fbpx
สวัสดิการเพื่อการมีลูกของพนักงานประจำ ‘นอกห้องแอร์’ : ใครร่วงหล่นจากโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม ?

สวัสดิการเพื่อการมีลูกของพนักงานประจำ ‘นอกห้องแอร์’ : ใครร่วงหล่นจากโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม ?

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย, ปรัชญา กำลังแพทย์ เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ  ภาพ

 

ในช่วง 1,000 วันแรกของเด็ก เป็นช่วงสำคัญของชีวิตที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ บนโลก และได้ฝึกพัฒนาการเพื่อเป็นรากฐานให้ชีวิตต่อไป การที่พ่อแม่มีเวลาดูแลลูกได้เต็มกำลังในช่วงแรกของชีวิตจึงเป็นห้วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่ง — อย่างน้อยที่สุดก็ได้สร้างคนคนหนึ่งขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ

รัฐที่สวัสดิการทำหน้าที่ได้เต็มกำลัง จะมีนโยบายที่สนับสนุนการมีบุตร รวมถึงให้เวลาพ่อแม่ในการดูแลลูกหลังคลอด อย่างจริงจังเป็นระบบ เช่น ที่นอร์เวย์ พ่อแม่สามารถลาหยุดงานเพื่อเลี้ยงดูลูก (parental leave) ได้รวมกัน 52 สัปดาห์ (หรือ 1 ปี) โดยได้รับค่าจ้างร้อยละ 80 ของค่าจ้างเต็มเวลา ที่สวีเดนให้ลาหยุดเลี้ยงลูกได้ 480 วัน (ประมาณ 1 ปี 4 เดือน) หรือที่ฝรั่งเศสให้ลาคลอดได้ 16 สัปดาห์ (4 เดือน) สำหรับลูกคนแรก และจะขยายไปได้ถึง 34 สัปดาห์สำหรับลูกคนที่ 3 หรือคลอดลูกแฝด

ตัดกลับมาที่ไทย มีบริษัทขนาดใหญ่ไม่กี่แห่งที่ขยายเวลาลาคลอดให้พนักงานถึง 6 เดือน และได้รับเงินเดือนเต็มจำนวน ในขณะที่กฎหมายไทยกำหนดให้ลาคลอดได้ไม่เกิน 98 วัน และให้ค่าจ้างจากนายจ้าง 45 วัน ซึ่งบริษัทส่วนมากก็ให้สวัสดิการตามกฎหมายนี้

98 วัน หรือกว่า 3 เดือน ชั่วเวลาน้ำนมยังไม่หยุดไหล แม่ก็ต้องกลับมาทำงานแล้ว และถ้าเลือกลาเต็มจำนวน รายได้จะหายไปถึง 1 เดือนครึ่ง ทั้งที่เพิ่งมีอีกหนึ่งชีวิตเพิ่มขึ้นมาให้ต้องดูแล

หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไทยมีไอคิวต่ำกว่ามาตรฐานสากล หรือมีปัญหาด้านความฉลาดทางอารมณ์ คือพ่อแม่ไม่สามารถทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ในช่วง 0-6 ขวบ เช่น ไม่ได้เลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิด เพราะต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ สวัสดิการเกี่ยวกับวันลาคลอดและการมีบุตรยังไม่ครอบคลุมภาระรับผิดชอบตามจริง ฯลฯ และนอกจากวันลาคลอดแล้ว พ่อแม่ยังต้องใช้เงินอีกจำนวนมากในการเลี้ยงลูกจนบรรลุนิติภาวะ

คำถามก็คือ สวัสดิการที่มีอยู่เพียงพอแล้วหรือไม่ สำหรับการมีลูกและการพัฒนาประชากรของคนไทย

