fbpx

มารุต บุนนาค : ชีวิตที่เรียนรู้ไปเพื่อรับใช้ประชาชน

4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีงานพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์พิเศษ มารุต บุนนาค อดีตประธานรัฐสภา ผู้ถึงแก่อนิจกรรมเนื่องจากการหายใจล้มเหลว ในวัย 98 ปี เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 ซึ่งนับเป็นการปิดฉากชีวิตอันยาวนานของทนายความ นักการเมือง และอาจารย์ผู้นี้ลง

มารุตใช้สมองและสองแขนเป็นแกนหลักสร้างชีวิตของเขาขึ้นมาได้อย่างน่าทึ่ง ฝ่ามรสุมของชีวิต จนกลายเป็นปูชนียบุคคลผู้หนึ่งของสังคมไทยที่ได้รับความเคารพอย่างกว้างขวาง

และนี่คือบทความที่ร้อยเรียงเรื่องราวของชีวิตของบุรุษผู้นี้  


มารุต บุนนาค
(21 สิงหาคม 2468 – 23 กันยายน 2565)


สาแหรกสกุลบุนนาค


ต้นตระกูลบุนนาคนั้น ย้อนกลับนับไปเริ่มได้ถึงเจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) กับเจ้าคุณพระราชพันธุ์ (นวล) ซึ่งมีบุตรท่านหนึ่ง คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมหาพิไชยญาติ (ทัต, 2334-2400) ผู้มีลูกชายคนหนึ่งที่เกิดแต่หม่อมหงิม คือ พระยาอิศรานุภาพ (เอี่ยม, 2366-2445) แล้วมีลูกที่เกิดจากคุณหญิงนิ่มคนหนึ่ง ได้แก่ นายราชจินดา (อรุณ) ซึ่งมีบุตรกับ ม.ล.แฉล้ม (สกุลเดิม อิศรางกูร) คนหนึ่ง คือ พระสุทธิสารวินิจฉัย (มะลิ, 2439-2520) ผู้สมรสกับผ่องศรี (สกุลเดิม เวภาระ) แล้วมีลูกคนสุดท้องชื่อว่า มารุต

พึงกล่าวด้วยว่า เรื่องราวความรักของคุณพระสุทธิสารฯ กับนางสาวผ่องศรีนั้นไม่ธรรมดา ถึงกับมีฎีกาที่คุณหญิงทองคำ ไกรสี ผู้เป็นมารดาของฝ่ายหญิงกล่าวโทษคุณพระฯ ขณะเป็น ‘พระศรีวิกรมาทิตย์’ ฐานลักพาบุตรสาวไป เมื่อ พ.ศ. 2464 แต่ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสว่าให้คุณหญิง “ปลงใจยกนางสาวผ่องศรี เวภาระ ให้แก่พระศรีวิกรมาทิตย์ เพราะเห็นว่าทั้งสองมีความเสน่ห์หารักใคร่กันจริง…

มารุตนับเป็นสกุลบุนนาคชั้นที่ 6 เขาเกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม 2468 เวลาห้าทุ่มกว่า ในช่วงที่กำลังมีลมมรสุมอย่างแรง คุณพระผู้บิดาจึงให้ชื่อว่า ‘มารุต’ คือเจ้าแห่งพายุ

แต่แล้วในวัยเพียง 28 ปี พระสุทธิสารได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ กลายเป็นคนไร้ความสามารถ ม.ล.แฉล้ม ผู้เป็นมารดาจึงเป็นผู้อนุบาล หลังจากนั้นเมื่อ ผ่องศรี แม่ของมารุต ออกมาเป็นอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมาเรียลัย ย่านลาดกระบัง จึงพาลูกๆ ย้ายตามมาด้วย มารุตเริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนนี้เป็นครั้งแรก

