fbpx
โรคหัด: ฆาตกรผู้หวนกลับมา

โรคหัด: ฆาตกรผู้หวนกลับมา

นิติ ภวัครพันธุ์ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งใน BBC News online เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาคือข่าวการระบาดของโรคหัด (Measles) ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง คร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมากในหลายประเทศ (แต่ดูเหมือนสื่อมวลชนไทยไม่ได้ให้ความสนใจต่อข่าวนี้เลย) รายงานข่าวชิ้นนี้เริ่มต้นด้วยการระบุว่า ในปี 2018 มีคนตายจากโรคนี้มากกว่า 140,000 คนทั่วโลก โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี

นับตั้งแต่ปี 2000 จำนวนผู้ป่วยก็สูงขึ้นเรื่อยๆ จนสถานการณ์ดูจะแย่ลงในปี 2019 เช่นในสหรัฐอเมริกา จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคหัดนับเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 25 ปี ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก มาดากัสการ์ และยูเครนก็เกิดการระบาดของโรคอย่างกว้างขวาง และในซามัว ประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก รัฐบาลถึงกับต้องประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อรับมือกับโรคนี้

รายงานข่าวระบุอีกว่าจำนวนผู้ป่วยมิได้ลดน้อยลง ตรงกันข้ามกลับเพิ่มขึ้น เช่น ในช่วงปี 2012-2013 ปัญหาใหญ่ที่น่ากังวลคือเด็กจำนวนมากไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน หรือฉีดไม่ครบโดส กล่าวคือต้องฉีดวัคซีนให้ครบ 2 ครั้ง แต่สถิติที่ปรากฏมานานนับปีระบุว่า 86% ของเด็กทั้งหมดได้รับวัคซีนเข็มแรก และ 69% ได้รับวัคซีนเข็มที่สอง ในขณะที่ตัวเลขประมาณการระบุว่าเด็กต้องได้รับการฉีดวัคซีนให้ครบทั้งสองเข็มถึง 96% ของประชากรทั้งหมดจึงจะสามารถยุติการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้

อุปสรรคสำคัญของการที่เด็กไม่ได้รับการฉีดวัคซีน อาจไม่ใช่เพราะมีวัคซีนไม่พอ แต่เป็นเพราะความเข้าใจผิดของพ่อแม่เด็ก เช่น กรณีของแม่ชาวฟิลิปปินส์ที่อาศัยอยู่ในสลัม ต้องสูญเสียลูกถึงสองคนด้วยโรคหัด เนื่องจากมีการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ ว่าการฉีดวัคซีนอาจทำให้เด็กล้มป่วย พ่อแม่ของเด็กจึงหลงเชื่อและไม่พาลูกไปฉีดวัคซีน

ไม่ใช่แค่คนยากคนจนที่อยู่ในสลัมเท่านั้น แต่ความเข้าใจผิดดังกล่าวเกิดขึ้นกับพ่อแม่จำนวนมากทั่วโลก ปัญหาใหญ่คือมีคนปล่อยข้อมูลผิดๆ หรือมีความคิดต่อต้านการฉีดวัคซีนอยู่เสมอ ทำให้พ่อแม่หลงเชื่อตามข้อมูลที่ตนได้รับ หรือเกิดทัศนะต่อต้านการฉีดวัคซีน ส่งผลให้การรณรงค์การฉีดวัคซีนโรคหัดไม่บรรลุผลตามที่ตั้งไว้

รายงานข่าวอีกชิ้นหนึ่กล่าวถึงประเทศยูเครน หนึ่งในประเทศยุโรปที่ต้องผจญกับการระบาดของโรคหัดอย่างรุนแรง สาเหตุสำคัญคือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดลดน้อยลงอย่างน่าตกใจ ทำให้จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคนี้สูงกว่าหนึ่งแสนรายนับตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ข่าวชิ้นนี้ได้กล่าวถึง Serhiy Butenko ชายหนุ่มผู้ใฝ่ฝันที่จะเป็นหมอเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น แต่ก็ต้องจบชีวิตลงในวัยเพียง 18 ปี แม่ของเขาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่าเธอไม่เข้าใจว่าทำไมลูกชายของเธอจึงต้องเสียชีวิต เพราะสมัยที่เธอเป็นเด็ก ทุกคนล้วนป่วยด้วยโรคหัดแต่ก็หายป่วยเอง ไม่มีใครเสียชีวิตเลย

