fbpx
สิเน่หาอาชญากรรม

สิเน่หาอาชญากรรม

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

 

ความหมายของความรักในกฎหมาย

 

“ความรักเป็นสิ่งที่เกิดจากใจไม่อาจบังคับกันได้ ความรักที่แท้จริงคือความปรารถนาดีต่อคนที่ตนรัก ความยินดีที่คนที่ตนรักมีความสุข การให้อภัยเมื่อคนที่ตนรักทำผิด และการเสียสละความสุขของตนเพื่อความสุขของคนที่ตนรัก จำเลยปรารถนาจะยึดครองผู้ตายเพื่อความสุขของจำเลยเอง เมื่อไม่สมหวัง จำเลยก็ฆ่าผู้ตาย เป็นความผิดและการกระทำที่เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ของจำเลยโดยฝ่ายเดียว มิได้คำนึงถึงจิตใจและความสุขของผู้ตาย หาใช่ความรักไม่” (คำพิพากษาฎีกาที่ 6083/2546)

‘ความรัก’ คืออะไร

การจะหาคำนิยามซึ่งสามารถครอบคลุมความหมายของ ‘ความรัก’ อย่างแน่ชัดอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความหมายของคำนี้อาจถูกพิจารณาจากมุมมอง จุดยืน ประสบการณ์ สถานะ ความเชื่อ อันแตกต่างกันไปอย่างหลากหลายของบุคคล ทำให้การนิยามความหมายซึ่งพอจะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปสามารถเผชิญข้อโต้แย้งได้

แน่นอนว่ากฎหมายไม่ได้ให้คำนิยามว่า ‘ความรัก’ หมายถึงสิ่งใด กระนั้น กฎหมายก็มีความสัมพันธ์กับความรักอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในท่ามกลางความสัมพันธ์ที่ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมที่แสดงให้เห็นว่าบุคคลสองคนมีลักษณะที่พิเศษแตกต่างไปจากความสัมพันธ์ของบุคคลทั่วไป การจำแนก/จัดกลุ่มของบุคคลที่เป็นสามีภรรยา คู่รัก ครอบครัว มีความแตกต่างจากความสัมพันธ์อื่นๆ ด้วยสิทธิ ภาระหน้าที่ และความรับผิดชอบบางอย่างที่เพิ่มขึ้น

รวมทั้งสถานะของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความรัก ไม่ว่าจะในรูปแบบของการเป็นแฟน คู่รัก สามีภรรยา อดีตสามีภรรยา สามารถกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งเมื่อเกิดข้อพิพาทจนเป็นประเด็นข้อถกเถียงในทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นการกระทำความผิดอันสืบเนื่องมาจากหรือเกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกที่เกี่ยวพันกับความรัก ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในปัจจุบันหรืออดีต ในรูปแบบทางการหรือไม่เป็นทางการก็ตาม

บทความนี้จะสำรวจความหมายของความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับความรักในมุมมองของฝ่ายตุลาการว่าให้คำอธิบายไว้อย่างไร การศึกษาในมุมมองลักษณะดังกล่าวนี้อาจยังไม่ปรากฏขึ้นอย่างกว้างขวางมากนัก จึงอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาถึงแนวคิดเกี่ยวกับชีวิตคู่ ครอบครัว เพศวิถีของฝ่ายตุลาการในฐานะปุถุชนกลุ่มหนึ่งซึ่งมีหน้าที่ในการชี้ขาดข้อพิพาทต่างๆ ว่า เมื่อวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท มุมมองต่อความสัมพันธ์ดังกล่าวนั้นถูกนำมาพิจารณาในลักษณะอย่างไร

 

เพศวิถีแบบ “วัวเคยขา ม้าเคยขี่”

 

