fbpx

โบราณคดีขั้วโลกเหนือในวันที่น้ำแข็งกำลังละลาย: คุยกับ แมกซ์ ฟรีเซน นักโบราณคดีที่ดูแลวัตถุโบราณแข่งกับเวลา

น้ำแข็งในขั้วโลกเหนือกำลังละลาย – นี่เป็นข่าวใหญ่ที่เรารับรู้กันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเป็นหลักฐานที่ตอกย้ำผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ชัดเจนที่สุดประการหนึ่ง วิกฤตครั้งนี้ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม กระแสน้ำในทะเล และชีวิตของสัตว์ที่อาศัยในขั้วโลกอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ผลกระทบอีกประการที่เราอาจคาดไม่ถึง คือผลกระทบต่อ ‘โบราณคดี’ — เรากำลังพูดถึงศาสตร์สำคัญที่ทำให้เราเข้าใจอดีตของมนุษย์ เรื่องราวที่บอกเล่าความเป็นมา และตอบคำถามว่า ‘เรา’ เป็น ‘เรา’ ในทุกวันนี้ได้อย่างไร

การละลายของน้ำแข็งอาจเผยให้เราพบกับอดีตของมนุษยชาติที่ถูกแช่แข็งไว้นานนับพันปี ขณะเดียวกันโบราณวัตถุและหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายเหล่านั้น ก็ถือเป็นงานจำนวนมหาศาลที่นักโบราณคดีต้องรักษาไว้ให้ทันเวลา ก่อนบทเรียนล้ำค่าจะละลายลงไปในมหาสมุทร

ศาสตราจารย์แมกซ์ ฟรีเซน (Max Friesen) จากภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยโทรอนโต ประเทศแคนาดา (University of Toronto) เป็นหนึ่งในนักโบราณคดีที่ทำงานในขั้วโลกเหนือมาเป็นเวลากว่า 35 ปี เขาคือผู้ที่มองเห็นปรากฏการณ์ในขั้วโลกเหนืออย่างใกล้ชิด และเป็นผู้ที่ทำงานร่วมกับชาวอินูอิต ชนเผ่าพื้นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานในขั้วโลกเหนือ

ยามแรกที่ทำงานภาคสนาม เขาเคยนิยามว่าขั้วโลกเหนือคือระบบนิเวศ (เกือบ) สุดท้ายของโลกที่ไม่ถูกรบกวน ชัดเจนแล้วว่าในวันนี้ ดินแดนดังกล่าวกำลังถูกรบกวนด้วยการเปลี่ยนแปลงของโลก คำถามสำคัญก็คือ นักโบราณคดีกำลังเจอกับข้อจำกัดแบบใด พวกเขาค้นพบอะไร พวกเรากำลังจะสูญเสียอะไร และดินแดนแห่งนี้ให้บทเรียนอะไรกับมนุษย์ในปัจจุบัน

101 ต่อสายสนทนาข้ามทวีป ให้นักโบราณคดีที่ทำงานแข่งกับการละลายของน้ำแข็งคนนี้เล่าให้คุณฟัง


ทำไมคุณถึงสนใจและมีโอกาสได้ไปทำงานโบราณคดีในแถบขั้วโลกเหนือ

ก็คงคล้ายกับนักโบราณคดีและนักเรียนโบราณคดีหลายคน บวกกับโอกาสและความโชคดีด้วย (หัวเราะ) ตอนที่ผมกำลังเรียนปริญญาโท ผมสมัครเข้าร่วมโครงการหนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับขั้วโลกเหนือเลยเพื่อทำงานภาคสนามในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน อาจารย์คนหนึ่งในโครงการบังเอิญรู้จักกับคนที่ทำงานโบราณคดีในขั้วโลกเหนือ ตอนนั้นเขากำลังต้องการคนทำงานภาคสนามพอดี ผมเลยสมัครและได้ไปที่นั่น แล้วผมก็ตกหลุมรักทันที

ผมยังถือว่าเป็นนักเรียนโบราณคดีที่เด็กมาก แต่พื้นที่ตรงนั้นเป็นเรื่องใหญ่สำหรับโลกโบราณคดี อย่างที่รู้กันดีว่า หลายพื้นที่บนโลก ซากสิ่งของต่างๆ ในอดีตถูกสงวนรักษาไว้ได้น้อยมาก ซากอินทรีย์ทั้งหมดหายไป และเป็นหน้าที่ของนักโบราณคดีในการตามหา แต่ในแถบขั้วโลกเหนือ ทุกสิ่งที่เราขุดค้นพบถูกรักษาไว้ด้วยชั้นดินที่หนาวเย็นต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง (permaforst) เราจึงไม่ได้พบเพียงหินเก่า เครื่องดินเผา หรืออะไรเทือกนั้น แต่เรายังพบไม้ กระดูก เขากวาง งาช้าง ไปจนถึงเศษชิ้นส่วนของเสื้อผ้าที่ทำจากหนังด้วย ผมรู้สึกราวกับว่ากำลังทำงานในระบบนิเวศสุดท้ายของโลกที่ไม่ถูกรบกวน

ผมยังได้ตั้งแคมป์ที่นั่น มีกวางแคริบูเดินเตร็ดเตร่ใกล้ๆ ได้ตกปลาสดๆ ในแม่น้ำ เป็นประสบการณ์การตั้งแคมป์อันวิเวกห่างไกลที่งดงามมาก ทั้งหมดนี้ทำให้ผมกระตือรือร้นและสนใจขั้วโลกเหนือจนอยากทำงานด้านนี้ต่อ ผมคิดว่าหากจะเป็นนักโบราณคดี คงวิเศษไปเลยถ้าได้ทำงานในพื้นที่ที่สิ่งต่างๆ ถูกรักษาไว้ แล้วคุณเชื่อไหมว่าในพื้นที่ห่างไกลขนาดนี้ เรากลับเห็นร่องรอยของชีวิตมนุษย์ได้มากกว่าพื้นที่อื่นๆ เสียอีก