มรสุมชีวิตของมารุตยังไม่จบลงเท่านั้น ในปี 2477 มารดามาเลเรียขึ้นสมองจนถึงแก่กรรม ขณะที่มารุตอายุเพียง 9-10 ขวบ เด็กชายมารุตจึงตกอยู่ในการปกครองของหลวงจรัสการคุรุกรรม (จรัส) ผู้เป็นอา ซึ่งสมรสกับผดุงโฉม ธิดาเจ้าพระยาพิชัยญาติ (ดั่น บุนนาค) ทำให้มารุตย้ายมาอาศัยอยู่ในเรือนของคุณหลวง อันตั้งอยู่ในรั้วบ้านเดียวกับเจ้าพระยาผู้นั้นบริเวณถนนสุรวงศ์

มารุตกล่าวถึงชีวิตวัยเด็กไว้ว่า “ถึงแม้คุณอาจะให้การดูแลผมอย่างดี และผมได้รับความรักจากพี่ๆ แต่ผมก็ยังรู้สึกว้าเหว่ เพราะไม่สามารถทดแทนความรักเหมือนจากพ่อแม่ได้”


คำกลอนที่คุณแม่เขียนด้วยลายมือให้ก่อนปี 2477


การศึกษา


เมื่อย้ายมาอยู่กับคุณอาแล้ว มารุตเข้าเรียนในโรงเรียนพญาไทวิทยาคาร ศรีสุนทร สีตบุตรบำรุง และเทพศิรินทร์ ตามลำดับ

ระหว่างที่เป็นนักเรียนเทพศิรินทร์ มารุตฝันอยากเป็นทหาร แต่ ‘ญาติผู้ใหญ่’ ที่บ้านเจ้าพระยาพิชัยญาติดูลายมือให้ว่า ต่อไปจะเป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงมาก มารุตเห็นว่าบรรพบุรุษก็เป็นนักกฎหมายมา จึงเลือกทางเดินสายกฎหมาย (พึงกล่าวไว้ว่า ขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) คุณตาของเขา ก็เป็นนักกฎหมายคนสำคัญคนหนึ่ง)

หลังจากที่หลวงจรัสการคุรุกรรมดูแลมานาน ก็บอกให้หลานทราบก่อนจบมัธยม 6 ว่าไม่อาจส่งเสียต่อไปได้ มารุตอยากเรียนต่อจึงสมัครเข้าเรียนเตรียมธรรมศาสตร์ และย้ายมาอาศัยที่บ้านประดิพัทธ์ พร้อมหน้ากับบิดา พี่ชาย และพี่สาว

มารุตเรียนเตรียมธรรมศาสตร์ รุ่น 5 (2485-2486) รุ่นเดียวกับธานินทร์ กรัยวิเชียร, ประภาศน์ อวยชัย, เปลื้อง วรรณศรี ฯลฯ เขากล่าวถึงอุดมคติทางการศึกษาที่ได้รับการบ่มเพาะมาว่า “ธรรรมศาสตร์สอนให้เรารักความสุจริต รักความยุติธรรม รักความถูกต้อง รักส่วนรวม พร้อมที่จะอุทิศตนให้แก่ส่วนรวมได้ตลอดเวลา


ธรรมศาสตร์บัณฑิต พ.ศ.2490


ธรรมศาสตร์สามัคคี


ในระดับอุดมศึกษา มารุตเข้าเรียนปริญญาตรีในหลักสูตร ‘ธรรมศาสตร์บัณฑิต’ พร้อมกับทำงานเป็นเสมียนพนักงานกองคลัง กรมปศุสัตว์ ซึ่งตั้งบนถนนพระอาทิตย์ ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัย ใช้เวลา 4 ปี จึงสำเร็จการศึกษา

ในปี 2491 ธรรมศาสตร์บัณฑิตผู้นี้เข้าทำงานเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กองบังคับคดีล้มละลาย กระทรวงยุติธรรม และศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเช่นเดิม โดยดำรงตำแหน่งรองประธานนักศึกษา ซึ่งมีบทบาทเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรม พิทักษ์สิทธิของชาวธรรมศาสตร์หลายครั้ง

