fbpx

คณิตศาสตร์ของการเลือกตั้ง ความสำคัญของ ‘วิธีเลือก’ ในระบอบประชาธิปไตย

“หากมีผู้สมัครมากกว่าสามคนขึ้นไป ไม่มีวิธีการเลือกตั้งใดที่เป็นธรรม”

วาทะดังกล่าวเป็นบทสรุปท่อนหนึ่งของทฤษฎีอันโด่งดังที่ชื่อว่า ‘ทฤษฎีแห่งความเป็นไปไม่ได้’ โดยเคนเนธ แอร์โรว์ (Kenneth Arrow) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เขาสร้างแบบจำลองของคนที่มีเหตุมีผล สมมติให้มนุษย์ในแบบจำลองลงคะแนนเลือกบุคคลที่ตัวเองชอบ หากกระบวนการเลือกตั้งมีประสิทธิภาพผลการเลือกตั้งก็ย่อมสะท้อน ‘บุคคลที่ประชาชนชื่นชอบที่สุด’

อย่างไรก็ตาม ความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะ ‘วิธีการเลือกตั้ง’ แต่ละรูปแบบกลับให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน และบางครั้งอาจติดอยู่ในปฏิทรรศน์ (paradox) ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก

เริ่มสงสัยแล้วใช่ไหมครับว่าวิธีการเลือกตั้งสำคัญอย่างไร เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ผมขอยกตัวอย่างกลุ่มประชากร 15 คนที่ต้องร่วมตัดสินใจสั่งผลไม้ 1 ชนิดมาทานหลังอาหารมื้อกลางวัน และกำลังจะตัดสินใจลงคะแนนเสียงกันดังนี้ครับ

สมาชิก 6 คนชอบ ทุเรียน มากกว่า ส้ม มากกว่า แอปเปิล

สมาชิก 5 คนชอบ แอปเปิล มากกว่า ส้ม มากกว่า ทุเรียน

สมาชิก 4 คนชอบ ส้ม มากกว่า แอปเปิล มากกว่า ทุเรียน

ดูเผินๆ ก็ไม่เห็นจะยุ่งยากอะไร ในเมื่อคนส่วนใหญ่ 6 เสียงลงคะแนนให้ทุเรียน ดังนั้นเที่ยงนี้ทุกคนก็คงได้กินทุเรียนตบท้ายหลังอาหาร แต่สังเกตไหมครับว่าทุเรียนกลับเป็นผลไม้ที่คน 9 คนชื่นชอบน้อยที่สุดโดยจัดให้อยู่ในลำดับสุดท้าย แล้วอย่างนี้ผลลัพธ์ของการลงคะแนนจะเรียกว่า ‘ตรงใจ’ คนส่วนใหญ่ได้อย่างไร

หนึ่งในวิธีการวัดประสิทธิภาพของการเลือกตั้ง คือการที่ผลการเลือกทุกครั้งจะต้องได้ผู้ชนะตามวิธีแบบคอนดอร์เซ็ต (Condorcet Winner) ซึ่งหมายถึงการคัดเลือกแบบ ‘จับคู่’ ทุกทางเลือกเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจเลือกตัวเลือกที่ชอบมากที่สุด จากตัวอย่างข้างต้น เราจะจัดการลงคะแนนสามรอบด้วยกันเพื่อตามหาผู้ชนะตามวิธีแบบคอนดอร์เซ็ต คือ (1) ส้มกับแอปเปิล (2) ส้มกับทุเรียน และ (3) ทุเรียนกับแอปเปิล

(1) ส้มกับแอปเปิล คะแนนโหวตจะเป็น 10 : 5 ดังนั้นส้มจะชนะแอปเปิล

(2) ส้มกับทุเรียน คะแนนโหวตจะเป็น 9 : 6 ดังนั้นส้มก็จะชนะอีกเช่นกัน

(3) ทุเรียนกับแอปเปิล คะแนนโหวตจะเป็น 6 : 9 แต่คู่สุดท้ายอาจไม่ได้สลักสำคัญอะไร เพราะผลลัพธ์ออกมาแล้วว่าในกลุ่มตัวอย่าง 15 คนนี้ชอบส้มมากที่สุดจากผลโหวตสองครั้งที่ว่าชอบส้มมากกว่าแอปเปิลและทุเรียน

เห็นไหมครับว่าวิธีการส่งผลอย่างยิ่งต่อผลลัพธ์ของการเลือกตั้ง ถึงขนาดเปลี่ยนทางเลือกที่คนชอบน้อยที่สุดอย่างทุเรียนให้กลายมาเป็นผู้ชนะได้เลยทีเดียว

