fbpx
Hack Vax(xination) แฮ็กทุกกระบวนการฉีดวัคซีน กับ มารุต ชุ่มขุนทด

Hack Vax(xination) แฮ็กทุกกระบวนการฉีดวัคซีน กับ มารุต ชุ่มขุนทด

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยที่ดูจะหนักหน่วงกว่ารอบไหนๆ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของเราในตอนนี้คือ ‘วัคซีน’ ที่ยิ่งฉีดได้เร็วเท่าไหร่ ก็มีโอกาสที่โรคจะเริ่มสงบลง ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้นเท่านั้น แต่ถ้าดูสถานการณ์การจองและฉีดวัคซีนตอนนี้ ก็อาจจะเรียกได้ว่าค่อนข้างงุนงงและสับสนไม่ใช่น้อย 

ทว่าในความชุลมุนของการจองและฉีดวัคซีนในไทย กลับมีจังหวัดหนึ่งที่สามารถดำเนินการฉีดวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว เป็นระบบ จนเริ่มเกิดเป็นไวรัล (viral) ในโซเชียลมีเดีย จังหวัดที่ว่าคือนครราชสีมา (โคราช) ที่แปลงห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่สองแห่งเป็นจุดฉีดวัคซีน สามารถรองรับคนจำนวนมากได้อย่างเป็นระบบ จนกระทั่งถูกเรียกว่าเป็น ‘โคราชโมเดล’ ที่ภาคสาธารณสุขเสนอให้นำไปปรับใช้กับที่อื่นๆ ต่อไป

เบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้คือทีม ‘Hack Vax’ ซึ่งมีทั้งทีมนวัตกรรม นักวิจัย นักออกแบบ นักสื่อสาร ไปจนถึงทีมแพทย์และพยาบาล จุดประสงค์ของพวกเขาคือการ ‘แฮ็ก’ ทุกขั้นตอนของการฉีดวัคซีนแบบเดิม ออกแบบโมเดลการฉีดวัคซีนที่อิงกับความเข้าใจความเป็นมนุษย์ ทำให้คนที่มาฉีดวัคซีนได้รับประสบการณ์ดีๆ และยังเปิดแหล่งข้อมูลให้จังหวัดหรือหน่วยงานอื่นที่สนใจสามารถนำโมเดลนี้ไปประยุกต์ใช้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้คนไทยได้รับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงและถ้วนหน้า

101 สนทนากับ มารุต ชุ่มขุนทด หนึ่งในผู้ริเริ่มโปรเจกต์ Hack Vax ไล่เรียงตั้งแต่แนวคิดเบื้องหลังจนกระทั่งกลายมาเป็นโมเดลการฉีดวัคซีนที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่เริ่มฉีดวัคซีนจริงๆ รวมไปถึงอนาคตของเมืองต่อจากนี้ และบทเรียนที่เราได้รับจากโควิด-19

เริ่มต้นถอดรหัสการ ‘แฮ็ก’ กระบวนการฉีดวัคซีนไปพร้อมกันได้ ในบทสนทนาด้านล่างนี้

ภาพจาก Facebook: Marut Chumkuntod

ก่อนหน้านี้เข้าใจว่าคุณอยู่ในแวดวงธุรกิจหรือสตาร์ตอัปเป็นหลัก อะไรทำให้คุณหันมาร่วมทำโครงการ Hack Vax

เราเริ่มทำโครงการจากคำถามที่ว่า ทำยังไงจึงจะกระโดดไปที่ตอนจบของโควิดได้เลย ไม่ต้องมานั่งเผชิญกับการระบาดระลอกอื่นๆ ต่อ ซึ่งคำตอบหนึ่งที่ได้คือเรื่องวัคซีน ซึ่งก็เป็นโจทย์ต่อว่า จะทำยังไงให้การฉีดวัคซีนเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดเพื่อให้เรื่องนี้จบได้ เพราะถ้าเรายังทำอะไรแบบเดิมๆ ทำแบบที่ทำอยู่ทุกวันนี้ อีก 2-3 ปีก็ยังอาจจะฉีดวัคซีนไม่เสร็จ ซึ่งในฐานะเอกชน เรารอไม่ได้ 