แม้ว่าหัดจะเป็นโรคระบาดที่ติดต่อกันได้ง่ายแต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ซึ่งมักมีไข้สูงและผื่นคันตามผิวหนัง ก็จะหายเป็นปรกติภายใน 2-3 สัปดาห์ ทว่า หากเกิดอาการของโรคแทรกซ้อนก็อาจเกิดอันตรายได้ ดังเช่นกรณีของชายหนุ่มผู้นี้ ซึ่งเกิดภาวะแทรกซ้อนของปอดบวม (Pneumonia) จนต้องเข้ารักษาตัวในห้องไอซียู เชื้อโรคได้ลามไปทั่วปอดจนเขาต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ถึงกระนั้นเขาก็เสียชีวิตลงในเวลาไม่กี่วัน

ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ผมจึงลองค้นข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของโรคหัด ในเว็บไซต์บางแห่งระบุว่าเอกสารชิ้นแรกที่ค้นพบเกี่ยวกับโรคหัดเป็นรายงานของหมอเปอร์เชียผู้หนึ่ง ซึ่งมิได้มีการระบุชื่อไว้ เขาได้เขียนถึงโรคนี้ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 9 แต่ต้องรออีกหลายศตวรรษกว่าที่เราจะรู้ว่าโรคนี้ติดต่อได้อย่างไร  ใน ค.ศ. 1757 แพทย์ชาวสกอตแลนด์นาม ฟรานซิส โฮม ได้สาธิตให้เห็นว่า หัดเกิดขึ้นจากการติดเชื้อในโลหิตของผู้ป่วย แต่ก็ไม่มีวิธีป้องกันการแพร่ระบาดของโรค จนกระทั่งปี 1963 ในสหรัฐอเมริกา มีการคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคหัดได้สำเร็จและได้รับใบอนุญาตจากทางการ หลังจากนั้นอีกห้าปี วัคซีนป้องกันโรคหัดจึงถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง

ผมลองค้นต่อไปก็พบว่าในสหรัฐอเมริกา เกิดการระบาดของโรคนี้เป็นครั้งแรก (เท่าที่ได้มีบันทึกไว้) ใน ค.ศ. 1765 ซึ่งทำให้คนพื้นเมืองล้มตายเป็นเบือเพราะติดเชื้อโรคจากคนยุโรปที่อพยพเข้าไปอยู่ในทวีป โดยก่อนหน้าที่จะเกิดการติดต่อสัมพันธ์กับคนยุโรป ชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาไม่เคยล้มป่วยด้วยโรคหัดเลย จึงอาจกล่าวได้ว่าหัดเป็นเชื้อโรคที่คนยุโรปนำมาสู่คนพื้นเมือง และเพราะผู้คนเหล่านี้ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน จึงไม่มีภูมิคุ้มกันโรค ทำให้เกิดการเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

แต่อเมริกาไม่ใช่แห่งเดียว หรืออาณาบริเวณเดียว ที่ชนพื้นเมืองจำนวนมากเจ็บป่วยล้มตายด้วยโรคระบาดจากคนยุโรป

ข่าวการระบาดของโรคหัดทำให้ผมหวนคิดถึงเรื่องโรคระบาดจากคนยุโรปหรือคนผิวขาวสู่คนพื้นเมืองที่ผมเคยอ่านสมัยเรียนที่นิวซีแลนด์ ซึ่งมีผู้เขียนทั้งที่เป็นนักวิชาการและไม่ใช่ เรียบเรียงไว้เป็นหนังสือและบทความจำนวนมาก มีประเด็นสำคัญที่อาจสรุปได้ 2-3 ประการ ได้แก่ ประเภทของโรค บริเวณหรือสถานที่ที่เกิดการระบาด และกลุ่มคนที่เจ็บป่วยล้มตาย

