fbpx

ความฝันที่ข้ามพ้นชาติ ชนชั้น และเพศ : เรื่องของครู พลแม่นปืน และนักปฏิวัติที่ชื่อ ‘มาร์กาเร็ต สกินนิเดอร์’

(1)

เรื่องของ ‘มาร์กาเร็ต สกินนิเดอร์’


“…ฉันรู้ดีถึงความเสี่ยงที่จะตามมาจากการตีพิมพ์เรื่องราวของฉัน แต่นั่นคือความเสี่ยงของเราผู้ที่รักไอร์แลนด์จะต้องเผชิญหากเราต้องการบอกกับโลกใบนี้ถึงความจริงเกี่ยวกับความพยายามอันกล้าหาญที่จะปลดปล่อยไอร์แลนด์ให้เป็นอิสระในฤดูใบไม้ผลิที่แล้ว ความพยายามที่จะนำมาซึ่งสถานะสำหรับไอร์แลนด์ในฐานะชาติเล็กๆ
แต่เป็นเอกราษฎร์ ชาติซึ่งได้รับความเคารพเทิดทูนจากคนที่รักเสรีภาพทุกคน
ด้วยเหตุนี้เอง แม้ว่าเราจะล้มเหลวในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอิสรภาพ แต่ฉันยังจะต้องเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการลุกขึ้นสู้นั้นต่อไป…”

–  มาร์กาเร็ต สกินนิเดอร์, หนังสือ ‘ทำส่วนของฉันเพื่อไอร์แลนด์’ (Doing My Bit for Ireland), ค.ศ. 1917 [1]

มาร์กาเร็ต สกินนิเดอร์ (คนกลาง) แต่งกายเป็นผู้ชาย ค.ศ. 1915
(ที่มา: หนังสือ ‘Margaret Skinnider’ โดย Mary McAuliffe ค.ศ. 2020)


ชื่อของ ‘มาร์กาเร็ต สกินนิเดอร์’ (Margaret Skinnider) อาจจะไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยสักเท่าไหร่ บางทีนี่อาจจะเป็นบทความภาษาไทยชิ้นแรกๆ ที่พูดถึงชีวิตของครูสอนคณิตศาสตร์ พลแม่นปืน และนักปฏิวัติ ‘ชาวไอริช’[2] ผู้นี้

สกินนิเดอร์เกิดเมื่อปี ค.ศ. 1892 ในครอบครัวชาวไอริชอพยพที่อาศัยอยู่ในเมืองโคตบริดจ์ (Coatbridge) สก็อตแลนด์ พ่อของเธอเป็นช่างหินที่อพยพมาจากไอร์แลนด์ ส่วนแม่ของเธอเป็นชาวสก็อตเชื้อสายไอริช[3] ครอบครัวของเธอมีพื้นเพมาจากชาวนาติดที่ดินที่มีเจ้าของเป็นคนโปรเตสแตนต์เชื้อสายอังกฤษ บรรพบุรุษของคนเหล่านี้คือคนที่อังกฤษส่งมาตั้งรกรากและปกครองไอร์แลนด์เป็นเวลาหลายร้อยปี แม้สกินนิเดอร์จะเติบโตในสก็อตแลนด์ แต่ทุกครั้งที่ครอบครัวของเธอเดินทางไปเยี่ยมญาติและได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันราวฟ้ากับเหวระหว่างคนไอริชที่เป็นชาวนาและคนเชื้อสายอังกฤษที่เป็นเจ้าที่ดิน สกินนิเดอร์ก็จะรู้สึกได้ถึงความไม่เป็นธรรมนี้

สกินนิเดอร์เป็นที่รู้จักในวงกว้างจากการเป็นผู้หญิงที่จับอาวุธลุกขึ้นสู้กับจักรวรรดิบริติชเพื่อเอกราษฎร์ของไอร์แลนด์ในเหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘การลุกขึ้นสู้ในวันอีสเตอร์ ค.ศ. 1916’ (Easter Rising 1916)[4] ขณะที่มีอายุเพียง 24 ปี – ในระหว่างการลุกฮือ สกินนิเดอร์จะทำหน้าที่เป็นคนส่งสารและพลแม่นปืน และนั่นจะทำให้เธอได้รับบาดเจ็บสาหัสจากกระสุนปืนของทหารอังกฤษจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด

‘การลุกขึ้นสู้ในวันอีสเตอร์’ ไม่ใช่ประสบการณ์ทางการเมืองครั้งแรกของสกินนิเดอร์ ก่อนหน้านั้นเธอเป็นที่รู้จักจากฝ่ายความมั่นคงในสก็อตแลนด์ในฐานะนักเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งของสตรีสาย ‘พร้อมชน’ (militant suffragist) สกินนิเดอร์สังกัดในองค์กรสตรีนิยมชื่อว่า ‘สหภาพทางการเมืองและสังคมของสตรี’ (Women’s Social and Political Union หรือ WSPU) ซึ่งเป็นที่รู้จักจากกิจกรรมแนว ‘พร้อมชน’ ทั้งหลาย อย่างการเอาขวดน้ำกรดหยอดตู้ไปรษณีย์ ทุบกระจกอาคารราชการ วางระเบิดทางลำเลียงน้ำ และการวางเพลิงเผาปราสาทหรือคฤหาสน์ของพวกอภิชน – ด้วยชื่อเสียงด้าน ‘พร้อมชน’ เช่นนี้เอง ทำให้สกินนิเดอร์กลายเป็นที่รู้จักของแกนนำขบวนการปฏิวัติไอริชหญิงอย่าง เคาน์เตส ‘มาร์เคียวิช’ (Countess Markievicz)[5]

