fbpx
'ความเป็นกลาง' ในสังคมที่ไม่เป็นกลาง

‘ความเป็นกลาง’ ในสังคมที่ไม่เป็นกลาง

1

เรื่อง ‘ความเป็นกลาง’ ของสื่อ กลายเป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้ง หลังจาก กสทช. สั่งระงับสัญญาณ Voice TV โดยให้เหตุผลว่านำเสนอข้อมูลไม่รอบด้าน และมุ่งแต่จะโจมตีรัฐบาลคสช.

ในฐานะคนที่เรียนจบด้านสื่อสารมวลชนมา แน่นอนว่าแนวคิดเรื่อง ‘ความเป็นกลาง’ คือสิ่งที่ได้รับการปลูกฝังมาอย่างหนักแน่น เรียกว่าเป็นแก่นของวิชาชีพเลยก็ว่าได้

ทว่าเมื่อเรียนจบ และได้มาทำงานสื่อจริงๆ ผมกลับพบว่ามันเป็นทฤษฎีที่นำมาปฏิบัติจริงได้ยากเหลือเกิน

อย่างที่รู้กันว่า สังคมไทยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน เช่นเดียวกับสื่อมวลชนทั้งหลาย ไม่ว่าจะค่ายเล็กค่ายใหญ่ ล้วนมีธงด้วยกันทั้งสิ้น

บางคนอาจจะเถียง บอกว่าสื่อที่ ‘ไม่เอียง’ ก็มีตั้งเยอะแยะ ในตอนแรกผมก็คิดเช่นนั้น แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ผมจึงค่อยๆ เข้าใจว่า สื่อที่ดูไม่เอียงเหล่านั้น ก็มีความเอียงในแบบของมันอยู่

ตามทฤษฎี สื่อต้องนำเสนอข้อเท็จจริงโดยปราศจากอคติหรือความคิดเห็นส่วนตัว แต่เรากลับเห็นรายการเล่าข่าวที่พิธีกรสอดแทรกความเห็นส่วนตัวอย่างออกรสออกชาติ แล้วประกาศย้ำๆ ว่าตัวเองเป็นสื่อที่รอบด้าน

เราเห็นการพาดหัวข่าวที่มุ่งแต่ยอดขาย โดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของคนที่ถูกพาดพิง หรือนำเสนอข่าวที่ไม่จริงเพื่อเรียกยอดไลค์อันนำมาซึ่งเงินโฆษณา

เราเห็นดาราเซเล็ปบางคน ได้รับเลือกให้ขึ้นปกนิตยสารเพราะมีจุดยืนทางการเมืองแบบหนึ่ง ขณะที่บางคนถูกปฏิเสธเพราะมีจุดยืนทางการเมืองอีกแบบ

สื่อบางสื่อร่ำรวยเพราะอวยรัฐบาล สื่อบางสื่อโดนสั่งปิดเพราะด่ารัฐบาล สื่อบางสื่อบอกว่าตัวเองเป็น ‘หมาเฝ้าบ้าน’ แต่กลับไม่รู้ว่าเจ้าของบ้านนั้นเป็นโจร

ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผมรับรู้จากการทำงานจริง และเป็นสิ่งที่ทำให้ผมสงสัยว่า เราจะรักษา ‘ความเป็นกลาง’ ไว้ได้อย่างไร หรือสุดท้ายแล้ว มันยังจำเป็นอยู่ไหมกับการทำสื่อในสังคมนี้ ในวันเวลาแบบนี้

 

2

หลังจากทำงานได้สักพัก ผมเปิดใจเรื่องนี้กับรุ่นพี่นักเขียนคนหนึ่งในออฟฟิศ

เขาทำอาชีพสื่อมา 20 ปี เป็นนักคิดนักเขียนที่มีชื่อเสียงพอสมควร ผมในฐานะมือใหม่ที่เพิ่งเรียนจบหมาดๆ ระบายความอัดอั้นตันใจกึ่งปรึกษา เพราะรู้สึกว่างานที่ทำอยู่นั้น ‘ไม่ค่อยเป็นกลาง’ สักเท่าไหร่

