fbpx
‘กฎ’ ของการ ‘กดปุ่ม’ : ท่องจักรวาลไร้ขัดแย้งในวัฒนธรรมดิจิทัล กับ เมธาวี โหละสุต

‘กฎ’ ของการ ‘กดปุ่ม’ : ท่องจักรวาลไร้ขัดแย้งในวัฒนธรรมดิจิทัล กับ เมธาวี โหละสุต

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

คำพูดที่ว่า “โลกทั้งใบอยู่ที่ปลายนิ้ว” กลายเป็นคำเกร่อหูไปแล้วในยุคที่ทุกคนมีโทรศัพท์เป็นอวัยวะที่ 33 แต่เมื่อมองลงไปให้ลึกใต้ความหมายของวลีนี้ ก็น่าตั้งคำถามว่า ปลายนิ้วของเรามีพลังอำนาจมากแค่ไหนกัน

ผศ.เมธาวี โหละสุต อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือคนที่สนใจประเด็นนี้อย่างจริงจัง เขาสนใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับอุปกรณ์ดิจิทัล และศึกษาวัฒนธรรมดิจิทัลเพื่อทำความเข้าใจมนุษย์กับข้อมูลสมัยใหม่

ความสนใจนี้ถูกขยายกลายเป็นรายการพอดแคสต์ ‘กด’ ที่ใส่ใจกับ ‘ปุ่มกด’ จุดเริ่มต้นของการเปิดเข้าสู่เรื่องราวใหม่ๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการกดปุ่มพาวเวอร์ หรือกดปุ่มบนแป้นพิมพ์ก็ตาม โดยเล่าเรื่องเชื่อมโยงทั้งปรัชญา วรรณกรรม และการทำงานของอัลกอริธึม

นอกจากเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับอุปกรณ์แล้ว เมธาวียังเฝ้ามองความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ในโลกโซเชียลมีเดียที่เขามองว่าเป็นโลกราบเรียบไร้ความขัดแย้ง คำถามคือ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่ร้อนแรงในปัจจุบัน โลกโซเชียลฯ เป็นสนามต่อสู้ได้จริงหรือไม่

101 ชวนเมธาวีคุยตั้งแต่เรื่องพอดแคสต์ว่าด้วยปุ่มกด ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกดิจิทัล การเคลื่อนไหวทางการเมืองในโซเชียลฯ พระเจ้าที่ชื่อว่าอัลกอริธึม และจักรวาลคู่ขนานในโลกออนไลน์

ถ้าพร้อมแล้ว โปรดเลื่อนปลายนิ้วเพื่ออ่าน

 

จุดเริ่มต้นของการทำรายการพอดแคสต์ ‘กด’ คืออะไร สิ่งที่คุณสนใจอยู่เรียกว่าอะไร

ผมสนใจเรื่อง interface criticism หรือการวิจารณ์โสตประสาทผู้ใช้ ไอเดียเริ่มเลยคือผมสนใจเรื่องวัฒนธรรมดิจิทัล คือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับข้อมูลสมัยใหม่ หรือบทบาทของร่างกายมนุษย์กับแอปพลิเคชัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังไม่ค่อยมีใครทำทั้งในไทยและอเมริกา ผมมานั่งคิดดูว่า เวลาที่เราบอกว่าเราอยู่ในโลกดิจิทัล แปลว่าอะไรกันแน่ และเงื่อนไขเป็นอย่างไร

ผมโตมาในโลกที่เป็น physical media สมัยผมเรียน ม.ปลาย ยังมีวิชาพิมพ์ดีดอยู่ เขาให้เรียนกับเครื่องพิมพ์ดีดจริงๆ สิ่งที่ทำให้การพิมพ์ดีดแตกต่างจากการพิมพ์บนหน้าจอคอมพิวเตอร์คือ haptic feedback เช่น เวลาเราพิมพ์ดีด ปุ่มพิมพ์ดีดจะดีดกลับมา มีคานไปพิมพ์ตัวอักษรบนกระดาษ เกิดเป็นเสียงแต๊กๆๆ ผมก็สนใจประเด็นนี้มากว่า เวลาที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับอุปกรณ์ดิจิทัล ฟีดแบ็กเหล่านี้จำลองทั้งหมดเลย เช่น เวลาคุณกดคีย์บอร์ดไอโฟนจะมีเสียงดังแต๊กๆๆ เหมือนกัน แต่เป็นเสียงจำลอง