ก่อนการลุกขึ้นสู้ในวันอีสเตอร์ไม่นาน เคาน์เตสมาร์เคียวิช ได้ชวนให้สกินนิเดอร์มาเยือนดับลิน (Dublin) เป็นครั้งแรก และเธอก็ใช้โอกาสนี้ลักลอบเอาชิ้นส่วนระเบิดติดตัวมาด้วย สกินนิเดอร์ซ่อนระเบิดไว้ในหมวกและเอาสายชนวนพันไว้รอบๆ ตัว เธอเล่าไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติ ‘Doing My Bit For Ireland’ (ทำส่วนของฉันเพื่อไอร์แลนด์) ว่าเธอไม่สามารถเข้าไปนอนในห้องพักได้ เพราะกลัวว่าความร้อนของท่อไอน้ำในเรือจะเป็นเหตุให้เกิดการระเบิดขึ้น ถึงกระนั้นเธอก็ยังเผลอหลับอยู่บนดาดฟ้าเรือและรู้สึกโชคดีมากที่แรงกดจากตัวเธอไม่ได้จุดชนวนระเบิด

เมื่อเดินทางมาถึงดับลิน เธอได้รับความไว้วางใจจากเคาน์เตสมาร์เคียวิชให้เป็นผู้ฝึกฝนอาวุธ เพราะสกินนิเดอร์เป็นพลแม่นปืนที่ยอดเยี่ยม ออกจะเป็นเรื่องตลกร้ายเล็กน้อยตรงที่สกินนิเดอร์มีโอกาสได้ฝึกการยิงปืนเพราะเข้าร่วมสมาคมสตรีในสก็อตแลนด์ที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายให้ผู้หญิงเตรียมพร้อมปกป้องจักรวรรดิบริติชในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 – แน่นอนว่าเธอไม่ได้ต้องการปกป้องจักรวรรดิบริติช แต่สกินนิเดอร์เรียนยิงปืนเพราะต้องการปกป้อง ‘ประเทศของเธอ’


เคาน์เตส ‘มาร์เคียวิช’ ในชุดราตรี ค.ศ. 1908
(ที่มา: National Library of Ireland)
เคาน์เตส ‘มาร์เคียวิช’ ในเครื่องแบบทหาร
ของสมาคมสตรีไอริช (C na mB) – ค.ศ. 1915
(ที่มา: National Library of Ireland)


หลังการลุกขึ้นสู้ในวันอีสเตอร์เพียง 6 ปี รัฐบาลอังกฤษจะยอมมอบอำนาจการปกครองตนเองบางส่วนตามที่ตกลงกันในสนธิสัญญาสันติภาพหลังสงครามเอกราษฎร์ไอร์แลนด์[6] (ค.ศ. 1919 – 1921) แต่ไอร์แลนด์จะเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายสนับสนุนสนธิสัญญา (pro-treaty) และฝ่ายต่อต้านสนธิสัญญา (anti-treaty)

ฝ่ายต่อต้านสนธิสัญญาถือว่า ‘เสรีรัฐไอริช’ (Irish Free State) ซึ่งกำเนิดขึ้นจากสนธิสัญญาสันติภาพนั้นไม่ใช่ ‘เอกราษฎร์ที่แท้จริงของไอร์แลนด์’ เพราะยังเป็นรัฐในเครือจักรภพและมีกษัตริย์ของอังกฤษเป็นประมุข สกินนิเดอร์จะเข้าร่วมกองกำลังติดอาวุธอีกครั้ง โดยครั้งนี้เธอไม่ได้จับอาวุธ แต่ทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการด้านพลาธิการ สรรพาวุธ และงานพยาบาลของกองกำลังฝ่ายต่อต้านสนธิสัญญา – นี่จะเป็นอีกครั้งที่เธอพ่ายแพ้และสกินนิเดอร์จะถูกจับกุมในข้อหาครอบครองอาวุธปืน (ซึ่งมีโทษสูงสุดประหารชีวิต) แต่เธอจะถูกจำคุกเป็นเวลาเกือบหนึ่งปีก่อนได้รับการปล่อยตัว

ในขณะเดียวกันกับที่ทำกิจกรรมทางการเมืองเหล่านี้ สกินนิเดอร์มีอาชีพเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนประถมในกลาสโกว (Glasgow) สก็อตแลนด์ และหลังจากเหตุการณ์ ‘การลุกขึ้นสู้ในวันอีสเตอร์’ และสงครามกลางเมืองไอร์แลนด์ เธอก็กลับมาเป็นครูอีกครั้งจนกระทั่งเกษียณอายุในวัย 72 ปี – ในช่วงชีวิตของความเป็นครูครึ่งหลังนี้ สกินนิเดอร์จะไม่ใช่นักปฏิวัติสาย ‘พร้อมชน’ อีกต่อไป แต่เธอจะเข้าเป็นสมาชิกสหภาพครูที่เก่าแก่ที่สุดในไอร์แลนด์อย่าง ‘องค์กรครูแห่งชาติไอร์แลนด์’ (The Irish National Teacher’s Organization หรือ INTO) และเข้าร่วมต่อสู้เพื่อสิทธิของสตรีและชนชั้นแรงงานผ่านการผละงาน การเดินขบวน รวมถึงการจัดตั้งพรรคการเมือง[7] – ในปี ค.ศ. 1956 สกินนิเดอร์จะได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานสหภาพครูแห่งชาติก่อนที่เธอจะลงจากตำแหน่งในอีก 3 ปีต่อมา