พอหันไปเห็นสหรัฐฯ เขาเป็นประเทศที่จัดการเรื่องวัคซีนได้ดี คือภายใน 100 วัน เขาฉีดไปได้ 200 ล้านโดส คำถามคือ แล้วสหรัฐฯ มีวิธีการจัดการยังไง ก็พอดีกับที่พัทน์ (ภัทรนุธาพร) ซึ่งเป็นนักวิจัยอยู่ที่ MIT (Massachusetts Institute of Technology) ได้ฉีดวัคซีนแล้วที่สหรัฐฯ เขาก็แชร์ขั้นตอนการฉีดมา ซึ่งเรามองว่า ถ้าสหรัฐฯ มีสถานที่ที่สามารถรองรับการฉีดวัคซีนระดับ 10,000 โดสต่อวัน เขาก็ทำให้ได้แบบนี้ 200 แห่ง พอครบ 100 วันเขาก็จะฉีดได้ครบ 200 ล้านโดส

มองกลับมาที่ไทย ถ้าเราอยากฉีดให้ได้ 50 ล้านโดส เราก็สร้างสถานที่ฉีดที่มีประสิทธิภาพ มีขนาดใหญ่ ให้ได้ 50 แห่ง ก็จะทำได้ตามนั้น นี่คือความคิดของผมนะ ซึ่งพอผมคุยกับพัทน์แล้วเห็นว่า การจะทำแบบนี้ได้ต้องมีเวิร์กช็อป มีขั้นตอน กระบวนการต่างๆ มีสิ่งสำคัญอย่างอื่นอีกนอกจากการฉีดวัคซีน เพราะการฉีดคือเรื่องตรงนี้ ใช้เวลาไม่นานก็เสร็จ แต่ก่อน-หลังฉีดคือมีกระบวนการมากมายมหาศาลเลย

เราจึงนำเรื่อง service design เข้ามาใช้ เป็นการนำขั้นตอน ความคิด เครื่องไม้เครื่องมือแบบ MIT มาใช้ทำงานร่วมกันจนเกิดเป็นกระบวนการสร้างสรรค์ และเราก็เปิดรับอาสาสมัครต่างๆ เข้ามาช่วยกันทำงานด้วย โจทย์ที่คิดคือ ทำยังไงก็ได้ให้คนรู้สึกดีกับการฉีดวัคซีน เพราะถ้าคุณฉีดแล้วรู้สึกดี คุณก็อาจจะไปบอกต่อให้คนอื่นมาฉีดกันมากขึ้น

กระบวนการ Hack Vax จึงมีทั้งการสร้างความเชื่อมั่นของคนมาฉีดวัคซีน ฉีดแล้วกลับไปพร้อมความรู้สึกดีๆ หรือบางคนอาจจะแชร์บนโซเชียลมีเดีย ชวนให้คนอื่นมาฉีดด้วย 

ความคิดและเครื่องมือแบบ MIT เป็นอย่างไร ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมได้ไหม

เราต้องเริ่มตั้งแต่วิธีสื่อสาร ส่วนหนึ่งที่คนไม่อยากฉีดวัคซีนเพราะการสื่อสารที่ผิดจุด เช่น เวลาบอกวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่ให้ไปฉีดวัคซีน เขาก็จะถามกลับว่า วัคซีนอะไร ฉีดแล้วจะเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าเราลองดูคนกลุ่มนี้ จะเห็นว่าวัยรุ่นหรือคนในเจเนอเรชันใหม่ๆ เป็นคนที่รักชุมชน รักสิ่งแวดล้อม รักสังคม เพราะเขาเติบโตมาในช่วงวิกฤต เราก็ต้องสื่อสารกับพวกเขาโดยการเน้นเรื่องสังคม มองว่าไม่ใช่การทำเพื่อตัวเอง แต่เป็นการทำเพื่อทุกคนในสังคม

แต่ถ้าเป็นผู้สูงวัย เราก็อาจจะเน้นสื่อสารแบบด้านบนไม่ได้แล้ว เพราะผู้สูงวัยก็จะมีความคิดอีกแบบ หลักๆ คือเขารักและเป็นห่วงลูกหลาน เราก็จะสื่อสารในเชิงที่ว่า วัคซีนทำให้คุณอยู่กับลูกหลานได้ ช่วยเรื่องอาการป่วยได้ หรืออย่างคนทำงาน เขาก็อาจจะเฉยๆ กับเรื่องสังคม แต่ถ้าเน้นไปที่การทำมาหากิน ว่าถ้าคุณติดคุณต้องหยุดทำงานเลยนะ ก็จะเข้าถึงเขาได้มากกว่า 