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เวลาเราพูดถึงดิจิทัล เรามักจะไปโฟกัสที่เนื้อหาของข้อมูลหรือผลกระทบของมัน เช่น ใช้แกร็บแล้วทำให้ชีวิตดีขึ้นอย่างไร แต่เราไม่ได้คิดถึงว่าผู้ใช้มีปฏิสัมพันธ์กับข้อมูลผ่านหน้าจออย่างไร ซึ่งเครื่องมือหนึ่งในการอ่านวัฒนธรรมก็คือมือของเราแหละ เพราะเวลาเราจะใช้คีย์บอร์ดเราก็ต้องกด จะเรียกแกร็บส่งอาหารก็ต้องกด ซึ่งผมรู้สึกว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกดิจิทัลแตกต่างไปจากโลกสื่อกายภาพก็คือ นิ้วของเรามีบทบาทขึ้นมากๆ ผมเลยสนใจว่า ยังมีช่องว่างในเชิงวิชาการที่เราสามารถอ่านบทบาทของนิ้วเรากับข้อมูลหรือเครื่องมือดิจิทัลที่อยู่ในชีวิตได้ไหม

 

วัฒนธรรมดิจิทัล (Digital Culture) ที่คุณสนใจคืออะไร เนื้อหาพูดถึงอะไรบ้าง

วัฒนธรรมดิจิทัลคือวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นมาบนสื่อสมัยใหม่ สื่อใหม่มีสถานะที่ไร้รูปลักษณ์ทางกายภาพมากขึ้น แทนที่เราจะบอกว่าเป็นดิจิทัลโดยสมบูรณ์ เราเรียกว่ามันมีรูปลักษณ์ที่ไม่เจาะจงมาก

สิ่งที่เราสนใจเป็นพิเศษไม่ใช่ตัวเนื้อหาของวัฒนธรรมเองหรอก นักศึกษาหลายคนอาจสนใจว่าใครอ่านใครเขียนนิยายวายบ้าง เนื้อหาเป็นอย่างไร มีภาพแทนของเพศสภาพต่างๆ ครบหรือเปล่า ซึ่งถามว่านี่เป็นวัฒนธรรมดิจิทัลไหม ก็เป็น แต่เป็นการศึกษาในเชิงเนื้อหา ส่วนผมสนใจปฏิสัมพันธ์ที่ร่างกายมนุษย์มีต่อรูปแบบหรือสื่อดิจิทัลพวกนี้ ตอนที่เราบอกว่าอ่านจอยลดา เราไม่ได้สนใจว่าเนื้อหาเป็นอย่างไรหรอก เราสนใจว่ามนุษย์อ่านกันอย่างไร กดเร็วแค่ไหน กดอย่างไร กดตอนไหน เงื่อนไขของการกดคืออะไร

เทอมที่แล้ว มีนักศึกษาผมทำโปรเจ็กต์ประเด็นที่ว่า เวลาเราดูคนสตรีมเกม สถานะของเราคืออะไร เรากำลังดูคนแสดงอยู่รึเปล่า แล้วเมื่อเขาสตรีมเกมให้เราดู เขาแสดงบทบาทเป็นอะไรกันแน่ เป็นตัวเขาจริงๆ รึเปล่า หรือเขากำลังเล่นบทบาทคนอื่น หรือแม้แต่ตอนที่ผมไปบรรยายเรื่อง interface นักศึกษาก็จะสนใจมากว่า กลไกการเข้ามาควบคุมบังคับเวลาให้เราใช้แอปฯ ทำงานอย่างไรกันแน่

 

นอกจากฝั่งของผู้ใช้งานแล้ว เราจะเห็นว่าในการออกแบบอุปกรณ์ดิจิทัลทุกวันนี้ พยายามจำลองสัมผัสให้หลากหลายมากขึ้น เช่น เราสามารถตั้งค่าน้ำหนักการกดปุ่มโฮมของไอโฟนได้ เขาสร้างสิ่งเหล่านี้ไปเพื่ออะไร

