fbpx

ศิลปะแห่งการแสดงและกำกับ บทสรุป Masterclass ของทิลดา สวินตัน และ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

คงไม่เกินเลยนักหากจะบอกว่าช่วงต้นปี 2022 ที่ผ่านมา ถือเป็นห้วงเวลาที่น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับแวดวงภาพยนตร์ไทยเป็นอย่างยิ่ง หนังไทยทั้งในและนอกกระแสทยอยไล่เรียงเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ รวมทั้ง Memoria (2021) หนังลำดับล่าสุดของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล หลังห่างหายจากการกำกับหนังยาวมาตั้งแต่ รักที่ขอนแก่น (2015) และนับเป็นหนังเรื่องแรกที่ถ่ายทำนอกประเทศไทย โดยร่วมงานกับทีมงานต่างชาติและถ่ายทำที่โคลอมเบียทั้งเรื่อง

Memoria จับจ้องไปยังเรื่องราวของเจสสิกา (ทิลดา สวินตัน) หญิงสาวจากสก็อตแลนด์ที่ใช้ชีวิตอยู่ในโคลอมเบีย เธอมักได้ยินเสียงดัง ‘ปัง!’ อยู่ในหัวเสมอ และขณะเพียรพยายามหาคำตอบที่มาของเสียงนั้น เธอกลับพบว่าตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับความพิศวงของดินแดนในอเมริกาใต้แห่งนี้ ตัวหนังคว้ารางวัล Jury Prize และส่งอภิชาติพงศ์เข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ที่ผ่านมา (นำมาสู่การกล่าวสปีชอันชวนประทับใจอย่างการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและโคลอมเบียทำงานเพื่อประชาชนท่ามกลางสภาวะโรคระบาด)

ในวันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หอภาพยนตร์ ร่วมกับ Kick the Machine Films และ Common Move จัดงาน Acting, Being, Shape-shifting : Masterclass with Tilda Swinton สนทนากับทิลดา สวินตันในฐานะนักแสดงอาชีพ (ซึ่งเธอออกตัวว่า เธอไม่เคยพิจารณาหรือมองตัวเองเป็นนักแสดงเลย!) และ Memory of Filmmaking : Masterclass กับอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ในฐานะคนทำหนังและเบื้องหลังงานกำกับต่างๆ ซึ่ง 101 สรุปใจความสำคัญของงานทั้งสองไว้ในบทความชิ้นนี้ดังนี้

MEMORIA_STILL_1_ ©Kick the Machine Films, Burning, Anna Sanders Films, Match Factory Productions, ZDF-Arte and Piano, 2021

Acting, Being, Shape-shifting : Masterclass with Tilda Swinton

สำหรับงาน Acting, Being, Shape-shifting สวินตันเล่าถึงช่วงแรกเริ่มที่เธอเข้ามาสู่โลกของการแสดง นั่นคือการรับบทนำในหนังของผู้กำกับคู่บุญ ดีเร็ค จาร์แมน เรื่อง Caravaggio (1986)

“ตอนได้เจอกับดีเร็ค จาร์แมน ฉันยังคิดอยู่เลยว่าไม่ได้อยากเป็นนักแสดง ตอนนั้นแค่รู้สึกว่าอยากใช้ชีวิตท่ามกลางศิลปินและคนทำงานศิลปะเท่านั้น” เธอเล่า อย่างไรก็ตาม หากวัดจากเส้นทางการแสดงอันยาวนานของเธอแล้ว การจับพลัดจับผลูได้เจอจาร์แมนในวัย 26 ปี ก็นับว่าเป็นหมุดหมายสำคัญที่เปลี่ยนชีวิตนักศึกษาธรรมดาๆ อย่างสวินตันไปตลอดกาล เพราะหลังจากนั้นเธอก็กลายเป็นนักแสดงขาประจำของผู้กำกับชาวอังกฤษแทบจะในทันที แม้สวินตันจะออกตัวว่าเธอไม่เคยเข้าเรียนการแสดงหรือแม้แต่ลงเรียนคอร์สสั้นๆ ว่าด้วยการสวมบทบาทเป็นตัวละครอื่นเลยก็ตามที

