1
ความเบื้องต้น
ในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2567 วุฒิสภามีมติรับร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือที่รู้จักกันในนาม ‘พระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม’[1] ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์กฎหมายครอบครัวของไทย ด้วยเป็นครั้งแรกที่ระบบกฎหมายไทยรองรับสิทธิในการสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และทำให้ไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่รองรับสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และเป็นประเทศแรกในเอเชียที่รับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในรูปของการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
บทความนี้จะอธิบายถึงหลักการสำคัญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดย ‘พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม’ พร้อมทั้งข้อสังเกตที่มีต่อบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่และข้อถกเถียงระหว่างการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย รวมทั้งผลกระทบและที่อาจมีขึ้นหลังประกาศใช้กฎหมาย
2
ลำดับการเสนอร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม
แนวคิดเรื่อง ‘สมรสเท่าเทียม’ มีที่มาจากข้อเสนอของพรรคก้าวไกลใน พ.ศ. 2563 อันเป็นแนวทางการปรับปรุงกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยมีฐานคิดสำคัญในแง่ของการแก้ไขถ้อยคำในลักษณะที่ไม่บ่งถึงเพศ เป็นต้นว่าการแก้ไขคำว่าสามีภริยาเป็น ‘คู่สมรส’ และการแก้ไขคำว่าชายหญิงเป็น ‘บุคคล’ และมุ่งเน้นส่วนที่เกี่ยวกับการสมรสเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี ‘สมรสเท่าเทียม’ มิใช่แนวคิดแรกในการรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศในระบบกฎหมายไทย ก่อนหน้านี้ได้มีแนวทางเสนอร่างกฎหมายรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศในรูปกฎหมายเฉพาะในชื่อ ‘ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. ….’ โดยมีการยกร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตด้วย
วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมได้รับการพิจารณาในชั้นสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับร่าง พ.ร.บ. แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ และร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตของรัฐบาล ซึ่งในที่สุด สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการโดยพิจารณาร่างกฎหมายที่มาจากทั้งสองแนวคิดร่วมกัน อย่างไรก็ดี ระหว่างที่รอการพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎรในวาระสอง นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ยุบสภาผู้แทนราษฎร ร่างกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นอันตกไป
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน รัฐบาลใหม่นี้สนับสนุนแนวคิดร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมมากกว่า ประกอบกับสังคม ภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศให้การสนับสนุนการออกร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมมากกว่า ทำให้แนวคิด พ.ร.บ. คู่ชีวิตถูกลดความสำคัญลงไป
ในช่วงเวลานั้นเอง รัฐบาลได้ยกร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมขึ้นมาอีกหนึ่งฉบับ และถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรร่วมกับร่างของพรรคก้าวไกลหนึ่งฉบับ ร่างของพรรคประชาธิปัตย์หนึ่งฉบับ และร่างของภาคประชาชนอีกหนึ่งฉบับ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการในวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2566 โดยมีร่างของรัฐบาลเป็นร่างหลัก ก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะรับร่างในวาระสองและวาระสามในวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2566 และส่งต่อให้วุฒิสภาพิจารณาก่อนที่วุฒิสภาจะลงมติรับร่างในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2567 ในที่สุด[2]