ครั้งที่สำคัญที่สุด คือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2494 ซึ่งรู้จักกันในนาม ‘วันธรรมศาสตร์สามัคคี’ มารุตเป็นผู้นำนักศึกษาทวงคืนพื้นที่ของมหาวิทยาลัยจากการยึดครองของทหารได้เป็นผลสำเร็จ ทำให้สถานศึกษาของเขายังสามารถใช้พื้นที่ท่าพระจันทร์ได้ตราบมาจนถึงปัจจุบันนี้


ในวัยหนุ่ม


สร้างครอบครัว


ขณะที่เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ มารุตมีราชการที่จังหวัดลำปาง จึงมีโอกาสพบกับพันทิพา “กุลสตรีที่สำเร็จการศึกษาระดับสูง มีมรรยาอันดีงาม” และทำความรู้จักกันจนชอบพออัธยาศัย หลังจากติดต่อกันมาราวปีเศษ จึงจัดพิธีสมรสที่จังหวัดลำปางเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2495

ทั้งคู่มีลูกคนแรกเป็นหญิง ชื่อ ‘มฤทุ’ และลูกคนเล็กเป็นชาย คือ ‘รุจิระ’

ปลายปีนั้นเอง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการจับกุมครั้งใหญ่ที่รู้จักกันในชื่อเหตุการณ์ ‘กบฏสันติภาพ’ โดยในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 มารุตตกเป็นผู้หนึ่งที่ถูกจับกุมด้วย แต่หลังจากถูกคุมขังอยู่ 84 วัน ก็ได้รับอิสรภาพ พร้อมกับท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และอีกหลายคน

มารุตกล่าวถึงคู่ชีวิตของเขาไว้ว่า “เธอเป็นคนที่มีความอดทนสูง เพราะต่อมาผมถูกจับคดีการเมือง  เธอก็เสียอกเสียใจมาก แล้วลูกคนโตก็ยังอยู่ในท้อง แต่เธอก็เทียวไปเทียวมาเยี่ยมเยียนดูแลผม จนกระทั่งผมพ้นคดี เราจึงได้พยายามประคับประคองชีวิตคู่ของเราตลอดมา

ชีวิตคู่อันยาวนานของทั้งสองนั้น ทำให้มารุตได้ข้อคิดว่า “ชีวิตครอบครัวเป็นเรื่องที่ทิ้งไม่ได้ แล้วครอบครัวจะอยู่ด้วยกันด้วยความรักอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีความเอื้ออาทรห่วงใยกัน ดูแลทุกข์สุขกันไป ไม่ใช่เอาแต่สุข แล้วทุกข์ไม่เอา ต้องให้เกียรติต่อกันเสมอ


คุณหญิงพันทิพา คู่ชีวิต ในวัยสาว


ทนายความ


เดือนกรกฎาคม 2495 พระดุลยภาคสุวมันต์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม มีคำสั่งย้ายมารุตไปเป็นจ่าศาลที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มารุตจึงตัดสินใจลาออกมาเป็นทนายความ โดยเริ่มทำงานที่สำนักงานมณีรัตน์ ของเพี้ยน มณีรัตน์ ดังนั้น ในคดีกบฏสันติภาพ มารุตจึงได้เป็นทนายความฝ่ายจำเลยร่วมกับทนายอีกหลายนาย

หลังจากนั้น ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2498 มารุตได้เปิด ‘สำนักงานทนายความ มารุต บุนนาค’ ของตน ที่ถนนบุญศิริ ต่อมาในปี 2517 จึงเปิดสำนักงานกฎหมายฝ่ายต่างประเทศขึ้นอีกแห่งหนึ่งด้วย

