fbpx
เวสเทเออร์ สตรีเหล็กผู้ทลายทุนผูกขาด

เวสเทเออร์ สตรีเหล็กผู้ทลายทุนผูกขาด

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

มีสตรีผู้หนึ่งถูกขนานนามให้เป็น ‘The rich world’s most powerful trustbuster’ หรือ ‘ผู้ทลายทุนผูกขาด’ ที่ทรงพลังสูงสุดแห่งประเทศโลกที่หนึ่ง

บ้างก็ว่าเป็น ‘The Woman Silicon Valley Fears Most’ หรือ ‘สตรีที่ซิลิคอนแวลลีย์หวาดกลัวที่สุด’

เธอคือ มาเกรเด เวสเทเออร์ (Margrethe Vestager)

กรรมาธิการด้านการแข่งขันแห่งสหภาพยุโรป ผู้ทำให้เทคเฟิร์มยักษ์ใหญ่อย่าง Apple Facebook และ Google ต้องยอมจำนน จ่ายค่าปรับรวมกันหลายหมื่นล้านยูโรด้วยข้อหา ‘ขัดขวางการแข่งขันที่เป็นธรรม’

ข้อหาที่สังคมไทยไม่คุ้นเคย แต่เป็นเรื่องคอขาดบาดตายในยุโรป

ทวีปที่เป็นจุดกำเนิดของทุนนิยมและเชิดชูการค้าเสรีแห่งนี้ ไม่ได้เชื่อในมายาคติที่ว่า “จงปล่อยให้ธุรกิจเอกชนทำอะไรก็ได้ รัฐอย่าเข้ามายุ่มย่าม แล้วประเทศจะพัฒนาเอง” เพราะระบบทุนนิยมปัจจุบันเต็มไปด้วยบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำทุกหนทางเพื่อรักษาอำนาจผูกขาด และหลีกเลี่ยงการแข่งขันจากผู้เล่นหน้าใหม่

เพื่อให้การเติบโตของทุนนิยมเป็นประโยชน์กับสังคมและผู้คนมากที่สุด กฎกติกาเพื่อรักษาและกระตุ้น ‘การแข่งขัน’ จึงเป็นกลไกสำคัญที่ขาดไม่ได้

ทุนนิยมที่ดีคือทุนนิยมที่มีการแข่งขัน

บทความนี้ชวนคุณมารู้จักบทบาทของเวสเทเออร์ และวิธีคิดเกี่ยวกับการแข่งขันในสหภาพยุโรปกันครับ

 

ที่มาภาพ: Wikimedia Commons (labelled for reuse)

จากพรรคฝ่ายซ้ายสู่สหภาพยุโรป

 

เวสเทเออร์เป็นชาวเดนมาร์ก ปัจจุบันอายุ 51 ปี จบการศึกษาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน และเริ่มทำงานการเมืองกับพรรค Danish Social Liberal Party ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายของเดนมาร์กตั้งแต่เรียนจบ

เธอก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคระหว่างปี 2007 ถึง 2014 เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ และรองนายกรัฐมนตรี

ในช่วงนั้น เธอมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจเดนมาร์กช่วงถดถอย โดยเฉพาะการปฏิรูประบบสวัสดิการ และจัดสรรงบประมาณระหว่างมณฑลให้เท่าเทียมมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ที่มีอัตราการว่างงานสูง

เวสเทเออร์มีคาแรคเตอร์โดดเด่นจนผู้สร้างละครโทรทัศน์ของเดนมาร์กนำไปใช้เป็นตัวละครหลักใน Borgen ซีรีส์ยอดนิยมว่าด้วยการเมืองในช่วงที่ประเทศมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก

หลังลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เวสเทเออร์เข้ามาทำงานที่สหภาพยุโรปในตำแหน่ง ‘กรรมาธิการด้านการแข่งขัน’ (European Commissioner for Competition) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2014

คณะกรรมาธิการยุโรป เป็นองค์กรฝ่ายบริหาร ปฏิบัติหน้าที่เสมือนคณะรัฐมนตรีผู้คุมกฎระเบียบของสหภาพยุโรป มีสมาชิก 28 คนจาก 28 ชาติ โดย ‘คณะกรรมาธิการด้านการแข่งขัน’ ของเวสเทเออร์นั้น เปรียบเสมือนกระทรวงหนึ่งของสหภาพยุโรปที่รับผิดชอบด้านการแข่งขันธุรกิจ การควบรวมกิจการ การตั้งราคาสินค้าและบริการ ซึ่งเป็นความรับผิดชอบและการให้คุณให้โทษที่ส่งผลโดยตรงต่อบรรดาธุรกิจข้ามชาติ

