fbpx
พจนานุกรมไพร่

พจนานุกรมไพร่

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

 

คำว่า ‘ไพร่’ ในสังคมไทยเป็นคำที่ค่อนข้างจะกำกวมอยู่ไม่น้อย หลายคนใช้คำนี้เพื่อแทนความหมายหลายอย่าง หลายระดับ

ถ้าดูตามพจนานุกรม คำนี้มีสองความหมายที่น่าสนใจ และเกี่ยวพันกันลึกซึ้งอยู่ไม่น้อย นั่นคือแปลว่า ‘ชาวเมือง’ หรือ ‘พลเมืองสามัญ’ แบบหนึ่ง กับอีกแบบหนึ่งหมายถึง ‘คนเลว’ ซึ่งถ้าเอาสองอย่างนี้มารวมๆ กัน ก็น่าจะแปลความได้ว่า การเป็นไพร่ ก็คือการเป็น ‘แค่’ คนธรรมดาสามัญ และดังนั้นมันจึงเป็นสถานภาพที่ ‘เลว’ หรือไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่

ด้วยเหตุนี้ เลยอยากลองสำรวจคำที่พอจะเทียบเคียงกับการเป็น ‘ไพร่’ ไม่ว่าจะในความหมายของการเป็นพลเมืองสามัญ หรือมีนัยของความเลวปะปนอยู่ในภาษาภาษาอังกฤษดูบ้าง เผื่อจะทำให้เราเห็นมิติของความเป็นไพร่ได้มากขึ้น

 

Plebs

 

plebs เป็นคำแรกที่อยากพูดถึง เพราะมันเป็นคำที่ใช้ในยุคเก่าแก่มากๆ นั่นก็คือยุคโรมันโบราณ

plebs มาจาก plebeians ซึ่งก็หมายถึง commoners หรือพลเมืองสามัญ แต่คำนี้ไม่ได้ตั้งอยู่ของมันโดดๆ ทว่าเป็นคำที่มีความหมายในเชิงสัมพัทธ์ โดยไปสัมพัทธ์กับคำว่า patricians ซึ่งหมายถึงคนชั้นสูง

ที่จริง คำว่า plebs ไม่ได้มีอยู่หมู่เหล่าเดียว แต่อย่างน้อยที่สุด plebs มีอยู่สองกลุ่ม ได้แก่ plebs urbana หรือไพร่ชาวเมือง กับ plebs rustica หรือไพร่ชนบท โดยที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าการแบ่งแยกระหว่าง plebs กับ patricians นี้ เกิดขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไร

นอกจากนี้ การ ‘แยก’ ว่า plebs เป็นคนชั้นต่ำ patricians เป็นคนชั้นสูง ก็มีความกำกวมไม่น้อย เพราะเมื่อจำเนียรกาลผ่านไป คนที่เคยเป็น plebs หลายคน สามารถสั่งสมทุนและอำนาจบารมี จนกระทั่งกลายสถานะมาเป็นคนร่ำรวยมีวิถีชีวิตแบบ ‘ชั้นสูง’ ได้เหมือนกัน (โดยที่มีรากดั้งเดิมเป็น plebs) โดยเฉพาะเมื่อสังคมโรมันยุคโน้นเกิด ‘วิกฤต’ บางอย่างขึ้น เช่นเกิดสงครามในช่วงสามร้อยปีก่อนคริสตกาล วิกฤตใหญ่จึงเปิดโอกาสให้เกิดการเลื่อนชั้นเปลี่ยนสถานะทางสังคมได้ plebs หลายคนจึงเริ่มมีสถานะแบบ ‘ขุนน้ำขุนนาง’ (เรียกว่า nobilitas) ขึ้นมา โดย plebs ที่ได้ตำแหน่งแห่งที่มีอำนาจขึ้นมา จะเรียกคนเหล่านี้ว่าเป็น novus homo หรือเป็น ‘คนใหม่’ ที่สร้างความสูงส่งในชีวิตขึ้นมาด้วยตัวเอง

