fbpx
โมเดลความร่วมมือของภาคประชาสังคมเพื่อลดปัญหาความรุนแรงในลาตินอเมริกา: กรณึศึกษาเมืองเมะเดยีน ประเทศโคลอมเบีย (ตอนที่ 1)

โมเดลความร่วมมือของภาคประชาสังคมเพื่อลดปัญหาความรุนแรงในลาตินอเมริกา: กรณึศึกษาเมืองเมะเดยีน ประเทศโคลอมเบีย (ตอนที่ 1)

ปทิตตา วาสนาส่งชูสกุล, Marcelo Druck ภาพประกอบ

เมื่อปลายปีที่แล้ว กระผมได้เขียนบทความถึงเมืองเมะเดยีน (Medellín) เมืองหลวงของจังหวัดแอนทิโอเกีย (Antioquia) ประเทศโคลอมเบีย ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่อันตรายที่สุดในโลกในช่วงระหว่างคริสต์ทศวรรษที่ 1980s และ 1990s

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ความรุนแรงในเมืองเมะดะยีนก็ลดลงอย่างรวดเร็ว จนความสำเร็จในการลดปัญหาความรุนแรงในเมืองเมะเดยีนได้รับการกล่าวถึงไปทั่วโลก

อย่างไรก็ดี สื่อต่างๆ ที่นำเสนอปรากฏการณ์ดังกล่าวดูเหมือนว่าเสนอภาพการเปลี่ยนผ่านอย่างผิวเผินเท่านั้น โดยระบุแต่เพียงว่าเมืองเมะเดยีนในขณะนี้ “ปราศจากความรุนแรง” แล้ว และมองว่าความสำเร็จครั้งนี้เป็นผลมาจากโครงการการฟื้นฟูระบบโครงสร้างพื้นฐานและสถาปัตยกรรมของเมืองโดยตรง หนังสือพิมพ์ New York Times นำเสนอว่าเป็นเพราะการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทำให้อาชญากรรมลดลง[1] ขณะที่สำนักข่าว BBC ก็เชิดชูเมืองเมะเดยีนว่ามี “การฟื้นฟูเมืองที่โดดเด่น”[2] ซึ่งตรงกันข้ามกับการพยายามฟื้นฟูและพัฒนาเมืองคู่แข่งอย่างโบโกตา (Bogotá)[3] ส่วนหนังสือพิมพ์ The Washington Post ก็บรรยายการเปลี่ยนผ่านของเมืองเมะเดยีนไว้อย่างน่าชื่นชมว่าสามารถแปรจากเมืองแห่งความรุนแรงและยาเสพติดทั้งหลาย จนกลายเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวที่สำคัญ[4]

ความสำเร็จของเมืองเมะเดยีนถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ (rebranding) ให้กับโคลอมเบีย[5] ส่งเสริมให้โลกภายนอกได้สัมผัสกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมของประเทศ รวมทั้งขจัดภาพลักษณ์ที่ชาติตะวันตกมักมองว่าโคลอมเบียเป็นแหล่งของการค้ายาเสพติด[6]

อย่างไรตาม ในช่วงเวลาที่เมะเดยีนได้รับการยกย่องเป็นเมืองต้นแบบแห่งการปฏิรูป เมืองอื่นๆ ในประเทศต่างๆ ก็มีการปฏิรูปเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพราะการจัดวางผังเมืองใหม่ได้กลายเป็นกระแสที่สำคัญของโลกตลอดช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา[7] และความสำเร็จของเมืองเมะเดยีนก็ได้เดินตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก่อนแล้วไม่ว่าจะเป็นเมืองบาร์เซโลนา (Barcelona) และบิลเบา (Bilbao) ในประเทศสเปน, กูริติบา (Curitiba) ในประเทศบราซิล และรอตเทอร์ดาม (Rotterdam) ประเทศเนเธอร์แลนด์[8] แต่ถึงอย่างไร ‘เมะเดยีนโมเดล’ (Medellín Model) ก็ถูกเมืองต่างๆ ที่ประสบปัญหาความรุนแรง เช่นเมืองในเม็กซิโก แอฟริกาใต้ และบราซิล วางเป็นต้นแบบในการนำไปปรับใช้กับเมืองตัวเอง