ภายใต้การนำของเวสเทเออร์ คณะกรรมาธิการฯ ระบุภารกิจไว้อย่างชัดเจน 4 ข้อ ได้แก่

หนึ่ง ใช้นโยบายการแข่งขันเพื่อสร้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจตามความเหมาะสม

สอง พัฒนากระบวนการทางกฎหมายและเศรษฐศาสตร์เพื่อประเมินความเคลื่อนไหวและการแข่งขันในตลาดต่างๆ

สาม บังคับใช้กติกาการแข่งขันเพื่อจัดการปัญหาการผูกขาด การควบรวมกิจการ การบั่นทอนการแข่งขัน และการแทรกแซงของรัฐ อย่างมีประสิทธิภาพ

สี่ เสริมสร้างเกียรติภูมิของกรรมาธิการและความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการแข่งขัน

 

คดีสะเทือนขวัญ

 

อันที่จริงแล้ว ก่อนเวสเทเออร์เข้ามารับตำแหน่ง กรรมาธิการด้านการแข่งขันของยุโรปก็มีบทลงโทษบริษัทยักษ์ใหญ่อยู่เป็นระยะ เช่น Microsoft ถูกลงโทษในปี 2004, 2006 และ 2008 เพราะไม่ยอมให้คู่แข่งเข้าถึงโค้ดของวินโดส์ในราคาที่สมเหตุสมผล

แต่ด้วยบทบาทของเทคเฟิร์มที่มากขึ้นในสี่ห้าปีหลัง รวมถึงแนวทางการจัดการที่ถึงลูกถึงคน ในช่วงที่เวสเทเออร์เข้ามารับผิดชอบ เราจึงเห็น ‘คดีสะเทือนขวัญ’ เกิดขึ้นจำนวนมาก

ตั้งแต่รับตำแหน่งปี 2014 เธอเริ่มไต่สวนการหลบเลี่ยงภาษีของ Fiat, Starbucks, Amazon และ Apple ทันที

จากนั้นในปี 2015 คณะกรรมาธิการฯ สั่งให้สายการบิน Cyprus Airways คืนเงินมูลค่า 65 ล้านยูโร ที่ได้รับการสนับสนุนแบบผิดกฎหมายจากรัฐบาลไซปรัส ระหว่างที่บริษัททำการปรับโครงสร้างธุรกิจ

ปี 2016 เป็นคราวเคราะห์ของ Apple

เวสเทเออร์แถลงข้อสรุปหลังการสืบสวนนานกว่าสองปีว่า Apple ได้รับประโยชน์ทางภาษีจากไอร์แลนด์แบบผิดกฎหมาย และต้องจ่ายค่าปรับสูงถึง 13,000 ล้านยูโร – นับเป็นค่าปรับเกี่ยวกับภาษีที่สูงที่สุดในประวัติศาตร์โลก

การไกล่เกลี่ยผ่านกระบวนการระงับข้อพิพาทนี้นำไปสู่การจ่ายภาษีของ Apple ในรูปแบบใหม่ จนทำให้ GDP ของไอร์แลนด์ในปี 2015 สูงขึ้นทันตาถึง 34%

พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์โนเบลเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘Leprechaun economics’ ตามชื่อภูติแคระสีเขียวในตำนานปรัมปราของไอร์แลนด์ เพราะจู่ๆ GDP ของประเทศก็ขยายตัวฉับพลันดังมีเวทมนตร์มาช่วย

ในขณะที่ปี 2017 กลายเป็นปีชงของ Google, Amazon และ Facebook

คณะกรรมาธิการฯ ตัดสินให้ Google จ่ายค่าปรับมูลค่า 2,400 ล้านยูโร เพราะนำบริการค้นข้อมูล (ที่ควรเป็นกลาง) มาเอื้อประโยชน์ให้บริการซื้อสินค้าของตนเอง (comparison-shopping service)

นี่เป็นกรณียืดเยื้อยาวนานกว่า 7 ปี และต้องใช้การประมวลข้อมูลมหาศาลด้วยการสุ่มค้นหาจำนวน 1,700 ล้านรายการ เพื่อยืนยันว่าอัลกอริทึมของ Google จงใจทำให้การค้นหาไม่เป็นธรรม

คณะกรรมาธิการฯ สรุปว่า การค้นหาที่ลำเอียงของ Google ทำให้ผู้บริโภคในสหภาพยุโรปไม่ได้รับบริการที่ต้องการอย่างแท้จริง และไม่ได้รับประโยชน์เต็มที่จากนวัตกรรมที่บริษัทอื่นๆ อาจมีเหนือกว่าบริการหรือลูกค้าที่มีผลประโยชน์กับ Google โดยตรง