เรื่องนี้อยู่ในการทำความเข้าใจมนุษย์ และถูกสร้างต่อมาเป็นกระบวนการสื่อสารรูปแบบใหม่ เอาธรรมชาติของความเป็นมนุษย์มาช่วยออกแบบ เมื่อเป็นแบบนี้ทำให้เราเห็นแล้วว่าจริงๆ ทุกคนก็อยากฉีดวัคซีน อยากมาฉีดแบบที่ไม่ใช่ต้องมาร้องขอ แต่มาในที่ๆ ทำให้เขาได้รับประสบการณ์ที่ดี ได้รับการดูแลที่เท่าเทียมและเสมอภาคกัน 

ถ้าโจทย์ของคุณเป็นแบบนี้ สถานที่ฉีดวัคซีนต้องเป็นแบบไหนจึงจะตอบโจทย์ได้ และเราจะสร้างสถานที่แบบนั้นขึ้นมาได้อย่างไร

แนวคิดของเราคือต้องออกแบบศูนย์วัคซีนให้ดี เป็นระบบ ใช้เวลาน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และกำหนดทุกขั้นตอนให้รองรับผู้มาฉีดวัคซีนได้หลักหมื่นคนต่อวัน ซึ่งก็นำมาสู่การมองหาว่ากลุ่มไหนที่จะมาช่วยทำส่วนต่างๆ ได้ดีที่สุด เหมือนเลือกคนให้เหมาะกับงาน

อย่างการออกแบบสถานที่ กลุ่มที่เชี่ยวชาญเรื่องนี้คือกลุ่มสถาปนิกที่รู้เรื่องการออกแบบ floor plan เราก็ได้กลุ่มสถาปนิกอีสานหรือกลุ่มสถาปนิกอาสาสมัครของ Class Cafe มาช่วยกันออกแบบ เมื่อได้สถานที่แล้ว โจทย์ต่อมาคือคิว เรารู้ว่าเราบริหารคนจำนวนมากที่มาต่อคิวไม่เก่ง แล้วใครล่ะที่เก่งเรื่องบริหารจัดการคิว คำตอบคือเจ้าหน้าที่สนามบิน ก็ไปปรึกษาคนที่เคยเป็นพนักงานภาคพื้น (ground staff) ประจำสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเขาก็แนะนำว่า ถ้าจะจัดการคิวจำนวนมาก ต้องทำทางเดินงูแบบวนไปวนมา เหมือนที่เราเคยเห็นในเคาน์เตอร์เช็กอินที่สนามบิน จะช่วยลดความเร็วและลดคิวได้ อีกอย่างคือ คนที่เป็นคนจัดคิวก็ต้องดูให้ออกด้วยว่า คนไหนจะเร็ว จะช้า เพื่อจะได้ส่งไปให้ถูกจุด ถ้าคนไหนมีท่าทีจะเร็วเราก็ให้เขาวิ่งวงใหญ่ ถ้าคนไหนมีท่าทีจะช้าก็วิ่งในวงที่สั้นลง

พอรู้แบบนี้แล้ว เราก็ปรึกษากับกลุ่มคุณหมอด้วย เพื่อนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้ ทำให้ใจกลางหรือไข่แดงวงฉีดวัคซีนของเราเป็น fast track สำหรับผู้ที่ต้องใช้รถเข็น เป็นวงเล็ก ส่วนกลุ่มรัศมีรอบๆ หรือวงใหญ่ก็คือคนที่แข็งแรง และใส่คิวงูเข้าไป ก็จะรองรับและสมดุลกันไปหมด

ส่วนเรื่องภาษาที่ใช้หรือฟอนต์ (font) ก็เป็นอีกเรื่องชวนคิด ตอนเราเป็นดีไซเนอร์จะชอบใช้ฟอนต์แบบไม่มีหัว เพราะมันเท่ดีสำหรับคนออกแบบ แต่คนที่มีอายุหน่อยอาจจะเกลียดฟอนต์แบบนี้มากเพราะมันอ่านยาก ตัวอักษรบางตัวก็คล้ายกัน เราก็ไปหาว่าฟอนต์ไหนจะทำให้ผู้สูงวัยอ่านได้ดีที่สุด ก็เลือกเป็น Browallia มา คือตัวอักษรมีหัวแบบถูกใจผู้ใหญ่ แต่ก็ยังเท่สำหรับวัยรุ่นอยู่ คำพูดที่ใช้ก็สำคัญ เราไม่อยากให้บรรยากาศเป็นแบบที่คุณไปโรงพยาบาลแล้วถูกสั่งว่าให้ไปตรงนั้น ให้มาตรงนี้ แต่เราต้องการคำพูดที่เป็นภาษาพูด เลยได้เป็นประโยคประมาณว่า “มาฉีดวัคซีนเข้าทางนี้ เดินทางนี้”