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ชัดเจนว่า ‘เมะเดยีนโมเดล’ ก็มีที่มาจากการดำเนินรอยตามเมืองอื่นๆ ก่อนหน้า และมีรูปแบบการพัฒนาที่คล้ายคลึงกัน โครงการต่างๆ เช่น การสร้างอาคารที่ดูสวยโดดเด่น การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือการเป็นเจ้าภาพจัดงานทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเมืองที่ต้องการเป็นที่สนใจของประชาคมโลก ถึงแม้มีการชูว่าชุดนโยบายดังกล่าวมุ่งเน้นถึงความสามารถในการฟื้นฟูเมือง แต่ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่ามีลักษณะมุ่งเน้นดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากกว่าเช่นกัน ไม่ว่าจะจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือจากบริษัทข้ามชาติ ซึ่งต้องแลกกับความสูญเสียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความสูญเสียทางสังคม เศรษฐกิจ ความเท่าเทียม และสิทธิต่างๆ ของคนในพื้นที่[9]

แม้เมืองเมะเดยีนมีความคล้ายคลึงกับเมืองต้นแบบอื่นๆ ในแง่นโยบายการคืนความเป็นสาธารณะและนโยบายต่างๆ ที่นำมาใช้ แต่ประสบการณ์ของเมืองนี้กลับมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ การที่เมืองเมะเดยีนนำนโยบายจากเมืองต้นแบบอื่นๆ มาปรับใช้กับบริบทปัญหาความรุนแรงระดับสูงในเมืองและความสำเร็จในการลดอัตราความรุนแรง ช่วยกระตุ้นให้เมืองมีความน่าดึงดูดใจมากขึ้น โดยความสำเร็จในการฟื้นฟูเมืองเมะเดยีนเป็นผลหลักๆ มาจากความพยายามในการปรับปรุงแก้ไขภาพลักษณ์ของเมือง รวมถึงการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment – FDI)

ขณะที่โครงการตามแนวคิดเสรีนิยมใหม่ซึ่งถูกนำมาใช้สนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาเมืองในซีกโลกเหนือมักส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ อาทิ ปริมาณชุมชนแออัดที่สูงขึ้น สวัสดิการสังคมที่ลดลง และการช่วงชิงพื้นที่[10] แต่สภาพภูมิทัศน์ทางการเมืองในลาตินอเมริกาในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 21 มีปัญหาและอุปสรรคที่แตกต่างออกไป ดังนั้นการศึกษาการฟื้นฟูและพัฒนาเมืองเมะเดยีนในปัจจุบันจึงมุ่งวิพากษ์ทฤษฎีของตะวันตกที่มักอ้างว่าเป็นทฤษฏีระดับสากล[11] อย่างไรก็ดี ข้อวิพากษ์ต่างๆ ที่โจมตีสูตรต้นแบบการพัฒนาเมืองในซีกโลกเหนือ ไม่ว่าจะเป็นข้อวิพากษ์เรื่องการเป็นตัวการก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงพื้นที่ และการอพยพ ล้วนแล้วแต่ยกเมืองเมะเดยีนเป็นตัวอย่างของความสำเร็จ เนื่องจากการปฏิรูปฟื้นฟูเมืองเมะเดยีนได้แสดงให้เห็นถึงประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งว่าอำนาจในเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปในลักษณะใด โดยผู้ที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จดังกล่าวต่างก็ตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้เป็นกระบวนการทางการเมืองระยะยาว

เมะเดยีนยังนับว่าประสบความสำเร็จในการใช้นโยบายคืนความเป็นสาธารณะ โดยมีที่มาย้อนไปตั้งแต่กลางคริสต์ทศวรรษที่ 1990s ซึ่งมีการถกเถียงกันในวงกว้างว่ามูลเหตุของความรุนแรงมาจากปัญหาต่างๆ ที่กลุ่มชนชั้นนำติดค้างกลุ่มคนชายชอบของเมือง ดังนั้นเพื่อจัดการกับปัญหาการถูกทำให้เป็นชายขอบทางภูมิศาสตร์ จึงมีการวางนโยบายและสนับสนุนการเปลี่ยนโฉมหน้าเมือง ซึ่งมีส่วนคล้ายกับนโยบาย Urban Acupuncture ของเมืองบาร์เซโลนา[12]

นอกจากการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะแล้ว นโยบายของเมืองเมะดะยีนยังมุ่งเน้นส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจของคนยากจนอีกด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ Metrocable ที่เป็นการนำเทคโนโลยีรถกระเช้า (cable-car) ของภูเขาอัลไฟน์มาปรับใช้กับระบบขนส่งมวลชนในเมือง โดยระบบดังกล่าวช่วยเชื่อมต่อระหว่างย่านเอล โปบลาโด (El Poblado) ที่อยู่ทางใต้และมีฐานะดีเข้ากับโซนอันตรายของเมืองอีกสองแห่ง นอกจากนี้ อีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จก็คือการสร้างหอสมุดถึงห้าแห่งในย่านที่ยากจนที่สุดหลายๆ แห่งของเมือง โดยการออกแบบอาคารและสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากการคัดเลือกในระดับนานาชาติ

นโยบายเช่นนี้ได้รับแรงบันดาลใจมากจากนโยบายของเมืองต้นแบบในประเทศอื่นๆ อาทิ งานสถาปัตยกรรมจากแคว้นกาตาโลเนีย (Catalonia) ประเทศสเปน นโยบายทางการเมืองแบบมีส่วนร่วมและการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจจากประเทศบราซิล โครงการร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเมืองทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี รวมทั้งแนวคิดการส่งเสริมอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ของ Richard Florida เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เสียงวิพากษ์นโยบายเหล่านี้เน้นอยู่กับกรณีศึกษาของเมืองในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งแตกต่างกับรูปแบบเฉพาะโดยทั่วไปของเมืองในประเทศกำลังพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาชุมชนแออัด การขาดระบบโครงสร้างพื้นฐาน หรือการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย ดังนั้นการศึกษาวิเคราะห์นโยบายการคืนความเป็นสาธารณะที่เกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้ รวมถึงเมะดะยีน จึงต้องคำนึงถึงความแตกต่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น กระผมจึงนำเสนอนโยบายต่างๆ ที่ได้มีการปรับใช้ให้เข้ากับบริบททางการเมืองของเมืองเมะเดยีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง ซึ่งทำให้แนวนโยบายการคืนความเป็นสาธารณะของเมืองเมะดะยีนมีลักษณะเฉพาะตัว

เมะเดยีนและเมืองต้นแบบ

ความสำเร็จของเมืองเมะเดยีนเป็นตัวอย่างของปรากฏการณ์โลกาภิวัตน์ของการวางผังเมือง[13] ที่เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990s ความสำเร็จของการพัฒนาเมืองที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น ไม่ว่าจะเป็นในบาร์เซโลนา, บิลเบา, ปารีส, รอตเทอร์ดาม, ซานฟรานซิสโก (San Francisco) และแวนคูเวอร์ (Vancouver) ได้แพร่กระจายไปทั่วโลกผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดอันดับของสำนักโพลต่างๆ ขนาดของเศรษฐกิจที่ขยายตัว หรือการได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพงานพิธีการระดับโลกจนกลายเป็นต้นแบบให้เมืองอื่นๆ ปฏิบัติตาม[14]

ทั้งนี้ เมืองต่างๆ ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นล้วนแต่อยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว และเป็น ‘เมืองลำดับสอง’ ที่คอยพยายามแข่งขันกับเมืองหลวงและเมืองศูนย์กลางทางการเงินต่างๆ[15] เมืองต้นแบบในลักษณะดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นตัวแทนแนวความคิดเสรีนิยมใหม่ และเป็นที่ถกเถียงว่านโยบายลักษณะนี้เป็นแนวทางในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติและบริษัทนายทุนข้ามชาติมากกว่าที่จะเป็นการเสริมสร้าง ‘สิทธิที่พึงมีต่อเมือง’ ให้แก่ประชาชน[16] อีกทั้งยังเป็นบ่อเกิดของการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ย่านชุมชนต่างๆ ซึ่งทำให้ชนชั้นแรงงานจำนวนมากกลายเป็นผู้ที่ไร้ที่อยู่อาศัย ก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในเมืองที่เพิ่มมากขึ้น ถึงแม้นโยบายการฟื้นฟูเมืองนี้จะทำให้ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจดีขึ้นก็ตาม อย่างไรก็ดี หากมองในแง่ดี นโยบายชุดนี้ยังเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา

แม้แต่ละเมืองต้นแบบจะโดดเด่นด้วยนวัตกรรมและการพัฒนาในแบบของตน แต่ชุดนโยบายเฉพาะบางอย่างก็ถูกนำมาใช้ในการปรับปรุงและฟื้นฟูเมืองในทางที่คล้ายกัน อาทิ ระบบขนส่งมวลชน พื้นที่สาธารณะ และโครงการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ โดยเมืองต่างๆ ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นก็ได้นำแนวทางเฉพาะของตนที่หลากหลายมาปรับปรุง ผสมผสานและพัฒนาสิ่งเหล่านี้ สิ่งที่ยืนยันความมีมาตรฐานของเมืองต้นแบบ ได้แก่ ความยั่งยืนทั้งในเชิงสิ่งแวดล้อมและการคลัง การมีระบบผู้ประกอบการ และการส่งเสริมอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ เช่น กรณีเมืองบาร์เซโลนา ซึ่งได้กลายเป็นที่รู้จักจากโครงการปฏิรูปเมืองเพื่อการจัดงานแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนใน ค.ศ. 1992 โดยมีการปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่ เช่น สนามบินและการสร้างพื้นที่สาธารณะที่ ‘สบายตา’ เพื่อดึงดูดการลงทุนในบริเวณที่เป็นชายขอบของเมือง[17]

ภาพที่ 1: แนวทางการพัฒนาเมืองบาร์เซโลนา

ส่วนกรณีการสร้างสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในเมืองบิลเบา และการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนที่เมืองแวนคูเวอร์ ก็ได้กลายเป็นตัวอย่างอ้างอิงของการปรับปรุงฟื้นฟูเมืองต่างๆ เช่น ดูไบ (Dubai) ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, บัวโนสไอเรส ในประเทศอาร์เจนตินา และพลิมัท (Plymouth) อีกด้วย แม้ผลกระทบจากนโยบายเหล่านี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงอยู่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านโยบายการปฏิรูปเมืองจากเมืองต้นแบบนั้นมีอิทธิพลสูงมากผ่านเครือข่ายต่างๆ ที่หมุนเวียนและนำไปปฏิบัติใช้กับเมืองอื่นๆ ทั่วโลก[18]

จากการเกิดปรากฏการณ์การ ‘สร้างแบรนด์’ (city branding) ให้กับเมือง อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการตามกระแสเสรีนิยมใหม่ซึ่งเน้นการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ เช่น การท่องเที่ยว นโยบาย City Branding ก็ได้รับการนำไปปรับใช้ในประเทศกำลังพัฒนาเช่นกัน[19] ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวแตกต่างจากนโยบาย City Marketing เนื่องจากเป็นการใช้เทคนิคการสร้างภาพลักษณ์ (branding) ในการส่งเสริมและสนับสนุนเมืองสู่ระดับโลก มากกว่าที่จะเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดหรือการผลิตแต่เพียงเท่านั้น[20] อย่างการสร้างแบรนด์ให้กับเมืองเกี่ยวเนื่องกับการจัดงานแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและแวดวงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่ส่งเสริมมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของเมืองโดยใช้ระบบตลาดไปพร้อมๆ กัน ส่วนการจัดอันดับเมืองที่ทำการวัดแต่ละเมืองในทุกแง่มุม นับตั้งแต่ความปลอดภัยกระทั่งพื้นที่สีเขียวของเมืองก็ได้เอื้ออำนวย ส่งเสริมภาพลักษณ์ของเมืองในระดับสากลอีกด้วย[21]

การที่เมืองแต่ละแห่งปรับนโยบายให้เข้ากับสถานการณ์ทางการเมืองและแนวทางการปฏิรูปบางอย่างที่เฉพาะเจาะจงเสียมาก นำไปสู่คำถามว่านโยบายของเมืองต้นแบบต่างๆ นั้นสามารถนำไปปรับใช้ได้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้จริงหรือไม่[22] ดังนั้น แม้ว่านโยบายการปฏิรูปเมืองของเมืองต้นแบบต่างๆ จะถูกพิจารณาว่าเป็น ‘เทคนิค’ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้เสมอ แต่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของนโยบายดังกล่าวก็จำต้องได้รับการวิเคราะห์ภายใต้บริบทการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมจำเพาะเป็นกรณีไป