อีกเหตุผลคือชาวอินูอิตที่ผมทำงานด้วยและบรรพบุรุษของพวกเขา ชาวอินูอิตประกอบอาหารจากสัตว์ 100% ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก หรือปลา แทบไม่มีอาหารจากพืชเลย ซึ่งอาหารจากพืชไม่สามารถเก็บรักษาได้ง่ายนัก ในขณะที่กระดูกสัตว์สามารถเก็บรักษาได้ ผมที่พอรู้เกี่ยวกับกระดูกสัตว์อยู่บ้าง เลยพอจะเห็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับการประกอบอาหารเหล่านั้นได้ เช่น รูปแบบการล่าสัตว์และตกปลา บริเวณที่อยู่อาศัยและกิจกรรมที่เปลี่ยนไปในแต่ละฤดูกาล เป็นต้น

สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมตระหนักคือ แม้ขั้วโลกเหนือจะเป็นพื้นที่เก่าแก่ไม่กี่ที่บนโลก ปัจจุบันก็ยังมีคนที่อาศัยอยู่ในเมือง แต่เกิดและเติบโตมาจากพื้นที่นี้ก่อนจะมีการสร้างเมืองขึ้นเสียอีก ยังมีผู้อาวุโสในชนเผ่าที่เติบโตมากับวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม พวกเขาอาจยังล่าสัตว์ ตกปลา และใช้กับดักสัตว์ เป็นแหล่งความรู้ที่เหลือเชื่อมากเมื่อได้คุยกับพวกเขาและทำความเข้าใจมุมมองการดำเนินชีวิตสมัยก่อน


ดูเหมือนว่าตอนที่คุณเริ่มทำงานนี้ สถานการณ์หลายๆ อย่างน่าจะดีกว่าปัจจุบันมาก เดาว่าผู้อาวุโสจากชนเผ่าที่ให้ข้อมูลในอดีตได้อาจจะลดลงไปเรื่อยๆ

ใช่ครับ ปัจจุบันผมยังทำงานกับผู้อาวุโสอยู่นะ และความรู้ของพวกเขาก็ยังเหลือเชื่อเหมือนเดิม แต่นับจากวันที่ผมเริ่มทำงานในขั้วโลกเหนือ ก็ผ่านมา 35 ปีแล้ว แน่นอน ยังพอมีคนที่เติบโตในยุคก่อน ใช้ชีวิตในวิถีที่คล้ายกับชนเผ่าดั้งเดิม แม้จะไม่เหมือนกันไปเสียหมด แต่ผู้อาวุโสบางคนก็ได้จากไปแล้ว และพวกเขาเป็นผู้ที่รู้จักพื้นที่นี้ดีมากๆ

ภาพกวางแคริบูโดย Peupleloup จากเว็บไซต์ commons.wikimedia.org


คุณค้นพบอะไรที่ขั้วโลกเหนือบ้าง อะไรที่ทำให้คุณตื่นเต้นที่สุด

ผมทำงานที่นั่นหลายปี ยากเหมือนกันนะที่จะเลือกมาสักอย่างสองอย่าง แต่สิ่งที่ทำให้ตื่นเต้นที่สุดน่าจะเป็นสถาปัตยกรรม อย่างพวกบ้านหลังใหญ่ๆ

ผมเคยขุดพบบ้านที่ขุดพื้นลงไปจากผิวดิน (Subterranean house) 2-3 หลัง ก่อนจะขุดลงไป มองภายนอกคุณจะเห็นแค่พื้นที่ยุบตัวลง โดยไม่รู้ว่ามันจะกลายเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมขนาดนี้ ผมพบเศษพื้นไม้ และม้านั่งลักษณะยาวในนั้น คือเป็นบ้านอายุหลายร้อยปีก่อน เมื่อผู้อาศัยปล่อยทิ้งไปและถูกปกคลุมด้วยดินถล่มในอีกไม่กี่ปีต่อมา บ้านน่าจะรวมเป็นหนึ่งเดียวกับชั้นดิน กลายเป็นดินเยือกแข็ง และถูกแช่แข็งไว้นับตั้งแต่ถูกปล่อยทิ้งจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น พอคุณยกพื้นผิวชั้นบน พืชพรรณ และทุกๆ อย่างที่ปกคลุมออกไปแล้ว ข้างล่างนั่นคุณจะพบกับบ้านที่มีลักษณะเหมือนเพิ่งถูกทิ้งร้างไปเมื่อปีก่อนนี่เอง พร้อมด้วยกระดูกและวัตถุโบราณที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์

บางครั้งผู้คนที่ทิ้งบ้านและสิ่งของเหล่านี้ไว้อาจวางแผนจะกลับมาอาศัยอีกครั้ง ยกตัวอย่างเช่น เรามักจะเจอบ้านที่มีแคร่ (Sleeping bench) และสิ่งที่คนสมัยก่อนมักทำคือ เอาสิ่งของสำคัญๆ ไปยัดเก็บไว้ตรงขอบของม้านั่ง เพื่อที่พวกเขาจะได้เอากลับมาใช้อีกครั้งในปีถัดไปหรือตอนที่ตัดสินใจจะกลับมา แต่บางครั้งพวกเขาก็ไม่ได้กลับ เพราะอาจจะย้ายไปที่อื่น ดังนั้นในเวลาต่อมาเราเลยขุดพบของสำคัญที่พวกเขาทิ้งไว้ เช่น เบ็ดตกปลา ใบมีด มีด