3
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม
พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมมี 67 มาตรา สาระสำคัญจะเน้นหนักไปในทางการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ลักษณะ 1 ว่าด้วยการสมรส และยังมีการแก้ไขเล็กน้อยในส่วนของบรรพ 1 หลักทั่วไป และ บรรพ 6 ว่าด้วยมรดก โดยสามารถจำแนกหลักการและสาระสำคัญได้ดังนี้
3.1 ชายหญิงเป็น ‘บุคคล’ ‘ผู้หมั้น’ ‘ผู้รับหมั้น’ ‘คู่หมั้น’ สามีภริยาเป็น ‘คู่สมรส’
ประเด็นนี้ถือเป็นหลักการสำคัญของร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมและเป็นหลักการพื้นฐานที่ปรากฏอยู่ในร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมทุกร่าง มิว่าจะเป็นร่างของรัฐบาล พรรคก้าวไกล ภาคประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์ โดยเป็นไปเพื่อแก้ไขถ้อยคำของบุคคลในกฎหมายครอบครัวให้ใช้ถ้อยคำในลักษณะที่ไม่เจาะจงเพศ อันจะเอื้อให้ตีความคู่สมรสรวมถึงคู่สมรสที่เป็นบุคคลที่มีเพศสภาพเดียวกันได้
กรณีแก้ไขจาก ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ เป็นบุคคล ได้แก่บทบัญญัติเรื่องเงื่อนไขแห่งการสมรสตามมาตรา 1448, 1450, 1452, 1453 และมาตรา 1458
กรณีแก้ไขจาก ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ เป็นคู่สมรส ได้แก่ หมวด 3 ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา แก้ไขเป็น ‘ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส’ ตามมาตรา 1461 ถึง 1463, หมวด 4 ว่าด้วยทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา แก้ไขเป็น ‘ทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส’ ตามมาตรา 1469 มาตรา 1470 มาตรา 1475-1477 มาตรา 1479 มาตรา 1481-1499 เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขถ้อยคำลักษณะนี้ใน บรรพ 1 ในเรื่องภูมิลำเนาระหว่างคู่สมรส[3] และอายุความสิทธิเรียกร้องระหว่างคู่สมรส[4] และในบรรพ 6 ว่าด้วยมรดกอีก 3 มาตรา
กรณีแก้ไขจาก ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ เป็น ผู้หมั้นกับผู้รับหมั้น เดิมทีบทบัญญัติเรื่องหมั้นเป็นเรื่องที่ฝ่ายชายหมั้นฝ่ายหญิง แม้จะมีความพยายามแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้หญิงหมั้นชายได้ในระหว่างพุทธทศวรรษที่ 2510-2520 แต่เสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการร่างกฎหมายมีมติว่าไม่จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติม เพราะกฎหมายว่าด้วยการหมั้นเป็นเรื่องประเพณีของไทย แต่การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายครอบครัวในครั้งนี้ก้าวหน้าไปกว่าเดิมอย่างมาก ที่นอกจากหญิงหมั้นชายแล้ว บุคคลเพศเดียวกันก็สามารถหมั้นกันได้ ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติข้อความคิดเรื่องการหมั้นในระบบกฎหมายไทยพอสมควร นอกจากเรื่องหมั้นแล้ว เรื่องสินสอดก็มีความเปลี่ยนแปลงในลักษณะเดียวกัน
3.2 อายุขั้นต่ำในการหมั้นและการสมรสอยู่ที่ 18 ปี
การปรับอายุขั้นต่ำในการหมั้นและการสมรสเป็น 18 ปี มีที่มาจากการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและเป็นไปเพื่อป้องกันมิให้มีการบังคับเด็กแต่งงาน นอกจากนี้ ยังมีประเด็นว่าควรตัดบทบัญญัติส่วนท้ายที่เปิดให้สมรสก่อนอายุ 18 ปีได้ ในกรณีที่มีเหตุอันควร ซึ่งในที่สุดที่ประชุมมีมติให้คงบทบัญญัตินี้ไว้[5]