ไม่ใช่แค่พนักงานบริษัทหรือข้าราชการเท่านั้น แต่ยังมีพนักประจำจำนวนมากที่ไม่ได้นั่งทำงานในห้องแอร์ แต่ออกมาท้าแดดท้าฝน ยืนตลอดวัน เช่น คนงานก่อสร้าง แม่บ้าน ยาม แคชเชียร์ ฯลฯ ที่แม้จะรับเงินเดือน แต่การขาดรายได้ไปเดือนครึ่งอาจหมายถึงค่ากับข้าวและเงินส่งกลับบ้านตลอดเดือน

101 พาไปสำรวจพนักงานประจำ ที่ไม่อาจหยุดงานได้ประจำ ว่าพวกเขามีชีวิตอย่างไรตอนท้อง สวัสดิการโอบอุ้มไว้ครอบคลุมแค่ไหน และมีความคาดหวังอย่างไรกับสวัสดิการรัฐ

 

เบส 27 ปี

แม่บ้าน

 

 

 ลูกคนที่ 2 ของเบส เพิ่งอายุได้ 4 เดือน ยังไม่ทันจะเรียกแม่ได้เต็มคำ เด็กชายก็ถูกส่งกลับไปอยู่บ้านกับยายที่หนองบัวลำภู

“เลี้ยงตรงนี้ไม่ไหวหรอก ให้ยายเลี้ยงดีกว่า เราต้องทำงาน ไม่มีเวลาดูลูก” เธอขยายความให้เห็นภาพด้วยภาษาอีสานว่า “เฮ็ดงานแล่นหน้าแล่นหลัง มันบ่ได้”

หลังจากจบ ม.6 เบสมีลูกคนแรกกับแฟนหนุ่ม กำเงิน 3,000 บาท เข้ามาทำงานที่โรงงานทำถุงเท้าในกรุงเทพฯ อยู่กันไม่นานก็แยกทางกัน

“ตอนมีแฟนคนแรก เรายังเด็ก แต่งงานแล้วก็มีลูกเลย คลอดลูกได้ประมาณ 2-3 ปี ก็เลิกรากัน ต่างคนต่างอยู่ แล้วเราก็มาทำงานเป็นแม่บ้าน เลยมาเจอแฟนคนปัจจุบันเป็นยามที่นี่ อยู่ด้วยกันมา 4-5 ปีแล้ว เพิ่งจะมามีลูก”

ณ ตอนนี้ เบสต้องทำงานหาเลี้ยงทั้งแม่ ลูกชาย 2 คน วัย 8 ขวบ กับวัย 4 เดือน รวมถึงน้องชายที่ยังอยู่ในวัยเรียน เงินเดือนแทบจะหมดไปกับค่านมลูก “ลูกกินนมแค่ 15 วัน ไม่มีน้ำนมให้ลูกกิน น้ำนมไม่ค่อยมี” เธอว่า

“ตอนนี้ค่านมลูก ตกเดือนละ 6,000 บาท แม่ก็แก่แล้ว ไปซื้อเองไม่ไหว สิ้นเดือนมาเราก็ต้องส่งนมกับผ้าอ้อมเด็กไปให้ทุกเดือน แล้วก็โอนเงินไปต่างหาก น้องชายเราก็ช่วยดูแล โชคดีเขาเป็นคนไม่ดื้อ ไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหน กลับบ้านมาช่วยแม่ซักผ้าล้างถ้วย ดูหลาน”

ไม่ใช่แค่ทางบ้านที่ช่วยกันประคับประคองครอบครัว แต่ความโชคดีอีกอย่างคือบริษัทที่เบสทำงานอยู่ มีที่พักให้อยู่หลังบริษัท จ่ายในราคาเดือนละ 700 บาท รวมค่าน้ำค่าไฟ แล้วยังได้ค่ากับข้าวเดือนละ 500 บาท หักลบแล้ว เสียค่าที่พักเดือนละ 200 บาทเท่านั้น

อย่างที่รู้กัน ที่พักเดือนละ 200 บาทในกรุงเทพฯ หายากเหมือนแมลงที่กำลังจะสูญพันธุ์ การมีสวัสดิการแบบนี้จึงลดภาระไปได้มากโข นอกจากนี้ยังมีค่าเล่าเรียนลูก ที่บริษัทวางไว้ว่าจะส่งจนจบปริญญาตรี รวมถึงสนับสนุนค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนด้วย