“ฉันไม่เคยพิจารณาตัวเองว่าเป็นนักแสดงมืออาชีพเลยจริงๆ นะคะ” เธอบอก “แต่รู้ว่านักแสดงล้วนแล้วแต่ก็ทุ่มเทอย่างหนักเพื่องาน เพื่อรับบทบาทตัวละครแต่ละตัว แต่ฉันก็ไม่รู้อยู่ดีว่าตอนที่เขาเรียนการแสดงนั้นพวกเขาเรียนอะไรกัน อาจต้องบอกว่าฉันเองก็ไม่ได้มีความรู้เรื่องการแสดงมากนักนะคะ”

สวินตันเล่าถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอังกฤษยุค 80s ซึ่งเธอระลึกว่า หนังอิสระมากมาย รวมทั้งหนังของจาร์แมน ไม่ได้รับความสนใจทั้งจากรัฐบาลและคนดูมากนัก ประกอบกับการเติบโตของวัฒนธรรมโทรทัศน์ที่ขยับขยายใหญ่โตที่ดึงความสนใจจากผู้คนไปเกือบหมด รวมทั้งรัฐบาลในเวลานั้นยังหั่นงบประมาณสำหรับการสนับสนุนศิลปะไปสนับสนุนการท่องเที่ยวแทน (“ซึ่งแย่มาก เพราะมันไม่ได้มีอะไรน่าเที่ยวเลยจริงๆ” สวินตันบอก) จนอาจกล่าวได้ว่านั่นเป็นช่วงเวลาตกต่ำของคนทำหนังอิสระในอังกฤษ

“ตอนนั้นเองที่ BFI (สถาบันภาพยนตร์อังกฤษ -The British Film Institute) มีนโยบายให้การสนับสนุนแก่คนทำหนังอิสระ ทำให้อุตสาหกรรมหนังในอังกฤษค่อยๆ โตขึ้น คนทำหนังถ่ายทำด้วยกล้อง super 8 และใช้งบประมาณไม่มากนัก โดยขั้นตอนที่อาจต้องใช้เงินจริงๆ คือกระบวนการหาช่องทางในการจัดจำหน่ายมากกว่า ซึ่งทางสถาบัน BFI ก็ช่วยได้มาก และฉันคิดว่านี่เป็นห้วงเวลาที่ทรงพลังและส่งอิทธิพลต่อคนทำหนังอย่างมากเลยทีเดียวค่ะ” สวินตันกล่าว

MasterClass_Tilda Swinton

อย่างไรก็ตาม สำหรับการแสดงใน Caravaggio ซึ่งนับเป็นเรื่องแรกของสวินตัน มีฉากจำอันแสนตราตรึง เมื่อเลนา ตัวละครที่เธอรับบทหันมาสบตากับคนดู โดยสวินตันเล่าว่าความเป็นมือใหม่ถอดด้ามและไม่เคยแสดงหนังอะไรมาก่อน ทำให้เธอรู้สึกว่าตลอดเวลาที่ถ่ายทำอยู่นั้น เธอรู้สึกว่าตัวเองกำลัง ‘ถูกจ้องมอง’ อยู่เสมอ “ฉันเลยเอาเรื่องนี้ไปบอกกับดีเร็ค ว่าอยากหันไปสบตากับกล้องได้ไหม แล้วเขาก็บอกว่าได้ ทำเลย” สวินตันเล่า “ดังนั้นฉันเลยหันไปจ้องตากับกล้อง ซึ่งดีเร็คชอบมาก เขาบอกว่ามันมีพลังงานความโกรธเคืองบางอย่างจากฉัน”

