



นกสารภาพว่าในฐานะนักข่าวตัวเล็กๆ เธอรู้สึกอึดอัดกับนิยามความเป็นกลางขององค์กรสื่อมาก และตั้งคำถามอยู่หลายครั้งว่า หรือจะเป็นเธอเองที่เข้าใจ ‘ความเป็นกลาง’ ผิดไป “เราไม่รู้ว่าสื่อในอุดมคติที่พวกผู้บริหารคิดเป็นแบบไหน เราเคยคิดอยู่นะว่า ‘หรือจริงๆ ความคิดขององค์กรถูกแล้ว แค่เราไม่ชอบใจเขา?’ ถ้าเราต้องการทำอะไรที่มากกว่านี้ ก็ควรจะย้ายงานหรือเลิกทำสื่อไปทำอย่างอื่นเลยไหม แต่พอเราดูภาพของสื่อต่างประเทศ ก็ไม่เห็นเหมือนกับสื่อในบ้านเราเลย” 

“สื่ออาจยังไม่ตกผลึกว่าบทบาทหรือตำแหน่งแห่งที่ของสื่อในสถานการณ์แบบนี้ควรเป็นยังไง” นกว่า — หรือถ้าพูดให้ไกลกว่านั้น เธอคิดว่าภาพรวมสื่อในไทยไม่ได้มีประวัติศาสตร์การต่อสู้ร่วมกับประชาชนเหมือนประเทศอื่น สื่อหลายแห่งเกิดมาและดำรงอยู่ใต้สังกัดของผู้มีอำนาจไม่ว่ารัฐหรือนายทุน ทำให้สื่อไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเท่าที่ควร และในทางกลับกัน ประชาชนก็ไม่คิดว่าจะพึ่งสื่อได้มากนัก โดยเฉพาะในยามนี้ที่มีช่องทางเสพข่าวสารหลากหลาย ต่างฝ่ายอาจคิดว่า ‘ไม่จำเป็นต้องสู้’ เพื่อกันและกัน  

“สื่อบางแห่งก็เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน ยังไม่ผ่านเหตุการณ์การต่อสู้ต่างๆ นานามา เวลาเกิดเรื่องแบบนี้ก็อาจจะไม่รู้ว่าต้องยืนอยู่ฝั่งไหน ต้องเข้าหามวลชนไหม จะถูกเรียกว่าไม่เป็นกลางหรือเปล่า เพราะยังมีคนอีกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับความเคลื่อนไหวนี้ มันเป็นเรื่องที่ท้าทาย ถ้าไม่ตกผลึก สุดท้ายก็อาจจะออกมานำเสนอแบบครึ่งๆ กลางๆ อย่างที่เราเห็น”


ผลจากการปิดปากของสื่อ ปิดตาประชาชน


อันที่จริงอาจกล่าวได้ว่าการเซนเซอร์ตัวเองของสื่อไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ อย่างการห้ามนำเสนอเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ก็เป็นกฎเหล็กที่สื่อไทยทุกเจ้าต่างรู้ดี แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการเซนเซอร์ของสื่อจะเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเสียทั้งหมด

ถ้าหากพิจารณาจากถ้อยคำของ ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ ในบทสัมภาษณ์ “‘สื่อเกิดขึ้นมาทำไม’ เมื่อคำถามเก่าๆ คือทางออกของสื่อยุคใหม่” ว่า“…ประชาชนต้องมีเสรีภาพในการที่จะเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร คิดเห็นอะไรก็สามารถใช้พื้นที่ต่างๆ ในการสื่อสารไปยังรัฐ หรือภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมได้ สื่อจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในการสื่อสาร และส่งเสริมสิทธิในการสื่อสาร สถาบันสื่อจึงถูกคาดหวังให้มีหน้าที่นำข้อมูลที่สำคัญมาให้ประชาชน เพราะคุณเป็นตัวแทน เป็นปากเสียงของพวกเขา” แล้ว การเลือกเซนเซอร์ตัวเองของสื่ออาจนับเป็นการปิดกั้นเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนทางหนึ่งเสียก็ได้

ขณะเดียวกัน การนำเสนอข่าว – โดยเฉพาะข่าวการเมือง ความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อมวลชนอย่างผิวเผิน แม้จะกล่าวได้ว่าสื่อ ‘ทำหน้าที่’ รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วก็จริง แต่พรรษาสิริเองก็ชี้ให้เห็นความสำคัญของการทำหน้าที่สื่อผ่านบทความ “คำถามถึง “คุณค่า” ของสื่อวารสารศาสตร์ ในวันที่ความรุนแรงถูกเพิกเฉย” ว่า

… การที่รัฐใช้ความรุนแรงต่อประชาชนไม่ใช่เรื่องปกติที่สังคมควรยอมรับโดยไม่ตั้งคำถาม สื่อมวลชนไม่ควรรายงานด้วยรูปแบบปกติแบบ business as usual โดยไม่ขยายความ ติดตามทวงถาม และตรวจสอบการกระทำของรัฐ เพื่อที่สังคมจะได้ไม่มองว่าการใช้ความรุนแรงเป็นทางเดียวที่จะจัดการกับความขัดแย้ง