จะเห็นว่า plebs ในยุคโรมันโบราณนั้น มีนัยของความ ‘ต่ำ’ อยู่เหมือนกัน (เมื่อเปรียบเทียบกับ patricians) แต่ในอีกด้านหนึ่งก็สามารถเลื่อนชั้นเลื่อนสถานะได้ (บ้าง)

 

Yeoman

 

ผมรู้จักคำนี้ครั้งแรกตอนไปอเมริกาฝั่งตะวันออก แล้วไปตระเวนดูประวัติศาสตร์ต่างๆ ที่นั่น มันเป็นคำเรียกขานคนกลุ่มหนึ่งในช่วงแรกเริ่มของการสร้างอาณานิคมในอเมริกา แต่ที่จริงแล้ว คำนี้เป็นศัพท์ที่มีที่มาจากภาษาอังกฤษ ว่ากันว่า มันเป็นศัพท์ Middle English ที่อาจจะกร่อนมาจากภาษา Old English ว่า iunge man ซึ่งแปลว่า young man หรือคนหนุ่มธรรมดาๆ นี่แหละครับ (อาจจะเรียกว่าเป็น boy ก็ได้เหมือนกัน)

ถ้าย้อนกลับไปในอังกฤษ คำว่า yeoman อาจไม่ได้หมายความถึง ‘ไพร่’ เสียทีเดียว โดยเฉพาะถ้าเราคิดว่าไพร่คือคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับกษัตริย์หรือขุนน้ำขุนนางเลย เพราะ yeoman ในยุคแรกเริ่มมีลักษณะคล้ายๆ squire หรือผู้ช่วยอัศวินมากกกว่า ในอังกฤษโบราณจะมีตำแหน่งประเภท Yeoman of the Crown หรือ King’s Yeoman อยู่ด้วย เพราะฉะนั้น แม้จะมีนัยแสดงความ ‘ต่ำ’ กว่าในทางสถานะ แต่ก็ไม่ได้ต่ำต้อยจนเกินไป

ว่ากันว่า โรบิน ฮู้ด ที่เรารู้จักกันดี ก็เป็น yeoman เหมือนกัน แต่ตอนหลังคนนำเรื่องราวมาเล่าใหม่ว่าเขาเป็นอัศวิน เพราะฉะนั้น โรบิน ฮู้ด จึงเป็นตัวอย่างของ yeoman ในอังกฤษยุคก่อนได้

แต่เมื่อย้ายประเทศย้ายเวลามาเป็นการตั้งอาณานิคมในอเมริกายุคแรกเริ่มเดิมที คำว่า yeoman กลับมีความหมายเปลี่ยนไปอย่างมาก

ถ้าใครเคยอ่านหนังสือชื่อ White Trash ของ แนนซี่ ไอเซนเบิร์ก ที่เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ชนชั้นในอเมริกา ก็จะรู้ว่ายุคแรกๆ ที่มีการค้นพบอเมริกานั้น คนอังกฤษส่ง ‘เดนคน’ ทั้งหลายมา ‘ทิ้ง’ ในอเมริกาเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นพวกนักโทษ คนติดหนี้ เด็กกำพร้า คนจรจัด ฯลฯ เมื่อคนเหล่านี้มาถึงโลกใหม่ บางกลุ่มก็ไม่ทำอะไร ได้แต่นั่งๆ นอนๆ ไปวันๆ กับอีกบางกลุ่มที่ลุกขึ้นมาหักร้างถางพงทำมาหากิน คนที่นั่งๆ นอนๆ ชีวิตจะยากลำบาก ว่ากันว่าลำบากไม่มีจะกินขนาดต้องฆ่าเมียตัวเองแล้วเอามาปรุงอาหารกินกันเลยทีเดียว

yeoman คือคำที่ใช้เรียกคนเหล่านี้ รวมไปถึงคนกลุ่มใหม่ๆ ที่อพยพตามมาในภายหลัง เช่นคนที่มีฝีมือเชิงช่างแล้วนำฝีมือมาทำมาหากิน คนที่มีหัวธุรกิจเป็นพ่อค้า ทหารที่มารบ (ทั้งกับชนพื้นเมืองอเมริกันและกับชาติอื่นๆ) แล้วปลดประจำการ รวมไปถึงคนที่หนีหนี้จากอังกฤษมาเริ่มต้นใหม่ในโลกใหม่ คนเหล่านี้ถือครองที่ดินขนาดเล็ก และไม่ได้เป็นทาส ทำให้คำว่า yeoman มีความหมายถึงคนธรรมดาทั่วไป ซึ่งพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือคล้ายๆ คำว่า ‘ไพร่’ ที่เราคุ้นเคยนั่นเอง

