fbpx
Exclusive: Maria Ressa ผู้คว้าโนเบลสันติภาพ 2021 - เมื่อโลกฟูเฟื่องด้วยเรื่องเท็จและเผด็จการ 'นักข่าว' จึงต้องเป็นความหวัง

Exclusive: Maria Ressa ผู้คว้าโนเบลสันติภาพ 2021 – เมื่อโลกฟูเฟื่องด้วยเรื่องเท็จและเผด็จการ ‘นักข่าว’ จึงต้องเป็นความหวัง

รางวัลนี้ไม่ใช่แค่ของฉัน แต่เป็นของ ‘นักข่าวทั่วโลก’

“ขณะที่ฉันกำลังไลฟ์อยู่ ฉันก็เหลือบไปเห็นมือถือที่วางอยู่ข้างๆ ว่ามีสายโทรเข้าจากนอร์เวย์ ที่จริงฉันรู้แล้วว่าวันนั้นกำลังจะมีการประกาศผลรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่ฉันก็เข้าใจว่าเขาน่าจะแค่โทรมาแจ้งชื่อผู้ได้รับรางวัลให้ฉันรับรู้…แต่พอรับสายแล้วได้ยินสิ่งที่ปลายสายบอก ความรู้สึกของฉันตอนนั้นคือฉันช็อกมาก”

คำบอกเล่าของ ‘มาเรีย เรสซา’ (Maria Ressa) นักข่าวชาวฟิลิปปินส์ CEO และผู้ร่วมก่อตั้งสำนักข่าวอิสระ Rappler ต่อ 101 ถึงความรู้สึกในวินาทีที่เธอรับรู้ในสิ่งที่เธอไม่เคยคิดฝันมาก่อนว่าเธอคือหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปีนี้ โดยคณะกรรมการรางวัลโนเบลให้เหตุผลถึงการเลือกเธอว่า

“มาเรีย เรสซา และดิมิทรี มูราตอฟ (Dimitry Muratov, ผู้ร่วมรับรางวัล) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากความหาญกล้าของพวกเขาในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการแสดงออกในฟิลิปปินส์และรัสเซีย ขณะเดียวกันพวกเขายังถือเป็นตัวแทนของนักข่าวทั้งมวลผู้ซึ่งยืนหยัดเพื่ออุดมการณ์ ท่ามกลางโลกที่ประชาธิปไตยและเสรีภาพสื่อกำลังถอยหลังลงคลองเรื่อยๆ…สำหรับมาเรีย เรสซา เธอใช้เสรีภาพในการแสดงออกในการเปิดโปงการใช้อำนาจในทางมิชอบ การใช้ความรุนแรง และการขยายตัวของอำนาจนิยมในประเทศของเธอเอง…” 

ภาพการประกาศชื่อผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2021 โดยคณะกรรมการรางวัลโนเบล
ที่มา: https://www.facebook.com/nobelprize/photos/10158527499424103

ย้อนไปในปี 1935 คาร์ล ฟ็อน อ็อสซีเอ็ทซ์คี (Carl von Ossietzky) นักข่าวชาวเยอรมัน สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักข่าวคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ จากการทำข่าวเปิดโปงแผนการกลับมาเสริมสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัฐบาลเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 กระทั่งผ่านมาถึง 86 ปี รางวัลนี้ถึงไปสู่มือของนักข่าวอีกครั้ง เรสซามองว่าการตัดสินแบบนี้ย่อมแปลว่าคณะกรรมการรางวัลโนเบลต้องการส่งสารบางอย่างต่อคนทั่วโลก

“ฉันว่าที่คณะกรรมการรางวัลโนเบลตัดสินแบบนี้เป็นเพราะ ในยุคสมัยนี้เสรีภาพการแสดงออกของผู้คนกำลังถูกคุกคาม นักข่าวกำลังตกเป็นเป้าโจมตีจากการที่พวกเขาพยายามทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสุดความสามารถเพื่อจะตรวจสอบผู้มีอำนาจ และเหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ใดที่หนึ่ง” เรสซากล่าว

“เพราะฉะนั้น รางวัลนี้ไม่ใช่ของฉันคนเดียว แต่ถือว่าเป็นของนักข่าวทั่วโลก”

ภัยคุกคามนักข่าวแห่งศตวรรษที่ 21
เมื่อ ‘เผด็จการ’ ผนึกกำลัง ‘โซเชียลมีเดีย’

อันที่จริง ภาพของนักข่าวที่ถูกคุกคามจากอำนาจมืดไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ หากแต่มีให้เห็นมาตลอดไม่ว่าจะในยุคสมัยใด ทว่าภัยคุกคามต่อสื่อมวลชนในเวลานี้ช่างทวีความซับซ้อนและท้าทายด้วยกระแสของโลกที่เปลี่ยนไป

“ทุกวันนี้ นักข่าวต้องเจอภัยคุกคามจากสองทาง อย่างแรกคือการผงาดขึ้นของผู้นำสายเผด็จการในหลายชาติ” เรสซากล่าว

หลังกระแสธารแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยเบ่งบานไปทั่วโลก ในช่วงกลางทศวรรษ 2010s กระแสนี้กลับเริ่มไหลย้อนด้วยการก้าวขึ้นสู่อำนาจและการกระชับอำนาจของผู้นำฝั่งขวาในหลายประเทศ ภาพของสื่อมวลชนที่ถูกคุกคามจากรัฐด้วยรูปแบบต่างๆ จึงปรากฏชัดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก

มาเรีย เรสซา (Maria Ressa) ระหว่างให้สัมภาษณ์ 101

“สิ่งที่ทำให้ผู้นำเหล่านี้กระชับอำนาจได้ในยุคสมัยนี้คือ ‘โซเชียลมีเดีย’ (social media) และโซเชียลมีเดียเองนี่แหละก็คือภัยคุกคามประการที่สองของนักข่าวในยุคสมัยนี้” เรสซากล่าว

“เพราะโซเชียลมีเดียกำลังแย่งบทบาทการเป็นผู้รักษาประตูข้อมูลไปจากสำนักข่าว โดยกลไกสำคัญของมันก็คือ ‘อัลกอริทึม’ (algorithm) ที่คอยคัดเลือกว่าจะให้ผู้ใช้งานรับรู้ข้อมูลอะไรบ้าง แต่กลายเป็นว่าโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ทั้งหลายกลับเป็นแหล่งเผยแพร่เรื่องเท็จ รวมถึงเรื่องที่ก่อให้เกิดความโกรธเกรี้ยวเกลียดชัง และข้อมูลแบบนี้ก็แพร่ออกไปได้อย่างรวดเร็วและไปได้ไกลยิ่งกว่าสิ่งที่เป็นความจริง”

ด้านหนึ่งการเติบโตของโซเชียลมีเดียอาจเป็นคุณต่อแวดวงสื่อ เพราะช่วยเพิ่มช่องทางให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากขึ้น ทั้งยังทำให้เกิดสื่อใหม่ขึ้นมาเป็นทางเลือกให้สังคมมากมาย อย่างสำนักข่าว Rappler ของเรสซาเองก็ได้ใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียในการเติบโตขึ้นมาเป็นสื่อออนไลน์อิสระที่ทรงอิทธิพลที่สุดสื่อหนึ่งของฟิลิปปินส์ แต่ยิ่งนานวัน เรสซาก็ยิ่งค้นพบว่าโซเชียลมีเดียยังซ่อนดาบอีกคมหนึ่งไว้ เพราะไม่ใช่เพียงความจริง แต่ความเท็จก็ถูกเผยแพร่ไปมหาศาล โดยก่อนหน้าที่เธอจะก่อตั้งสำนักข่าว Rappler เธอเคยสืบสวนเกี่ยวกับการใช้โซเชียลของกลุ่มก่อการร้ายเพื่อเป็นเครื่องมือเผยแพร่อุดมการณ์ จนนำไปสู่การตีพิมพ์หนังสือ From Bin Laden to Facebook (2013) เป็นพื้นฐานให้เธอเข้าใจว่าโซเชียลมีเดียก็ให้โทษได้เหมือนกัน

“ปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาที่ถูกเผยแพร่ แต่อยู่ที่ตัวอัลกอริทึม มันเป็นปัญหาที่การออกแบบแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และการออกแบบที่เป็นปัญหานี้เองก็ถูกผู้มีอำนาจเอาไปใช้ประโยชน์ในการพยายามชักจูงความคิดผู้คนอย่างง่ายดาย” เรสซากล่าว

“รูปแบบแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียก็ได้มาจากกาสิโน คือมันพยายามทำให้ใจคนเสพติด เมื่อเราอยู่บนโซเชียลมีเดีย มันจะทำให้เราต้องเลื่อนอ่านอะไรไปเรื่อยๆ พยายามทำให้คุณอยู่กับมันนานที่สุด และนั่นก็เปิดโอกาสให้พวกเราถูกชี้นำความคิดได้แบบง่ายๆ” เธอกล่าวต่อ โดยชี้ว่าแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบแก้ข้อบกพร่องของกลไกแพลตฟอร์มตัวเอง มากกว่าที่จะห่วงแต่ผลกำไรบริษัท ทว่าที่ผ่านมา เธอมองว่าบริษัทแพลตฟอร์มไม่ได้พยายามมากเท่าที่ควร จนเกิดผลร้ายให้เห็นประจักษ์มาแล้วนักต่อนัก

“ปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่เนื้อหาที่ถูกเผยแพร่ แต่อยู่ที่ตัวอัลกอริทึม มันเป็นปัญหาที่การออกแบบแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และการออกแบบที่เป็นปัญหานี้เองก็ถูกผู้มีอำนาจเอาไปใช้ประโยชน์ในการพยายามชักจูงความคิดผู้คนอย่างง่ายดาย”