คำตอบง่ายๆ เลยก็คือ เขาอยากสร้างความเป็นมนุษย์ให้เทคโนโลยีเหล่านี้ ถ้าตามไอเดียของเรเชล พลอตนิก (Rachel Plotnick) เขาก็บอกว่า สัมผัสที่ยืนยันความเป็นมนุษย์ก็คือสัมผัสจากนิ้วนี่แหละ พลอตนิกเสนอว่า คนมักจะมองว่าลายนิ้วมือเป็นสิ่งที่ยืนยันตัวตนของเรา แต่ก่อนที่จะไปคิดถึงลายนิ้วมือ เราก็ต้องคิดถึงสัมผัสก่อน เช่น เราสามารถบอกตัวตนของผู้สัมผัสและบอกอารมณ์ของคนที่มาสัมผัสเราได้  อย่างสัมผัสของแฟน ถ้าเขามาโอบไหล่หรือกอดเรา เรารู้สึกได้ว่าเขากำลังให้ความรักเราอยู่นะ หรือถ้าเพื่อนเอามือมาแตะบ่าตบไหล่ เราก็จะบอกได้ว่าคนคนนี้จัดวางความสัมพันธ์ของเขากับเราอย่างไร พลอตนิกเสนอว่า สิ่งนี้แสดงให้เห็นมิติของความเป็นมนุษย์ เพราะมีความหลากหลายในสัมผัสของเรา แล้วสัมผัสสามารถบอกความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันได้ หรือช่วยจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสังคมได้

อุปกรณ์พวกนี้ต้องการจะรักษาอุดมการณ์ความเป็นมนุษย์เอาไว้ ถามว่าเครื่องจักรแคร์ไหมว่าเราจะแตะมันลึกหรือตื้น มันไม่สนใจหรอก แต่ถ้าสิ่งที่เราสัมผัสราบเรียบไปหมด อุปกรณ์ก็ดูแปลกแยก ดูไม่เป็นคน ไม่ใช่สิ่งที่น่าแตะ เพราะฉะนั้นถ้าเรายกตัวอย่างจากคำโฆษณาของแอปเปิล เขาก็จะบอกผู้ใช้เสมอว่า อุปกรณ์ของเขามหัศจรรย์นะ ทำนู่นทำนี่ได้ ไม่พอนะ มันยังทำให้คุณรู้สึกว่า คุณเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับข้อมูลที่อยู่บนจอ ถ้าไม่มีฟังก์ชันเหล่านี้ อุปกรณ์อันนี้ก็จะไม่ใช่เครื่องมือสื่อสารความเป็นมนุษย์ แต่จะเป็นแค่เครื่องจักร

ในเวลาเดียวกัน ลักษณะการออกแบบนี้ก็มีข้อเสียเหมือนกัน คือต่อให้มันพยายามขายความเป็นมนุษย์ให้เราเท่าไหร่ ก็ยังค่อนข้างมีความเป็นมนุษย์ที่ปลอมๆ พอสมควร เช่น เวลาที่เราสั่งอาหารเดลิเวอรี ด้วยความที่การแสดงผลในหน้าจอทำให้เราไม่ต้องไปปฏิสัมพันธ์กับใคร ไม่ต้องกดโทรศัพท์รอเสียงสัญญาณว่าจะมีใครรับไหม เลยทำให้เรารู้สึกว่าคนที่มาส่งอาหารให้เราก็เป็นเครื่องจักรเหมือนกัน ถ้าโชคดีหน่อย การสั่งอาหารมักจะไม่ค่อยมีปัญหา ฉันกดปุ่มสั่งอาหาร รอไปอีกสักพักก็จะมีคนส่งอาหารมาให้ แต่สิ่งที่หายไปในกระบวนการนี้ก็คือ เราไม่แน่ใจว่า ตอนนี้คนขับอยู่ที่ไหน มีประสบการณ์อย่างไรในการทำงาน รวมถึงเราไม่เห็นกระบวนการทำอาหารด้วย เราไม่รู้เลยว่าอาหารนี้ส่งมาจากที่ที่เราสั่งไปจริงรึเปล่า เพราะเราไม่เห็นอะไรเลย ไม่มีแรงต้าน ไม่มีฟีดแบ็กอะไรกลับมาในเชิงกายภาพ หรือถ้ามี เราก็ไม่จำเป็นต้องรับไว้ก็ได้

ในทำนองเดียวกัน แกร็บก็สามารถทำร้ายเราได้ง่ายๆ โดยการกดปุ่มแคนเซิล เราจะทำอะไรเขาได้นอกจากรีพอร์ตเขา แล้วเราก็ไม่รู้ว่าหลังจากเรารีพอร์ตเขา คนคนนี้จะได้รับโทษจริงรึเปล่า แต่ภาพที่ปรากฏบนหน้าจอทำให้เรารู้สึกว่ามีอะไรสักอย่างเกิดขึ้นแหละ แต่เราไม่แน่ใจนะว่าเกิดขึ้นจริงไหม

 