ตลอดเวลา 30 ปีของการเป็นสมาชิกสหภาพครูแห่งชาติ สกินนิเดอร์เรียกร้องการเพิ่มบทบาทของผู้หญิงในระดับบริหารของสหภาพ เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ของสหภาพเป็นผู้หญิง (ในยุคนั้น ครูเป็นเพียงไม่กี่อาชีพที่ผู้หญิงมีการศึกษาสามารถทำงานได้) นอกจากนี้ เธอยังเรียกร้องสวัสดิการครู โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้ครูผู้หญิงได้รับเงินเดือนเท่ากันกับผู้ชาย

อนึ่ง การต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในระบอบ ‘เสรีรัฐไอริช’ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้ชายที่มีอิทธิพลทางการเมืองในระบอบนี้ล้วนเต็มไปด้วยฝ่ายอนุรักษนิยม-ศาสนนิยมของขบวนการปฏิวัติไอริชที่มองว่าผู้หญิงในอุดมคติคือ ‘ผู้หญิงที่อยู่บ้านเลี้ยงลูก’

ในช่วงปี ค.ศ. 1922 – 1933 รัฐบาลของเสรีรัฐไอริชจะผ่านกฎหมายที่ลดบทบาทของสตรีในชีวิตสาธารณะและที่ทำงาน เช่นการกำหนดเกณฑ์ว่าในบางอาชีพ ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะต้องออกจากงาน (marriage bar) การตัดสิทธิ์ในการนั่งเป็นคณะลูกขุน การไม่อนุญาตให้ผู้หญิงทำงานราชการบางประเภท และการทำให้ยาคุม รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับการคุมกำเนิดเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ในปี ค.ศ. 1936 รัฐบาลเสรีรัฐไอริชจะออกกฎหมายที่กีดกันผู้หญิงแต่งงานแล้วจากการทำงานราชการทั้งหมด และยังให้อำนาจรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานเพื่อห้ามผู้หญิงทำงานในอุตสาหกรรมใดๆ ก็ได้ และในปี ค.ศ. 1937 เสรีรัฐไอริชจะบรรจุแนวคิดเรื่อง ‘หน้าที่ของผู้หญิงในบ้าน’ ลงไปในมาตราที่ 41 ของรัฐธรรมนูญ[8]

การต่อสู้ของสหภาพครูแห่งชาติภายใต้การนำของสกินนิเดอร์นำไปสู่การจ้างงานครูที่หญิง-ชายได้รับเงินเดือนเท่ากัน และยกเลิกเกณฑ์ของรัฐบาลที่ผู้หญิงแต่งงานแล้วต้องออกจากการเป็นครูในปี ค.ศ. 1959 หรือหนึ่งปีสุดท้ายที่เธอเป็นประธานสหภาพฯ

นอกจากชีวิตทางการเมืองอันยาวนานของเธอ สกินนิเดอร์ยังมีแง่มุมของชีวิตส่วนตัวที่เป็น ‘ปริศนา’ เธอไม่ได้แต่งงานและเป็นที่รู้กันว่าเธออาศัยอยู่ร่วมกับ ‘เพื่อนผู้หญิง’ และ ‘เพื่อนร่วมรบ’ อย่างนอรา โอ’คีฟ (Nora O’Keeffe) เป็นเวลา 40 ปีจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต สกินนิเดอร์และโอ’คีฟจะเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน ท่องเที่ยวด้วยกัน ลงชื่อในจดหมายที่พวกเธอส่งถึงญาติและเพื่อนๆ ด้วยกัน – พวกเธอทั้งสองคนใช้ชีวิตเยี่ยง ‘คู่รัก และเพื่อนๆ ของเธอก็รับรู้เช่นนั้น[9] – โอ’คีฟจะเสียชีวิต 10 ปีก่อนสกินนิเดอร์ และตลอด 10 ปีที่เหลือ ทุกๆ ปี ในทุกวันครบรอบการเสียชีวิตของโอ’คีฟ สกินนิเดอร์จะเขียนคำอาลัยลงหนังสือพิมพ์ ‘Irish Independent’ แด่ ‘ความทรงจำอันเป็นที่หวงแหน และเพื่อนรักของฉัน นอรา โอ’คีฟ’


มาร์กาเร็ต สกินนิเดอร์ (ซ้าย) และนอร่า โอ’คีฟ (ขวา)
(ที่มา: The Irish Times)