อีกเรื่องที่น่าตื่นเต้นคือฤดูร้อนในขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกเหนือมีอุณหภูมิที่หนาวเย็นและมีลมแรง ในฤดูร้อนเลยไม่มีพืชพันธุ์เลย และไม่มีดินให้พืชพันธุ์โตขึ้นมาได้ด้วย มีเพียงหิน หินก้อนเดิมที่อยู่มานานนับพันปี นั่นหมายความว่าจะไม่มีอะไรที่ถูกฝังในหน้าร้อน แหล่งโบราณคดีทั้งหมดจะอยู่บนพื้นผิว คุณจะเจอเครื่องมือหินและอะไรอีกมากมายโดยที่ไม่ต้องขุดค้นลงไปจากผิวดินมากนัก คุณจะรู้สึกราวกับว่าได้เห็นภาพภูมิทัศน์อย่างที่มันเป็นก่อนจะถูกน้ำแข็งปกคลุมเลยล่ะ


ประเทศไทยเป็นเมืองเขตร้อน ร้อนจนจินตนาการไม่ออกเลยว่าการทำงานในพื้นที่ที่เป็นน้ำแข็งเป็นอย่างไร คุณพอจะเล่าให้ฟังได้ไหมว่าคุณทำงานอย่างไร ต้องมีทีมเยอะแค่ไหน ต้องเจอกับข้อจำกัดอย่างไรบ้าง

ผมขอเริ่มตอบคำถามนี้ด้วยการบอกว่า แม้ขั้วโลกเหนือจะหนาวจนทรมาน แต่บางครั้งเราอาจจะเจอกับคลื่นความร้อน (Heat wave: ปรากฏการณ์อากาศร้อนจัดที่สะสมอยู่ในบริเวณพื้นที่หนึ่ง) กลางฤดูร้อนได้เหมือนกัน เชื่อไหม ครั้งหนึ่งผมทำงานอยู่ที่ Mackenzie Delta ทางตะวันออกเฉียงเหนือของแคนาดาในแถบขั้วโลกเหนือ มีอยู่วันหนึ่งอุณหภูมิสูงถึง 30 องศาเลย ซึ่งถือว่าร้อนมากๆ แล้วสำหรับขั้วโลกเหนือ ตอนนั้นผมก็ไม่ได้มีเสื้อผ้าที่เหมาะสำหรับอุณหภูมิแบบนี้มาด้วย แถมยังมียุงและแมลงมากมายจนอยากจะใส่แค่เสื้อยืดง่ายๆ ไปเสียเลย แต่นั่นแหละครับ ส่วนใหญ่แล้วอากาศก็จะหนาวจนทรมานใจ (หัวเราะ)

อีกประเด็นคือขั้วโลกเหนืออยู่ไกลมาก ราคาของทุกอย่างเลยแพงกว่าพื้นที่ทางใต้ลงมาประมาณ 2-3 เท่า การขนย้ายโบราณวัตถุและการระดมทุนสำหรับงานโบราณคดีเป็นเรื่องยากมาก ผมต้องใช้ทุนมากกว่าคนที่ทำงานในพื้นที่ทางใต้อยู่มากทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น คนทำงานในพื้นที่อื่นอาจจะสามารถขับรถไปที่แหล่งโบราณคดีได้ แต่สำหรับพวกผมที่ทำงานในขั้วโลกเหนือต้องใช้เฮลิคอปเตอร์หรืออากาศยานเฉพาะทางเพื่อมายังแหล่งโบราณคดี และยังต้องเช่าเครื่องบินเพื่อบรรทุกของอีกด้วย

ขนาดของทีมงานในแต่ละครั้งก็แตกต่างกันไป น้อยที่สุดที่ผมเคยเจอคือ 5 คน มากที่สุดคือ 10 คนซึ่งถือว่ากลุ่มใหญ่และใช้งบประมาณสูงมากแล้ว เมื่อไปถึงพื้นที่ก็ต้องรีบตั้งแคมป์ให้เร็วที่สุดเพราะอากาศหนาวมาก การขนอาหารเข้ามาก็ยาก เราต้องมีเต็นท์สำหรับนอน สำหรับทำอาหาร และต้องสร้างรั้วกันหมีรอบพื้นที่เพื่อกันไม่ให้หมีเข้ามา เราต้องมีปืนไว้ในแคมป์เพื่อป้องกันอันตรายอื่นๆ และบางครั้งน้ำก็หาได้ยากมากในบริเวณที่ตั้งแคมป์

สภาพอากาศที่นี่ก็มักเปลี่ยนไปมา คุณอาจจะเจอทั้งอากาศร้อน อากาศหนาว ฝนปรอยๆ และบางครั้งก็เจอหิมะตกกลางฤดูร้อน บางครั้งคุณอาจตื่นขึ้นมาเจอหิมะบนพื้น ทำให้การขุดแหล่งโบราณคดียากขึ้นอีกเพราะมันกำลังจะถูกแช่แข็งอีกครั้ง สภาพอากาศที่แย่ที่สุดคือลม ลมที่นั่นแรงอย่างไม่น่าเชื่อ บางครั้งอาจจะพัดเต็นท์ของคุณไปได้เลย เรื่องนี้ยังไม่เคยเกิดกับผมโดยตรงนะ แต่เพื่อนร่วมงานของผมเคยวางกระดูกและโบราณวัตถุที่พบไว้ที่เต็นท์ แล้วถูกลมพัดไปหมดเลย พอตื่นขึ้นมา ก็พบว่าวัตถุโบราณกระจัดกระจายไปทั่วแล้ว

นอกจากนั้นคุณจะต้องเจอปัญหาเรื่องสัตว์ป่า ยุงในขั้วโลกเหนือนั้นเหลือเกินจริงๆ ผมเคยเห็นคนใส่สเว็ตเตอร์สีขาวที่ถูกยุงรุมตอมเต็มจนเป็นสีดำ มันเยอะมากจริงๆ นะ ที่นั่นยังมีหมีที่ต้องระวังให้ดี และสัตว์อื่นๆ ที่อาจสร้างปัญหาได้ คุณอาจเจอกับวัวมัสค์ (Muskox) เป็นสัตว์ข้ามสายพันธุ์ระหว่างแกะและวัว พวกมันอาจก้าวร้าวและพุ่งเข้าหาคุณด้วยเขาอันแหลมคม ขั้วโลกเหนือมีสิ่งเหล่านี้อยู่ครับ (หัวเรา) แต่ในด้านกลับก็มีสภาพแวดล้อมที่สวยงามและแหล่งโบราณคดีที่ยอดเยี่ยมด้วย