“ถามว่าดีมั้ย ก็ดี สวัสดิการดี แต่เงินเดือนน้อย เราก็ต้องหารับงานเพิ่ม” เบสเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ให้ฟัง

ใน 1 วัน เบสต้องเข้ากะทำงาน 4 รอบ เริ่มตั้งแต่ตี 4 จนตกเย็น ในระหว่างพักก็มีออกไปรับจ้างทำความสะอาดข้างนอก แต่ตั้งแต่มีลูกก็ต้องพักไป งานที่เคยได้รับก็หดหาย นั่นหมายถึงรายได้ที่หายไปด้วย เธอเล่าให้ฟังว่า ระหว่างที่ตั้งครรภ์ ช่วง 4-5 เดือนแรกยังทำงานเต็มที่ และค่อยๆ ทำงานเบาลงจนถึงวันคลอดลูก เพื่อนที่ทำงานด้วยกันส่วนมากก็มักจะลาคลอดไม่ถึง 3 เดือน เพราะกลัวขาดรายได้

“เราก็พยายามหาอะไรมาเสริม สั่งรองเท้ามาขายออนไลน์ กลับบ้านเอาปลาส้มจากหนองบัวลำภูมาขาย ได้กำไร 1,000 – 2,000 บาท ก็พอได้ใช้”

แม้จะดูเหมือนว่ามีสวัสดิการที่ดีแล้ว แต่ถ้าเลือกได้ว่าอยากให้มีสวัสดิการอะไรเพิ่มบ้าง เบสบอกว่าอยากให้สนับสนุนค่านม ค่าผ้าอ้อมเด็ก ของคนที่มีลูกเล็ก ส่วนตัวเธอเองมีกำลังใจเป็นเสียงของลูกที่อยู่ห่างไกล

“เวลาทำงานกลับมาเหนื่อยๆ ก็อยากจะกอดลูก แต่ก็อยู่ไกล วิดีโอคอลหาทุกวัน วันละ 4-5 รอบ คิดฮอดกะอดเอา”

“เวลาสอนลูก ก็จะบอกว่า เป็นจั่งได๋กะได้ แต่ว่าต้องซ่อยพ่อซ่อยแม่ซุอย่าง มีอิหยังก็ต้องซ่อยเหลือกัน พ่อแม่ก็บ่มีอิหยังสิให้มากมาย ให้ได้ส่ำนี้ ต้องไปโรงเรียน เฮ็ดการบ้านส่ง ขอให้ดูแลจะของได้ บ่ต้องเดือดร้อนพ่อแม่ แค่นั้นกะพอแล้ว”

 

 

สำลี 49 ปี

คนงานก่อสร้าง

 

 

“จริงๆ มีลูก 4 คน ตอนนี้เหลือ 3 คน คนนึงเสียไปตอนอายุ 17 ตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว โดนรถชน” ป้าสำลีเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงห้วนกระชับ “พูดถึงได้ๆ ไม่เป็นไร ทำใจได้แล้ว” ป้าสำทับหลังจบประโยคแรกด้วยเสียงผ่อนคลายขึ้น ท่ามกลางรถปูนและกำแพงเปลือยที่รอทาสี ป้าสำลีค่อยๆ เล่าชีวิตช่วงที่เป็นคนงานที่สระแก้วให้ฟัง ในช่วงที่ลูกทยอยเกิดเมื่อกว่า 20 ปีก่อน

“เราอยู่กันพ่อแม่ลูก เลี้ยงเอง ดูเอง ช่วงที่ท้องไม่หยุดงาน ทำจนคลอด แต่ก่อนทำเอง ไม่ได้มีบริษัทเหมาเหมือนตอนนี้นะ เขาจ้างก็ไป ทำไหวก็ไหว ไม่ไหวก็หยุด  ถ้าตอนนั้นไม่ทำ เงินก็หาย ค่าแรงเต็มที่วันละ 350 บาท ก็ต้องดิ้นรน ลูกเราหลายคน”