เช่นเดียวกันกับ Caravaggio หนังอีกเรื่องที่สวินตันจ้องมองลึกเข้ามายังคนดูคือ Orlando (1992) กำกับโดย แซลลี พ็อตเตอร์ ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมชื่อเดียวกันของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ นักเขียนชาวอังกฤษ สวินตันรับบทเป็น ออร์แลนโด ขุนนางหนุ่มที่วันดีคืนดีตื่นมาแล้วพบว่าตัวเองกลายเป็นผู้หญิง ซึ่งหากมองย้อนกลับไปแล้ว นี่อาจนับเป็นต้นธารของภาพลักษณ์ ‘ไร้เพศ’ ของสวินตันในเวลาต่อมาด้วย

“ใน Orlando เองก็มีฉากที่ตัวละครจ้องกลับมายังคนดูเหมือนกัน และมีฉากที่ตัวละครบอกว่า ‘Same person, no difference at all, just a different sex.’ (‘ฉันคนเดิมนี่แหละ ไม่มีอะไรเปลี่ยนไปเลย แค่เพศเท่านั้นที่เปลี่ยน’) ซึ่งฉันคิดว่านี่แหละคือการส่งสารที่ยิ่งใหญ่มาก” เธอบอก

ทั้งนี้ สวินตันนับเป็นหนึ่งในนักแสดงที่ขึ้นชื่อเรื่องการปรับรูปลักษณ์และโฉมหน้าตามบทบาทจนคนดูจำแทบไม่ได้ ไม่ว่าจะการสวมฟันปลอมและสวมวิกประหลาดใน Snowpiercer (2013) ของผู้กำกับชาวเกาหลีใต้ บองจุนโฮ, เป็นหญิงแก่หง่อมเสพสวาทกับพนักงานหนุ่มใหญ่ที่โรงแรม The Grand Budapest Hotel (2014) แถมยังเป็นไม่รู้กี่บทบาทใน Suspiria (2018 -ที่แทบจะพูดได้ว่ามีอย่างน้อยก็บทหนึ่งที่คนดูหลายคนจำเธอไม่ได้เลย)

“เอาเข้าจริงฉันก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนอะไรไปมากมายนะคะ อาจจะเปลี่ยนแค่ชุด เสื้อผ้า การแต่งกายหรือการใช้เสียง แล้วทุกครั้งที่ได้ร่วมงานกับผู้กำกับใหม่ๆ ไม่ว่าจะอภิชาติพงศ์หรือบองจุนโฮหรือคนอื่นๆ ฉันก็ไม่ได้รู้สึกว่าต้องเปลี่ยนอะไร มีเพียงแค่ความตื่นเต้น ดีใจที่จะได้ร่วมงานกับผู้กำกับซึ่งเป็นเสมือนบ้านของฉันเหล่านี้

“แต่ก็นั่นแหละ กับบางครั้ง คนดูอาจเห็นว่ามี ‘การแสดง’ เกิดขึ้น มีการรับบทบาทบางอย่างซึ่งหลายคนก็ชอบที่จะได้ทำแบบนั้น แต่สำหรับฉันแล้วนั่นมันดึงความสนใจจากคนดูเกินไป เวลาฉันดูหนัง ฉันมักชอบที่ได้เห็นคนบนจอในลักษณะที่ไม่ได้รู้สึกว่าพวกเขากำลังถูก ‘จับจ้อง’ อยู่น่ะ เหมือนเวลาเราดูสารคดี ที่ปรากฏบนจอก็เป็นซับเจ็กต์ ซึ่งบางทีฉันก็อยากเรียกตัวเองว่าเป็นซับเจ็กต์เหมือนกันนะ” เธอบอก