สิ่งที่เราเห็นในข่าวคือน้ำแข็งในบริเวณขั้วโลกเริ่มละลาย จากประสบการณ์การทำงานของคุณ ขั้วโลกเหนือเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง เรากำลังเจอกับสถานการณ์ของสิ่งแวดล้อมที่แย่ขนาดไหน

นี่เป็นคำถามใหญ่มาก ปัญหาสำคัญอันดับแรกคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง ขณะเดียวกันขั้วโลกเหนือก็ยังเป็นหนึ่งในสถานที่ที่นักโบราณคดีสามารถติดตามร่องรอยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอดีตได้ มองย้อนกลับไป 2,000-3,000 ปีช่วงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในแถบขั้วโลกเหนือ เรารู้ว่าสภาพอากาศค่อยๆ อุ่นขึ้นและเย็นลง คือมีช่วงเวลาที่อบอุ่นมากอย่าง ‘ปรากฏการณ์โลกร้อนในยุคกลาง’ (Medieval Warm Period) ประมาณหนึ่งพันปีที่แล้ว และมีช่วงเวลาหนาวเย็นมากอยู่ช่วงหนึ่งคือ ‘ยุคน้ำแข็งน้อย’ (Little Ice Age) ในช่วง ค.ศ. 1800-1950 โดยที่นักโบราณคดีจะสำรวจต่อว่าปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลกระทบต่อผู้คนในอดีตอย่างไร

ตอนที่ชาวอินูอิตสมัยใหม่เข้ามาในแถบขั้วโลกเหนือของแคนาดาครั้งแรกเมื่อประมาณ 800 ปีที่แล้ว พวกเขาอาศัยอยู่ในบ้านบนพื้นดินที่มีเสาขุดลงไปในดิน (Pit Dwelling) แต่แล้วในยุคน้ำแข็งน้อยที่อุณหภูมิหนาวเย็น สัตว์หลายชนิดที่สำคัญต่อการดำรงชีพของชาวอินูอิตมีจำนวนลดลง สิ่งที่พวกเขาทำคือเปลี่ยนไปอาศัยในกระท่อมน้ำแข็ง (igloo) อันโด่งดังแทน เป็นบ้านที่มีลักษณะเหมือนโดมและตั้งอยู่บนทะเลน้ำแข็ง พวกเขายังหันมาล่าแมวน้ำ ซึ่งแมวน้ำในทะเลต้องขึ้นมาหายใจเอาออกซิเจนบริเวณพื้นน้ำแข็งที่เป็นหลุม ชาวอินูอิตจึงเดินไปรอบๆ เพื่อหาหลุมเหล่านั้น รอให้แมวน้ำมา แล้วพุ่งหอกใส่ สาเหตุสำคัญที่ชาวอินูอิตเปลี่ยนที่อยู่อาศัยคือ การอาศัยในทะเลน้ำแข็งสมเหตุสมผลกว่าในเมื่อพวกเขาสามารถใกล้ชิดกับสัตว์เหล่านี้ได้มากกว่าการอยู่บนพื้นดิน นี่คือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอดีต

สำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ผู้อาวุโสของชนเผ่าที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในเมืองเล่าว่าสังเกตเห็นความแตกต่างในช่วงชีวิตของพวกเขาเช่นกัน เช่น มีบางฤดูร้อนของขั้วโลกเหนือที่เขียวขจี ไม่ได้มีต้นไม้ขึ้นหรอก แต่พวกพุ่มไม้เล็กๆ กลับโตขึ้นเรื่อยๆ หรือการที่พวกเขาได้เห็นสัตว์พันธุ์ที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในขั้วโลกเหนือ ดังที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ CBC (Canadian Boradcasting Corporations) ออกข่าวว่าฤดูร้อนปีที่แล้ว มีคนเห็นนกกระทุงในขั้วโลกเหนือเป็นครั้งแรก จากที่พบนกชนิดนี้ได้ตามแถบฟลอริดา และตอนใต้ของแคนาดา แต่ตอนนี้พวกมันบินมาถึงตอนเหนือของแคนาดาแล้ว อีกตัวอย่างคือ ผมกำลังทำงานในพื้นที่เกาะวิกตอเรีย ซึ่งเป็นกลุ่มเกาะหนึ่งในพื้นที่ขั้วโลกเหนือแคนาดา อยู่ๆ ที่นี่ก็มีหมีกรีซลีสีน้ำตาล โดยที่ผู้อาวุโสของชนเผ่าเล่าให้ผมฟังว่าตอนเขายังเป็นเด็กไม่เคยมีหมีกรีซลีในขั้วโลกเหนือมาก่อน จะมีก็แต่หมีขั้วโลกสีขาวเท่านั้น หมีกรีซลีเหล่านี้อพยพมาทางเหนือตามสภาพอากาศที่อุ่นขึ้นนั่นเอง

ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ยังเป็นปัญหาต่องานโบราณคดี ชั้นดินทับถมจำนวนมากที่เป็นน้ำแข็งมาหลายพันปีกำลังละลายและไหลลงสู่มหาสมุทร นั่นเท่ากับว่าแหล่งที่อยู่อาศัยของผู้คนในยุคใหม่บางแห่งและแหล่งโบราณคดีก็ไหลลงมหาสมุทรไปด้วย โดยที่เราไม่สามารถทำอะไรกับสถานการณ์นี้ได้มากนัก