ผลลัพธ์ที่ต่างกันของการเลือกตั้งสามวิธี

ระบบเลือกตั้งยอดนิยมซึ่งหลายประเทศส่วนใหญ่รวมถึงไทยเองก็เลือกใช้คือระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่า (plurality vote) นั่นคือหนึ่งคนกาหนึ่งเบอร์ ใครได้รับคะแนนโหวตสูงสุดก็ชนะการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งระบบนี้มีช่องโหว่เพราะไม่สะท้อน ‘ความชื่นชอบ’ ลำดับที่สองรองจากลำดับแรก ข้อมูลที่สูญหายไปจึงอาจนำไปสู่ผลการเลือกตั้งที่ไม่มีประสิทธิภาพ สำหรับวิธีแรก ข้อมูลที่ปรากฎอยู่ในระบบก็จะมีหน้าตาเช่นนี้

สมาชิก 6 คนชอบ ทุเรียน มากกว่า ส้ม มากกว่า แอปเปิล

สมาชิก 5 คนชอบ แอปเปิล มากกว่า ส้ม มากกว่า ทุเรียน

สมาชิก 4 คนชอบ ส้ม มากกว่า แอปเปิล มากกว่า ทุเรียน

ปัญหาจากระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่าสะท้อนออกมาในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ครั้งล่าสุด แทนที่ประชาชนจะสามารถแสดง ‘ความต้องการ’ ของตนผ่านการหย่อนบัตรเลือกตั้ง แต่กลับต้องมากังวลเรื่องเสียงแตกที่อาจทำให้ฝ่ายที่ชอบน้อยที่สุดคว้าชัยไปได้ สุดท้ายคนจำนวนไม่น้อยจึงเลือกใช้การออกเสียงเชิงกลยุทธ์ แทนที่จะเลือกคนที่ตนเองชื่นชอบจริงๆ

อีกระบบการเลือกตั้งที่พยายามลดทอนปัญหาดังกล่าวคือระบบจัดลำดับความชอบ (preferential voting) หรือการลงคะแนนหลายรอบในครั้งเดียว (instant-runoff voting) ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานของการเลือกตั้งในสหราชอาณาจักร แคนาดา อินเดีย และออสเตรเลีย

แม้ชื่อจะฟังดูชวนสับสน แต่วิธีการนับคะแนนไม่ได้สลับซับซ้อนอย่างที่หลายคนคิด โดยระบบดังกล่าวจะให้ผู้มีสิทธิออกเสียงระบุตัวเลือกที่ตนเองชื่นชอบลำดับแรกและลำดับรองลงมา ในกรณีที่ผลโหวตรอบแรก ผู้ชนะยังได้คะแนนเสียงไม่ถึงครึ่งหนึ่ง หรือมากกว่า 51 เปอร์เซ็นต์ ก็จะมีการนำบัตรของคนที่เลือกตัวเลือกที่ได้รับคะแนนเสียงน้อยที่สุด มาดูว่าพวกเขาหรือเธอเลือกใครเป็นอันดับที่สอง ทำซ้ำไปเรื่อยๆ จนกว่าผู้ได้รับการเลือกตั้งอันดับหนึ่งจะมีคะแนนเสียงเกินครึ่ง

เรามาดูตัวอย่างเดิมกันดีกว่าครับ ทุเรียนซึ่งได้รับโหวตอันดับหนึ่งในรอบแรกยังได้คะแนนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของ 15 เสียง ดังนั้นกรรมการจึงไปหยิบบัตรลงคะแนนของกลุ่มคนที่ชอบส้มซึ่งได้รับผลโหวตน้อยที่สุดมาดูใหม่ ปรากฏว่าทั้ง 4 คนที่ชอบส้มลงคะแนนให้แอปเปิลเป็นอันดับที่สอง ดังนั้นแอปเปิลจึงขึ้นมาครองอันดับ 1 ด้วยคะแนน 9 จาก 15 และเข้าเส้นชัยด้วยคะแนนเสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งนั่นเอง