มารุตมีหลักในการเป็นทนายความว่า “ทำความจริงให้ปรากฏ เพื่อความยุติธรรม ตัดสินใจอย่างถูกต้อง ไม่ผิดพลาด” เขากล่าวถึงความประทับใจไว้ด้วยว่า “หากจะถามว่าผมประทับใจในการทำคดีใดมากที่สุด ผมตอบได้เลยว่าคือการทำคดีกบฏในหลายๆ คดี และศาลตัดสินใจปล่อยจำเลยมามาก ทำให้ผมดีใจที่ได้ทำความจริงให้ปรากฏ” นอกจากคดีกบฏสันติภาพแล้ว มารุตยังนำทีมทนายความว่าความให้จำเลยในคดี 6 ตุลาคม 2519 โดยเข้ามาช่วยทนายทองใบ ทองเปาด์ ที่ดูแลคดีนี้อยู่

ในแง่วิชาชีพทนายความ มารุตยังมีบทบาทในการร่วมก่อตั้ง ‘สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย’ ขึ้นในปี 2500 (ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม 2509-2519) และยังมีบทบาทผลักดันให้เกิด ‘สภาทนายความ’ ตั้งแต่ 2513-2528 จนสำเร็จอีกด้วย


เมื่อเริ่มประกอบอาชีพทนายความ


ผู้สื่อข่าวน้อย


ปลายเดือนเมษายน 2496 เมื่อมีการพิจารณาคดีกบฏสันติภาพที่นายปาล พนมยงค์ บุตรชายคนโตของนายปรีดี ตกเป็นจำเลยผู้หนึ่ง ท่านผู้หญิงพูนศุข ผู้เป็นมารดาเดินทางมาที่ ‘บัลลังก์ 24’ ซึ่งเป็นห้องพิจารณาคดีการเมืองของศาลอาญา เพื่อบอกลาลูกชาย ก่อนที่เธอและลูกสาวสองคนสุดท้องจะเดินทางไปฝรั่งเศส เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองอีก

มารุตซึ่งอยู่ในเหตุการณ์นั้นได้นำเขียนเล่าอย่างจับใจด้วยนามปากกา ‘ผู้สื่อข่าวน้อย’ ซึ่งขอคัดมาบางส่วน เพื่อแสดงให้เห็นความสามารถทางวรรณศิลป์ของมารุต ความว่า

…เด็กหนุ่มผู้หนึ่งอายุไม่เกิน 21 ปี รูปร่างสันทัด ใบหน้าอิ่มเอิบ ผมตัดสั้นแบบนักเรียน ปราดออกมาจากกลุ่มผู้ไร้อิสรภาพตรงมาที่ท่านสุภาพสตรีผู้นั้น แสดงคารวะอย่างนอบน้อม ทันใดนั้นก็ได้เกิดภาพอันประทับใจอย่างลึกซึ้งแก่ผู้ประสบพบเห็น 

ท่านสุภาพสตรีผู้นั้นได้สวมกอดหนุ่มน้อยผู้นั้นไว้อย่างแสนรัก ฉับพลันน้ำตาของท่านก็ได้ไหลพร่างพรูราวกับสายฝน ท่านสะอึกสะอื้นพร้อมกับรําพันด้วยเสียงอันเยือกเย็นว่า 

“ลูกเอ๋ย ครอบครัวของเราเป็นครอบครัวที่ต้องผจญกับชะตากรรม แม้ว่าพ่อของลูกจะได้ประกอบกรรมทําความดีให้กับชาติบ้านเมืองอย่างมากมายก็ตาม แต่วิถีทางการเมืองทำให้พ่อของลูกไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในผืนแผ่นดินไทยได้อย่างเสรีชน ผลอันนี้ได้กระทบกระเทือนมาถึงแม่และตัวลูกอีกด้วย ลูกรักต้องกลายเป็นจําเลยในคดีการเมืองตั้งแต่เยาว์วัย โดยไม่มีผู้ใดคาดหมายไว้ก่อนเลยว่าจะต้องเป็นไปถึงเพียงนี้ 