การให้พื้นที่อย่างจำกัด (จำเขี่ย) ในการรายงานเกี่ยวกับความรุนแรงทางตรง อีกทั้งยังขับเน้นข้อมูลและใช้ภาษาที่ชี้ให้เห็นว่าการใช้ความรุนแรงโดยรัฐเป็นเพียง ‘การปะทะ’ ‘ความโกลาหล’ หรือ ‘ความวุ่นวาย’ ที่ ‘ทั้งสองฝ่าย’ ต่างใช้กำลังต่อกัน และมีผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่าย ไม่เพียงลดทอนความน่าวิตกของปัญหา แต่ยังสร้างหมอกควันที่ปกคลุมสาระสำคัญของเหตุการณ์นี้ นั่นคือ รัฐไม่มีความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงกับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีหลักฐานชี้ว่ารัฐไม่ได้ทำตามหลักเกณฑ์สากลทั้งการสลายการชุมนุม การปะทะกับมวลชน และการจัดการกับสื่อมวลชน …


การนำเสนอความรุนแรงโดยรัฐ


อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่พรรษาสิริเสนอไว้ คือเมื่อสื่อมีบทบาทสามารถกำหนดประเด็นความสนใจของสังคม ก็ไม่ควรบอกเล่าเหตุการณ์ความอยุติธรรมเหล่านี้แค่ว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วย้ายไปบอกเล่าปัญหาอื่นๆ ที่สื่อตัดสินว่า “สังคมต้องกังวลกว่านี้หรือมีผลกระทบต่อปากท้องของคนทั่วไปโดยตรง” เพราะนั่นเป็นการผลักให้เรื่องความรุนแรงโดยรัฐกลายเป็นเรื่องการเมืองที่ดูไกลตัว เป็นแค่เรื่องของม็อบ ของผู้ชุมนุมบางกลุ่ม ทั้งๆ ที่เหตุการณ์เหล่านี้กำลังสะท้อนปัญหาว่า รัฐไม่อาจรับรองความปลอดภัยในชีวิตประชาชน ผู้กำลังใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของตนเองได้เลย

ฝ่ายนักข่าวอย่างบุญยังมองว่าการเซนเซอร์นั้นบ่อนเซาะความน่าเชื่อถือของสถาบันสื่อโดยรวมด้วย “หัวหน้าเรามักพูดว่าเด็กสมัยนี้เชื่อข้อมูลออนไลน์มากกว่าสื่อ เราก็คิดว่าเป็นเพราะสื่อทำแบบนี้ คนเลยต้องไปหาข้อมูลจากแหล่งอื่นเพื่อเปิดโลกตัวเอง” บุญกล่าว

นกเองก็คิดเห็นคล้ายคลึงกัน “การเซนเซอร์ของสื่อในตอนนี้อาจไม่ทำให้ชีวิตเราพัง เพราะสื่อไม่ได้เป็นแหล่งข้อมูลอย่างเดียวที่อยู่ในการรับรู้ของคนอีกต่อไปแล้ว ตอนนี้อินฟลูเอนเซอร์ คนในโซเชียลอื่นๆ ก็สามารถกระจายข่าวสารได้ แต่ถ้าเราถือว่าสถาบันสื่อมีพลังขับเคลื่อนสังคมให้ดีขึ้นได้ ตอนนี้เรากำลังสูญเสียโอกาสนั้นไป สังคมอยู่ในวังวนเดิมๆ ทั้งๆ ที่น่าจะดีขึ้นกว่านี้ ถ้าสื่อไม่ถูกเซนเซอร์หรือเลือกเซนเซอร์ตัวเอง” 


ขอเสรีภาพสื่อมวลชนไทยจงมาถึงในสักวัน


บทสนทนาล่วงเลยมาถึงตอนท้าย คำถามที่ขาดไปไม่ได้ คือภาพสื่อในอุดมคติของนักข่าวเช่นบุญและนกเป็นอย่างไร

“ผมคิดอยู่อย่างเดียว” บุญเลือกตอบเป็นคนแรก “คือไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบไหนขึ้น สื่อต้องรายงานได้ ถ้ามีคนครบ ศักยภาพมากพอ เราต้องได้รายงานทุกข่าว ทุกแง่มุม โดยไม่ถูกปิดกั้น แค่นักข่าวต้องระวังไม่ให้เกิด hate speech ในเนื้อหาที่นำเสนอ”

ด้านนกตอบถัดมาว่า “เราคิดว่าหน้าที่ของสื่อคือ หนึ่ง รายงานข้อเท็จจริง ซึ่งตอนนี้สื่อไทยทำอยู่บ้าง แต่ปัญหาคือเขาอาจจะคิดว่าหน้าที่ของสื่อแค่รายงานความจริงก็พอ ซึ่งมันไม่ใช่ หน้าที่ของสื่อที่ควรไปต่อ คือสื่อต้องเป็นคนเสนอทางเลือกให้สังคมได้เห็นว่าปัญหาความขัดแย้งต่างๆ มีวิธีแก้ไข มีทางออกทางไหนบ้าง เหมือนเวลามีคนทะเลาะกัน เราต้องไม่บอกแค่ว่ามีคนทะเลาะกัน แต่ต้องช่วยหาวิธีมาเสนอว่าจะทำยังไงให้ไม่ทะเลาะกันอีก