การข่มขืนเป็นการกระทำความผิดประเภทหนึ่งที่มักเกิดขึ้นระหว่างชายหญิง ในกรณีที่มีการกล่าวหาว่าชายได้ข่มขืนกระทำชำเราหญิงนั้น ท่ามกลางการตระหนักถึงปัจจัยต่างๆ ในแต่ละคดีที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ในการตัดสินว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจของหญิงหรือเป็นการใช้อำนาจบังคับของชายโดยหญิงไม่ได้ยินยอมนั้น ปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากก็คือ การพิจารณาถึงความสัมพันธ์ของชายหญิงที่เป็นคู่กรณีว่าเป็นลักษณะใด

ความสัมพันธ์ระหว่างชายและหญิงในลักษณะของคู่รัก แฟน สามีภรรยา หรือเคยมีความสัมพันธ์กันเป็นพิเศษมาก่อน ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการวินิจฉัยความผิดเมื่อเกิดการกล่าวหาว่าได้มีการล่วงละเมิดทางเพศโดยไม่สมัครใจโดยเฉพาะกับฝ่ายหญิง หรือที่เรียกว่าเป็นความผิดในฐาน “ข่มขืนกระทำชำเรา”

ในข้อพิพาทหลายคดีที่ทางฝ่ายหญิงได้กล่าวหาชายว่าได้ทำการข่มขืนกระทำชำเราโดยที่ตนเองไม่ได้ยินยอมในการกระทำดังกล่าว ในการตัดสินว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจหรือไม่ ศาลได้ให้ความสำคัญว่าทั้งสองฝ่ายมีความสัมพันธ์ต่อกันในลักษณะเช่นใด

หากทั้งคู่มีความสัมพันธ์ในลักษณะที่เป็นพิเศษมากกว่าคนรู้จักกัน  เมื่อ “สังเกตเห็นความสัมพันธ์ของผู้เสียหายและจำเลยแล้ว ต่างเป็นคนใกล้ชิดสนิทสนมเป็นไปในลักษณะของคนรักกัน” (ฎ. 2238/2537) ศาลก็มีแนวโน้มที่จะพิจารณาว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นไปในลักษณะของความยินยอมมากกว่า ยิ่งหากพิสูจน์หรือเป็นที่ยอมรับกันระหว่างทั้งสองฝ่ายว่าเคยได้เสียกันมาก่อนด้วยความยินยอมของฝ่ายหญิง ก็จะยิ่งทำให้มุมมองของศาลต่อเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นไปในลักษณะที่เป็นเรื่องความสมัครใจเฉกเช่นที่เคยเป็นมา

“ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้เสียหายเคยได้เสียกับจำเลยด้วยความสมัครใจของผู้เสียหายมาก่อนแล้ว และการที่ผู้เสียหายไม่ยอมกลับบ้านพร้อมกับ ร. โดยให้ ร. กลับบ้านไปก่อน ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็นต้องไปกับจำเลยนั้น แสดงว่าผู้เสียหายมีอุบายที่จะกลับบ้านพร้อมกับจำเลยมากกว่า จากพฤติการณ์ดังกล่าวจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้มีดจี้คอผู้เสียหายพาไปข่มขืนกระทำชำเรา แต่เกิดจากความสมัครใจยินยอมของผู้เสียหายให้จำเลยกระทำชำเราเอง” (ฎ. 4465/2530)

ความสัมพันธ์อันเป็นภูมิหลังระหว่างชายและหญิงจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อการเชื่อมโยงมาสู่การให้ความหมายกับความสัมพันธ์ที่กลายเป็นข้อพิพาท คำพิพากษาของศาลมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าเมื่อชายและหญิงได้เคยมีความสัมพันธ์กันมาแล้ว ก็ย่อมเป็นไปได้ที่ทั้งคู่จะกลับมามีอะไรๆ กันอีกครั้งหนึ่ง เฉกเช่นเดียวกันกับคำพังเพยโบราณที่ว่า “วัวเคยขา ม้าเคยขี่”

ก็ในเมื่อเคยมีอะไรกันมาสักครั้งแล้ว ถ้าจะมีอะไรอีกสักครั้งก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดเกินความคาดหมายแต่อย่างใด