สมมติว่าต่อไปเราไม่เห็นคนทำอาหารแล้ว ไม่ต้องเดินเข้าไปนั่งจองโต๊ะ นั่งรอที่บ้าน มีคนเอาอาหารมาให้โดยดำเนินการผ่านกระบวนการทางดิจิทัล รวมถึงกระบวนการอื่นๆ ในโลกดิจิทัลที่ผู้ใช้แทบไม่เห็นกระบวนการเบื้องหลัง จะส่งผลอะไรกับความรู้สึกนึกคิดหรือวิธีมองโลกของเราบ้างไหม

มันจะไปตอกย้ำความไม่เท่าเทียมทางสังคม สัญญาที่แอปพลิเคชันพวกนี้ให้กับเราเสมอก็คือ เราจะตอบสนองความต้องการและบริการคุณ โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องรู้ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ซึ่งตรงนี้เหมือนกำแพงล่องหนที่แปลกแยกเราออกจากกระบวนการผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ

เราแทบจะไม่เห็นเบื้องหน้าเบื้องหลังเลย เราแค่มีความรู้สึกว่ากดเพิ่มสิ่งของใส่ในรถเข็นในแอปพลิเคชันช้อปปิ้ง รออีกสักพักก็จะมีสินค้าปรากฏให้เรา ทุกอย่างดูล่องหนไปหมด ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราไม่เห็นสภาวะความเป็นจริงของความไม่เท่าเทียมกันของสังคมได้ อันนี้คือสมมติฐานที่เลวร้ายที่สุดนะครับ ในแง่ที่ว่าถ้าคุณใช้แอปพลิเคชัน แล้วคุณรู้สึกว่าชีวิตของคุณดี คุณแฮปปี้ที่จะกดแล้วใช้ไปเรื่อยๆ ก็มีความเป็นไปได้ว่าคุณไม่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับหน่วยอื่นในการผลิตเลย

สิ่งที่ปรากฏบนหน้าจอของเราจะตอกย้ำสภาวะของความราบเรียบอยู่เสมอ ไม่มีจุดขัดแย้ง ไม่มีปฏิสัมพันธ์ เราไม่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับอะไรก็ได้ ขอให้สิ่งที่เรากดบนหน้าจอทำอย่างที่เราต้องการ

 

ถ้าขยับมามองที่โลกโซเชียลมีเดีย คุณมองเห็นปรากฏการณ์อะไรที่เกิดขึ้นบ้าง โดยเฉพาะเมื่อโซเชียลมีเดียถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนรุ่นใหม่

ผมวิเคราะห์จากความสามารถของคุณประยุทธ์ ถ้าจำไม่ผิด ทีมงานเคยปริ้นต์เฟซบุ๊กให้เขาอ่าน เวลาคุณประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ เขาก็จะบอกว่าในโลกออนไลน์มีคนด่าคนชมคละๆ กันไป ซึ่งสำหรับคนที่อยู่ในโลกออนไลน์นานพอ สิ่งที่เรากลัวที่สุดคือกลัวมีคนด่า เพราะเมื่อไหร่ที่คนด่าเรา หมายความว่าเรามีเปอร์เซ็นต์สูงที่จะไม่มีพื้นที่ยืนอยู่ในนี้

ในประเด็นคุณประยุทธ์ ถ้าเราอนุมานจากที่เขาปริ้นต์เฟซบุ๊กโพสต์มาอ่าน เขามองว่าข้อมูลในโซเชียลมีเดียคือสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทหนึ่ง พื้นที่ออนไลน์ก็คงเหมือนหนังสือ หรือจดหมายจากผู้อ่านหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีคนด่าหรือติติงไป ตรงนี้ทำให้เราเห็นว่าโลกออนไลน์ที่คุณประยุทธ์เห็นกับโลกออนไลน์ที่เราอยู่แตกต่างกันมาก เพราะโลกออนไลน์ที่เราอยู่ไม่ใช่สื่อสิ่งพิมพ์ แต่มีภาพ มีม เรื่องตลก สื่อบันเทิง และมลพิษอยู่มหาศาล ซึ่งอันนี้คือความแตกต่างในประสบการณ์ของผู้ใช้ ผมเชื่อว่าคุณประยุทธ์จะไม่มีทางมองเฟซบุ๊กเหมือนเรา สื่อออนไลน์สำหรับเขาเป็นส่วนขยายของสื่อสิ่งพิมพ์เฉยๆ