ในส่วนของอายุขั้นต่ำในการหมั้นและการสมรส ระบบกฎหมายไทยกำหนดครั้งแรกเมื่อแรกการจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ใน พ.ศ. 2478 โดยกฎหมายกำหนดอายุขั้นต่ำในการหมั้นและการสมรสไว้ที่ ชาย 17 ปี และหญิง 15 ปี โดยอ้างอิงเหตุผลเรื่องวัยเจริญพันธุ์เป็นสำคัญ[6] ก่อนที่จะมีการแก้ไขใน พ.ศ. 2519 ให้อายุขั้นต่ำของชายและหญิงอยู่ที่ 17 ปี โดยเป็นไปเพื่อสะท้อนหลักความเสมอภาคทางเพศ อันเป็นหลักการใหญ่ในการตรวจชำระกฎหมายครอบครัวในคราวนั้น และยังมีเหตุผลเรื่องการคุ้มครองเด็กในแง่ที่ว่า หญิงอายุ 15-16 ปี เป็นวัยที่ควรได้รับการศึกษา มิใช่เรื่องหมกมุ่นอยู่กับกามารมณ์
3.3 ‘กระทำการหรือยอมรับการกระทำเพื่อสนองความใคร่’ ในฐานะเหตุฟ้องหย่าเหตุใหม่
ใน พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมมีการแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องเหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (1) อันเป็นเรื่องเหตุนอกกายนอกใจคู่สมรส (adultery) กับมาตรา 1516 (10) อันเป็นเรื่องที่คู่สมรสมิอาจมีเพศสัมพันธ์ได้
การที่กฎหมายเพิ่มกรณี ‘กระทำการหรือยอมรับการกระทำเพื่อสนองความใคร่’ เป็นไปเพื่อมิให้มีช่องว่างทางกฎหมาย เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาชี้แจงว่า คำว่าเป็นชู้หรือมีชู้ ร่วมประเวณี หากพิจารณาแนวคำพิพากษาของศาลประกอบการตีความตามพจนานุกรมยังหมายความเฉพาะกรณีเพศตรงข้ามเท่านั้น ยังไม่รวมถึงกรณีบุคคลเพศเดียวกัน จึงเพิ่มกรณีที่คู่สมรส ‘กระทำหรือยอมรับการกระทำเพื่อสนองความใคร่ต่อผู้อื่นเป็นอาจิณ’ เพิ่มเติมขึ้นมา[7] อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้อาจจะมีข้อวิจารณ์ถึงความจำเป็นในการบัญญัติถ้อยคำดังกล่าว รวมทั้งขอบเขตความหมายของคำว่า ‘สนองความใคร่’ ว่ามีขอบเขตความหมายเพียงใด จึงเป็นเรื่องที่ต้องรอดูแนวคำพิพากษาของศาลต่อไป
3.4 บทเฉพาะกาล
นอกเหนือจากหลักการที่แก้ไขใหม่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมแล้ว ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมยังกำหนดบทเฉพาะกาลไว้ว่าร่างพระราชบัญญัตินี้จะไม่ใช้บังคับแก่กรณีที่กฎหมายกำหนดเรื่องครอบครัวมรดกเป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นการอ้างถึงพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตต์จังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ. 2489 นั่นเอง
นอกจากนี้ ยังมี ‘บทกวาดกอง’ ในร่างมาตรา 67 กำหนดว่า บรรดากฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด ข้อบัญญัติ ประกาศ คำสั่ง มติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดสิทธิหน้าที่ระหว่างสามีภริยา ให้ถือว่าสามีภริยา ณ ที่นี้ หมายถึง ‘คู่สมรส’ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่แก้ไขใหม่ด้วย เว้นแต่กรณีตามร่างมาตรา 67 วรรค 2 กรณีกำหนดสิทธิหน้าที่ระหว่างสามีภริยาไว้แตกต่างกัน
4
‘บุพการีลำดับแรก’ หลักการที่ไม่ได้ไปต่อในชั้นกรรมาธิการ
แม้ว่าการประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมจะเป็นหมุดหมายสำคัญในการปรับปรุงกฎหมายครอบครัวเพื่อรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมแก้ไขเฉพาะลักษณะ 1 ที่เกี่ยวกับการสมรสเท่านั้น ยังไม่มีการปรับปรุงในส่วนของบิดามารดาและบุตร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฝ่ายการเมืองที่เสนอร่างกฎหมายต้องการจะลดแรงเสียดทานจากฝ่ายอนุรักษนิยมจึงเลือกที่จะไม่แตะในเรื่องบิดามารดาและบุตร
อย่างไรก็ดี ในร่างของภาคประชาชนมีข้อเสนอว่าให้เพิ่มคำว่า ‘บุพการีลำดับแรก’ เพิ่มเติมไปจาก ‘บิดาและมารดา’ เพื่อรองรับสภาพครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นความพยายามที่จะหาคำภาษาไทยมาเทียบกับคำว่า ‘parent(s)’ ในภาษาอังกฤษ ทำนองเดียวกับการแก้คำจากสามีภริยาเป็น ‘คู่สมรส’ นั่นเอง