นอกจากความสัมพันธ์ในลักษณะของคนรักที่มีผลต่อการให้ความหมายถึงความสัมพันธ์ทางเพศในกรณีที่เกิดการโต้แย้งเรื่องข่มขืนแล้ว ก็ยังอาจเกี่ยวโยงไปถึงการกระทำความผิดอื่นๆ ได้อีกเช่นกัน

ดังกรณีที่ชายหญิงเคยอยู่กินเป็นสามีภรรยา แต่ต่อมาภายหลังได้แยกกันอยู่ เมื่อฝ่ายชายได้ใช้กำลังบังคับฝ่ายหญิงให้กลับไปอยู่ด้วยกัน ซึ่งหากเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นกับบุคคลอื่นๆ แล้ว ฝ่ายชายก็อาจมีความผิดหน่วงเหนี่ยวกักขังตามกฎหมายอาญาได้ แต่ในกรณีนี้ศาลเห็นว่า

“จึงอาจเป็นกรณีที่จำเลย (ชาย) กระทำไปโดยเข้าใจผิดว่า จำเลยมีสิทธิกระทำได้กับภริยาซึ่งมีบุตรด้วยกัน” (ฎ. 430/2532)

การกระทำของชายจึงไม่เป็นความผิดแต่อย่างใด

แม้แต่ในกรณีที่ชายและหญิงไม่ใช่สามีภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เพียงแต่เคยมีความสัมพันธ์ทางเพศด้วยกัน แต่ฝ่ายหญิงแยกตัวไปอยู่ที่อื่น ต่อมาฝ่ายชายพบกับฝ่ายหญิง แล้วฉุดให้หญิงมาอยู่กินด้วยกันตามเดิม ในคดีนี้ทางศาลฎีกาได้ยกฟ้องความผิดของฝ่ายชายในฐานฉุดคร่าและหน่วงเหนี่ยวกักขัง ด้วยการให้เหตุผลว่า

“จำเลย (ชาย) เข้าใจโดยสุจริตว่าผู้เสียหายเป็นภริยาจำเลย” (ฎ. 642/2489)

ความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงในลักษณะที่เคยอยู่กินร่วมกันหรือได้จดทะเบียนสมรส กลับกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการพิจารณาถึงการกระทำของฝ่ายชาย หากมีการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดต่อกฎหมาย

 

เพราะรักจึงฆ่า เพราะเมตตาจึงทำลายล้าง

 

ความรักไม่ได้มีเฉพาะด้านของความปรารถนาดีหรือความยินดีเมื่อยามที่คนรักมีความสุขเท่านั้น แต่ความรักก็มีความคาดหวังและบรรทัดฐานบางอย่างซึ่งเป็นที่เข้าใจกันว่าบุคคลซึ่งเป็นคู่รักหรือสามีภรรยาควรต้องปฏิบัติตาม

การกระทำที่ข้ามเส้นของความคาดหวังของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาจนำมาซึ่งความเจ็บปวดและความสูญเสีย รวมถึงอาจกลายเป็นความผิดที่ต้องได้รับโทษตามกฎหมายติดตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการมีเพศสัมพันธ์นอกสถาบันการสมรสของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่มักเป็นเหตุอันนำมาซึ่งการทำร้ายหรือการฆาตกรรม แม้การกระทำเช่นนั้นจะเป็นความผิดก็ตาม แต่ในการตัดสินของศาลก็ให้เหตุผลต่อการวินิจฉัยไว้อย่างน่าสนใจ

