fbpx
จากโควิดถึงโคสันหลังหวะ โรคระบาดทางจริยธรรม ภูมิคุ้มกันความดีบกพร่อง

จากโควิดถึงโคสันหลังหวะ โรคระบาดทางจริยธรรม ภูมิคุ้มกันความดีบกพร่อง

อายุษ ประทีป ณ ถลาง เรื่อง

ใช่ว่าจะมีปัญหาเฉพาะการใช้อำนาจรัฐ นักการเมือง ข้าราชการประจำ ตำรวจ ทหาร หรือสถาบันกษัตริย์ ฯลฯ แต่เพียงเท่านั้น หลายปีที่ผ่านมา เป้าหมายหนึ่งซึ่งผู้คนในสังคมเรียกร้องต้องการให้มีการปฏิรูป เปลี่ยนแปลง ปรับปรุงให้ดีขึ้นก็คือสื่อมวลชน ผู้ประกอบวิชาชีพนำเสนอข้อมูลข่าวสาร รายงานเหตุการณ์ความจริงไปสู่ประชาชน

จากเคยเป็นที่ยอมรับถึงสถานะ บทบาทในการทำหน้าที่ตรวจสอบ สร้างความโปร่งใส เป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพให้กับประชาชน ทุกวันนี้ สิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุตลอดจนโซเชียลมีเดีย ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ครั้งแล้วครั้งเล่าถึงการนำเสนอข่าวสารโดยปราศจากความรับผิดชอบต่อสังคมอันเป็นส่วนรวม ขาดจริยธรรม ไม่มีความเป็นกลาง เอื้อประโยชน์ให้กับบางฝ่าย

ถูกกล่าวหาถึงขนาดว่ากระทำการหรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการประกอบอาชญากรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมในลักษณะต่างๆ อาทิ เป็นกระบอกเสียงหรือเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ เผยแพร่เฟกนิวส์หรือข่าวปลอมให้กับระบอบปกครองเผด็จการทรราช

บ้างใช้สื่อในมือหลอกลวงปั่นหุ้น บ้างต้มตุ๋นประชาชนให้ตกเป็นเหยื่อสินค้า อาหารเสริม

บ้างแสวงหารายได้ ความมั่งคั่ง ชื่อเสียงจากข่าวดรามา ไร้สาระ ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม นำเสนอภาพและข่าวอันมีเนื้อหาละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

หลายครั้งหลายหนที่สื่อมวลชนได้เข้าไปมีส่วนสำคัญในวิกฤตการณ์ สร้างความเสียหายร้ายแรงกับประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการใช้วิทยุทหารปลุกระดมความเกลียดชัง หนังสือพิมพ์บางฉบับปลุกปั่นตกแต่งภาพจนนำไปสู่การสังหารหมู่นิสิตนักศึกษาใจกลางเมืองหลวง หรือบทบาทของวิทยุ จส.100 และโทรทัศน์ทหารในเหตุการณ์ความรุนแรงเดือนพฤษภาคม 2535 ฯลฯ

ท่ามกลางกระแสเรียกร้องต้องการที่จะเห็นสื่อสารมวลชนคุณภาพ มีจรรยาบรรณ สำเหนียกถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ในขณะที่สื่อมวลชนเองมักจะกล่าวอ้างว่า เสรีภาพสื่อคือเสรีภาพของประชาชน

ไม่รู้เหมือนกันว่าบ้านอื่นเมืองอื่นมีหรือเปล่า ที่คนข่าวสื่อมวลชนต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ติดคุกติดตะราง พ้นโทษจากเรือนจำไม่ทันไรก็ออกมาลอยหน้าลอยตา ประกอบวิชาชีพทำหน้าที่รายงานข่าวสาร วิเคราะห์วิจารณ์เหตุการณ์บ้านเมือง วิพากษ์สิ่งนั้นผิดสิ่งนี้ถูก คนนั้นดีคนนี้ไม่ดี

เป็นกรณีของการต้องโทษลงทัณฑ์ในคดีความผิดทางการเมือง ติดคุกติดตะรางเพราะเป็นปากเป็นเสียงให้กับประชาชน โดนจำขังเพราะต่อสู้กับอำนาจรัฐเผด็จการก็ว่าไปอย่าง สมควรได้รับการยกย่องชื่นชม ไม่มีประเด็นให้ต้องถกเถียงกันว่า จะกลับมาประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนได้หรือไม่

แต่นี่ที่เห็นกลับเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ไม่ยักยอกก็ฉ้อโกง เป็นเรื่องของพฤติกรรมคดในข้องอในกระดูก หรือคดีที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต เม้มผลประโยชน์อันเป็นรายได้ของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งล้วนไม่สมควรเป็นแบบอย่างให้กับสังคม

คนหนึ่งนั้นเป็นผู้เฒ่า ศาสดาของใครหลายคนซึ่งนิยมสวมใส่เสื้อสีเหลือง ที่วันนี้ออกมาลอยหน้าลอยตาเล่าเรื่องวิพากษ์วิจารณ์สังคมเป็นตุเป็นตะ ชี้หน้าด่าประณามไปทั่ว คนนั้นชั่ว คนนี้เลว ทั้งๆ ที่ตัวเองเพิ่งพ้นคุกพ้นตะรางมาด้วยข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ทำรายงานเท็จค้ำประกันเงินกู้ธนาคารกรุงไทยพันกว่าล้านบาท ต้องคำพิพากษาจำคุกรวม 85 ปี ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 42 ปี 6 เดือน แต่ในคดีความผิดหลายกรรมต่างกัน กฎหมายให้ศาลลงโทษได้ไม่เกิน 20 ปี

