fbpx
เมะเดยีน ประเทศโคลอมเบีย: เมืองหลวงของการฆาตกรรมของโลกในคริสต์ทศวรรษ 1980s และ 1990s

เมะเดยีน ประเทศโคลอมเบีย: เมืองหลวงของการฆาตกรรมของโลกในคริสต์ทศวรรษ 1980s และ 1990s

david peña ภาพประกอบ

เมะเดยีน (Medellín) เมืองหลวงของจังหวัดแอนทิโอเกีย (Antioquia) ประเทศโคลอมเบีย ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่อันตรายที่สุดในโลก ในช่วงระหว่างคริสต์ทศวรรษที่ 1980s และ 1990s เมะเดยีนกลายเป็นศูนย์กลางการค้าโคเคนของโลกโดยมีเจ้าพ่อค้ายาเสพติดสำคัญคือพาโบล เอสโคบาร์ (Pablo Escobar) เป็นผู้นำของขบวนการค้ายาเสพติดและมีส่วนสำคัญที่ทำให้ความรุนแรงในเมืองนี้พุ่งสูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

ยกตัวอย่างเช่น ในปี 1991 มีคนถูกฆาตกรรมถึง 375 คนต่อประชากรทุก 100,000 คน สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ถือว่าเป็นมาตรวัดความรุนแรงขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ที่ 10 คนต่อประชากรทุก 100,000 คน ถึง 37.5 เท่า และมากกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของทั้งประเทศโคลอมเบีย ซึ่งอยู่ที่ 79 คนต่อประชากรทุก 100,000 คน ตัวเลขผู้ที่ถูกฆาตกรรมที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการสูงเกือบ 9,000 คน ในปีดังกล่าว (รูปภาพที่ 2)

นอกจากขบวนการค้ายาเสพติดจะเป็นต้นเหตุสำคัญของความรุนแรงในเมะเดยีนแล้ว ยังมีกองกำลังกึ่งทหาร ทหารนอกประจำการ รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐเองต่างก็มีส่วนร่วมในการทำให้ความรุนแรงกลายเรื่อง ‘ธรรมดาสามัญ’ ในเมะเดยีน

รูปภาพที่ 1: แผนที่การแบ่งเขตการปกครองของเมืองเมะเดยีน

รูปภาพที่ 2: จำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆาตกรรมในรายงานอย่างเป็นทางการของรัฐบาลระหว่างปี 1988-2002 ของสามเมืองใหญ่ในโคลอมเบีย
ที่มา: Departamento Administrativo Nacional de Estadística (DANE)

อย่างไรก็ตามระดับความรุนแรงในเมะเดยีนลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา อัตราผู้เสียชีวิตจากการฆาตกรรมเหลือเพียง 39 คนต่อประชากรทุก 100,000 คน ใกล้เคียงกับเมืองใหญ่ๆ ในสหรัฐอเมริกา การลดลงอย่างรวดเร็วของความรุนแรงในเมะเดยีนถือเป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์และเชื่อมโยงแนวทางการพัฒนาเมืองที่เป็นที่รู้จักกันในนาม ‘การคืนความเป็นสาธารณะ’ ที่ถูกนำมาใช้ในระหว่างปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1990s ต่อเนื่องมาจนถึงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 2000s

แนวความคิดที่เป็นจุดกำเนิดของนโยบายการคืนความเป็นสาธารณะมีอยู่สองประการ ประการแรกคือแนวความคิดที่ว่าคนรวยในเมืองจะต้องมีพันธะความรับผิดชอบต่อคนยากจนชายขอบที่พวกเขาไปช่วงชิงความเจริญต่างๆ มา และอีกประการคือความเหลื่อมล้ำในสังคมระหว่างระหว่างคนสองกลุ่มดังกล่าวเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น

ดังนั้นนโยบายการคืนความเป็นสาธารณะไม่เพียงแต่เป็นการตระหนักว่าความรุนแรงมีพื้นฐานมาจากความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละเขตพื้นที่ภายในเมืองเมะเดยีน ที่ได้รับการพัฒนาหรือดูแลเอาใจใส่ในอดีตโดยรัฐแตกต่างกัน

