มาร์คัส แรชฟอร์ด นักเตะแมนยู หนึ่งในพลังคนรุ่นใหม่ผู้เปลี่ยนสังคม

มาร์คัส แรชฟอร์ด นักเตะแมนยู หนึ่งในพลังคนรุ่นใหม่ผู้เปลี่ยนสังคม

สมชัย สุวรรณบรรณ เรื่อง

 

ในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา เราได้ประจักษ์เห็นพลังของคนหนุ่มสาวในบางมุมของโลกที่ลุกขึ้นมาปรากฎตัวเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับชุมชนหรือระดับโครงสร้างที่กว้างออกไป เพื่อให้สังคมพัฒนาก้าวหน้ามีความเสมอภาคเท่าเทียมและศิวิไลซ์มากขึ้น พวกเขาสู้ให้โลกเรามีความเป็นธรรมน่าอยู่ร่วมกันมากขึ้น บ้างก็เป็นการต่อสู้แบบเดี่ยวๆ บ้างก็เป็นการต่อสู้ที่เป็นกลุ่มก้อน แต่ในระยะหลังๆ นี้มีนักต่อสู้ที่เป็นเยาวชนโดดเด่นให้เห็นกันมากขึ้น

ตัวอย่างหนื่งคือบทกวี The Hill We Climb ของ อแมนดา กอร์แมน (Amanda Gorman) กวีสาว US Youth Poet Laureate วัยแค่ 22 ปี ที่โด่งดังชั่วข้ามคืนเมื่อเธอได้รับเลือกให้แต่งบทกวีและอ่านสดๆ ปิดท้ายพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของประธานาธิปดี โจ ไบเดน เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา โดยเนื้อหาในบทกวีเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของกระแสคนรุ่นใหม่ ที่เรียกร้องให้ผู้ใหญ่ใส่ใจ แก้ไขความเหลี่ยมล้ำ อคติ และกฎเกณฑ์ที่ทำให้สังคมไม่เป็นธรรม

บทกวี ขุนเขาที่เราปีนป่าย นี้ เธอเขียนขึ้นมาเองจากประสบการณ์ของเด็กที่เติบโตมาจากครอบครัวคนผิวดำที่ต่ำต้อย มีแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ในสังคมที่ถูกครอบงำโดยชนชั้นผู้ที่ได้เปรียบตามโครงสร้างอำนาจ โดยเธอเขียนในย่อหน้าที่สามว่า “…แม้ว่าเธอจะมีบรรพบุรุษที่เป็นทาส เติบโตมาในครอบครัวของแม่เลี้ยงเดี่ยว แต่ก็ขอมีหนึ่งความฝันว่า สักวันหนึ่งเด็กผิวดำผอมเกร็งคนนี้ จะได้เป็นประธานาธิบดี – ในประเทศที่ยอมรับความเท่าเทียมและความแตกต่างหลากหลาย… “

ในอังกฤษ นับตั้งแต่ไวรัสโคโรนาระบาดเมื่อต้นปี 2020 เป็นต้นมา ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมาตรการควบคุมต่างๆ ทำให้สภาพเศรษฐกิจถดถอยลงตามลำดับและมีทีท่าว่าจะทรุดหนักลงไปอีกนาน คนว่างงานเพิ่มมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำถ่างออกมากเป็นประวัติการณ์

แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศใช้มาตรการเยียวยาหลายอย่างก็ตาม แต่กลุ่มประชาชนที่อยู่ล่างสุดของสังคมย่อมได้รับผลกระทบรุนแรงมากกว่ากลุ่มคนรายได้ระดับสูงๆ ขึ้นไป ถึงขั้นที่คนจนจำนวนหนึ่งต้องไปรับบริจาคอาหารจาก Food Banks ซึ่งเป็นหน่วยงานการกุศลที่มีตามชุมชนต่างๆ แจกจ่ายอาหารประจำสัปดาห์ ประทังชีวิต เพราะบางครอบครัวที่พ่อแม่ตกงานไม่มีรายได้ต้องไปขอรับเงินสวัสดิการ ก็ไม่พอเพียงเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว

 

 