แนวคิดแบบยุคหลังอาณานิคมที่ปรากฏอยู่ในงานของ Peck และ Theodore[23] กล่าวถึง ‘การหมุนเวียนของความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และผู้กำหนดนโยบายที่หลากหลาย’ โดยแนวคิดลักษณะนี้สนับสนุนการแลกเปลี่ยน เคลื่อนย้ายนโยบายต่างๆ เนื่องจากองค์ความรู้ของประเทศที่พัฒนาแล้วมักได้รับการพิจารณาว่าเป็น ‘ความเชี่ยวชาญ’ และเมืองในประเทศที่พัฒนาแล้วก็มักเป็นที่ตั้งของสถาบันทางการศึกษาของชนชั้นสูง ดังนั้นการจัดอันดับเมืองต่างๆ จากสื่อและกลุ่มนโยบายจึงมักโน้มเอียงไปทางแหล่งเงินทุนและบริษัทต่างๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมทั้งการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมหรือกีฬาระดับโลกก็มักสะท้อนแนวคิดแบบยุคอาณานิคม เช่นเดียวกับพื้นที่สาธารณะที่ถูกทำให้สวยงามก็มีกลิ่นอายของแนวคิดยุคอาณานิคมเจือปนอยู่ด้วยเช่นกัน

การพยายามทำให้เมืองดูสวยงามจึงอาจพิจารณาได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ชนชั้นแรงงานในโลกหลังอุตสาหกรรมกลายเป็นกลุ่มคนชายขอบ[24] โดยความเหลื่อมล้ำของการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม การปรับปรุงพื้นที่ และอำนาจของ ‘เมืองของโลก’ (global cities) ได้กลายเป็นประเด็นหลักของการถกเถียงในเชิงทฤษฎีเรื่องการจัดการเมือง ซึ่งมุ่งเน้นศึกษาแต่เพียงกรณีศึกษาในยุโรปและสหรัฐอเมริกา แต่มักถูกนำไปกล่าวว่าเป็นการศึกษา ‘เมือง’ ทั้งหมดโดยทั่วไป[25] การศึกษาแง่มุมต่างๆ ของเมืองที่เป็นกรณีศึกษา อาทิ การเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และอัตลักษณ์จึงจำเป็นต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการสังเคราะห์ทฤษฎีในแง่ที่ว่านโยบายได้รับการพัฒนาขึ้นมาอย่างไร โดยที่ไม่ละทิ้งมุมมองจากทฤษฎีของกรณีศึกษาจากแหล่งอื่นๆ

ในขณะที่เมืองต้นแบบส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เมืองที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาก็มีอิทธิพลอยู่ไม่น้อยในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจพัฒนาการของเมือง อาทิ ประเทศบราซิล ที่มีเมืองกูริติบาเป็นเมืองแรกที่ได้กลายเป็นแหล่งอ้างอิงด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อม[26] และเมืองปอร์ตู อะเลกรึ (Porto Alegre) ที่ได้เป็นตัวอย่างด้านประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (participatory democracy)[27] ขณะที่ความสำเร็จของเมืองเมะเดยีนก็ได้กลายเป็นสินค้าส่งออกด้านการสร้างแบรนด์ให้กับเมืองอื่นๆ

‘เมะเดยีนโมเดล’ มีหลักการสำคัญคือการสร้างนโยบายพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจเพื่อลดปัญหาความรุนแรง ซึ่งเป็นหลักการที่เป็นที่สนใจเป็นพิเศษสำหรับเม็กซิโก เนื่องจากประเทศดังกล่าวกำลังประสบปัญหาความรุนแรงจากการค้ายาเสพติด นอกจากนี้ เทคนิคการแก้ไขปัญหาในเมืองเมะเดยีนด้วยการสร้างรถกระเช้า Metrocable ก็ได้ส่งอิทธิพลและเป็นตัวอย่างให้แก่เมืองต่างๆ อีกหลายเมือง อาทิ ลาปาซ (La Paz) และลอนดอน (London) ซึ่งได้นำนวัตกรรมนี้ประยุกต์เข้าสู่ระบบขนส่งมวลชนของตน 

ในบทความหน้า กระผมจะมาเล่าต่อไปว่าโมเดลการร่วมมือของทุกภาคส่วนในประชาสังคมเพื่อลดปัญหาความรุนแรงในเมืองเมะดะยีนประกอบด้วยนโยบายอย่างไรบ้าง โปรดติดตามตอนต่อไปครับ


[1] [The] New York Times, “A city rises along with hopes,” (2012), accessed March 4, 2022, http://www.nytimes.com/2012/05/20/arts/design/fighting-crime-with-architecture-in-medellin-colombia.

html?_r=o.

[2] BBC, “Remarkable renewal brings visitors to Medellín,” (2010), accessed March 4, 2022, http://news.bbc.co.uk/1/hi/programmes/fast_track/8850289.stm.