“เวลาฉันทำงาน ฉันมักคุยกับผู้กำกับอย่างหนักเสมอ ไม่ว่าจะดีเร็ค บองจุนโฮ หรืออภิชาติพงศ์ ไม่ต่างกันเลย การให้ความสำคัญกับบทสนทนาระหว่างกันนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก มันเป็นเสมือนลำต้นของต้นไม้ใหญ่ โดยที่โปรเจ็กต์ต่างๆ ไม่ว่าจะการแสดงหรืองานนิทรรศการ คือกิ่งก้านสาขาที่งอกออกมาจากลำต้นนั้น ดังนั้นแล้ว ลำต้นคือฐานของความคิดสร้างสรรค์ให้เราได้ทำในสิ่งที่รัก เป็นกลไกการทำงานที่ดี และเป็นรากของการทำงาน ของการถ่ายหนังที่อนุญาตให้เราแสวงหาคำตอบบางอย่างไปเรื่อยๆ ซึ่งนี่เองที่ทำให้เรายังมีชีวิตชีวาอยู่ การทำงานที่คิดแค่ว่าจะต้องทำให้เสร็จนั้นไม่อาจนำไปสู่อะไร ทั้งยังสร้างความกดดันให้ผู้กำกับด้วยค่ะ”

นอกจากนี้ สวินตันยังเป็นที่จดจำในหนังฟอร์มยักษ์หลายต่อหลายเรื่อง ไม่ว่าจะบทบาทของแม่มดขาวจอมอำมหิตใน Chronicles of Narnia: The Lion, the Witch and the Wardrobe (2005), เทวทูตกาเบรียลที่ไปนั่งสนทนากับหมอผีติดบุหรี่ Constantine (2005) และจอมเวทย์จากหนังทุนสร้าง 165 ล้านเหรียญฯ Doctor Strange (2016) ซึ่งเธอบอกอย่างแสนปิติว่าการถ่ายทำหนังที่ใช้ CGI แทบทั้งเรื่องเหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรจากการแสดงในหนังฟอร์มเล็กเรื่องอื่นๆ เลย

“มันเหมือนกับเวลาที่ฉันได้ร่วมงานกับผู้กำกับคนอื่นๆ นั่นแหละค่ะ คือมันเริ่มขึ้นมาจากบทสนทนา อย่างตอนร่วมงานกับ ฟรานซิส ลอว์เรนซ์ (กำกับ Constantine) เขาก็บอกฉันว่า ‘ตอนนี้ผมมีโปรเจ็กต์ทำหนังอยู่เรื่องนึง ยังไม่รู้หรอกนะว่าจะออกมาเป็นอะไร แต่มีความเป็นหนังทดลองหน่อยๆ มีบทที่ผมอยากให้คุณมาแสดง มีปีกด้วยนะ สนใจไหม’ ฉันตอบทันทีเลยว่า ‘สนสิ’

“หรือตอนร่วมงานกับ เดวิด ฟินเชอร์ ในเรื่อง The Curious Case of Benjamin Button (2008) ซึ่งตัวฟินเชอร์เองก็เป็นพวกคลั่งหนังอยู่แล้ว การทำงานกับเขาไม่ต่างไปจากการทำงานกับดีเร็คเลย เราพยายามหาทางทำอะไรใหม่ๆ ด้วยกันเสมอ ถ้าจำไม่ผิดนี่น่าจะมีการทดลองใช้เทคโนโลยี de-aged (การปรับแต่งให้นักแสดงดูอ่อนวัยหรือแก่กว่าอายุโดยใช้คอมพิวเตอร์กราฟิก) ในภาพยนตร์เป็นครั้งแรกๆ เลยมั้งคะ คือทำให้ แบรด พิตต์ (รับบทนำในเรื่อง) เป็นทั้งคนแก่และกลับไปอายุยี่สิบอีกครั้งน่ะ โคตรน่าตื่นเต้นเลยใช่ไหมล่ะ

“ฉันชอบเวลาได้ทำในสิ่งที่ไม่รู้ ไม่รู้ว่ามันจะออกมาเป็นแบบไหน ออกมาเป็นอะไร อาจเพราะโดยส่วนตัวแล้วฉันชอบอะไรแบบนี้ด้วยละมั้งคะ ชอบความไม่รู้ ชอบสิ่งที่ไม่อาจบรรยายได้ด้วยคำพูดบางอย่าง”