“หน้าที่สุดท้ายที่เราถือว่าเป็นขั้นสูงสุด คือสื่อต้องพร้อมเป็นกระบอกเสียงให้ทุกคน พร้อมเป็นช่องทางที่สร้างความเท่าเทียมบนโลกนี้ได้ สื่ออาจไม่จำเป็นต้องเป็นผู้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่อย่างน้อยต้องเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถสร้างเอฟเฟ็กต์ไปถึงความเปลี่ยนแปลง ต้องเป็น key agent หลักๆ ที่ช่วยให้สังคมไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ทั้งบุญและนกต่างยอมรับว่าองค์กรสื่อของพวกเขา –ของสังคมตอนนี้ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงได้ยาก และบางครั้งก็ไม่อาจเริ่มได้จากคนทำงานตัวเล็กๆ

“มันอาจต้องเริ่มที่ระดับผู้บริหาร องค์กรสื่อต้องตระหนักตัวเองว่าควรมีเสรีภาพในการรายงาน ไม่ใช่รายงานด้วยความกลัว” บุญวิพากษ์และนกก็เห็นด้วย

“คนทำงานแทบทุกคนตระหนักถึงเรื่องนี้ แต่ทุกคนเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยในองค์กร ดังนั้นการแก้ปัญหาเริ่มแรกอาจต้องแก้ที่โครงสร้างระดับบนของสื่อ” นกเสนอต่อไปอีกว่าอาจสร้างสมาพันธ์สื่อใหม่โดยองค์กรหรือนักข่าวที่ต้องการให้สื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงคอยขับเคลื่อนดูแลกัน พร้อมทั้งพิจารณาสร้างสื่อโมเดลใหม่ๆ เช่น สื่อที่ดำเนินงานด้วยเงินสนับสนุนจากประชาชนโดยตรงมากขึ้น เพื่อให้เป็นสื่ออิสระ มีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวและเห็นแก่ประโยชน์ของสาธารณชนอย่างแท้จริง

“แต่ถ้ามันยังไม่เปลี่ยนจริงๆ..” เธอยิ้ม “ก็คงได้แต่ตอบแบบหยาบที่สุดคือรอเวลา รอประเทศเปลี่ยนไปทีละนิดจนเป็นประชาธิปไตย

“เราเคยคุยกับพี่นักข่าวที่ทำข่าวมาเป็นสิบปีโดยไม่หมดไฟ เขาสอนเราว่าคุณต้องปรับ mindset เรื่องการเปลี่ยนแปลงใหม่ หลายคนอาจคาดหวังให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไวๆ ลงมือทำแล้วเห็นผลทันตา แต่ในสังคมแบบนี้ ความเปลี่ยนแปลงคงไม่สามารถเกิดขึ้นในเวลาอันสั้นหรือจบลงด้วยความรวดเร็วได้ ดังนั้นเราต้องคิดว่าเรากำลังทำงานในมูฟเมนต์ที่ยิ่งใหญ่อะไรบางอย่าง การเปลี่ยนแปลงที่อาจไม่เกิดในพรุ่งนี้ ปีหน้า หรืออีกสิบปีข้างหน้า แต่อาจเกิดขึ้นสิบปี ห้าสิบปีหลังเราตาย ซึ่งการกระทำทุกๆ อย่างของเราในตอนนี้จะก่อให้เกิดผลลัพธ์นั้นอย่างแน่นอน

“นี่เป็นเหตุผลที่เราต้องสู้ โดยไม่จมอยู่กับความทุกข์ใจที่ว่าความเปลี่ยนแปลงอาจเกิดขึ้นไม่ทันในช่วงอายุของเรา เราต้องหวังว่าความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นแน่ๆ จากทุกๆ การกระทำของเรานับจากนี้ไป”

แม้ไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนกว่าสื่อไทยจะหลุดพ้นจากกับดักความเป็นกลางและความกลัว

แต่อย่างน้อย ภายใต้ความเงียบงัน นักข่าวอีกหลายคนยังคงสู้ด้วยความหวังถึงการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ.

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Politics

31 Jul 2018

30 ปี การสิ้นสุดของระบอบเปรมาธิปไตย (1) : ความเป็นมา อภิมหาเรื่องเล่า และนักการเมืองชื่อเปรม

ธนาพล อิ๋วสกุล ย้อนสำรวจระบอบเปรมาธิปไตยและปัจจัยสำคัญเบื้องหลัง รวมทั้งถอดรื้ออภิมหาเรื่องเล่าของนายกฯ เปรม เพื่อรู้จัก “นักการเมืองชื่อเปรม” ให้มากขึ้น

ธนาพล อิ๋วสกุล

31 Jul 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save