ภาพจาก Facebook: Marut Chumkuntod

พอคุณเริ่มฉีดวัคซีนจริงๆ สถานการณ์หน้างานเป็นยังไงบ้าง

โห ที่เห็นภาพออกมาสวยๆ วันจริงคือโกลาหลมากครับ (หัวเราะ)

ที่โกลาหลเพราะแบบนี้ แต่ละขั้นตอนจะเกิดคอขวดตลอด ลองนึกภาพว่าเวลาคนเป็นพันคนเคลื่อนตัวเข้ามา ก็จะมีคนเต็มพื้นที่เลย แต่ทางโรงพยาบาลมหาราชก็จัดการเรื่องนี้ได้ดีมากเหมือนกัน พอเขาเห็นว่าคนมาออกันเยอะที่จุดชั่งน้ำหนักกับวัดส่วนสูง ก็ให้ทำจุดวัดที่ทุกประตูของห้างสรรพสินค้า (สถานที่ฉีด) เลย พอคนเข้ามาก็ได้รับการวัดเรียบร้อยแล้ว ก็จะไม่มาออกันอีกต่อไป

พอมาถึงขั้นตอนที่สองคือลงทะเบียน เราจะเห็นว่าหลายๆ ที่ชอบให้พยาบาลมาทำหน้าที่ลงทะเบียน แต่คุณจะฉีดวัคซีนสเกลใหญ่ขนาดนี้ต้องใช้พยาบาลที่ฉีดเยอะมาก เพราะฉะนั้นเราเลยให้นักศึกษาที่เป็นอาสาสมัครมาช่วยเรื่องการลงทะเบียนแทน โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานมาช่วยดูแลระบบลงทะเบียน แต่ตรงนี้ก็มีรายละเอียดยิบย่อยอีกว่า ถ้ากลุ่มคนแข็งแรงปกติ เขาก็สามารถแจ้งข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ได้โดยที่ยังสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างทางสังคมได้ แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่หน่อย เสียงเขาจะเบา เราก็ต้องพาเขาไป fast track ที่คุยใกล้ชิดหน่อยได้ แต่อีกฝ่ายใส่ face shield แบบนี้ ก็เว้นระยะห่างได้เหมือนกัน

ขั้นตอนต่อมาหลังจากผ่านการลงทะเบียนแล้วก็มาที่จุดคัดกรอง ซึ่งก็ต้องทำให้เป็นคิวงูที่มีพื้นที่พอเหมาะ หรือถ้าบางคนความดันสูงเกินก็ต้องนั่งรอสัก 20 นาทีก่อน เราก็ต้องเตรียมเรื่องพวกนั้นให้พอดี มีพยาบาลคอยนั่งคัดกรองอยู่ ถึงจะไปสู่ขั้นตอนการฉีดได้ แต่เราก็เจอคอขวดที่ห้องยาอีก เพราะการดึงยาออกจากขวดใช้เวลานาน เราก็จัดทีมพยาบาลที่มีหน้าที่ดึงยาอย่างเดียวไปทำงานตรงนี้ คอยเอายาใส่กล่อง ให้คนฉีดมารับคิว รับยา และเดินไปที่ฉีดเลย ตรงนี้ก็ช่วยให้เราทะลุคอขวดห้องยาออกมาได้ แต่ก็มาจากการที่เราพังมาก่อนแล้วทั้งนั้น ถึงมีบทเรียนว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร

ตรงที่นั่งรอก็เป็นปัญหานะ เพราะตอนแรกเก้าอี้นั่งรอ 300 ที่ไม่พอ ก็ต้องหาเก้าอี้เพิ่ม และต้องมีการตั้งแบบเว้นระยะห่างด้วย หน่วยฉุกเฉินก็มองอีกว่า แล้วถ้าคนเป็นลมจะมีที่ให้เอาเปลหรือรถเข็นเข้ามารับไหม หรือถ้าอย่างคนที่ต้องใช้รถเข็นอยู่แล้วเขาไม่ได้ต้องการเก้าอี้นั่ง แต่ต้องการจุดจอดรถเข็น เราต้องคิดกระบวนการมารองรับทั้งหมด

นอกจากกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนแล้ว มีอะไรที่เป็นรายละเอียดอย่างอื่น แต่ช่วยให้กระบวนการดีขึ้นอีกไหม

มีเรื่องหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจ อย่างตอนนั่งรอที่ต้องรอประมาณ 30 นาที ก็น่าจะมีคนหงุดหงิดบ้าง ทีนี้ถามต่อว่า ปกติถ้าต้องนั่งรอเฉยๆ คนชอบทำอะไร ก็เล่นโทรศัพท์ไง แล้วมี Wifi ไหม เราก็คุยกับ AIS ซึ่งมาช่วยให้บริการ Wifi ฟรี 30 นาทีกับทุกคน แต่จำกัดเวลา 30 นาที ครบแล้วตัดเลย เดี๋ยวเพลินเกิน (หัวเราะ)