ความจริงประเด็นแบบนี้พรรคการเมืองฝ่ายค้าน คือพรรคเลเบอร์แม้จะทำหน้าที่โจมตีรัฐบาลเพื่อสะสมคะแนนนิยมแต่ก็ดูล้าๆ  ปรากฏว่ากลายเป็นนักเตะฟุตบอลหนุ่มวัย 23 ปี มาร์คัส แรชฟอร์ด (Marcus Rashford) ศูนย์หน้าทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด  ที่มีผู้ติดตามทวิตเตอร์ของเขาเป็นล้านคน แสดงตัวออกหน้ารณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลจัดอาหารกลางวันฟรีให้กับเด็กนักเรียนครอบครัวยากจน ในช่วงโรงเรียนปิดเทอมฤดูร้อน จนเกิดการปะทะคารมกับนักการเมืองพรรครัฐบาลที่ออกมาพยายามกล่าวหาว่าอยากออกสื่ออยากดัง แต่การใช้โวหารทางการเมืองกล่าวหาโจมตีแบบนี้ ยิ่งโดนโจมตีก็ยิ่งทำให้เขากลับได้คะแนนนิยมโดดเด่นมากขึ้น

ไม่นานนักปรากฏว่าการรณรงค์เรียกร้องอาหารกลางวันฟรีแก่เด็กนักเรียนช่วงหยุดเทอมฤดูร้อนของเขา ‘จุดติด’ สื่อมวลชนระดับท้องถิ่นและระดับชาติออกสำรวจสภาพความเป็นจริงในท้องถิ่นต่างๆ และช่วยกันนำความจริงออกมา ซึ่งเป็นสภาพที่นักการเมืองหลายคนคาดไม่ถึง

การรณรงค์ของเขาได้รับความสนใจมากขึ้นจากชุมชนเล็กๆ แล้วขยายวงใหญ่ขึ้น บรรดาผู้ประกอบการเอกชนท้องถิ่นบางคนแสดงความจำนงช่วยส่งอาหารให้เขานำไปให้ครอบครัวที่กำลังเดือดร้อน ทำให้การรณรงค์ของเขาเริ่มสั่นสะเทือนฐานเสียงรัฐบาล จนบรรดานักยุทธศาสตร์ทางการเมืองเริ่มเล็งเห็น

ก่อนหน้านี้ตัวนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันเองก็ออกตัวแรง ไม่ยอมรับการรณรงค์ของนักฟุตบอลหนุ่มคนนี้ แต่พอกระแสความไม่พอใจในหมู่ประชาชนเริ่มขยายวง ก็ต้องรีบกลับหลังหันแบบที่เรียกว่า ‘ยูเทิร์น’ ยอมเปลี่ยนนโยบายตามกระแสเรียกร้อง เพราะเริ่มมี ส.ส. พรรครัฐบาลด้วยกันเองหันมาสนับสนุนนักฟุตบอลหนุ่มมากขึ้นด้วยกลัวเสียฐานเสียง ทั้งนี้เพราะเห็นว่าใช้งบประมาณไม่มากนักแต่เสียคะแนนนิยมมาก มีการเปลี่ยนตัวที่ปรึกษานิสัยห้าวๆ ในทำเนียบรัฐบาลบางคน เพื่อปรับภาพลักษณ์

แม้จะมีบทเรียนทางการเมืองครั้งนี้ แต่รัฐบาลก็พลาดอีกในช่วงฤดูหนาว เมื่อรัฐบาลต้อง ‘ยูเทิร์น’ อีกครั้ง เพราะมาตรการควบคุมโรคระบาดทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจทรุดหนักลงอีก กลุ่มประชาชนระดับรากหญ้ากำลังเดือดร้อน

ในความเป็นจริงโรงเรียนประถมและมัธยมส่วนใหญ่ในสหราชอาณาจักรมีหน้าที่ต้องจัดหาอาหารฟรีให้แก่เด็กนักเรียนที่มีฐานะยากจนที่มาลงทะเบียนขอรับอาหารกลางวันฟรี แต่ก็จัดให้เฉพาะตอนเปิดเทอมเท่านั้น พอถึงเวลาปิดเทอมเด็กๆ ไม่ได้มาโรงเรียนก็ขาดอาหารกลางวันฟรี ต้องหิวอยู่กับบ้าน และในช่วงเวลาที่มีโรคระบาดอยู่ตอนนี้บางครอบครัว พ่อแม่ตกงานไม่มีรายได้พอเพียงเลี้ยงลูก ต้องอาศัยเงินสวัสดิการสังคม ซึ่งบางครอบครัวเขาเดือดร้อนจริงๆ