กลับมาที่การร่วมงานกับอภิชาติพงศ์ใน Memoria สำหรับสวินตัน เธอเคยดูหนังของเขาเป็นครั้งแรกก็จากเรื่อง สัตว์ประหลาด (2004) เมื่อเข้าฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์ (และส่งอภิชาติพงศ์ชิงปาล์มทองคำด้วย) ในขวบปีที่เธอเป็นคณะกรรมการของสายประกวด “ฉันอุทานว่า fuck! เลยนะตอนได้ดูหนังของเขาเป็นครั้งแรก ชอบมาก คิดว่าอยากร่วมงานกับคนคนนี้จังเลย และเมื่อยิ่งได้พูดคุยกันก็ยิ่งรู้สึกว่าเราต่างก็เป็นคนที่หลงใหลในภาพยนตร์กับศิลปะอย่างแรงกล้าด้วยกันทั้งคู่

“ฉันคิดว่าเฟรมภาพในหนังของอภิชาติพงศ์มันหมดจดมาก เขาให้เราดูป่า ตัวละครอยากทำอะไรก็ทำ เราคาดเดาอะไรไม่ได้ทั้งนั้น” เธอเล่า “สำหรับฉันแล้วเฟรมภาพเป็นสิ่งสำคัญมาก เวลาเราดูหนังเราจะเห็นว่าในเฟรมภาพนั้นมีใครอยู่บ้าง อย่างเช่นถ้าเป็น mid-shot (ถ่ายครึ่งตัว) แล้วในเฟรมนั้นมีตะเกียง ฉันก็จะสนใจตะเกียงมากกว่า หรือเมื่อเราเข้าไปอยู่ในเฟรมภาพ มันก็สำคัญมากว่าเรานั่งตรงไหน อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบใด ถูกรายล้อมด้วยอะไรบ้าง มันน่าสนใจนะคะ เพราะการจะเป็นมนุษย์ที่เข้าไปอยู่ในแต่ละเฟรมนั้น ฉันคิดว่าเราจำเป็นต้องรู้ด้วยว่าเราอยู่ในสภาพแวดล้อมอย่างไรบ้าง

“กับการแสดงใน Memoria ตัวละครของฉันสันโดษมาก ไม่คุยกับใคร มีกำแพงระหว่างตัวละครกับคนอื่นๆ ในเรื่องเป็นภาษาสเปน ซึ่งนี่ทำให้ตัวละครเจสสิกาใกล้กันกับตัวฉันมากทีเดียว ดังนั้น ฉันก็แค่ไว้ผมยาวขึ้นมาหน่อย ย้อมผมเป็นสีน้ำตาล แต่งตัว แต่นอกจากนี้แล้วฉันก็ไม่ได้ทำอะไรเลย เนื่องจากตัวละครเจสสิกามีความเป็นตัวฉันอยู่มากมายเหลือเกิน ฉันอยากให้ตัวละครนี้เป็นตัวแทนของคนดูแบบไหนก็ได้ อยากให้เธอเป็นภาพแทนของความรู้สึกกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ของความยากลำบากในการใช้ชีวิต อยากให้ตัวละครนี้ยื่นมือออกไปจับมือคนดู เพื่อจะมอบความรู้สึกที่ว่า เราต่างเข้าใจว่าภาวะนี้มันชวนให้รู้สึกอย่างไรค่ะ”