มาเรีย เรสซา (Maria Ressa)
ภาพจาก Facebook: Maria Ressa

“สิ่งที่บรรดาแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียกำลังทำคือการทำให้สิ่งที่เป็น ‘ข้อเท็จจริง’ กลายเป็นที่เคลือบแคลงถกเถียง จนทำให้คนแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และแต่ละฝ่ายก็ติดอยู่ในฟองสบู่ข้อมูล (filter bubble) ของตัวเอง ในที่สุดมันก็ทำให้แต่ละฝ่ายหัวรุนแรงมากขึ้น จนไม่อาจกลับมาประสานกันอย่างเดิมได้” เรสซากล่าว

“และเมื่อคนเราไม่ได้รับรู้ความจริงชุดเดียวกัน ก็จะไม่สามารถร่วมมือกันแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกันได้ เหมือนอย่างตอนนี้ที่เรามีปัญหาโลกร้อนและโคโรนาไวรัสที่จำเป็นต้องแก้ร่วมกัน ฉันว่าสถานการณ์แบบนี้เป็นอะไรที่น่ากลัวมาก”

หลายคนมองว่าการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียจะทำให้ประชาธิปไตยเฟื่องฟูขึ้น เพราะเป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้พูดคุย ถกเถียง แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง และทำให้คนได้รับรู้ความจริงมากขึ้น แต่สำหรับเรสซา เธอมองว่าอีกด้าน โซเชียลมีเดียกลับเป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยเอง เพราะข้อบกพร่องที่โซเชียลมีเดียไม่พยายามที่จะแก้ไข เปิดช่องให้ผู้นำสายอำนาจนิยมเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าประสงค์ในการโจมตีฝั่งตรงข้าม และชี้นำความคิดคนให้สนับสนุนได้อย่างง่ายดาย และประเทศฟิลิปปินส์ บ้านเกิดของเรสซาเอง ก็กำลังเป็นตัวอย่างที่ดีของปรากฏการณ์นี้

Rappler กับปฏิบัติการแฉ IO
เมื่อรัฐทำสงครามต่อประชาธิปไตยและประชาชนของตัวเอง

“สำนักข่าว Rappler ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 จากความเชื่อมั่นของเราที่มีต่อพลังของเทคโนโลยี เราเชื่อว่าเทคโนโลยีจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดได้ ย้อนไปในช่วงปี 2012-2016 มันมหัศจรรย์มากที่เราสามารถใช้โซเชียลมีเดียมาทำประโยชน์และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมหลายอย่าง แต่จุดเปลี่ยนก็มาถึงในปี 2016 ตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่โรดริโก ดูเตร์เต (Rodrigo Duterte) ชนะเข้ามาได้ ตอนนั้นฉันเห็นเลยว่า โซเชียลมีเดียก็ถูกใช้เป็นอาวุธได้เหมือนกัน” เรสซาเล่าให้เราฟัง

การก้าวขึ้นมาของดูเตร์เตคือจุดถดถอยสำคัญของภูมิทัศน์เสรีภาพสื่อในฟิลิปปินส์ โดยรายงานของสื่อไร้พรมแดน (Reporters without Borders) ในชื่อ ‘นักล่า’ (Predators) 2021 ระบุชื่อของดูเตร์เต เป็นหนึ่งใน 37 ผู้นำประเทศที่เป็น ‘นักล่าเสรีภาพสื่อ’ (Predators of Press Freedom) โดยชี้ว่าดูเตร์เตกำลังทำสงครามเต็มรูปแบบกับสื่ออิสระที่เขามองว่ายืนอยู่ฝั่งตรงข้าม โดยใช้ข้อกฎหมายต่างๆ เล่นงาน และที่พัฒนาขึ้นจากยุคสมัยก่อนๆ คือการใช้โซเชียลมีเดียเป็นอาวุธ โดยเรสซาบอกกับเราว่า “Rappler คือหนึ่งในเป้าหมายแรกๆ ของการโจมตี”

การมุ่งมั่นทำข่าวตรวจสอบและตั้งคำถามรัฐบาลดูเตร์เตอย่างเข้มข้นถึงพริกถึงขิง ทำให้ทีมข่าว Rappler รวมทั้งเรสซา ตกเป็นที่เพ่งเล็งมาตลอด บ่อยครั้งที่ดูเตร์เตพูดจาด้อยค่าและโจมตีสำนักข่าว Rappler อย่างเปิดเผย เช่นการกล่าวหา Rappler ว่าเป็นสำนักข่าว Fake News เมื่อมีการรายงานข่าวที่มีเนื้อหาสร้างความไม่พอใจให้ดูเตร์เต และควบคู่ไปกับการโจมตีด้วยสงครามน้ำลายจากผู้นำประเทศ เรสซาและทีมข่าว Rappler ยังถูกถล่มด้วยข้อความสร้างความเกลียดชัง (hate speech) จากกองเชียร์ดูเตร์เตต่อเนื่อง เรสซาเคยระบุไว้ว่าเธอได้รับข้อความแบบนี้โดยเฉลี่ยถึง 90 ข้อความต่อชั่วโมง  