โธมัส เจฟเฟอร์สัน คือคนที่สนับสนุน yeoman มาก เขาบอกว่าเป็นคนกลุ่มนี้นี่แหละ ที่สร้าง ‘คุณค่าแห่งสาธารณรัฐ’ ขึ้นมา และประชาธิปไตยแบบเจฟเฟอร์สัน ก็สร้างขึ้นจากฐานของ yeoman ด้วย

‘ไพร่’ จึงสำคัญต่อการสร้างชาติอเมริกาอย่างยิ่ง

 

Churl

 

ถ้าคำว่า yeoman มีความหมายเชิงสถานภาพที่ตกต่ำลง (คือจากผู้ช่วยอัศวินหรือกษัตริย์ กลายมาเป็นคนธรรมดาๆ) คำว่า churl จะยิ่งน่าสนใจมากกว่า เพราะมันมีความหมายเชิงสถานภาพที่ ‘ต่ำ’ ลงไปลึกกว่า yeoman มาก

คำนี้แรกเริ่มเดิมทีหมายถึง ‘มนุษย์’ หรือ man ธรรมดาๆ ทั่วไป อาจจะมีความหมายไปถึงคำว่า husband (ซึ่งด้านหนึ่งหมายถึงสามี แต่อีกด้านหนึ่งคือคนเลี้ยงสัตว์ที่ต้อนสัตว์ไปเลี้ยงในทุ่ง) ด้วย แต่ไม่ได้มีความหมายอะไรเลวร้าย

ที่จริง churl มีรากร่วมกับคำว่า Charles หรือ Carl ด้วย แต่เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ คำนี้กลับมีนัยตกต่ำลง จากที่เป็นแค่ ‘คน’ เฉยๆ ก็เริ่มถูกนำมาใช้ในความหมายของ ‘คนที่ตรงข้ามกับความสูงส่ง’ หรือตรงข้ามกับ nobility และ royalty นั่นก็คือการเป็น ‘คนธรรมดา’ ซึ่งก็หมายถึง ‘ไพร่’ ทั่วไปนี่เอง

ยิ่งพอมาถึงราวๆ ศตวรรษที่ 15 คำนี้เริ่มมีนัยในแง่ลบแฝงเข้ามามากขึ้น ถ้าเทียบกับ plebs ที่มี plebs urbana กับ plebs rustic เราจะพบว่าคำว่า churl ในศตวรรษที่ 15 เริ่มมีความหมายเฉพาะหมายถึง plebs rustica หรือหมายถึงพวกไพร่ชนบทที่มีความ ‘บ้านนอก’ ปะปนอยู่ด้วย บางคนอธิบายว่า churl คือ low fellow คือคนที่ ‘ต่ำ’ กว่าคนอื่นๆ ซึ่งทำให้ความหมายของ churl มีนัยใกล้เคียงกับคำว่า thegn ซึ่งมีความหมายถึง ‘คนรับใช้’ มากขึ้น (ถ้าไปดูคำว่า thegn ซึ่งเป็นศัพท์ในยุคเชคสเปียร์) จะพบว่ามีการจัดลำดับของคนรับใช้เอาไว้พิสดารมากๆ คือมีหลากหลายชั้น ลึกลงไปในหุบเหวแห่งชนชั้นอีกมากมาย

ดังนั้น churl ซึ่งเคยเป็นแค่ ‘คน’ ธรรมดาๆ ที่มีความเท่าเทียมเสมอภาคกัน (ในทางความหมายของคำ) เมื่อสังคมซับซ้อนขึ้น ก็เลยถูกกดลงมาเป็นไพร่ และเป็นคนรับใช้ต่ำชั้นในที่สุด

 

Villein

 