“ในวันนี้ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียงเล็กน้อยจําต้องลาลูกรักเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อไปรักษาสุขภาพของแม่ให้ดีขึ้น ด้วยใจจริงแม่แล้วไม่อาจจะทิ้งลูกรักไปได้ในยามนี้ แต่ด้วยเหตุจําเป็นสำคัญและสถานการณ์ได้บีบบังคับให้แม่จําต้องเดินทางไปด้วยใจอันไม่สมัคร แม่ไม่อาจจะพูดอะไรไปมากกว่านี้ได้ เพราะกลัวว่าจะกระทบกระเทือนจิตใจอันบริสุทธิ์ของลูกรัก นอกจากจะขอให้ลูกมีจิตใจเข้มแข็งอดทนต่อสภาพการณ์ที่ลูกกําลังเผชิญอยู่ต่อไปในภายภาคหน้า  ลูกรักจงอดทนและจงประพฤติตนให้สมกับเป็นลูกของนักการเมืองผู้หนึ่ง เคยทำคุณงามความดีให้กับชาติบ้านเมือง โดยไม่เคยกอบโกยหาผลประโยชน์ใส่ตนและครอบครัวอย่างใดเลย แต่จังหวะชีวิตได้ทำให้พ่อของลูก…” 

ทุกคนที่อยู่ ณ ที่นั้น แม้แต่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เองก็จําต้องเบือนหน้าหนี เพราะไม่อาจทนฟังและดูภาพและสิ่งอันน่าเห็นใจยิ่งนี้ได้ 

แต่หนุ่มน้อยผู้นั้น ชะรอยจะเป็นคนที่บึกบึนและมีลักษณะแข็งแกร่งเป็นพิเศษ เพราะเขามิได้แสดงความเศร้าสร้อยออกมาให้ประจักษ์กับสายตาบุคคลภายนอกแต่อย่างใดเลย ใบหน้าคงยิ้มละไมไม่เปลี่ยนแปลง แต่ดวงตาทั้งสองของเขาเท่านั้นที่แฝงแววของความปวดร้าวในดวงใจไว้ เขามีความรู้สึกอย่างไรนั้นไม่จำเป็นต้องอธิบายมิใช่หรือ เขาได้ปลอบประโลมมารดาสุดที่รักของเขาว่า 

“คุณแม่ที่รัก ขอให้คุณแม่จงเดินทางไปรักษาตัวด้วยความปลอดภัยและสบายใจโดยไม่ต้องเป็นห่วงลูก ความกังวลอาจทำให้สุขภาพของคุณแม่ทรุดโทรมยิ่งขึ้น สภาพการณ์เท่าที่ลูกประสบอยู่ทุกวันนี้เป็นสภาพการณ์ที่ลูกสามารถทนได้ เช่นเดียวกับมิตรสหายผู้ร่วมชะตากรรมทั้งหลาย ลูกได้ตระหนักถึงปรากฏการณ์ต่างๆ อันได้บันดาลให้ลูกตกอยู่ในสภาพเช่นนี้เป็นอย่างดีว่าเพราะเหตุใด ลูกไม่ขอปริปากเรียกร้องสิทธิอันใด หรือเรียกร้องความเห็นใจจากผู้ใดเป็นอันขาด ลูกยินดีที่จะเผชิญกับสถานการณ์อันเลวร้ายต่างๆ อันจะมีต่อไปข้างหน้าด้วยความเต็มใจยิ่ง เพราะกาลเวลาเท่านั้นจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ลูกนี้เป็นผู้กระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองหรือไม่

หนุ่มน้อยกล่าวถ้อยคํานั้นออกมาด้วยเสียงทุ้มมีกังวาน โดยปราศจากความสะทกสะท้านหรือยําเกรงผู้ใด ยังความตื้นตันใจให้กับท่านสุภาพสตรีผู้นั้น ท่านได้เอื้อมมือจากวงกอด ลูบไล้เส้นผมของหนุ่มน้อยอย่างแสนอาลัย 