พอฉีดเสร็จแล้วถามว่าทำอะไรต่อดี เราก็มีชวนให้เปลี่ยนกรอบที่รูปโปรไฟล์ใน Facebook แบบให้เพื่อนรู้ว่า เราฉีดแล้วนะ หรือถ้าคุณอยากได้รูปตอนฉีด เราก็มีช่างภาพอาสาเดินเก็บรูปตอนฉีดให้ด้วย มี backdrop ให้ถ่ายรูป เพื่อจะได้เกิด social impact ขึ้น พอฉีดเสร็จแล้วเดินออกมา ก็มีทั้งขนม น้ำ ไว้ให้บริการ ซึ่งจริงๆ ก็มีตั้งแต่นั่งรอแล้ว มีนักดนตรีมาเล่นเพลง ทุกอย่างเลยดูสบาย ทำให้ไม่เครียดด้วย

ที่ว่ามานี้คือกระบวนการทั้งหมดของเรา ซึ่งถ้าสังเกตจะเห็นเลยว่า การฉีดวัคซีนจริงๆ ใช้เวลาไม่นาน แต่ก่อน-หลังฉีดวัคซีนเป็นกระบวนการที่มีรายละเอียดเยอะมาก เราเลยใช้ชื่อว่า Hack Vax มาจาก hack vaccination คือแฮ็กทุกขั้นตอนของการฉีดวัคซีน และช่วยลดขั้นตอนต่างๆ ที่เคยยืดยาวให้สั้นลง

ดูเหมือนว่าคุณจะคิดวิธีรองรับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ไว้อย่างครอบคลุมแล้ว แต่มีปัญหาอะไรไหมที่เกิดขึ้นหน้างานจริงๆ แบบที่อาจจะไม่เคยคิดมาก่อน

เราเจอสถานการณ์คิวล้นข้างหน้า คือลองคิดว่าเวลาเราไปใช้บริการโรงพยาบาลรัฐ ทุกคนรู้ว่าต้องมาเช้า สมมติคิวจริงๆ บ่ายโมงเขาก็มากันตั้งแต่เจ็ดโมงเลย คนก็มาออกันข้างหน้าตั้งแต่ตอนเช้า เราก็หาวิธีเปลี่ยนแปลงว่า แทนที่คุณจะมารอคิวหรือเอารองเท้าแตะมาจองคิว ก็แจกบัตรคิวแทนและให้ไปรอในห้างฯ ไม่ต้องมายืนรอให้เมื่อยขา ให้ไปนั่งที่ร้านกาแฟ ร้านอาหารแทน ร้านก็จะได้ลูกค้าด้วย ซึ่งเราก็คิดแบบเอกชนไง และก็ขอให้ห้างฯ ช่วยประกาศด้วยว่าถึงคิวที่เท่าไร พอใกล้จะถึงคิวคุณก็ค่อยกลับมา คือใช้พื้นที่ทั้งห้างฯ ให้เป็นประโยชน์ เราเรียกว่าภารกิจสลายคิว และพอเคลียร์คิวข้างหน้าได้แล้ว ก็ไปเคลียร์คิวข้างในให้สมดุลกัน

เรื่องเจ้าหน้าที่ก็เป็นอีกประเด็น เรามีเจ้าหน้าที่ 500 กว่าคน อาหารวันละพันกว่ากล่อง ต้องมีการจัดการเรื่องสวัสดิการที่ดีด้วย อาสาสมัครที่มาช่วยก็ต้องอิ่มหนำ ต้องมีความสุขกับการมาทำงานที่นี่ เราก็ไปหาคนมาช่วยสนับสนุน มีคนส่งข้าว ส่งมาม่า ส่งน้ำดื่มมา ให้ทั้งเจ้าหน้าที่ รวมถึงคนที่มาฉีดวัคซีนด้วย ตรงนี้ก็เรียกได้ว่าภาคประชาชนทั้งเมืองเข้ามามีส่วนร่วมกันหมด

ภาพจาก Facebook: Marut Chumkuntod

ถ้าจังหวัดอื่นๆ หรือที่อื่นๆ อยากนำโมเดล Hack Vax ไปปรับใช้ คุณคิดว่าโมเดลดังกล่าวยืดหยุ่นและสามารถนำไปปรับใช้ได้ไหม อย่างไร