ในการปกครองแบบ serfdom ซึ่งเป็นการปกครองที่ระบบชนชั้นมีความต่ำสูงที่แข็งแรงมากๆ คนจะแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ หลายกลุ่มที่ซับซ้อน คำว่า serf หมายถึงเหล่าทาสติดที่ดินที่อาศัยทำกินบนที่ดินตั้งแต่บรรพบุรุษ ผูกติดกับที่ดิน โยกย้ายไปไหนไม่ได้ เพราะระบบการปกครองเป็นแบบนั้น ก็ต้องอยู่กันไปแบบนั้น

พวก serf แบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม เช่นถ้าดีหน่อยก็จะเป็น freemen หรือคนที่มีความเป็นอิสระในระดับหนึ่ง ได้เป็นเจ้าของที่ดิน (เล็กๆ) ของตัวเองที่สังกัดอยู่กับเจ้าที่ดินใหญ่อีกทีหนึ่ง (ซึ่งตรงกับ ‘ไพร่’ ในความหมายปัจจุบัน) หรือไม่ก็เป็นกลุ่มชนชั้นต่ำไปเลย เช่นพวก cotter หรือ slave คือเป็นทาสไปเลย

แต่กลุ่มที่น่าพูดถึงมากๆ ในที่นี้ คือกลุ่มที่เรียกว่า villein

villein ถือว่าเป็น serf ที่อยู่ในคลาสต่ำกว่า freemen แต่สูงกว่าพวก cotter หรือ slave (cotter มักหมายถึงพวกลูกๆ ของ villein)

พูดโดยรวมๆ พวก villein มีชีวิตที่ไม่ได้ยากลำบากอะไร เพราะเจ้าครองที่ดินจะเจียดที่ดินให้อยู่ พวกนี้ไม่มี ‘สำนึก’ ว่าตัวเองเป็นเจ้าของที่ดิน แต่จะได้ครอบครองที่ดินเล็กๆ เอาไว้ปลูกบ้าน โดยทั่วไปไม่ได้ถูกกดขี่อะไรนักหนา แต่จะถูกเกณฑ์ไปทำงานตามแต่เจ้าที่ดินจะต้องการ ส่วนใหญ่ก็ไปทำโน่นนี่ตามฤดูกาล

พวก villein (หรือ serf ทั้งหมด) จะคุ้นเคยกับการเสียภาษีรัชชูปการเป็นอันดี คือทำอะไรได้มาก็ต้องจ่ายภาษีผลิตผลที่ผลิตได้ให้กับผู้มีอำนาจที่ครอบครองที่ที่ตัวอยู่ ใช้แรงงานเท่าไหร่ก็ไม่อาจเป็นของตัวเองได้ เพราะที่ดินไม่ใช่ของตัวเอง ตามหลักการแล้ว แม้แต่เสื้อผ้าก็ไม่ใช่สมบัติของตัวเอง มีคำกล่าวว่าสิ่งเดียวที่พวก serf มีเป็นสมบัติ ก็คือ his own belly หรือเป็นเจ้าของก็แค่พุง (หรือร่างกาย) ตัวเองเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นเป็นของเจ้าที่ดินหมด ดังนั้น ไม่ว่าได้อะไรมา ก็ต้องเป็นของผู้มีอำนาจ แล้วผู้มีอำนาจถึง ‘แบ่ง’ ให้อีกทีหนึ่ง

พวก villein ก็จะยอมให้ผู้มีอำนาจเกณฑ์แรงงานมาขุดคูบ้าง สร้างสะพานบ้าง แล้วก็คิดว่าชีวิตของตัวเองดีขึ้นเพราะมีคนมาเกณฑ์ให้สร้างสาธารณูปโภคพัฒนาที่ดินต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า พวก serf (รวมถึง villein) จะมีชีวิตยากลำบาก เพราะบางคนก็สะสมทรัพย์สินได้ บางคนรวยกว่าคนอื่น แถมบางคนยังไต่บันไดทางสังคมจนเป็นขุนนางได้ด้วย