เรื่องราวเหล่านี้ในชีวิตสกินนิเดอร์ทำให้ชีวิตของเธอควรค่าแก่การให้ความสนใจอย่างยิ่ง ไม่ว่าในฐานะผู้หญิง (หรือเลสเบี้ยน?) ในฐานะครูและนักสหภาพแรงงาน หรือในฐานะของนักปฏิวัติ ยิ่งไปกว่านั้น ชีวิตของเธอยังเกี่ยวพันกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไอร์แลนด์นับตั้งแต่การลุกขึ้นสู้ในวันอีสเตอร์ สงครามเอกราษฎร์และสงครามกลางเมืองไอร์แลนด์ จนถึงเสรีรัฐไอริช เรื่องราวการต่อสู้ของเธอในห้วงเวลาเหล่านี้สะท้อนตัวตนของเธอที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ชนชั้นแรงงาน และไอร์แลนด์ ไปพร้อมๆ กับที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไอร์แลนด์


(2)

มาร์กาเร็ต สกินนิเดอร์ในการลุกขึ้นสู้วันอีสเตอร์

“…จนกว่าการลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธของเรานี้จะได้มาซึ่งโอกาสที่จะสถาปนารัฐบาลแห่งชาติโดยถาวร รัฐบาลอันเป็นตัวแทนของประชาชนชาวไอร์แลนด์ทั้งหลายที่มาจากการเลือกตั้งผ่านการลงคะแนนเสียงจากชายและหญิงทุกคน รัฐบาลเฉพาะกาลที่ได้ก่อตั้งขึ้นมานี้จะบริหารกิจการทั้งทางพลเรือนและทางทหารตามที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชน…”

– คำประกาศสถาปนาสาธารณรัฐไอริช, เหตุการณ์การลุกขึ้นสู้ในวันอีสเตอร์ ค.ศ. 1916

การลุกขึ้นสู้ในวันอีสเตอร์มีความหมายอย่างยิ่งกับมาร์กาเร็ต สกินนิเดอร์ เพราะมันเป็นทั้งอุดมคติและตัวตนของเธอ

‘การลุกขึ้นสู้ในวันอีสเตอร์’ คืออะไร? มันเป็นการลุกฮือด้วยอาวุธที่นำโดยขบวนการปฏิวัติในไอร์แลนด์[10] อันประกอบด้วยขบวนการใต้ดิน ‘ภราดาสาธารณรัฐไอริช’ (Irish Republican Brotherhood – IRB) และกองกำลังติดอาวุธ ‘กองกำลังอาสาไอริช (Irish Volunteer – IV) กองทัพพลเมืองไอริช (Irish Citizen Army – ICA) รวมทั้งกองกำลังสตรีล้วนที่เรียกว่า ‘สมาคมสตรีไอริช’ (Cumann na mBan – C na mB)[11]

ขบวนการปฏิวัติเหล่านี้อาศัยจังหวะที่จักรวรรดิบริติชกำลังติดพันกับการรบในสมรภูมิยุโรปของสงครามโลกครั้งที่ 1 รวมตัวกันจับอาวุธลุกขึ้นสู้โดยมีเป้าหมายที่จะสถาปนา ‘สาธารณรัฐไอริช’ (the Irish Republic) รัฐที่เป็นอิสระจากจักรวรรดิบริติชและมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไป (universal suffrage) ผ่านการลงคะแนนเสียงโดยพลเมืองชายและหญิงชาวไอร์แลนด์

กองกำลังของฝ่ายปฏิวัติราวพันกว่าคนจะเข้ายึดพื้นที่ต่างๆ ในเมืองดับลิน และพวกเขาจะตั้งฐานบัญชาการอยู่ที่ ‘สำนักงานไปรษณีย์กลาง’ (General Post Office หรือ GPO) – ที่นี่เองจะเป็นจุดที่ประธานาธิบดีของรัฐบาลเฉพาะกาลและผู้บัญชาการของกองกำลังอาสาไอริช ‘พอด์ริก เพียร์ส’ (Padraig Pearse) อ่าน ‘คำประกาศสถาปนาสาธารณรัฐไอริช’

“ชายและหญิงชาวไอริชทั้งหลาย!
ในนามของพระผู้เป็นเจ้าและในนามของบรรพบุรุษผู้วายชนม์หลายชั่วคนซึ่งมอบธรรมเนียมอันเก่าแก่แห่งความเป็นชาติมายังไอร์แลนด์
บัดนี้เธอได้ประกาศผ่านพวกเราถึงบุตรหลานของเธอให้จงมายังธงของเธอและลุกขึ้นสู้เพื่อเสรีภาพของเธอ…”[12]


คำประกาศสถาปนาสาธารณรัฐไอริช ค.ศ. 1916 (ที่มา: The Irish Times)


ในระหว่างการลุกฮือ สกินนิเดอร์จะประจำการอยู่บริเวณสวนกลางเมืองดับลินที่เรียกว่า ‘เซนต์สตีเฟนส์กรีน’ (St Stephen’s Green) ภายใต้การบังคับบัญชาของเคาน์เตสมาร์เคียวิช และไมเคิล มาลลิน (Michael Mallin) ก่อนที่พวกเขาจะถอยร่นไปอยู่ในอาคารราชวิทยาลัยศัลยแพทย์ (Royal College of Surgeons) ที่อยู่ใกล้ๆ กัน หลังถูกปิดล้อมและระดมยิงอย่างหนักจากฝ่ายทหารอังกฤษ – สกินนิเดอร์จะสับเปลี่ยนระหว่างเครื่องแบบทหารในฐานะพลแม่นปืนและชุดผู้หญิงเพื่อทำหน้าที่ส่งสารระหว่างจุดที่เธอประจำการและกองบัญชาการที่สำนักงานไปรษณีย์กลางโดยไม่ให้เป็นที่สังเกตของทหารฝ่ายอังกฤษ