ด้วยเหตุนี้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ รวมถึงโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ จึงถูกดำเนินการอย่างเร่งด่วนในพื้นที่ยากจนรอบเขตเมืองเมะเดยีน ซึ่งถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการเหลียวแลในอดีตจนกลายเป็นแหล่งอาชญากรรม ส่งผลให้เมะเดยีนได้รับรางวัลเมืองแห่งการสร้างสรรค์ดีเด่นในปี 2013 จาก The Urban Land Institute

อย่างไรก็ตามก็มีข้อกังขาว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเมะเดยีนนี้เป็นแค่เพียงเปลือกนอก ไม่ได้สะท้อนถึงสภาพปัญหาความแตกแยกของโครงสร้างสังคม โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำที่คนรวยยังคงมีอิทธิพลครอบงำสังคมอยู่ อาทิ การกวาดล้างพื้นที่อาชญากรรมครั้งใหญ่ของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งร่วมมือกับกองกำลังกึ่งทหารเพื่อเป็นการ ‘เคลียร์’ พื้นที่ก่อนการนำนโยบายการคืนความเป็นสาธารณะมาปฏิบัติ ส่งผลให้ผู้บริสุทธิ์จำนวนไม่น้อยกลายเป็นเหยื่อในการปราบปรามครั้งนี้ตามรายงานขององค์การสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

นอกจากอัตราการฆาตกรรมที่สูงแล้ว ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980s และ 1990s ข้อมูลทางการของจำนวนคนที่ถูกลักพาตัวในเมืองเมะเดยีนก็สูงเป็นประวัติการณ์ด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งๆ ที่คนที่หายตัวเป็นจำนวนมากไม่ได้ถูกรายงานให้หน่วยงานของรัฐทราบ เพราะปัญหาเรื่องความปลอดภัยของเหยื่อ โดยสาเหตุของการลักพาตัวในโคลอมเบียมีทั้งมาจากความต้องการเงินค่าไถ่ตัว เหตุผลทางการเมือง หรือแม้กระทั่งการลักพาตัวทหารและตำรวจโดยกบฏฝ่ายซ้าย (รูปภาพที่ 3) ซึ่งสะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของรัฐในการคุ้มครองคนของตนเอง นอกจากนี้ความรุนแรงในครอบครัวซึ่งมักไม่มีการรายงานก็อยู่ในอัตราที่น่าเป็นกังวล

ความรุนแรงในเมืองเมะเดยีนเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนของปัญหาความรุนแรงระดับชาติที่โคลอมเบียมีมายาวนาน และเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกบฏฝ่ายซ้าย กองกำลังกึ่งทหาร ทหารนอกประจำการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพียงแต่ระดับความรุนแรงในเมืองเมะเดยีนสูงกว่าเมืองอื่นๆ อย่างน่าวิตก และถ้าจำแนกลงไปในแต่ละพื้นที่ของเมืองเมะเดยีน จะพบว่าในบางเขต อาทิ ลา แคนเดลาเรีย (La Candelaria) ซึ่งประกอบไปด้วยชุมชนแออัดจำนวนมาก มีอัตราการตายจากการฆาตกรรมสูงถึง 165 คนต่อประชากรทุก 100,000 คน ในปี 2013 ขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั้งเมืองอยู่ที่ 39 คน 

รูปภาพที่ 3: จำนวนของผู้ถูกลักพาตัวที่มีการรายงานต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐในโคลอมเบีย จำแนกตามแรงจูงใจของการลักพาตัว ระหว่างปี 1996-2002
ที่มา: Ministerio de Defensa – FONDELIBERTAD

ปัญหาที่เกิดในเมะเดยีนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของ ‘ปัญหาความรุนแรงในเขตเมืองหรือนคร’ (urban violence) ซึ่งได้รับความสนใจจากนักวิชาการจำนวนมากในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยเป็นปัญหาจากการพัฒนาเมืองที่เป็นไปอย่างก้าวกระโดดโดยไม่สนใจความแตกต่างระหว่างคนรวยและคนจนที่เพิ่มมากขึ้น จนก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ ส่งผลโดยตรงต่อการขยายตัวของความรุนแรง ซึ่งมักเกิดขึ้นในประเทศที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากการประสบปัญหาสงครามกลางเมืองที่ยาวนานไปสู่การสร้างประชาธิปไตย เช่น แอฟริกาใต้ และโคลอมเบีย