ดังเช่นเมื่อสามีกลับบ้านพบภรรยากับชายอื่นกำลังมีเพศสัมพันธ์กัน สามีพังประตูและชายชู้วิ่งหนีจากห้อง สามีใช้ปืนยิงชายชู้จนหมดกระสุน 5 นัด ใช้พร้าฟันภรรยาเป็นแผลฉกรรจ์ 3 แผล บาดเจ็บ 9 แผล ในการพิจารณาคดีนี้ศาลให้ความเห็นว่า “แสดงว่าฟันอย่างไม่ไว้ชีวิต ตั้งใจฆ่าโดยไม่ต้องสงสัย ภรรยาจำเลยก็ตายในขณะนั้นเอง” การกระทำของชายผู้เป็นสามีย่อมเป็นการกระทำความผิดฐานฆ่าคนตายอย่างชัดเจน หากแต่เมื่อพิจารณาถึง “สาเหตุ” ที่นำไปสู่การกระทำดังกล่าว ศาลก็ให้ความเห็นว่า

“เป็นการกระทำเพราะถูกกดขี่ข่มเหงอย่างร้ายแรง โดยมิเป็นธรรมและบันดาลโทสะกระทำขึ้นในขณะนั้น เรียกได้ว่ากระทำผิดโดยถูกยั่วโทสะ” (ฎ. 1390/2493)

อีกกรณีหนึ่ง สามีมาพบภรรยากำลังทำชู้ในห้องครัว ทางด้านชู้หลบหนีไป สามีจึงเข้าไปด่าว่าและตบตีภรรยา แต่ภรรยาต่อสู้ สามีจึงโกรธและใช้ไม้ตีภรรยาจนถึงแก่ความตาย ในคดีนี้ศาลมีความเห็นว่าภรรยาและชายชู้ “ได้ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม” และเมื่อสามีว่ากล่าวตบตี ทางด้านภรรยากลับต่อสู้ การกระทำของภรรยาในลักษณะเช่นนี้ “ย่อมเป็นเหตุให้จำเลย (สามี) บันดาลโทสะในเหตุนั้นยิ่งขึ้น จำเลยจึงใช้ไม้ฟืนตีผู้ตายจนถึงแก่ความตาย” (ฎ. 551/2509)

คำพิพากษาในทั้งสองคดีนี้ แม้ศาลจะตัดสินว่าสามีได้กระทำความผิดตามกฎหมาย แต่ก็เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นด้วยเหตุ “บันดาลโทสะ” ซึ่งตามกฎหมายแล้ว หากบุคคลใดกระทำความผิดด้วยการอ้างถึงเหตุบันดาลโทสะ และศาลเห็นพ้องว่าเป็นผลมาจากเหตุดังกล่าวจริงก็จะสามารถพิจารณาลดโทษให้กับผู้กระทำได้  ในทั้งสองคดีนี้ ศาลได้ตัดสินลงโทษแก่ชายผู้เป็นสามีด้วยโทษจำคุกเพียง 5 ปี แม้จะเป็นการกระทำที่เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตก็ตาม

คำวินิจฉัยของศาลในคดีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจว่าเมื่อชายหญิงดำรงอยู่ในความสัมพันธ์แบบสามีภรรยา ก็จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งมีความชอบธรรมเหนือการกระทำทางเพศของอีกฝ่ายหนึ่ง โดยเฉพาะหากฝ่ายหญิงได้ไปมีเพศสัมพันธ์นอกสถาบันการสมรสแล้ว ก็จะถือว่าเป็น “การข่มเหงอย่างร้ายแรง” ต่อฝ่ายชาย

เส้นแบ่งของการข่มเหง อันทำให้ชายสามารถ “บันดาลโทสะ” ไม่ได้จำกัดอยู่ในกรอบเฉพาะเมื่อฝ่ายหญิงมีเพศสัมพันธ์นอกสถาบันการสมรสเท่านั้น แม้การกระทำบางอย่างของหญิงที่เกี่ยวเนื่องกับความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ ในอดีตก็สามารถกลายเป็นเหตุของการบันดาลโทสะได้เช่นกัน ดังกรณี ดร.ฆ่าเมีย ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจารย์ชายของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งถูกฟ้องเป็นจำเลยในข้อทำร้ายร่างกายภรรยาเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายที่เป็นเรื่องโด่งดังในช่วง พ.ศ. 2545