Memory of Filmmaking : Masterclass กับอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ขณะที่ Memory of Filmmaking : Masterclass อภิชาติพงศ์ร่วมกันกับ สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์ ผู้ช่วยผู้กำกับที่เคยร่วมงานด้วยกันมาตั้งแต่ สัตว์ประหลาด, แสงศตวรรษ (2006) และ รักที่ขอนแก่น โดยอภิชาติพงศ์ออกตัวตั้งแต่แรกๆ ว่าจำอะไรไม่ค่อยเก่งนัก (และยกย่องว่า เจนจิรา พงศ์พัศ นักแสดงคู่บุญของเขาเป็น ‘memory bank’ “เพราะป้าเจนจำได้ขนาดว่า วันไหนกินข้าวเที่ยงอะไร”) และที่ผ่านมาก็มักจดความคิด เรื่องราวต่างๆ ของผู้คนรวมถึงความฝันตัวเองใส่สมุดจดเนื่องจากรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีค่ามาก

“สำหรับเรา การเขียนไดอารี่คือการบันทึกความฝัน เพราะในภาพฝันนั้นมันคือเราขณะที่สมองประมวลเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งแล้วนำมาตีความใหม่ ดังนั้น การได้ฝันจึงเหมือนการดูหนัง เราจึงมักจดและวาดรูปสิ่งที่เห็นในฝันลงสมุดบ่อยๆ แล้วอีกอย่างคือ ปากกาที่เราใช้จดและใช้วาดก็สำคัญมาก เราสามารถเลือกปากกาในร้านได้เป็นชั่วโมงๆ เลย” อภิชาติพงศ์กล่าว ก่อนขยายความว่า ช่วงที่ออกกองไปถ่ายทำเรื่อง Memoria ในโคลอมเบียนั้น เขาก็จดเรื่องราวหลายสิ่งหลายอย่างลงสมุดจด โดยเฉพาะในช่วงที่ออกเดินทางจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่ง “เราเขียนไฮไลต์ว่าชอบอะไรตรงไหนบ้าง สรุปออกมาอีกทีแล้วค่อยย้ายที่ เพราะถ้าอยู่ที่เดิมๆ นาน 4-5 วันจะเริ่มคิดอะไรไม่ค่อยออกแล้ว

“เราไม่แน่ใจว่าเพราะเราจบคณะสถาปัตย์มาหรือเปล่า (อภิชาติพงศ์จบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น) เราจึงรู้สึกว่าเราต้องได้เห็นโลเคชั่นก่อนแล้วจึงจะคิดได้ว่าควรมีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้นในที่แห่งนี้บ้าง หรือไม่อย่างนั้นก็อาจเป็นภาวะอยากหลบหนีจากอะไรสักอย่าง ตอนไปถ่ายทำที่โคลอมเบีย เราไม่มีความทรงจำของเราเกี่ยวกับพื้นที่แห่งนี้เลย ดังนั้นจึงไปนั่งซึมซับบางอย่างมาเฉยๆ ขณะที่พื้นที่ในไทยมันมีเรื่องของความทรงจำเข้ามาเกี่ยวพันค่อนข้างมาก”

MasterClass_Apichatpong

ทั้งนี้ โลเคชั่นนับเป็นหนึ่งในจุดเด่นในงานของอภิชาติพงศ์ หลายต่อหลายเรื่องเราจะพบว่าตัวละครของเขาถูกรายล้อมไว้ด้วยป่า ใช้ชีวิตในบ้านเรือนเก่าๆ รวมทั้งฉากโรงพยาบาลและต้นกล้วยอันคุ้นตา (ถึงขั้นมีคนตั้งข้อสังเกตว่าหนังของอภิชาติพงศ์แทบทุกเรื่องมักมีต้นกล้วยเป็นฉากหลังเสมอ) อภิชาติพงศ์อธิบายว่า “เป็นไปได้ที่เราชอบความบ้านๆ แล้วเราชอบอะไรไม่กี่อย่างหรอก ก็ชอบป่า ชอบโรงพยาบาล ซึ่งมันเกิดจากประสบการณ์ในวัยเด็กด้วย อย่างตอนเด็กๆ เรามีบ้านอยู่แถวโรงพยาบาลเล็กๆ ในขอนแก่น เป็นบ้านไม้สองชั้น หลังบ้านเป็นห้องครัวที่หน้าต่างติดกันกับต้นกล้วยและต้นมะละกอ เราจำเฟรมนี้ได้แม่นมากเลย” เขาเล่า ” อย่างใน Memoria ก็มีฉากต้นกล้วย ตอนเราหาโลเคชั่นถ่ายทำแล้วเจอบ้านที่มีต้นกล้วยก็รู้สึกว่า หลังนี้แหละ ใช่เลย