การเปลี่ยนแปลงอีกอย่างที่เกี่ยวข้องคือ เนื่องจากฤดูร้อนกินเวลานานขึ้น อุณหภูมิอุ่นขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ช่วงเวลาที่น้ำในมหาสมุทรปราศจากน้ำแข็ง หรือที่เรียกกันว่า ‘Open Water’ ยาวนานขึ้น ซึ่งในฤดูร้อนที่น้ำแข็งในทะเลละลายหมด คุณอาจจะพบคลื่นขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง ในอดีตฤดูร้อนจะกินเวลาเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น แต่ตอนนี้อาจยาวนานถึง 3-4 เดือน เมื่อพายุลูกใหญ่พัดคลื่นมา คลื่นก็ทำลายชายฝั่งมากกว่าปกติ

ภาพกระท่อมน้ำแข็ง Igloo โดย Maurizio Ceol จากเว็บไซต์ commons.wikimedia.org


บางคนนิยามว่าสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเป็นดั่ง ‘คำสาป’ สำหรับนักโบราณคดี คุณเห็นด้วยไหม โจทย์ที่ท้าทายของคุณในยุคที่สิ่งแวดล้อมโลกเปลี่ยนแปลงขนาดนี้คืออะไร

ค่อนข้างชัดเจนเลยว่ามันคือคำสาปแน่ๆ ไม่มีด้านดีเลย อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงเพียง 1-2 องศา อาจไม่มีผลกระทบกับการบินไปตั้งแคมป์ทำงาน แต่มันกลับสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากต่อชั้นดิน ส่วนที่ได้รับผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดคือชั้นดินในแถบขั้วโลกเหนือที่เรียกว่า ‘Permaforst’ เป็นชั้นดินที่มีอุณหภูมิอยู่ต่ำกว่าจุดเยือกแข็งมาอย่างยาวนาน และอยู่ลึกลงไปตั้งแต่ไม่กี่เมตรไปจนถึงหลายร้อยเมตร ในท้ายที่สุดชั้น Permaforst ที่อยู่ลึกลงไปหลายร้อยเมตรจะละลายเพราะความร้อนของแกนโลก ส่วน Permaforst ชั้นบางๆ ด้านบนที่เรียกว่า ‘Active Layer’ จะละลายในทุกๆ ฤดูร้อน เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจจะละลายความหนาของชั้นดินไปประมาณ 10 เซนติเมตร สำหรับนักโบราณคดี ทุกสิ่งที่อยู่ใต้ 10 เซนติเมตรนั้นจะถูกแช่แข็งต่อไป สภาพที่ว่านี้สามารถสงวนรักษาโบราณคดีไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือ ชั้นพื้นผิวที่ละลายทุกๆ ฤดูร้อนจะหนาขึ้นเรื่อยๆ ในบางแห่งอาจหนาถึงครึ่งเมตร นั่นหมายความว่าสิ่งต่างๆ ในแหล่งโบราณคดี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือที่ทำจากกระดูกอันสวยงาม เครื่องมือที่ทำจากเขาสัตว์ งาช้าง ที่เคยถูกแช่แข็งรักษาอย่างสมบูรณ์เป็นพันปีกำลังจะละลาย เวลาขุดค้นของเราจึงมีจำกัด หากเราไม่สามารถขุดค้นได้ทัน โบราณวัตถุในขั้วโลกเหนือก็จะไปอยู่ตามที่ต่างๆ ในโลก และซากอินทรีย์ก็จะค่อยๆ ย่อยสลายไป

ในโครงการล่าสุดของผม ผมพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับโบราณคดีที่ถูกทำลายเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในบริเวณ Mckenzie Delta ทางตะวันตกเฉียงเหนือของแคนาดา เรารวมวิธีการสำรวจด้วยเฮลิคอปเตอร์และการขุดค้นเข้าด้วยกัน โดยเฮลิคอปเตอร์จะบินไปยังแนวชายฝั่ง เพื่อสำรวจแหล่งโบราณคดีที่เรารู้ว่าเคยมีอยู่ เช่น แหล่งโบราณคดีที่นักโบราณคดีเคยทำงานในช่วงปี 1970-1980 แล้วเปรียบเทียบภาพปัจจุบันเข้ากับภาพที่เคยเป็นเมื่อ 35-40 ปีก่อน เพื่อทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับพื้นที่ดังกล่าวบ้าง พูดตรงๆ ว่าแหล่งโบราณคดีบางแห่งหายไปแล้วอย่างสมบูรณ์ ไม่มีอะไรเหลือเลย ถ้าคุณโชคดีอาจจะเจอชิ้นส่วนกระดูกสักชิ้นสองชิ้น แต่พวกบ้านหรือที่อยู่อาศัยในอดีตนี่ลืมไปได้เลย อีกส่วนหนึ่งของโครงการนี้คือการไปที่แหล่งโบราณคดีจุดสำคัญแล้วขุดค้นส่วนที่อาจถูกทำลายใน 5-10 ปีอย่างเร็วที่สุด เราขุดพบบ้านหลังใหญ่สองหลัง ได้สิ่งประดิษฐ์หลายพันชิ้น กระดูกสัตว์นับหมื่นชิ้น เหมือนการช่วยชีวิตพวกมันไว้ก่อนจะไหลออกไปสู่มหาสมุทร


นอกจากการพยายามขุดค้นให้เร็วที่สุดแล้ว เราทำอะไรได้บ้างจากจุดนี้เพื่อรักษาแหล่งโบราณคดีไว้