สกินนิเดอร์เป็นหนึ่งในสมาชิกของ ‘สมาคมสตรีไอริช’ กองกำลังติดอาวุธที่นำโดยนักปฏิวัติหญิงอย่างเคาน์เตสมาร์เคียวิช ผู้ยังเป็นแกนนำของกองกำลังอาสาไอริชและกองทัพพลเมืองไอริชอีกด้วย ในระหว่างการลุกฮือ สมาคมสตรีไอริชจะสังกัดอยู่ใน ‘กองทัพพลเมืองไอริช’ กองกำลังติดอาวุธที่ก่อตั้งโดยเจมส์ คอนนอลลี (James Connolly) หนึ่งในเจ็ดผู้ลงนามในคำประกาศสถาปนาสาธารณรัฐไอริช – ถึงกระนั้น ไม่ใช่สมาชิกของสมาคมสตรีไอริชทุกคนที่จะจับอาวุธเยี่ยงผู้ชายเช่นเดียวกับสกินนิเดอร์

เคาน์เตสมาร์เคียวิช และเจมส์ คอนนอลลี คือผู้นำของขบวนการปฏิวัติไอริชที่สกินนิเดอร์ผูกพันและให้ความเคารพอย่างมาก ทั้งสองคนต่างก็เป็นนักสังคมนิยมที่มีเป้าหมายต่อสู้เพื่อเอกราษฎร์ของไอร์แลนด์ คอนนอลลีเป็นนักจัดตั้งสหภาพแรงงาน เขาก่อตั้งกองกำลังติดอาวุธอย่างกองทัพพลเมืองไอริชขึ้นมาก็เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับการรวมตัวทางการเมืองของแรงงาน เพราะตำรวจในสมัยนั้นมักใช้กำลังปราบปรามการชุมนุมด้วยความรุนแรง ขณะที่เคาน์เตสมาร์เคียวิชเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิเลือกตั้งของสตรี (suffragist) ก่อนหน้าการลุกขึ้นสู้ในวันอีสเตอร์ เป็นที่รู้กันว่าเคาน์เตสมาร์เคียวิชใช้คฤหาสน์ของเธอเป็นที่ซ่องสุมของบรรดานักต่อสู้หลากหลายแนวรบที่มีจุดร่วมกันเป็นการต่อสู้เพื่อเอกราษฎร์ของไอร์แลนด์

ในหมู่ผู้ชายที่เป็นแกนนำการลุกขึ้นสู้ในวันอีสเตอร์ คอนนอลลีเป็นนักสตรีนิยมที่แข็งขันที่สุด เขายืนยันบทบาทที่เท่าเทียมกันของหญิง-ชายในกองทัพพลเมืองไอริช (ICA) และไม่เห็นด้วยกับความคิดของแกนนำบางคนที่ต้องการจัดให้ผู้หญิงทำหน้าที่ดูแลเสบียงและพยาบาลเท่านั้น สำหรับคอนนอลลีแล้ว เขาไม่ได้แยกการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี ชนชั้นแรงงาน หรือไอร์แลนด์ออกจากกัน สำหรับเขานี่คือการต่อสู้เพื่อ “ต่อต้านการครอบงำของชาติหนึ่งเหนืออีกชาติหนึ่ง ชนชั้นหนึ่งเหนืออีกชนชั้นหนึ่ง และเพศหนึ่งเหนืออีกเพศหนึ่ง” (against the domination of nation over nation, class over class, sex over sex)[13]

เมื่อพิจารณาภูมิหลังของแกนนำ ‘การลุกขึ้นสู้ในวันอีสเตอร์’ อย่างเคาน์เตสมาร์เคียวิช และเจมส์ คอนนอลลี  เราจะเห็นว่าแม้ฉากหน้าของการลุกฮือจะเป็นการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยไอร์แลนด์จากการยึดครองอย่างไม่ชอบธรรมของอังกฤษ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธอิทธิพลของขบวนการสังคมนิยมและสตรีนิยมได้เลย ที่เป็นเช่นนี้เพราะไอร์แลนด์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อยู่ภายใต้อิทธิพลของขบวนการทางสังคมที่ยิ่งใหญ่ 3 ประการ นั่นคือขบวนการชาตินิยม สังคมนิยม และสตรีนิยม และแม้ว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมเหล่านี้จะไม่ได้สอดประสานเป็นเนื้อเดียวกันไปทั้งหมด แต่ขบวนการทางสังคมเหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงต่อการเติบโตทางการเมืองของสกินนิเดอร์


เจมส์ คอนนอลลี (James Connolly)
(ที่มา: The Irish Times)