อาจจะเป็นด้วยระยะเวลาที่จะอยู่ร่ำลาลูกชายสุดที่รักมีน้อยเกินไป หรือไม่ท่านสุภาพสตรีผู้นั้นก็ไม่อาจจะทนสะกดความตื้นตันใจต่อไปได้ ท่านได้คลายมือจากวงกอดของหนุ่มน้อยและเบือนหน้ามายังทนายความอาวุโส ณ ที่นั้น พร้อมกับกล่าววาจาฝากฝังลูกชายของท่านอย่างแสนจะเป็นห่วง คณะทนายความได้น้อมรับคําของท่านสุภาพสตรีผู้นั้นด้วยความเห็นใจอย่างสุดซึ้ง 

ในที่สุดท่านสุภาพสตรีก็ก้าวขึ้นรถคันเก่ากลับไป รถได้เคลื่อนลับหายไปกับมุมตึกบัลลังก์พิเศษนั้นพร้อมด้วยเสียงหายไปของเครื่องยนต์ แต่เสียงสะอื้นภายในจิตใจของท่านสุภาพสตรีผู้นั้นกับหนุ่มน้อยผู้มีดวงใจอันบึกบึน จะหายไปพร้อมกับเสียงเครื่องยนต์ด้วยละหรือ…..สหายรัก

ท่านผู้หญิงพูนศุขกับปาล บุตรชาย ที่สนามบินดอนเมือง เมื่อ พ.ศ. 2500


นักการเมืองประชาธิปัตย์


ในปี 2521 มารุตเข้าสู่พรรคประชาธิปัตย์ เพราะเห็นว่า “มีหลักการ อุดมการณ์ และการทำงานในสภาที่ตรงกับความคิดและแนวทางของผม

แม้พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นพรรคการเมืองคู่ตรงข้ามกับนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ที่มารุตเคารพนับถือก็ตาม แต่เขาเห็นว่า การใส่ร้ายป้ายสีนายปรีดีที่เล่าลือกันว่าเป็นฝีมือของคนจากพรรคประชาธิปัตย์เพื่อหวังผลทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องในยุคเก่า ควรปล่อยให้ผ่านไป แล้วมาเริ่มพัฒนากันใหม่

เส้นทางการเมืองของมารุตประสบความสำเร็จพอสมควร ในระดับพรรค เขาเป็นเลขาธิการเมื่อปี 2522-2525 และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาต่อเนื่องยาวนาน (2526-2549) ในระดับประเทศ มารุตเป็นทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (2524-2526) สาธารณสุข (2526-2529, 2533-2534) และศึกษาธิการ (2529-2531) ที่สำคัญ คือการเป็นประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ (2535-2538)

อนึ่ง พึงกล่าวไว้ด้วยว่า ขณะดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา เขาเป็นผู้ริเริ่มให้มีการจัดตั้งสถาบันพัฒนาประชาธิปไตยขึ้น ซึ่งได้ชื่อในภายหลังว่า ‘สถาบันพระปกเกล้า’ ดังที่วิทวัส ชัยภาคภูมิ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าคนปัจจุบันเขียนไว้ว่า “หากไม่มีศาสตราจารย์พิเศษมารุตเป็นผู้จัดประกายแนวคิดในการทำหน้าที่พัฒนาประชาธิปไตยในรัฐสภาเมื่อ 28 ปีก่อน อาจจะไม่มีสถาบันพระปกเกล้า…ในวันนี้


เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ช่วงลูกพรรคหาเสียงในต่างจังหวัด พ.ศ.2522