“ใครก็ตามที่ตกเป็นเป้าหมายก็ย่อมเป็นคนเดียวที่มองเห็นว่าใครโจมตีคุณมาจากทางไหนบ้าง ขณะที่คนอื่นจะไม่เห็นเหมือนเรา โดยสิ่งที่พวกเขาเห็นจะเป็นแค่ตัววาทกรรมหรือคำโกหกต่างๆ ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อโจมตีเราเท่านั้น อย่างในฟิลิปปินส์มีวาทกรรมหนึ่งที่สร้างขึ้นมาโจมตีนักข่าวว่า ‘นักข่าวเท่ากับอาชญากร’ (Journalist equals criminal.) แล้วเมื่อผู้คนเห็นวาทกรรมโกหกแบบนี้เป็นล้านๆ ครั้ง ตามด้วยผู้นำประเทศมาพูดตอกย้ำมันอีกเรื่อยๆ ท้ายสุดมันก็ทำให้คนคล้อยตามได้ และที่สุดก็นำไปสู่การใช้กฎหมายเล่นงานนักข่าวอย่างพวกเรา” เรสซากล่าว

“ฉันเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร’ (Information Operation – IO) มันไม่ใช่แค่การถล่มของเกรียนคีย์บอร์ดธรรมดาๆ แต่นี่คือสงครามอีกรูปแบบหนึ่ง และมันเป็นสงครามที่ผู้มีอำนาจกำลังทำกับประชาชนของตัวเอง”

มาเรีย เรสซา (Maria Ressa)
ภาพจาก Rappler

แต่ท่ามกลางคลื่นแห่งข้อความเกลียดชังที่สาดซัดเข้ามา ทีมข่าว Rappler ก็เฝ้าจับสังเกตได้ถึงความผิดปกติบางอย่าง และเห็นว่าแต่ละข้อความ แต่ละบัญชีผู้ใช้ มีแบบแผนและความเชื่อมโยงบางอย่างระหว่างกัน

“ฉันเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร’ (Information Operation – IO) มันไม่ใช่แค่การถล่มของเกรียนคีย์บอร์ดธรรมดาๆ แต่นี่คือสงครามอีกรูปแบบหนึ่ง และมันเป็นสงครามที่ผู้มีอำนาจกำลังทำกับประชาชนของตัวเอง” เรสซากล่าว

กองทัพ IO ไม่เพียงแต่โจมตี Rappler แต่สื่ออื่นๆ รวมถึงนักการเมืองและนักกิจกรรมฝั่งตรงข้ามก็ล้วนตกเป็นเหยื่อ นอกจากจะพุ่งเป้าไปที่ฝั่งตรงข้ามแล้ว กองทัพคีย์บอร์ดยังกระจายข้อความที่เป็นการสนับสนุน ให้กำลังใจ และปกป้องดูเตร์เตด้วย โดยทีมข่าว Rappler เริ่มสืบสวนเรื่องนี้มาตั้งแต่ช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2016 จนมีการเผยแพร่รายงานข่าวชิ้นหนึ่งออกมาในเดือนตุลาคม 2016 หลังดูเตร์เตรับตำแหน่งประธานาธิบดีเพียงสี่เดือน โดยเป็นรายงานข่าวซีรีส์ 3 ตอน ในชื่อ ‘Propaganda war: Weaponizing the internet’, ‘How Facebook algorithms impact democracy’ และ ‘Fake accounts, manufactured reality on social media’ ซึ่งเป็นผลงานของเรสซา และเช เอฟ. โฮฟิเลนา (Chay F. Hofilena) 

Propaganda war: Weaponizing the internet บทความชิ้นแรกในซีรีส์สืบสวนปฏิบัติการ IO ที่เชื่อมโยงกับดูเตร์เต

การสืบสวนเริ่มต้นจากการสังเกตบัญชีผู้ใช้ 26 บัญชีบน Facebook ซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นบัญชีผู้ใช้อวตารภายใต้เครือข่ายกองทัพคีย์บอร์ดที่เชื่อว่าได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลดูเตร์เต ต่อมา Rappler จับสังเกตได้ว่าข้อมูลโปรไฟล์ของทั้ง 26 ผู้ใช้นี้ล้วนเป็นข้อมูลปลอม ทั้งการใช้ภาพโปรไฟล์ที่เป็นหน้าบุคคลอื่น ใส่ที่ทำงานปลอม และยังพบแบบแผนคล้ายกันบางอย่าง เช่นมักมีเพื่อนน้อยกว่า 50 คน บ้างเป็นเพื่อนกันเอง มีการใช้ภาพปกซ้ำกัน มีการกดไลก์แผนเพจและเข้าร่วมกลุ่มที่มีเนื้อหาการเมืองเหมือนๆ กัน และที่สำคัญคือมักมีการโพสต์หรือแชร์เนื้อหาเหมือนๆ กันในเวลาไล่เลี่ยกัน ซึ่งต่อมา 26 บัญชีนี้ยังทำให้ Rappler สามารถขยายผลไปตรวจสอบพบความเชื่อมโยงของบรรดาแฟนเพจและเว็บไซต์ ทั้งยังทำให้เห็นว่ากองทัพคีย์บอร์ดกำลังสร้างวาทกรรมแบบไหนชักจูงความคิดคนบ้าง