“ความเป็นกลางของนายคืออะไร” เขาถามผมกลับ

“ก็คือนำเสนอข้อมูลจากทั้งสองฝั่งไงพี่ แต่นี่ผมว่าเราเสนอฝั่งเดียวมากไปหน่อย มันไม่ค่อยแฟร์”

“แล้วที่แฟร์คือยังไง..” เขาย้อนผมอีกที แล้วอธิบายต่อ

“คือความเป็นกลางอย่างที่นายบอก มันจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อทุกคนเสียงดังเท่ากัน  แต่นี่เราอยู่ในสังคมที่เสียงของคนกลุ่มหนึ่งดังกว่าคนอีกกลุ่มเสมอ มันไม่เท่ากันตั้งแต่แรกแล้ว นายไม่เห็นหรือไง”

“หมายความว่าพี่ไม่เชื่อเรื่องความเป็นกลาง?”

“พี่เชื่อคนละอย่างกับที่นายบอก สำหรับพี่ ในเมื่อเสียงของคนกลุ่มหนึ่งมันดังกว่า สามารถพูดอะไรก็ได้ หรือสั่งให้ใครหยุดพูดก็ได้ สิ่งที่เราควรทำ ก็คือบอกเล่าเรื่องของคนที่ไม่มีปากมีเสียง ทำให้เสียงของเขาดังขึ้นมา แบบนี้เราว่าแฟร์”

“นายเป็นนักเขียน เป็นคนทำสื่อ ถ้านายไม่เข้าใจหลักสิทธิเสรีภาพ มองโครงสร้างสังคมไม่ออก ไม่มีความรู้เรื่องการบ้านการเมือง นายก็จะเป็นสื่อที่เชื่องๆ เป็นคนเชื่องๆ เรื่องที่ควรทำ ก็ไม่ได้ทำ”

เขาย้ำหลักการเรื่องเสรีภาพในการคิด การเขียน รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์ ว่าเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้มนุษย์และสังคมพัฒนา หาใช่การปิดกั้นหรือการใช้ propaganda ซึ่งมีแต่จะทำให้สังคมล้าหลัง

“เลือกทางนี้ก็เหนื่อยหน่อย” เขาทิ้งท้าย “เดี๋ยวนายก็จะค่อยๆ รู้”

จากวันนั้น ผ่านมา 3-4 ปี ผมได้นั่งคุยกับพี่แกอีกนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งในและนอกเวลางาน ส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้นเรื่องเหตุการณ์บ้านเมือง แต่แปลกที่เราไม่ได้คุยเรื่องความเป็นกลางกันอีกเลย

ไม่ใช่เพราะผมกระจ่างแล้วว่าความเป็นกลางคืออะไร ตรงกันข้าม ผมยังมีความสงสัย และทบทวนตัวเองอยู่เรื่อยมา ว่าจะทำงานสื่ออย่างไรภายใต้เงื่อนไขของสังคมที่ไม่เป็นกลาง

 

3

ปลายปี 2558 ผมมีโอกาสสัมภาษณ์ คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ตอนนั้นเป็นช่วงที่เขากลับมาทำสื่ออีกครั้งในรอบสองปี หลังเจอมรสุมจากรายการ ‘ตอบโจทย์ประเทศไทย’

หากใครยังจำได้ รายการตอนสุดท้ายคือการดีเบตกันระหว่าง ส.ศิวรักษ์ กับ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ว่าด้วยเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีทั้งหมด 5 ตอน

ทว่าก่อนที่ตอนสุดท้ายจะเริ่มฉายไม่กี่อึดใจ ทางสถานีก็มีคำสั่งให้ระงับการออกอากาศ เป็นเหตุให้ภิญโญตัดสินใจประกาศยุติการทำรายการ “เนื่องจากไม่สามารถตอบโจทย์ได้อีกต่อไป ว่าเรายังจะรักษาความเชื่อมั่นในเสรีภาพของสื่อสารมวลชน ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญไว้ได้อย่างไร”