ได้ครับ ผมว่ามันปรับใช้ได้หมดแหละ ถ้าเราเริ่มต้นช่วยกัน โคราชโชคดีอย่างหนึ่งตรงที่เราทำงานกันใกล้ชิด มีคนเสียสละ แต่แรกๆ เราก็เจอดราม่าเหมือนกันว่า คุณเป็นใคร ไม่ใช่หมอแล้วทำไมมาทำเรื่องวัคซีน ทำไมเราต้องฟังคุณ มีผลประโยชน์ทับซ้อนมั้ย ซึ่งเราก็ต้องเข้มแข็ง เพราะเราบอกชัดเจนว่าเราทำไปเพื่อช่วยประชาชน จึงตั้งใจจะทำ best practice ให้คนอื่นเอาไปปรับใช้ได้ด้วย

เพราะฉะนั้น เวลามีคนมาบอกเราว่า มีที่นั่นที่นี่ก็อปปี้ไปใช้ เราก็บอกว่าดีเลย แต่จะดีกว่านี้ถ้าให้เราพาทัวร์และดูกระบวนการต่างๆ หรือถ้าจะขออาร์ตเวิร์กไปใช้ เข้า shared drive ได้เลย ยกให้ทั้งอันเลย (หัวเราะ) อย่างที่บอกว่ามันเป็น open design และเพื่อสาธารณะ อย่าไปคาดหวังว่าจะได้อะไร เพราะจุดประสงค์เราคืออยากเห็นประชาชนอยากฉีดวัคซีนและมาฉีด ไม่ใช่ว่าทั้งประเทศต้องรู้จักคุณมารุตที่ทำ Hack Vax แต่เราอยากให้ฉีดวัคซีนไวๆ จะได้แยกย้ายกันไปทำมาหากิน นี่แหละคือสิ่งที่เราต้องช่วยกัน

ตอนนี้ก็เริ่มมีหลายโรงพยาบาลจากจังหวัดอื่นๆ มาดูงานแล้ว Hack Vax ที่ปั๊มบางจากตรงพระโขนง (กรุงเทพฯ) กับที่ปากช่องก็ทำเสร็จแล้ว จะทดลองแล้ว และผมอยากให้ลองคิดต่อไปว่า ทำยังไงให้คนเกิดความรู้สึกว่า มาสถานที่ฉีดวัคซีนแล้วเท่ เป็นแลนด์มาร์กวัคซีนเลย เหมือนที่ตอนนี้คนโคราชอยากมาเซ็นทรัล เดินมาดูหรือมาถ่ายรูปก็ยังดี เพราะทุกคนไม่อยากตกกระแส

มองภาพในอนาคตของโปรเจกต์ยังไง เมื่อไหร่จึงจะรู้สึกว่าเราทำสำเร็จแล้ว

ที่ MIT เคยสอนเราว่าพลเมืองอัจฉริยะ (smart people) สามารถสร้างเมืองอัจฉริยะ (smart city) ได้ อย่างที่เมื่อกี้ถามว่า ทำไมโคราชเป็นเมืองเข้มแข็ง โคราชอาจไม่จำเป็นต้องมีรถไฟฟ้า มีตึกสูงระฟ้า หรือมีสตาร์ตอัปมากมาย แต่เรามีภาคประชาชนที่เข้มแข็งและนำความคิดสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ เปิดใจทำงานร่วมกัน นี่ก็ smart แล้ว

เราอยากสื่อสารว่า ถ้าจะเป็นเมืองอัจฉริยะ เราต้องเริ่มจากกลุ่มคนที่สามารถร่วมมือร่วมใจทำงานในทิศทางเดียวกันได้ นี่เป็น sharing ที่ทำให้เห็นว่า เราเริ่มทำตรงนี้ได้นะ ไม่ต้องมีตึกสวยๆ หรือรถไฟฟ้าเต็มไปหมดถึงจะเป็นเมืองอัจฉริยะ แต่ต้องอาศัยกระบวนการทางความคิด เพราะส่วนตัวผมมองว่า พลเมืองอัจฉริยะมาอยู่รวมกัน พวกเขาจะสร้างเมืองอัจฉริยะได้ สหรัฐฯ แสดงให้เราเห็นแล้วว่า กระบวนการเรื่องคนสำคัญมาก นี่คือปลายทางต่อไปของเรา