มูลค่าของค่าปรับไม่ได้ตั้งมาลอยๆ แต่คำนวณจากฐานรายได้ของ Google ที่ได้รับจากบริการที่เกี่ยวข้องในจำนวน 13 ประเทศที่พบการกระทำผิดดังกล่าว

ในปีเดียวกัน Amazon ยังถูกตัดสินให้จ่ายภาษีย้อนหลัง 250 ล้านยูโร หลังพบว่าลักเซมเบิร์กช่วยจัดการด้านภาษีโดยขัดต่อกฎหมายสหภาพยุโรป โดยพบว่ากำไร 75% ของ Amazon ไม่ได้ถูกนำไปคิดในฐานภาษีอย่างถูกต้อง ทำให้จ่ายภาษีต่ำกว่าบริษัทท้องถิ่นอื่นๆ ถึง 4 เท่า

Facebook เองก็ไม่รอด ถูกสั่งปรับเงิน 110 ล้านยูโร เนื่องจากมีเจตนาบิดเบือนคำชี้แจง เมื่อครั้งเข้าซื้อกิจการของ WhatsApp คู่แข่งบริการด้านรับส่งข้อความเมื่อสามปีก่อน

ในปี 2018 คณะกรรมาธิการฯ สรุปกรณี Gazprom บริษัทก๊าซของรัสเซีย ว่าทำให้ผู้บริโภคในประเทศยุโรปตะวันออกที่ใช้ก๊าซของบริษัทต้องจ่ายราคาสูงเกินไป เพราะถูกกีดกันไม่ให้นำเข้าก๊าซจากประเทศคู่แข่งอย่างเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์

กรณีนี้ไม่มีการปรับเงินหลังจากที่ Gazprom ยอมรับข้อตกลง แต่หากไม่ทำตามข้อตกลงก็สามารถถูกเรียกปรับย้อนหลังได้เช่นกัน

ล่าสุดในเดือนมกราคมปี 2019 นี้เอง คณะกรรมาธิการฯ สั่งปรับบริษัทบัตรเครดิต Mastercard เป็นเงิน 570 ล้านยูโร ในข้อหากีดกันไม่ให้ผู้ค้าปลีกแสวงหาบริการชำระเงินอื่นที่ให้ข้อเสนอดีกว่าตนเอง

และสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ธนาคารข้ามชาติยักษ์ใหญ่ห้ารายคือ Barclays, Royal Bank of Scotland, Citigroup, JPMorgan และ MUFG Bank ถูกปรับรวมกัน 1,070 ล้านยูโร ในข้อหาร่วมกัน ‘ฮั้ว’ ราคาในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ผ่านการแบ่งปันข้อมูลการค้าที่ควรเป็นความลับระหว่างกัน

นอกจากกรณีที่มีข้อสรุปแล้ว คณะกรรมาธิการฯ ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนกรณีสำคัญๆ อีกไม่น้อย เช่น การที่ Google นำระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์มาใช้เอื้อประโยชน์ให้กับแอพลิเคชันและบริการของตนเองบนโทรศัพท์มือถือ ในระดับที่ไม่เป็นธรรมกับคู่แข่งรายอื่น

การควบรวมกิจการระหว่างยักษ์ใหญ่ภาคเกษตรอย่าง Dow กับ DuPont หรือการหลีกเลี่ยงภาษีแบบมีลับลมคมในของ McDonald’s ก็ยังอยู่ในกระบวนการสืบสวน

 

ทีมทำงานด้านการแข่งขันแห่งสหภาพยุโรป / ที่มาภาพ: European Commission

การแข่งขันที่พึงมี

 

มีคู่กรณีจำนวนมากขนาดนี้ ไม่ต้องแปลกใจว่าเวสเทเออร์จะเป็นที่หวาดเกรงและชิงชังของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ขนาดไหน

‘Compete on a level playing field’  เป็นมนตราทั้งของคณะกรรมาธิการฯ และตัวเวสเทเออร์เอง

ไม่มีคำแปลภาษาไทยที่ตรงตัวหรอกครับ เพราะแนวคิดเรื่องการแข่งขันที่เท่าเทียมและเป็นธรรมไม่เคยอยู่ในวาระแห่งชาติจริงจัง

ที่เรียกกันว่ายุคข้อมูลข่าวสารหรือยุค 4.0 นั้น ไม่ได้มีแต่ความสดใสและคุณูปการของเทคโนโลยีเท่านั้น