ในเชิงการเมืองของไทย โชคดีมากที่พลังในการทวีตหรือการโพสต์ของเราสามารถแปลงออกมาเป็นการกระทำในโลกออฟไลน์บางอย่างได้ เป็นกิจกรรมที่เราทำในชีวิตจริง แต่สิ่งที่น่ากังวลก็ยังมีอยู่ เช่น ข้อความที่อยู่ในนั้นมีทิศทางเดียวกันหมด แล้วก็น่าตั้งคำถามว่า ถ้าทุกคนโพสต์เหมือนกันหมด ข้อความนั้นจะยังมีคุณค่ารึเปล่า ก็คงมีแหละ ในแง่ที่ทำให้เราเห็นว่ามันเป็นฉันทมติอย่างไม่เป็นทางการของผู้ใช้ ซึ่งไม่แน่ใจว่าผู้ใช้จะเป็นคนจริงๆ ได้ไหม แต่ในบริบทของเครื่องมืออันนี้ มีการลงมติที่ชัดเจนมากๆ และพลังงานส่วนนี้ถูกแปลงไปเป็นการกระทำในโลกจริง

 

มีคำพูดที่ว่าในโลกโซเชียลฯ มีจักรวาลคู่ขนานอยู่ เช่น กลุ่มคนที่เชื่อต่างกัน ก็จะอยู่คนละกลุ่ม ได้อ่านโพสต์คนละแบบ และยังมีคอมเม้นต์ที่แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว ราวกับว่าไม่ได้อยู่ในสังคมเดียวกัน คุณมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร

ในพื้นที่ของโซเชียลมีเดีย การมีโลกคู่ขนานถือเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบเพลตฟอร์มเหล่านี้อยู่แล้ว ไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องหวาดกลัว แต่ในขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะไปโน้มน้าวให้อีกฝ่ายหนึ่งย้ายข้าง

ความน่ากลัวของไอเดียเรื่องจักรวาลคู่ขนานคือเวลาเราพูดถึงสิ่งนี้ เซนส์ของมันมักหมายถึงว่าผู้ใช้ทุกคนเลือกข้าง แต่ในความเป็นจริงเราไม่ได้เลือกข้าง แค่กิจกรรมการคลิกของเรานำพาเราไปสู่คนคล้ายๆ กัน ซึ่งอันนี้เป็นข้อเท็จจริง เฟซบุ๊กมาคุยกับเราเพราะต้องการแค่ความสนใจ การคลิก และนิ้วที่เลื่อนไปตามฟีด ซึ่งถามว่าเป้าหมายของแพลตฟอร์มนี้คืออะไร ก็คือการขายโฆษณานั่นแหละ เมื่อมีคนเห็นโฆษณาก็แปลว่าน่าจะมีการซื้อขายเกิดขึ้น ถ้ามีการซื้อขายสินค้าเกิดขึ้น ก็แปลว่าน่าจะมีผู้โฆษณามาใช้แพลตฟอร์มนี้เพิ่มขึ้นอีก

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งแตกต่างของสังคมขึ้นมา ไม่ใช่ความต้องการของผู้ใช้อย่างเดียวหรอก แต่เป็นปัจจัยเรื่องการสร้างกลุ่มผู้ใช้เป้าหมาย หรือต้องการจัดข้อมูลให้ตรงกับความสนใจของผู้ใช้มากที่สุดเพื่อที่จะทำให้ผู้ใช้ดูโฆษณาของคุณ ประเด็นนี้จะไปโทษแพลตฟอร์มหรือจะโทษทุนนิยมก็ไม่ได้เสียทีเดียว เพราะถ้าเราบอกว่าแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กไม่ดีตรงที่ขายโฆษณาให้เรา แต่วิทยุ โทรทัศน์ ก็ทำแบบนี้ ไม่มีใครผิด ในเวลาเดียวกันก็ไม่มีใครถูกโดยสมบูรณ์

 

แล้วเราจะสามารถเชื่อมสะพานความแตกต่างนี้ได้ไหม

ไม่แน่ใจนะว่ายังเป็นวาทกรรมอยู่รึเปล่า เวลาเราบอกว่าต้องต่อสู้กับสลิ่ม หรือทำไมพ่อแม่ไม่เข้าใจเรา วิธีการที่จะก้าวข้ามช่องว่างตรงนี้ได้คือไม่ต้องทำให้พ่อแม่เข้าใจ เราแค่ต่อสู้ทางการเมืองให้ชนะก็พอ ไม่ต้องไปสนใจว่าโซเชียลมีเดียทำงานอย่างไร สนใจแค่ว่าเราจะเคลื่อนไหวทางการเมืองแล้วจะชนะอย่างไรมากกว่า