ซีรีส์ข่าวชุดนี้เป็นงานสืบสวนปฏิบัติการ IO ชิ้นแรกๆ ของ Rappler และเป็นรากฐานให้สำนักข่าวผลิตผลงานสืบสวนเรื่องนี้ด้วยวิธีการที่เป็นระบบระเบียบและใช้เครื่องมือที่ซับซ้อนขึ้นในเวลาต่อมา

“เราสร้างระบบฐานข้อมูลของเราเองที่เราใช้ชื่อว่า ‘Sharktank’ เอาไว้มอนิเตอร์โพสต์สาธารณะบนโซเชียลมีเดียที่มีอยู่เป็นแสนๆ ล้านๆ โพสต์ ทำให้เราสามารถตรวจสอบหาความเชื่อมโยงของแต่ละบัญชี กลุ่มหรือเพจได้ นอกจากนี้ เรายังใช้วิธีการประมวลภาษาธรรมชาติ (natural language processing) โดยเราคอยตรวจสอบจากข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่บนโลกออนไลน์ว่ามีคำพูดหรือวาทกรรมไหนบ้างที่ถูกผลิตออกมาซ้ำๆ กันในเวลาไล่เลี่ยกัน ส่วนนี้จะทำให้เราเข้าใจว่าขบวนการกองทัพคีย์บอร์ดกำลังพยายามชี้นำความคิดของสาธารณชนให้ไปทางไหน” เรสซาอธิบายให้เราฟังถึงกระบวนการตรวจสอบ IO ของ Rappler เบื้องต้น

Sharktank เป็นระบบที่สำนักข่าว Rappler สร้างขึ้นมาเอง ซึ่งทำให้ทีมข่าวสามารถรวบรวมข้อมูลบัญชีผู้ใช้ กลุ่ม และแฟนเพจบนแพลตฟอร์ม Facebook ที่ต้องสงสัยอย่างเป็นระเบียบ พร้อมมีระบบที่สามารถวิเคราะห์ตรวจจับความเคลื่อนไหวและความเชื่อมโยงของขบวนการ IO อย่างง่ายดาย กลายเป็นเครื่องมือหลักของทีมข่าว Rappler ที่ใช้สืบสวน IO ในผลงานชิ้นต่อๆ มาอีกหลายชิ้น

หนึ่งในผลงานโดดเด่นของ Rappler ที่ใช้ Sharktank เข้ามาช่วยสืบสวนคือ รายงานเรื่อง ‘New war: How the propaganda network shifted from targeting ‘addicts’ to activists’ โดยดอน เควิน ฮาปาล (Don Kevin Hapal) และไรซา เซราฟิกา (Raisa Serafica) เมื่อเดือนตุลาคม 2021 ซึ่งเล่าถึงขบวนการ IO ที่เชื่อมโยงกับดูเตร์เต ในปฏิบัติการโจมตีบรรดานักกิจกรรมฝั่งตรงข้าม โดยรายงานชิ้นนี้สามารถนำข้อมูลมาจำลองภาพให้เห็นความเชื่อมโยงของเครือข่ายชัดเจนขึ้น ทั้งยังเห็นพัฒนาการของการประดิษฐ์เรื่องราวและวาทกรรมในแต่ละช่วงเวลา

แผนภาพจำลองความเชื่อมโยงของบัญชีผู้ใช้ แฟนเพจ และกลุ่มบน Facebook ภายใต้เครือข่ายปฏิบัติการโจมตีนักกิจกรรม โดยเห็นถึงวิวัฒนาการตั้งแต่ปี 2016-2020 จัดทำโดย Rappler ในบทความ ‘New war: How the propaganda network shifted from targeting ‘addicts’ to activists’

และอีกผลงานที่เป็นที่กล่าวขานก็คือซีรีส์สืบสวน 3 ตอนชุด ‘Networked Propaganda‘ โดยเจมมา เมนโดซา (Gemma Mendoza) ซึ่งตีแผ่เครือข่ายปฏิบัติการ IO ของตระกูลมาร์กอส (Marcos) ที่พยายามกู้ภาพลักษณ์ให้ตระกูลกลับมามีอำนาจได้อีกครั้ง หลังเคยเรืองอำนาจในยุคที่เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos) อดีตผู้นำเผด็จการฟิลิปปินส์ครองอำนาจช่วงทศวรรษ 60s-80s โดยรายงานชี้ว่าเครือข่าย IO ของมาร์กอสยังมีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายของดูเตร์เตด้วย