มีภาครัฐเข้าไปพูดคุยกับทีมของคุณหรือยัง

เขาก็มีมาชมเรื่อยๆ ซึ่งเราก็มองว่าเขาทำงานของเขานะ ภาครัฐก็ไม่เคยเจอโรคระบาดที่จะสร้างผลกระทบได้ขนาดนี้ ทุกขั้นตอนไม่ค่อยมีคนกล้าตัดสินใจ เพราะไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเกิดปัญหาอะไรขึ้นอีก แต่ผมว่าเราต้องการคนที่เปิดใจรับฟัง ยอมรับความผิดพลาด และพร้อมที่จะแก้ไข

Hack Vax บางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพฯ
ภาพจาก Facebook: Marut Chumkuntod

ถ้ามองสถานการณ์ภาพรวมในประเทศ ทั้งกระบวนการฉีดวัคซีนหรือการสื่อสารกับสาธารณชน คุณมีคำแนะนำอะไรไหมในภาพรวม หรือคิดว่ามีตรงไหนไหมที่เราพลาดไป และจะแก้ปัญหาอย่างไร

ผมคิดว่าเราต้องให้โอกาสซึ่งกันและกันนะ เพราะยิ่งไปกดดันกัน ด่ากัน ก็ไม่มีทางจะทำให้ผลออกมาดี และอย่างที่บอกว่าทุกคนไม่กล้าตัดสินใจ ทำให้กระบวนการต่างๆ ค่อนข้างเยิ่นเย้อและดูจะพลาดไปหมด

แต่ถ้าเราลองให้โอกาสแต่ละคนในการเป็นผู้นำและทดสอบภาวะผู้นำของเขา ตัดสินใจ เริ่มลุย ลงมือทำ ผมว่ามันจะสร้างบรรยากาศของความเชื่อมั่นได้ วันนี้คนโคราชเชื่อมั่น ออกมาจับจ่ายใช้สอยกันแล้ว นี่คือปลายทางของเราที่เกิดขึ้นแล้ว ความเชื่อมั่นอาจจะเป็นคำนามธรรม (abstract) แต่มันเกิดขึ้นได้จริง

หลายคนพูดว่า หนึ่งในผลกระทบของโควิด-19 คือ ผลกระทบต่อความเป็นเมือง ในฐานะคนโคราชที่ทำเพื่อโคราช คุณมองแนวโน้มของเมืองหลังโควิดอย่างไร

ในภาพรวม ผมคิดว่าดิจิทัลทำให้เราอาจจะอยู่ที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ เพราะเทคโนโลยีทำให้เกิดการทำงานข้ามเมืองกันได้ ผมเคยเจอนักข่าวที่เชียงใหม่ สัมภาษณ์ผมที่อยู่โคราช และส่งงานไปให้คนที่กรุงเทพฯ ดู หรือตอนนี้ ผมก็คุยกับคุณโดยที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณอยู่ที่ไหน (หัวเราะ)

จะเห็นว่าตอนนี้ทุกอย่างถูกย่อ กระจาย ดึงเข้าดึงออกตลอด เราอยู่ที่ไหนก็ได้บนโลกดิจิทัล ไม่ต้องมากระจุกตัวอยู่แค่ที่จังหวัดเดียว หลายเมืองก็เริ่มเปลี่ยนแปลง เริ่มมีการสร้างรถไฟฟ้า สร้างมอเตอร์เวย์ ซึ่งก็น่าจะเกิดการขยายตัวมากขึ้น

แต่ทั้งนี้ เราต้องพูดถึงการกระจายความเจริญออกไปด้วย มันเหมือนปัญหาไก่กับไข่นะ คือกลับบ้านก็อาจจะไม่ได้เงินเดือนสูงเท่าเมืองใหญ่ บางครั้งการอยู่กรุงเทพฯ ก็เป็นแหล่งทำมาหากิน แต่ถ้าได้เงินเดือนเยอะก็คงมีหลายคนอยากกลับมาอยู่บ้าน เรื่องนี้เลยเป็นประเด็นสำคัญด้วย

คิดว่าหลังโควิด-19 มีประเด็นอะไรที่เราต้องคิดต่อไป

ผมคิดว่าเป็นเรื่องความพร้อมของเมืองนี่แหละ ทำยังไงให้เมืองมีโอกาสทางธุรกิจ หรืออาจจะเป็นโอกาสทางสุขภาพ การมุ่งสู่ธุรกิจเพื่อสุขภาพจะเป็นหัวใจสำคัญไหม หรือจะเกิดอะไรต่อไปอีก ผมว่านี่ก็เป็นโจทย์ของนักธุรกิจด้วยว่าจะไปทางไหน เราต้องตีโจทย์ให้แตก แต่ตอนนี้เหมือนจะยังตีไม่แตกเท่าไหร่ แต่หลายที่ก็มีความพร้อม เริ่มเปลี่ยนแปลง อย่างคาเฟ่บางแห่งก็ปรับตัวหันมาขายน้ำผลไม้เพื่อสุขภาพบ้างแล้ว