ป้าสำลีเพิ่งจะย้ายเข้ามาทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพฯ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ยกมากันทั้งครอบครัว สามี ลูก 3 คน และหลานอีก 1 คน ลูกสาวของป้าสำลีวัย 26 ปี ก็นั่งฟังอยู่ข้างๆ เป็นคนงานในไซต์เดียวกัน ป้าสำลีเล่าว่าตั้งแต่เข้ามาทำงานประจำ สวัสดิการก็ดีขึ้น เช่น การมีประกันสังคม

“แต่ก่อนทำอาชีพอิสระ งานบ้านนอกเนอะ ไม่มีสวัสดิการ เราก็ต้องช่วยเหลือตัวเอง ตอนนั้นยังไม่มีประกันสังคม เพราะเราไม่ได้ทำงานในระบบ ไม่มีอะไรช่วย มีแค่บัตร 30 บาท แค่นั้นเอง”

ในช่วงที่ลูกยังเล็ก ป้าสำลีก็ยังต้องออกมารับงานก่อสร้าง ในบรรยากาศร้อนจัด ท่ามกลางถังปูนกับกำแพง ป้าสำลีในวัยที่ยังเป็นแม่ลูกอ่อนก็หนีไม่พ้นอาการคัดนม ซึ่งเป็นอาการปกติของคนที่เพิ่งคลอดลูก

ไม่มีห้องให้นมบุตร ไม่มีผนังกั้นเพื่อความเป็นส่วนตัว มีเพียงงานตรงหน้าที่รอให้ทำจนเสร็จ

“ไม่มีหรอกเอานมออกมาแช่เย็นไว้ คัดนมก็คัดไป” ป้าสำลีว่า

“ตอนทำงานก็เป็นธรรมดา ก็ต้องปวดคัดนม เพราะลูกเราไม่ได้กินนม ถ้านมออกมาเราก็ต้องบีบทิ้ง แต่ถ้าอยู่กับลูก เราก็ให้กินนมเรา เลี้ยงแบบผสมกัน กินทั้งนมผง นมแม่”

ป้าสำลีชดเชยเวลาให้ลูก ด้วยการดูแลหลังเลิกงาน อยู่ด้วยกันพร้อมหน้าพร้อมตาทั้งครอบครัว และส่งเสียจนลูกเรียนจบมัธยมและอนุปริญญา

“ตอนที่ลูกเรียนก็ยิ่งลำบาก คนเล็กเขาเรียน เราก็ต้องส่ง หาให้เขาเรียน ตอนมัธยมค่าเทอมไม่ต้องจ่าย รัฐช่วย ถ้ามีทุนอะไรมา โรงเรียนก็จะดูว่าคนไหนยากจน ก็จะช่วยเหลือ ลูกสาวคนกลางก็เรียนดีจนจบอนุปริญญา เขากำลังจะไปต่อปริญญาตรี ตอนนี้ทำบัญชีอยู่ที่บริษัทเดียวกันนี่แหละ”

ลูกสาวคนโต ทำงานอยู่กับแม่ ลูกสาวคนกลางทำงานบัญชี ส่งเสียตัวเองเรียน ส่วนลูกคนเล็กกำลังจะจบ ม.6 มีพี่และพ่อแม่คอยสนับสนุน อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ที่ดูแลกันให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

“ถ้าจะมีสวัสดิการสักอย่าง ก็อยากให้ช่วยเรื่องการเรียนนี่แหละ ให้จนจบปริญญาตรี เพราะดีกับตัวลูกไง ได้ความรู้เยอะ ได้ทำงานดี ไม่ต้องลำบาก” ป้าสำลีตอบด้วยเสียงห้วนกระชับชัดเจนเช่นเคย ก่อนจะลุกขึ้นไปฉาบปูนต่อ

“ไปทำงานก่อนนะ” คือคำร่ำลาของป้าสำลี

 

เจมส์ 24 ปี

พนักงานซูเปอร์มาร์เก็ต

 

 