อย่างไรก็ตาม ความใฝ่ฝันที่จะสถาปนาสาธารณรัฐอันเป็นเอกราษฎร์ เสมอภาค และประชาธิปไตยนี้จบลงด้วยความพ่ายแพ้และการยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขของฝ่ายผู้ก่อการ หลังจากต่อสู้ที่ยาวนานเพียง 5 วัน – แกนนำ 15 คน ซึ่งรวมถึง 7 คนที่ลงนามในคำประกาศสถาปนาสาธารณรัฐไอริช ถูกตัดสินโดยศาลทหารอังกฤษให้ประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าแบบระดมยิง (firing squad) และคนที่เกี่ยวข้องหรือให้การสนับสนุนอีกประมาณ 3,500 คนถูกตัดสินให้ต้องจำคุก

หนึ่งในคนที่ถูกตัดสินใจให้ประหารชีวิตคือเจมส์ คอนนอลลี ซึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัสและอาจมีชีวิตอยู่ได้อีกเพียงไม่กี่วัน ร่างที่แทบไม่มีสติของเขาถูกจับมัดกับเก้าอี้ก่อนจะถูกระดมยิงจนสิ้นใจ ก่อนตายเจมส์ คอนนอลลีมีโอกาสได้พบกับลูกสาวและพูดรำพึงถึงเพื่อนในขบวนการสังคมนิยมว่า “…พวกเขาคงไม่อาจเข้าใจว่าทำไมฉันถึงได้มาอยู่ที่นี่ พวกเขาคงลืมไปสนิทว่า (นอกจากเป็นนักสังคมนิยมแล้ว – ผู้เขียน) ฉันยังเป็นคนไอริชด้วย…”[14]

เคาน์เตสมาร์เคียวิชถูกศาลทหารตัดสินให้ประหารชีวิตเช่นกัน แต่เธอได้รับการลดโทษเหลือการจำคุกและใช้แรงงานหนักตลอดชีวิตเพียงเพราะว่า ‘เธอเป็นผู้หญิง’ (solely and only on account of her sex) อย่างไรก็ตาม ในปีต่อมา รัฐบาลอังกฤษประกาศนิรโทษกรรมทั่วไปให้กับคนที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ ‘การลุกขึ้นสู้วันอีสเตอร์’ ทั้งหมด – เคาน์เตสมาร์เคียวิช จะเป็นหนึ่งในนั้น[15]

สกินนิเดอร์ไม่ใช่แกนนำและไม่ได้เป็นหนึ่งในคนที่ถูกจองจำเพราะเธอกำลังพักฟื้นจากอาการบาดเจ็บสาหัสที่ได้รับระหว่างการต่อสู้ หลังถูกยิงด้วยกระสุนปืนสามนัดเข้าที่ไหล่และแผ่นหลังเฉียดกระดูกสันหลังไปเพียงไม่ถึงหนึ่งนิ้ว เธอสูญเสียเลือดมากเสียจนคนที่ให้ความช่วยเหลือคิดว่าเธอจะต้องตายแน่ๆ ถึงกระนั้น สกินนิเดอร์ก็สามารถรอดพ้นจากความตายมาได้ และเธอยังรอดพ้นจากเงื้อมมือของทางการอังกฤษเพราะแพทย์เจ้าของไข้ปฏิเสธที่จะส่งตัวเธอให้กับตำรวจ

เมื่อออกจากโรงพยาบาลได้แล้ว สกินนิเดอร์เดินทางกลับสก็อตแลนด์ และหลังจากนั้นไม่นาน เธอก็ตัดสินใจเข้าร่วมกับผู้หญิงที่รอดชีวิตจากการลุกขึ้นสู้ฯ คนอื่นๆ เดินทางไปอเมริกาและใช้เวลาราว 1 ปีครึ่ง (ธันวาคม ค.ศ. 1916 – มิถุนายน ค.ศ. 1918) ตระเวนทั่วประเทศเพื่อบอกเล่าเรื่องราวการลุกขึ้นสู้ในวันอีสเตอร์ให้กับชาวอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวไอริชอเมริกันได้รับรู้ ในห้วงเวลานี้เองที่สกินนิเดอร์ได้ตีพิมพ์หนังสือ‘Doing My Bit For Ireland’ (ทำส่วนของฉันเพื่อไอร์แลนด์) ซึ่งถือว่าเป็นบันทึกเหตุการณ์การลุกขึ้นสู้ในวันอีสเตอร์จากผู้มีส่วนร่วมเหตุการณ์โดยตรงชิ้นแรก

แม้สกินนิเดอร์จะเคยเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากมายหลากหลายกลุ่ม แต่ตลอดชีวิตอันยาวนานเกือบแปดทศวรรษของเธอ (ค.ศ.1892 – 1971) สกินนิเดอร์มักกล่าวถึงการเข้าร่วม ‘การลุกขึ้นสู้ในวันอีสเตอร์’ ด้วยความภาคภูมิใจ[16] ในปี ค.ศ. 1964 เมื่อเธอมีอายุได้ 72 ปี เธอเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลลงในหนังสือพิมพ์ ‘The Irish Times’ วิจารณ์การจัดงบประมาณเงินเกษียณอายุ และลงชื่อของตนเองว่า

‘มาร์กาเร็ต สกินนิเดอร์, กองทัพพลเมืองไอริช ค.ศ. 1916’