เนื่องจากนิวซีแลนด์จัดอยู่ในหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิก ผมจึงขอเริ่มต้นที่ชนพื้นเมืองแถบนี้ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ตามเกาะต่างๆ ทั่วมหาสมุทร มีข้อมูลระบุว่า เมื่อคนผิวขาวเข้ามาติดต่อกับคนพื้นเมืองในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผลกระทบจากการติดต่อหรือความสัมพันธ์นี้มีหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการเจ็บป่วยล้มตายของชนพื้นเมืองจากโรคต่างๆ ที่ติดมาจากคนยุโรป เช่น

  • เกิดการระบาดของโรคหัดอย่างรุนแรงที่เกาะฟิจิในปี 1875 และปรากฏขึ้นในที่อื่นๆ เช่น เกาะฮาวาย ตองงา ซามัว โรตูมา ส่งผลให้ประชากรราวหนึ่งในสี่เสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่เกาะที่อยู่ห่างไกล ผลกระทบก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้น เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ ส่งผลให้ประชากรที่สามารถดูแลผู้อื่นได้มีจำนวนน้อย

 

  • โรคบิด (Dysentery) มีรายงานว่าใน ค.ศ. 1804 เกิดการระบาดของโรคบิดในเกาะฮาวาย คร่าชีวิตคนพื้นเมืองไปราว 5,000 ถึง 15,000 คน จนผู้ที่มียังชีวิตอยู่ไม่สามารถฝังศพเหล่านี้ได้หมด มีข้อสันนิษฐานว่าการระบาดนี้เกิดจากเชื้อโรคบิดชิเกลล่า (Shigellosis) ซึ่งแพร่กระจายจากผู้ป่วยผ่านเลือดและหนอง โดยลูกเรือในเรือที่เดินทางจากหมู่เกาะโซโลมอนสู่ฮาวายใน ค.ศ. 1890 ครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ป่วยเสียชีวิตลงภายใน 4-10 วัน

 

  • ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เกิดการระบาดอย่างรุนแรงในหมู่เกาะแปซิฟิก ปี 1890 และปี 1918 ซึ่งสันนิษฐานว่าการระบาดอาจเกิดขึ้นจากผู้ป่วยที่โดยสารมากับเรือเดินสมุทร มีข้อสังเกตว่าการระบาดของโรคนี้ใน ค.ศ. 1918-1920 (รู้จักกันในนาม “Spanish flu” ที่ระบาดไปทั่วโลก คร่าชีวิตผู้คนไปราว 50 ล้านคน และอาจสูงถึง 100 ล้านคนโดยประมาณ) ส่งผลให้เกิดอัตราการตายที่แตกต่างกันมากระหว่างผู้ที่อพยพมาจากที่อื่นและชนพื้นเมืองในเกาะฟิจิ นิวซีแลนด์ นาอูรู ซามัว ไซปันและฮาวาย แต่ในบางพื้นที่ เช่น เกาะนีวเว (Niue) นิวกีนี และหมู่เกาะมาร์แชลล์ เกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่หลังจากการระบาดครั้งใหญ่ในปี 1918-1920 อีกนานหลายทศวรรษ

 

  • ไข้ทรพิษหรือฝีดาษ (Smallpox) แม้ว่าการระบาดของโรคนี้ในฮาวาย เกาะกวม หมู่เกาะแคโรไลน์ เฟรนช์โพลินีเชีย และปาปัวนิวกีนีจะสามารถควบคุมได้ แต่กลับเกิดการระบาดอย่างกว้างขวางและรุนแรงในบริเวณชายฝั่งภาคเหนือของนิวกีนีในปี 1872, 1893 และ 1895 นอกจากนี้ ในหมู่เกาะแคโรไลน์ปี ค.ศ. 1854 ประชากรราว 2,000 คนจากจำนวนทั้งหมด 5,000 คน ต้องเสียชีวิตลงด้วยไข้ทรพิษ และประมาณหนึ่งในสามของประชากรเกาะกวมก็เสียชีวิตในปี 1856 แต่ดูเหมือนว่าชนพื้นเมืองที่ได้รับผลกระทบจากฝีดาษหนักหน่วงที่สุดคือชนพื้นเมืองในออสเตรเลีย การระบาดในช่วงทศวรรษ 1780 ช่วงปี 1829-1831 และทศวรรษ 1860 ได้คร่าชีวิตคนพื้นเมืองไปอย่างมหาศาล สันนิษฐานกันว่าการระบาดเริ่มมาจากชาวประมงที่เข้ามาหากินจากที่อื่นได้นำเชื้อโรคนี้เข้ามาสู่คนพื้นเมือง [1]