มาร์คัส เล่าให้นักข่าวฟังว่า เมื่อตอนเด็กๆ มีหลายครั้งที่เขาจำได้ว่าได้ยินเสียงแม่ของเขาร้องให้ จนแม่หลับไปด้วยความเหนื่อยล้าหลังจากกลับมาจากที่ทำงาน เธอเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวทำงานได้ค่าแรงขั้นต่ำแต่ต้องเลี้ยงดูบุตรถึงห้าคน แม้จะทำงานหลายแห่งแต่รายได้ก็ไม่เคยพอเลี้ยงดูลูกๆ ให้ท้องอิ่มกันถ้วนหน้าทุกคน บางวันก็มีอาหารบนโต๊ะ บางวันก็ไม่มี ซึ่งตนเองแม้จะหิวท้องร้อง แต่ก็สงสารแม่ ไม่อยากบ่นให้แม่ได้ยิน พอโตขึ้นมามีเขามีวี่แววถึงพรสรรค์ทางด้านเตะบอล แม่ก็รีบส่งให้ไปเข้าค่ายอบรมนักเตะเยาวชนของทีมแมนยู ทั้งๆ ที่อายุก็ยังไม่ถึงเกณฑ์ดี เพราะในค่ายเยาวชนมีโรงอาหารเลี้ยงนักเตะที่กำลังหิว กำลังโต เรียกว่าช่วยแบ่งเบาภาระของแม่ได้

 

มาร์คัส แรชฟอร์ด กับแม่ของเขา

 

เมื่อเติบโตโด่งดังมีแฟนบอลแน่นหนา เขาใช้สื่อสังคมทวิตเตอร์รณรงค์ต่อสู้กับภาวะความเหลื่อมล้ำ ความยากจนอดอยากในหมู่ประชาชนระดับล่างของอังกฤษ โดยมีกลุ่มคนที่ทำงานด้านการกุศล-เอ็นจีโอหันมาสนับสนุน กลายเป็นกระบอกเสียงของคนจนที่โดดเด่นขึ้นมา จนเมื่อปลายปีเขาได้รับพระราชทานเครื่องราชย์อิสริยาภรณ์ MBE (Member of the Most Excellent Order of the British Empire) ทำให้การเคลื่อนไหวทางสังคมของเขามีน้ำหนักมากขึ้น

สำหรับนักการเมืองที่ไม่มีพื้นเพมาจากชนชั้นผู้ใช้แรงงาน อาจจะไม่ค่อยรู้ซึ้งถึงความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างแฟนบอลกับ Food Banks ซึ่งเป็นหน่วยงานกุศลแบบชาวบ้านๆ ในแต่ละชุมชนที่รวมตัวกันจัดตั้งศูนย์รับบริจาคอาหารเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้ตกทุกข์ได้ยากในบางช่วงเวลาของชีวิต โดยซูเปอร์มาร์เก็ตในแต่ละท้องถิ่นจะตั้งลังขนาดใหญ่ไว้ปากทางเข้าประตู สำหรับลูกค้าขาประจำบางคนที่ซื้ออาหารกลับบ้านแล้วก็ซื้ออาหารแห้งบางอย่างเผื่อให้คนจนมาหย่อนลงในลัง Food Banks โดยแต่ละสัปดาห์ซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งนั้นก็จะร่วมสมทบจัดเพิ่มเติมอาหารบางส่วนจากชั้นขายของมาร่วมสมทบด้วย (คล้ายๆ ตู้อาหารปันกันในประเทศไทย ช่วงกลางปีที่แล้ว)