มาร์กาเร็ต สกินนิเดอร์เสียชีวิตในวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1971 เมื่อมีอายุได้ 79 ปี ร่างของเธอจะถูกฝังในสุสานสำหรับวีรชนนักปฏิวัติเพื่อสาธารณรัฐในดับลินเคียงข้างกับหลุมศพของเคาน์เตสมาร์เคียวิช[17] ในพิธีศพของสกินนิเดอร์ ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ตัวแทนโรงเรียน สมาชิกสหภาพและองค์กรชาตินิยมต่างๆ รวมทั้งอดีต ‘เพื่อนร่วมรบ’ ของเธอที่ยังมีชีวิตอยู่มาร่วมงานกันอย่างเนืองแน่น

ทุกคนที่มาเยือนพิธีศพของเธออาจรู้จักมาร์กาเร็ต สกินนิเดอร์ในแง่มุมที่แตกต่างออกไป บ้างในฐานะครู บ้างในฐานะนักสหภาพแรงงานและนักสิทธิสตรี บ้างในฐานะพลแม่นปืนและนักปฏิวัติ แต่ทุกคนรู้ว่ามาร์กาเร็ต สกินนิเดอร์อุทิศชีวิตของตนเพื่อสิทธิสตรี ชนชั้นแรงงาน และไอร์แลนด์เสมอมา


มาร์กาเร็ต สกินนิเดอร์ในปี ค.ศ. 1966 เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปีแห่งการลุกขึ้นสู้ในวันอีสเตอร์
(ที่มา: หนังสือ ‘Margaret Skinnider’ โดย Mary McAuliffe  ค.ศ. 2020)



[1] “…That there is some risk in publishing my story, I am well aware; but that is the sort of risk which we who love Ireland must run, if we are to bring to the knowledge of the world the truth of that heroic attempt last spring to free Ireland and win for her a place as a small but independent nation, entitled to the respect of all who love liberty. It is to win that respect, even though we failed to gain our freedom, that I tell what I know of the rising…” – Skinnider, M. 1917. Doing My Bit for Ireland.

[2] สกินนิเดอร์เกิดในครอบครัวชาวไอริชที่อาศัยอยู่ในเมืองโคทบริดจ์ (Coatbridge) สก็อตแลนด์ แม้เธอจะเติบโตในสก็อตแลนด์ และพูดภาษาอังกฤษติดสำเนียงสก็อต แต่สกินนิเดอร์ถือว่าตนเองเป็นคนไอริช – สกินนิเดอร์เขียนไว้ในบทแรกของ ‘Doing My Bit For Ireland’ ว่า “Scotland is my home, but Ireland my country.” ดู Skinnider, M. 1917. Doing My Bit for Ireland.

[3] ในปลายศตวรรษที่ 19 ประชากรมากถึงร้อยละ 13 ในสก็อตแลนด์เป็นคนไอริชอพยพหรือมีเชื้อสายไอริช และนั่นมีส่วนทำให้ชุมชนชาวไอริชในสก็อตแลนด์สามารถรวมตัวกันเป็นสมาคมได้อย่างเข้มแข็ง ดังนั้นแม้ชาวไอริชจะอยู่ห่างไกลจากภูมิลำเนาของพวกเขา แต่พวกเขาก็ไม่เคยอยู่ไกลจากไอร์แลนด์ทั้งทางการเมืองและวัฒนธรรม – นี่คือบรรยากาศที่สกินนิเดอร์เติบโตขึ้นมา

[4] เหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 24 ถึง 29 เมษายน ค.ศ. 1916

[5] คอนสแตนซ์ ‘มาร์เคียวิช’ (Constance Markievicz) เป็นที่รู้จักในฐานะ ‘เคาน์เตสมาร์เคียวิช’ (Countess Markievicz) เนื่องจากเธอแต่งงานกับอภิชนชาวโปแลนด์

[6] สงครามเอกราษฎร์ไอร์แลนด์เริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 1919 เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคชินเฟน (Sinn Féin) ได้รวมตัวกันและประกาศว่าพวกเขาเป็นตัวแทนของรัฐสภาที่ชอบธรรมหนึ่งเดียวของไอร์แลนด์ การประกาศเอกราษฎร์ของดอล์ย แอร์เรินน์ (Dáil Éireann) จะเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามระหว่างฝ่ายไอริชและรัฐบาลอังกฤษ และจะนำไปสู่สนธิสัญญาสันติภาพและการสถาปนาเสรีรัฐไอริช (Irish Free State) ใน ค.ศ. 1922 – ในวันจันทร์อีสเตอร์ (Easter Monday) ของปี ค.ศ. 1949 อันเป็นวาระครบรอบ 33 ปีของการลุกขึ้นสู้ในวันอีสเตอร์ ‘เสรีรัฐไอริช’ จะกลายสภาพเป็น ‘สาธารณรัฐไอร์แลนด์’ (Republic of Ireland) ด้วยการเสนอกฎหมาย ‘The Republic of Ireland Act 1948’ ของรัฐบาลเสรีรัฐไอริชในขณะนั้น

[7] ในปี ค.ศ. 1953 สกินนิเดอร์มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรค Clann na Poblachta (บุตรหลานแห่งสาธารณรัฐ) พรรคการเมืองฝ่ายซ้ายสายเรดิคัลที่ก่อตั้งโดยฌอน แม็คไบรด์ (Seán MacBride) ลูกชายของจอห์น แม็คไบรด์ (John MacBridge) หนึ่งในแกนนำและผู้ลงนามคำประกาศสถาปนาสาธารณรัฐไอริช – สกินนิเดอร์ทำหน้าที่เป็นนักจัดตั้งของพรรค และ ‘พรรคของเธอ’ ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลในการลงเลือกตั้งครั้งแรก

[8] 1° In particular, the State recognises that by her life within the home, woman gives to the State a support without which the common good cannot be achieved. และ 2° The State shall, therefore, endeavour to ensure that mothers shall not be obliged by economic necessity to engage in labour to the neglect of their duties in the home. – สำหรับการลดทอนสิทธิสตรีในสมัยเสรีรัฐไอริช ดู MaAuliffe, M. Was 1918 a false dawn for Irish women? The Irish Times. 10 Dec 2018.