สมาชิก 6 คนชอบ ทุเรียน มากกว่า ส้ม มากกว่า แอปเปิล

สมาชิก 5 คนชอบ แอปเปิล มากกว่า ส้ม มากกว่า ทุเรียน

สมาชิก 4 คนชอบ ส้ม มากกว่า แอปเปิล มากกว่า ทุเรียน

วิธีการนี้ถึงแม้ว่าจะมีข้อมูลไหลเข้าสู่ระบบมากขึ้น อีกทั้งยังพยายามเพิ่มประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงเงื่อนไขทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่าการเป็นอิสระจากทางเลือกที่ไม่สลักสำคัญ (Independent of Irrelevant Alternatives) ซึ่งตีความอย่างเรียบง่ายว่าตัดตัวเลือกที่ได้รับผลโหวตน้อยที่สุดออกไปนั่นเอง แต่จะเห็นว่าแอปเปิลที่เข้าเส้นชัยก็ยังไม่ใช่ผู้ชนะตามวิธีแบบคอนดอร์เซ็ตอยู่ดี

วิธีการสุดท้ายคือการนับแบบบอร์ดา (Borda count) ที่แม้จะมีทฤษฎีมาอย่างยาวนาน แต่ในภาคปฏิบัติยังค่อนข้างยุ่งยากโดยเริ่มมีการทดลองในประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

การนับแบบบอร์ดาจะคล้ายคลึงกับการเลือกตั้งระบบจัดลำดับความชอบ แต่ต่างกันที่วิธีการนับคะแนน เช่นถ้าเรามี 3 ตัวเลือก ตัวเลือกที่เราชอบน้อยที่สุดจะได้ 0 คะแนน ตัวเลือกที่ชอบแบบกลางๆ จะได้ 1 คะแนน และตัวเลือกที่ชอบที่สุดจะได้ 2 คะแนน เช่นในกรณีตัวอย่างของเราจะสามารถคำนวณได้ตามนี้ครับ

สมาชิก 6 คนชอบ ทุเรียน (2 คะแนน) มากกว่า ส้ม (1 คะแนน) มากกว่า แอปเปิล (0 คะแนน)

สมาชิก 5 คนชอบ แอปเปิล (2 คะแนน) มากกว่า ส้ม (1 คะแนน) มากกว่า ทุเรียน (0 คะแนน)

สมาชิก 4 คนชอบ ส้ม (2 คะแนน) มากกว่า แอปเปิล (1 คะแนน) มากกว่า ทุเรียน (0 คะแนน)

จำนวนสมาชิกทุเรียนส้มแอปเปิล
66 x 2 = 126 x 1 = 66 x 0 = 0
55 x 0 = 05 x 1 = 55 x 2 = 10
44 x 0 = 04 x 2 = 84 x 1 = 4
รวมทั้งหมด121914

หากใช้วิธีการนับแบบบอร์ดา ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งจะกลายเป็นส้มที่ได้รับคะแนนสูงสุดคือ 19 แต้ม ซึ่งสอดคล้องกับผู้ชนะตามวิธีแบบคอนดอร์เซ็ตนั่นเอง จะเห็นว่าความโดดเด่นของการนับแบบบอร์ดาคือการคำนึงถึงข้อมูลทุกแง่มุมของผู้ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง อีกทั้งยังเป็นอิสระจากทางเลือกที่ไม่สลักสำคัญโดยให้คะแนนทางเลือกที่ชื่นชอบน้อยที่สุดเท่ากับศูนย์อีกด้วย คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่าการนับแบบบอร์ดาถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในปัจจุบัน แต่ติดปัญหาคือการนับคะแนนที่ชวนปวดหัวไม่น้อย

ย้อนกลับมาที่ไทย ปัจจุบันเรายังคงใช้ระบบคะแนนเสียงที่เหนือกว่า ซึ่งเผชิญกับปัญหาหลากหลายประการและอาจไม่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชน กระนั้น ปัญหาดังกล่าวก็อาจดูไม่เลวร้ายเท่าไหร่นักหากเทียบกับการมีสมาชิกวุฒิสภา 250 เสียงที่มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันซึ่งอาจเข้าข่าย ‘เผด็จการ’ เพราะเสียงสะท้อนของเหล่าสมาชิกวุฒิสภาอาจไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนในสังคม

ดังนั้น หากเราต้องการการเลือกตั้งที่มี ‘ประสิทธิภาพ’ โดยสะท้อนความต้องการของประชาชนจริงๆ นอกจากจะปรับเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งให้เหมาะสมแล้ว ก็ต้องขจัดเหล่าเสียง ‘ลากตั้ง’ ออกจากระบบด้วยนะครับ


เอกสารประกอบการเขียน

Selecting a voting method: the case for the Borda count

Arrow’s Impossibility Theorem

Social Choice in the South Seas: Electoral Innovation and the Borda Count in the Pacific Island Countries

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save