อย่างไรก็ดี กรรมาธิการเสียงข้างมาก ชี้แจงถึงสาระสำคัญที่ไม่แก้ไขตามที่เสนอมา เนื่องจากหากเพิ่มคำว่า ‘บุพการีลำดับแรก’ ต้องรื้อกฎหมายที่มีอยู่ทั้งประเทศไทยที่มีคำว่าบิดามารดาซึ่งเป็นผลกระทบที่รุนแรง แต่สามารถแก้ไขได้โดยติดตามแก้ไขกฎหมายฉบับที่จำเป็น เช่น กฎหมายคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์[8] ทั้งในชั้นวุฒิสภาก็มิได้พิจารณาในประเด็นนี้ ในที่สุด แนวคิดเรื่อง ‘บุพการีลำดับแรก’ จึงไม่ได้ไปต่อ
อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ดังกล่าว อาจเป็นการจุดประเด็นถึงแนวทางการปรับปรุงกฎหมายครอบครัวของไทยในอนาคตต่อไป
5
บทส่งท้าย
จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นว่า พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมถือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายครอบครัวของไทยที่มีความสำคัญในฐานะการแก้ไขระดับหลักการในรูปของการรับรอง ‘สิทธิในการสมรส’ ของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งนอกเหนือจากการแก้ไขถ้อยคำให้เป็นไปในลักษณะไม่บ่งเพศ เพื่อเอื้อให้ตีความไปถึงกรณีบุคคลเพศเดียวกันหมั้นและสมรสได้ ยังมีเรื่องการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับยุคสมัย เช่น ประเด็นเรื่องอายุขั้นต่ำในการหมั้นและการสมรส หรือการแก้ไขเหตุหย่าฐานนอกกายนอกใจและไม่มีความสามารถในการดำเนินกิจกรรมทางเพศกับคู่สมรส
อย่างไรก็ดี การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายครอบครัวในครั้งนี้ คงมิใช่การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายครอบครัวครั้งสุดท้าย กฎหมายครอบครัวเป็นกฎหมายที่มีพลวัตรเปลี่ยนแปรได้ตามสภาพสังคมและวิถีชีวิตของประชาชน นักนิติบัญญัติไทยยังมีข้อความคิดหลายประการสำหรับการเตรียมการปรับปรุงกฎหมายครอบครัวต่อไป เช่น ประเด็นเรื่องบิดามารดา (บุพการี) และบุตร และผู้ปกครองในบริบทของครอบครัวของผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือในช่วงเวลาเดียวกันกับที่วุฒิสภามีมติรับร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่าสิทธิของคู่สมรสในการเรียกค่าทดแทนจากผู้เป็นมือที่สามตามมาตรา 1523 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะมีประเด็นเชื่อมโยงไปถึงการปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับความรับผิดของคู่สมรสจากการนอกกายนอกใจในอนาคต
↑1 | ขณะที่เขียนบทความฉบับนี้ ร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมยังอยู่ในระหว่างการรอลงพระปรมาภิไธยและประกาศลงเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา |
---|---|
↑2 | ผู้จัดการออนไลน์, “เส้นทาง 12 ปี กว่าจะมีสมรสเท่าเทียม ไทยประเทศแรกในอาเซียน” (ผู้จัดการ, 18 มิถุนายน 2567), สืบค้นวันที่ 18 มิถุนายน 2567. |
↑3 | มาตรา 43 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ภูมิลำเนาของคู่สมรส ได้แก่ถิ่นที่อยู่ที่คู่สมรสอยู่กินด้วยกันฉันคู่สมรส เว้นแต่คู่สมรสได้แสดงเจตนาให้ปรากฏว่ามีภูมิลำเนาแยกต่างหากจากกัน |
↑4 | มาตรา 193/22 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
อายุความสิทธิเรียกร้องระหว่างคู่สมรส ถ้าจะครบกำหนดก่อนหรือภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลงอายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง |
↑5 | สภาผู้แทนราษฎร, รายงานการประชุม คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ครั้งที่ 5 (31 มกราคม 2567) 9-10. |
↑6 | เสริม วินิจฉัยกุล, กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยครอบครัว (มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง 2492).30-31. |
↑7 | สภาผู้แทนราษฎร, รายงานการประชุม คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ครั้งที่ 6 (7 กุมภาพันธ์ 2567) 15. |
↑8 | กัญมณฑ์ แต้มวิโรจน์, “‘สมรสเท่าเทียม’ อาจยังดีไม่พอ เพราะสิทธิในการสร้างครอบครัว ยังไม่รองรับความรักที่หลากหลาย” (ไทยรัฐ, 4 เมษายน 2567), สืบค้นวันที่ 1 มิถุนายน 2567 |