“จริงๆ เรื่องโลเคชั่นในหนังเรามันสำคัญมากนะ บางโคเคชั่นมันก็เล่นอะไรไม่ได้เยอะ อย่างหนังเรามันแช่ภาพค่อนข้างนาน ใช้การตัดต่อเข้ามาช่วยไม่ได้มาก ดังนั้น โลเคชั่นในหนังเรามันจึงต้องอยู่ได้ด้วยตัวของมันเองด้วย”

ประเด็นลำดับต่อมาที่หลายคนให้ความสนใจคือนักแสดงของอภิชาติพงศ์ Memoria คือการร่วมงานเป็นครั้งแรกระหว่างเขากับนักแสดงดังระดับโลกอย่างสวินตัน เช่นเดียวกับนักแสดงสัญชาติโคลอมเบียทั้ง ฆวน ปาโบล เออร์เรโก, เอลกิน ดีอาซ ขณะที่เมื่อก่อนอภิชาติพงศ์มักร่วมงานกับชาวไทยที่ไม่ได้เป็นนักแสดงอาชีพ (และจะกลายเป็นนักแสดงคู่บุญของเขาเสมอ) ไม่ว่าจะ ศักดิ์ดา แก้วบัวดี, เจนจิรา พงศ์พัศ ซึ่งผู้คนเหล่านี้ล้วนมีสิ่งที่เขามองหาบางอย่างให้หนังของตัวเองเสมอ

“เราชอบให้คนอยู่เฉยๆ พูดคุยกันธรรมดา ไม่ต้องแอ็กติ้งใส่กัน แต่ก็ยังอยากให้รู้สึกว่ามีอะไรข้างในตัวพวกเขาด้วย” อภิชาติพงศ์กล่าว แล้วอธิบายเงื่อนไขบางอย่างเวลาเขามองหานักแสดง หนึ่งในนั้นคือ ‘สายตานิพพาน’ (และทำคนฟังเกือบทั้งหอภาพยนตร์สงสัยว่าคืออะไร)

“นักแสดงของเราทุกคนนั้นมีบางอย่างที่เชื่อมต่อกับเรื่องราวที่เราอยากเล่า แล้วสิ่งที่เรามองหาในนักแสดงเหล่านี้คือ ต้องเป็นคนที่มองแล้วดูนิพพาน ซึ่งมันอธิบายให้ทีมงานแคสติ้งที่โคลอมเบียฟังยากมากว่ามันคือสายตาแบบไหน แต่มันเป็นสิ่งที่ทิลดาทำได้ ฆวน ปาโบล เออร์เรโกก็ทำได้ และยิ่งกับเออร์เรโก เรารู้สึกว่าเวลาเขาอยู่ในกล้องหรือนั่งเฉยๆ เขามีมากกว่าความหน้าตาดี แต่เป็นความเศร้าบางอย่างในสายตาด้วย อีกทั้งเขายังพูดภาษาที่เราไม่เข้าใจ คือภาษาสเปน เราจึงต้องดูแววตาเขาเป็นหลัก” เขาว่า

MEMORIA_STILL_5_ ©Kick the Machine Films, Burning, Anna Sanders Films, Match Factory Productions, ZDF-Arte and Piano, 2021