โอ้ เป็นเรื่องน่าสลดใจทีเดียว ผมคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้เยอะมากและพยายามไปคุยกับคนหลายคนเพื่อหาวิธีรักษาแหล่งโบราณคดีไว้ ไม่ว่าจะเป็นการก่อกำแพงป้องกันพื้นที่หน้างาน หรืออะไรทำนองนั้น แต่แทบไม่มีวิธีใดเลยที่จะปกป้องแหล่งโบราณคดีเหล่านี้ได้ สิ่งที่พวกเราคิดออกก็ดูจะใช้เม็ดเงินหลายล้านดอลลาร์ที่อาจรักษาแหล่งโบราณคดีไว้ได้เพียงแหล่งเดียว แต่เรากำลังพูดถึงแหล่งโบราณคดีนับหมื่น มันจึงเป็นไปไม่ได้เลย

ทางเดียวที่ดูเป็นไปได้คือโครงการสำรวจและขุดค้นขนาดใหญ่ที่ทำงานร่วมกับกลุ่มชนพื้นเมืองในท้องถิ่นซึ่งรู้จักสถานที่ดีที่สุด เราต้องขยายทีมงานเพื่อขุดค้นให้ทัน ก่อนที่แหล่งโบราณคดีจะละลายหายไป ดังที่ผมตั้งใจทำในโปรเจกต์ล่าสุด เราพยายามจะขุดค้นศึกษาให้ได้มากที่สุด แต่เห็นได้ชัดว่ามันสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับขนาดปัญหาที่เกิดขึ้น และเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ทุกวันนี้มีนักโบราณคดีจำนวนน้อยมากที่ทำงานในขั้วโลกเหนือ ยิ่งโครงการสำรวจใหญ่ๆ ยิ่งแทบไม่มีเลย 


คุณมีวิธีคิดอย่างไรเกี่ยวกับการทำงานร่วมกับคนพื้นเมือง บาลานซ์สิทธิการจัดการทรัพยากรระหว่างคนพื้นเมืองอย่างไร มีประเด็นอะไรที่เป็นปัญหาระหว่างนักโบราณคดีกับกลุ่มคนพื้นเมืองไหม

ในแวดวงโบราณคดีของแคนาดาช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เรากำลังเดินไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง จาก 20 ปีที่แล้ว นักโบราณคดีทางใต้อยู่ในจุดที่ค่อนข้างยากลำบากในการทำงานใกล้ชิดกับชุมชนเมืองในภาคเหนือ การทำงานร่วมกันได้ในวันนี้จึงถือเป็นเรื่องดีมาก เพราะเราไม่สามารถทำงานได้โดยปราศจากการร่วมมือกับคนท้องถิ่น แต่ธรรมชาติของการร่วมงานกับคนท้องถิ่นก็แตกต่างกันไปตามแต่ละโครงการ แต่ละคน และแต่ละชุมชน

ยกตัวอย่างเช่น โครงการปัจจุบันที่ผมทำงานอยู่ในบริเวณขั้วโลกเหนือตอนกลาง จริงๆ แล้วโครงการเริ่มต้นมาจากองค์กรที่ดำเนินงานโดยผู้อาวุโสชาวอินูอิต เป็นกลุ่มผู้อาวุโสที่ทำวิจัยด้วยตัวเองเพื่อรวบรวมข้อมูลความรู้ดั้งเดิมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยพวกเขาตัดสินใจจะเพิ่มความรู้ด้านโบราณคดีเข้าไปด้วย จึงเชิญผมไป พวกเราเริ่มคุยกันว่าจะเชื่อมโยงโบราณคดีเข้ากับเป้าหมายของชุมชนได้อย่างไร นอกจากนี้คนกลุ่มสำคัญกลุ่มหนึ่งที่ผมได้ทำงานด้วยก็คือเยาวชน เพราะพวกเขาต้องการให้คนหนุ่มสาวได้สัมผัสกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

นอกจากนี้คนพื้นเมืองสมัยใหม่ยังต้องการรวบความรู้ทางโบราณคดีเข้ากับความรู้ของผู้อาวุโส เมื่อเราเริ่มโครงการในปี 2018 สิ่งแรกที่เราทำคือการพาผู้อาวุโสเข้าไปในแหล่งโบราณคดีที่ห่างจากชุมชน ผู้อาวุโสส่วนใหญ่พูดและแปลภาษาอินูอิตได้ หนุ่มสาวพื้นเมืองก็จะมีโอกาสได้ร่วมสนทนาและสัมภาษณ์ผู้อาวุโสเกี่ยวกับท้องถิ่น ผมก็ร่วมสัมภาษณ์ด้วยหลายครั้ง แม้จะไม่ได้เป็นผู้สัมภาษณ์หลัก แต่สำหรับนักโบราณคดี การได้ยืนอยู่บนแหล่งโบราณคดีพร้อมกับชาวอินูอิตมันยอดเยี่ยมมาก คำถามง่ายๆ เช่น ทำไมคุณถึงเลือกอาศัยที่นี่ การตกปลาล่าสัตว์ของคุณเป็นยังไง อาจเป็นคำถามที่ยากจะหาคำตอบจากซากโบราณคดี แต่ผู้อาวุโสสามารถบอกกับเราได้ง่ายๆ ว่า “เราอาศัยอยู่ที่นี่เพราะมีแหล่งน้ำอยู่ใกล้ๆ ดินระบายน้ำได้ดี กวางแคริบูจะเดินข้ามตรงนั้น เราจึงอยู่ใกล้กับกวางแคริบู และการตกปลาที่นี่ก็ดีนะ” การเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้จึงทั้งสนุกและมีความหมายต่อผม

หลังจากนั้นผมกับนักศึกษาในทีมก็กลับไปสำรวจแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ดังกล่าวอีกครั้ง เราได้ข้อมูลที่น่าสนใจไม่น้อย แต่เราทำมันภายใต้กรอบการทำงานที่ชาวอินูอิตต้องการ จึงเป็นการทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง เพราะขณะที่ผมทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการ พวกเขาก็เปิดกว้างกับผมมากเช่นกัน เวลาผมบอกว่า “คุณรู้ไหม ตรงนั้นเป็นแหล่งโบราณคดีที่น่าสนใจมากเลย ผมอยากจะไปทำงานตรงนั้นจัง ชีวิตเมื่อพันปีที่แล้วในพื้นที่นั้นจะเป็นยังไงนะ” พวกเขาก็จะตอบผมว่า “เอาสิ ไปกันเลย ฟังดูดีนะ” เป็นการทำงานร่วมกันในแบบที่ใกล้ชิดทีเดียว