ถ้าเราไปคิดว่าการโพสต์ข้อมูลที่มีประโยชน์มากขึ้นจะทำให้คนอีกฝั่งเข้าใจ เช่น โพสต์ข้อมูลที่ล้มล้างข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์จากรัฐไทย คัดโควตเด็ดๆ จากหนังสือของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล หรือให้เด็กทุกคนออกมาโพสต์ประวัติศาสตร์กันหมดเลย ถามว่าสิ่งเหล่านี้มีพลังไหม ก็คงไม่มีน่ะนะ เพราะมีเปอร์เซ็นต์สูงมากที่พ่อแม่ของเด็กเหล่านั้นคงจะไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ และถึงเห็นก็เห็นแบบกระจัดกระจาย

เป็นไปได้ไหมว่าเราจะไม่มองพื้นที่ของโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ในการต่อสู้ แต่มองว่าคือเครื่องมืออย่างหนึ่งที่เป็นประโยชน์ในการระดมพล มันน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า เราก็เห็นได้ชัดเจนว่า ถ้าไม่มีเครื่องมือโซเชียลมีเดียพวกนี้ เราก็ไม่สามารถระดมพลคนมาจากหลายที่หรือระดมทุนได้เร็วขนาดนี้

 

มีคนบอกว่าการต่อสู้ครั้งนี้คือสงครามแย่งชิงมวลชน ทำอย่างไรก็ได้ให้คนมาเป็นพวกเดียวกับเราให้ได้มากที่สุด แต่ถ้าคุณบอกว่าข้อมูลหรือการต่อสู้ในโซเชียลไม่ได้มีผลขนาดนั้น แล้วเราจะทำอย่างไร เราไม่ต้องพยายามเปลี่ยนใครเลยเหรอ?

อาจจะเปลี่ยนไม่ได้ครับ เวลาที่เราบอกว่าต้องดึงมวลชน อีกฝ่ายก็จะทำเหมือนกัน คำที่ได้ยินบ่อย เช่น เด็กต้องไปศึกษาประวัติศาสตร์ให้ถูกต้อง ในมุมมองของอีกฝั่ง เขาก็จะคิดแบบเราว่าถ้าอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ไทยจากรัฐบาล เด็กจะเข้าใจบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการทำนุบำรุงประเทศไทย อีกฝั่งหนึ่งก็จะบอกว่า ถ้าอ่านหนังสือของอาจารย์ธงชัย คุณก็จะเข้าใจว่ารัฐไทยสร้างขึ้นมาจากปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่วีรกรรมของกษัตริย์ ทั้งสองฝั่งก็จะสู้เหมือนกัน แต่ถามว่าโมเมนต์ไหนที่อีกฝั่งหนึ่งจะเข้าไปอ่านข้อมูลของอีกฝั่งหนึ่ง มันไม่มี

เรามองการต่อสู้ทางการเมืองหรือเรื่องการแย่งชิงมวลชนบนสมมติฐานที่ว่าเราจะไม่มีวันถูกบล็อก ซึ่งเป็นไปไม่ได้ สมมติเพื่อนเกลียดผมมากเพราะมีมของผมไปทำร้ายจิตใจเขา เขาก็จะอันเฟรนด์ผมทันที แล้วการอันเฟรนด์ในเฟซบุ๊กหรือในพื้นที่อินเทอร์เน็ตเป็นปัญหาหนึ่งที่ทำให้พื้นที่เหล่านี้ไม่สามารถเป็นพื้นที่แห่งการต่อสู้ได้เลย เพราะมันเป็นพื้นที่ราบเรียบ ไม่มีจุดขัดแย้ง เราสามารถนั่งรูดไถข้อมูลไปได้เรื่อยๆ โดยที่เรารู้สึกว่ามันไหลมาเหมือนน้ำ

สมัยที่ผมเรียน ป.ตรี เวลาเราจะโน้มน้าวอีกฝั่ง เราใช้วิธีโต้วาที โดยจับคนมานั่งคุยกัน มีจุดขัดแย้งเกิดขึ้น เพราะคุณเสนอไอเดียที่ผมไม่พอใจ แต่ในโซเชียลมีเดีย เราอยากจะให้มีดีเบตแบบนี้เกิดขึ้น แต่ไม่สามารถมีได้ เพราะมนุษย์ทั้งสองฝั่งสามารถหนีออกจากดีเบตได้โดยสมบูรณ์ด้วยการคลิกครั้งเดียว แค่เราลงชื่อออกจากบัญชี เราก็ไม่ต้องมีส่วนร่วมใดๆ แล้วเราจะต่อสู้บนแพลตฟอร์มนี้ได้อย่างไร ถ้าโดยการออกแบบไม่เอื้อให้มีการต่อสู้เกิดขึ้น