มีขุนนางอีกแบบหนึ่งที่มาจาก serf แต่ถือว่าเป็นขุนนางชั้นต่ำกว่า เรียกว่า ministeriales พวกนี้ไม่ถือว่าเป็นเสรีชน แต่ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่ทำอะไรบางอย่าง (เช่น คุมคนสร้างสะพาน) จึงมีอำนาจในระดับหนึ่ง แต่ทั้งในทางหลักการและโดยสำนึกแล้ว จะรู้ตัวอยู่ตลอดว่าไม่ได้เป็นอิสระในทางกฎหมายหรือเป็น legally free people คนเหล่านี้อาจจะได้คุม villein หรือ slave ไปทำงาน จึงเป็น serf ที่มีสถานภาพเหนือ serf ด้วยกันระดับหนึ่ง

พวก villein พบได้มากที่สุดในบรรดา serf ในยุคกลางของยุโรป คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มสำคัญมากๆ ที่ทำให้ระบบการปกครองแบบ Serfdom ดำเนินอยู่ได้อย่างแข็งแรง

 

กลับมาที่คำว่า ‘ไพร่’ ในสังคมไทยกันอีกที

จะเห็นได้ว่า คำว่า plebs, yeoman, churl, villein (หรือ ministeriales) ล้วนแต่ ‘อมความ’ ของความหมายแห่งคำว่า ‘ไพร่’ เอาไว้ทั้งนั้น

‘ไพร่’ ของเรา มีทั้งคนที่มีสำนึกว่าตัวเองเป็นอิสระ เป็นเสรีชน รวมถึงการใช้คำว่า ‘ไพร่’ ในเชิงด่าหรือกดคนอื่น รวมไปถึงคนที่มีความเป็น ‘ไพร่’ โดยไม่รู้ตัว เช่น คิดว่าตัวเองเป็นอิสระ แต่แท้จริงลึกๆ กลับมีสำนึกแบบ villein คือไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของที่ดินใดๆ ทุกอย่างเป็นของผู้มีอำนาจเหนือกว่า ดังนั้น คำว่า ‘ไพร่’ สั้นๆ จึงเต็มไปด้วยความหลากหลายใน ‘สำนึก’ มาก

แม้ในสังคมสมัยใหม่ มนุษย์ ‘ดูเหมือน’ มีอิสระที่จะเลื่อนชั้นทางสังคม หรือมี social mobility ได้มากกว่าสมัยก่อน แต่ก็ยังนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ในยุคสมัยนี้ คนทั่วไปที่เกิดมาเป็นไพร่ จะพ้นจากสถานะ ‘ไพร่’ ในความหมายของการเป็น ‘พลเมืองสามัญ’ ในสังคมไทยไปได้อย่างไร เพราะแม้ในกลุ่มที่มีสำนึกของความเป็น freeman แต่ก็คล้ายว่าคนส่วนใหญ่ของสังคมกลับถูกกักถูกล้อมอยู่ใน ‘คอก’ ของวิธีคิดและอุดมการณ์หลายมิติ จนอาจไม่สามารถโงหัวเพื่อโผล่พ้นความเป็น ‘ไพร่’ ขึ้นมาได้ ซ้ำร้ายกว่านั้นก็คือ โอกาสที่จะถูกกดถูกกระทืบให้ตกต่ำลงไปเป็น ‘ทาส’ ยังอาจมีมากกว่าเสียอีก ไม่ใช่ด้วยการใช้ปฏักหรือแส้เฆี่ยนตี ทว่าด้วยการล้อมกรอบของสภาพเศรษฐกิจ สังคม และการบังคับใช้ในทางกฎหมายที่เอื้อต่อคนบางกลุ่มไม่เอื้อต่อคนบางกลุ่ม จึงทำให้คนจำนวนมากร่วงหล่นจากความเป็นมนุษย์ได้ง่ายมาก

เราต่างเป็นไพร่กันทั้งนั้น แต่อาจต้องสำรวจกันหน่อย ว่าความหมายของความเป็นไพร่ในตัวเรานั้นเป็นอย่างไร และโอกาสที่ความหมายของความเป็นไพร่จะ ‘เลื่อนขึ้น’ หรือ ‘เลื่อนลง’ ในทางสังคมนั้น แบบไหนมีมากกว่ากัน

และมันเป็นแบบนั้นเพราะอะไร

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save