“ถ้าถามว่าทุกวันนี้เราอยากทำอะไร เราอยากมีใบปริญญาให้แม่ แต่มันทำไม่ได้ กลายเป็นปมเล็กๆ แต่เราก็อยากเป็นแม่ที่ดี”

เจมส์ พนักงานซูเปอร์มาร์เก็ต เริ่มเล่าเรื่องให้ฟัง เราคุยกันในมุมที่คนไม่พลุกพล่านนักในร้าน เธอมีลูกสาว 2 คน คนโตอายุ 9 ขวบ ส่วนคนเล็กอายุ 1 ปี 2 เดือน เธอทำงานที่ห้างนี้มาเกือบ 3 ปี ทำทั้งแคชเชียร์ จำหน่ายคูปอง เช็คสินค้า ฯลฯ ตามที่มีงานมอบหมายมาให้ทำ

เจมส์บอกว่า แม้ว่าลูกจะเป็นความสุขของเธอ แต่ขณะเดียวกันลูกก็เปลี่ยนชีวิตเธอด้วย

“ตอนแรก เรามีเป้าหมาย อยากมีรถ บ้าน อยากเรียนต่อ กำลังจะไปสมัครเรียนเลย แต่พอรู้ว่ามีลูก ทุกอย่างก็ต้องหยุด พอได้เห็นหน้าเขาเราก็หายเหนื่อย จะยากลำบากยังไงก็ต้องฝ่าฟันไปให้ได้ เราต้องรับผิดชอบ”

ไม่ใช่แค่หยุดเป้าหมายในชีวิตไว้ก่อน แต่ภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นก็ตามมาทันทีที่มีอีกหนึ่งชีวิตเพิ่มขึ้น

“เรากลับมาทำงาน ลูกคนเล็กเราส่งกลับไปอยู่ต่างจังหวัดให้ย่าเลี้ยง เพราะต่างจังหวัดค่าใช้จ่ายถูกกว่ากรุงเทพฯ นมกับผ้าอ้อมเด็กเราก็ส่งไปให้ เงินเดือนเรากับแฟนรวมกันต้องใช้กัน 4 คน ต้องให้ทางฝั่งย่าที่ดูแลน้องด้วย เงินก็แทบจะไม่เหลือเลย เรียกว่าเดือนชนเดือน”

โชคดีที่ยังมีสวัสดิการจากทางบริษัทช่วยให้ทุนการศึกษาของลูกพนักงาน ทำให้แบ่งเบาภาระในการส่งเสียลูกไปได้บ้าง

“ตอนที่เราท้องบริษัทก็จะให้เราหยุดพักงาน 3 เดือน และได้เงินเดือน 45 วัน โอเคนะ มีประกันสังคม หรือถ้าเรามีต้องใช้เกินนอกเหนือจากประกันสังคม ก็สามารถนำใบเสร็จมาเบิกได้ และถ้าเราทำงานครบ 3 ปี บริษัทจะให้ทุนการศึกษาลูกของพนักงานตั้งแต่ ป.1 สวัสดิการพวกนี้ก็ช่วยเราได้เยอะ”

“การมีลูก ไม่มีใครจะพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ละคนคิดไม่เหมือนกัน จริงๆ เรื่องเงินก็สำคัญ ตอนนี้เราเก็บเงินอย่างเดียว เป็นปัจจัยหลักในการเลี้ยงลูกเลย”

 

พจน์ อายุ 21 ปี

พนักงานรักษาความปลอดภัย

 

  

งานของพจน์เริ่มต้นเมื่อเวลา 18.30 น. ดูแลความเรียบร้อยในมหาวิทยาลัยตลอดค่ำคืน เรื่อยยาวไปจนถึง 06.30 น. ของเช้าวันใหม่ เมื่อแรงยังเหลือ เขาขยับไปช่วยทำสวนเล็กๆ น้อยๆ ให้ที่คณะ ได้เงินเพิ่มมาอีก 150 บาท พอเที่ยงจึงค่อยกลับไปพักผ่อนที่บ้านใกล้มหาวิทยาลัย วิถีชีวิตวนเวียนอยู่เช่นนี้