เมะเดยีนในฐานะเมืองศูนย์กลางอุตสาหกรรมของประเทศโคลอมเบีย นอกจากจะเป็นที่ดึงดูดสำหรับผู้ที่อพยพเข้ามาแสวงหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจแล้ว ยังรองรับผู้คนจำนวนมากที่ต้องหนีภัยสงครามกลางเมือง ค่าสัมประสิทธิ์ Gini ชี้ให้เห็นว่าเมะเดยีนมีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนสูงเป็นลำดับต้นๆ ของบรรดาเมืองต่างๆ ในลาตินอเมริกา อดีตเลขานุการของนายกเทศมนตรีเมืองถึงกับกล่าวไว้ว่า ความแตกต่างของแต่ละเขตในเมะเดยีนเหมือนกับเอาสวิสเซอร์แลนด์และบังคลาเทศมาอยู่ในเมืองเดียวกัน

พื้นที่แต่ละเขตในเมืองเมะเดยีนมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อาทิ ในเขตเอล โพบลาโด (El Poblado) (รูปภาพที่ 1) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ เต็มไปด้วยศูนย์การค้าขนาดใหญ่ โรงแรมหรู และมหาวิทยาลัยเอกชนซึ่งเก็บค่าเล่าเรียนในอัตราที่สูงมาก เอล โพบลาโด จึงเหมือนกับเขตเมืองใหญ่ๆ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ขณะที่พื้นที่ทางเหนือของเมะดะยีนซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขาแอนดีส เป็นที่พักพิงของพวกที่อพยพย้ายถิ่นเข้ามา มีลักษณะเป็นชุมชนแออัด ขาดระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าหรือประปา เป็นที่อยู่ของผู้ที่มีรายได้ต่ำ และเป็นแหล่งซ่องสุมของอาชญากรเป็นจำนวนมาก พื้นที่ทางตอนเหนือนี้ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลท้องถิ่นในการพัฒนา และถูกมองว่าเป็น ‘โซนอันตราย’ ของเมือง ซึ่งเปิดโอกาสให้กลุ่มอาชญากรรมต่างๆ ขยายตัวในเวลาเดียวกันไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพ่อค้ายาเสพติด กลุ่มมาร์กซิสต์หัวรุนแรง รวมทั้งกองกำลังกึ่งทหาร ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ตำรวจ หรือแม้กระทั่งผู้พิพากษาเองก็ตาม ต่างก็พัวพันได้รับผลประโยชน์จากแก๊งอาชญากรรมเหล่านี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

รากเหง้าของปัญหาความรุนแรงดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะในประเด็นความเหลื่อมล้ำของการพัฒนาที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไขไปในทางที่ดีขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 2000s โดยอาศัยแนวทางนโยบายการคืนความเป็นสาธารณะที่มีเป้าหมายในการการแก้ไขปัญหาความรุนแรงดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของเมือง การสร้างพื้นที่สาธารณะที่ให้ประชาชนได้มีโอกาสปฏิสังสรรค์กัน ลดความหวาดระแวง และเพิ่มโอกาสในการเข้าใจซึ่งกันและกัน ส่งผลให้ในที่สุดแล้วเมะเดยีนสามารถที่จะจัดการและลดปัญหาความรุนแรงจนเป็นที่น่าอัศจรรย์

การทำความเข้าใจถึงกระบวนการต่างๆ โดยเฉพาะการตัดสินใจทางการเมือง การต่อรองของกลุ่มต่างๆ ที่นำมาสู่ความสำเร็จของเมะเดยีนในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งสำคัญของความสำเร็จดังกล่าวเช่นกัน ดังเห็นได้จากการที่รัฐยอมเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการวิเคราะห์และกำหนดแนวทางในการจัดการกับความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างเป็นประวัติการณ์ในปี 1991 แทนที่การผูกขาดโดยรัฐและผู้มีอำนาจในท้องถิ่น 

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเมะเดยีนครั้งนี้เกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญใหม่ที่เพิ่งประกาศใช้ในปี 1991 ซึ่งกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการกำหนดและดำเนินนโยบายต่างๆ เพิ่มมากขึ้น หรือแนวความคิดการเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย (democratization) ที่เบ่งบานไปทั่วโลกภายหลังการล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต เปิดโอกาสให้เสียงของภาคประชาสังคมสามารถแปรเปลี่ยนเป็นนโยบายได้ 

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save