ถ้าเราโพสต์มากขึ้น แต่ไม่มีใครอ่าน ก็เหมือนเราตะโกนลงไปในถังขยะ แล้วเราก็หวังว่าเสียงของเราจะมีค่าขึ้นมา เพราะฉะนั้นในเชิงการออกแบบ ผมไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ว่าการต่อสู้บนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มจะประสบความสำเร็จ แต่มันเวิร์กมากในการระดมพล เพราะผมนึกไม่ออกเลยว่า จะมีการประท้วงไหนที่ให้ผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียวกันเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้ผู้ชุมนุมที่มีประสิทธิภาพขนาดนี้

 

ในการประท้วงเองมีการใช้วัฒนธรรมป็อปเข้าไปร่วมในขบวนเยอะเหมือนกัน คุณมองประเด็นนี้อย่างไร

ถ้าเราเปลี่ยนคำว่าวัฒนธรรมป็อปเป็นมีม จะทำให้ผมเข้าใจปรากฏการณ์นี้มากขึ้น นักวารสารศาสตร์อาจจะมองว่าการใช้วัฒนธรรมป็อปช่วยดึงดูดคนรุ่นใหม่ได้ เพราะวัฒนธรรมป็อปเป็นสิ่งร่วมสมัย แต่ผมมองว่าวัฒนธรรมป็อปที่อยู่ในม็อบน่าสนใจตรงที่มีความหลากหลายมาก เหมือนมีมที่อยู่ในอินเทอร์เน็ต นี่คือภาพสะท้อนพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต

ในเพจโซเชียลมีเดียมีความสนใจที่หลากหลายมาก พอเรามาดูม็อบนี้ก็น่าสนใจมากตรงที่เหมือนเรานั่งดูเพจในเฟซบุ๊ก เพราะการปราศรัยมีประเด็นหลากหลายมาก เหมือนเราดูโซเชียลมีเดียที่มีประเด็นประปรายมาก ไม่มีสารที่รวมศูนย์ไว้ หรือมีแกนนำที่เป็นศูนย์กลาง ทุกคนจะโยงประเด็นเรื่องสิทธิทางเพศ สิทธิในการทำคลอด ทำแท้ง เข้ามาสู่พื้นที่ม็อบ จนเรารู้สึกว่าม็อบกำลังเป็นภาพสะท้อนวัฒนธรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของวัยรุ่นในภาพรวม สำหรับผม ม็อบคืออุปมาของการใช้อินเทอร์เน็ต

 

ถ้าม็อบเหมือนการใช้โซเชียลมีเดียหรืออินเทอร์เน็ต แสดงว่าก็ต้องเป็นการเคลื่อนไหวแบบราบเรียบ?

อันนี้น่าสนใจ ผมว่าม็อบเป็นอุปมาวัฒนธรรมการใช้อินเทอร์เน็ตที่มีแรงต้านบางอย่าง มีฟีดแบ็กบางอย่างในชีวิตจริง เวลาเราที่บอกว่าการต่อสู้ในอินเทอร์เน็ตเป็นการต่อสู้ที่ไม่มีประโยชน์ ในเวลาเดียวกัน ถ้าเราเอาวัฒนธรรมการใช้อินเทอร์เน็ตไปประท้วงในชีวิตจริง สิ่งที่เป็นเงื่อนไขในชีวิตจริงคือมีความขัดแย้งเสมอ เพราะฉะนั้นความขัดแย้งของคนที่อยู่ในกลุ่มจริงดีกว่าในโลกอินเทอร์เน็ตในแง่ที่ว่า มันทำให้จักรวาลของเราตรวจสอบตัวเองได้ ซึ่งก็แตกต่างจากจักรวาลในเพจของเราที่เราไม่จำเป็นต้องตรวจสอบตัวเอง เพราะมีทางเลือกเสมอที่เราจะไม่ต้องรับฟังสิ่งที่เราไม่ชอบ

 

คุณใช้คำว่า ‘ความราบเรียบ’ อธิบายปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์กับโลกดิจิทัลบ่อยครั้ง ความราบเรียบนี้ถือเป็นปัญหาไหม ทั้งเรื่องของแอปพลิเคชันและการใช้โซเชียลมีเดีย