ส่วนปัญหาที่พบ ผมแทบนึกปัญหาจริงจังอะไรไม่ออกเลย ปัญหาที่ผมพบคือเรื่องอากาศ เฮลิคอปเตอร์ไม่มา หรือการระบาดของโควิด ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดกับคนพื้นเมือง แต่หลายคนก็พบปัญหาเกี่ยวกับคนพื้นเมือง และบ่อยครั้งมักมาจากการไม่ปรึกษาหารือร่วมกับคนพื้นเมืองให้มากพอก่อนที่จะลงภาคสนาม หนึ่งบทเรียนสำคัญสำหรับผมและนักโบราณคดีทั่วอเมริกาเหนือที่ทำงานกับคนพื้นเมืองคือ คุณไม่สามารถตัดสินใจเสร็จสรรพเกี่ยวกับโครงการ แล้วเข้าไปบอกกับชุมชนได้เลยว่า นี่คือสิ่งที่ฉันจะทำนะ คุณคิดอย่างไร แต่คุณต้องทำงานโดยเริ่มจากการพัฒนาความสัมพันธ์กับพวกเขาก่อน การทำงานกับคนพื้นเมืองจึงเป็นเรื่องที่ใช้เวลา

หลังจากใช้เวลาสร้างความสัมพันธ์ไปสักพัก ความเชื่อใจซึ่งกันและกันจะเกิดขึ้น รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันด้วย เช่น เดี๋ยวนี้เวลาที่ผมอีเมลไปหาพวกเขา หรือเวลาผมขอความช่วยเหลือเรื่องจดหมายรับรองและใบอนุญาต พวกเขาก็เขียนจดหมายรับรองให้ผม เพราะพวกเขารู้จักผม และผมคิดว่าพวกเขาเชื่อใจผมแล้ว แต่นั่นก็ใช้เวลามากทีเดียว ระยะเวลาที่ต้องใช้อาจไม่ใช่ปัญหาสำหรับผม แต่มีผลแน่นอนกับกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่อยากทำโครงการวิจัย หรือเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก และต้องทำภายในระยะเวลาสั้นๆ

ภาพชาวอินูอิต โดย Ansgar Walk จากเว็บไซต์ commons.wikimedia.org


ชนพื้นเมืองขั้วโลกเหนือน่าจะได้รับผลกระทบมากจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พวกเขาจะมีเวลามากพอไหมในการมาดูแลแหล่งโบราณคดี นักโบราณคดีทำความเข้าใจกับพวกเขาอย่างไร

การเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกสำหรับพวกเขา บางคนแย้งว่าอาจมีข้อดีเล็กๆ น้อยๆ เช่น การมีช่วง open water ที่ยาวนานขึ้น ทำให้มหาสมุทรไม่ถูกปกคลุมด้วยน้ำแข็ง ชุมชนส่วนใหญ่ก็จะได้รับอาหารและเสบียงผ่านรถและเรือบรรทุกที่สามารถเข้ามาได้เฉพาะช่วง open water แต่สำหรับเรื่องอื่นๆ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาเสียมากกว่า เช่น สัตว์และปลาที่เป็นอาหารท้องถิ่นอันมีคุณค่ามีจำนวนลดลง หรือการเดินทางระหว่างชุมชนก็ยากขึ้น ปกติในฤดูหนาว เมื่อมหาสมุทรกลายเป็นน้ำแข็ง คุณสามารถใช้ Snowmobile (รถมอเตอร์ไซค์ที่วิ่งบนน้ำแข็ง) ขับขี่เดินทางได้ แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ผืนน้ำแข็งไม่หนาอย่างที่เคยเป็นมา การเดินทางฝ่าน้ำแข็งที่บางลงเป็นเรื่องอันตรายมากเพราะน้ำแข็งอาจไม่สามารถรับน้ำหนักได้

ปัญหาใหญ่อีกประเด็นคือ ในแถบขั้วโลกเหนือฝั่งตะวันตก สถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งกำลังแย่มาก บางชุมชน เช่น ชุมชน ‘tucktayaktuk’ ที่ชายฝั่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สุสานและพื้นที่ต่างๆ ในเมืองกำลังจะไหลลงสู่มหาสมุทร พวกเขาจึงต้องย้ายเมืองบางส่วนออกไปและพยายามสร้างกำแพงกั้นแนวชายฝั่งด้วยหินและซีเมนต์ แต่ก็แทบไม่มีวิธีไหนที่ดูเวิร์กเลย การแก้ปัญหานี้ทั้งใช้งบประมาณสูงและไม่ง่ายต่อความรู้สึก เพราะพวกเขาต้องสูญเสียเมืองที่อาศัยมาทั้งชีวิตไป

ในโครงการล่าสุดที่ทำร่วมกับชนพื้นเมือง พวกเขากังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อแหล่งโบราณคดีอยู่แล้ว พวกเขายังดำเนินการติดต่อกับนักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลด้วยตัวเอง เพื่อพยายามสร้างแบบจำลองภาพถ่ายดาวเทียมของแหล่งโบราณคดีที่เสี่ยงจะละลายไป ผมคิดว่าในชุมชนอื่นๆ ก็กังวลเกี่ยวกับปัญหานี้เหมือนกัน สิ่งที่ทำได้อย่างหนึ่งคือการให้ชนพื้นเมืองติดตามสถานการณ์ของแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ ไปที่แหล่งโบราณคดีนั้นๆ ในทุกหน้าร้อนเพื่อรายงานปัญหาที่เกิดขึ้น ไปจนถึงรวบรวมโบราณวัตถุที่เสี่ยงต่อการสูญสลาย แต่ปัญหาคือในขั้วโลกเหนือมีการตั้งถิ่นฐานที่เบาบาง แหล่งโบราณคดีสำคัญส่วนใหญ่อยู่ไกลจากแหล่งชุมชน แหล่งที่ใกล้ชุมชนที่สุดก็คิดเป็นระยะทางกว่า 100 กิโลเมตรแล้ว ชาวพื้นเมืองจึงติดตามสถานการณ์ได้ยาก