เมื่อ 4-5 ปีก่อน ในวันที่ลิเวอร์พูลและเอเวอร์ตันลงฟาดแข้งกัน แฟนบอลจะร่วมมือร่วมใจกันรวบรวมรับบริจาคอาหารจากชุมชนรอบสนามเอามากองรวมกันแล้วแจกจ่ายให้กับคนจนในพื้นที่ หลังจากนั้นก็ขยายกลายเป็นกิจกรรมของแฟนบอลในหลายๆ สโมสร กล่าวกันว่าปริมาณอาหารแห้งถึงหนึ่งในสี่ของ Food Banks ของหลายเมืองตามแนวแม่น้ำ Mersey ได้รับมาจากแฟนบอลนั่นเอง ความผูกพันลักษณะเช่นนี้ที่ทำให้การรณรงค์ของมาร์คัส แรชฟอร์ดได้รับความนิยมมีแรงสนับสนุนต่อเนื่องถึงขั้นอาจจะกระเทือนฐานเสียงของ ส.ส. พรรครัฐบาลในบางเขตเลือกตั้ง

ในสนามบอล มาร์คัส แรชฟอร์ดก็สามารถยิงประตูพาทีมแมนยูสะสมแต้มไต่บันไดพรีเมียร์ลีก ขณะเดียวกันนอกสนามบอล เขาก็ยิงประตู สู้กับระบบการเมืองที่รักษาโครงสร้างความได้เปรียบทางชนชั้นของผู้มีอันจะกิน (the have) และกดทับผู้ไม่มีอันจะกิน (the have not) เขาสร้างแบรนด์ให้ตัวเองกลายเป็น food poverty campaigner หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งกล่าวว่าในเวลาไม่ถึงปีเขายกระดับจากการเป็นดาราฟุตบอลดาวรุ่ง มากลายเป็น ‘สมบัติของชาติ’

สื่อมวลชนฉบับหนึ่งวิเคราะห์ว่า เป้าหมายการยิงประตูลูกต่อไปของมาร์คัส แรชฟอร์ด คือระบบสวัสดิการคนจนของอังกฤษที่เรียกว่า Universal Credit หลังจากมีข่าวว่ารัฐบาลจะไม่ต่ออายุการจัดเงินสมทบเพิ่มสัปดาห์ละ 20 ปอนด์ที่เพิ่มให้ชั่วคราวในช่วงใช้มาตรการล็อกดาวน์ถึงเดือนมีนาคมนี้เอง เพราะรัฐบาลถือว่าเป็นมาตรการชั่วคราว เหมือนการจัดอาหารกลางวันช่วงโรงเรียนปิดเทอมที่ยังถือว่าเป็นการชั่วคราวเท่านั้น

แต่สำหรับมาร์คัส แรชฟอร์ดและหน่วยงานรณรงค์ Food Poverty Campaign เห็นว่าระบบสวัสดิการคนจนของอังกฤษในระดับปัจจุบันนี้ไม่พอเพียงกับการดำรงชีวิตตามสภาพเศรษฐกิจของประเทศ การมีรายได้เพิ่มสัปดาห์ละ 20 ปอนด์นั้นควรประกาศเพิ่มให้เป็นการถาวร คนยากไร้จะได้ไม่ต้องอดมื้อกินมื้อ

กระทรวงการคลังประเมินว่าหากเพิ่มสัปดาห์ละ 20 ปอนด์เป็นการถาวรตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป รัฐบาลจะต้องหาเงินเพิ่มอีกปีละ 6 พันล้านปอนด์มาให้กับกองทุน Universal Credit และจะต้องเพิ่มขึ้นอีกในปีถัดๆ ไปตามดัชนีราคาผู้บริโภคและจำนวนคนว่างงานที่กำลังจะเพิ่มมากขึ้นในปีนี้และปีถัดๆ ไป ซึ่งหมายความว่าจะต้องไปหาวิธีลดงบประมาณในส่วนอื่นๆ

นักเตะศูนย์หน้าทีมแมนยูกับทีมงานรณรงค์ของเขากำลังขอนัดที่จะเข้าพบหารือกับรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมเพื่อกดดันเรื่องนี้ต่อไป จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตาว่า มาร์คัส แรชฟอร์ดจะเลี้ยงลูกฝ่าด่านกองหลังของทีมนักการเมืองและข้าราชการหัวกะทิของรัฐบาล เพื่อเข้าไปยิงประตูสร้างชัยชนะให้กับคนยากไร้ในอังกฤษได้สำเร็จตามความตั้งใจได้หรือไม่อย่างไร  และการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมของนักเตะทีมแมนยูในรอบปีที่ผ่านมากลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับนักเตะในสโมสรของทีมพรีเมียร์ลีกอีกอย่างน้อยสองทีมคือ นักเตะทีมเชลซีและลิเวอร์พูล ก็เริ่มหยิบจับปัญหาสังคมในชุมชนรอบๆ สนามของตน นำมาเคลื่อนไหวด้วยการทำงานอาสาสมัครเพื่อทำให้ชุมชนรอบๆ ตัวน่าอยู่มากขึ้น