ขณะเดียวกัน ลูกของพจน์ก็กำลังจะครบ 1 ขวบ และพจน์ก็ทำหน้าที่พ่ออย่างขยันขันแข็ง

“จริงๆ วัยเรายังไม่น่าจะมีลูก แต่เราไม่ได้พลาด ไม่อยากใช้คำนั้น เพราะผมอยู่กินกับแฟนมาก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ใช่มีอะไรกันก่อน” พจน์เริ่มเล่าเรื่องให้ฟัง

“ข้อดีของการมีลูกคือทำให้เรามีความสุขมากขึ้น มีอะไรก็คุยเล่นกันได้ ข้อเสียคือเหนื่อย ต้องคอยดูแล บางทีเรานอนไม่ได้ ถ้าลูกไม่นอน ถ้าคนอื่นมีทุนทรัพย์ก็อาจจ้างคนมาช่วยเลี้ยงได้ แต่เราไม่มีทุน จะไปจ้างใคร ก็ต้องสู้กันเอง

“การมีลูกเปลี่ยนชีวิตผมไปเยอะ เราเคยอยู่คนเดียว ไม่ต้องสนใจอะไร แต่ตอนนี้ถ้าไม่มีคนดูลูก ไม่ได้เลย เผลอแป๊บเดียวก็ไปคว้าอะไรต่อมิอะไร การมีลูกสอนให้เราอดทน”

แม้ว่าพจน์จะทำงานหนัก แต่รายได้ก็ยังไม่พอรายจ่าย เพราะค่านมและค่าผ้าอ้อมของลูกก็กินรายจ่ายไปมากโข

“เราก็ได้เงินสงเคราะห์บุตรมาช่วยเดือนละ 600 บาท แต่จริงๆ เราซื้อนมครั้งนึงเป็นพัน ไหนจะผ้าอ้อมเด็กอีก ของหลายอย่างลูกก็ใช้แบบเราไม่ได้ อาบน้ำก็ใช้สบู่แบบเราไม่ได้ กินแบบเราก็ไม่ได้ ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้น เราก็ต้องประหยัดเงินมากขึ้นอีก ไหนจะค่าเช่าห้อง ทุกวันนี้ผมอยู่ด้วยค่าจ้างรายวันของแฟน กินอยู่รวมกันวันละ 300 บาท ส่วนเงินเดือนผมเก็บเอาไว้ใช้อย่างอื่น”

เขาเล่าต่อว่า ถึงแม้จะลำบาก แต่ในอนาคตก็ยังอยากมีลูกอีก แต่อาจจะไม่ใช่ตอนนี้ “ต้องรออะไรหลายๆ อย่างให้พร้อมก่อน” พจน์ว่า

“อย่างแรกคือเรื่องเงิน เพราะว่าถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาก็ลำบาก อย่างตอนแรกที่ฝากท้องกับอัลตราซาวนด์ ผมไปโรงพยาบาลเอกชน ไปสองครั้งก็เกือบหมื่นแล้ว ตอนแรกคิดว่าจะสู้ แพงก็จะสู้ เพราะไม่อยากไปไกล แต่สุดท้ายไม่ไหว ก็ไปคลอดที่โรงพยาบาลรัฐ ผมเทียวหายืมเงินไปทั่ว สุดท้ายโรงพยาบาลก็เก็บไม่แพงมาก”

ปัญหาหนึ่งคือพจน์เป็นพนักงานบริษัทก็จริง แต่เขาบอกว่า ก็เหมือนเป็นลูกจ้างรายวัน ไม่มีสวัสดิการมากนัก “เรียกว่าไม่มีอะไรเลยดีกว่า” เขากล่าวย้ำ

“จริงๆ ก็มีคนช่วยเหลือเยอะนะ อาจารย์ที่คณะก็ให้ของมา ทุกวันนี้ไม่ต้องถึงกับไปกู้ใคร ที่มีตรงนี้ก็พอแล้ว”

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save