“ในหนัง มันมีฉากที่ทิลดานั่งดูนักดนตรีเล่นดนตรีในห้องเล็กๆ เธอมาถามเราว่าอยากให้แสดงสีหน้าแบบไหน อยากให้ตัวละครเจสสิกาคิดอะไรในใจ เราตอบไปว่าเบื้องต้นก็อยากให้เป็นสีหน้าของคนที่ประทับใจดนตรีที่ได้ฟัง และตัวละครเจสสิกาจะคิดอะไรก็ได้ แต่อย่าให้เรารู้นะว่าเธอคิดอะไรอยู่ และนี่แหละที่ทำให้ฉากนั้นออกมาน่าดู เพราะมันทำให้รู้สึกว่าตัวละครถูกตรึงไว้ด้วยดนตรีอย่างแรงกล้า นี่เองที่ทำให้ฉากนี้มันงาม”

เช่นเดียวกับสวินตัน อภิชาติพงศ์ให้ความสำคัญกับเฟรมภาพที่ปรากฏในภาพยนตร์ของเขาเป็นลำดับต้นๆ อาจเพราะส่วนหนึ่ง หนังของเขามักขยับเคลื่อนกล้องช้าและแช่เฟรมนาน ทุกสิ่งที่ปรากฏในนั้นจึงต้องมีความหมายและมีเลือดเนื้ออยู่ได้ด้วยตัวเอง “การตัดต่อมันช่วยได้น้อยเพราะภาพนิ่งมาก ดังนั้น master shot ก็ต้องเอาให้อยู่ แล้วมุมอื่นๆ ที่ตามมาหลังจากนั้นก็เป็นตัวช่วย

“คนที่เข้าใจเรื่องเฟรมของเรามากที่สุดคือ สอง (สยมภู มุกดีพร้อม -ผู้กำกับภาพชาวไทยและกำกับภาพใน Memoria ด้วย) ซึ่งเราร่วมงานกับสองมาตั้งแต่ปี 2001 สองเป็นคนเดียวที่เข้าใจว่าความไม่สมบูรณ์แบบคืออะไร เราว่างานภาพก็เหมือนคน สวยหล่อไปมันก็ไม่ค่อย… ใช่ไหม คือสำหรับเรา เฟรมภาพต้องหายใจได้ เราต้องถ่ายกันหลายๆ มุมแล้วเอาไปดูตอนตัดต่ออีกทีหนึ่ง เพราะเฟรมภาพเหล่านี้ต้องหายใจร่วมกันทั้งเรื่อง ไม่ใช่แค่ช็อตเดียว และถ้าบางที เวลาเราถ่ายทำแต่ละช็อตแล้วเราวิเคราะห์มากไป สิ่งเหล่านี้มันก็จะหายไปด้วยเลย ดังนั้น เราจึงชอบงานภาพที่เหมือนเราเป็นแค่คนมองมากกว่า”

ในเวลาต่อมา อภิชาติพงศ์และสมพจน์เล่าถึงเรื่องราวเบื้องหลังระหว่างการถ่ายทำ Memoria ตลอดจนฉากที่ถูกตัดออก ซึ่งสำหรับอภิชาติพงศ์และคนทำหนังมากต่อมาก การกัดฟันตัดบางฉากทิ้งไปไม่ใส่ไว้ในหนังนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้และจำเป็นจะต้องเกิดขึ้น “เพราะว่ากระบวนการสร้างศิลปะคือการตัดทอนให้เหลือแค่แกนของมันไว้” อภิชาติพงศ์อธิบาย “แล้วอีกอย่างคือเรารู้สึกว่าหนังเขาไม่เอาฉากนี้ เราจึงต้องตัด”

ไม่เกินเลยนักหากจะกล่าวว่า Memoria เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ปักหมุดหมายคนทำหนังไทยในแผนที่โลก โดยขยับขยายพรมแดนไปสู่โคลอมเบียและความเป็นสากลมากกว่าที่เคย โดยหนังจะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์บ้านเราวันที่ 3 มีนาคมนี้เป็นต้นไป

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save