 

มีการตั้งข้อสังเกตว่าการที่ชนพื้นเมืองในมหาสมุทรแปซิฟิกและออสเตรเลียได้รับผลกระทบจากการระบาดที่มากับคนแปลกหน้าผิวขาวอย่างค่อนข้างสาหัสนั้น เพราะชนพื้นเมืองเหล่านี้ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเหล่านี้ พูดอีกอย่างคือไม่เคยเป็น ไม่เคยเจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าว ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจนักหากเราจะพิจารณาว่าชนพื้นเมืองต่างๆ เหล่านี้อยู่ห่างไกลจากผู้อื่นมานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชนพื้นเมืองออสเตรเลีย ซึ่งมีมากมายหลายกลุ่มแต่ทุกกลุ่มก็ได้อพยพเข้าไปอาศัยอยู่ในทวีปออสเตรเลียนานหลายหมื่นปี และอยู่กันอย่างกระจัดกระจายทั่วทั้งทวีป นอกจากชนพื้นเมืองต่างกลุ่ม ผู้คนเหล่านี้ไม่เคยติดต่อกับคนแปลกหน้าเลย จนกระทั่งรัฐบาลอังกฤษส่งนักโทษนับพันคนไปคุมขังในสถานกักกันเมืองซิดนีย์ในปลายศตวรรษที่ 18 ชีวิตที่เคยอยู่อย่างโดดเดี่ยวจากผู้คนก็ต้องสิ้นสุดลง พร้อมๆ กับหายนะที่คนแปลกหน้านำมาด้วย

ชนพื้นเมืองออสเตรเลียมิได้เจ็บป่วยล้มตายด้วยไข้ทรพิษเท่านั้น มีการศึกษาที่ระบุว่าบริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของทวีป ตั้งแต่แถบรัฐนิวเซาท์เวลส์ รัฐวิคตอเรีย ลงไปถึงรัฐออสเตรเลียใต้ นอกจากชนพื้นเมืองจะเจ็บป่วยหรือล้มตายด้วยไข้ทรพิษ และโรคทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัดใหญ่และปอดบวม ยังมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส (Syphilis) และหนองในแท้ (Gonorrhea) ที่ติดมาจากคนผิวขาวอีกด้วย นอกจากนี้ วัณโรค (Tuberculosis) ก็เป็นอีกหนึ่งโรคที่ทำให้ชนพื้นเมืองออสเตรเลียจำนวนมากเสียชีวิตลง [2]