สหภาพยุโรปเองเริ่มตระหนักถึงความท้าทายอันซับซ้อนจำนวนมากที่มาพร้อมกับยุคสมัย แค่ประเด็นว่า Facebook หรือ Google ควรมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเราแค่ไหน และควร ‘จัดข้อมูล’ อะไรให้เราก่อนหลัง ก็เป็นประเด็นที่เกี่ยวพันทั้งเรื่องสิทธิส่วนบุคคล การแข่งขันทางธุรกิจ การสร้างนวัตกรรม รวมไปถึงบทบาทภาครัฐและความมั่นคงระหว่างประเทศ

เวสเทเออร์เคยให้สัมภาษณ์ว่า ข้อมูลมหาศาลที่ Google มีอยู่ สร้างความท้าทายใหม่ๆ ให้สังคมหลายด้าน เธอและลูกของเธอก็ใช้บริการ Google เหมือนคนส่วนใหญ่ โดยไม่ได้ตระหนักแม้แต่นิดว่านี่เป็นบริษัทจากประเทศไหนและมีผลประโยชน์อะไร

แต่ Google กลับตั้งระบบค้นหาข้อมูลอย่างบิดเบือน เพื่อประโยชน์ในการขายโฆษณาของตนเอง นับเป็นการใช้อำนาจเหนือตลาดในทางที่ผิด เพราะลดทอนการแข่งขันที่พึงมีทั้งในตลาดบริการค้นหาข้อมูลและตลาดสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้อง

ถึงแม้ตัวเธอจะมีแอคเคาท์ทางการบน Facebook ในฐานะกรรมาธิการการแข่งขัน แต่ก็เลือกที่จะไม่มีแอคเคาท์ส่วนตัว เพราะไม่อยากเป็น ‘friends’ กับลูกๆ ของเธอ ด้วยเหตุผลว่า “เพราะฉันเป็นคนเดนมาร์ก เราเชื่อว่าพ่อแม่ไม่ควรเฝ้าดูลูกใกล้ชิดเกินไป โดยเฉพาะบนโลกโซเชียลมีเดีย เราควรให้พวกเขามีพื้นที่ส่วนตัวโดยไม่ต้องรู้สึกว่ามีแม่คอยจับตาดูอยู่”

 

คุณเห็นอะไรจากบทบาทของเวสเทเออร์และสหภาพยุโรปบ้างครับ?

หากไม่ได้ติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด คงเป็นเรื่องน่าฉงนไม่น้อยใช่ไหมครับ ที่ได้รู้ว่าแม้แต่ในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศที่ขยับขึ้นลงทุกวินาที ธนาคารยักษ์ใหญ่ยังสามารถฮั้วกันตั้งราคา ไม่ใช่ปล่อยเสรีตาม ‘กลไกตลาด’ อย่างที่คิดกัน

ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ชีวิตประจำวันของเราถูกเจ้า ‘อัลกอริทึม’ ของ Facebook และ Google ชี้นำแค่ไหน

เคยไหมครับที่คุณเพิ่งคุยเรื่องซื้อรถกับเพื่อนหลังไมค์ แล้วจู่ๆ โฆษณาของรถคู่แข่งก็โผล่ขึ้นมาหาคุณดังพรหมลิขิต

หรือเพียงเดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้า แล้วเจ้าโซเชียลมีเดียตัวดีก็แนะนำร้านที่คุณควรเข้า (หรือเพื่อนของคุณเพิ่งแวะมา) อย่างรวดเร็ว

อัลกอริทึมแบบนี้ไม่ได้เพียงแทรกแซงชีวิตของคุณ แต่กำลังลดทอนการแข่งขันในตลาดสินค้าและบริการไปพร้อมกัน

ราคาจึงไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาด ส่วนนวัตกรรมที่ควรเกิดจากผู้ค้าหน้าใหม่ก็ถูกตัดตอนไป

สหภาพยุโรปมองสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและทำลายเศรษฐกิจในระยะยาว

ทุนนิยมจะเป็นประโยชน์กับผู้คนและสังคมได้ ก็ต้องอยู่ภายใต้การแข่งขันที่เป็นธรรมและกฎกติกาที่เหมาะสม

สังคมไทยควรเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องคอขาดบาดตายได้แล้ว

 


 

อ้างอิง

MOST READ

Political Economy

17 Aug 2023

มือที่มองไม่เห็นของ อดัม สมิธ: คำถามใหญ่ว่าด้วย ‘ธรรมชาติของมนุษย์’  

อั๊บ สิร นุกูลกิจ กะเทาะแนวคิด ‘มือที่มองไม่เห็น’ ของบิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิธ ซึ่งพบว่ายึดโยงถึงความเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์

อั๊บ สิร นุกูลกิจ

17 Aug 2023

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save