นักกีฬาที่ใช้ฐานะที่โดดเด่นในสังคมมาเคลื่อนไหวได้อย่างโดดเด่นมากอีกคนหนึ่งคือ ลูอิส แฮมิลตัน (Lewis Hamilton) แชมป์รถแข่งฟอร์มูล่าวันชาวอังกฤษ ที่ทำลายสถิติของ มิชาเอล ชูมัคเกอร์ (Michael Schumacher) ชาวเยอรมันที่หลายคนเชื่อว่ายากที่จะโค่นล้มได้ แต่หนุ่มผิวดำจากย่านคนจนในเมือง Stevenage ห่างจากลอนดอนไปทางเหนือเกือบ 50 กิโลเมตรสามารถทำสถิติล้มไอดอลของเขาได้

เด็กหนุ่มผิวดำที่มีหนึ่งความฝันมาตั้งแต่เด็กๆ ว่าสักวันเขาต้องเป็นแชมป์โลกให้ได้ ได้คว้าชัยชนะจากสนามใหญ่ๆ ของโลกมาครอบครอง 7 สนาม และสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการคว้าตำแหน่ง BBC Sports Personality of the Year ถึงสองสมัยคือเมื่อปี 2014 และ 2020 เมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้เอง

 

 

View this post on Instagram

 

A post shared by Lewis Hamilton (@lewishamilton)

ความที่เป็นเด็กผิวดำเติบโตในครอบครัวคนจน ทำให้เขาต้องต่อสู้กับอคติและโครงสร้างสังคมที่กดทับจนสามารถพิสูจน์ตัวเองก้าวขึ้นสู่แถวหน้าของสังคม มีแฟนๆ ติดตามทวิตเตอร์เขาหลายล้านคนทั่วโลก เขาจึงใช้สถานะของเขาสนับสนุนการรณรงค์ของกลุ่ม BlackLivesMatter ต่อสู้กับอคติและเรียกร้องความเท่าเทียมกันให้เยาวชนผิวดำ และต่อมายกระดับขึ้นมารณรงค์ประเด็นสิทธิมนุษยชนด้วย

อีกคนรุ่นใหม่ที่โดดเด่นเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นเดียวกันทั่วโลกคือ เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) ซึ่งมีอายุครบ 18 ปีเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา เธอเป็นคู่ปรับคนสำคัญของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ในเรื่องภาวะโลกร้อน ซึ่งเราได้เห็นการรณรงค์ที่เด็ดเดี่ยวและแหลมคมของเธอจนกลายเป็นกระแสความตื่นตัวกระจายไปทั่วโลก และผลลัพธ์หนึ่งที่เราเห็นเมื่อ 1-2 วันนี้คือ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ลงนามในคำสั่งหัวหน้ารัฐบาล Executive Order ประกาศให้สหรัฐอเมริกาหวนกลับเข้าสู่ภาคีความตกลงลดโลกร้อนปารีส (UNFCCC) หลังจากที่ ประธานาธิบดีทรัมป์ถอนตัวออกมาเมื่อสองปีก่อน

 

 

คนรุ่นใหม่หลายคนหรือหลายรุ่นที่ต่อสู้กับอธรรมและความโหดร้ายทั้งในอดีตและในปัจจุบันต้องพบกับความยากลำบาก บ้างต้องเอาอนาคตหรือชีวิตเข้าแลกก็มี อย่างกรณีของ มาลาลา ยูซัฟไซ (Malala Yousafzai) เด็กหญิงปากีสถานซึ่งถูกมือปืนตาลีบันดักยิงเกือบเสียชีวิตเมื่อตอนอายุเพียง 15 ปี เพียงแค่ออกมาเรียกร้องให้เด็กหญิงมีสิทธิทางการศึกษาเท่าเทียมกับเด็กชายในบ้านเมืองของเธอ

…ทุกคนต้องพบอุปสรรคกับความโหดร้าย เมื่อตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมดั่ง ขุนเขาที่เราปีนป่าย

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save