เป็นปัญหามากๆ เพราะมันทำให้ทุกอย่างดูล่องหนไปหมด เราไม่แน่ใจว่าเวลาเราบอกว่าเครื่องจักรเครื่องนี้กำลังทำงานอยู่ แอปฯ นี้กำลังทำงานอยู่ กลไกการทำงานเป็นอย่างไรกันแน่ ไม่เหมือนตอนที่เราเปิดประโปรงรถ ถ้าเราเป็นช่าง เรารู้ว่ากลไกต่างๆ ทำงานอย่างไร แต่กับโลกดิจิทัล ต่อให้เราทำงานเป็นนักโฆษณา หรือคนจัดการบัญชีต่างๆ ที่อยู่ในบริษัทข้ามชาติของแอปพลิเคชันเหล่านี้ เราก็ไม่รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ทำงานอย่างไรเหมือนกัน เพราะเราไม่ใช่วิศวกร แต่ในขณะเดียวกันวิศวกรก็ไม่แน่ใจว่า ถ้าออกแบบโค้ดต่างๆ เหล่านี้แล้วจะได้ผลอย่างที่เขาต้องการรึเปล่า ถึงต้องมีการอัพเดตอยู่เสมอ

เวลาเฟซบุ๊กมีการอัพเดตเกิดขึ้น เรารู้แค่ว่าหน้าจอเปลี่ยนไป แต่ถ้าถามว่าทำไมต้องเปลี่ยน และเปลี่ยนอย่างไร เราไม่รู้เลย เรารู้แค่ว่ามันเปลี่ยนไปเฉยๆ แล้วเราก็ทำเหมือนว่าทุกอย่างเป็นเรื่องปกติ ถ้ามองโลกในแง่ร้ายมากๆ ภาวะของความราบเรียบให้ประโยชน์ต่อคนที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มมากพอสมควร

เราอยู่ในโลกที่ทำให้ผู้ใช้กลายเป็นผู้ใช้จริงๆ คือคุณไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น นอกจากผลิตและบริโภค ถ้าคุณจะเป็นคนสร้าง คุณก็จะเป็นคนสร้างเนื้อหาที่ต้องไปอยู่ในแพลตฟอร์มที่ฟังก์ชันอยู่ในระบบนิเวศของโลกดิจิทัล เป็นโลกที่ดีต่อผู้บริโภคแน่นอนอยู่แล้ว แต่เป็นโลกที่โปร่งใส่ขึ้นไหม ผมไม่กล้าบอกว่ามี

 

ฟังคุณพูดแล้วนึกถึงประโยคหนึ่งในแฮร์รี่ พอตเตอร์ มีคำพูดหนึ่งของ อาร์เธอร์ วิสลีย์ พูดกับลูกสาวตัวเองที่โดนสมุดบันทึกของโวลเดอร์มอร์หลอกไปอยู่ในห้องแห่งความลับ แต่รอดชีวิตมาได้ พ่อพูดกับลูกสาวตอนที่เจอกันว่า “อย่าวางใจอะไรที่คิดได้ด้วยตัวของมันเอง ถ้าลูกไม่เห็นว่ามันเอาสมองไว้ที่ไหน” เราในฐานะผู้ใช้เองก็ไม่รู้ว่าสมองของสิ่งที่เราใช้อยู่ตรงไหนเหมือนกัน

ผมโกรธมากที่อาเธอร์ วิสลีย์ สามารถสรุปสิ่งที่ผมพูดในนิยายสำหรับเด็กได้ เดี๋ยวผมจะต้องลอกเอาไปใช้ก่อน (หัวเราะ)

ใช่ครับ คำเตือนของคุณพ่อคือคำเตือนที่เอาไปปรับใช้กับเทคโนโลยีดิจิทัลได้ ในแง่ที่ว่าเราไม่รู้ว่าสมองมันอยู่ตรงไหน ถามว่าทำไมต้องเป็นสมองด้วย เพราะสมองมาพร้อมกับเซนส์เรื่องความเป็นคน คือเราไม่ใช้คำว่าสมองกับสัตว์ แต่เราใช้คำว่าสัญชาตญาณ แต่กับคอมพิวเตอร์ เวลาที่เราพูดกับวัตถุ เราไม่รู้ว่าสมองมันอยู่ตรงไหน คำพูดของคุณพ่อน่าสนใจมากในแง่ที่ว่า คุณมองว่าวัตถุชิ้นนี้มีสถานะเท่ากับคน แล้วคุณไม่เชื่อมัน เพราะคุณไม่แน่ใจว่ามันเป็นคนรึเปล่า ในทำนองเดียวกัน โทรศัพท์หรือเครื่องมือดิจิทัลอยากจะให้เราเชื่อว่ามันไม่เป็นอันตราย เพราะมันใช้องค์ประกอบต่างๆ หลอกให้เราเชื่อว่ามันยังทำเหมือนว่าเราเป็นมนุษย์อยู่ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว มันไม่แคร์หรอก

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save