ทว่า มิได้มีเพียงชนพื้นเมืองในมหาสมุทรแปซิฟิกและออสเตรเลียเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโรคระบาดที่คนยุโรปนำมา ในทวีปอเมริกา อีกฝากหนึ่งของโลก มีข้อมูลระบุว่าปี ค. ศ. 1492 เมื่อคริสโตเฟอร์ โคลัมบัสนำเรือไปขึ้นฝั่งที่เกาะซานซัลวาดอร์ในหมู่เกาะบาฮามาส ชาวไทโน (Taino) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองในหมู่เกาะแถบนี้ ต้อนรับขับสู้คนแปลกหน้าเป็นอย่างดี จนโคลัมบัสเองถึงกับจดบันทึกไว้ว่าชนพื้นเมืองเป็นมิตรที่น่าอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง ไม่มีใครคาดคิดเลยว่าชนพื้นเมืองเหล่านี้ ซึ่งมีประชากรอย่างน้อยหกหมื่นคน – แต่ก็มีการประมาณกันว่าจำนวนประชากรอาจสูงถึงแปดล้านคน – จะลดลงเหลือเพียง 500 คนในปี 1548 ด้วยพิษสงของโรคระบาดอย่างไข้ทรพิษ ไข้หวัดใหญ่ และเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1520 กองทหารสเปนได้ขึ้นฝั่งบริเวณที่ปัจจุบันเรียกว่า เวราครูซ (Veracruz) ในเม็กซิโก ทหารเหล่านี้ได้นำทาสอัฟริกันที่ติดเชื้อไข้ทรพิษมาด้วย สองเดือนต่อมา กองทหารสเปนได้บุกเข้ายึดเมืองหลวงของจักรวรรดิแอซเท็ก (Aztec) ภายในเวลาไม่กี่เดือน เชื้อไวรัสจากโรคนี้ได้คร่าชีวิตของชาวแอซเท็กไปราวครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรทั้งหมด ราว 50,000-300,000 คนโดยประมาณ [3]

นอกจากนี้ ชนพื้นเมืองในอเมริกายังล้มป่วยและตายจากโรคหัดและเชื้อโรคประเภทอื่นๆ อีกหลายโรคที่คนแปลกหน้าผิวขาวนำมา รวมถึงมาเลเรีย โรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมหาศาลมานานนับศตวรรษ จนมีนักเขียนบางคนระบุว่าเชื้อมาเลเรียอันตรายและมีพลานุภาพในการฆ่าฟันยิ่งกว่าอาวุธใดๆ ที่มนุษย์รู้จัก (แต่ผมคงต้องใช้โอกาสอื่นในการกล่าวถึงมาเลเรีย ซึ่งมีผู้ศึกษาและเขียนถึงจำนวนมากทีเดียว)

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สืบเนื่องจากผมมีความสนใจเกี่ยวกับผู้คนในที่ต่างๆ โดยเฉพาะชนพื้นเมืองที่ได้รับผลกระทบจากการติดต่อสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ซึ่งหากเป็นคนผิวขาวก็มักจะมีการจดบันทึกไว้ กลายเป็นเอกสารให้เราทำการค้นคว้าศึกษาได้ แต่ที่เขียนในที่นี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของบันทึกทั้งหลายที่ทำให้เราทราบเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น สะท้อนถึงประสบการณ์ของผู้คนต่างกลุ่มที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กัน และเป็นประวัติศาสตร์แห่งผู้คนที่น่าสนใจ และบ่อยครั้งก็น่าพิศวง

อันที่จริง ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชนพื้นเมืองออสเตรเลียและผู้คนที่อาศัยอยู่ที่รัฐอลาสก้า สหรัฐอเมริกา ในปัจจุบันอาจไม่ใช่เรื่องโรคระบาดอีกแล้ว แต่คนเหล่านี้จำนวนมากกำลังเผชิญกับศัตรูหน้าใหม่ เช่น การติดสุรา (Alcoholism) การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการบริโภคที่นำไปสู่โรคอ้วน (Obesity) และเบาหวาน (Diabetes) หรือการฆ่าตัวตายในหมู่ชนพื้นเมืองของแคนาดาที่เรียกกันว่าอินุอิต (Inuit) ซึ่งมีผู้เชื่อว่าเป็นกลุ่มชนที่มีสถิติการฆ่าตัวตายที่สูงที่สุดในโลก

ยังมีเรื่องราวที่ควรเล่าสู่กันฟังอีกมากมาย

 

อ้างอิง

[1] S. Penman, S. Gupta and G. D. Shanks, “Rapid mortality transition of Pacific Islands in the 19th century”, Epidemiol. Infect. (2017, Jan); 145(1):1-11

[2]  Peter J. Dowling, “A Great Deal of Sickness”: Introduced diseases among the Aboriginal People of colonial Southeast Australia 1788-1900”, Ph.D. Dissertation, Australian National University, 1997

[3] Heather Pringle, “How Europeans brought sickness to the New World

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save