การใช้กองทัพคียบอร์ดเป็นเครื่องมือทางการเมืองกำลังแพร่สะพัดในฟิลิปปินส์ จนทำให้ธุรกิจกองทัพคีย์บอร์ดเป็นธุรกิจมืดที่มาแรงในประเทศ ด้วยปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งคือการใช้โซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลายในฟิลิปปินส์ ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีผู้ใช้งานเฉลี่ยต่อวันต่อคนสูงที่สุดในโลกจนได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งโซเชียลมีเดียของโลก การมีอยู่ของขบวนการ IO ที่ได้รับการสนับสนุนจากทางการยังได้รับการยืนยันด้วยงานศึกษาจากอีกหลายสำนัก รวมถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook เองก็เคยมีแถลงการณ์เปิดโปงถึงเรื่องนี้ พร้อมสั่งปิดบัญชีผู้ใช้ กลุ่ม และแฟนเพจที่มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายไปแล้วหลายรอบ และ Facebook เองก็เคยถึงขั้นเปรียบเปรยฟิลิปปินส์ว่าคือผู้ติดเชื้อหมายเลขศูนย์ (patient zero) ของการระบาดข้อมูลข่าวสารเท็จทั่วโลก เพราะพบว่ามีการใช้โซเชียลมีเดียเป็นอาวุธปั่นความคิดคนอย่างแพร่หลายในช่วงการเลือกตั้งผู้นำฟิลิปปินส์ปี 2016 ก่อนที่จะพบในช่วงการลงประชามติ BREXIT และการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ปลายปี 2016 ที่โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) คว้าชัยชนะ เสียอีก

สำหรับเรสซา การที่ฟิลิปปินส์ตกอยู่ในม่านหมอกแห่งความเท็จจากขบวนการปั่นโฆษณาชวนเชื่อออนไลน์ของผู้มีอำนาจทางการเมือง นับว่าน่าเป็นห่วงต่ออนาคตของประเทศ

“ถ้าไม่มี ‘ข้อเท็จจริง’ (fact) ก็จะไม่มี ‘ความจริง’ (truth) และเมื่อไม่มีความจริง ก็จะไม่เกิดความรู้สึกไว้วางใจ (trust) ระหว่างกัน ซึ่งความไว้วางใจนั้นถือเป็นบ่อเกิดสำคัญอันนำไปสู่การมี ‘ประชาธิปไตย’ ที่มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่มีสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐาน เราก็จะไม่มีทางมีประชาธิปไตยได้” เรสซากล่าว พร้อมกับชี้ว่าการที่ผู้มีอำนาจเล่นสงครามแบบนี้กับประชาชน ก็ไม่ต่างจาก “การฆ่าประชาธิปไตยให้ตายลงอย่างช้าๆ” (death by a thousand cuts of democracy)

อย่าปล่อยให้ความตายต้องเงียบงัน
Rappler กับการตีแผ่สงครามยาเสพติด

การสืบสวนปฏิบัติการ IO เป็นเพียงเศษเสี้ยวเดียว Rappler ยังมีผลงานสืบสวนความไม่ชอบมาพากลในสังคมอีกหลายประเด็นที่โดดเด่นและสร้างแรงสั่นสะเทือนไม่น้อยในฟิลิปปินส์ ทั้งการเปิดโปงความร่ำรวยขึ้นผิดปกติของบรรดานักการเมือง ความผิดปกติในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ความผิดปกติในการใช้งบประมาณแผ่นดิน การล่วงละเมิดทางเพศในสถาบันการศึกษา การเข้าร่วมกลุ่มก่อการร้ายของวัยรุ่นฟิลิปปินส์ รวมถึงการตรวจจับข้อมูลเท็จในสังคมอยู่ต่อเนื่อง แต่ประเด็นหนึ่งที่ระคายเคืองดูเตร์เตมากที่สุดหนีไม่พ้นการเปิดโปง ‘สงครามยาเสพติด’

“Rappler ตกเป็นเป้าหมายของการคุกคามจากรัฐบาลด้วยสองเรื่องใหญ่ๆ นอกจากจะเป็นเรื่องที่เราไปเปิดโปงขบวนการ IO ปั่นโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล อีกเรื่องหนึ่งก็คือการที่เราติดตามรายงานความจริงเรื่องความโหดร้ายในสงครามยาเสพติดอย่างไม่หยุดยั้ง” เรสซากล่าว

ทันทีที่ดูเตร์เตขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ นโยบายประกาศสงครามต่อยาเสพติดตามที่เขาหาเสียงไว้ก็เริ่มต้นขึ้นและดำเนินเรื่อยมาจนปัจจุบัน การกวาดล้างอย่างรุนแรงทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคน โดยที่ไม่อาจรู้ถึงตัวเลขที่แน่ชัดได้ ด้วยยอดตัวเลขของแต่ละสำนักที่แตกต่างกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลขของทางการที่มักต่ำกว่าแหล่งอื่นๆ