ถ้าให้พูดในฐานะนักธุรกิจคนหนึ่ง อยากให้ภาครัฐทำอะไรในเรื่องเศรษฐกิจบ้าง

ผมว่ารัฐต้องส่งเสริมและช่วยให้เร็วที่สุด อีกอย่างคือรัฐไม่ได้นำศักยภาพของเอกชนมาช่วยสักเท่าไหร่ หลายครั้งเราเห็นว่าทุกธุรกิจอยากช่วย แต่ยังไม่ค่อยมีมุมให้เขาเข้ามาช่วยได้

สิ่งที่เกิดขึ้นในโคราชมาจากความร่วมมือร่วมใจ และเชื่อว่าเอกชนทำได้ หรือโมเดลเมืองอัจฉริยะที่ขอนแก่นซึ่งประสบความสำเร็จก็มาจากการทำงานกับภาคเอกชนอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน ภาคเอกชนอาจจะดูเป็นนักธุรกิจ แต่ถ้ามองจริงๆ เราก็เป็นแค่ประชาชนที่ทำธุรกิจ ภาคประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ การทำงานร่วมกับภาคประชาชนมากขึ้นคือการรับฟังมากขึ้น ถ้าภาครัฐไม่รู้หรือสงสัยเรื่องไหนก็อาจจะถามเราได้เหมือนกัน ต้องมาช่วยกันคิด เพราะถ้าคิดคนเดียวตัดสินใจคนเดียวในสิ่งที่ไม่รู้ก็เจ็บคนเดียว โดนคนตำหนิ เพราะมันพลาด แต่ถ้าตัดสินใจร่วมกันก็อาจจะเจ็บร่วมกัน แต่ก็ยังเดินต่อไปได้

คุณมองว่าวิกฤตครั้งนี้มอบบทเรียนอะไรให้กับเรา

ผมคิดว่านี่เป็นโจทย์ที่เราต้องมาชวนกันคิดเลยว่า เราเรียนรู้อะไรจากโรคระบาดครั้งนี้ คุณสุทธิชัย (หยุ่น) บอกว่า ให้บันทึกทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นเอาไว้ ผมเลยพยายามเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับโรคระบาดออกมาเยอะๆ ไว้เป็นบทเรียนว่าทำยังไงจึงจะแก้ปัญหาต่อได้ ทำยังไงจึงจะมีคู่มือการเรียนรู้เรื่องพวกนี้ MIT มีงานวิจัยลงลึกเรื่องโรคระบาด เขาพยายามสร้างพิมพ์เขียวการรับมือโรคระบาดเพราะมันอาจจะเกิดขึ้นอีก แล้วในไทยมีหรือยัง ผมว่าเราต้องเริ่มทำแล้วนะก่อนที่โรคจะเริ่มสงบลง นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราเริ่มชวนมหาวิทยาลัยมาร่วมมือกันทำงาน เพราะเขาต้องเอาองค์ความรู้กลับไป ถ้าครั้งหน้ามีอะไรเกิดขึ้นอีกก็วิ่งไปหามหาวิทยาลัยก่อนเลย

ถ้าถามว่าทำไมโคราชรับมือได้เร็วในเรื่องนี้ เพราะเราเจอเหตุการณ์กราดยิงมาก่อน (ปี 2020) เราเลยมี Korat Strong เกิดขึ้น และมาทำ Hack Vax ต่อ จะเห็นว่าภาคประชาชนของเราเจอเรื่องมาก่อนแล้ว เลยมาทำเรื่องโควิดต่อได้เร็ว เพราะฉะนั้นถ้าเราจัดการโควิดได้แล้วบังเอิญเจอวิกฤตขึ้นมาอีก เราก็จะไปต่อได้เร็วขึ้น ขอแค่มีกระบวนการและมีผู้นำทางความคิด เราใช้คำหนึ่งเป็นไกด์ไลน์ว่า เรามองหาความสร้างสรรค์ ถ้าเมื่อไหร่เริ่มไม่สร้างสรรค์เราต้องหยุดทำ และหาทางเดินไปสู่ความสร้างสรรค์ให้ได้ นี่เป็นเรื่องสำคัญและยังไม่มีสูตรตายตัว แต่ตอนนี้เราต้องเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้แหละ

ภาพจาก Facebook: Marut Chumkuntod

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save