ในคดีนี้ ทางจำเลยได้ให้การรับสารภาพว่ากระทำการดังกล่าวจริง แต่ได้ต่อสู้ว่า “กระทำไปโดยบันดาลโทสะ” อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากภรรยาไปรับตนเองจากที่ทำงานช้า ในระหว่างเดินทางกลับมาจนถึงบ้านพักก็ได้เกิดการโต้เถียงกันอย่างรุนแรง เนื่องจากจำเลยได้ทราบว่าภรรยาได้ไปพบกับแฟนเก่าจึงทำให้ไม่สามารถมารับตนได้ตามเวลา เขาจึง “ได้ใช้กำลังกายชก ต่อย ตบ เตะ และใช้ของแข็งไม่มีคมทำร้ายภรรยาจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย” (สำหรับของแข็งไม่มีคมนั้นในตอนแรกมีการลงข่าวว่าเป็นไม้ตีกอล์ฟ แต่ในการฟ้องระบุว่าเป็นร่ม)

แม้ศาลจะได้ตัดสินว่าจำเลยมีความผิดตามที่ถูกฟ้อง แต่ก็ได้ให้เหตุผลประกอบถึงการกระทำความผิดของจำเลยว่า

“กระทำความผิดเนื่องจากอารมณ์โทสะที่เกิดขึ้นในชั่วขณะหนึ่ง และได้รับผลจากการกระทำโดยสูญเสียผู้ตายซึ่งเป็นภริยาที่จำเลยรัก ประกอบกับจำเลยเป็นผู้มีการศึกษาสูงและเคยเป็นอาจารย์สอนนักศึกษาที่ … สามารถใช้ความรู้สอนนักศึกษาหรือปฏิบัติงานด้านวิชาการอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติได้ และยังมีภาระต้องดูแลบุตรซึ่งอายุยังน้อย” (ฎ. 7663/2548)

สุดท้ายศาลได้ตัดสินลงโทษจำคุกสี่ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษเหลือสองปี รวมทั้งจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับเหตุผลข้างต้นจึงให้รอการลงโทษไว้เป็นเวลาสามปี โดยกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณะประโยชน์เป็นเวลา 50 ชั่วโมง

การวินิจฉัยในแนวทางดังกล่าวดูราวกับจะขัดแย้งกับความหมายที่คำวินิจฉัยของศาลได้เคยอธิบายว่าความรักหมายถึง “การให้อภัยเมื่อคนที่ตนรักทำผิดและการเสียสละความสุขของตนเพื่อความสุขของคนที่ตนรัก” เห็นได้ชัดเจนว่า การกระทำของจำเลยไม่เพียงไม่ให้อภัยต่อการไปรับตนเองจากที่ทำงานช้าเท่านั้น หากยังเป็นการทำร้ายร่างกายอีกฝ่ายจนกระทั่งถึงแก่ความตาย แต่คำวินิจฉัยก็ได้แสดงความเห็นอกเห็นใจทางฝ่ายจำเลย เนื่องจากสูญเสียภรรยาอันเป็นที่รักไปอีกด้วย นิยามความรักที่ได้เคยมีการวินิจฉัยจึงดูจะไม่สอดรับกับคำวินิจฉัยในคดีนี้แต่อย่างใด

คำตัดสินในคดีนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากสาธารณะอย่างกว้างขวาง ทางอัยการก็ได้มีการอุทธรณ์ จนกระทั่งขึ้นชั้นศาลฎีกา สุดท้ายก็ได้มีคำพิพากษาของศาลฎีกายืนตามคำตัดสินของศาลชั้นต้น ทำให้การโต้แย้งทางกฎหมายก็เป็นอันยุติลง