“เราคอยจับตารัฐบาลฟิลิปปินส์ในเรื่องนี้มาตลอดทุกฝีก้าว แต่ละวัน สำนักงานตำรวจแห่งชาติประกาศยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นทุกวันๆ จนในเดือนมกราคม 2017 ยอดรวมก็พุ่งไปถึงกว่า 7,000 คน ซึ่งเยอะมาก แล้วรัฐบาลก็น่าจะตระหนักได้ว่าทั่วโลกจับตามองเรื่องนี้อยู่ ต่อมาไม่นานเลขยอดรวมก็ลดลงมาเหลือ 2,000 คนเฉยเลย แน่นอนว่ามันไม่ปกติ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมสำนักข่าวเราถึงกัดเรื่องนี้ไม่ปล่อย”

ความน่าเคลือบแคลงหลายอย่างจากทางการฟิลิปปินส์ ทำให้รายงานข่าวเรื่องสงครามยาเสพติดของ Rappler ไม่ใช่เพียงสิ่งที่ทางการบอกมาเผยแพร่ แต่เต็มไปด้วยการตั้งคำถามถึงความผิดปกติของข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลทางสถิติต่างๆ ที่ดูไม่สมเหตุสมผล ในทุกๆ คืน เรสซายังส่งทีมข่าวลงพื้นที่ในหลายเมืองทั่วประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อสืบสวนสถานการณ์สงครามยาเสพติด โดยทุกครั้งที่นักข่าวลงพื้นที่ก็มักกลับสำนักข่าวมาพร้อมกับภาพของคนตาย

ภายใต้สงครามยาเสพติดคือการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างโหดร้าย ผู้คนจำนวนมากที่ต้องสงสัยว่าพัวพันกับยาเสพติด แม้จะในกรณีที่มีโทษตามกฎหมายสถานเบา ต้องถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยไม่ผ่านขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมาย (Extrajudicial Killing – EJK) ด้วยฝีมือของทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และคนที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งฉกฉวยโอกาสจาก ‘ใบสั่งฆ่า’ ของประธานาธิบดีดูเตร์เต สังหารผู้อื่นด้วยประเด็นที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จึงมีเหยื่อจำนวนไม่น้อยที่เป็นผู้บริสุทธิ์ แม้กระทั่งเด็กเล็กๆ ที่โดนลูกหลง นำไปสู่การเผยแพร่หนึ่งในผลงานสืบสวนชิ้นโบแดงของ Rappler ในชุด ‘The Impunity Series

The Impunity Series คือซีรีส์ข่าวโดยแพทริเซีย เอวานเจลิสตา (Patricia Evangelista) ซึ่งประกอบด้วยรายงานข่าวหลายชิ้นจากการลงพื้นที่สืบสวนการสังหารประชาชนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจภายใต้ปฏิบัติการสงครามปราบปรามยาเสพติด ในช่วงปี 2017 รายงานข่าวชุดนี้เปิดเผยว่าการสังหารประชาชนนอกกฎหมายหรือ EJK ถูกทำขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยมีการเปิดโปงความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มบุคคลต่างๆ พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการเอาต์ซอร์สกลุ่มแก๊งต่างๆ ให้ตามล่าสังหารผู้ต้องสงสัยแทน รายงานข่าวชุดนี้ได้รับเสียงทั้งเสียงชื่นชมและยังกวาดรางวัลมากมาย เป็นผลงานที่สะท้อนดีเอ็นเอของ Rappler ในฐานะสื่อมวลชนผู้ใช้ ‘ความจริง’ เป็นอาวุธตีแผ่รัฐ ไม่ให้หมกเม็ดสาธารณชนได้อย่างง่ายดาย

101 สัมภาษณ์พิเศษ Maria Ressa หนึ่งในผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2021 ถึงการต่อสู้ของเธอในฐานะสื่อมวลขน ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลเท็จและ
The Impunity Series ผลงานสืบสวนสงครามยาเสพติดชิ้นเด่นของ Rappler
ภาพจาก Rappler

เพราะพลังที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศ
อยู่ในตัวของนักข่าวทุกคน

อย่างไรก็ตาม การได้รับรางวัลและเสียงสรรเสริญเยินยอจากทั้งคนฟิลิปปินส์และคนทั่วโลก ต้องแลกมาด้วยการที่ Rappler ต้องถูกคุกคามจากผู้มีอำนาจ โดยเฉพาะการเล่นงานด้วยข้อกฎหมาย

“ในเวลาไม่ถึง 2 ปี รัฐบาลฟิลิปปินส์สั่งออกหมายจับฉันแล้ว 10 ข้อหา ฉันเคยถูกจับกุม ถูกควบคุมตัวข้ามคืน ฉันต้องคอยยื่นขอประกันตัวมาแล้ว 10 ครั้ง แล้วตอนนี้ฉันยังไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศตามใจชอบด้วย” เรสซากล่าว โดยคดีความที่ว่านั้นมีทั้งข้อหาหมิ่นประมาททางไซเบอร์ การเลี่ยงภาษี และการมีผู้ถือหุ้นต่างชาติเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นที่มองออกว่าเป็นความพยายามกลั่นแกล้งปิดปากเธอและสำนักข่าว Rappler โดยพบว่ามีกระบวนการและการตีความทางกฎหมายที่แปลกประหลาด