[9] สกินนิเดอร์และโอ’คีฟอาจไม่ใช่ ‘คู่รัก’ นักปฏิวัติหญิงคู่เดียวจาก ‘การลุกขึ้นสู้ในวันอีสเตอร์’ – นักประวัติศาสตร์ด้านเพศวิถีศึกษา (gender history) และผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์สตรีไอริช ผู้เขียนหนังสือชีวประวัติของสกินนิเดอร์ ดร. แมรี แม็คโอลีฟ (Mary McAuliffe) เปิดเผยว่านักปฏิวัติหญิงคู่อื่นๆ เช่น Kathleen Lynn และ Madeleine ffrench Mullen หรือ Elizabeth O’Farrell และ Julia Grenan อาจเป็นคู่รักด้วยเช่นกัน – ดู Skinnider, M. 2020. Margaret Skinnider: radical feminist, militant nationalist, trade union activist. The Irish Times.

[10] อันที่จริงแล้วการลุกขึ้นสู้ในวันอีสเตอร์ไม่ได้เป็นผลของการตกลงกันอย่างเป็นทางการของขบวนการปฏิวัติเหล่านี้เสียทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น แกนนำของขบวนการภราดาสาธารณรัฐไอริชที่มีส่วนในการวางแผนการลุกฮือนั้นก็ประกอบขึ้นมาจากฝ่ายเรดิคัลที่รวมตัวกันอย่างลับๆ หรือผู้บัญชาการกองกำลังอาสาไอริช โอวึน แม็คนีล (Eoin MacNeill) ก็รู้แผนการของการลุกฮือเพียงหนึ่งวันล่วงหน้าและได้ออกคำสั่งให้ยุติการเคลื่อนไหวทั้งหมดของกองกำลังอาสาไอริช เมื่อรู้ว่าเรือที่ทำหน้าที่ลักลอบขนอาวุธเพื่อใช้สำหรับการลุกฮือถูกทางการอังกฤษจับได้

[11] เป็นภาษาไอริช อ่านว่า คูมาน เนอะ มาน แปลตรงว่า ‘สมาคมสตรี’ (Women’s Society) แต่ใช้ชื่อในภาษาอังกฤษว่า ‘สมาคมสตรีไอริช’ เป็นกองกำลังติดอาวุธของผู้หญิงที่มีเป้าหมายต่อสู้ด้วยอาวุธเพื่อเอกราษฎร์ของไอร์แลนด์

[12] ผู้เขียนได้แปล ‘คำประกาศสถาปนาสาธารณรัฐไอริช’ เป็นภาษาไทย และสามารถอ่านได้ที่บล็อกนักเรียนไทยโพ้นทะเล

[13] คำปราศรัยของคอนนอลลี, หนังสือพิมพ์ Daily Herald วันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1913

[14] ดู Connolly O’Brien, N. 1936. Portrait of a rebel father. หน้า 273. อ้างใน Newsinger, J. 1983. James Connolly and the Easter Rising. Science & Society. 47:2. หน้า 152.

[15] ในปี ค.ศ. 1918 เคาน์เตส มาร์เคอวิชในฐานะตัวแทนของพรรคชินน์เฟน (Sinn Féin – แปลว่า We, ourselves) จะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสตรีคนแรกในสภาล่างของสหราชอาณาจักร (House of Commons) แต่เธอ (เช่นเดียวกับสมาชิกพรรคชินน์เฟนคนอื่นๆ) จะประกาศไม่เข้ารับตำแหน่ง เนื่องจากในพิธีเข้ารับตำแหน่งนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องกล่าวคำปฏิญาณตนว่าจะจงรักภักดี กับราชวงศ์ของอังกฤษ (pledge of allegiance)  และต่อมาในปี ค.ศ. 1919 เธอจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของ ‘ดอล์ย แอร์เรินน์’ (Dáil Éireann – แปลว่า สภาแห่งไอร์แลนด์) รัฐสภาในระบอบปฏิวัติที่ประกาศตัวเป็นเอกราษฎร์จากจักรวรรดิบริติช และนั่นจะทำให้เธอเป็นสตรีคนที่สองของยุโรปที่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี

[16] ในจดหมายถึงหนังสือพิมพ์ The Irish Times ที่สกินนิเดอร์ในวัย 72 ปีเขียนวิจารณ์การจัดงบประมาณเงินเกษียณสำหรับผู้สูงอายุของรัฐบาล เธอลงชื่อว่า

[17] ในขณะที่ร่างของนอร่า โอ’คีฟ ‘เพื่อนรัก’ ของเธอจะได้รับการฝังในภูมิลำเนาในทิพเพอรารี (Tipperary)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save