สุภาพบุรุษนักการเมือง


เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในขณะที่มารุตเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้น เมื่อ พ.ศ. 2526 กล่าวถึงความใจกว้างของมารุตเอาไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า ในการแบ่งงานกระทรวงกัน มารุตขอให้ผู้อำนวยการกองนิติการมาดูแลการแบ่งงาน และให้รัฐมนตรีช่วยฯ เลือกก่อน ปรากฏว่า เทอดพงษ์เลือกส่วนงานต่างๆ ที่ปกติอยู่ในความดูแลของรัฐมนตรีว่าการไปทั้งสิ้นด้วยความที่รัฐมนตรีทั้งคู่ต่างก็ไม่ทราบเรื่องงานในกระทรวงนี้มาเหมือนกัน ครั้นทราบเช่นนั้นแล้ว เขาก็จะขอเปลี่ยนให้เป็นไปตามปกติ แต่มารุตปฏิเสธ บอกว่า “เอาแบบนี้ละ ไม่ต้องเปลี่ยน

สอดคล้องกับที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขียนเอาไว้ว่า “ผมรู้สึกประทับใจในน้ำใจของท่านเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อผมดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ที่ท่านจะคอยให้กำลังใจผมในการทำงานเพื่อฟันฝ่าปัญหาอุปสรรคต่างๆ แม้ว่าจะยากเย็นลำบากขนาดไหน แม้ในช่วงที่ท่านสุขภาพเริ่มไม่ดีก็ไม่เคยเว้นในการพยายามเดินทางมาอวยพรวันเกิดผมหรือให้กำลังใจผมในโอกาสสำคัญๆ อย่างไม่เคยขาดสาย


ประธานรัฐสภาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว


อาจารย์มารุต


ในด้านวิชาการ มารุตเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาการว่าความและศาลจำลอง ทั้งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รามคำแหง มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และเนติบัณฑิตยสภา จนได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็น ‘ศาสตราจารย์พิเศษ’ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี 2536

เขามีจิตวิญญาณแห่งการเผยแพร่ความรู้อย่างเต็มเปี่ยม แม้ในวัยเกือบ 90 ปี ก็ยังคงเดินทางไปสอนวิชาการว่าความถึงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยในการสอนคาบสุดท้ายของปีการศึกษา 2556 มารุตเขียนอวยพรให้นักศึกษาคนหนึ่งว่า “ขอให้ประสบความสำเร็จ เป็นนักกฎหมายที่มีคุณธรรม เป็นที่รักของประชาชน”

ด้านตำราวิชาการของมารุตเองก็เป็นที่ยอมรับและตีพิมพ์อยู่เสมอ เช่น วิชาว่าความและมรรยาททนายความ (พิมพ์ครั้งที่ 17, 2565) และ ศิลปะของการซักพยานและการแถลงการณ์ด้วยวาจา (พิมพ์ครั้งที่ 2, 2562) เป็นต้น


นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนหนึ่งโพสต์ภาพนี้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขาเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2556


ตัวอย่างของจิตวิญญาณธรรมศาสตร์


ชีวิตของมารุตสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาอย่างนาวนาน นอกจากเป็นนักศึกษาและอาจารย์พิเศษแล้ว เขายังเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิอย่างยาวนาน (2517-2519, 2521-2557) รวมถึงประธานร้านธรรมศาสตร์กาชาดเป็นเวลาหลายปี ฯลฯ

สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2553-2560) กล่าวถึงมารุตว่า “อาจารย์อุทิศตนให้กับการเป็นกรรมการสภาอย่างเต็มที่ แทบจะเรียกว่าไม่เคยขาดประชุมเลย รวมทั้งสนใจทุกเรื่องราวที่นำเข้าสู่การประชุมสภา” สอดคล้องกับที่สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดี (2547-2553) อีกคนหนึ่งที่กล่าวว่า “ในแทบทุกครั้งที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยหรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกิจการบ้านเมือง อาจารย์มารุตก็จะให้คำแนะนำ ให้สติ หรือชี้แนะแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้แก่มหาวิทยาลัยตลอดมา