ถึงตอนนี้ หลายคดีความที่ Rappler ตกเป็นจำเลยก็ยังคงเดินหน้าอยู่ แม้จะมีรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเป็นเครื่องประกาศความภาคภูมิใจให้กับประเทศชาติ แต่เรสซารู้ดีว่ารางวัลนี้ไม่ใช่เกราะคุ้มครองเธอให้รอดพ้นจากเงื้อมมือผู้มีอำนาจได้ ในประเทศที่ขึ้นชื่อว่าอันตรายต่อชีวิตนักข่าวสูงสุดเป็นอันดับที่เจ็ดของโลก และมีคะแนนเสรีภาพสื่อรั้งท้ายๆ ของโลกที่อันดับ 138 จาก 180 ประเทศ อย่างร้ายแรงที่สุด วันใดวันหนึ่ง Rappler อาจถูกบีบให้ต้องปิดตัวลง ซ้ำร้ายกว่านั้น เธอหรือคนในทีมข่าว Rappler อาจต้องจ่ายราคาของการยืนหยัดในจรรยาบรรณด้วยการสูญสิ้นอิสรภาพ หรือร้ายแรงสุดคือชีวิต

“ประเทศจำเป็นต้องมีนักข่าวที่คอยตั้งคำถาม เค้นหาคำตอบต่างๆ ให้กับประชาชน เช่นนั้น เราถึงจะมีประชาธิปไตยที่ดีได้”

มาเรีย เรสซา (Maria Ressa)
ภาพจาก Facebook: Maria Ressa

“ใครๆ อาจจะมองว่า พวกเราช่างไม่เกรงกลัวอะไร แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่กลัวนะ เราแค่สามารถจัดการกับความกลัวของเราเองได้ อย่างสำนักข่าวเรามีผู้ร่วมก่อตั้งทั้งหมดสี่คน เราทั้งสี่คนก็ทำสัญญากันเอาไว้ว่า ในแต่ละช่วงเวลามีคนกลัวขึ้นมาได้เพียงคนเดียวในสี่คนเท่านั้น พอหายกลัวแล้ว ก็ค่อยเป็นคิวคนอื่นผลัดเวรกันกลัว” เรสซากล่าว

เธอไม่ปฏิเสธว่าเธอก็มีความกลัวเฉกเช่นมนุษย์ทั่วไป แต่เธอยังคงยืนยันว่าเธอไม่สามารถหยุดทำหน้าที่ของเธอได้ “เพราะนี่คือช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่ง ประเทศจำเป็นต้องมีนักข่าวที่คอยตั้งคำถาม เค้นหาคำตอบต่างๆ ให้กับประชาชน เช่นนั้น เราถึงจะมีประชาธิปไตยที่ดีได้”

“สำหรับนักข่าวรุ่นใหม่ๆ ทุกคนในวันนี้ ฉันขอบอกพวกคุณว่า ไม่มีช่วงเวลาไหนที่เหมาะกับการเป็นนักข่าวเท่ากับช่วงเวลานี้อีกแล้ว มันอาจฟังดูบ้านะ แต่สิ่งที่พวกคุณทำในวันนี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะลองคิดดูสิ สื่อมวลชนตอนนี้กำลังเจอความเปลี่ยนแปลงและกำลังถูกโจมตีจากหลายด้าน การที่คุณเป็นนักข่าวในวันนี้ คุณจะได้เป็นส่วนหนึ่งที่จะชี้เป็นชี้ตายว่าวิชาชีพของคุณจะเปลี่ยนแปลงไปทางไหนต่อไปท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ และอย่าลืมว่าคุณภาพสังคมของเราก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพนักข่าวอย่างพวกเรานั่นแหละ” เรสซากล่าว

“ฉันพูดเสมอว่า ‘การทำงานข่าวคือการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างหนึ่ง’ ถ้าเราไม่ต่อสู้เพื่อสิทธิของเรา เราก็จะเสียมันไป ฉันรู้ดีว่าทั้งประเทศไทยและฟิลิปปินส์ต้องหมุนเวียนติดอยู่ในวงจรประวัติศาสตร์เดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า เจอรัฐประหารบ้างอะไรบ้าง เหมือนกับว่าประวัติศาสตร์ฉายภาพซ้ำไปซ้ำมา แต่สิ่งที่ฉันอยากบอกก็คือ นักข่าวอย่างพวกคุณมีความสามารถที่จะพาประเทศหลุดพ้นออกมาได้ เพราะนั่นคือพลังที่มีอยู่ในตัวนักข่าวทุกคน” เรสซาฝากข้อความทิ้งท้ายถึงเพื่อนร่วมอาชีพในประเทศไทย

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save