[3] [The] Guardian, “Colombia’s architectural tale of two cities,” (2012), accessed March 4, 2022, http://www.theguardian.com/artanddesign/2012/apr/11/Colombia-architecture-bogota-medellin.

[4] [The] Washington Post. “Medellín, Colombia: From drug violence to tourist destination,” (2010), accessed accessed March 4, 2022, http://washingtonpost.com/wy-dyn/content/article/2010/11/19/AR2010111902827

.html.

[5] Lina María Echeverri, Eduardo Rosker, and Martha Lucía Restrepo, “Los orígenes de la marca país Colombia es pasión,” Estudios y Perspectivas en Turismo 19, no. 3 (2010): 409-421.

[6] Michael J. LaRosa and Germán R. Mejía, Colombia: A concise contemporary history.

[7] Jennifer Robinson, Ordinary cities: Between modernity and development.

[8] Sara González, “Biibao and Barcelona ‘in motion’: How urban regeneration ‘models’ travel and mutate in the global flows of policy tourism,” Urban Studies 48, no. 7 (2011): 1397-1418.

[9] Leslie Sklair, “Iconic architecture and the culture-ideology of consumerism,” Theory, Culture & Society 27, no. 5 (2010): 135-159.

[10] Loretta Lees, Tom Slater, and Elvin Wyly (eds.), The gentrification reader (London: Routledge, 2010).

[11] Jennifer Robinson, Ordinary cities: Between modernity and development.

[12] Ismael Blanco, Jordi Bonet, and Andres Walliser, “Urban governance and regeneration policies in historic city centers: Madrid and Barcelona,” Urban Research & Practice 4, no. 3 (2011): 326-343.

[13] Jennifer Robinson, Ordinary cities: Between modernity and development และ Eugene McCann and Kevin Ward (eds.), Mobile urbanism: Cities and policymaking in the global age (Minneapolis, MN: University of Minnesota Press, 2011).

[14] Kevin Ward, “‘Policies in motion’, urban management and state restructuring: The trans-local expansion of business improvement districts,” International Journal of Urban and Regional Research 30, no. 1 (2006): 54-75 และ Sara González, “Bilbao and Barcelona ‘in motion’: How urban regeneration ‘models’ travel and mutate in the global flows of policy tourism,”.

[15] Eugene McCann and Kevin Ward (eds.), Mobile urbanism: Cities and policymaking in the global age.

[16] Loretta Lees, Tom Slater, and Elvin Wyly (eds.), The gentrification reader และ Leslie Sklair, “Iconic architecture and the culture-ideology of consumerism,”.

[17] Francisco-Javier Monclús, “The Barcelona model: and an original formula? From ‘reconstruction’ to strategic urban projects (1979–2004),” Planning Perspectives 18, no. 4 (2003): 399-421.

[18] Jamie Peck and Nik Theodore, “Mobilizing policy: Models, methods, and mutations,” Geoforum 41, no. 2 (2010): 169-174.

[19] Jennifer Robinson, Ordinary cities: Between modernity and development.

[20] Michalis Kavaratzis, “From city marketing to city branding: Towards a theoretical framework for developing city brands,” Place Branding 1, no. 1 (2004): 58-73.

[21] Roger Burrows, Nick Ellison, and Brian Woods, Neighborhoods on the net: The nature and impact of internet-based neighborhood information systems (Bristol, UK: The Policy Press, 2005).

[22] Laurence Crot, “Transnational urban policies: ‘Relocating’ Spanish and Brazilian models of urban planning in Buenos Aires,” Urban Research & Practice 3, no. 2 (2010): 119-137.

[23] Jamie Peck and Nik Theodore, “Mobilizing policy: Models, methods, and mutations,”: 171.

[24] Jennifer Robinson, Ordinary cities: Between modernity and development.

[25] Loretta Lees, “The geography of gentrification: Thinking through comparative urbanism,” Progress in Human Geography 36, no. 2 (2012): 155-171.

[26] Clara Irazábal, City making and urban governance in the Americas: Curitiba and Portland (Aldershot, UK: Ashgate Publishing, 2005).

[27] Laurence Crot, “Transnational urban policies: ‘Relocating’ Spanish and Brazilian models of urban planning in Buenos Aires,” และ Boaventura de Sousa Santos, “Participatory budgeting in Porto Alegre: Toward a redistributive democracy,” Politics & Society 26, no. 4 (1998): 461-510.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save