สมคิด เลิศไพฑูรย์ ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างชวนคิดว่า “ผมเฝ้าดูชีวิตและงานที่อาจารย์มารุตทำให้ธรรมศาสตร์ และผมก็ตั้งคำถามว่า ระหว่างการที่อาจารย์เป็นหนี้ธรรมศาสตร์ กับธรรมศาสตร์เป็นหนี้อาจารย์ อย่างไหนมากกว่ากัน

5 พฤศจิกายน 2564 ในโอกาสครบรอบ 70 ปี เหตุการณ์วันธรรมศาสตร์สามัคคี ชมรมเพื่อนโดมได้มอบรางวัลจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ให้กับมารุตเป็นคนแรก

ถ้าจะอธิบายว่าอะไรคือจิตวิญญาณธรรมศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม ชีวิตของมารุตน่าจะเป็นตัวอย่างได้ดี ดังคำกล่าวที่เขาฝากถึงนักศึกษาธรรมศาสตร์ในปัจจุบันว่า “ให้นักศึกษาศึกษาอดีตถึงการต่อสู้อันยาวนานของชาวธรรมศาสตร์ และการศึกษาของเรานั้น อย่ามุ่งเพื่อความเจริญรุ่งเรือง และชื่อเสียงของวงศ์ตระกูลเหมือนอย่างผู้ใหญ่ในอดีตสอนลูกหลานว่า เรียนหนังสือเก่งๆ จบแล้วจะได้เป็นเจ้าคนนายคน จะได้เลี้ยงดูพ่อแม่ มันก็ถูกในสังคมขณะนั้น แต่ในขณะนี้ไม่ได้ เราเรียนรู้ไปเพื่อรับใช้ประชาชน” (4 ธันวาคม 2563)


มานิจ สุขสมจิตร จากชมรมเพื่อนโดม มอบรางวัลจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2564


อดีตที่ไม่เป็นอดีต


ชีวิตอันยาวนานของมารุตนั้น ตำแหน่งในหน่วยงานต่างๆ ทั้งทางทนายความและทางการเมือง เมื่อล้วงพ้นสมัยไปแล้ว ย่อมกลายเป็นอดีตทั้งสิ้น ไม่ว่าอดีตนายกสมาคมทนายความ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตรัฐมนตรี อดีตประธานสภา ฯลฯ แต่งานในทางวิชาการของมารุตนั้นไม่เป็นอดีตเลย ใครๆ ก็ยังเรียกเขาว่า ‘อาจารย์’

แม้ตัวเขาจากไกลไปแล้ว แต่ตำราต่างๆ ที่ยังมีคนได้อ่าน และคำสอนที่ยังมีคนรุ่นหลังได้ประโยชน์นั้น ก็ย่อมเป็นของ ‘อาจารย์มารุต’ อยู่อีกนานเท่านาน

จะหาผู้ใหญ่สักกี่คนในบ้านเมืองนี้ที่สอนคนรุ่นหลังว่า “การศึกษาของเรานั้น…เราเรียนรู้ไปเพื่อรับใช้ประชาชน


บรรณานุกรม

  • นรุตม์ (เรียบเรียง), บันทึก…อดีตแห่งความทรงจำ ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2550)
  • มารุต บุนนาค ชี้นักศึกษาเรียนไปเพื่อรับใช้ประชาชน, https://youtu.be/PbTYyb2O4DA
  • มารุต บุนนาค, ครั้งหนึ่งในบัลลังก์ 24, https://pridi.or.th/th/content/2020/09/412
  • ภาวิณี บุนนาค, ผู้หญิงในกระบวนการยุติธรรมในสังคมไทย รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึง พ.ศ. 2478 : ศึกษาจากคดีความและฎีกา, วิทยานิพนธ์ศิลปะศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2554, https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:120852
  • ศาสตราจารย์พิเศษ มารุต บุนนาค (อนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพฯ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566)
  • สาแหรกสกุลบุนนาค (กรุงเทพฯ : ชมรมสายสกุลบุนนาค, 2542)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save