หรือกรณีของกรรมกรข่าว ไอดอลของใครหลายคน ซึ่งตอนนี้กำลังมีเสียงเรียกร้องต้องการให้กลับมาทำหน้าที่เล่าข่าวอีกครั้งทั้งๆ ที่ยังถูกจองจำ นั่นก็ต้องโทษทัณฑ์ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานของรัฐกระทำความผิด ยักยอกเงินค่าโฆษณาเกินเวลา

รายนี้ถึงขนาดองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันออกมาเคลื่อนไหวจนต้องหยุดทำหน้าที่ ก่อนศาลจะมีคำพิพากษาจำคุก 13  ปี 4 เดือน ลดโทษเหลือจำคุก 6 ปี 24 เดือน

จริงอยู่ว่าโดยหลักทัณฑวิทยา การลงโทษมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้แก้ไข ปรับปรุงตัวเองกลับมาเป็นคนดีอยู่ร่วมในสังคมภายหลังจากพ้นโทษ และสังคมควรให้โอกาสผู้เคยต้องโทษลงทัณฑ์ แต่เรือนจำก็ไม่ใช่แม่น้ำคงคาที่สามารถลงไปชำระบาปคราบมลทินให้หายไปได้

การผ่านคุกผ่านตะรางมาแล้วก็ไม่ได้ทำให้กลายเป็นผู้มิมีมลทินมัวหมอง และเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกับความเหมาะสม สมควรในการกลับเข้าสู่วิชาชีพบางสาขาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ เกี่ยวพันถึงความน่าเชื่อถือไว้วางใจ

ไม่เช่นนั้นคงไม่มีระเบียบราชการกำหนดคุณสมบัติ ข้อจำกัด ห้ามมิให้บุคคลซึ่งต้องคำพิพากษาจำคุกในคดีอาญาเข้ารับราชการ ลงสมัครรับเลือกตั้งหรือดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ฯลฯ

จะไปอยู่เบื้องหลัง ไปวาดรูป ร้องเพลง ฯลฯ คงไม่มีใครว่า ให้โอกาสเต็มที่

แม้วิชาชีพสื่อมวลชนจะไม่ได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของคนข่าว พิธีกร แต่ก็คงไม่ได้หมายความว่าขอแค่คลำดูแล้วไม่มีหาง ใครจะมาทำอาชีพนี้ก็ได้

แต่ก็นั่นแหละ จะไปหาคุณค่ามาตรฐานอะไรในบ้านเมืองนี้ที่ภูมิคุ้มกันความถูกต้องดีงามบกพร่อง กำลังเผชิญกับโรคระบาดทางจริยธรรมอย่างรุนแรง บ่อนทำลายสติปัญญาผู้คนจนถึงขนาดพูดจาสื่อสารกันไม่รู้เรื่องรู้ราว แม้จะใช้ภาษาเดียวกัน

น่าสะพรึงกลัวยิ่งกว่าโควิด-19 เสียอีก

แอบอ้างประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่เนื้อหาสาระ พฤติกรรมการกระทำเป็นเผด็จการอำนาจนิยมโดยแท้

หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่เรียกร้องต้องการให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ปรารถนาเห็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น กลับกล่าวหาว่า ลูกหลานพยายามโค่นล้มทำลาย

อ้างว่าเป็นประเทศซึ่งปกครองภายใต้หลักนิติรัฐ ยึดมั่นในนิติธรรม แต่วันดีคืนดีมีการจับกุมคุมขังเด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ในข้อหากระทำความผิดฐานใส่เสื้อครอปท็อป เอวลอย, แต่งชุดไทย แสดงท่าย่อตัว, ขีดเขียนหรือโพสต์ข้อความบางประโยค ทั้งๆ ที่มิได้เป็นถ้อยคำต่ำช้าสามานย์ หยาบคาย ไม่สุภาพ โกหกมดเท็จ สาดโคลน ใส่ร้ายป้ายสี หรือ แสดงความอาฆาตมาดร้าย ฯลฯ แต่ประการใด

ตะบี้ตะบันบังคับใช้กฎหมายไม่รู้จักบันยะบันยังอย่างนี้ สักวันมิต้องจับกุมคุมขังประชาชนในข้อหาความผิดฐานคิดในใจหรอกหรือ

หัวร่อไม่ได้ร้องไห้ไม่ออกกลัวจะเป็นความผิด

ประทานโทษเถอะ ต่อไปจะอบรมกุลบุตรกุลธิดา บอกอย่าได้เกียจคร้าน ให้รู้จักทำงานทำการเป็นประโยชน์เสียบ้าง หรือสั่งสอนบุตรหลานว่าอย่าเอาแต่บ้าผู้หญิง หมกมุ่นในสตรีเพศเลยนะลูกเอ๋ย ฯลฯ มิต้องปรึกษาทนาย สอบถามนักกฎหมายก่อนหรือว่าสามารถกระทำได้หรือเปล่า

ใครไปแน่ใจว่าจะไม่ถูกเอาผิด? หากบ้าจี้บังคับใช้กฎหมายโดยไม่คำนึงถึงมโนธรรมสำนึก ความถูกต้องใดๆ

ผู้คนวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์ ตั้งข้อสังเกตถึงเหตุที่ประชาชนคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ล่าช้ากว่าประเทศอื่นก็ไม่ได้ ผิดมาตรานั้นมาตรานี้

จะเอาโทษอุกฉกรรจ์ให้ได้

กองทัพเมียนมาทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ร้อนท้อง มีกระบอกเสียงออกมาแก้ต่างแก้ตัว ประชาชนบ้านเขาออกมาต่อต้านเผด็จการทหารก็สะดุ้ง

เพราะจริยธรรมเสื่อมทราม คุณค่า มาตรฐานต่างๆ เสื่อมถอย จึงหวาดระแวงไปเสียทุกอย่าง

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save