เมื่อถามย้อนไปถึงช่วงเวลานั้น ภิญโญบอกว่าเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เปลี่ยนมุมมองชีวิตครั้งใหญ่ เราคุยกันถึงเรื่องความเป็นกลางในการทำสื่อ ซึ่งเป็นหลักที่เขายึดถืออย่างหนักแน่นมาตลอด 20 กว่าปีของการทำงาน ผมถามเขาอีกครั้งว่ายังเชื่อในความเป็นกลางอยู่ไหม

“ความเป็นกลาง เป็นเรื่องที่เถียงกันมากในสังคมไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และมีคนจำนวนหนึ่งพยายามจะลบล้างเรื่องความเป็นกลาง เพราะคุณได้เลือกข้างกันหมดแล้ว

“ตอนนี้ผมไม่อยากพูดเรื่องความเป็นกลาง เพราะทุกคนล้วนมีอคติ แล้วถ้าคุณบอกว่าการมีอคติ แปลว่าไม่เป็นกลาง โลกนี้ก็คงไม่เหลือคนที่เป็นกลางอยู่เลย เพราะทุกคนล้วนมีอคติไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

“ประเด็นที่ผมอยากพูดก็คือ สิ่งที่สื่อสามารถทำได้ตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องความเป็นกลาง แต่คือความเป็นธรรม”

“สื่อสามารถเป็นธรรมกับทุกฝ่ายได้ ต่อให้คุณมีความคิด ความเชื่อ มีอุดมคติทางการเมือง แต่คุณควรจะต้องให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายตรงข้าม เท่าๆ กับที่ให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายคุณ นี่คือความหมายที่ลึกซึ้งของความเป็นกลาง ไม่ใช่ว่าห้ามคุณมีอคติ หรือห้ามมีจุดยืนทางการเมือง เพียงแต่คุณเป็นธรรมกับฝ่ายตรงข้ามรึเปล่าในการทำสื่อ คุณปฏิบัติต่อฝ่ายตรงข้ามอย่างเท่าเทียมกับฝ่ายคุณรึเปล่า หรือถ้าคุณบอกว่าไม่มีฝ่าย คุณอยู่ตรงกลาง คุณปฏิบัติต่อทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม ด้วยมาตรฐานเดียวกันรึเปล่า นี่คือความเป็นธรรม

“ถ้าคุณรักษาความเป็นธรรมได้ คุณค่อยมาพูดถึงเรื่องความเป็นกลาง แต่ถ้าคุณยังรักษาความเป็นธรรมไม่ได้ คุณก็จะไม่มีทางเข้าใจความเป็นกลาง”

คำตอบนี้เอง ทำให้ผมกระจ่างขึ้นว่า สุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญและควรค่าแก่การถกเถียงกันมากกว่าความเป็นกลาง อาจเป็นเรื่องของ ‘ความเป็นธรรม’ อย่างที่คุณภิญโญบอก

เพราะตราบใดที่คนทำสื่อ ไม่สามารถทำหน้าที่สื่อสาร หรือชี้ให้เห็นความไม่ชอบมาพากล ความอยุติธรรมต่างๆ ในสังคม อย่างตรงไปตรงมาได้ เมื่อนั้นความเป็นกลาง ก็คงเป็นเพียงหลักการกลวงๆ ที่คนทำสื่อหยิบยกหลอกลวงตัวเองอยู่ร่ำไป

นอกเสียจากว่าสื่อนั้นๆ จะเป็นหมาเฝ้าบ้านที่รับใช้โจร.

 

อ่านเพิ่มเติม เกี่ยวกับเรื่อง ‘ความเป็นกลางของสื่อ’

บทความ The lost meaning of ‘objectivity’ โดย American Press Institute

บทความ The Myth of Objectivity in Journalism : A Commentary  โดย Richard F. Taflinger  

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save