ทางด้านของฝ่ายจำเลยได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ภรรยาที่เสียชีวิตไปยังรักมากที่สุดเหมือนเดิม และทุกวันนี้ไม่ได้เล่นกอล์ฟแล้ว”

หากพิจารณาให้กว้างขวางมากขึ้น ก็จะพบว่าคำวินิจฉัยคดีนี้เป็นการยืนยันอย่างชัดเจนอีกครั้งหนึ่งว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงที่เป็นสามีภรรยานั้นมีกรอบมาตรฐานบางอย่างซึ่งถูกนำมากำกับความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ทำการข้ามเส้นมาตรฐานออกไปก็อาจทำให้อีกฝ่ายสามารถที่จะ “บันดาลโทสะ” ได้ถูกต้องตามกฎหมาย

ประเด็นสำคัญก็คือ สำหรับกรณี ดร.ฆ่าเมียยังไม่ได้มีการข้ามเส้นของการมีเพศสัมพันธ์นอกสถาบันการสมรส กระนั้นก็ตาม ในมุมมองของศาลก็ให้การยอมรับว่าเป็นโทสะที่อาจเกิดขึ้นได้ นั่นหมายความว่า เส้นแห่งการบันดาลโทสะในความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาได้ขยายออกกว้างขวางมากขึ้นกว่าเดิมใช่หรือไม่ และถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงจะถือว่าเป็นว่าแนวโน้มที่ควรจะเป็นใช่หรือไม่

 

รักในกฎหมาย รักในความเป็นจริง

 

เราแต่ละคนอาจนิยามความหมายของความรักแตกต่างกัน ใครที่ไม่เห็นด้วยก็อาจถกเถียง แลกเปลี่ยน วิวาทะ หรือในที่สุดก็อาจเดินหนีจากไป หากเห็นว่ามุมมองต่อความรักของเรามีความแตกต่างกันอย่างมาก และไม่จำเป็นต้องบีบบังคับให้ทุกคนเข้ามาอยู่ในมุมมองแบบเดียวกัน

แต่มุมมองของฝ่ายตุลาการในรูปแบบการใช้ชีวิต พฤติกรรมและความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกับความรักมีความสำคัญอย่างมากต่อวิถีชีวิตของผู้คนทั่วไป เนื่องจากเป็นมุมมองที่มีอำนาจอย่างเป็นทางการกำกับอยู่ โดยเฉพาะเมื่อความรักได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นข้อพิพาททางกฎหมาย การให้คำอธิบายและความเข้าใจของบุคคลที่มีหน้าที่ชี้ขาดว่าการกระทำใดๆ จะเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายหรือไม่ หรือเป็นความผิดต่อกฎหมายที่ควรได้รับการให้อภัยอย่างยิ่ง หรือว่าการกระทำนั้นๆ ไม่ละเมิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด จึงมีความหมายต่อการกระทำและผลที่ตามมาอย่างยิ่ง

ด้วยมุมมองแบบหนึ่ง อาจทำให้การกระทำบางอย่างเป็นความผิด แต่ด้วยมุมมองที่แตกต่างกันก็อาจทำให้การกระทำนั้นๆ ไม่เป็นความผิด มุมมองที่ควบคู่ไปกับอำนาจแห่งการชี้ขาดถูกผิดจึงควรต้องถูกตรวจสอบและตั้งคำถามว่าเป็นมุมมองที่สอดคล้องกับความเข้าใจของผู้คนอื่นๆ หรือไม่ ดำเนินไปในทิศทางที่โลกแห่งความเป็นจริงกำลังหมุนอยู่หรือไม่ และเป็นมุมมองที่สร้างความเป็นธรรมให้กับผู้คนแต่ละฝ่ายในความสัมพันธ์ของความรักหรือไม่

นิยามเกี่ยวกับ ‘ความรัก’ ที่มีอำนาจอย่างเป็นทางการกำกับอยู่นี้ กำลังดำเนินไปในทิศทางที่ห่างไกลไปจากโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้นใช่หรือไม่

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save