แต่โดยทั่วไป ผู้คนในท้องถิ่นให้ความสนใจเกี่ยวกับปัญหาอย่างมาก พวกเขาให้คำแนะนำมากมายว่าอยากให้ผมไปสำรวจแหล่งโบราณคดีบริเวณไหน เพราะเวลาพวกเขาพายเรือหรือออกไปล่าสัตว์ตามแนวชายฝั่ง พวกเขาจะเห็นว่ามีแหล่งโบราณคดีอยู่ตรงไหนบ้าง และตรงไหนเสี่ยงที่จะไหลลงมหาสมุทร ดังนั้นพวกเขาจึงยินดีมากที่มีคนเข้ามาทำงานดูแลแหล่งโบราณคดีเหล่านี้

ชาวพื้นเมืองมีบทบาทอย่างมาก แต่อย่างที่ผมบอก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องใหญ่จริงๆ และยากเหลือเกินที่จะแก้ปัญหาให้เกิดความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ


การศึกษามนุษย์ในอดีตที่อาศัยอยู่ที่ขั้วโลกเหนือทำให้เราเห็นความสามารถในการปรับตัวของมนุษย์อย่างไร มนุษย์ในปัจจุบันจะเรียนรู้อะไรได้บ้าง

อันดับแรก ประวัติศาสตร์และโบราณคดีท้องถิ่นสำคัญมากต่อคนพื้นเมืองขั้วโลกเหนือเอง พวกเขากระตือรือร้นที่จะรู้และเข้าใจอดีตของพวกเขาให้มากขึ้น พวกเขาสนใจการเชื่อมโยงชีวิตของชาวอินูอิตสมัยใหม่เข้ากับเรื่องราวจากผู้อาวุโสในชนเผ่า พวกเขาสนใจประวัติศาสตร์ของตัวเองและสิ่งที่ศาสตร์โบราณคดีสามารถให้ความรู้ความเข้าใจได้

ส่วนสิ่งที่โบราณคดีขั้วโลกเหนือสามารถบอกกับผู้คนในวงกว้างได้ ประเด็นแรกคือ โบราณคดีขั้วโลกเหนือเป็นตัวอย่างที่ดีเกี่ยวกับการล่าสัตว์และหาของป่า ในอดีต ผู้คนที่นี่ดำรงชีวิตได้ด้วยอาหารป่าโดยไม่ปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ในครัวเรือนเลย ที่การล่าสัตว์และหาของป่าเป็นเรื่องสำคัญ ก็เพราะมันเป็นเรื่องราวของบรรพบุรุษของเราที่ล้วนเป็นคนล่าสัตว์และคนหาของป่าทั้งสิ้น แม้ในภายหลังบางภูมิภาคของโลกจะพัฒนาการทำเกษตรกรรมขึ้นมา แต่การล่าสัตว์และหาของป่าก็เป็นจุดที่เชื่อมพวกเราทั้งหมดเอาไว้ ผมเชื่อมโยงตัวเองกับชาวอินูอิตเพราะบรรพบุรุษของผมก็ล่าสัตว์และหาของป่าเช่นกัน การทำความเข้าใจการล่าสัตว์และหาของป่าในพื้นที่ต่างๆ ในโลก รวมถึงที่ขั้วโลกเหนือ ช่วยอธิบายกับเราได้มากทีเดียวว่ามนุษย์พัฒนาจนมาเป็นมนุษย์อย่างทุกวันนี้ได้อย่างไร และอะไรเป็นสิ่งที่รวมเราไว้ด้วยกัน

ประเด็นที่สองที่ชัดเจนมากคือ ขั้วโลกเหนือเป็นสถานที่ที่มีสิ่งแวดล้อมอันแสนสุดโต่ง เห็นได้ชัดว่ามันกำลังบอกชาวอินูอิตและมนุษย์โลกว่า มนุษย์นั้นฉลาดเฉลียว มีเทคโนโลยีและองค์กรทางสังคมที่ซับซ้อน ทุกองค์ประกอบรวมกันทำให้เราอยู่รอดได้ แต่ที่จริงแล้ว มันไม่ใช่แค่การอยู่รอดเท่านั้น เรายังสามารถเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างสุดโต่งและน่าทึ่งด้วย สิ่งเหล่านี้กำลังย้ำเตือนว่าเรามีความสามารถในการปรับตัวเมื่อพบความยากลำบาก ถ้ามนุษย์สามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่ขั้วโลกเหนือได้ เราก็สามารถ–และควรจะ–แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดกับเราในปัจจุบันได้ เหมือนกับที่ชาวอินูอิตรอดชีวิตมาได้ พวกเขาไม่ได้ตายจากไป พวกเขาผ่านสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งร้อนและหนาว หาวิธีใหม่ที่จะล่าสัตว์ เปลี่ยนรูปแบบที่อยู่อาศัย หรือบางครั้งก็โยกย้ายที่อยู่ไปตามสภาพอากาศ พวกเขามักจะจัดการสิ่งที่มีอยู่แล้วและหาวิธีใหม่ๆ ในการอยู่รอดได้เสมอ

ภาพชาวอินูอิตโดย J. J. O_Neill Canadian Museum of History จากเว็บไซต์ commons.wikimedia.org

อ้างอิง

ภาพขั้วโลกเหนือ โดย limbovision จาก Pixabay

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save